วีรบุรุษผู้พิทักษ์กฎหมาย

ประเทศไทยเคยมี “วีรบุรุษ” มาแล้วหลายสาขา มีทั้งวีรบุรุษเหรียญทอง และ วีรบุรุษประชาธิปไตย และกำลังจะได้วีรบุรุษรัฐมนตรี ผู้เอาจริงกับการ รักษากฎหมาย ถ้าหาก ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย สามารถทำตาม คำประกาศที่ว่า กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย มีกฎหมายต้องใช้ ไม่ว่าใคร จะเห็นด้วยหรือไม่ และไม่ว่าจะต้องออกจากรัฐมนตรี

ไม่เคยมีรัฐมนตรีมหาดไทย คนไหนที่ประกาศอย่างห้าวหาญ และกล้าเอาตำแหน่ง เป็นเดิมพันมาก่อน ในการรักษากฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะ ในยุคประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่อง ที่น่าชื่นชมยินดี และควรสนับสนุน ให้ประสบความสำเร็จ ตามคำประกาศ เริ่มต้นด้วยการเอาจริงเอาจัง กับการจัดระเบียบสังคม ด้วยการเข้มงวดกวดขัน กฎหมาย สถานบริการ และคำสั่งคณะปฏิวัติ ที่ห้ามขายเหล้าหลังเที่ยงคืน

แต่น่าหนักใจแทนรัฐมนตรี มหาดไทย เพราะการจัดระเบียบสังคมเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของการ ปลูกฝังค่านิยม ของคนในสังคม คงจะไม่ประสบความสำเร็จ เพียงให้ตำรวจ ไปคอยนั่งจัด ระเบียบกัน ที่หน้าสถานบันเทิง แต่ต้องเริ่มกันตั้งแต่ การให้การศึกษา อบรมกันที่บ้าน หรือครอบครัว ที่โรงเรียน และในวัด แค่จัดระเบียบ ภายในพรรคไทยรักไทย ซึ่งมี ส.ส. เพียง 263 คน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ที่น่าหนักใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ยังมีกฎหมายอีกมากมาย ที่ไม่ได้ใช้บังคับกัน อย่างจริงจัง และเป็นกฎหมายที่มีโทษหนัก และกระทบต่อสังคมมากกว่า กฎหมาย สถานบริการหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นบ่อนการพนัน ที่มีอยู่ทุกหัวระแหง แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ก็เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เพราะมองไม่เห็น หรือซ่องโสเภณี ในรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่ เกลื่อนกรุง และตามเมืองเล็ก เมืองใหญ่ ซึ่งก็เป็นเรื่อง ที่ผิดกฎหมาย

ยังไม่นับหวยเถื่อน ซึ่งมีการขาย และเล่นกันอย่างมโหฬาร ในทุกหมู่บ้าน และทุกตำบลทั่วประเทศ มีการเดินโพยอย่างเปิดเผย ตามชุมชนต่างๆ แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร และต่อหน้าต่อตา เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย สามารถเล่นกันได้ อย่างสะดวกสบาย โดยไม่จำกัดเพศ วัย หรืออายุ ยังไม่ต้องพูดถึง แหล่งแสดงลามกอนาจาร ที่มีอยู่เกลื่อนกลาด จึงไม่เชื่อว่าผู้รักษากฎหมายจะไม่รู้

ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น เมื่อเร็วๆนี้ นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรเลียคนหนึ่ง ได้เปิดเผย รายงานผลการศึกษา ระบุว่าไทยเป็น “แชมป์” แห่งเอเชีย มีเศรษฐกิจในเงามืดมากที่สุด มีมูลค่าถึง 51.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และสมาคมที่เกี่ยวกับ การรับเหมาก่อสร้าง ก็เคยเปิดโปงว่า มีนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ สมคบกัน งาบงบประมาณแผ่นดิน ปีละนับแสนล้านบาท

การติดสินบนข้าราชการผู้มี อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง กลายเป็นประเพณี และมีระบบที่ยอมรับ กันว่า จะต้องให้ใครกี่เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้ร้ายแรงกว่า การขายเหล้า หลังเที่ยงคืนหลายเท่า เป็นอาญาแผ่นดิน ที่มีโทษสูงสุด ถึงประหารชีวิต แต่เป็นกฎหมาย ที่ไม่ได้ใช้บังคับ อย่างจริงจัง ฉะนั้น ใครที่สามารถ บังคับให้เป็นไป ตามกฎหมายเหล่านี้ได้ จึงสมควรได้รับยกย่อง เป็นวีรบุรุษ ผู้พิทักษ์กฎหมาย.

ไทยรัฐ ๖ กันยายน ๒๕๔๔