เศรษฐศาสตร์บุญนิยม:
  ระบบบุญนิยมก้าวแรก | เศรษฐกิจพอเพียง | ทุนนิยม กับ บุญนิยม | หลักการพัฒนาตน | สาธารณโภคี
ก้าวแรกระบบบุญนิยม
page: 2/5
ทุนนิยม กับบุญนิยม
close

ในบุญนิยมก็มีเศรษฐกิจพอเพียง

 

เศรษฐกิจพอเพียง กับ บุญนิยม ต่างกันหรือไม่ ?

(หัวเราะ) บุญนิยม อาตมาตั้งใจให้เป็นชื่อ ระบบที่ลึกและครบพร้อมทุกอย่าง
ในวงจรชีวิตของมนุษย์และสังคม เศรษฐกิจพอเพียงมองในแง่เศรษฐกิจเท่านั้น
ซึ่งในบุญนิยมก็มีเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเราเตรียมตัว รู้ว่าอะไรเป็นสาระ
กินใช้เท่าที่จำเป็น
อะไรที่ควรผลิต ควรสร้าง ควรทำ ชาวอโศกไม่เน้นอุตสาหกรรม
แต่เน้นกสิกรรม เราไม่มีเรื่องการปศุสัตว์ ประมง อุตสาหกรรมเราก็ทำขนาดเล็ก

พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์

ในการขายของเรา มีปรัชญาว่า ขายต่ำได้มากเท่าไร นั่นคือการเจริญของ การพาณิชย์บุญนิยม อย่างแย่ที่สุด คือ ขายให้ต่ำกว่าราคาตลาด และ ขายให้ได้ต่ำ
มากเท่าไร เข้าใกล้ต้นทุนมาก ยิ่งเจริญมากเท่านั้น
มาถึงขั้นที่สามารถขายใน
ราคาเท่าทุนได้ ถือว่าดีขึ้น แต่ยังไม่เข้าข่ายเป็นบุญ เพราะขายระดับเท่าทุน เท่ากับเรา
ไม่มีบุญ ไม่ได้ช่วยใคร(ในการคิดทุน เราคิดค่าแรงด้วย ตามแบบสากลที่เขาคิด) ขาย แบบบุญนิยมต้องต่ำกว่าทุน จึงจะเรียกว่ากำไร ใครสามารถขายต่ำกว่าทุนได้มาก
เท่าไร คือกำไร คุณอยู่รอดไหม ดำเนินชีวิตไปได้เองหรือไม่ ดีคุณทำ ไม่ถึงขั้นทรมานตน

คนเขาก็งงว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร อยู่ได้เพราะค่าแรงเรา สมมุติในราคาทุนหมื่นบาท ตามธรรมดาเป็นค่าแรงกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็ลดลงมาเรื่อยๆ เราตัดค่าแรงลงมาเรื่อยๆ คือส่วนที่เราให้แก่สังคม ใครตัดค่าแรงได้มากเท่าไร เท่ากับให้กับสังคมได้มากเท่านั้น นี่คือหลักสำคัญของบุญนิยม เราช่วยสังคมอย่างนี้ แต่ไม่มีหลักฐาน... เราเสียสละไปทันที ไม่มีอะไรบันทึก คนจึงไม่รู้ว่าเราช่วยสังคม คนทำงานที่นี่ไม่ใช่คนสองคน แต่เป็นร้อย เป็นพันและเราทำอยู่เรื่อย

ในบุญนิยมของเราที่เขาบอกไม่ช่วยสังคม ทำแต่ตัวของเราเอง เราก็ฟังเขา และพยายามเข้าใจเนื้อหาสาระ บางคนว่าถึงขนาดพวกอโศกบุญนิยมอะไร คนเขาทำงานทางโลกดีๆ ก็ลาออกจากงานมาทำงานฟรีๆ ไม่ได้อะไรเลย รัฐลงทุนกับข้าราชการไปเท่าไรและมาทำงานนี้ไม่มีมรรคผลอะไรเลย เขากลับมองอย่างนั้น เรากลับมองว่าถ้าข้าราชการทำงานอยู่ เงินเดือนของรัฐเขาต้องเอาไป เขาก็ทำงานตีมูลค่าเป็นเงินแลกเปลี่ยนมาแล้วไม่เหลืออะไรให้โลกให้ผู้อื่น แต่ของเรากลับมาทำงาน แต่ไม่ได้เงิน ไม่ได้เอาของรัฐ ที่นี่กินอยู่ด้วยกัน ทำงานฟรีด้วยซ้ำ คนก็มองไม่ออกว่าเราได้ให้แล้ว ไม่เอาเงินเดือนรัฐ นั่นคือให้รัฐอยู่แล้ว คืนให้สังคมแถมมาทำงานที่นี่ ขายถูก คืนให้กับสังคมไปแล้ว...

