ก่อนเสียกรุงครั้งแรก

อ่านประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ก่อนจะเสียกรุงครั้งแรกให้พม่า ดูประหนึ่งว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ รบแพ้พม่าถึงสองครั้งสองหน

แต่ความจริงแล้ว สงครามพม่าหนแรก หนที่เสียพระมเหสี พระสุริโยทัย ผลการรบไม่ถือว่าแพ้ จะถือว่าชนะก็น่าจะได้ เพราะพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ซึ่งขุนพลเอกอย่างบุเรงนองก็มาด้วย ต้องถอยทัพหนี กลับไปเลียแผลที่พม่าถึง 15 ปี

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เดิมทีชื่อพระเฑียรราชา สันนิษฐานว่า เป็นพระน้องยาเธอ ต่างพระชนนี กับพระชัยราชา ลี้ภัยสงครามชิงอำนาจไปผนวชอยู่ จนเมื่อฝ่ายปฏิวัติ กำจัดขุนวรวงศาธิราช กับท้าวศรีสุดาจันทร์แล้ว ก็ถูกอัญเชิญ มาเป็นกษัตริย์ เมื่อ พ.ศ.2091

โปรดให้ขุนพิเรนเทพหัวหน้านักปฏิวัติ เป็นเจ้านาม พระมหาธรรมราชา พระราชทานพระวิสุทธิ-กษัตริย์ พระธิดาพระองค์ใหญ่ ให้เป็นมเหสี แล้วโปรดให้ไป ครองเมืองพิษณุโลก

ข่าวอยุธยาฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจกันเอง เข้าหูพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่า ประเมินว่าไทยอ่อนแอ จึงยกทัพมาตั้งใจ จะยึดอยุธยาให้ได้

รับข่าวศึกพม่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครองราชย์ได้หกเดือน ทรงแต่งทัพไปขัดตาทัพ อยู่ที่สุพรรณบุรี พร้อมกับซ่อมแซมป้อมค่ายคูประตู หอรบ เตรียมรับศึกเต็มที่ โดยใช้ยุทธวิธี เตรียมอยุธยาเป็นที่มั่นเพื่อตั้งรับข้าศึก เพราะมั่นใจในชัยภูมิของเมือง ที่เมื่อเวลาหน้าน้ำ น้ำก็จะท่วมรอบเมืองอยุธยา

หากตั้งมั่นสู้พม่าได้จนถึงเดือน 10 หน้าน้ำหลาก ทัพพม่าตีหักเข้าอยุธยาไม่ได้ ก็จะถูกน้ำท่วม ต้องถอยทัพกลับไปเอง

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ยกทัพมาถึงกาญจนบุรี ไม่มีทัพไทยต่อสู้ ก็ฮึกเหิมใหญ่ เดินทัพมาถึง สุพรรณ ทัพสุพรรณสู้ไม่ได้ ทัพพม่าก็ตามติด มาประชิดทุ่งลุมพี ชานพระนครด้านเหนือ

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงยกทัพออกไป หยั่งกำลังข้าศึก ปะทะกับทัพ พระเจ้าแปร ทัพหน้าของพม่า

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พระราชหัตถเลขา บันทึกถึงเหตุการณ์ ตอนนี้ไว้ว่า

“พระสุริโยทัยผู้เป็นเอกอัครมเหสี ประดับองค์เป็นพระยามหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับ ราชรณรงค์ เสด็จทรงช้างพลาย ทรงสุริยกษัตริย์สูง 6 ศอก เป็นพระคชาธาร

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ราชาธิราชเจ้า ก็ยาตราพระคชาธาร พระอัครมเหสี และพระเจ้าลูกเธอ ทั้งสองพระองค์ โดยเสด็จ เมื่อปะทะกับกองทัพข้าศึก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ราชาธิราชเจ้า ก็ไสพระคชาธาร เข้าชนช้าง กองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียที ได้หลังข้าศึก เอาไว้ไม่อยู่

พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึก ดังนั้น ก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยทัย เห็นพระราชสวามี เสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลาย ทรงสุริยกษัตริย์ สะอึกออกรับ

พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธาร พระสุริโยทัย แหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟัน ด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาพระสุริโยทัย ขาดกระทั่งถึง ราวพระถันประเทศ”

พระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ซบคอช้าง สองพระราชโอรส เข้าไปช่วย พระเจ้าแปรถอยช้างไป กันเอาพระศพพระชนนี กลับคืนกรุงศรีอยุธยา

เสียพระสุริโยทัยไปแล้ว ทัพอยุธยาก็ตั้ง รับอยู่ในเมือง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สั่งให้พระมหาธรรมราชา ยกทัพจากพิษณุโลกมาช่วย พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ได้ข่าว เกรงจะถูก ตีกระหนาบ ถอยทัพไปทางด่านแม่ละเมา

ถึงตอนนี้ มีเนื้อความจากพงศาวดารพม่า ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โปรดให้พระราเมศวร และพระมหาธรรมราชา ยกทัพตามไล่ตีทัพพม่า ฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายเป็นอันมาก พระเจ้า ตะเบ็งชะเวตี้ เห็นจวนพระองค์ ซุ่มกองทัพไว้สองข้างทาง กองทัพไทยหลงระเริงตามไป จึงตกอยู่ในวงล้อม จับแม่ทัพไทยทั้งสอง คือพระราเมศวร และพระมหาธรรมราชาไว้ได้

ไทยกับพม่าต้องเจรจา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงยอมให้ช้างเผือกสองเชือก แลกกับ สองแม่ทัพไทย พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กลับถึงพม่าก็เสียพระทัย ที่เอาชนะอยุธยาไม่ได้ เสวยสุราอยู่เป็นนิตย์ จนพระสติฟั่นเฟือน ว่าราชการไม่ได้ บุเรงนองต้องว่าราชการแทน

ช่วงเวลาที่บุเรงนอง ยกทัพไปปราบกบฏมอญ พระเจ้าหงสาวดี ก็ถูกขุนนางเชื้อสายมอญ ลวงไปจับช้าง แล้วจับปลงพระชนม์ แผ่นดินหงสาวดี จึงตกเป็นของ พระเจ้าบุเรงนอง นับแต่บัดนั้น

อีก 15 ปีต่อมา พระเจ้าบุเรงนอง ก็ยกทัพกลับมา ยึดอยุธยาไว้ได้.

"บาราย"

นสพ.ไทยรัฐ