บันทึกจากปัจฉาสมณะ
ปิดถนนสูตร
(สูตรว่าด้วยเรื่องความอยากปิดถนน)

เทศกาลกินเจ ๒๕๕๗ ที่บ้านราชฯ นับว่าพิเศษกว่า ทุกๆปี เพราะปีนี้มีนิสิต วนบ. เข้ามาร่วมช่วยงานด้วย แล้วยังแถม เมื่อไปติดต่อกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขออนุญาต จัดงานประจำปี ถือศีลกินเจ ท่านก็ให้การสนับสนุน และทุกปี ที่ผ่านมา ผู้คนจะแน่นมาก จึงได้ขออนุญาต ปิดถนนด้วย ท่านก็ไฟเขียว ไม่ขัดข้องอะไร แต่ในเรื่องนี้ พ่อท่านได้ปรามกับพวกเราไว้ว่า...

ความขัดแย้งของพวกเรา เป็นธรรมาธรรมะสงคราม ส่วนเรื่องศีลพรต ก็ไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องความเห็นนี่ สู้กันหนัก แต่เวลาปฏิบัติ ก็ลากกันไป ลากกันมา ดีไม่ดีก็ประชด คนบางคน อาการหนัก ก็เลี่ยงหนีไปเลย ไม่ถึงกับ ทำร้ายทำลายกัน คนไหน ปฏิบัติธรรมได้ ก็ลดละได้ นี่คือผลได้ รายได้ของเรา มันหาค่าไม่ได้ มันคือผลพลอยตาม ผลของรายได้ ทางโลกก็มี แต่ข้อสำคัญที่เราทำ คือปฏิบัติธรรม ให้เกิดจิตวิญญาณ พัฒนา จะเป็นมหาวิชชาราม (โลกเขาเรียก อุดมศึกษา) ของเราจะเป็น แห่งแรกเลย ที่ทำแบบนี้ ให้รักษากันให้ดี นิสิตอย่าให้ตกหล่น พอถึงปี ๔ ก็ให้รับปัญญาบัตร กันซัก ๑๐๐ คนนะ อาตมา ก็ชักเสียว จะไปหาทองคำที่ไหนมาทำ แผ่นทองคำให้นะ เกือบสองล้านนะ ขอให้จบจริง อาตมาก็สู้

มาถึงเหตุการณ์สำคัญ เรื่องงานเจ แค่เรื่องจะปิดถนน หรือไม่ปิดถนนนี่ เราจะเรียกร้อง ให้เขามาดู เราทะเลาะกันหรือไม่? เชิญมาดู เราจะทะเลาะกันให้ดู มันยังไง? มันก็เป็นความเห็น จริงๆแล้ว ก็มีมติไปแล้ว แต่ความเข้าใจไม่ชัด ความเข้าใจว่าปิด แล้วปิดกันแค่ไหน? ก็โหวตกันว่าปิด แล้วปิด ก็ปิดกันแค่ไหน ปิด ๑ ช่องก็ได้ แต่บางคนไปวิจัยว่า จะปิดทั้งถนน ซึ่งเราได้วิเคราะห์ วิจัยกันแล้วว่า เขาไม่ได้เห็นอโศก เป็นสิ่งน่าชื่นชม เราก็ต้องระวัง แม้จราจร ก็ไม่เต็มที่ เขาก็ไม่ได้พูดเลยว่า จะอาสาเต็มที่ แต่เราเองทั้งนั้น เราก็ต้อง ระมัดระวัง น้อยไว้ดี

ฃขอเตือนว่า อะไรที่มักมากมักใหญ่ เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสย้ำ นักหนาว่า ไม่ใช่ของเรา ของเรามันมักน้อย น้อยไว้ อันนี้แหละ อยากจะเตือน มันก้าวหน้านะดี มันกว้างขวางขึ้นเพิ่มขึ้น เจริญขึ้นมันดี แต่ไอ้ที่ซ้อนว่า เรามักใหญ่ เกินเหตุปัจจัย เกินเหมาะควร มันต้องตรวจสอบโดย สัปปุริสธรรม ๗ ต้องดูเนื้อหา เป้าหมายต่างๆ สำคัญคือ ดูตัวเรา ตัวเราก็เท่านี้ ใหญ่นักเหรอ? อโศกได้รับ ความยอมรับ อย่างพร้อมเพรียงเหรอ? มันไม่มีอิทธิพล มาเล่นงานหรือ เราจะต้อง ระมัดระวัง ต้องตรวจสอบใจ ให้ลึกๆ มันไม่ใหญ่ ไม่กว้าง ไม่เป็นไป ไม่ต้องรีบร้อน ที่จะใหญ่จะกว้าง อันนี้อาตมา พยายามตรึงไว้ เรื่องก้าวหน้า ใครก็เห็นว่าดี แต่มันต้องระมัดระวัง ต้องมัตตัญญุตา อ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนรับใช้ไว้ก่อน อย่าเพิ่งรีบใหญ่ รีบโต

ยกตัวอย่าง การไปชุมนุมประท้วง เขาไม่ไปปิดเต็มถนน ทันทีหรอก เขาก็กั้น ถนนเล็กๆ แล้วพอคนมาเต็ม คนก็ว่าไม่ได้ แม้ตำรวจก็ว่าไม่ได้ เพราะคนมาเต็ม แต่นี่เราจะไปกะเกณฑ์ ปิดถนนเลย เราจะไปทำอย่างที่โลกๆ เขาก็ยังไม่ทำเลย ต้องระมัดระวัง

ถ้าเราปิดไปแค่นั้น ถ้าคนมามากจริงๆ มันก็ปิดไปเอง ตำรวจก็จะเป็น ว่า คนแน่น คนมาก ซึ่งเป็นงานที่ดี ไม่ใช่งานไม่ดี หากคนมามาก มันก็เป็นไปเอง เราอย่าไปใหญ่เลย เราเล็กไว้น้อยไว้เถอะ นี่ก็ไม่ใช่น้อย ธรรมดา เราไม่ไปยึดถนน ฟุตบาทเราก็ ไม่ไปยุ่งกับเขา แต่นี่ไปถึงถนนเลย ตอนนี้ ก็กางเต็นท์แล้ว ก็ปรามๆ บอกๆ ให้ประมาณกัน อาตมาก็มีหน้าที่จะดู อะไรมากไป ก็ดึงไว้ อะไรไม่พอ ก็ส่งเสริม

องค์รวมเราก็คิดว่า พวกเราก็ตั้งใจดี แต่กิเลส ตัวมักมาก อัตตาตัวตน จะเอาชนะ คะคาน ใช้วิธีโหวต แต่มีการหาเสียง แทคติคนะ เหลือเกินนี่คน ไม่มีอะไร เก่งเกินคนหรอก กลเม็ดเด็ดพราย ยอดเยี่ยมเลยคน พยายามอย่าให้มีเล่ห์ แล้วดูตัวเองว่า กิเลสมันโลดแล่น นำหน้า หรือไม่?

