แนวพระดำริ แกล้งดิน

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
สิงหาคม 2544

แนวพระดําริ "แกล้งดิน"ฟื้นชีวิตคนไทยไม่สิ้นหวัง

ในแวดวงการเกษตรเวลานี้ ไม่มีเรื่องใดให้พูดถึงได้มากที่สุดเท่า "การส่งเสริมเลี้ยงกุ้ง กุลาดำในพื้นที่น้ำจืด" เพราะดูจะเป็นประเด็นร้อน ที่ยังคงถกเถียงกัน ในระหว่างสองขั้ว บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็ไม่เห็นด้วย บ้างออกอาการโหลยโท่ย เออออไปด้วยกับนักการเมือง (พวกหลังนี้คบไม่ได้ อย่าไปใกล้เชียว) ยิ่งในขั้นวิกฤติแบบนี้ ต้องรีบหาข้อสรุปโดยเร็ว ก่อนที่แผ่นดินไทยผืนนี้จะถูกกุดความอุดมสมบูรณ์ไปจนหมดสิ้น!!!

หลายวันก่อน ทีมงานสารคดีวันพุธ ได้ร่วมเดินทางไปกับ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สนง.กปร.) โดยมี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ท่านเลขาธิการ กปร. เป็นหัวขบวนใหญ่ นำสื่อมวลชนสัญจร ไปเยี่ยมชม ความสำเร็จและความก้าว หน้าในการจัดการลุ่มน้ำ เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว และป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี สงขลา

ความสำเร็จดังกล่าว เกิดขึ้นจากพระวิสัยทัศน์ และพระอัจฉริยภาพ ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตระหนักถึงปัญหาและความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร โดยเฉพาะ พื้นที่ทางภาคใต้ซึ่งมีพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมน้อย เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมขัง ดินมีคุณภาพต่ำ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าพรุเสื่อมโทรม ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ทางการเกษตรได้ เนื่องจากดินมีสารไพไรท์ ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้ง ทำให้ดินเปรี้ยว ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานแนวแก้ไข โดยได้นำแนวคิด ของพระองค์ท่าน มาดำเนินการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัย ภายใน ศูนย์ศึกษา การพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส จนกระทั่งเกิดเป็นแนวคิด ทฤษฎีในการพัฒนา ทั้งเรื่องน้ำเปรี้ยว ดินเปรี้ยว และน้ำท่วม และได้เปิดให้ ประชาชนเข้าไปเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติในการ ประกอบอาชีพ ซึ่งในการสัญจรไปในครั้งนี้ ได้ไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาลุ่มน้ำ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา เพื่อควบคุมระดับน้ำ กักเก็บน้ำจืด ไว้ใช้ในการเกษตร ป้องกันปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ และที่สำคัญ เพื่อนำน้ำไปช่วยชะล้าง ความเปรี้ยวของดิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษา ลุ่มน้ำบางนราขึ้น เพื่อนำน้ำมาช่วยระบายความเปรี้ยว และใช้ในพื้นที่การเกษตร หลังจากนั้น ได้เดินทางต่อ ไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนา พิกุลทอง อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในการศึกษา วิจัย ทดลองการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ด้วยวิธี "แกล้งดิน" จนประสบความสำเร็จ โดยได้ชมแปลงสาธิตต่างๆ ที่ดำเนินมา เป็นเวลายาวนาน ถึง 20 ปี พร้อมกันนี้ ได้ไปเยี่ยมชมกิจกรรม "การกลั่นน้ำมันปาล์ม" ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริ ขององค์ท่าน ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกปาล์ม และให้เป็นตัวอย่าง โครงการขนาดเล็กที่จะช่วยเหลือเกษตรกร

จากความสำเร็จที่ได้ดำเนินการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้มีการนำทฤษฎี "แกล้งดิน" ไปขยายผลในพื้นที่ศูนย์สาขาและพื้นที่อื่นๆ ด้วย ได้แก่ โครงการพัฒนา พื้นที่บ้านยูโย บ้านโคกอิฐ-โคกใน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้พัฒนาดินเปรี้ยว จนสามารถปลูกข้าว และส่งเสริมปลูกพืชแบบผสมผสาน ในรูปแบบทฤษฎีใหม่ได้ นับเป็นแบบอย่างให้แก่ราษฎรในพื้นที่โดยรอบนำไปปฏิบัติ เพื่อใช้ประโยชน์ จากดินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด รวมถึงโครงการปศุสัตว์ เกษตรมูโนะ อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ และโครงการพัฒนาพื้นที่ พรุแฆแฆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปัตตานี จนสามารถทำการเกษตรได้

ความพยายามที่จะแก้ปัญหา ทั้งเรื่องปัญหาน้ำเปรี้ยว และดินเปรี้ยวนี้ ได้ถูกนำไปส่งเสริม ถ่ายทอดสู่ชาวบ้านรอบศูนย์ ตลอดจนขยายผลไปสู่พื้นที่ดินเปรี้ยวใน จ.นครนายก ได้นำไปปฏิบัติ เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง ที่ทีมงานสารคดีเก็บเกี่ยว นำมาเล่าสู่กันฟัง ที่มุ่งหวังคือเรื่องราวในวันนี้ คงจะทำให้ใครหลายคน ที่กำลังเห็นดีเห็นงาม กับการส่งเสริม เลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในพื้นที่น้ำจืด ได้สะดุดคิดเสียทีว่า ถ้าปล่อยให้มีการเลี้ยงแล้ว จะต้องใช้เวลา อีกนานเท่าไหร่ ถึงจะแก้ปัญหา ดินเค็มที่หลงเหลืออยู่

บอกได้คำเดียวว่า มันไม่ง่ายที่จะกอบกู้ให้ อะไรๆ กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง ดังนั้น เพื่อเป็นแบบอย่าง และแนวทางการพัฒนา ต่อไปในอนาคต สารคดีวันพุธ จะขอนำตัวอย่างเกษตรกร ผู้ที่ใช้วิธีการ "แกล้งดิน" ของพระองค์ท่าน ไปปรับปรุงดินเปรี้ยว จนสามารถเพาะปลูก ทำการเกษตรได้ พวกเขาต้องใช้เวลานานเท่าใด พุธต่อไป เราจะได้ไปพิสูจน์กัน...

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล