ผักไทยเริ่มไร้สาร

วันนี้ มีข่าวที่น่ายินดีมาบอกกล่าวกันอีกครั้ง

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่าง “ผักกาดขาว” จำนวน 4 ตัวอย่าง จาก 4 ย่านการค้า เพื่อมาวิเคราะห์ หาสารพิษตกค้าง จำนวน 26 ชนิด เช่น ดีดีที เอนโดซัลแฟน ซัลเฟต ไดเมท-โธเอท มาลาไธออน และเดลต้าเมธริน ผลปรากฏไม่พบสารพิษตกค้างเลย

คราวนี้ ท่านผู้นิยมชมชอบสุกี้ หรือชอบบริโภคผัก ก็คงจะหายห่วงกันได้

ผักกาดขาว หรือที่รู้จักกันในชื่อต่างๆ มากมาย เช่น ผักกาดขาวปลี แปะฉ่าย แปะฉ่ายลุ้ย เป็นพืชที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ต่อมาก็แพร่ไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดแหลมอินโดจีน และประเทศไทย

ส่วนใหญ่จะนำมาบริโภคสด หรือตากแห้ง และทำกิมจิ แต่ที่นิยมกันในขณะนี้ ก็เห็นจะเป็น ใช้เป็นผักประกอบ ในสุกี้ยากี้ ประโยชน์ของเจ้าผักกาดขาวก็เช่น ให้วิตามินและเกลือแร่ แก่ร่างกายหลายชนิด รวมทั้งยังช่วย ในด้านการขับถ่าย อีกด้วย

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้บริโภคส่วนใหญ่ มักหวาดระแวง และประสบปัญหาเกี่ยวกับ เรื่องของสารพิษตกค้างในผัก

ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากการใช้สารเคมีป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช ที่ไม่ถูกต้อง และ ไม่เหมาะสม ของเกษตรกร

คอลัมน์ “มันมากับอาหาร” ได้พยายามเป็นส่วนหนึ่ง ในการนำเสนอถึงพิษภัย ของสารพิษตกค้างต่างๆ มาตลอด ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้ทั้งผู้ผลิต ตระหนักถึงผลร้าย ที่จะตามมาสู่ผู้บริโภค และเพื่อให้ผู้บริโภค ได้ระมัดระวัง ในการบริโภคเพิ่มขึ้น

วันนี้ ผลการวิเคราะห์ที่ออกมา อาจจะเป็นบทพิสูจน์ อีกบทหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นว่า มาตรฐานทางด้านเกษตรของไทย เริ่มส่อเค้า ไปในทางบวก.



ไทยรัฐ ๗ กันยายน ๒๕๔๔