ก้าวหน้ามันดี แต่อยากใหญ่มันไม่ดี ประเด็นแค่นี้ อ่านให้ชัด มันง่ายๆ แต่มันไม่ง่าย ที่จะอ่านกิเลสตน มันจะก้าวหน้าพอเหมาะ หรือจะเอาใหญ่เกินตัว เกินจริง เกินปัจจัย จริงๆดูไม่ยาก แต่กิเลสตัวเองมี และมีเหตุปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะ จิตวิญญาณคนด้วย องค์รวม กระแสสังคม เป็นธรรมะ ที่รวมไว้ทั้งหมด เป็นองค์รวม ภาษาพระเรียกว่า กาโย

เราต้องประมาณ คำนวนใช้ อย่าให้ขาดหกตกหล่น คิดแค่แคบๆ ว่าฉันจะเอา มองเห็นแต่ ปลายจมูกว่า ตนมุ่งจะทำดี แต่อันอื่นไม่รู้ ไม่หยิบมาจัดสัดส่วน ให้พอดี ไม่รู้เลยทำไป ไม่รอดหรอก ทำไปก็พังเร็ว ดีไม่ดี ถูกเขาฆ่าตายเลย เราจะทำอะไรได้ดี ต้องใช้สัปปุริสธรรม และ มหาปเทศ ต้องพยายามเข้าใจ ไม่ใช่แค่ในตำรา พระพุทธเจ้าสอน เท่านั้น แต่ ๗ ข้อนี้ มันเยอะมากเลยนะ รวมทุกอย่างไว้เลย

รู้ตนเอง รู้เนื้อหา รู้จักจัดสัดส่วน ดูกาละเวลา ดูองค์รวมอื่นๆอีก ทั้งสิ่งที่มาร่วม รวมทั้งรูป และนาม ทั้งตัวตน บุคคล สถานที่ โดยเฉพาะ ตัวบุคคล ที่มีจิตวิญญาณ นี่แหละสำคัญ ที่จริงเราไม่ได้จะคำนึงถึง เฉพาะคนที่มา ร่วมงานด้วยเท่านั้น แต่เราต้องคำนึงถึง คนที่สัญจรไปมาเกี่ยวกับ ถนนหนทางด้วย

เราจะปิดถนน ก็เกิดผลกระทบสิ คนไม่เกี่ยวข้อง กับเราเลย อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่เกี่ยวจริงๆ ไม่ใช่แค่นั้น คนเขาจะวิ่งรถไปมา ก็มีผลกระทบกระเทือน ไม่ใช่แค่รถวิ่ง คนเขามีใจ ไม่ชอบหน้าเรา เขาไม่มางานเราหรอก แต่เขามีผลลบ กับเรามาก เป็นตัวร้าย ตัวจอมหาเรื่องเลย ต้องระมัดระวัง เรารู้ว่ามีนะ หรือใครว่าไม่มี?

ขนาดพระพุทธเจ้าทั้งองค์ ยังมีผู้หวังร้าย แล้วคุณคือใคร?... เพราะงั้น เราก็จะต้อง เรียนรู้จริง ของเราปรากฏการณ์วิทยา มันดีจริงๆ วิเคราะห์วิจัย แล้วก็ไปปฏิบัติ ให้เข้าใจ
      
พ่อครูให้โอวาทปิดประชุม สรุปงานเจ เน้นวัฒนธรรมบุญนิยม ต้องไม่อยากใหญ่ ให้เป็นคนเล็กคนน้อย ดังนี้

เรื่องของเจที่ผ่านไป อาตมาก็ชื่นชม อาตมาว่า เกิดวัฒนธรรมใหม่ ในแดนอีสาน จ.อุบลฯ มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมหัวเมืองใหญ่ๆ ในภาคอีสาน มีตั้งหลายจังหวัด แต่ทำไม “เจ” จึงมาแจ้งเกิดที่อุบลฯ แต่ไหนแต่ไร อีสานกับการกินเจ ไม่ได้รู้จักกันเลย อีสานเขากินไม่เลือก แมลงมดก็กิน แต่นี่มากินเจ ก็เป็นเรื่องน่างึด! (amazing) ที่ทำได้ขนาดนี้ สิ่งที่เราทำ เป็นวัฒนธรรม แปลกใหม่ ก็ตั้งใจทำกันให้ดี ต่อไปอาจเป็นประเพณี ประจำจังหวัดก็ได้

แต่ก็ไม่ต้อง ไปดิ้นรน เขาจะว่าเรายัดเยียด ทำเพื่อตนเองไป ก็ปล่อยให้เป็นไป ตามธรรมชาติ หากไปยัดเยียดเขาไม่ดี ให้เป็นไปตามธรรม ให้คนเขามาเอง เขาอาสา มาทำให้เอง ถ้าเขาเห็นเป็นประโยชน์ ว่าจะเป็นสิ่งสำคัญ ในจังหวัด เหมือนที่อื่นเขา เช่น ภูเก็ต นครสวรรค์ เขาแห่สิงโต-มังกรกัน ภูเก็ตก็แทงปาก แทงคอไป แต่ของเรา จะเนียนใน วิเศษทางคุณธรรมกว่าเยอะ ถ้าจะเป็นวัฒนธรรม ระดับจังหวัด ก็ไม่เหมือนของเขา ที่เขาซ่อนแฝงอะไร แบบโลกๆ แต่ของเรา จะเข้าหาโลกุตระ

แม้แต่ลักษณะ ชวนมาล้างจาน ถ้าเป็นที่อื่น เขาจะให้มาล้างจานไหม เช่น ร้านเขาขาย ของแพง คนจะมาล้างจานให้ไหม? หรือขายของราคาปกติ จะให้เขา มาล้างจาน แล้วให้เขารู้สึกดีๆด้วย จะได้ไหม? ก็ไม่ได้ แต่ของเรา ทำด้วยคุณธรรม เขาเห็นว่าดี ที่ได้ช่วยล้างด้วย เป็นพฤติกรรมซับซ้อน ที่กินใจ ผู้มีปฏิภาณ จะเห็น แล้วเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาสามัญ ที่จะทำได้ง่าย ลอกเลียนได้ยาก

นอกจาก มีพฤติกรรมพิเศษ พวกเรายังมีมวล ที่มาด้วยจริงใจ พอใจด้วย แล้วที่เราทำนี่ ก็เหน็ดเหนื่อย แต่ได้ช่วยสังคม เราขายจานละ ๑๐-๒๐ บาท แล้วขายจนมือหงิก แขนเมื่อยหมด เราไม่ได้ขายแพง แต่เราเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน เป็นเรื่องที่เราช่วย เศรษฐกิจ ของประเทศ ไม่ใช่เรามาฉวยโอกาสหาเงิน แต่เราสร้าง วัฒนธรรม ความเสียสละ ให้แก่สังคมประเทศชาติ แต่ก็อย่าไปทวงบุญ ทวงคุณกับใคร

