อะฟลาท็อกซิน M1 บ่อเกิดมะเร็ง

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
สิงหาคม 2544

คอลัมน์ “มันมากับอาหาร” ได้เคยนำเสนอถึงเจ้าอะฟลาท็อกซิน ในถั่วลิสง และพริกป่นกัน มาหลายครั้งแล้ว มาวันนี้ ขอแนะนำให้รู้จักกับเจ้า อะฟลาท็อกซิน ในอีกรูปแบบหนึ่ง
อะฟลาท็อกซิน ไม่ได้พบปนเปื้อนเฉพาะในเมล็ดธัญพืช และผลิตภัณฑ์เท่านั้น มันสามารถปนเปื้อน ได้ในอีกหลายๆ ผลิตภัณฑ์ แต่ที่เห็นใกล้ตัวหน่อยคงจะเป็น นมและผลิตภัณฑ์จากนม
เจ้าอะฟลาท็อกซิน ชนิดที่พบปนเปื้อนในนมนั้นคือ อะฟลาท็อกซิน M1 ซึ่งเกิดจากอะฟลาท็อกซินชนิด B1 และ B2 ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารโคนม เหตุที่อะฟลาท็อกซิน M1 พบในน้ำนมเป็นส่วนใหญ่นั้น ก็เพราะในอาหารเลี้ยงโคนม มักมีการปนเปื้อนของเจ้าอะฟลาท็อกซิน B1 เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อโคกินอาหารที่มีอะฟลาท็อกซิน B1 ปนเปื้อนเข้าไป โคจะขับเจ้าอะฟลาท็อกซิน M1 ออกมาในน้ำนม ในปริมาณร้อยละ 1-3 ของอะฟลาท็อกซิน B1 ที่มันได้รับ
ส่วนพิษสงของเจ้า M1 นั้น ด้วยตัวของมันเองแล้วจะไม่มีฤทธิ์เดชอะไร จนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง ให้อยู่ในรูปที่ทำให้เกิดพิษ ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นในร่างกายหลัง จากดื่มน้ำนมที่ปนเปื้อน อะฟลาท็อกซิน M1 เข้าไปแล้วอะฟลาท็อกซิน M1 จะถูกดูดซึมเข้าทางลำไส้เล็ก และกระจายไป ยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
บางส่วนจะถูกขับออกมาเป็นของเสีย บางส่วนถูกสะสมอยู่ในตับ ไต และถุงน้ำดี หลังจากนั้นอะฟลาท็อกซิน M1 จะถูกเปลี่ยนเป็นสารประกอบพวก อิพอกไซด์ และเข้ารวมตัวกับ DNA และ RNA ทำให้หน้าที่ทางชีวภาพ ของเซลล์ เปลี่ยนแปลง และท้ายที่สุดก็ก่อให้เกิดมะเร็งขึ้นได้ แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่ปรากฏรายงานการเกิดพิษจากอะฟลาท็อกซิน M1 ในมนุษย์ จะมีเพียงอันตรายที่เกิดกับสัตว์ทดลองเท่านั้น
จากการทดลองพบว่า ร่างกายมนุษย์สามารถขับถ่ายอะฟลาท็อกซิน ออกทางอุจจาระและปัสสาวะ ได้ประมาณ 50-60 %
สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างนมผงนำเข้าสำหรับเด็ก จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อเพื่อวิเคราะห์ หาปริมาณ อะฟลาท็อกซิน M1 ปนเปื้อน ปรากฏว่า เป็นที่น่ายินดีเป็น อย่างยิ่งที่ไม่พบสารดังกล่าว ในทุกตัวอย่าง.