580222_วิถีอาริยธรรม สันติฯ 
ปฏิกโกสนาคือคัดค้านอย่างจัง (
กรณีพระธัมชโย)

ส.เพาะพุทธว่า...พ่อครูได้มีกวี ที่อ.เป็นต้น นาประโคน ประพันธ์ไว้ แล้วพ่อครู ประพันธ์เสริมไปอีก ๒ บท สำหรับ ตีพิมพ์ ในหนังสือ เราคิดอะไร?

                เทวดาตกสวรรค์

                (๑) โอ้อรเอยโอษฐ์อ้าง                        อวดองค์
                โลกหลับใหลลุ่มหลง                          ลูบไล้
                เงินง้างงัดงุนงง                                  โง่งาบ
                หอบหาบหวงห่อนให้                        โหดเหี้ยมห่าเหว                                

                (๒) บนบ่าแบกบาปบ้า                       บอกบุญ
                ทำท่าทางทุ่มทุน                                 เท่แท้
                คนคงคิดแค้นคุณ                               โค่นโคตร
                โกยกอบเก็บกักแก้                             กู่ก้องแกโกง

                (๓) ระเริงรวยเร่าร้อน                         รุนแรง
                ปล้นเปลือกปลดเปลี่ยนแปลง              เปล่าปลี้
                ทั้งทุกข์โทษทิ่มแทง                           ท่วมทับ
                โขยงขยาดขยันขยำขยี้                        ขยับเขยื้อนขยะแขยง             

                (๔) ไปโป้ปดแปดเปื้อน                     ปากปู
                รักเรี่ยราดรกรู                                    แรดร้าย
                เสแสร้างแส่สร้างสู                            สาวโสด สดสวย
                เททับทุ่งทิ้งท้าย                                 ทาสแท้ทานทุน

                (๕) แถมถอดถอนเถื่อนถ้อย               ถกถาม
                น้ำเน่าหนักนางนาม                           แน่เน้อ
                แกก่อเกิดกลกาม                                แก้เก่ง
                ฟาดฟัดแฟนฟุ้งเฟ้อ                            เฟื่องเฟื้องแฟบฟุบ

                (๖) จึงเจียนจอดจบเจ้า                        จำใจ
                เลี่ยงเล่ห์ลึกลื่นไหล                            หลบลี้
                ผลักผิดผรุสเผาไผ                               ผลผ่อน
                เปลืองเปรอะปรุงเปล่าปลี้                  ปลอกปลิ้นเป็นไป

                (๗) ท้ายทุกข์ทันท่วมแท้                    ที่ทำ
                หยุดอย่ายาวย่ำยำ                                ยอกย้อน
                 เสียสุดเสร็จสิ้นสำ-                             ส่อนเสื่อม
                อรอาจเอ่ยออดอ้อน                            โอ่อ้าง"ไอ"เอียน.       
           
                                                       "อ.เป็นต้น นาประโคน"                                                                                ๑๓ ก.พ. ๒๕๕๘
           [นัยปก "เราคิดอะไร" ฉบับ ๒๙๖ ประจำเดือน มีนาคม ๒๕๕๘]                                  

พ่อครูว่า..  เราอยู่ในสังคม เราก็ต้องสดับตรับข่าวของสังคม ไม่ใช่เราเป็นคนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น เหมือนกับเราเองเป็นคนใจดำ ไม่ดูดำดูดีเพื่อนฝูง  คนตกทุกข์ได้ยาก เราก็เฉย ถ้าเราอยู่ในสังคมใดก็แล้วแต่ เราไม่อาจไปเชื่อมโยง เกี่ยวข้องกับเขาได้เลย เพราะสุดวิสัย เข้าไปแล้วเสียหาย เราก็จะต้องตาย ไม่ได้ประโยชน์สักอย่าง ถ้าอย่างนั้น เราก็ไม่ควรไปเกี่ยวข้อง เราก็ขออยู่ส่วนของเรา เพราะสุดวิสัย แต่ถ้าเผื่อว่าเราก็พอได้ พอช่วยพอเข้าไปเกี่ยวข้อง มีประโยชน์ ยิ่งจะเราเข้าไปมีประโยชน์ โดยเราเสียสละบ้าง ถ้าถึงกาละต้องลงทุน ต้องเปลืองตัว เปลืองทุนรอนแรงงาน เราก็ควรทำ ควรทำตามสมควร ยิ่งเราเองอยู่ในฐานะ ที่พอช่วยได้ สามารถทำได้ ก็ควรอย่างยิ่ง ใช้คำว่าต้องช่วย ไม่ช่วยก็เลวเลย ไม่ใช่แค่ใจดำ เห็นแก่ตัวเกินไป เป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวจัด อาตมาพาทำร่วมกับสังคม ใช้สัปปุริสธรรม ๗ มหาปเทส ๔

สำหรับคดีนี้ กรณีนี้ ที่พระในศาสนาพุทธ มีความผิดถึงปาราชิก แล้วก็ถูกหมู่สงฆ์คณะใหญ่ ตัดสินไม่ให้ผิด ก็เลยมีปฏิกิริยา ประท้วง คว่ำบาตร ต่อต้าน มีลักษณะพวกนี้เลย

เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ฝ่ายอโศกนี่เป็นกลุ่มที่ประกาศนานาสังวาส กับสงฆ์กระแสหลัก เมื่อ ๖  ส.ค. ๒๕๑๘ แล้วก็ถือว่า วันที่ ๗ ส.ค. ๒๕๑๘ พอเราลาออกมาแล้ว มีหลักฐานยืนยันว่า สงฆ์หมู่ใหญ่รับทราบแล้ว มีหนังสือลายลักษณ์อักษร อาตมาประกาศต่อหน้าสงฆ์ ๑๘๐ รูป ที่วัดหนองกระทุ่ม โดยมีเรา เป็นสงฆ์หมู่เล็ก มีพระ ๒๑ รูป กับเณร ๒ รูป ประกาศแยกตัว เป็นนานาสังวาส ถูกต้องตามธรรมวินัยทุกอย่าง อาตมากล่าวลา แล้วก็ส่งหนังสือให้เจ้าคณะอำเภอ และตำบลก็มาร่วมด้วย อาตมาก็ให้เจ้าคณะอำเภอ เซ็นรับรองแล้ว ก็ส่งไปถึงเจ้าคณะจังหวัด มีหลักฐานลายเซ็น ผู้ว่ารับรองด้วย แล้วส่งไปถึงมหาเถรสมาคม ก็รับรองแล้ว แต่วันร้ายคืนร้าย เขาก็ดึงเราไปคืนสู่กลุ่มอีก แล้วก็มาเอาเรื่อง ฟ้องร้องเอาความเราอีก ทั้งที่นานาสังวาส จะฟ้องร้องกันไม่ได้ถึงอุกโกฏนา จะทำได้ก็แค่ ปฏิกโกสนา แปลว่า คัดค้าน ประท้วง หรือท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ ท่านแปลว่า คัดค้านจังๆ แต่ปฏิกโกสนา ทำได้แค่วาจา แต่จะทำถึงด่า สาดเสียเทเสียหยาบคาย หรือถึงขั้นผิดหลักธรรมกฎเกณฑ์ จนไปฟ้องร้องไม่ได้ จะอธิกรณ์กันไม่ได้ นั่นเอง

