ทรงให้อนุรักษ์ผืนป่าชายเลน

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
12สิงหาคม 2544

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค. 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าฯ ถวายพระพร ชัยมงคล โดยเมื่อเวลา 17.10 น. วันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญาฯ ม.จ.สิริวัณวรี มหิดล คุณพลอยไพลิน คุณพุ่ม และคุณสิริกิติยา เจนเซ่น มายังศาลาดุสิดาลัย ซึ่งเป็นสถานที่ ที่พสกนิกร จากทั่วทุกสารทิศ จำนวน 16,037 คน ต่างพร้อมใจกันมา เข้าเฝ้าถวาย พระพรชัยมงคล เมื่อเสด็จ พระราชดำเนินถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลในนามของ พสกนิกรทั้งประเทศ มีใจความว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระปรีชาชาญ ในการสร้างสรรค์ผลงาน ที่เป็นคุณูปการยิ่งใหญ่ แก่พสกนิกรปวงชนชาวไทย ต่างซาบซึ้ง สำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม หาที่สุดมิได้ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีสายพระเนตร กว้างไกล ทรงตระหนักว่า ปัญหาความยากจน ของพสกนิกร เป็นอุปสรรคสำคัญ ของการพัฒนาประเทศ ได้ทรงพระกรุณา ริเริ่มโครงการ ตามพระราชดำริ เป็นจำนวนมาก ได้ทรงอุทิศ กำลังพระวรกาย กำลังพระปัญญา และกำลังพระราชทรัพย์ และทรงพระวิริยะ อุตสาหะ ติดตามผลของ โครงการอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า ราษฎรในชนบทสามารถยกฐานะ ความเป็นอยู่ดีขึ้น ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงใช้ทฤษฎี ที่ยึดหลัก ความเรียบง่าย และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทรงพิจารณา ให้เหมาะสม กับสภาพความเป็นอยู่ และสังคม ของแต่ละชุมชน สอดคล้องกับ พระบรมราโชบาย ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงนำความรู้ จากกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มาทรงใช้ในการแก้ไขปัญหา และทรงส่งเสริม ให้การใช้ประโยชน์ จากธรรมชาติ เป็นไปอย่างสมดุล เป็นต้นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนัก ในความสำคัญ ของน้ำ ดังพระราชดำรัสที่ว่า น้ำคือชีวิต และทรงพระกรุณาพระราชทาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกี่ยวกับน้ำ เป็นจำนวนมาก ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทก็ได้ทรงกรุณาพระราชทานโครงการอนุรักษ์ และพัฒนาป่า เช่น โครงการป่ารักน้ำ โครงการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร เพื่อให้ป่าเก็บน้ำไว้สร้างความอุดมสมบูรณ์ แก่ผืนแผ่นดิน โปรดให้สร้าง สวนพฤกษศาสตร์ เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากรพืชพันธุ์ไม้ อันทรงคุณค่าของชาติ โครงการสำคัญ ที่เป็นที่แซ่ซ้อง สดุดี ในพระปรีชาสามารถ ทั้งในประเทศ และ ในนานาประเทศ คือ โครงการศิลปาชีพ ซึ่งทรงพระกรุณา พระราชทานเป็นอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้ แก่ราษฎร โดยทรงฟื้นฟู นำภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุกภูมิภาค มาใช้สืบสาน งานศิลปหัตถกรรม อันเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของชาติ ให้ดำรงอยู่ยั่งยืน และสืบทอดต่อไป

รัฐบาลนี้ได้เจริญรอย ตามเบื้องพระยุคลบาท ยึดถือแนวทางที่ทรงปฏิบัติ โดยเฉพาะ งานศิลปาชีพ รัฐบาลได้นำมาเป็นแนวทาง ดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เพื่อแก้ปัญหา ความยากจน ของประชาชน ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ยังทรงส่งเสริมด้าน สุขภาพอนามัย ของราษฎร ทรงสนับสนุน การสร้างจิตสำนึก ในความเป็นไทย ทรงเป็นผู้นำ ส่งเสริมบทบาท และสถานภาพของสตรีไทย แนวพระราชดำริ เกี่ยวกับ คลังสมองของชาติ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แก่การพัฒนา บ้านเมือง นอกจากนี้ การเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเยือนต่างประเทศ หลายครั้ง ยังเป็นการเสริมสร้าง ชื่อเสียงเกียรติภูมิ ของประเทศที่เอื้อประโยชน์ ทั้งในทางเศรษฐกิจ และสังคมแก่ชาติบ้านเมือง และประชาชน และเสริมสร้าง สัมพันธ์อันดี ระหว่างประเทศไทย กับนานาประเทศด้วย ณ ศุภมงคลสมัยนี้ ข้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพสกนิกรชาวไทยทั้งมวล ขอพระราชทาน พระราชวโรกาส ถวายชัยมงคล ขอน้อมอัญเชิญ คุณพระรัตนตรัย และสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล โปรดอภิบาลบันดาลดล ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเจริญ สิริสวัสดิ์นิรัติศัย เพียบพร้อมด้วย จตุรพิธพรชัย พระเกียรติคุณเกริกไกร ทุกทิศานุทิศ สถิตเป็นมิ่งขวัญร่มเกล้า เหล่าพสกนิกร ตราบจิรัตติกาลเทอญ

จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัส แก่ผู้มาเข้าเฝ้าฯความว่า
"ข้าพเจ้ามีความปลื้มปีติยินดี ที่ได้มาพบท่านทั้งหลาย อีกครั้งหนึ่ง เนื่องในโอกาส วันเกิดของข้าพเจ้า เช่นทุกปี ปีนี้ก็อายุ 69 เต็มแล้ว แต่ใครๆ ก็บอกว่ายังแอคทีฟอยู่ ปีนี้ทราบว่ามีผู้มาชุมนุม กันที่นี่ถึง 458 คณะ มีทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ผู้แทนสถาบันการศึกษา สภา สมาคม ชมรม องค์กร สโมสร มูลนิธิ สมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ ลูกเสือชาวบ้าน พ่อค้า ประชาชน ทุกหมู่เหล่า รวมเป็นจำนวนเกือบ 2 หมื่นคน ซึ่งทำให้ บริเวณ ศาลาดุสิดาลัย อบอุ่นไปด้วยไมตรีจิต จากท่านทั้งหลาย และการมา ของท่าน เพื่ออวยพรให้ข้าพเจ้าครั้งนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นของขวัญ ที่ล้ำค่าที่สุด ในชีวิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบคุณ ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวอวยพรข้าพเจ้า ในนามของ ปวงชนชาวไทย พร้อมทั้งแจ้ง ให้ทราบว่า ทางรัฐบาลจะดำเนิน โครงการต่างๆ สืบเนื่องจากที่ข้าพเจ้า ได้เคยปรารภ หรือมีดำริไว้

โอกาสนี้ข้าพเจ้าขอฝากขอบคุณ ไปยังประชาชนชาวไทย ทั่วประเทศ ที่ได้บำเพ็ญกุศล บำเพ็ญประโยชน์ ประกอบคุณงามความดี ตลอดจน ผู้ที่อวยชัย ให้พรข้าพเจ้า เนื่องในโอกาสวันเกิด ทำให้ข้าพเจ้า รู้สึกซาบซึ้ง และมีกำลังใจอย่างยิ่งในการที่จะทำงานรับใช้ ประเทศชาติต่อไป การที่องค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้แทนพระองค์ ไปเยือนสาธารณรัฐ ประชาชนจีน เป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ถึง 31 ตุลาคม ข้าพเจ้าได้รับ การต้อนรับ อย่างอบอุ่นอย่างดีเหลือเกิน จากประธานาธิบดี เจียง เจ๋อ หมิน จากท่านรองประธานาธิบดี อู๋ จิ่น เทา ทางรัฐบาลจีน ให้การต้อนรับ ดีมากทุกเมือง และยังจัด มาดามเฉียน เจิ้ง อี ซึ่งเป็นรองประธานสภา ที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน มาดูแลข้าพเจ้า ตลอดการเดินทาง ทำให้การเดินทาง 16 วัน ในประเทศจีน เป็นการ เดินทาง ที่มีความสนุก และมีความรู้สึกว่าอบอุ่น เพราะว่า ทั้งรัฐบาลจีน ประชาชนจีน ทั้งเพื่อนจีนของข้าพเจ้า ดูแลเหมือนอย่างกับว่า อยู่ในครอบครัว ไม่ได้ดูแล อย่างดูแลแขกเมือง หรืออะไรอย่างนั้น ให้เกียรต ิและให้ความอบอุ่น เป็นอย่างมาก ข้าพเจ้า รู้สึกตื่นตาตื่นใจ เพราะว่าไม่เคยไป เมืองจีนมาก่อน