ก็ขอบคุณพวกเรา ด้วยใจจริง ที่พวกเราได้สร้างสรร วัฒนธรรม พฤติกรรม สังคมดีๆ อยากปรามเรื่องเดียวว่า อย่าให้มันอยากใหญ่ อยากกว้าง ให้มากเกิน ให้มันออกไป ทางธรรมชาติ มันจะเกิดใหญ่ เกิดมากไปเอง ตามธรรมชาติ เราไม่ต้องไปผลักดัน ก็ขอปราม อย่าไปอยากใหญ่ อยากกว้างมากนัก เพราะคนที่มองเรา แบบไม่ชอบใจก็มี มองอย่างหมั่นไส้ก็มี คนที่ริษยาก็มี เราก็อย่า ไปอยากใหญ่ ให้เกิดลักษณะเช่นนี้ขึ้นมา เราต้องทำอย่าง อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนรับใช้

ที่เราได้รับ ความนิยม ก็เพราะเป็นคนเล็กคนน้อย เป็นคนรับใช้ ไม่เบ่งใหญ่ สุภาพเรียบร้อย ขยันหมั่นเพียร อดทน จึงจะเกิดทั้ง ประโยชน์ตน และสังคม

อบายมุขโมเดล

ในเที่ยวบิน “นกแอร์” กรุงเทพ-สกลนคร ต้องถือว่า เป็นเที่ยวบิน พิเศษกว่า ทุกๆครั้ง เพราะในช่วงเวลา ๑ ชั่วโมงกว่าๆ ในระหว่างเดินทาง พ่อท่านฯ ได้เขียนวิธีอ่าน “ความหลุดพ้น” โดยเริ่มต้นตั้งแต่ “อบายมุข” ว่า เราขาดได้ ดับได้สนิทหรือยัง? สามารถประกาศได้ว่า “ชาติ (ความเกิด) -ชรา (ความแก่) -มรณะ (ความตาย) โศก (ความโศก) ปริเทวะ (ความร่ำไรรำพัน) ทุกข์ (ความไม่สบายกาย) โทมนัส (ความไม่สบายใจ) อุปายาสะ (ความคับแค้นใจ) ในเรื่องอบายมุขสิ้นแล้ว!” ซึ่งบทเขียนของพ่อท่านฯ ในเรื่องนี้ น่าจะเป็น “ต้นแบบ” (โมเดล) ที่เราจะนำไปใช้ อ่านกิเลส เรื่องอื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์ โลกธรรม ๘ โลกอัตตา ได้เช่นกัน

ต่อไปจะอ่าน ที่เขียนบนเครื่องบิน ก่อนมาถึงที่นี่ (บรรยายธรรม ก่อนฉันที่ ศรีโคตรบูรณ์อโศก)

เราลดอบายมุข มาได้เบื้องต้น อาตมาไล่มา ตั้งแต่หยาบก่อน โดยใจเราไม่มี ตั้งแต่อาการ อุปายาสะ โทมนัส ทุกข์ ปริเทว โศก ขาดตอนได้สนิท นี่เป็นกิเลส ขั้นอบายมุข เราละมาได้ ด้วยอาการที่อ่านรู้ อาการทางจิตเลยว่า อ๋อ อุปายาส เป็นอย่างนี้ หยาบขึ้นมา เป็นโทมนัส เป็นอย่างนี้ ทุกข์เป็นอย่างนี้ แล้วก็ยังต่องแต่ง เป็นปริเทว เป็นอย่างนี้ เศร้าโศกเป็นอย่างนี้ เศร้าโศกนี่ หยาบที่สุด แล้วมันออกมาหมด ทุกสภาพ แม้แต่หน้าตา

เพราะฉะนั้น คนหน้าเศร้านั่นคือ สุดทุกข์แล้ว เศร้ามันจะอยู่นานด้วย แล้วมันจะมี ฤทธิ์แรงของโศก โศกะนี่ ฤทธิ์แรงของ ความทุกข์นั้น ออกมาแสดง อาการ ทางภายนอก มันไม่ขาดตอน เรียกว่า ปริเทวะ มันทุกข์อยู่ในใจ มันไม่ออกมา ข้างนอก เรียกว่า มันขาดตอน นี่มันไม่ขาดตอน ข้างในไม่พอ มันออกมา ข้างนอกด้วย แสดงอาการโศก พวกเรากลุ่มอโศก ไม่โศกไม่เศร้า

เพราะฉะนั้น อาการภายนอกดี แต่อาการภายใน “ปริเทว - ทุกข - โทมนัส - อุปายาส” ศึกษาให้ดี แล้วล้างให้ได้ ทำให้ขาดตอนได้สนิทเรียกว่า อบายมุข อบายมุขคือ ความเสื่อมที่หยาบ ขั้นที่หนึ่ง หยาบต่ำเป็นขั้นต้นนะ ไม่ใช่กิเลส ทั้งหมด กิเลสหยาบขั้นต้น นั้นคือหลุดพ้นแท้ๆ โดยไม่ได้ใช้วิธีกดข่ม หรือลืม หรือทิ้งๆ ไม่ใส่ใจ ไม่ใช่!

ขยายความนิดหนึ่ง กดข่มนั่นเป็น วิธีที่เป็นลัทธิ เยอะและครองโลก วิธีกดข่มนี่ ครองโลก กดข่มมันไว้ๆ สองทำลืมๆไว้ อย่างปฏิบัติธรรมแบบให้มี “สติ” รู้- ทิ้ง - ว่าง- เฉย หรือไม่เอา ทิ้ง ลืม - ทิ้ง ลืม ทิ้ง! ทิ้ง! ไม่เกี่ยวข้องอยู่ แต่อะไรที่อาศัย สบายๆ เอาแต่ความสบาย อ้ายไม่สบายเอาออกๆ อะไรไม่ดี รู้ว่าไม่ดี ตัดทิ้ง แต่ว่าไม่รู้ว่าไม่ดี ที่หยาบกว่านั้น ไม่รู้ รู้แต่ว่าไม่ดี ตามปัจจุบัน ตามสามัญสำนึก ทิ้งๆ ลืมๆๆ มันจะเสพจะสุข จะเบียดเบียนเขาขนาดไหน ไม่ได้พิจารณาต่อ วิธีปฏิบัติสติ แบบนี้ เขาเรียกว่า “เจริญ-สติ”  แล้วลัทธิพุทธ มาแซมอยู่ใน “ลัทธิสติ” อันนี้ แล้วก็รู้ตัว อะไรไม่ดีเลิก อย่าไปยุ่งเกี่ยวเขา เอาแต่สิ่งดีๆ

อ้ายดีๆ นี่แหละ คำว่าดีๆนี่แหละ คือเอาตามความพอใจ แล้วก็เอามาบำเรอ กิเลสตัวเองว่าดี เช่น กินรสจัดจ้าน ขนาดนี้ดี ได้องค์ประกอบ อลังการ ขนาดนี้ดี น้อยไปกว่านี้ ก็ไม่เอา ไม่พอใจ แล้วก็จะต้องได้ ขนาดนี้ ก็ดึง ก็ทึ้ง ก็แย่งก็ชิง ให้มันได้ขนาดนี้อยู่ คุณไม่รู้ตัวในรายละเอียด พวกนี้หรอก เพราะฉะนั้น คุณก็จะต้อง ศึกษาให้ลึก วิธีกดข่มแบบ ไม่เอาลืมๆ ทิ้งๆ ให้มีสตินำ แล้วก็ลืมๆ ทิ้งๆ ก็ไม่เอา หรือยิ่งไม่ใส่ใจ อะไรๆ อย่าไปใส่ใจ ตัดทิ้ง หยุด!..เลิก!..ไม่เอา! 

จริงๆแล้ว ต้องใส่ใจตามลำดับ แล้วก็ศึกษา โดยมีการสัมผัส แต่มีการสัมผัสโดย
ธรรมชาติ โดยธรรมชาติ เราจะมีการสัมผัส แตะต้อง อะไรอยู่ในโลก มีเท่าไหร่ เราก็จะได้สัมผัส ตามโอกาส ตามขณะ อย่างคนไฮโซ เขาก็สัมผัส ระดับไฮโซ สัมผัสเพชรก้อนหนึ่ง ราคาพันล้าน หมื่นล้าน เขาก็สัมผัส พวกคุณ จะได้สัมผัสหรือ ตั้งแต่เกิดจนตาย ตายจนเกิด จะได้สัมผัสเพชร ราคาพันล้าน หมื่นล้าน กะเขาไหม? มันก็อยู่ ฐานะใคร ฐานะมัน

มันก็จะสัมผัส ตามธรรมชาติ ของคน พวกชาวเรา ก็ว่าไป ชาวไหนๆ ก็แล้วแต่ ในระดับฐานะ ตามธรรมชาติ ก็มีการสัมผัส โดยธรรมชาติ และได้ปฏิบัติทุก อานาปานสติ กายคตาสติ วันนี้อาจจะไม่ได้ ไปลงลึกถึง อานาปานสติ กายคตาสติ แต่ฟังไว้ก่อน ต้องปฏิบัติ อยู่ตลอดเวลา อานาปานสติ กับ กายคตาสติ เดี๋ยวนี้ เพี้ยนกันไปหมดแล้ว ปฏิบัติ อานาปานสติ ก็ตัดขาด อธิบายไปอย่างหนึ่ง กายคตาสติ ก็ตัดขาด อธิบายไปอย่างหนึ่ง

กายคตาสติ และ อานาปานสติ ไม่ได้สัมพันธ์กันแล้ว ทุกวันนี้ ทั้งๆที่ อานาปานสติ และ กายคตาสติ นั้นคือกาย คือ องค์ประชุม ที่จะต้อง มีทั้งกายทั้งจิต กายคตาสติ คือกาย อานาปานสติ คือจิต แต่เดี๋ยวนี้ขาดวิ่นหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า ได้ปฏิบัติทุก อานาปานสติ กายคตาสติ มีสติปัฏฐาน เป็นเนื้อหา แห่งตัวเรียนรู้ อยู่ตลอดเวลา โดยการเข้าใจ และปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม  

ทุกสัมผัส เจริญอธิปัญญาสิกขา เกิดอธิจิตสิกขา สะสมเป็นส่วนแห่งบุญ เรียกว่า ปุญญภาคิยา คือปุญภาค เป็นส่วนแห่งบุญ หรือเรียกสั้นๆว่า ส่วนบุญ ได้ส่วนบุญ ส่วนบุญ คือส่วนที่ชำระกิเลสได้ จิตของเรา ชำระกิเลสออก เรียกว่า ส่วนบุญ แบ่งใครไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ เอาส่วนบุญ ไปแบ่งกัน เลอะเทอะ ไปหมดแล้ว เรียกว่า เอาบุญไปขายไปค้า เอาไปหลอก เป็นวิมานด้วย ขอวิจารณ์แค่นี้ก่อน ยังไม่ต่อ

สะสมเป็นส่วนแห่งบุญ หรือส่วนบุญ คือได้ชำระกิเลส มีมรรคผล อุบัติไป ตามลำดับ อยู่เสมอ ด้วยฌาน ฌานคือตัวเพ่งเผา เป็นตัวปฏิบัติ ตกผลึก เมื่อเพ่งเผา กิเลสได้ ก็ตกผลึกเป็นสมาธิ เกิดวิชชา วิมุติ ไปตามลำดับ ตลอดเวลา ที่ปฏิบัติ มรรค ๗ องค์ เกิดวิชชา วิมุติ ทำฌาน สั่งสมเป็นสมาธิ เกิดวิชชาวิมุติ ไปตามลำดับ ตลอดเวลา ที่ปฏิบัติมรรค ๗ องค์ เป็นฌาน เป็นสมาธิ อยู่ในตัวแล้ว เป็นสัมมาสมาธิ เกิดวิชชาวิมุติ ไปตามลำดับ ของสัมมาสมาธินั้น

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติแค่มรรค ๗ องค์ นั่นแหละ สมาธิเกิด ไม่ต้องไปวิธีอื่น ถ้าใช้วิธีอื่น นอกไปจากปฏิบัติ มรรค ๗ องค์ นอกศาสนาพุทธ ปฏิบัติสมาธิก็ตาม ฌานก็ตาม ไม่มาปฏิบัติตามหลัก มรรค ๗ องค์ ไปทำวิธีอื่น ไม่มีอาชีพ ไม่ได้เรียนรู้ ในขณะมีอาชีพ ไม่มีกัมมันตะ การกระทำทุกอย่าง ต้องเรียนรู้ ในขณะพูด เรียนรู้ในขณะคิด -สังกัปปะ ล้างกิเลส รู้กิเลสเกิด แล้วก็ดับกิเลส ฆ่ากิเลสในขณะทุกอย่าง