และมีหลักฐานว่า มหาเถรสมาคมนั้น ให้เราแยกตัวแล้ว ก็คือเราไปขึ้นรถประจำทาง หรือรถไฟ ทางผอ. รถไฟ ก็ทำหนังสือถึงมหาเถรสมาคมว่า นี่พวกอโศก เป็นพระหรือไม่? มหาเถรสมาคม ก็ทำหนังสือเป็นหลักฐานเลยว่า สันติอโศก ไม่ได้อยู่ในการปกครอง ของมหาเถรสมาคม ชัดเจน แต่เขาก็ทำผิดเอง กลับคำ ดึงเราเอาเข้าไปรับอีก แล้วตัดสินความ ก็ไม่เอาจำเลย คือเรา เข้าไปให้ความเห็นด้วย กลับบอกว่า หลักฐานครบพร้อมแล้ว ก็ไปตัดสินความกันเอง ก็เป็นการทำผิด แล้วการตัดสินความเรา ก็เอาทั้งพระมหานิกายและธรรมยุติ มาร่วมกันพิจารณาอีก ก็ผิดหลักคณปูรกะ เพราะหลักพระพุทธเจ้า ว่าถ้าสงฆ์นานาสังวาส จะเอามา ร่วมพิจารณา อธิกรณ์กันไม่ได้ ในเรื่องการฟ้องร้องกันนี่ ทำไม่ได้ แต่ท่านก็ทำ ช่างกระไร จึงทำได้มากมายขนาดนี้ ทำผิดสารพัด แล้วท่านก็ประกาศ และแม้ประกาศ ปกาศนียกรรม ก็ผิดอีก

ยุคพระพุทธเจ้า มีประกาศนียกรรม เพียงครั้งเดียว กับพระเทวทัตนะ ท่านประกาศแค่นานาสังวาส ไม่ได้จับสึกนะ ว่าเทวทัตก็ส่วนของเทวทัต เราก็ส่วนเรา แต่นี่มหาเถรสมาคม เอาเรื่องเรา ฟ้องร้องต่อศาลอีก เราไม่ยอมสึกนี่ ก็ฟ้องศาล เราก็ต้องยอม เพราะเร เป็นผู้น้อย

ส.เพาะพุทธว่า.. มีในพระไตรฯว่า ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทำปกาสนียกรรม ในกรุงราชคฤห์ แก่พระเทวทัตว่า ปกติของพระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใด ด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัว พระเทวทัตเอง การทำปกาสนียกรรม ในกรุงราชคฤห์ แก่พระเทวทัตว่า ปกติของพระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใด ด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

        ปกาสนียกรรมในกรุงราชคฤห์ อันสงฆ์กระทำแล้วแก่พระเทวทัตว่า ปกติของพระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใด ด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ

 [๓๖๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร ถ้ากระนั้น เธอจงประกาศ เทวทัต ในกรุงราชคฤห์
             ท่านพระสารีบุตร ทูลถามว่า เมื่อก่อน ข้าพระพุทธเจ้า กล่าวชมพระเทวทัต ในกรุงราชคฤห์ว่า โคธิบุตรมีฤทธิ์มาก โคธิบุตรมีอนุภาพมาก ข้าพระพุทธเจ้า จะประกาศพระเทวทัต ในกรุงราชคฤห์อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า
             พ. ดูกรสารีบุตร เธอกล่าวชมเทวทัต ในกรุงราชคฤห์แล้ว เท่าที่เป็นจริงว่า โคธิบุตรมีฤทธิ์มาก โคธิบุตรมีอนุภาพมาก
             ส. อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
             พ. ดูกรสารีบุตร เธอจงประกาศเทวทัต ในกรุงราชคฤห์ เท่าที่เป็นจริง เหมือนอย่างนั้นแล
             ท่านพระสารีบุตร ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว ฯ

             [๓๖๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงสมมติสารีบุตร เพื่อประกาศเทวทัต ในกรุงราชคฤห์ว่า ปกติของพระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใด ด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวเทวทัตเอง ฯ

พ่อครูว่า.. ต้องบอกว่า เราไม่ได้อยากพูดนะ แต่พระพุทธเจ้าสอนในพรหมชาลสูตร ว่าสิ่งใดเราไม่ได้เป็น เราก็ต้องบอกว่าเราไม่เป็น สิ่งใดเราเป็น เราบอกว่าเราเป็น ต้องกล่าวตรงตามความจริง ต้องแจ้งต้องบอก ไม่อย่างนั้นจะคลุมเคลือ เข้าใจผิด ถ้าเราเพ่งโทสผู้ถูก ก็บาปนะ ก็ผิดสัจจะ ก็บาปก็ไม่ควร ในขณะนี้ ก็ขอสรุป ชัดๆว่า ที่เราจะพูดนี้ เราก็จะพูดแต่ปฏิกโกสนา ตำหนิคัดค้าน ประท้วงอย่างจังๆ

เราก็เป็นสังวาสเดียวกัน เราเป็นพุทธเหมือนกัน หนีไปจากกันไม่ได้ แต่ท่านจะออกไปนอกฝั่ง ปาราชิก แล้วท่านก็ยังยืนหยัดยืนยัน มั่วอยู่อย่างนั้น อาตมา ลาออกมา ตั้งแต่ ๒๕๑๘ อาตมาก็ประกาศ คำหนัก เหมือนกันนะ มาวันนี้เหตุการณ์ ก็ยังยิ่งหนักหน้า แรง ยิ่งเป็นอกุศล เราตำหนิได้ แต่เราไม่เกี่ยวกับการฟ้องร้อง แต่อย่างใด

ส.เพาะพุทธว่า... พ่อครูได้อธิบายเรื่อง ปฏิกโกสนา คือ การกล่าวตำหนิ ท้วงติงคัดค้าน

พ่อครูว่า.. ขอให้ทราบว่า เราทำหน้าที่ตามขอบเขตที่ พระพุทธเจ้าอนุญาต เราก็แค่พูดออกสู่สังคม กล่าวคัดค้าน ตำหนิ ปกิกโกสนา ไม่ถึงอุกโกฏนา ไม่มีด่าทอ หยาบคาย หรือเป็นการโกง การลำเอียง ตะแบง ผิดเพี้ยน แต่อย่างใด เป็นเรื่องที่เรามั่นใจว่า ทำตรง

ขออ่านบทความ ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า วันนี้...

สปช.รับไม่ได้ มติฉาว จ่อสอบ มส. ขัดลิขิตพระสังฆราช
วันอาทิตย์ ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558, 06.00 น.

จากกรณีมติการประชุม มหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 5/2558 ซึ่งมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการ มส. ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งมติในที่ประชุม ยืนยันว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย ยังไม่ปาราชิก เพราะไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิตของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 และได้คืนทรัพย์สิน ให้วัดไปแล้วนั้น

สปช.เตรียมสอบมติ มส.