ครั้งแรกที่ได้เห็นนครปักกิ่งรู้สึกสวยงามสง่ามากและก็ตามถนนหนทางต่างๆ เค้าปลูกต้นไม้ใหญ่ สวยๆ ร่มรื่นไปหมด ถึงแม้เค้าจะเป็น ประเทศ เมืองหนาว แต่ว่าปลูกต้นไม้เต็มไปหมด ทำให้ทางเดินต่างๆ แม้แต่ถนน อเวนิว หรืออะไรนี่ ร่มรื่นไปหมด แล้วข้าพเจ้ายังตื่นตาตื่นใจ กับสวนสนาม ที่ลานหน้ามหาศาลาประชาชน เห็นรู้สึกว่า งดงามสง่ามาก ข้าพเจ้าบอก ตามตรงว่า ทหารจีนสวนสนาม งดงามเหลือเกิน ถือว่าเป็นจังหวะ พร้อมกันหมด แม้กระทั่งหน้า และมุมของศีรษะ ที่หันเหมือนกันหมดเลย สง่างามมาก แล้วท่านประธานาธิบดี ก็เป็นกันเอง เหมือนอย่างที่ท่าน มาที่เมืองไทย ท่านก็พูดภาษาอังกฤษ กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แทนที่จะต้องใช้ล่าม ตลอดเวลา ก็ปรากฏว่า ท่านพูดได้ดี และก็เลยรู้สึก สนิทสนมกัน ท่านประธานาธิบดี เลี้ยงอาหารค่ำ แล้วก็ท่านพูด กับข้าพเจ้าว่า เดี๋ยวจะขอให้ควีนเล่นเปียโนนะ ให้ฟังแล้ว ฉันถึงจะร้องเพลงให้ฟัง แลกเปลี่ยนกัน ข้าพเจ้าบอกขอที ขออย่าให้ข้าพเจ้า เล่นเปียโนเลย เพราะว่าเดี๋ยวนี้ ไม่มีเวลาซ้อมมือแล้ว นานน้านจะมีเวลาเล่นสักที นิ้วก็ตะกุกตะกัก แล้วก็เล่นก็จำไม่ได้ จำไม่ได้ ได้ครึ่งเพลง อะไรอย่างนี้ ท่านประธานาธิบดีบอก ก็เล่นแบบครึ่งเพลง นั้นเถอะ ไม่เป็นไรหรอก ข้าพเจ้าก็เลยต้องเล่นครึ่งเพลง และเสร็จแล้ว ท่านประธานาธิบดี ก็ร้องเพลง แลกเปลี่ยนกัน ร้องเพลงแหม ท่านร้อง เพราะมากๆ ทีเดียว มีเสียงที่เพราะ ข้าพเจ้าก็รู้สึกปลาบปลื้ม ที่ท่าน ให้ความเป็นกันเอง และก็เพื่อนคนจีนก็บอกว่า ท่านเป็นกันเอง และสนุกสนาน มากค่ำนี้ และทุกๆ เมืองที่ไปเยี่ยม ก็ได้รับการต้อนรับ อย่างดี ได้รับความรู้มากมาย ได้ไปที่กำแพงเมืองจีน ที่นครซีอาน เห็นการพิธีต้อนรับ ที่ประตูเมือง ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า งดงามเหลือเกิน เค้าต้อนรับอย่างใหญ่โต ไม่นึกเลยเค้า จะต้อนรับขนาดนี้

ข้าพเจ้าได้นำผ้าไหมไทยนานาชนิด และผ้าชาวเขาเผ่าต่างๆ ฝีมือสมาชิก ศิลปาชีพของเรา ซึ่งบัดนี้มีสมาชิกแสนกว่าคนแล้ว ทั่วประเทศไทย โดยขอให้นักออกแบบไทย ที่มีชื่อเสียงออกแบบ และข้าพเจ้า ได้นำไปแสดง ในงานเลี้ยงตอบแทน ที่กรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้ ผู้คนชื่นชมมากเลย และก็ที่ข้าพเจ้าเอง ปลื้มปีติเหลือเกิน เพราะว่า ได้รับความช่วยเหลือ ร่วมมือทุกประการ จากดาราไทย และนักแสดง ต่างๆ และก็นางแบบที่มีชื่อเสียงต่างๆ ของไทย ก็ตกลงที่จะตามคำชวน ของข้าพเจ้าว่า จะไปเดินแบบเสื้อด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนชาวจีน ได้เห็นถึงความสามารถ ของคนไทย ที่ติดตามแบบต่างๆ ของโลก โดยใช้ผ้าไทยทุกอย่าง ทุกคนก็ยินดีไปด้วย ก็ได้รับงานคืนนั้น เป็นงาน ที่ยิ่งใหญ่มาก เนื่องจากข้าพเจ้าทราบว่า มีการเชิดสิงโต สมัยโบราณ ที่เมืองจีน เค้านิยมเชิดสิงโต ทีนี้อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ อาจารย์ประจำ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แนะข้าพเจ้าว่า ทางเสด็จไปทั้งนี้ ลองทรงเชิญพญานาคของเราไป เรียกว่าเชิดบ้าง แต่เราจะเรียกซะว่า ชักนาค แหมพญานาคสวยมาก สวยงามมาก ตัวใหญ่เบ้อเร่อ แล้วสีแดงฉาน เราก็มีผู้เชี่ยวชาญ จากศิลปากร มาช่วยกันเชิด หรือว่าชักนาค งดงามสง่าที่สุด ใช้ตอนเทวดา และอสูร ช่วยกันชักนาค กวนเกษียรสมุทร เพื่อทำน้ำอมฤต ข้าพเจ้าทราบ จากอาจารย์สมิทธิว่า การชักนาคดึกดำบรรพ์นี้ ทราบว่า มีมาแต่สมัย กรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีการแสดงต่อ มาช้านานแล้ว คราวนี้เราได้ตัด ตอนมาแสดงใหม่ ทำให้ทันสมัย ซึ่งทางจีนชอบมาก ตอนนั้น อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ ท่านเป็นพระภิกษุอยู่ บวชอยู่ที่ราชบุรี ข้าพเจ้าก็ยอมบาป เพราะต้องกวนท่าน กวนขอให้ช่วยในการวางแผน ที่จะไปที่เมืองจีน จะแสดงอะไร ถึงจะนำชื่อเสียง มาสู่เมืองไทย ก็อย่างการชักนาคนี่ และก็มีการแสดงประกอบ เพลงลาวดวงเดือน อธิบายว่าเนี่ย เป็นพระราชโอรส ของพระพุทธเจ้าหลวง ที่ทรงใช้ไป สนับสนุนประชาชน ให้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมมากขึ้น ที่จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม และก็ทราบว่า ต้องเสด็จฯ โดยทางเกวียน

แต่ก่อนนี้เพลงลาวดวงเดือน ก็ชื่อว่าลาวดำเนินเกวียน สมัยใหม่ เราก็มาเรียกว่า ลาวดวงเดือน ผู้ที่แต่งเพลง ที่แสนเพราะ ก็คือพระเจ้า บรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนศักดิ์ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ท่านแต่ง เพราะไม่ว่าชาติไหน พอได้ยินเพลงนี้เข้าแล้ว ก็มีคำแปล ภาษาอังกฤษให้ดูว่า คำเนี้ยหมายถึงอย่างงั้นๆ ก็จะได้รับคำชม ตลอดเวลาว่า เพราะเหลือเกินเพลงไทย

ข้าพเจ้าลืมบอกไปว่า การที่ข้าพเจ้า ได้ไปเยือนสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ได้รับความช่วยเหลือ มากมายเช่น ทางจีนได้ให้หมูพันธุ์ใหม่ เรียกว่า พันธุ์จินหัว ซึ่งเป็นหมูสายพันธุ์ ที่คนจีนหวงมาก เค้าใช้ตัวไม่ใหญ่นัก ตัวยาวๆ เค้าใช้ทำเป็นแฮม เวลาทำแฮมแล้ว อร่อยมาก หอมเป็นสิ่งพิเศษ แต่รัฐบาลจีน ก็ให้กับข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าก็มอบ ให้กับทางด้าน กรมปศุสัตว์ และตอนหลัง ก็มอบเป็ดพันธุ์อี้เหลียง ซึ่งทางจีนบอกว่า เป็ดอี้เหลียงนี่ เป็นเป็ดที่พิเศษ และคนรวยขึ้นมามาก จากการเลี้ยงเป็ดนี้ เพราะเลี้ยงแค่ 40 วันแล้ว ก็รับประทานได้เลย ระยะเวลาสั้น และเนื้อ อร่อยมาก เห็นว่าอย่างงั้น แต่ข้าพเจ้ายังไม่กล้าลองเลย สงสารเป็ด หมูก็ไม่ยอมลอง เนื้อแน่น และหนังกรอบบาง

แล้วเนื่องในโอกาสวันเกิดปีนี้ ข้าพเจ้าทราบว่า ทางรัฐบาลจีน จะส่งพันธุ์ ห่านหัวสิงโต เพราะเป็นห่านพิเศษ ตัวใหญ่เบ้อเร่อ และเนื้ออร่อยอีก ยังไม่เคยมี ที่ประเทศไหน พันธุ์ห่านหัวสิงโต และส่งพันธุ์แพะนมที่ดี มาให้อีก นี่กำลังคอยอยู่ ห่านหัวสิงโตเค้าว่า โตเร็วและกินวัชพืช เป็นอาหาร แล้วก็ทางจีน ใช้ทำลายวัชพืช ที่เค้าไม่ต้องการ และจะเป็น อาหารเสริมโปรตีน ให้แก่ชาวบ้านของเราได้ ส่วนแพะนม เป็นพันธุ์ที่ ต้านทานโรคได้ดี ทางจีนคิดว่า น่าจะเลี้ยงได้ดี ในประเทศไทย หมูพันธุ์ จินหัวนี่เมื่อปี 42 ได้มา 4 ตัว เดี๋ยวนี้ทางกรมปศุสัตว์ ได้ขยายพันธุ์ เพิ่มให้เป็น 193 ตัว และก็จะแจกประชาชน ในโอกาสต่อไป เป็ดพันธุ์ อี้เหลียง เมื่อได้รับมอบมา 65 ตัว ขณะนี้ขยายพันธุ์เป็น 466 ตัว ที่ข้าพเจ้าคิด ตั้งฟาร์มตัวอย่างขึ้นใหม่ ก็ใช้เงินศิลปาชีพ ที่ท่านทั้งหลาย ทั่วประเทศไทย ช่วยอุดหนุน ส่งเงินมาเข้าสมทบทุน มูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพ ข้าพเจ้าก็ซื้อที่ดิน จำนวนหนึ่ง บนเขาที่เชียงใหม่ ที่มีชาวเขา ที่ยากจนมากมาย แล้วก็เขาเสพฝิ่นอยู่ แต่ก็อาหารการกิน เขาก็แย่ เขาก็มาพูดกับข้าพเจ้าว่า ถ้าแม่หางานให้หมู่เฮาได้ หมู่เฮาก็จะฟันทิ้ง หมดเลย พวกฝิ่นอะไรอย่างงี้ จะตั้งหน้า ตั้งตาทำงาน ขอให้แม่หางานทำ ข้าพเจ้าคิดกราบบังคมทูล ปรึกษาว่าจะทำอย่างไง ถึงจะเพิ่มงาน ให้กับคนเหล่านี้ ก็เลยคิดเอาเงิน ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ซื้อที่ดิน ทำฟาร์มตัวอย่าง ก็เลยได้อาศัย หมูจินหัว เป็ดอี้เหลียง ขึ้นไปเลี้ยง และทดลองเลี้ยง หลายพันธุ์ หลายชนิด แล้วก็จ้างชาวบ้าน ใจความสำคัญ คือว่า ฟาร์มนี้ ฟาร์มตัวอย่าง จะเป็นที่ที่ให้งาน กับชาวบ้าน ที่ยากจน เป็นจำนวนมาก ตอนนี้มีคนงาน ทำงานอยู่ 200 กว่าคน ต่อจุดหนึ่ง ซื้อประมาณ 2 ฟาร์ม เพื่อจะให้คน ที่ไม่มีงานทำ กลับเป็นคนที่มีงานทำ แล้วระหว่างที่ เขามารับจ้างเรานี่ เขาก็เห็นวิธี การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เขาก็จดจำ เขากลายเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ ในการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ต่อไปก็จะเป็นการง่าย ที่จะได้รับพระราชทาน ความช่วยเหลือ ก็เป็นไปด้วยดี ตอนนี้ทางนราธิวาส ก็อยากได้ ฟาร์มตัวอย่างบ้าง ข้าพเจ้าก็เอาเงินศิลปาชีพ ของท่านทั้งหลายนี่ ซื้อที่ดินแล้วก็ทำอีก ตกเวลานี้มี 3 แห่งใหญ่ๆ เลี้ยงสัตว์ใหญ่ๆ ที่จะเป็น แหล่งอาหาร สำหรับคนไทยต่อไป พอข้าพเจ้าได้ทราบจากเพื่อน ที่ทำงาน ที่ยูไนเต็ดเนชั่น FAO บอกว่า ต่อไปนี่ ถ้าเราไม่ระวังกัน ประชากรโลก เกิดมาก แต่อาหารนี้ จะมีจำกัด เพราะฉะนั้น ถ้าประเทศไหน มีความเป็นอยู่ ดีหน่อย ก็ขอให้ช่วยกันมีโครงการ เกี่ยวกับว่า เสริมเพิ่มอาหารขึ้น

