เปิดตัว...โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

นับจากวันที่ 3 พฤศจิกายน 2529 อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบ พิธีวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ มาจนถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 15 ปีเต็มๆ แล้ว

แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นเอกในสาขา วิชาด้านสังคมศาสตร์จะค่อยๆ เติบโตและมีโอกาสได้ รับใช้ประชาชน ในเขตจังหวัด ปทุมธานี ตลอดจนประชาชน ที่อยู่ด้านเหนือ ของกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนไม่น้อย ในแต่ละปี

แต่โรงพยาบาลแห่งนี้ก็ยังปิดตัวเองเงียบเชียบอยู่ จนดูเหมือนว่า เป็นโรงพยาบาลภายใน ที่มีไว้ รับใช้ผู้คน ในวงจำกัดเท่านั้น

จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง คณะผู้ บริหารของโรงพยาบาล ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ก็ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ควรจะเปิดตัวต่อประชาชน โดยผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ

จึงได้เชิญคณะสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ไปสัมผัสกับรูปโฉมโนมพรรณ และรับรู้รับทราบถึง ผลงานของ โรงพยาบาลแห่งนี้โดยตรง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี

หัวหน้าทีมซอกแซก ได้มีโอกาสร่วมคณะสื่อมวลชน ไปกับเขาด้วย... ได้พบได้เห็น ได้คุยแล้ว ก็คงต้องขออนุญาต นำมาเล่าสู่กันอ่าน ตามระเบียบล่ะครับ

เวลาที่นั่งรถผ่านและมองจากภายนอกก็ดูเหมือนว่า โรงพยาบาลของธรรมศาสตร์ มีขนาด ไม่ใหญ่นัก

แต่พอเข้าไปข้างใน จึงพบว่ามีตึกสำคัญต่างๆ ที่ 4-5 ตึก สร้างเชื่อมโยงถึงกันหมด กว่าจะเดินครบทุกตึก เล่นเอาเหนื่อยไปทีเดียว

จากการพูดคุยกับหลายๆ ฝ่าย และจากสถิติ ที่มีการบันทึกไว้ สรุปได้ว่า เมื่อปี 2543 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมาใช้บริการถึงเกือบ 2 แสนราย แยกเป็นผู้ป่วยนอกเกือบ 1 แสน 8 หมื่นราย และเป็นผู้ป่วยใน อีกประมาณ 1 หมื่น 8 พันราย

สำหรับผู้ป่วยใน ซึ่งหมายถึงจะต้องรับไว้รักษา ให้เป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลนั้น ทาง โรงพยาบาล มีเตียงรองรับทั้งสิ้น 375 เตียง และกำลังจะขยายออกเป็น 600 เตียง ในไม่ช้านี้

มาถึงปีปัจจุบัน สถิติเพียงแค่ครึ่งปี ปรากฏว่า ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในเกินหลัก 1 แสน 1 หมื่นรายไปแล้ว ทำให้คาดว่า เมื่อสิ้นปีน่าจะเกินหลัก 2 แสนรายอย่างแน่นอน

คุณ สถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการบีโอไอ ผู้ซึ่งขันอาสา เข้ารับตำแหน่งประธาน คณะอำนวยการ ของโรงพยาบาลแห่งนี้ โดยมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เล่าว่า ความสำเร็จ อย่างรวดเร็วของ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ น่าจะมาจากเหตุผล 2-3 ข้อด้วยกัน

ข้อแรก น่าจะเป็นเพราะที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในบริเวณประตูเข้า กทม. มีเส้นทางสายเหนือ และสายอีสาน ผ่าน ทำให้ไปมาสะดวก

ประกอบกับในบริเวณนี้ ไม่มีโรงพยาบาลใหญ่แห่งอื่นๆ จึงทำให้ประชากรในแถบนี้ ซึ่งมีทั้งหมู่บ้าน และนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ นึกถึงธรรมศาสตร์ทันที เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น

ข้อสอง นอกจากที่ตั้งหรือฮวงจุ้ย ค่อนข้างดีแล้ว คุณสถาพรบอกว่า คงเป็นเพราะ เครื่องมือ ในการตรวจ และรักษาพยาบาลที่ ค่อนข้างดี

ข้อสาม ก็เห็นจะเป็น คนดี หรือ บุคลากรดี ซึ่งในประเด็นนี้ คุณสถาพรบอกว่า เป็นโชคดีของ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ที่เรามีคณาจารย์ จากคณะต่างๆ เช่น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เข้ามาร่วมตรวจรักษา อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันก็ได้ “แพทย์ใช้ทุน” ในระดับยอดเยี่ยม เข้ามาเสริม ปีละเกือบ 20 ราย

เมื่อรวมกับความตั้งใจของบุคลากรทุกฝ่าย ที่ผนึกกำลังร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อที่จะให้ผ่าน ระบบมาตรฐาน โรงพยาบาลที่เรียกว่า HA (Hospital Accredition) ล้วนมีส่วนทำให้ โรงพยาบาล ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ประสบความสำเร็จ และมีความก้าวหน้า ดังที่สื่อมวลชน ได้เห็นด้วยสายตา ในวันนี้

คุณสถาพรบอกด้วยว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องเผชิญปัญหา อุปสรรคมากมาย และแน่นอน ในระยะแรก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ก็ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ ในเรื่องบริการ อยู่มิใช่น้อยเลย

จุดเด่นของที่นี่คือ ความชำนาญเรื่องอุบัติเหตุ หรือเรื่องฉุกเฉินต่างๆ เพราะเราอยู่บนเส้นทาง ผ่านสายเหนือ สายอีสานพอดิบพอดี ประกอบกับเป็นที่ตั้งของ โรงงานอุตสาหกรรมด้วย เรื่องรถชนกัน หรืออุบัติเหตุ จากโรงงานจึงมีมาก และก็มากพอสมควร จากสถิติ ซึ่งทำให้โรงพยาบาล ต้องเน้นเป็นพิเศษ

เฉพาะปี 2543 มีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุฉุกเฉิน 10,410 ราย และครึ่งปี 2544 ก็กว่า 5,452 ราย เข้าไปแล้ว

ขณะเดียวกัน การตรวจโรคทั่วไป ที่ห้องฉุกเฉินก็มากกว่า 20,000 ราย ในปีที่ผ่านมา

สำหรับจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ น่าจะเป็นผลงาน ของกลุ่มงาน ทันตกรรม

นอกจากเครื่องมือที่ทันสมัย และแตกต่างจากสถานทันตแพทย์ทั่วๆ ไปแล้ว ยังเป็นที่กล่าวขวัญ กันอีกว่า ความชำนาญพิเศษ ของที่นี่ก็คือ งานทันตกรรมรากฟันเทียม และการสร้างอวัยวะเทียม ให้แก่ ใบหน้า และกะโหลกศีรษะ ซึ่งอยู่ในการดูแล ของงานทันตกรรมด้วย

คุณสถาพรบอกด้วยว่า เรื่องความสามารถของหมอ และพยาบาล เขาห้ามพูดคุย เป็นเชิงโฆษณา ...คุณสถาพร ก็เลยเล่าได้เพียงเท่านี้ และตบท้ายว่า

“ที่ผมชักชวนเพื่อนสื่อมวลชนมาวันนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า เราพร้อมแล้ว ที่จะรับใช้ประชาชนและ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยของเรา ไม่เพียงรักษาอาการไข้ อาการป่วยทางด้านสังคม เช่น เรื่องกฎหมาย เรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องบัญชีเท่านั้น... ในเรื่องรักษาคนไข้จริงๆ เราก็ทำได้เช่นกัน”

ท้ายที่สุด คุณสถาพร ฝากขอบคุณคณบดี คณะแพทยศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผศ.นพ.กัมมาล กุมารปาวา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ผศ.นพ.ยงยุทธ ศิริปการ และหัวหน้า แผนกทันตกรรม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ทันตแพทย์ วิจิตร ธรานนท์ ไว้เป็นกรณีพิเศษ

รวมทั้งขอบคุณทุกๆ คนที่โรงพยาบาล ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่บอกว่าพร้อมแล้ว ที่จะรับใช้ประชาชน และจะไม่ปิดตัวเองอีกต่อไป

สำหรับทีมงานซอกแซก ก็ขอให้กำลังใจและขอให้ทำหน้าที่ด้วยความตั้งใจต่อไป... อย่าให้เสียชื่อแม่โดมก็แล้วกันครับ.

"ซูม"

ไทยรัฐ สิงหาคม 2544