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการ ปฏิรูปแนวทาง และมาตรการปกป้อง พิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า มติ มส.ดังกล่าว จะต้องถูกตรวจสอบ เพราะขัดและแย้งกับพระลิขิตของ สมเด็จพระสังฆราช ที่รับรองโดย มติของ มส.เอง การมีมติ ไปหักล้างมติ เมื่อปี 2542 เป็นการใช้มติ ที่ประชุมของ มส. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ที่มีมติคือ กรรมการ มส. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งในกฎหมาย ยังเขียนด้วยว่า มติจะมีผล ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยด้วย มติดังกล่าว จึงต้องถูกตรวจสอบว่า มีการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ เบื้องต้น ดูแล้ว มตินี้มีปัญหาแน่ เมื่อมีปัญหาออกมาโดย มส. ก็ต้องมีปัญหา ที่จะต้องถูกตรวจสอบ กรรมการใน มส.หลายรูป ก็ถูกร้องเรียนว่า มีลักษณะทับซ้อน กับการใช้ดุลยพินิจ ในเรื่องพระธัมมชโย จึงต้องถูกตรวจสอบ

ทางธรรมถือว่า ปาราชิกแล้ว

มติที่ออกมาบอกว่า ไม่ขัดกับพระลิขิตของ สมเด็จพระสังฆราช แต่ดูอย่างไรก็ขัด อีกประการคือ บอกว่าพระธัมมชโย ได้คืนทรัพย์สินให้วัดหมดแล้ว ไม่มีเจตนาถือไว้ จึงไม่ต้องปาราชิก กรณีนี้ มันคนละเรื่องกัน เพราะการเอาทรัพย์สิน ที่เป็นของวัด มาใส่ชื่อตัวเอง ถือว่าขาดจากความเป็นพระแล้ว ยกตัวอย่าง พระที่เสพเมถุน แม้ไม่ผิดกฎหมาย ก็ปาราชิก เรื่องเอาทรัพย์สินมาเป็นของตัวเอง แม้สุดท้าย เจ้าของทรัพย์จะยอมความ ไม่เอาผิด ทางโลกถือว่าพ้นผิด แต่ในทางธรรมถือว่า ปาราชิก ไปตั้งแต่มีเจตนา มาใส่ชื่อตัวเอง แม้ตอนหลังจะมาคืน แต่ความเป็นปาราชิก มันต่อไปไม่ได้ มันขาดไปแล้ว” นายไพบูลย์ กล่าว

ยกพระลิขิต 10พ.ค.42 ชี้ชัด

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญคือ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระลิขิตอีกฉบับ เมื่อปี 2542 ว่าพระธัมมชโยได้ปาราชิกไปแล้ว เพราะไปบิดเบือนคำสอนของ พระพุทธศาสนา ทำให้สงฆ์แตกแยก ซึ่งมติของ มส. ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ โดยพระลิขิต ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 ลิขิตชัดว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “อดีตเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย” การที่ทรงใช้คำนี้ เพราะเห็นว่าพระธัมมชโย ขาดจากความเป็นพระไปแล้ว การปาราชิก ก็มีผลทันที ตั้งแต่ตอนนั้น มติของ มส. จะมีปัญหาแน่

สอบตรวจทั้ง “มส.-ธัมมชโย”

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบ มส.นั้น นายไพบูลย์เปิดเผยว่า จะเป็นการตรวจสอบ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนการตรวจสอบพระธัมมชโย จะดูไปถึงพฤติกรรม ที่ไปรับเงินจาก สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่ไปฉ้อโกงเงินของประชาชน และรับเงินไปนานแล้ว เมื่อมีเรื่องร้องเรียนในศาล ก็ไปพูดว่า ไม่รู้จักกับอดีต ประธานสหกรณ์ฯ ทั้งที่ข้อเท็จจริง รู้จักกันแน่ และประชาชนไม่มีความประสงค์จะให้ แต่ยังถือไว้อีก นี่คือสิ่งที่เราจะตรวจสอบ เพราะเข้าข่าย กระทำปาราชิก

เผยมีคนให้ข้อมูลแล้ว

“พระธัมมชโย สำหรับผมถือว่าปาราชิกไปแล้ว ตามมติของ มส. เมื่อปี 2542 การมาบอกว่า ฆราวาสไปตรวจสอบสงฆ์ไม่ได้ เป็นคนละเรื่องกัน ที่พูดนี้เป็นเรื่อง ธรรมวินัย แต่ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบทางกฎหมาย เพราะเจ้าอาวาส เป็นตำแหน่งทางกฎหมาย อย่างเรื่องวัดสระเกศ ที่ สตง.ไปตรวจสอบเรื่องเงิน ทำไมตรวจสอบได้ มันตรวจสอบได้ทั้งหมด และการที่เราตรวจสอบนี้ คือการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีปัญหา จึงต้องถูกตรวจสอบ เพราะจะต้องไม่มีการขัดกัน ในผลประโยชน์ มีผู้นำข้อมูลมาให้แล้ว” นายไพบูลย์กล่าวทิ้งท้าย

ส.ศิวรักษ์จวกตะแบงพระวินัย
ขณะเดียวกัน นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ “ส. ศิวรักษ์” นักเขียนและนักวิชาการอิสระ ฉายา “ปัญญาชนสยาม” ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก Sulak Sivaraksa ระบุตอนหนึ่งว่า การที่ มส.ลงมติ ว่า พระธัมมชโยไม่เป็นปาราชิกนั้น แสดงว่ากรรมการ มส. ที่ลงคะแนนให้ธัมมชโย น่าจะมีชนักติดหลัง ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อลายพระหัตถ์ สมเด็จพระสังฆราช ชี้ชัดว่าบุคคลผู้นี้ ต้องอทินนาทาน ปาราชิก แล้วกรรมการ มส.ซึ่งอ้างว่า เคารพสมเด็จพระสังฆบิดร กลับไม่ทำตามมติ สมเด็จพระสังฆราช โดยที่อ้างว่า เขาคืนเงินให้แล้ว เป็นอันหมดมลทิน นั่นเป็นเรื่องตะแบงพระวินัย อย่างชัดเจน

ชี้กรณีเดียวกับ “กิตติวุฒโฑ”
“แต่นี่ไม่ใช่คราวแรก ที่ มส.มีพฤติกรรมเช่นนี้ เช่นเมื่อคราว กิตติวุฒโฑภิกขุสั่งรถวอลโว่เข้ามา โดยไม่ยอมเสียภาษี นี่ก็เป็นอทินนาทาน ปาราชิกเช่นเดียวกัน เพราะพระมีค่าเพียง แค่เงินบาทเดียว ฉ้อฉลเพียงบาทเดียว ก็ต้องอทินนาทาน ปาราชิก หมดความเป็นภิกษุภาวะ คราวกิตติวุฒโฑ มหาเถรสมาคม ก็ลงมติว่าเป็น นิคสักขีปาจิตตี และให้เอาเงินไปเสียภาษี เพื่อจบเรื่อง ดังกรณีธัมมชโย ก็เช่นกัน อ้างว่าได้คืนเงินคืนทองไปแล้ว ยังสามารถคงความเป็นลัชชีไว้ได้ นี่เป็นตัวอย่าง แห่งความอัปลักษณ์ ของกรรมการมหาเถรสมาคม” ส.ศิวรักษ์ ระบุผ่านเฟซบุ๊ค

หวั่นทำพระศาสนาสั่นคลอน
ในเฟซบุ๊คของ ส.ศิวรักษ์ ยังระบุด้วยว่า ชีวิตพรหมจรรย์ แปลว่า ชีวิตอันประเสริฐ ต้องต่างไปจากชีวิตชาวบ้าน ซึ่งเป็นกามโภคี พระภิกษุสามเณรต้องเจริญ เนกขัมมปฏิปทา แม่นทั้งทางศีลสิกขา และเจริญจิตสิกขา เพื่ออบรมตัวเองให้เข้าถึงปัญญา จะได้แลเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงที่แท้ ถ้าไตรสิกขา เป็นเพียงคำพูด โดยไม่ประพฤติปฏิบัติ ตามที่เนื้อหาสาระ พระศาสนาก็ย่อมจะสั่นคลอน และอาจถึงซึ่งความอับปางก็ได้ ภายในชั่วอายุของกรรมการ มส. ในบัดนี้นี่เอง

ดร.เสรีแต่งกลอนเหน็บมส.