ข้าพเจ้าก็คิดว่า ทำฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์ต่างๆ นี่สำคัญ ลองดูว่า เราจะเลี้ยงอะไรได้ดีแล้ว ในเวลาเดียวกัน ฝึกหัดชาวเขา ชาวบ้านต่างๆ อย่างชาวบ้าน นราธิวาส ชาวไทยอิสลาม ก็จะเข้ามาฝึก การเลี้ยงสัตว์ ต่างๆ ก็นับว่าเป็นไปด้วยดีมาก ก็เลยขอขอบพระคุณ ท่านทั้งหลาย ที่สนับสนุน ให้ข้าพเจ้ามีหนทาง ช่วยชาวบ้าน เพราะว่า เวลาที่ไปเยี่ยม เขาแล้ว เขามาปรับทุกข์ว่า แม่หมู่เฮา จนเหลือเกินแล้ว จะทำยังไง ทำมาหากินยังไง แล้วสามารถได้เงินนี้ ไปซื้อที่ดิน แล้วก็ทำฟาร์ม แล้วพอเริ่มต้นทำฟาร์ม ก็ได้รับความช่วยเหลือ มากมาย จากราชการ หน่วยราชการต่างๆ ของรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็มาไม่ได้หยุดเลย มาคอยดูฟาร์มเหล่านี้ แล้วลองทดลองดูว่า จะเหมาะกับชาวบ้านที่ไหน ที่ไหนยังไงบ้างในการเลี้ยงแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังได้รับ ความช่วยเหลือ อย่างมาก จากกรมป่าไม้ อธิบดีกรมป่าไม้ แล้วกรมป่าไม้ โดยที่ข้าพเจ้า นึกฝันเสมอว่า จะทำยังไง ถึงจะทำแบบ พระพุทธเจ้าหลวงได้ ที่ท่านช่วยทำให้เป็นป่า ป่าสำหรับประชาชน อาศัยอยู่ได้ ไม่ต้องให้คนกับป่านี่ ทะเลาะกัน ถ้าแม้มีป่า ก็ต้องไล่คนออก พระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งว่า ไม่ต้องควรเป็นอย่างนี้เลย ซึ่งตอนนี้ ก็เห็นทางสำเร็จแล้ว โดยที่ทางกรมป่าไม้ ได้สละพื้นที่ป่าไม้ ที่ไม่มีอะไรเลย แต่ว่าว่างเปล่าไป ไม้โดนตัดไปหมดแล้ว ให้ข้าพเจ้า ทำหมู่บ้านในป่านั้น ซึ่งบัดนี้ ก็ทำสำเร็จมา 3 แห่งแล้ว ก็ได้จัดประชาชน ที่ยากไร้ที่ไม่มีที่อยู่ เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านเหล่านั้นๆ หมดแล้ว เรียกกันว่า บ้านเล็กในป่าใหญ่ เพราะตกลงกับเขาก่อนแล้ว ว่าจะไม่มีการถางป่า หรือ บุกรุกป่าเข้าไปอีก ถ้าอยากจะอยู่กับข้าพเจ้า ในโครงการบ้านเล็ก ในป่าใหญ่ ก็ต้องหยุด ชาวบ้านแถวนี้ จะต้องเป็นผู้ที่สนับสนุน ทะนุบำรุง ดูแลป่าไปในตัว เขาก็สาบานตกลง เลยจัดเขาให้อยู่ ในหมู่บ้านต่างๆ ทางเหนือแล้วก็ทางใต้ ทางอีสานยังทำไม่ถึง แล้วผู้เชี่ยวชาญ ของทาง รัฐบาล ได้ผลัดกันมา สอนให้ทำนา แบบขั้นบันได แล้วปลูกพืช ผักสวนครัว แล้วไม้ผล แบบเกษตรผสมผสาน แล้วก็ลองปลูก พืชเมืองหนาว เพราะว่าอยู่ในพื้นที่สูง ได้รับการช่วยเหลือ และเห็นผลสำเร็จ ปีเดียวนี่ยังกับเนรมิต

นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำรัสอีกว่า เมืองไทยเรา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่า นักวิชาการมีมาก แล้วก็เก่งมาก เพราะฉะนั้น ให้เขาช่วยเถอะ บ้านเมืองเรา ก็จะลด ความยากจน ผลักความยากจนออกไป ลองปลูกพืช ได้ผลดี พลับ มะคาเดเมียนัท แล้วก็มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู แกะ และปลา และทุกแห่ง ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้มีธนาคารข้าว เพื่อว่าให้เขามั่นใจว่า ถึงแม้เขาจะปลูกข้าวไม่ได้ แต่เขามายืมได้ ในปีที่เขาขัดสน ยืมข้าวได้ ที่ธนาคารข้าว แล้วทางศิลปาชีพ ก็สอนคนในหมู่บ้านนั้น ให้ทำเครื่องเงิน ซึ่งชาวเขาชำนาญอยู่แล้ว ในการทำเครื่องเงิน แล้วก็ปักผ้า ซึ่งชาวภาคใต้ ที่จะปักผ้าเก่งเหลือเกิน ลายละเอียดแล้ว เก่งเหลือเกิน แล้วก็สอน ให้ปลูก ไม้โตเร็ว ไว้ทำฟืน จะได้ไม่ต้องบุกตะลุย ไปตัดไม้ในป่า แล้วก็ใช้ ประปาภูเขา ซึ่งทางการสอน ชาวบ้าน ให้ใช้มานานนัก โครงการบ้านเล็ก ในป่าใหญ่ ก็มีบ้านห้วยไทร อยู่ที่ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัด เชียงราย รายแรกนี่ ก็อยู่พันเมตร จากระดับน้ำทะเล ทางรถยนต์ ไม่มีเข้าถึงหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นทางแคบ เลาะไปตามไหล่เขา ก็ใช้ มอเตอร์ขาเอา ขืนขับรถยนต์ รู้สึกจะตกเขาง่ายๆ แล้วยิ่งหน้าฝน ยิ่งเดินทาง ลำบากมาก แต่ข้าพเจ้าก็เตรียมพร้อมให้เขา ว่าใครจะอาสา ไปอยู่ที่นี่ จะสะดวกสบายทุกอย่าง นอกจาก การเข้าออก ไปในเมือง เท่านั้นเอง และทางกองทัพ ก็ดีเหลือเกิน มีทหารคอยช่วย สนับสนุนดูแล ถ้าใครเจ็บป่วยกะทันหัน ต้องการผ่าตัด หรือเป็นไส้ติ่ง อะไรอย่างนั้น ทางทหารก็จะมีวิทยุติดต่อ แล้วก็ทางรถของทหาร จะมาขึ้นมารับได้ ทำให้ชาวบ้าน อบอุ่นซาบซึ้งมาก แล้วก็พวกที่ไปอยู่ 23 ครอบครัว ที่อำเภอแม่สรวย ตำบลป่าแดด จำนวน 23 ครอบครัว เป็นชาวเผ่าอาข่า เขาไม่เคยมีที่ทำกินเลย เขาบอกเขาเห็นที่ไหน ที่ดูท่าดี เขาก็แผ้วถาง แล้วก็ตั้งหมู่บ้าน เพราะว่าดินมันจืดแล้ว เขาเคลื่อนย้ายตลอดไป แต่พอเขาทราบว่า ข้าพเจ้าประกาศว่า ใครจะอยากให้ช่วยเหลือ ในการตั้งหมู่บ้าน ก็ขอให้บอกมา ชาวเขาเผ่าอาข่า เขาก็อาสาสมัครมา 23 ครอบครัว นี่อยู่ มาได้เกือบ 3 ปีแล้ว มีความสุข มีความเจริญ เพราะว่าบรรดาข้าราชการไปดูแล เจริญอย่างรวดเร็วมาก แล้วเขาบอก เดี๋ยวนี้เขามีกิน 3 มื้อ ร่างกายแข็งแรง ลูกเต้าแข็งแรง ได้ไปโรงเรียนเสมอ อีกแห่งโครงการ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยผ้าห่มปก อำเภอแม่อาย จังหวัด เชียงใหม่ ทางป่าไม้ ก็ช่วยข้าพเจ้าหาที่ให้ ว่าเพราะว่าที่นี่สูง 1,500 เมตร ถึง 1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีทางรถยนต์เข้าถึง แต่เป็นทางแคบ หน้าฝนก็จะลำบาก พวกเราศิลปาชีพ ก็ไปสร้างบ้านให้เขา สร้างหมู่บ้าน แล้วก็ให้เขาอาสา ก็มีชาวไทยภูเขา 4 เผ่าที่อาสา พวกอาข่า มูเซอ ลีซอ และกะเหรี่ยง เขาตกลงสาบานกันว่า จะพยายามอยู่ร่วมกันทุกเผ่า โดยที่ไม่มี การแบ่งแยก หรือ ทะเลาะเบาะแว้ง เป็น 20 ครอบครัว ข้าพเจ้าไปเยี่ยม เมื่อเดือนเมษายน 2544 เขาอยู่ด้วยความสุข ยิ้มแย้ม แจ่มใส ก็คิดว่าต่อไป ก็จะขอความร่วมมือ จากกรมป่าไม้ อธิบดี กรมป่าไม้ นั่งนึกได้เห็นชัดเชียวว่า ชาวบ้านเริ่มอยู่เป็นที่เป็นทาง แล้วก็ทาง ข้าราชการ ก็ได้มาช่วยเหลือ ทางนักวิชาการ ให้ปลูกต้นอะไร ต่ออะไรบ้าง เขาขยันขันแข็ง และมีความสุข