แม้ขณะทำงานอาชีพ ทำงานทุกอย่าง กำลังพูดอยู่ กำลังคิดอยู่ แล้วก็ได้ละกิเลส ถ้าไม่อยู่ในร่องรอย ในมรรค ๗ องค์นี้ นอกขอบเขตบุญ นอกขอบเขต ศาสนาพุทธ ที่เป็นบุญของพุทธ บุญคือ ได้ชำระกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดปฏิบัติ นอกมรรค ๗ องค์ ไม่มีบุญเกิด ไม่ได้ชำระกิเลส จึงเรียกว่า นอกขอบเขตบุญ แสวงบุญ นอกขอบเขตพุทธ ถ้าผู้ใดไม่ได้ปฏิบัติ สัมมาสมาธิ ให้เกิดสมาธิ ด้วยมรรค ๗ องค์ พวกนั้นแสวงบุญ นอกขอบเขตพุทธ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ดูความจริงในประเทศไทย ผู้ปฏิบัติแสวงบุญ นอกขอบเขตพุทธ มีมั้ย เต็มบ้าน เต็มเมือง ออกนอกรีตหมด แสวงบุญ นอกขอบเขตพุทธ เพราะไม่เป็นบุญ ตามเขตของพุทธ ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ ไม่ได้เป็นบุญ ไม่ได้อยู่ในขอบเขต ของพุทธ นอกเขตไปแล้ว เป็นการปฏิบัตินอกแบบ ก็คือนอกมรรค ๗ องค์ นอกโพธิปักขิยธรรม

สรุปอย่างเต็มๆ ไม่เป็นโลกุตระเลย!
    

สกู๊ปพิเศษ
ข้อคิดจากงานฉลอง ๓๐ /๘๐ ปฐมอโศก

งานมหาปวารณาปีนี้ เป็นปีพิเศษ ของปฐมอโศก เป็นการฉลองทั้ง ๓๐ ปี ของปฐมอโศก และทั้งฉลอง ๘๐ ปีของพ่อครูด้วย มันมีเลข ๘๐ กับ ๓๐ อยู่ด้วยกัน ๘๐ ปี ของพ่อครูเพื่อมา กอบกู้ศาสนา ที่แทบจะเรียกว่า สูญไปแล้ว โลกุตรธรรมนี่ สูญไปแล้ว ในขณะที่ปฐมอโศก ก็เหมือนกับชุมชน พุทธบริษัท ๔ จริงๆ ที่มีศีล ๕ ไม่มีอบายมุข เป็นอย่างน้อย ปฐมอโศกก็นับว่าเป็น ชุมชนเริ่มต้น เป็นปฐมบท ของการกอบกู้ พระพุทธศาสนา ในยุคนี้ และปฐมบทของ ชุมชนพุทธบริษัท ๔ ซึ่งมันจะทำให้ ความมั่นคง ของศาสนาไปได้อีก ยั่งยืนยาวนาน

งานมหาปวารณา เป็นการนำเสนอกับสังคม อย่างหนึ่งว่า การอยู่ร่วมกัน ในสังคม ของศาสนาพุทธนี่ แม้จะมีการทักท้วงติติง หรือว่ากล่าวโทษกัน หรือบอกกล่าวกัน ไม่ได้เป็นความเสื่อมอะไร แต่เป็นความเจริญรุ่งเรือง งานมหาปวารณา ถือว่า เป็นหัวใจสำคัญ ของพระศาสนาทีเดียว ก่อนที่จะได้ลงปาติโมกข์ ทุกๆ ๑๕ วัน จะมีบทบาลี ที่จะต้องสวด เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ศาสนาพุทธของเรา จะมีความเจริญ รุ่งเรืองได้ ก็ด้วยการ มีการว่ากล่าวตักเตือน บอกกล่าว ซึ่งกันและกัน ให้ออกจาก ความผิดต่างๆ”

ถ้าศาสนาพุทธ สามารถที่จะทักท้วงกันได้ บอกกล่าวกันได้ เพื่อให้ออกจาก ความผิดต่างๆ ศาสนาพุทธของเรา ก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง โดยประการเดียว และ บ้านเมืองของเรา ก็เหมือนกัน ถ้ามีการทักท้วงกัน ด้วยความปรารถนาดี และก็มีการรับฟัง ซึ่งกันและกัน นำเอาข้อทักท้วง นำเอามุมมอง ที่เห็นต่างกัน มาแก้ไขปรับปรุง สังคมไทย ก็จะเป็นสุดยอด ของประชาธิปไตย

ส่วน ๓๐ ปีของปฐมอโศก พ่อครูบอกพอใจกับ การเติบโตของ ปฐมอโศก ที่เขาดำเนินการมา ถึงทุกวันนี้ เพราะว่าเป็นชุมชนแรก และเป็นชุมชน ที่ตั้งหลัก ได้แล้ว และก็มีความแข็งแรง สามารถพึ่งตน จนเป็นที่พึ่ง ของคนอื่นได้   ความ “ประณีต-ประหยัด” นี่เป็นจุดแข็งของ ปฐมอโศกเลย ซึ่งจุดแข็งจุดนี้ มันเริ่มต้น มาจาก เป็นชุมชน ที่คนถือศีล ๘ เป็นหลัก สมัยก่อน เราอยู่กันมา จนแทบจะถือว่า คนศีล ๕ แทบจะเป็นส่วนเกิน ของชาวชุมชนไปเลย

พวกศีล ๘ คุยกันอะไร ก็มักจะไปกระทบศีล ๕ อยู่เรื่อยว่า ศีล ๕ เป็นพวกอ่อนแอ เราต้องเอาศีล ๘ มาลุยกัน สร้างภูเขา สร้างลำธาร มาจากคนศีล ๘ เป็นหลัก สมัยก่อนนี้ ชุมชนปฐมอโศก เรียกว่า จะไม่ได้ยินเสียง เด็กร้องไห้เลย แม้จะเป็น หมู่บ้าน แต่ก็เป็นหมู่บ้านที่ไม่มี ลูกเด็กเล็กแดง ด้วยความแข็งแรง ของชาวศีล ๘ เป็นหลัก ต่อมาไม่นาน ปฐมอโศก ก็สามารถตั้งตัวได้ และ สามารถช่วยเหลือ ชุมชนอื่นๆ เป็นไปตามโศลก ที่พ่อครูเคยบอกไว้ว่า “จะสร้างบุญ ต้องประณีต – สร้างจารีต ต้องประหยัด”

ก็ถือว่าปฐมอโศก เติบโตขึ้นมา ด้วยความประณีตประหยัด ของคนรุ่นเก่า โดยเฉพาะ หมอฟากฟ้าหนึ่ง ซึ่งเป็นประธานชุมชน ที่ทั้งลงทุนลงแรง และใช้ชีวิต เป็นแบบอย่าง การทำงาน อย่างขยันขันแข็ง แต่ตัวเองก็ค่อนข้าง ที่จะประณีต ประหยัด อย่างมากเลย คือเวลา จะไปไหนมาไหน ไปประชุม หรือกลับบ้าน ไปเยี่ยมญาติ คุณหมอจะไม่ใช้รถ ของชุมชน ให้เสียค่าน้ำมัน

ผู้หญิงตัวเล็กๆ จะใช้รถไฟเป็นหลัก นั่งราคาถูกๆ ชั้น ๓ หรือไม่ก็รถเมล์ ทั้งที่ตัวเอง ก็มีสิทธิ์จะใช้ได้ ในฐานะเป็น ประธานชุมชน เป็นผู้ทำงาน ก่อตั้งโรงงานยา ปฐมอโศก จนเป็น ศูนย์เจาะวิจัยสมุนไพร ในขณะนี้ ที่ทำให้ ปฐมอโศก เป็นชุมชนเข้มแข็งอยู่ได้ ก็คือโรงงานยา นี่แหละ แต่คุณหมอ ไม่ใช้เครื่องฟุ่มเฟือย เหล่านี้เลย ชุดก็โอ้โฮ ขาดแล้วขาดอีก อาหารการกินนี่ ถ้าไม่มีคนจัดให้ เรียกว่า คุณหมอจะกินน้อยมาก แล้วคุณหมอ จะให้ทุนด้วย คุณหมอ จะเอาเงินส่วนตัว ให้ทุนเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ เยอะมากเลย

ชีวิตของหมอฟากฟ้าหนึ่ง จึงเป็นทั้งหัวเจาะ และเป็นตัวอย่าง ปฐมบทของชุมชน จน ๓๐ ปี เขาก็รักษาวัฒนธรรม ความประณีตประหยัด เหล่านี้มาได้ อย่างเหนียวแน่น และสิ่งที่พ่อครู พอใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่า แม้ทุกวันนี้ งานเขาจะเติบโต ก้าวหน้า ผู้รับใช้ ฐานงานต่างๆ ก็พูดว่า เขาก็ไม่ได้มุ่ง ที่จะเอางาน เป็นหลัก แต่เขามุ่ง ที่จะพัฒนา “คน” แม้แต่จะมีคนงาน มาอยู่ด้วย ก็มุ่งที่จะพัฒนา ช่วยให้เขา ลดละอบายมุข จะพัฒนาให้เขา มีศีลธรรมกัน เมื่อไม่ได้มุ่งพัฒนา ที่จะเอาผลผลิต หรือเอารายได้เป็นหลัก ก็ทำให้ เขาบริหารงานได้ อย่างมีความสุข เพราะมุ่งพัฒนา คนที่มาอยู่ร่วมด้วย ให้มีศีล มีธรรมขึ้น

ความลงตัวในงานนี้ มีหลายอย่าง ทั้งๆที่หลายๆ อย่างไม่ลงตัว เช่น กำหนด การประชุมสมณะ ๒ วัน แต่ยังไม่ถึงวันเลย เสร็จแล้ว รายการอื่น ต้องขยับขึ้น เปลี่ยนกันไป หมดเลย ตักบาตรเทโว ก็เลื่อนขึ้นมาอีกวันหนึ่ง รายการต่างๆ ก็เลื่อนกันหมด แต่มันก็เหมือน ไม่มีอะไร เลื่อนหรือไม่เลื่อน ก็เหมือนกับ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แล้วปีนี้รายการอัดแน่น จนต้องเอารายการ ของลุงจำลอง ไปลงรายการภาคค่ำ ทั้งๆ ที่ภาคค่ำ มีรายการแสดงต่างๆ ยาวเหยียด จนบางรายการ ยอมถอยให้ แล้วก็มี รายการพิเศษ ตั้งชื่อไว้ว่า “จากสัมมาสิกขาสู่สัมมาอาชีวะ” เอาตัวอย่าง ศิษย์เก่า สัมมาสิกขาปฐมอโศก ที่เขาไปทำงาน เล็กๆน้อยๆ อย่างบางคน ไปเรียนวิชา โรงแรมมา หมดไปเป็นล้าน แต่สุดท้าย จบออกมา จริงๆ กลับมาทำ กะปิเจ ทำเทมเป้ขาย บางคนก็ทำ ถั่วตัดขาย บางคนออกมาทำนา จนได้รับเชิญ เป็นวิทยากร

คือเอาความรู้ ที่ตอนเป็นเด็ก สัมมาสิกขา ตอนอยู่ฐานงานต่างๆ ในชุมชน มาใช้ทำมาหากิน ไม่น่าเชื่อว่า สิ่งเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ ถูกทำให้เป็นสัมมาอาชีวะ จนสร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่รายการนี้ ก็ถูกเบียดออกไปอีก เพราะว่าศิษย์เก่าฯ ปฐมอโศก เขามารวมพลัง กันที่ศาลา เดิมเขาจะใช้ที่ หอประชุม แต่ถูกกลุ่ม จุลินทรีย์ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว เข้าไปใช้ก่อน พวกศิษย์เก่าฯ เขาก็หาที่ลงไม่ได้ ก็เลย มาลงที่ศาลา รายการพิเศษ ที่เตรียมไว้ ก็หลุดไปโดยปริยาย เพราะว่า เป็นตัวจริงของจริง ที่เขามากันปีนี้ มีถึง ๑๙๔ คน

มีศิษย์เก่าฯทั้งหมด ๑๗ รุ่น มีใครบ้างที่มา แล้วแต่ละคน ไปทำอาชีพอะไร แล้วก็จะจดเบอร์กันไว้ ติดต่อกันไว้ แล้วเขาทำหนังสือ ทำเนียบรุ่นกันมี ๕๕๐ คน เป็นหนังสือ ๑ เล่มเลย โอ....ปวารณาไว้ อาจหาญมากเลย ให้พ่อครูเรียก ใช้งานเขาได้ ๒๔ ชั่วโมง คนแรก รหัส ๐๐๑ ของศิษย์เก่า คือ นายกอฟ คมธรรม ตอนนี้ ทำงานอยู่ช่อง ๑๓ สยามไท เขาก็เป็นคนมอบ ทำเนียบรุ่น ให้พ่อครู

กลายเป็นว่า ศิษย์เก่าฯ เขาก็ทำสัมมาอาชีวะ ก็ตรงกับวัตถุประสงค์รายการ รายการที่เตรียมนี่ ยังไม่ได้เป็นของจริง แต่รายการ ที่ศาลานี่ของจริงมากกว่า สุดท้าย เมื่อดูภาพรวมทั้งหมด ปีนี้รายการ ลงตัวมาก ซึ่งความลงตัว มันเกิดจากใจ ที่ยอมกัน ใจที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น อะไรกันมาก แม้ใครจะเตรียมรายการ ของฉันไว้แล้ว แต่ว่าเมื่อคุยกันแล้ว เห็นว่า อ้ายนี่มันเป็นเนื้อหา สาระมากกว่า พวกเรา ก็เปลี่ยนแปลงกันได้อย่างทันทีเลย ถ้ามองแบบโลกๆ เขาจะมองเลยว่า ชาวอโศกนี่ไม่มีระเบียบ ไร้หลักการ มั่วน่าดูเลย

