โยนกรมถกผลดี-เสียพื้นฐาน 12 ปี

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
สิงหาคม 2544

 

ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เผยว่า ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยเฉพาะต้องการให้นักเรียน ผู้ปกครอง ครู มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่างหลักสูตรใหม่นี้ และ ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งการให้ กรมวิชาการ (วก.) ดำเนินการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็น จากกลุ่มต่างๆนั้น วก. ได้สรุปผล การประชุมกลุ่มย่อยแล้ว โดยมีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะให้ วก. ปรับปรุงร่างหลักสูตรใหม่ โดยทุกเวที ไม่คัดค้าน การจัดสาระการเรียนรู้ใหม่เป็น 8 กลุ่มวิชา แต่ขอให้ภาษาที่ใช้เขียน ในร่างหลักสูตรใหม่ จะต้องชัดเจนป้องกันการสื่อสารที่สับสน

อธิบดี วก. กล่าวต่อว่า ในส่วนของโครงสร้างหลักสูตรชั้น ป. 4-ป. 6 ซึ่งเป็นช่วงชั้นที่ 2 นั้น มีข้อเสนอ ให้ปรับสาระการเรียนรู้ ในวิชาการบังคับ ลดน้อยลง ซึ่ง วก. ก็ได้ดำเนินการปรับให้ยืดหยุ่น โดยให้มีวิชาบังคับ 70% วิชาเลือก 10% และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 20% ส่วน ป. 1-ป. 3 มีข้อเรียกร้อง ให้ผู้ปกครอง หรือครู เป็นผู้เลือกวิชาให้เด็กได้เรียน ซึ่งกรมก็ได้ดำเนินการ จัดวิชาเลือกให้ 5% ส่วน ม. 4- ม. 6 เพิ่มวิชาเลือกให้มากขึ้น โดยจะแบ่งออก เป็นวิชาบังคับ 45 หน่วยกิต วิชาเลือก 30 หน่วยกิต รวม 75 หน่วยกิต นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอ ให้จัดหลักสูตรสำหรับเด็กเก่งอีกด้วย สำหรับกลุ่มนักเรียนนั้น ห่วงใยว่าพฤติกรรม การสอนของครู จะยังสอน เหมือนเดิม กลุ่มผู้ปกครองนั้น พบว่า ยังมีเจตนาที่จะส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนดัง ซึ่งข้อเสนอต่างๆ วก. จะนำเข้า ที่ประชุมกรรมการปรับปรุงร่างหลักสูตร ซึ่งมี ดร.สิริกรเป็นประธาน เพื่อปรับปรุงตามหลักการ เหตุผล และ ทฤษฎีการศึกษาต่อไป

ส่วนกรณีที่จะมีการเปลี่ยนมติ ครม. เพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่อนุบาลถึง ม.-3 นั้น อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวว่า ไม่ส่งผลกระทบ ต่อร่างหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน 12 ปีที่ดำเนินการไว้ เพราะในอนาคต หากเศรษฐกิจดี ก็อาจมี การรวมการศึกษา ระดับ-ม.ปลาย เข้าเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานได้

ด้านนายจรูญ ชูลาภ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เผยภายหลังการประชุม สภากาแฟผู้บริหาร-ศธ. เพื่อหารือข้อราชการ ว่า รมช.ศธ.-ทั้งสองคน มอบให้ทุกกรมไปพิจารณา เกี่ยวกับการ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ทั้งรูปแบบ ที่จัดตั้งแต่อนุบาล-ม.-3 และ ป.-1-ม.-6 ว่ามีข้อดีข้อเสีย แตกต่างกันอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ให้นำมารายงานที่ประชุม ขณะเดียวกัน ให้ผู้บริหารกรม กระจายอำนาจให้กับ คณะกรรมการ เขตพื้นที่การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ใน 4 จังหวัด ที่นำร่องเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การนำร่อง เป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด