.

ศึกษาแปลงไลซีมมิเตอร์ (Lysimeter) การใช้นํ้าอย่างประหยัด เพื่อการเกษตร

"พืชมีสิทธิ ที่จะได้รับน้ำและธาตุอาหาร ในปริมาณและเวลาที่ต้องการ" นั่นคือ ที่มาของงานวิจัยจาก แปลงศึกษาการใช้น้ำและธาตุอาหารของพืช (Lysimeter) หรือไลซีมมิเตอร์ เป็นการพัฒนางานวิจัยและการศึกษา ของสถาบัน เทคโนโลยี ราชมงคล วิทยาเขตลำปางที่มี ดร.สัญชัย พันธโชติ หัวหน้าแผนกไม้ผล ซึ่งได้รับทุนไปศึกษา ถึงมหาวิทยาลัยบอนน์ (The University of bonn) และสถาบันไม้ผล มหาวิทยาลัยเทคนิค แห่งเบอร์ลิน (The technical University of berlin) ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ดร.สัญชัย พันธโชติ เผยว่า ปัจจุบัน "สิ่งแวดล้อมโลก" เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้พืชเจริญเติบโต และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนไปแตกต่างกัน การศึกษาพืชที่เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีการศึกษามากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นพืชกึ่งเมืองร้อนและเมืองหนาว การเจริญเติบโตของพืช มีความชัดเจน ในแต่ละขั้นตอน

"การศึกษาพื้นฐานของพืชแต่ละชนิด ถึงความ ต้องการน้ำและธาตุอาหาร ยังมีน้อย เพราะจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ค่อนข้างจำเพาะ และวิธีการ ที่ยุ่งยาก ทั้งยังจำเป็นต้องศึกษา ในสภาพที่สามารถควบคุม ปริมาณการใช้น้ำ หรือธาตุอาหารได้ ต้องแยกต้นพืชเป็นอิสระ และให้เกิดการแข่งขัน ของพืชน้อยที่สุด ที่ผ่านมาเป็นการศึกษาในสภาพเรือนเพาะชำ หรือเรือนกระจก เพราะเนื่องจาก สามารถควบคุมปัจจัยของน้ำและธาตุอาหาร แต่ไม่สามารถ ควบคุมการแข่งขัน การเจริญเติบโตของพืชได้"

ดร.สัญชัย พันธโชติ เผยอีกว่า เพื่อให้การพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศไทย พัฒนาไปอย่างถูกต้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมมากขึ้น ไลซีมมิเตอร์ (Lysimeter) จะเป็นเครื่องมือที่จำเป็น สำหรับการศึกษา พื้นฐานของพืชแต่ละชนิด ภายใต้หลักแนวคิดคือ พืชมีสิทธิ ที่จะได้รับน้ำ และธาตุอาหาร ในปริมาณและเวลาที่ต้องการ โดยเฉพาะการศึกษา ความต้องการน้ำ และธาตุอาหารในแต่ละช่วง ของการเจริญเติบโต เพื่อให้การใช้น้ำ และธาตุอาหารของพืช เป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

ตลอดจนการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่นการขาดน้ำ น้ำท่วม น้ำขัง และสภาพการได้รับธาตุอาหารมากหรือน้อยกว่าความต้องการ จึงพัฒนาปรับปรุง แปลงศึกษาการใช้น้ำและธาตุอาหารพืช (Lysimeter) เพื่อให้มีประสิทธิภาพและใช้งานได้ดี เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศเขตร้อน และเพื่อเป็นรูปแบบสำหรับการติดตั้ง Lysimeter ในหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง กับการศึกษาวิจัย

แปลงศึกษาการใช้น้ำและธาตุอาหารพืช (Lysimeter) เริ่มจากการใช้ถังซีเมนต์ ขุดลึกฝังดินในระดับ 0.55 เมตร มีฝาปิดทั้งด้านบนและล่าง จัดให้มีท่อน้ำ ไหลเข้า-ออกผ่านผนังคอนกรีตไปสู่บ่อซีเมนต์ที่ลึกจากพื้นดิน 0.90 เมตร โดยในบ่อ มีถังน้ำขนาด 20 ลิตรแขวนอยู่บนเสาคานเหล็ก ที่มีลูกรอกผูกเชือก ดึงขึ้นลงตามระยะเวลา และมีถังแยกที่สามารถใช้ตวงน้ำ โดยวัดปริมาตร ไว้ได้ทุกครั้ง

เมื่อเสร็จสิ้นแบบแปลน Lysimeter เมื่อถึงเวลาการปฏิบัติวิจัยการใช้น้ำ ให้ปลูกพืชที่จะทดลองลงไปในบ่อซีเมนต์ และใช้ทรายเป็นตัวพยุงต้นพืชไว้ จากนั้นก็เริ่มรอกถังน้ำขึ้นและลงในทุกชั่วโมง ครั้งละ 15 นาที ก่อนจะมาวัด ปริมาณการใช้น้ำ ของพืชแต่ละชนิด

การศึกษาวิจัยนี้ ใช้ระยะเวลา 5 ปี ผ่านมา 3 ปีกว่าแล้ว และใช้ต้นพืชทดลอง ไปหลายร้อยชนิด พบว่าพืชแต่ละชนิด ใช้น้ำในปริมาณ ที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่เวลาส่วนใหญ่ จะใกล้เคียงกันเช่น ช่วงเช้าต้องการเวลาประมาณ 09.00-11.00 น. และหยุดความต้องการน้ำ ช่วงเวลา 12.00-14.00 น. ก่อนจะเริ่ม ต้องการน้ำใหม่ ในเวลา 14.00-16.00 น. และในเวลากลางคืน พืชเกือบทุกชนิด ไม่ต้องการน้ำเลย

+ยืนยันว่า เวลาเช้าและกลางคืน เกษตรกรไม่ควรให้น้ำพืช เพราะหากต้นไม้ พูดได้ ใครที่ไปรดน้ำตอนเช้า

มันคงพูดว่า "อย่าทำอย่างนี้ซีจ๊ะ ฉันยังไม่ตื่นนอน".

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

ไทยรัฐ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๔