สิ่งสุดท้าย ที่น่าจะเป็นข้อเตือนใจ อย่างสำคัญ ให้กับพวกเรา ก็คือ ๓๐ ปีมานี่ คนของเรา ชราภาพ แล้วก็มรณภาพ คือตายไป ก็ไม่ใช่น้อย และคนที่อยู่ ก็อยู่กันด้วย ความอายุมากแล้ว แต่งานมันไม่ได้น้อยลง ทั้งๆที่อายุมากแล้ว แต่งานมันกลับ มากขึ้น แล้วชุมชนของเรา ที่เริ่มต้นกันเป็นปฐมบท สุดท้าย ก็เหลือแต่ คนอายุยาวๆ คนหนุ่มสาว ที่จะมารับภาระแทน หายากยิ่งกว่า ยาหยอดตา

พวกเรายังให้ความสำคัญ กับการสร้างคนน้อย ท่านจันทร์ ฟันธงว่า “การสร้างคน มันไม่ใช่ง่าย การสร้างคน มันจะต้องลด อัตตามานะ” คือ คนที่คิดจะสร้างคนนี่นะ จะต้องลด อัตตามานะ แม้พวกเรา ที่ได้รับการปลูกฝัง อุดมการณ์ ของพระโพธิสัตว์ อุดมการณ์ที่จะสืบทอด การทำประโยชน์ ให้แก่ผู้อื่น แต่เอาเข้าจริง ผู้ใหญ่ของเรา ก็ยังไม่คิด ที่จะลงทุนลงแรง ในเรื่องการสร้างคน สักเท่าไหร่ อย่างบ้านราชฯ ฝ่ายการศึกษาเขาสรุป ให้ฟังเลยว่า ทุกวันนี้ ไม่ว่าฐานงานอะไร ต่างๆนานา เด็กกลายเป็น แรงงานหลัก

สิ่งที่เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่ง ในระบบของเราคือ เมื่อผู้ใหญ่ของเรา ทำงานฟรี ไม่มีเงินเดือน ทุกคนจะเลือกทำงาน ตามแรงบันดาลใจ เราไม่สามารถ สั่งได้ว่า งานตรงนี้ขาด ขอให้คนนั้นคนนี้ ไปทำตรงจุดนี้ ก็แล้วแต่ใคร จะมีแรงบันดาลใจ ถ้าไม่มีใคร มีแรงบันดาลใจ งานสำคัญนั้นๆ ก็จบไป แต่ว่ากองกำลัง ที่เราสามารถ กำหนดได้เลยว่า ตรงนี้ ๒๐ ตรงนั้น ๓๐ ตรงโน้น ๔๐ คือกองกำลัง ของเด็กสร้างบ้าน เขามีกำลังมาก เขากางเต็นท์ เก็บเต็นท์ใหญ่ๆ พลังเขาเหลือเฟือ ดูเขากระโดดขึ้น กระโดดลง ชำนาญมาก

จึงขอส่งสัญญาณ มายังชุมชนต่างๆ ของเรา โดยเฉพาะ ตามฐานงานต่างๆ ผู้คนในฐาน ก็เริ่มชรา เริ่มป่วยกันแล้ว แต่ว่าหลายๆ คนก็มีแนวคิดว่า ถ้าจะส่งเด็ก จะต้องส่งเฉพาะ เด็กดีๆ มาให้ฉันนะ ถ้าเด็กมีปัญหา ไม่เอานะ เด็กบอกไม่ได้ สอนไม่ได้ ไม่เอานะ อันนี้คือ วิญญาณทุนนิยม ของพวกเรา ยังเหลือกันอยู่เยอะ หมายความว่า เลือกจะได้ฝ่ายเดียว แต่ไม่เลือกจะลงทุน ไม่เลือกที่จะคิดบอก คิดสอนเขา

ถ้าให้เลือกระหว่าง การอยู่กับเด็กที่ดีมากเลย บอกอะไร เชื่อฟังหมด กับการอยู่กับเด็ก ที่บอกอะไร ไม่ค่อยเชื่อฟัง แล้วก็จะมีปัญญาเยอะ ถามว่า อันไหน จะทำให้ครู ลดอัตตามานะ แล้วก็พัฒนาตัวเอง ได้ดีกว่ากัน? ถ้าใช้สูตร ของท่านจันทร์ที่ว่า คนจะสร้างคน ต้องลดอัตตา เหมือนเราเจอ เด็กมีปัญหา ถ้าเรามีปัญหากับเด็ก เราก็ไม่ได้ลดอัตตา

เราจะสร้างเด็ก เราก็ต้องลดอัตตา ของเราลง ทำให้ได้พัฒนาตัวเอง และทุกวันนี้ ได้เป็นบทสรุป เหมือนกันหมด ทุกโรงเรียนเลยว่า เด็กที่อยู่กับเราจริงๆ คือ เด็กที่มีปัญหา ตอนที่เขาเรียนอยู่ นั่นแหละ เป็นเด็กที่เราต้องลงทุนลงแรง มากกว่าเพื่อน เขาจึงอยู่กับเรา จึงขอฝากให้เห็นถึง ความสำคัญ ของการสร้างคน จริงๆ ตอนนี้ แม้ชุมชนใหญ่ๆ อย่างปฐมอโศกนี่ ก็แทบจะยืนป่วย ไปตามๆกัน

และในช่วงที่พวกเรา ต่างก็อยู่ใน ปัจฉิมวัยกัน มันต้องมาคิด อย่างมากเลยว่า งานของเรา มันไม่มีวันสิ้นสุด แต่ชีวิตของเรา ใกล้จะสิ้นสุด อย่างนั้น ในชีวิตของเรา ที่ใกล้จะสิ้นสุดนี่ มันจะทำงานอย่างไร ที่จะได้ประโยชน์สูงสุด ให้กับชีวิตเรา อย่างพวกเรา ที่อยู่บ้านราช เราได้คำตอบ แล้วว่า ให้ทำงานที่ พระผู้เป็นเจ้า ประทานมาให้เรา (พ่อสั่งลุย!) อย่าไปหมกหมุ่น อยู่แต่งานที่ ข้าพเจ้าต้องการ