วันเดียวกัน ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการชื่อดัง โพสต์ข้อความลงยังเฟซบุ๊คส่วนตัว “ดร.เสรี วงษ์มณฑา” ซึ่งได้แต่งกลอนเหน็บ มหาเถรสมาคมว่า

แร้งอยู่วัดสระเกศ ส่วนเปรตอยู่วัดปากน้ำ
ช่วยกันทำระยำ ปล่อยธรรมกายให้ลอยนวล
ไม่อยากจะเรียกพระ เพราะไม่ละกิเลสถ้วน
มีโลภคอยชี้ชวน เป็นคนด้วนคุณธรรม
ศาสนามิได้เสื่อม อย่าเพิ่งเอือมช่วยกันค้ำ
ไล่พาลคนระยำ อย่าให้ทำเรื่องชั่วเลว

 มวลชนทยอยไปวัดปากน้ำ

จากนั้นใน เวลา 11.30 น. ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้มีมวลชน ทยอยเดินทางเข้ามาภายในวัด โดยสวมใส่เสื้อสีเหลือง แสดงสัญลักษณ์ว่า มาร่วมกับหลวงปู่ พุทธะอิสระ ซึ่งจากการสอบถามมวลชน ที่เดินทางมาถึง ระบุว่า เดินทางมาตามการนัดหมาย ผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก สน.ภาษีเจริญ กระจายกำลัง ตรวจตราโดยรอบบริเวณวัด พร้อมกันนี้ ทหารก็ได้มีการตั้งด่าน ดูแลความปลอดภัย เช่นกัน

นำดอกไม้จันทน์ ถวายสังฆทาน

ต่อมา เวลา 13.00 น. หลวงปู่พุทธอิสระ พร้อมคณะ เดินทางไปยังวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อยื่นหนังสือและสังฆทาน ที่ประกอบด้วย ดอกไม้จันทน์ รองเท้า ฟัก และอื่นๆ ต่อพระพรหมโมลี (สุชาติ ธมมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (ตัวแทนเจ้าอาวาส) เพื่อทวงถาม กรณีที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระบัญชา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 ให้จัดการปัญหาวัดพระธรรมกาย ขั้นเด็ดขาด โดยมีพระลิขิต ให้กรมการศาสนา จับพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) สึกเพราะปาราชิก ขาดจากความเป็นสงฆ์

“สุวพันธ์” เกาะติดวัดปากน้ำ

เย็นวันเดียวกัน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลวงปู่ พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ไปถวายสังฆทาน ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย กับมหาเถรสมาคม (มส.) ที่มีมติว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ไม่ปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ ว่ามีเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไปที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน และทำความเข้าใจ กับทั้งฝ่ายของหลวงปู่พุทธะอิสระ และวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ ได้โทรศัพท์รายงานเหตุการณ์ ให้ตนได้รับทราบแล้ว ทั้งนี้การที่มส. มีมติในกรณีของพระธัมมชโยนั้น ตนทราบข้อมูลเบื้องต้น จากข่าวของสื่อมวลชนเท่านั้น จึงได้สั่งการให้ พศ. รายงานผลประชุมของมส. โดยละเอียด ขณะเดียวกัน กำลังรอ มส.ส่งรายละเอียด คำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ต่อมตินี้ เพราะตนต้องการดูมติ และความเห็นต่าง ๆ ประกอบกัน

ห่วงวงการสงฆ์ขัดแย้ง

เมื่อถามว่า กังวลใจหรือไม่ ว่าเหตุการณ์นี้ อาจสร้างความขัดแย้งในหมู่พระสงฆ์ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ตนก็รู้สึกกังวล แต่เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่พระสงฆ์และฆราวาส ให้ความสนใจ เมื่อถามต่อว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่า เรื่องนี้จะทำให้ฆราวาส ทั้งของ 2 ฝ่าย ขัดแย้งกัน แล้วอาจขยายตัวไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะเราไม่ควรวางใจ หรือประมาท ไม่ว่า จะเป็นเรื่องใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่คนมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน

สนช.ชี้ธรรมกายทำสับสน

ด้านนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา อนุกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เยาวชนในหลายภาคส่วน มีความกังวลและสับสน ในวิธีสอน และคำสอนในพุทธศาสนา ที่แปลกประหลาดออกไป ในรูปแบบต่าง ๆ เสมือนการแสดงโชว์ และจัดอีเว้นท์ เช่น การเผยแพร่ของวัดพระธรรมกาย และผู้ใหญ่ในสังคม นักธุรกิจ นักการเมือง ที่หันเหไปสนับสนุน และให้ความนับถือ ในคำสอน ที่อาจบิดเบือน ผิดแปลก และโชว์อีเว้นท์ ธุดงค์ที่ค่อนข้างแปลกประหลาด ในฐานะที่ตนเป็นกรรมาธิการ ที่รับผิดชอบด้านสังคม เด็กและเยาวชน อดเป็นห่วงไม่ได้

จี้มส.ทำตามพระลิขิต

จึงขอเสนอต่อกมธ. และทุกองค์กรที่รับผิดชอบ ในด้านการสังคม และศาสนา ทำความชัดเจนให้ปรากฏ ดังนี้ คือ

1. ให้มหาเถรสมาคม ทำตามพระลิขิต ของสมเด็จพระสังฆราชฯให้ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ว่าปาราชิกหรือไม่ ถ้าปาราชิก ทำไมมหาเถรสมาคม ปล่อยปะละเลยมาถึงปัจจุบัน หรือถ้าไม่ เพราะอะไร

2. ให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง สังคายนาคำสอนในพุทธศาสนา ให้ถูกต้องและตรงกัน ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

3. ให้ลงโทษขั้นเด็ดขาด กับพระที่ปฏิบัติตน เป็นแบบอย่างที่ผิด หรือต้องคดีต่างๆ ให้ดำเนินไปโดยความรวดเร็ว เป็นธรรม ตามกฎหมาย

4. ให้มหาเถระชะลอ การเสนอแต่งตั้งสมณะ พระที่ต้องหา หรือติดคดีความต่างๆ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด และ

5. ให้มีพ.ร.บ. ควบคุมสมบัติของวัด และที่ดินวัด ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการทุจริตมิชอบ ของบุคคลผู้แสวงหาผลประโยชน์ "ผมและสังคมไทย ฝาก ความหวังไว้กับ คณะรักษาความสงบแห่งขาติ (คสช.) และรัฐบาลในยุคนี้ ว่า จะทำสำเร็จเป็นรูปธรรม ปราศจากการแทรกแซง เหมือนกับทุกรัฐบาล ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ไม่สำเร็จ จึงนำมาซึ่งปัญหาเรื้อรัง ถึงวันนี้" นายภูมิสรรค์ กล่าว

พ่อครูว่า... ตอนนี้มันจะเป็น จุดแตกจุดแยก ขออ่านอีกบทความ  ของคุณจิตกร บุษบา

มหาเถร+อัยการ...อุ้มมารศาสนา?

เรื่องของ “ธัมมชโย” แห่งสำนักธรรมกายนี้ มีทั้งความลึกลับ ซับซ้อน ตัดตอน ซ่อนเงื่อน และเพื่อนอุ้ม
คอลัมน์การเมือง

    เส้นใต้บรรทัด
    จิตกร บุษบา
    5

มหาเถร+อัยการ...อุ้มมารศาสนา?

เรื่องของ “ธัมมชโย” แห่งสำนักธรรมกายนี้ มีทั้งความลึกลับ ซับซ้อน ตัดตอน ซ่อนเงื่อน และเพื่อนอุ้ม

ต้นตอของคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2541 มีการกล่าวหาธัมมชโยว่า ยักยอกเงินและที่ดิน ที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัด และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกา บิดเบือนคำสอน และอวดอุตริมนุสธรรม กรมที่ดินตรวจพบ การครอบครองที่ดิน ของธัมมชโยจริง กรมการศาสนา จึงได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษ ในคดีอาญา ม.137, 147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน เบียดบัง ยักยอกทรัพย์ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์ และเงินบริจาค ของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อ นายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์ (จำเลยที่ 2) และนำเงินอีก เกือบ 30 ล้าน ไปซื้อที่ดินกว่า 900 ไร่ ใน ต.หนองพระ (จ.พิจิตร) และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยโอนกรรมสิทธิ์ ให้นายถาวร อีกเช่นเคย

นอกจากนี้ ยังมีอดีตทนายความ วัดพระธรรมกาย และประชาชน ที่เคยเลื่อมใส ศรัทธา ในวัดพระธรรมกาย เข้าแจ้งความดำเนินคดี พระธัมมชโย ฐานฉ้อโกงเงิน 35 ล้าน โดยแยกเป็นคดีความทั้งหมด 5 คดี ในที่สุด สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นให้ฟ้อง เรื่องจึงเข้าสู่กระบวนการของศาล มีการสอบพยาน และการดำเนินพิจารณาคดี ตั้งแต่ปี 2542-2547 เหลือสืบพยานจำเลยอีก 2 นัด ในวันที่ 23 กับ 24 สิงหาคม 2549 เท่านั้น

แต่แล้ว อัยการสูงสุด “นายพชร ยุติธรรมดำรง” ก็มีคำสั่ง ให้อัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ถอนฟ้อง!!

ในวันที่ 21 สิงหาคม พนักงานอัยการ ฝ่ายคดีอาญา 5 ซึ่งเป็นโจทก์ โดยเรืออากาศโท วิญญู วิญญกุล อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 5 ก็ยื่นคำร้อง ขอถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองต่อศาล อ้างเหตุในการถอนฟ้องว่า บัดนี้ ธัมมชโย หรือนายไชยบูลย์ สุทธิผล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และพวก ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ตรงตามพระไตรปิฎก และนโยบายของสงฆ์แล้ว ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือกิจการของศาสนา ทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และเอกชน จำนวนมาก อีกทั้งธัมมชโย กับพวก ก็ได้มอบทรัพย์สิน ทั้งที่ดิน และเงินกว่า 959 ล้านบาท คืนแก่วัดพระธรรมกายแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของ สมเด็จพระสังฆราช ครบถ้วนทุกประการ ประกอบกับขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกัน สร้างความสามัคคี ของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่า หากดำเนินคดีธัมมชโยกับพวกต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยก นอกจากนี้ การดำเนินคดีต่อไป ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้อง ในคดีนี้

จะเป็นความบังเอิญ หรือเกี่ยวข้องกันอย่างไรก็ไม่ทราบ ก่อนหน้า ที่อัยการจะถอนฟ้อง เพียงเดือนเศษ ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น ได้ใช้สถานที่วัดพระธรรมกาย จัดงาน “รวมใจทุกศาสนา พัฒนาท้องถิ่นไทย ถวายองค์ราชา ครองราชย์ 60 ปี” โดยระดมเจ้าหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ 80,000 คน มาร่วมงาน ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธาน และกล่าวปาฐกถาด้วย

ในวงการสงฆ์ กับการสอบเรื่องนี้ ก็ซับซ้อนมิใช่เล่น มีการสอบสวน เอาผิดกับธัมมชโย ตั้งแต่ พ.ศ.2541 โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานนิสโร ) อดีตเจ้าอาวาส วัดชนะสงคราม (มรณภาพไปแล้ว) เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเป็นเจ้าคณะใหญ่ หนกลาง ซึ่งปกครองดูแลวัดมหานิกาย ในพื้นที่ภาคกลาง ทั้งหมด โดยเขตปกครองสงฆ์ วัดธรรมกายอยู่ในสังกัดเจ้าคณะภาค 1 คือ พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เจ้าคณะภาค 1 ต้องทำหน้าที่ พิจารณาโทษ หรือลงนิคหกรรม (ให้สึก เพราะกระทำการละเมิด พระธรรมวินัย) ธัมมชโย

16 กันยายน 2541 พระพรหมโมลี ตัดสินว่า ธัมมชโย ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา (จาบจ้วง+ละเมิด พระธรรมวินัย) และไม่ยอมให้ฆราวาส ฟ้องธัมมชโย ด้วย ทั้งๆ ที่มหาเถรสมาคม มีมติในเรื่องนี้ว่า ให้ฆราวาสฟ้องพระสงฆ์ได้ สมเด็จฯวัดชนะสงคราม จึงสั่งปลดพระพรหมโมลี ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 และแต่งตั้งพระเทพสุธี (เอื้อน หาสธมฺโม) วัดสามพระยา รองเจ้าคณะภาค 1 ขึ้นรักษาการ ในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 เพื่อให้ดำเนินการ นิคหกรรม ธัมมชโย แต่พระเทพสุธี ขอลาออก สมเด็จฯ วัดชนะสงคราม จึงต้องตั้งลูกศิษย์ คือ พระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าคณะภาค 15 ซึ่งถูกส่งไปจาก วัดชนะสงคราม ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ให้มารักษาการ เจ้าคณะภาค 1 เพื่อทำคดีนี้

22 กันยายน 2543 พระธรรมโมลี เปิดศาลสงฆ์ ที่วัดสามพระยา รับฟ้องพระธัมมชโย รวม 3 ข้อหาคือ
1. บิดเบือนลบล้างคำสอน ของพระพุทธเจ้า
2. อวดอุตริมนุสธรรม และ
3. ลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หลอกลวงประชาชน แต่หลังจากนั้น ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ อีกเลย โดยอ้างว่า ต้องรอให้คดีอาญาในศาล จบก่อน

ในปี 2544 สมเด็จฯ วัดชนะสงคราม ตั้งให้พระธรรมโมลี เป็นเจ้าคณะภาค 1 เต็มตัว แต่ท่านก็มิได้ทำอะไรอีก หนำซ้ำ ยังไปเป็นพยานให้ธัมมชโย ในคดีอาญา รับรองการสอนของ ธัมมชโยว่า ถูกต้องตามพระไตรปิฎก ทุกประการ อันเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่อัยการใช้เป็นข้ออ้าง ถอนฟ้องธัมมชโย

เมื่อพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา มรณภาพ อย่างกะทันหัน ในปี 2544 อีก 4 ปีต่อมา พระธรรมโมลี ก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น “พระพรหมโมลี” ซึ่งเป็นระดับรองสมเด็จ พระราชาคณะ อันเป็นตำแหน่งเก่าของ ผู้สอบธัมมชโย รูปแรก ที่ตัดสินว่า ธัมมชโยไม่ผิด โดยที่ท่านก็ไม่ได้ ดำเนินการอะไร จนอัยการถอนฟ้อง คดีอาญา

