.

ตีแผ่เด็กถูกข่มขืนทำทารุณยังไร้ทางแก้

จากการสัมมนาวิชาการหัวข้อ สุขภาพครอบครัวไทย : ทางรอดหรือทางล่ม ในงานตลาดนัดสุขภาพ ที่ศูนย์แสดงนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิจัย สถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล แกนนำเครือข่ายสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า ภาพความรุนแรงในสังคมไทย เหมือนภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาที่พบ มีตั้งแต่บังคับแต่งงาน ข่มขืน สามีทำร้ายภรรยา และลูก รวมทั้งความรุนแรง เชิงโครงสร้างกฎหมาย เด็กชายที่อยู่ในครอบครัว ที่มีแต่ความรุนแรง จะเลียนแบบพฤติกรรม ของคนในครอบครัว ส่วนเพศหญิง จะยอมจำนนกับการทำร้าย เพราะเห็น เป็นเรื่องธรรมดา ข้อมูลจากอาสาสมัคร ที่ลงชุมชน พบว่ามีเด็กถูกข่มขืน เป็นเวลา 1-2 ปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะชุมชนเห็นว่า เป็นเรื่อง ควรปกปิด กลัวชุมชนเสียชื่อ นอกจากนี้ ยังพบช่องของกฎหมาย ยอมให้ชายที่ข่มขืน เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่งงานกับเด็กหญิง เพื่อที่จะได้พ้นผิด สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสังคมไทยมีความซับซ้อน และบางครั้ง เงินก็จะเข้ามาช่วยจัดการ

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สภาพครอบครัวไทย ที่เป็นครอบครัวเดี่ยว เสี่ยงต่อการเกิด ความเครียด ทะเลาะกัน อัตราการหย่าร้างสูงร้อยละ 20 ของคู่สมรส ที่หย่าร้างกัน เยาวชนอายุ 18-20 ปีเกือบร้อยละ 10 ในปัจจุบันติดยาเสพติด

ส่วนนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลักษณะของปัญหาต่างออกไป จากเดิมมีคนโทรศัพท์ แจ้งเรื่องทุกข์ยากของคนอื่น แต่ปัจจุบัน เป็นการแจ้งทุกข์ของตนเอง เช่น ลูกติดยาเสพติด ลูกเรียนอยู่แล้วท้อง จะทำแท้งที่ไหน ดัชนีที่ชี้ว่า มีความรุนแรงมากในสังคมไทยคือ มีข่าวทางสื่อมวลชนบ่อยๆ มีรูปแบบ การทำรุนแรงที่แปลก ๆ เช่น ใช้เบ็ดตกปลา เกี่ยวแก้มลูกไปมัดไว้กับข้างฝา เบ็ดเกี่ยวจนเลือดอาบทั้ง 2 แก้ม หรือโมโหหลานร้องไห้ ใช้อีโต้เฉาะหัวเด็ก อีกทั้งผลการวิจัยมากมาย แสดงชัดเจนว่า สังคมไทยมีความรุนแรงมาก ยิ่งเรียนสูงระดับด็อกเตอร์ ยิ่งทำได้แนบเนียน กรณีศึกษา ของมูลนิธิคุ้มครองเด็ก พบว่า มีเด็กถูกทำร้าย ในสภาพที่ไม่น่าจะรอดชีวิต ถูกส่งมารับการดูแล ถ้าเป็นวัตถุ ต้องขัดล้างสุดชีวิต จึงจะพอดูได้

นายวัลลภกล่าวว่า ครอบครัว 5 ลักษณะที่เอื้อ ต่อการเกิดความรุนแรง คือ 1. ครอบครัวดาวกระจาย สมาชิกในครอบครัว ต่างคนต่างไป 2. ครอบครัวยิปซี เคลื่อนย้ายแรงงาน ไปยังที่ต่าง ๆ 3. ครอบครัวลูกระเบิด พร้อมที่จะเกิดความรุนแรง ไม่มีใครกล้าช่วย 4. ครอบครัวปุ๊บปัšบ เนื่องจากวัยรุ่น เห็นเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดา ก่อปัญหาตามมามากมาย ทั้งท้องแล้วทิ้ง ทำแท้ง ขายตัวเพื่อแลกกับวัตถุ และ 5. ครอบครัวไม่มีพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ตายจากโรคเอดส์ เด็กที่ติดเชื้อเอดส์ ใครจะโอบกอดเขา ให้เขาได้จบชีวิต อย่างอบอุ่น

ไทยรัฐ กันยายน ๒๕๔๔