 



พลตรีจำลอง ศรีเมือง วันเปิดร้านอาหารมังสวิรัติ "บ้านสวนไผ่ สุขภาพ"
อยู่ที่ พหลโยธิน ซอย 5 ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า ซอยอารีย์ เพียง 200 เมตร

เราไม่มีเงินก้อนเหมือนทุนนิยมที่ได้เงินมาแล้วไปสร้างสำนักงานหรูหรา มีหลักทรัพย์เท่านั้นเท่านี้ ของเรามีอัตราก้าวหน้าอยู่บ้าง แต่ไม่เหมือนระบบทุนนิยม จึงดูเหมือนว่ามันช้า แต่ที่ช้ามันก็ไม่เสียหาย ช้าเพราะเรารีบให้กับสังคมเร็วไปต่างหาก เราไม่กักตุน จึงไม่เกิดการติดขัดจากเรา ถ้าจะบอกว่าสภาพอย่างเราปฏิบัติ สังคมได้สภาพคล่องจากเราสูงสุด แต่ระบบทุนนิยมต่างคนต่างกัก พอเห็นท่าไม่ดี รีบระวังตัวเองแล้ว

มีคนวิจารณ์ว่า ถ้าเดินตามบุญนิยมอย่างเดียว สังคมไทยจะถอยหลังไปสู่ยุคเกษตรกรรม ไม่มีความเจริญทางเทคโนโลยีหรือวัตถุ ?

หากมองอย่างที่เขาคิดว่าจะไม่มีความเจริญทางวัตถุ เช่น ไม่ต้องดิ้นรน มีสะพานลอย ๓ ชั้น ๗ ชั้น แน่นอน เพราะเราเกิดการสะพัดทั่วถึง ทุกคนไม่ต้องวิ่งหมาหอบแดด ต้องแข่งเวลาอย่างนี้ ทุกคนจะเฉลี่ยสะพัดถึงกันได้อย่างดี เพราะฉะนั้นสังคมจะสงบสุข ไม่เจริญทางวัตถุหวือหวาฟู่ฟ่าอย่างนี้ อาจจะจริงอย่างที่เขาคิด แต่ขอยืนยันว่าเจริญอุดมสมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่สุขภาพกาย - สุขภาพจิตสมบูรณ์ ไม่เกิดมลพิษหรือการแย่งชิง ขาดแคลนจุดหนึ่งแต่ไปกักอยู่ที่จุดหนึ่ง

เป็นไปได้ไหมว่าบุญนิยมกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะไปด้วยกัน ?

แน่นอนบุญนิยมกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอันเหมาะสม อาตมาว่าสังคมที่ประพฤติตามแบบทุนนิยมอย่างที่เห็น สรุปได้ว่าทุนนิยมนี้เป็นระบบงูกินหาง กินหางตัวเองจะถึงคอแล้ว จนไม่เหลือทรัพยากรวัตถุดิบของโลก เพราะต่างคนต่างกอบโกยเอาเปรียบ แต่ในระบบบุญนิยม คนถูกสร้างขึ้นให้เป็นคนรู้จักสันโดษ พอ มักน้อย ไม่ได้หมายความว่าทำงานน้อยๆ ได้เท่าไรเอาเท่านั้น แต่หมายความว่าขยันหมั่นเพียรมากๆ บริโภคน้อยๆ ส่วนอื่นสะพัดไปสู่ที่ๆ ควรสะพัด ที่ควรเกื้อกูลเผื่อแผ่

ถ้าเป็นเซลส์ ก็ไม่เหมือนกับทุนนิยม ทุนนิยมจะมองว่าจุดไหนจะซื้อของเรา
ที่มีดีมานส์สูงได้ราคาดี แต่เซลส์เราจะมองว่าจุดไหนสมควรจะได้สินค้า
ผลิตผลอย่างนี้เป็นคุณค่ากับเขา เหมาะสมกับเขา แม้เขาจะจนยาก
ถ้าเราไม่จำเป็นต้องได้แลกเปลี่ยนกลับคืนมาก็ให้ หรือ ขาย
ในราคาถูก เพราะเราพอเพียงแล้ว เราพึ่งตนเองได้ คือ
ต้องพึ่งตนเองให้รอดก่อน ส่วนเกินเหลือจึงไปแจกจ่ายเจือจาน
แก่ผู้ที่ควรให้ เพราะฉะนั้นการขายหรือให้ จึงไม่ใช่
เพื่อค้ากำไรกลับคืนมา แต่เพื่อเกื้อกูล
เผื่อแผ่ผู้อื่นเท่านั้น

(จาก “เนชั่นสุดสัปดาห์” ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๔๔ วันที่ ๗ - ๑๓ มกราคม ๒๕๔๒ หน้า๑๗)

 

 

ก้าวแรกระบบบุญนิยม
page: 2/5
ทุนนิยม กับบุญนิยม
close
   Asoke Network   Thailand