เมื่อสมเด็จฯ วัดชนะสงคราม มรณภาพ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2544 พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสมโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม และเจ้าคณะภาค 1 ก็ได้รั้งตำแหน่ง เจ้าคณะหนกลาง และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ได้ครองตำแหน่ง กรรมการมหาเถรสมาคม โดยอัตโนมัติ และได้แต่งตั้งพระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑโฒ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดชนะสงคราม รองเจ้าคณะภาค 1 ขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 แทนตน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ วิจารณ์กระหึ่มวงการสงฆ์ เพราะมีอายุ เพียงแค่ 45 ปี อายุพรรษา 25 ซึ่งตามสายการปกครองสงฆ์ ในฐานะ เจ้าคณะภาค 1 มหาสายชล คือผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ประธาน ในการพิจารณา ลงนิคหกรรมธัมมชโย แต่นั่นหมายความว่า ต้องเป็นคำสั่งจากเจ้าคณะหนกลาง คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ก็คิดกันเถิดว่าคำสั่งนั้น จะเกิดขึ้นไหม ส่วนพระเทพสุธี (เอื้อน หาสธมฺโม) ที่ยอมลาออกครั้งกระโน้น ปัจจุบันคือ พระพรหมดิลก หนึ่งในกรรมการมหาเถรสมาคม เช่นเดียวกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์

ด้วยสายสัมพันธ์ ที่ซับซ้อนเช่นนี้หรือเปล่า ที่ทำให้มติมหาเถรสมาคม ล่าสุด ที่แถลงโดยพระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษก มส. ซึ่งเคยไปร่วม ธุดงค์ธรรมชัย กับธรรมกายมาก่อน จึงออกมาว่า มส.ได้พิจารณาถึง เจตนาของพระธัมมชโย ประกอบด้วย

1. ฝ่าฝืนพระลิขิต สมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ซึ่งที่ประชุม มส.ได้ยกมติ มส.ในปี 2549 ขึ้นมาพิจารณา แล้วเห็นว่า หลวงพ่อธัมมชโย ยอมรับ และปฏิบัติตามพระลิขิต ในการคืนที่ดิน ทุกประการ

2. มีเจตนาฉ้อโกงหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พระธัมมชโย ได้ทยอยคืนทรัพย์สินทั้งหมด ให้แก่วัดพระธรรมกาย ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ ฝ่ายสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าคณะปกครอง ได้ดำเนินการสอบสวนความผิด ของพระธัมมชโย และได้มีผลสรุปออกมาว่า ไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ผิดพระวินัย ไม่ถือเป็นความผิด จึงถือเป็นอันยุติ

และ 3.เมื่อไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิต ไม่ถือว่ามีความผิด และพ้นมลทิน รวมทั้งยึดตามมติ มส.ปี 2549 โดยได้คืนตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ขอพระราชทาน เลื่อนสมณศักดิ์ให้ ดังนั้น สถานภาพปัจจุบัน ของหลวงพ่อธัมมชโย ยังคงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และดำรงสมณศักดิ์ เช่นเดิม

ส่วนกรณี นายสมพร เทพสิทธา และนายมาณพ พลไพรินทร์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่า หลวงพ่อธัมมชโย ยักยอกทรัพย์ของ วัดพระธรรมกาย ต่อมานายมาณพ หนึ่งในโจทก์ร่วม ได้ถอนฟ้อง ซึ่งทางอัยการได้พิจารณา ถอนฟ้องคดีดังกล่าว จึงถือว่าพระธัมมชโย ได้พ้นมลทินแล้ว

“อาตมาอยากจะวิงวอน พุทธศาสนิกชน ในการพิจารณารับข่าวสารจากสื่อ ที่มีความรวดเร็ว ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาดได้ โดยเฉพาะขณะนี้ รัฐบาลเน้นสร้างความปรองดอง ของคนในชาติ จึงไม่อยากให้นำเรื่อง ที่ยุติไปแล้ว มาพูดซ้ำ อย่างไรก็ตาม มหาเถรสมาคม ถือเป็นองค์กรปกครองสูงสุด ของคณะสงฆ์ เมื่อมีปัญหาของคณะสงฆ์เกิดขึ้น ก็ได้พิจารณา ตามกระบวนการปกครองสงฆ์ สำหรับพระลิขิต สมเด็จพระสังฆราช ในปี 2542 ถือเป็นข้อแนะนำ ที่คณะสงฆ์ ทั้งประเทศ ควรยึดถือปฏิบัติ”

ขณะที่ นายอาคม เอ่งฉ้วน อดีต รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในขณะนั้น มีการกล่าวหาว่า คำสอนของธัมมชโย ขัดกับพระไตรปิฎก จึงให้ มส. นำเรื่องเข้าพิจารณา ซึ่งมหาเถรสมาคม มีมติมอบหมายให้ พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง อดีตเจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นผู้พิจารณา มีคำสั่ง ให้เข้าพบ และยืนยันว่า จะไม่สอบอีก เรื่องจึงยุติลง

ส่วนกรณียักยอกเงินวัดนั้น ตนมอบหมายให้ อธิบดีกรมการศาสนา คือ นายพิภพ กาญจนะ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยคดีสู้อยู่นาน จนสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี อัยการอ้างว่า ได้คืนเงินให้วัดแล้ว จึงถอนคดี ในนาทีสุดท้าย ทำให้คดีสิ้นสุด โดยที่ศาลไม่ได้ตัดสิน

ด้าน นายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด ได้เผยถึงกรณี ที่มีการถอนฟ้องพระธัมมชโย ว่าเป็นเรื่องที่นานแล้ว ซึ่งในตอนนั้น มันมีกระบวนการสอบสวน ตามขั้นตอน มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ขึ้นมาหลายชุด ซึ่งตนจำรายละเอียดไม่ได้ แต่ยอมรับว่า ได้มีการถอนฟ้องจริง เพราะมันมีองค์ประกอบ หลายอย่าง คือหนึ่ง มีการคืนที่ดินและเงิน และสอง ก็คือ สมเด็จพระสังฆราช ท่านบอกไม่คิดจะเอาโทษ แล้วต่อมา ก็ได้มีผู้บริจาค มายืนยันว่า ได้บริจาคที่ดินให้กับพระ แล้วได้มีการนำไปสร้างวัด

น่าสนใจว่า

1) ทำไมอัยการสูงสุด จึงเร่งรีบถอนฟ้อง ยิ่งมีพยานยืนยันความบริสุทธิ์ ของธัมมชโย ก็ยิ่งควรรอให้ศาลตัดสิน มิใช่ตัดตอน แล้วคดีแบบนี้ ยอมความ กันได้ด้วยหรือ?

2) ในการถอนฟ้อง ให้เหตุผลว่า ธัมมชโยกับพวก ก็ได้มอบทรัพย์สินคืนแล้ว สอนธรรมะใหม่ ให้ตรง ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว มันถูกต้อง ตามหลักกฎหมาย และหลักศีลธรรมหรือ ต่อไปใครขโมย หรือยักยอกของใครไป เอามาคืน ก็สิ้นความผิดได้ อย่างนั้นหรือ การบิดเบือนคำสอน อาบัติปาราชิก และต้องลง นิคหกรรม คือจับสึกด้วย มิใช่หรือ เนื่องจากความผิด “สำเร็จแล้ว”

3) ข้ออ้างที่ต่ำทรามที่สุด คือ “ขณะนี้บ้านเมือง ต้องร่วมกันสร้างความสามัคคี ของคนในชาติ ทุกหมู่เหล่า เห็นว่า หากดำเนินคดี ธัมมชโยกับพวกต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยก นอกจากนี้ การดำเนินคดีต่อไป ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” การทำกฎหมาย ให้เป็นกฎหมาย กฎพระให้เป็นกฎพระ ไยจะมิมีประโยชน์ต่อสาธารณะเล่า? และการไม่ดำเนินคดีกับธัมมชโย ก็ทำให้เกิดความแตกแยก เช่นกัน แถมเกิดมาตรฐาน ที่เลวทราม ในการพิจารณา ความถูกความผิด ขึ้นในสังคมด้วย

4) ไหนนายพชร บอกว่า ผู้บริจาคยืนยันว่า ถวายแก่พระ แล้วพระจะต้องเอาเงิน เอาที่ดิน มาคืนวัดพระธรรมกาย ทำไม?

