.

หน่วยผลิตแม่พิมพ์รุกรัฐประกันวางงาน นศ.เรียนครู

ดร.พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง รองเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สรภ.ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้นำร่างระบบและกระบวนการใหม่ในการผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ไปประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็น จากกลุ่มเป้าหมาย ทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ครูใน 5 จังหวัดได้แก่ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ปทุมธานี เชียงราย และ กทม. ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ เห็นตรงกันว่า กระบวนการผลิต ครูใหม่ ที่มีหลักสูตรผลิตครู 5 ปี และฝึกปฏิบัติการสอนอีก 1 ปี เมื่อผ่านการประเมิน จะได้รับใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพครูนั้น เท่ากับว่า ต้องใช้เวลาเรียนถึง 6 ปี เพิ่มจากเดิม 2 ปี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการประกัน การมีงานทำให้แก่ผู้เรียน เช่นเดียวกับผู้ที่เรียนแพทย์ มิเช่นนั้น อาจจะไม่มี คนมาเรียนครู ซึ่งในประเด็นนี้มีผู้เสนอว่า หากไม่มีการประกัน การมีงานทำ ก็ให้สถาบันที่ผลิตครู หยุดผลิตครูไปก่อน จนกว่ารัฐบาล จะประกัน การมีงานทำให้ โดยการออกเป็นมติ ครม. และในการผลิตครูนั้น จะต้องดูความต้องการของครู ในแต่ละสาขาด้วย

รองเลขาธิการ สรภ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษานั้น ผู้เข้าร่วมการประชุมเห็นว่า ขณะนี้ มีครูต้นแบบ ครูแกนนำมาก หากนำมาใช้ทั้งหมด จะเป็นการลอกแบบ โดยไม่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และในการพัฒนาครู ควรอบรมพัฒนา ในเชิงลึก เช่น ถ้าเป็นครูที่สอนวิทยาศาสตร์ ก็พัฒนาให้ตรงสาย ไม่ใช่พัฒนา ทางด้านอื่น สำหรับหลักสูตร การผลิตผู้บริหารแนวใหม่ ต้องปรับแนวคิด ผู้บริหารในเรื่องของวิชาการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะทำงาน จะสรุปผลการศึกษาวิจัย เรื่องนี้เสนอคณะทำงานร่างระบบฯ ซึ่งมี ศ.ดร.พจน์ สะเพียรชัย เป็นประธาน และเสนอคณะกรรมการ ปฏิรูปการผลิตครูฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาต่อไป

ไทยรัฐ กันยายน ๒๕๔๔