ม.มหิดลยกย่อง 2 แม่สู้ชีวิต

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
สิงหาคม 2544

 

สองแม่สู้ชีวิตทั้งแม่ ที่มีลูกปกติ และแม่ที่มีลูกพิการ เปิดใจการดูแลลูก พร้อม ยกอุทาหรณ์ให้ลูกติดดินและไม่ลืมตัวก็คือ ความยากจน ที่ประสบ มาในอดีต

มหาวิทยาลัยมหิดลจัดให้มีการเสนอชื่อ แม่สู้ชีวิต เพื่อเข้ารับการยกย่อง เทิดทูนในงาน มหิดล-วันแม่ ซึ่งในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลแม่สู้ชีวิต ประเภทแม่ ที่มีลูกปกติ คือ นางเป็ง ยารังษี วัย 80 ปี จาก จ.พะเยา ส่วน นางสาลี วันเอก วัย 32 ปี จาก จ.ปทุมธานี เป็นแม่สู้ชีวิตประเภทที่มีลูกพิการ โดยได้เข้ารับรางวัล ไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่อาคารสำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล ศาลายา สำหรับ นางเป็ง นั้นเติบโตจากครอบครัวที่ยากจน ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่งงานเมื่ออายุ 19 ปี มีลูกทั้งหมด 10 คน เริ่มต้นชีวิตด้วยที่นา 5 ไร่ และควาย 1 ตัว ที่พ่อแม่แบ่งให้ รับจ้าง ทำนาจนมีรายได้ซื้อเกวียน 1 เล่ม ซึ่งก่อนหน้าต้องออกแรง ลากเกวียน แทนวัว เพื่อลากข้าวจากนามาใส่ยุ้งเอง นางเป็งจะพูดเสมอว่า คนเรา ถ้ามีความมานะ พยายามอยู่ที่ไหนก็ไม่อดตาย ตัวเองเคยลำบาก ถึงขนาดไม่มี เสื้อผ้าใส่ต้องทำงานหนัก และเลี้ยงลูกเอง โดยใช้ผ้าขาวม้าผูกติดหลังไว้ขณะ ขุดแปลงปลูกผัก และวางลูกไว้ในหลุมดิน ขนาดประมาณหน้าอกของลูก เพื่อคอยดูลูก คำว่าอยู่กับดิน กินกับทราย เป็นประโยคที่จะบอกลูกๆ เสมอว่า จะเป็นใหญ่เป็นโตขนาดไหน ก็ไม่ควรลืมว่า เรามีที่มาจากไหน พร้อมกับให้ มีคุณธรรมและทำแต่ความดี

สำหรับนางสาลี แม่ของน้องฟลุ๊ค เด็กชายที่มีร่างกายผิดปกติเหมือนคนแคระ แขน-ขาสั้น หรือ HIPOPHOSPHATASIA ที่เกิดจากการที่ร่างกายขาดสารตัว นำแคลเซียมที่จะไปใช้ประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงเปราะหักง่าย ทั้งยังมีอาการความดันในสมองสูง ปอดเล็ก และระบบขับถ่ายไม่ปกติ แพทย์เคย บอกว่า น้องฟลุ๊คจะเสียชีวิตในขวบปีแรก แต่นางสาลีก็ไม่ย่อท้อ มีความตั้งใจ ที่จะยอมทุ่มเทเพื่อให้ลูกมีชีวิตอยู่ จนตัดสินใจออกจากงานเพื่อออกมาดูแล ปัจจุบันน้องฟลุ๊คแข็งแรงขึ้นจากที่ต้องให้ออกซิเจน ตลอดเวลา ก็สามารถ ถอดออกซิเจน พาไปเดินเล่นได้บ้าง จากการที่มีคนแนะนำ ให้ดื่มเครื่องดื่ม จากธัญพืช เมื่อลูกมีอาการดีขึ้น นางสาลี คิดทำขนมส่งขาย เพื่อหารายได้ เข้าครอบครัว ปัจจุบันน้องฟลุ๊คมีอายุ 3 ขวบ แต่ยังเดินไม่ได้ แม้จะมีอาการ ดีขึ้นมาก โดยนางสาลี ต่อสู้กับความเจ็บป่วย ของลูกมานานถึง 3 ปีเต็ม