5) เอาทรัพย์ไปครอบครองไว้ ตั้ง 7-8 ปี จนคดีจะตัดสินแล้ว ถึงได้คืนนี้ มันบอกเจตนาที่บริสุทธิ์ และคืนโดยทันที ตรงไหน ไม่จำนนด้วยหลักฐาน พยาน จะคืนหรือไม่? และถือว่า อาบัติปาราชิก ไปโดยอัตโนมัติ หรือไม่

6) โฆษกมหาเถรสมาคม ไม่พูดถึงพระวินัย และศีลเลยสักข้อ กลับพูดจาบ้าบอ เรื่องความสามัคคีปรองดอง และอ้างศาลทางโลก หน้าตาเฉย มันเหมาะแก่การเป็น ผู้ทรงศีล ให้ประชาชนกราบไหว้ ไหมล่ะครับ

7) ต้องแจงออกมา ว่ากรรมการมหาเถรสมาคม ท่านใดเข้าประชุม และแต่ละรูป มีมติอย่างไรด้วย ประชาชนจะได้มีมาตรการ ในทางปฏิบัติ เช่น การคว่ำบาตร ฯลฯ ได้อย่างถูกต้อง ต่อพระคุณเจ้ารูปต่างๆ และวัด ที่พวกท่านสังกัด

8) หลังจากเหตุการณ์ทั้งหมด วัดพระธรรมกาย ก็ยังมีพฤติกรรม อวดอุตริมนุสธรรม อีกหลายครั้ง ควรหยิบยกมาพิจารณา รวมไปถึงงานอีเว้นท์ และแพ็กเกจ ขายสวรรค์ขายบุญทั้งหลาย ก็ควรชำระว่า เป็นไปตามพระธรรมคำสอน และพระวินัยหรือไม่ เพื่อไม่ให้ประชาชน ต้องถูกโน้มทรัพย์ ด้วยคำว่าบุญ ว่าสวรรค์ แบบ “ธุรกิจการค้า” อีก

9) ยังมีเรื่องการรับเงินบริจาค จากอดีตผู้บริหารเครดิตฯ คลองจั่น อีกจำนวนมหาศาล ที่ยักยอกเงินสหกรณ์ มา “ทำบุญ” ต้องสอบให้ได้ว่า เป็นศรัทธางมงาย ส่วนตัว หรือเป็นการ “สมคบกัน” ที่สำคัญ ต้องทวงเงินนั้น กลับไปสู่สหกรณ์ให้ได้ และด้วยสำนึกแห่งความเป็นวัด เป็นพระ ก็ไม่ควรอิดเอื้อน โยกโย้ ว่านำเงิน ไปซื้อที่ดิน และที่กลายเป็นที่ธรณีสงฆ์แล้ว โดยที่ พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ จาก ป.ป.ง. ก็ดันเออออ ไปกับเหตุผล บ้าๆ บอๆ นี้ ด้วย

ยังไม่รวมเรื่อง การแต่งกายของธัมมชโย และพิธีกรรมแปลกประหลาด อีกสารพัด ในวัดพระธรรมกาย ที่ต้องได้รับการชำระสะสาง และนำไปสู่การปฏิรูป องค์กรสงฆ์ วัด พิธีกรรม คำสอน และกิจกรรม การตลาด ทั้งหลาย รวมไปถึงวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัดพระธรรมกาย ก็ต้องตรวจสอบ และชำระสะสาง เสียให้เสมอหน้ากัน เพื่อให้พระศาสนา สิ้นความมัวหมอง และพุทธศาสนิกชน เกิดศรัทธาเสื่อมถอย

โดยเฉพาะมาตรฐาน ศีลธรรม และคำวินิจฉัย ของกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่ปฏิรูปเสียคราวนี้ จะปล่อยให้ตกต่ำดำมืด ยิ่งไปว่านี้ กระนั้นหรือ?

พ่อครูว่า...ที่อาตมาจะต้องพูด ร่วมด้วย ร่วมสมัย ว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องปรากฏชัด จริง เป็น Phenomena เป็นเรื่องไม่ลึกลับ ไม่เคยเกิดหรือมโน แต่เป็นเรื่อง ปรากฏมาแล้ว มีหลักฐานชัดเจนผูกมัด มีลายลักษณ์อักษร มีลายเซ็น ยืนยันเลย การเล่นลิ้นพูดไป ก็ทำได้ แต่คนมีภูมิปัญญา จะวินิจฉัย ถือตามความจริงเอาได้ 

พระพุทธเจ้า เป็นผู้มีภูมิปัญญาสูงสุด ท่านสุดยอดแล้ว ไม่มีสิ่งที่เป็นอกุศล แต่ท่านมีแต่กุศลสูงสุด แม้แต่เรื่องความเป็นกลาง พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนเลยว่า เป็นกลางนั้น ให้อยู่เฉยๆ ในพรหมชาลสูตร ท่านไม่สอนให้ปิดปากไม่พูด แต่ท่านว่า ให้บอกได้ชี้แจงได้ ตามเหมาะสม และเรื่องที่พระพุทธเจ้า สอนให้คบบัณฑิต หลีกไกลจากคนพาล คนเป็นกลาง ต้องเข้าข้างความถูกต้อง ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ต้องใช้ปัญญาปาสาโท เหมือนอยู่บนที่สูง Birds eyes view หรือว่า Top view มีปัญญารู้ความจริง ตามความเป็นจริง ว่าอันไหนดี อันไหนชั่ว ก็ต้องเข้าข้างฝ่ายดี ผู้เป็นกลางไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ มันเสียน้ำหนัก ยิ่งยุคนี้คนชั่ว มีพวกเยอะ คนกิเลสหนามาก ความอวิชชา มีเยอะ เมื่อยิ่งมาก ก็ยิ่งอยู่เฉยๆ พวกชั่วมีมาก ก็จะชนะสิ แต่ว่าเราต้องเข้าข้างคนดี ความเป็นกลาง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ

พวกเป็นกลาง มีหลายแบบ คือ

๑.โง่ อวิชชา ไม่รู้ว่าอันไหน ดีหรือชั่ว

๒. เป็นกลัว คนที่จะเข้าข้างคนดี ก็ไม่กล้าจะเข้าข้างคนชั่ว ก็ไม่กล้า เพราะกลัวจะเสียประโยชน์ ส่วนมากเขาติดสินบนไว้แล้ว หรือกลัวคนชั่ว ที่มีอำนาจ

๓.มิจฉาทิฏฐิ คือคนมีปัญญารู้ว่า อะไรดีหรือชั่ว แต่ไปเข้าใจผิดว่า คนเป็นกลาง ต้องไม่เข้าข้างใคร ปล่อยให้พวกเขาตีกันจนตายเลย นี่คือมิจฉาทิฏฐิ

