หัวอกพ่อ

มขออนุญาตเขียนถึงเรื่องราวที่ผมติดค้างท่านผู้อ่านเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวาน... คือเรื่องราวของเด็กสาว เชื้อสายไทย “ศรัณยา ศรีนวล” ที่ออกจากบ้าน ไปทำงานที่ชั้น 104 ของตึกเวิลด์เทรด เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001

หลังจากนั้นเธอก็ต้องกลายเป็น 1 ในจำนวน 6,000 กว่ารายชื่อที่ทางการนิวยอร์ก ยังคงประกาศให้เป็น “บุคคลที่สูญหาย” แม้จนบัดนี้ หลังเหตุการณ์วิปโยค ที่ปรากฏแก่สายตาของคนทั้งโลก

ผมมีโอกาสได้พบกับ คุณเฉลิมชัย ศรีนวล คุณพ่อของเธอ ซึ่งแม้จะเศร้าซึม เจ็บปวด แต่ก็ยังออกตามหาลูกสาวอย่างไม่ลดละ ด้วยความหวังว่า เธอจะยังมีชีวิตอยู่ และจะกลับบ้านในวันใด วันหนึ่งข้างหน้า

คุณเฉลิมชัยจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ เขาเข้าเรียนเมื่อปี 2502 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายที่ไม่ต้องสอบเข้า

เคยทำงานเป็นลูกจ้างกรมสรรพากรถึง 3 ปีเต็ม และเมื่อเห็นว่า คงไม่มีโอกาส เป็นข้าราชการแน่นอนแล้ว เขาก็ตัดสินใจขึ้นเครื่องบินไปอเมริกา...ทำงานด้วย เรียนด้วย...เมื่อจบแล้วก็ปักหลักอยู่ต่อ

จากนั้นก็พบกับคุณลาวัณย์ ซึ่งเป็นพยาบาลอยู่ที่นิวยอร์ก และตกลงปลงใจ ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ให้กำเนิดบุตรหนึ่ง ธิดาสอง

ศรัณยา เป็นลูกสาวคนแรกและเป็นคนกลางในจำนวนลูก 3 คน ของเขากับคุณลาวัณย์

ประมาณ พ.ศ.2526 เขากลับมาทำงานที่เมืองไทยอยู่พักหนึ่ง ในฐานะ ผู้จัดการบริษัทสุราหงส์หยก (หงส์ทองภาคใต้)

ลูกชายและลูกสาว ซึ่งยังเล็กก็กลับมาด้วย เขาจำได้ว่าเขาส่งลูกๆ ไปเรียนที่โรงเรียน ศรีธรรมราชวิทยา...โดยเฉพาะศรัณยา เรียนอยู่ถึง 3 ปีเต็ม

จากนั้น เขาตัดสินใจกลับสหรัฐฯอีกครั้ง และเป็นการกลับเพื่อลูกโดยแท้ เพราะดูแล้ว ลูกๆ คงจะลำบากแน่ ถ้าอยู่เมืองไทยต่อไป

แต่ 3 ปีที่กลับบ้าน ก็นับว่าคุ้ม เพราะลูกๆ สามารถเล่าเรียนภาษาไทย ได้พอสมควร โดยเฉพาะศรัณยา สามารถอ่านออกเขียนได้ จนถึงปัจจุบัน

เธอชอบอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทย และไทยรัฐ ก็เป็น 1 ใน 2-3 ฉบับที่เธอชอบ โดยเฉพาะคอลัมน์ ที่เธออ่านบ่อยที่สุด ได้แก่ คอลัมน์ทำนายโชคชะตาราศี ของ “อาจารย์นพ”

ศรัณยาเป็นเด็กเรียนเก่ง (มากๆ) สอบเข้าเรียนระดับมัธยมได้ที่โรงเรียนมัธยม บรองซ์ไซน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของโรงเรียนมัธยมชั้นนำของนิวยอร์ก

รวมทั้งเคยได้รับการประกาศชื่อให้เป็นนักเรียนดีเด่น ของโรงเรียนแห่งนี้ ท่ามกลางความภาคภูมิใจของพ่อแม่

จากนั้น เธอได้รับการคัดเลือกให้เรียนเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน เพิ่งจบได้ปริญญาตรี สาขาธุรกิจ ระหว่างประเทศ เกียรตินิยม เมื่อปีกลายนี่เอง

ระหว่างเรียนเคยมาเมืองไทย และได้รับการทาบทามให้ถ่ายแบบ ลงหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” พร้อมทั้งได้รับการชักชวน ให้เข้าประกวด นางสาวไทยด้วย แต่เธอปฏิเสธ เพราะอยากจะเรียนต่อให้จบ

ช่อง 3 ก็เคยทาบทามให้เธอเล่นละคร ซึ่งเธอก็ปฏิเสธ ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ศรัณยากลับมาเรียนต่อจนจบ แล้วก็เข้าทำงานกับบริษัท แคนเตอร์ ฟิตช์เจอรัลด์ ซึ่งเป็นบริษัท ขายพันธบัตรที่มีชื่อเสียง และมีสำนักงานอยู่บนชั้น 104 ของตึก เวิลด์เทรด หลังที่ 1

8 เดือนที่เธอทำงานที่นี่...เจ้านายไว้วางใจมาก และเลือกเธอเข้าอบรม เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็น นักขายพันธบัตรต่อไป

เจ้านายพาไปดูบ้าน (หลังมหึมา) ดูรถยนต์ (คันมหึมา) แล้วบอกว่านี่คือผลพวง ของการเป็นนักขายพันธบัตรทั้งสิ้น... ทำให้ศรัณยาตัดสินใจเด็ดขาด ที่จะอยู่ ในอาชีพนี้ต่อไป จนกว่าจะมีอะไรเหมือนเจ้านาย

เธอเพิ่งซื้อรถใหม่ (คันเล็กกว่าเจ้านาย) ได้เดือนเศษๆ แต่มักจะจอดทิ้งไว้ เพราะนั่งรถใต้ดิน ไปทำงาน สะดวกกว่า

วันเกิดเหตุ เธอออกจากอพาร์ตเมนต์ตั้งแต่เช้า เดินสวมรองเท้าส้นสูง เสียงดังก๊อกๆ ผ่านห้องคุณเฉลิมชัย ซึ่งมักจะตื่นสาย ตามประสาคนทำงานอิสระ

เขาไม่คิดมาก่อนเลยว่า เขาจะไม่ได้ยินเสียงเดินก๊อกๆ ที่เขาได้ยินมาตลอด 8 เดือน ที่ลูกไปทำงานกับบริษัทนี้อีกต่อไป... เพราะจนบัดนี้ ลูกสาวของเขาก็ยังไม่กลับบ้าน

คุณเฉลิมชัย ศรีนวล เป็นนักกลอนรุ่นเก่า ผลงานสมัยเรียนธรรมศาสตร์ของเขา เคยปรากฏใน “ชาวกรุง” และ “ไทยรัฐ” ยุคซอยวรพงษ์

ทุกวันนี้ เขาก็ยังเขียนกลอนส่งให้หนังสือที่ระลึก ที่คนไทยในนิวยอร์ก จัดทำขึ้น ในโอกาสต่างๆ

ผมหวังว่า...วันใดวันหนึ่งที่เขาทำใจได้ เขาน่าจะเขียนกลอนบันทึกเหตุการณ์หฤโหด ครั้งนี้ไว้บ้าง

แต่เมื่อไรล่ะ...ที่เขาจะหายโศกเศร้า และมีกำลังใจแข็งแกร่ง พอที่จะจับปากกา.

"ซูม"

ไทยรัฐ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๔