.

ผลิตได้แล้ว "ยาสกัดมาลาเรีย" ตำรับไทย

วันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานโครงการ พัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ได้จัดทำรายงานการศึกษา Human Development Report ปี ค.ศ. 2001 ภายใต้หัวข้อเรื่อง Making Technology Works For Human Development ขึ้น ในรายงานดังกล่าวได้นำเสนอกรณีศึกษาของประเทศไทย เป็นตัวอย่าง ของความคิดริเริ่ม ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ โครงการสคูลเน็ต การคิดค้นยารักษาโรคมาลาเรียที่เหมาะสม กับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น ในประเทศไทย และการคาดการณ์เทคโนโลยี ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ ถือว่าเป็นการนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ สวทช.กำลังดำเนินการอยู่ อีกทั้งเพื่อเป็นแนวทาง ในการดำเนินงาน ในอนาคต ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ ผู้แทนจากยูเอ็นดีพี จะมาแนะแนวทาง ในการใช้เทคโนโลยี พัฒนามนุษย์ ในงานสัมมนาบทบาทของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเปิดงาน ที่ศูนย์ประชุม สหประชาชาติ

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและ เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า จากการที่นักวิจัยไทย ได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ศึกษาการดื้อยาของเชื้อมาลาเรีย เพื่อหาแนวทาง พัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ขึ้น โดยได้พัฒนาสารสกัด จากต้นชิงเฮาซู มานานกว่า 2 ปีแล้ว ขณะนี้สามารถสกัดสาร DHA dihydrofolate บริสุทธิ์ได้แล้ว ซึ่งสารดังกล่าวนี้ มีคุณสมบัติทางยา ดีกว่ายาอทิมิสซินิน เนื่องจากมีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดี ทำให้ยาดูดซึม เข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา กับองค์การเภสัชกรรม เพื่อผลิตยาต้านมาลาเรีย ตำรับนี้ คาดว่าไม่เกินกลางปี 2545 จะขึ้นทะเบียนตำรับยามาลาเรีย ที่พัฒนาโดยคนไทย เป็นครั้งแรกได้ อีกทั้งมีแนวโน้มว่ายาดังกล่าว องค์การอนามัยโลก น่าจะนำไปใช้ กับทุกประเทศ ทั่วโลกที่มีปัญหานี้

ศ.ดร.ยุงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิจัยในโครงการโรคเขตร้อน กล่าวว่า ยาที่พัฒนาขึ้นเป็นอนุพันธุ์ใหม่ ของสารที่ได้จากต้นชิงเฮาซู ที่ได้มีการปรับขั้นตอน ทางกระบวนการเคมีของสาร ให้เป็นยาตัวใหม่ ที่สามารถฆ่าเชื้อดื้อยามาลาเรียได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทดลอง ทางคลินิกกับคนไข้ ในคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล

ไทยรัฐ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๔