๔. คนเป็นกลางที่เป็นคนไม่ลำเอียง คือคนที่ไม่มีอคติ ๔ (รัก ชัง กลัว โมหะ) ผู้เป็นกลางจริง ต้องจริงใจ แม้ว่าจะไม่หมดอคติ ๔ ก็ต้องกดข่ม ไม่ให้อคติ ๔ มาทำลายความเป็นกลางได้ เช่นผู้พิพากษา ไม่ใช่คนหมดกิเลส แต่ต้องเป็น ผู้ที่ต้องใช้การตัดสิน อย่างไม่มีอคติ จึงเป็นผู้พิพากษาที่ดี หรือเป็นกรรมการ ตัดสินทุกอย่าง ก็ต้องไม่ลำเอียง ไม่ให้อคติ ๔ ​มาสัมปยุติ

ขณะนี้ทุกคน ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์นี้ ไม่ว่าทางการเมือง หรือธรรมะ ในข้อที่ต้องไม่ให้มีอคติ มันเป็นการปฏิรูป ทั้งบ้านเมือง และธรรมวินัย ต้องใช้แบบ ยาวให้เป็น เย็นเรื่อยไป ไขความจริงออกมา ให้มากๆ หมดๆ ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า ต้องช้าๆได้พร้าสองเล่มงาน ทั้งทางอาณาจักร และธรรมจักร

อาตมาก็ไม่มีสิทธิ์ จะไปทำอะไรได้ ก็ใช้เท่าที่ทำได้ ใช้สัปปุริสธรรม ๗ มหาปเทศ ๔ อย่างจริงใจ ตามภูมิ

มาจบด้วยก็ขอวิเคราะห์บ้าง ว่าเรื่องเหตุการณ์คราวนี้ ควรเป็นอย่างไร ตามภูมิอาตมาว่า ก็ควรจบเกม ที่ลากมา ให้หมักหมมเน่าใน ทั้งทางธรรมะและการเมือง ต้องฟันธงกันบ้าง ฟังแล้วอาจดูแรง จะต้องเด็ดขาด คราวนี้ หลักการตัดสินของพระพุทธเจ้า มีอธิกรณสมถะ ๗ อย่างนี่นะมี แสดงวิธีระงับอธิกรณ์ ด้วยธรรมะ 7 ประการ (รายละเอียด อยู่ในจุลวรรค ภาค1 พระไตรปิฎก เล่ม 6 ที่จะได้กล่าวต่อไป) คือ :-

1.สัมมุขาวินัย การระงับอธิกรณ์ ในที่พร้อมหน้า (บุคคล,วัตถุ,ธรรมะ).

2. เยภุยยสิกา การระงับอธิกรณ์ ด้วยถือเสียงข้างมาก เป็นประมาณ.(แต่สภานั้น ต้องเป็นบัณฑิตมากกว่านะ แต่ทุกวันนี้ คนมีกิเลสเยอะ มากกว่าคนมีกิเลสน้อย อยู่ในสภากัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า สภาใด ไม่มีบัณฑิต สภานั้น ไม่ใช่สภา)

3. สติวินัย การระงับอธิกรณ์ ด้วยยกให้ว่า พระอรหันต์ เป็นผู้มีสติ. (ส.เพาะพุทธว่า ใช้คำว่า ยกไว้)

4. อมูฬ๎หวินัย การระงับอธิกรณ์ ด้วยยกประโยชน์ให้ ในขณะเป็นบ้า. (ส.เพาะพุทธว่าใช้คำว่า ยกเว้น)

5. ปฏิญญาตกรณะ การระงับอธิกรณ์ ด้วยปรับตามรับสารภาพตามธรรมจริง.

6. ตัสสปาปิยสิกา การระงับอธิกรณ์ ด้วยการลงโทษ. แม้จำเลยจะปากแข็ง ไม่รับผิด อย่างไรก็ตาม

7. ติณวัตถารกะ การระงับอธิกรณ์ ดุจหญ้ากลบไว้ หยุดไม่ให้ลุกลาม.

พ่อครูว่า... เหตุการณ์ในเมืองไทย เป็นภาคบังคับ ที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็เสีย เพราะโอกาสอย่างนี้ มันเหมาะแล้ว อาตมาดูทุกอย่าง เรื่องโลก มีทั้งเรื่องโลก และเรื่องธรรมะ เรื่องโลกก็เป็นวัตถุธรรม ส่วนธรรมะ จะเป็นนามธรรม ถ้าเหตุปัจจัยของนามธรรม และรูปธรรม มาลงตัว ก็ตัดสินได้เลย แต่ถ้ามีแต่นาม ก็รูปมันก็มีอำนาจ หรือมีแต่รูป ไม่มีนาม คนก็เข้าใจยาก อาตมานี่ ปฏิบัติธรรมนั้น นามมาก่อน อาตมารู้ว่า พลังงานทางธรรม ที่อาตมาได้ ก็เอามา ประมาณวินิจฉัย อาตมามีความรู้เรื่องนี้ เป็นปรากฏการณ์ phenomena

ยกตัวอย่าง เช่น อาตมาทำงานทางศาสนา คุณว่าอาตมามีบารมีไหม? บารมีนี่เป็นนามธรรมนะ ไม่เคยเอาวัตถุ ไปแสดงเป็นบารมี ไม่ว่าจะเป็นตัวคน หรืออาวุธ วัตถุแท่งก้อน อาตมาเป็นคนที่จนมากนะ แต่ก็อยู่รอด ปลอดภัย มาจนวันนี้ อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นอจินไตย ในอจินไตย ๔ อย่าง (พุทธวิสัย ฌานวิสัย โลกวิสัย กรรมวิบาก)

อริยชนฉลาดหนีโลก อารยชนนั้น เขาฉลาดเอาโลก  แต่ทุกวันนี้ อารยชนนั้นฉลาด เอาทั้งสองอย่างเลย คือเอาทั้งจิต และวัตถุโลก มาหากิน มาทำชั่วได้มากมาย เอาโลกไปผนวกกับธรรมะ ที่เบี้ยวบิด ผสมผสาน หลอกคน ทุกวันนี้ คนถูกอารยชน หรือารยธรรมหลอกได้ ทั้งทางวัตถุวิสัย และจิตวิสัย เขาไม่ได้ลดกิเลส ก็เห็นแก่ตัวเต็มเหนี่ยว อารยชนตอนนี้ จึงทำร้าย ร้ายแรงได้มาก ถึงอยากเป็นจ้าวโลกเลย ส่วนทางหนีโลก เป็นพวกจิตวิสัย เป็นอัตตาเต็มบ้อง ไร้สาระไร้ประโยชน์ สูงสุดจริงๆ ของเขาก็บิณฑบาต อาศัยคนอื่นกิน แต่ตนเอง ไม่ทำประโยชน์อะไร อย่างศาสนาเชน เป็นต้น แต่เขาจริง จริงใจนะ ไม่เบียดเบียน แต่บิณฑบาตกิน สู้สัตว์ก็ไม่ได้ นี่คือสองอำนาจ ที่ทำกันอยู่

ส่วนอริยะชนนี่ หนีเอาตัวรอด เขายังไม่เบียดเบียน ผู้คนมากนะ แต่อาริยชนนี่ เบียดเบียนหมดเลย เจริญฉิบหายเลย  คนไม่รู้ตัว แต่ทำบาป ก็วิบากมี เช่นคนไปเหยียบหัวงู งูตายเลย ถามว่า จิตวิญญาณงู จะพยาบาทไหม? ก็ต้องพยาบาท มันไม่รู้เรื่องหรอก หากมันตวัดอยู่ จะแก้แค้น มันก็จะทำ แต่มันถูกเหยียบหัว ก็เลยตอบโต้ไม่ได้ มันต้องพยาบาทอยู่แล้ว เพราะพวกนี้อวิชชา นี่คือวิบาก ต้องได้รับ ในสัจจะ