ข้าพเจ้าคิดว่า ทุกคนเราทราบว่า พลเมืองของเรา เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามสุดกำลัง ที่จะให้บ้านเมืองนี้ แผ่นดินทองนี้ เป็นแหล่งผลิตอาหาร ที่สมบูรณ์ตลอดไป เพราะที่เราทำมานี่ดีมาก เราปลูกข้าว จนข้าพเจ้าไปไหน ต่างประเทศเค้าก็จะพูดว่า เมืองไทยนี่ ส่งเสริมโลก ด้วยการปลูกข้าวเพียงพอ เลี้ยงคนไทยเพียงพอ ไม่หนำซ้ำ ยังส่งออก ต่างประเทศได้อีก เพราะว่า ถ้าบนโลกเรา มีประเทศอย่างนี้ โลกเราก็คงจะมั่นคงเจริญ ก็นับว่าเมืองไทยเรา ก็ยังเป็นแหล่งผลิตอาหาร ของโลกอีกด้วย

ทีนี้มีอีกเรื่องหนึ่ง อยากจะขอให้ท่านทั้งหลาย ซึ่งข้าพเจ้าถือว่า เป็นเพื่อน ช่วยกัน ช่วยข้าพเจ้าทำงานให้ลุล่วง คือเมื่อเร็วๆนี้ ข้าพเจ้าตามเสด็จ ไปพักอยู่ที่หัวหิน ข้าพเจ้านั่งเรือเร็ว จากหัวหินแล้วไปถึง ประจวบคีรีขันธ์ เห็นเกาะแก่งที่ไหนสวย ก็ขึ้นเกาะเล็กเกาะน้อย แวะขึ้นไปดู สวยงามมาก แต่ว่าเต็มไปด้วยขยะ เลอะเทอะเต็มไปหมด หาดทรายนี้ เต็มไปด้วยขยะ ถุงพลาสติก แล้วก็ขวด กระป๋อง อะไรต่างๆ นานาประการ ดูแล้วเศร้าใจ ก็คิดว่าต่อไปนี้ เราน่าจะมีโครงการพูดกัน ระหว่างคนไทย ด้วยกันว่า ให้คนไทยด้วยกันรู้ว่า แผ่นดินนี้ แผ่นดินทองนี้ มีคุณค่า มีพระคุณ มหาศาล ที่เราได้อยู่ในแผ่นดินนี้ ความอดอยาก หรือก็น้อย มีแต่ประโยชน์ มีทรัพย์ในดินสินในน้ำ มีทั้งทะเล มีทั้งภูเขา มีทั้งป่าไม้ ซึ่งเราก็ตัดทำลาย ไม่ได้หยุด มีข้าว ข้าวปลาอาหาร มีป่าไม้ชายเลน ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว สอนข้าพเจ้าว่า ป่าไม้ชายเลนนี้ สำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นที่ ที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพราะพวกเราเอง ก็รับประทานปลา แล้วก็ทานปู ทานกุ้ง กันเยอะแยะ เพราะฉะนั้น ป่าชายเลนนี้สำคัญ ในการที่จะรักษา เอาไว้ เพื่อรักษาพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้ง ปูปลาให้มีมาก เหมือนแต่เก่าก่อน ขณะนี้ ป่าชายเลน ถูกทำลาย มากมายก่ายกอง เราน่าจะสอน ลูกหลานเรา ให้รู้ถึงคุณค่า ของป่าชายเลน ที่มีประโยชน์ ต่อคนไทยทุกคน ในแผ่นดินนี้ด้วย ที่ช่วยเก็บรักษาอาหาร เช่น พืชพันธุ์ปลาต่างๆ ที่ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า เอ๊ะพวกเรานี้ รู้สึกยังรักแผ่นดินนี้น้อยไป ไม่สมกับที่ เราได้ประโยชน์มากมาย จากผืนแผ่นดินนี้ พวกเรายังรู้จัก คุณค่า ของแผ่นดินนี้น้อยไป ไม่รู้จักถนอม ไม่รู้จักดูแล ให้เป็นแผ่นดิน ที่แผ่นดินทอง ตลอดมีทรัพยากร มีอาหาร สำหรับเลี้ยงคนไทย ตลอดไป โดยไม่กลายเป็นบ้านเมือง ที่อดอยากแห้งแล้ง

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าก็ขอท่านทั้งหลายช่วยข้าพเจ้า ช่วยดูแล อธิบาย ให้ทราบว่า ป่านี้ก็คือ น้ำที่จะเพิ่มขึ้น ป่าชายเลนก็คือ ที่เราจะมีปลา มีพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้ง พันธุ์ปู พันธุ์หอย อะไรมากอย่างเดิม เราควรที่จะ ตั้งจิตมั่น ร่วมกันว่า พวกเราจะไม่มีวันทำร้าย และ ทำลาย ผืนแผ่นดินนี้ เราจะรัก และทะนุถนอมเมืองไทย ของเราไว้ ก่อนที่จะสายเกินไป ก่อนที่อะไร ต่ออะไรจะหมด ขึ้นเกาะ ก็ทิ้งของเต็มไปหมด จนกระทั่งคิดว่า พวกหอย พวกปู พวกอะไร ก็คงอยู่ไม่ได้ เพราะว่าพลาสติก เยอะแยะ ไปปิดอะไรต่ออะไรหมด

สมัยโบราณพวกเรา คนสมัยคนโบราณ มักจะฟังผู้ใหญ่ เล่านิทาน แฝงคติสอนใจ ให้ทำดี แต่สมัยนี้ คนฉลาดเกินไป ไม่ฟังแล้วนิยาย ที่มีแฝงคติ ไม่เอาแล้ว คนไทยสมัยนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า เลยเป็นคนที่ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เลยกลายเป็นคน เอารัดเอาเปรียบมากขึ้น กลายเป็นคน ที่เรียกว่า มือใครยาวสาวได้สาวเอา ต่างคนต่างนึกถึง ประโยชน์ ของตัวเอง ทีนี้ต้องขอให้พวกท่านทั้งหลาย ช่วยกันเปลี่ยน ค่านิยมเหล่านี้ ให้ทราบว่า ถ้ามือใครยาว สาวได้สาวเอา ในที่สุด ก็คงจะแย่กันหมด

และจะพูดถึงธรรมเนียม ประเพณีไทยโบราณ เช่น การลอยกระทง ก่อนนี้คนไทย จะเชื่อว่า การลอยกระทง ในวัน 15 ค่ำ เป็นพิธี เพื่อลอยกระทงไป เพื่อบูชาองค์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เพื่อขอบคุณ พระแม่คงคา ที่เราได้อาศัยน้ำ ลำน้ำต่างๆ มากมาย อาบน้ำ ซักผ้า อะไรทุกอย่างใช้น้ำ ก็คล้ายๆว่า ขอขมาที่เคยทิ้ง สิ่งปฏิกูล ลงไปในน้ำ แล้วก็เพื่อลอยเคราะห์ ลอยโศกด้วย ได้หลายอย่าง และเป็นพิธี ที่ชาวต่างประเทศ เพื่อนข้าพเจ้าว่า สวยงามเหลือกำลัง สวยงามมาก แต่สมัยนี้ พอปล่อยลอยไป ไม่เท่าไหร่ เดี๋ยวเดียว กระทง คว่ำกันหมด เค้เก้กันหมด เพราะทุกคน จะตูมตามมาดัก ตะปบกระทง แล้วก็หยิบเอาเงิน ไปจากกระทงทันที ซึ่งข้าพเจ้าก็คิดว่า ไม่เป็นมงคล แก่ผู้นั้นเลย ที่ทำอย่างนั้น เพราะทุกคน เค้าก็ประดิษฐ์ งดงามสวยงาม แล้วก็อธิษฐาน ที่เค้าลอยกระทงไป น่าจะสอนไปว่า สักพักหนึ่งสิ ให้กระทง ได้ลอยงดงาม แล้วค่อยตะปบเอาทีหลัง

วันนี้ประชาชนฟัง บอกแหม ท่านแก่จริงนะตอนนี้ ชักบ่น และขอให้ทุกคน ช่วยข้าพเจ้าตอน 70 นี่ยิ้มได้ เพราะสมความปรารถนาหลายอย่าง และในที่สุดข้าพเจ้า ขออวยพรให้ทุกท่านที่ มาชุมนุมอยู่ ณ ที่นี้ รวมทั้ง ประชาชนชาวไทย ทั้งประเทศ มีความสุขความเจริญ และรักษา สุขภาพ ได้ดี ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ขอให้ทุกครอบครัว ผ่านพ้นอุปสรรค น้อยใหญ่ ทุกประการไปด้วยดี ขอให้ทุกๆคนมีกำลังใจ ประสานสามัคคี ในการร่วมกัน ทะนุบำรุง ประเทศชาติของเรา ที่รักของเรา ให้มีความรุ่งเรือง มั่นคงสถาพร ตลอดไป ขอบคุณ

จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 12 สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