งานที่ข้าพเจ้า ต้องการทำนี่ มันไม่มีวัน สิ้นสุดหรอก เรารีบทำงานอันนี้ให้เสร็จปุ๊บ อีกร้อยงาน มันจะเข้ามา ทันทีเลย งานที่ข้าพเจ้า จะทำมันจะเข้ามาอีก ร้อยงานเลย แต่ถ้าเราเลือกทำงาน ที่พระเจ้า ประทานให้มานี่ เราจะไม่ได้ ยึดมั่นถือมั่นอะไร เหมือนเราออกไป ชุมนุมกัน งานนู้นงานนี้เข้ามา เราก็ไม่ได้ติดอก ติดใจอะไร เลิกชุมนุมเมื่อไหร่ เรารู้สึกสบาย ทันทีเลย เพราะว่า มันไม่ได้เป็นงาน ที่ข้าพเจ้าต้องการ เราทำตามที่พระเจ้า บอกเรามา เท่านั้นเอง

ปล. พ่อครูตั้งข้อสังเกตว่า การที่ปฐมอโศก ใช้ข้าวสารไร้สารพิษ ที่ปลูกกันเอง มาเป็นของชำร่วย ใช้แจกให้กับ ผู้มาร่วมงาน เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิด ความปลื้มอก ปลื้มใจ ทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าคนรวย และคนไม่รวย ต่างรับถุงข้าวสารกลับไป อย่างอิ่มอกอิ่มใจ เป็นประเพณี ที่ชาวอโศก ควรจะได้ สืบทอดกันต่อไป

พ่อครูเยือน ร.ร.ผู้นำ

ภายหลังเสร็จสิ้น งานมหาปวารณา ของทุกปี เป็นเหมือน ธรรมเนียมไปแล้ว ที่พ่อครูจะไปเยือน โรงเรียนผู้นำ จ.กาญจนบุรี ที่พลตรี จำลอง ศรีเมือง และคณะ ซึ่งเป็นญาติธรรมส่วนใหญ่ คอยดูแลอยู่ ในปี ๒๕๕๗ นี้ก็เช่นกัน พ่อครูเสร็จจาก งานมหาปวารณา ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ หลังฉัน ตอนบ่ายๆ ก็ได้นั่งรถ ไปถึงที่ โรงเรียนผู้นำ ประมาณ ๑๖.๐๐ น. ซึ่งพล.ต.จำลอง ได้นิมนต์พ่อครู ให้พักผ่อน ที่เรือนไม้ไผ่ โดยนิมนต์ ให้สมณะที่ไปด้วย พักเรือนไม้ไผ่ อยู่แวดล้อมด้วย อ้อมกอดของขุนเขา เมืองกาญจนบุรี อากาศที่ร.ร.ผู้นำ เย็นสบายดี ไม่หนาวมากนัก แม้จะย่างเข้า หน้าหนาวแล้ว

เวลา ๑๙.๐๐-๒๑.๐๐ น. ทาง ร.ร.ผู้นำ ได้นิมนต์พ่อครู เทศน์เอื้อไออุ่น ที่ศาลาใหญ่ ของร.ร.ผู้นำ ท่ามกลางอากาศ เย็นสบาย แต่อบอุ่นคุ้นเคย หลังเอื้อไออุ่น ทุกคน ก็แยกย้าย กลับไปพักผ่อน สูดอากาศบริสุทธิ์ ของขุนเขา

ในช่วงเช้าตรู่ ของวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ พ่อครูได้นำสมณะ และสิกขมาตุ ที่มาร่วมบรรยากาศ ออกบิณฑบาต มีญาติธรรม และญาติโยม ภายนอก มาใส่บาตรด้วย เป็นจำนวนมาก ทางบุญนิยมทีวี ก็อาศัยบรรยากาศ ของร.ร.ผู้นำ จัดรายการ วิปัสสนาข่าว ไปด้วยในช่วงนี้ หลังบิณฑบาต พ่อครูก็ได้เทศนา ก่อนฉันอีก ๑ กัณฑ์ แล้วฉันอาหารร่วมกันที่ศาลาส่วนกลาง เสร็จแล้ว ก็เดินทางกลับ สันติอโศก ในช่วงบ่ายของวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน เป็นอันเสร็จสิ้น ภารกิจเยือน ร.ร.ผู้นำ ประจำปี ของพ่อครู ที่เป็นการ ไปเติมเชื้อพลัง แห่งโลกุตรธรรม ให้แก่ญาติธรรม ประจำปี

ดูเหมือนจะเป็น การทำบุญใหญ่ ประจำปีของ ลุงจำลอง และป้าลักษณ์ ทั้งลุงและป้า จึงตั้งใจเต็มที่ โดยเฉพาะลุงจำลอง ใครที่มางานนี้ ลืมไปได้เลยว่า ลุงเขาอายุ ๘๐ แล้ว เพราะลุงทำหน้าที่ ทั้งเป็นโฆษก บอกแจ้งรายการต่างๆ เป็นทั้งมัคคนายก คอยต้อนรับ ดูแลนักบวช พานำทำศาสนพิธี และในช่วง รับประทานอาหาร ลุงก็ยังทำหน้าที่ เป็นดีเจ จัดรายการเพลง เชื้อเชิญนักร้อง ให้มาสร้างความสุข กับผู้ฟังอีกด้วย  แค่ได้เห็นลุงและป้า มีความสุข พวกเรา ก็คงได้สุขใจ ตามไปด้วย แต่น่าเสียดาย ที่คนเก่าคนแก่ ของร.ร.ผู้นำ หลายๆคน หายหน้าหายตาไป ทั้งๆที่ยังไม่ตาย จากกัน! ( ๙ พ.ย. ๒๕๕๗ )

พระโพธิสัตว์คืออะไร?
เหตุใดในหลวงเป็นพระโพธิสัตว์???

ถาม : พ่อท่านครับ ที่ว่าในหลวง เป็นพระโพธิสัตว์ จริงไหมครับ?

พ่อท่าน : ไม่ได้พูดเล่น มันเป็นเรื่องจริง

ถาม : แล้วผู้ที่ศรัทธาในหลวง แล้วเขาบอกว่า คุณประยุทธ เป็นลูกพระโพธิสัตว์

พ่อท่าน : หัวเราะ อาตมาตอบไม่ได้หรอกว่า คุณประยุทธ จะเป็นลูกพระโพธิสัตว์ หรือเปล่า?

คำว่าพระโพธิสัตว์ มันไม่ได้ หมายความตื้นๆ หรอกคุณ โพธิสัตว์นี่นะ ความหมายพื้นๆ ที่สุดก็คือ ใจเห็นแก่ตัว น้อยลงจริง! แล้วเมื่อเห็นแก่ตัวน้อยลง ก็ต้องมีสัดส่วน หรือว่ามีความจริงเป็น “สัมมา” ด้วย

สัมมาคืออะไร? สัมมา...คือ “ไม่เห็นแก่ตัว - และต้องเห็นแก่ผู้อื่น!”

อย่างระบบที่เป็นฤาษี เขาปฏิบัติ โดยเขาไม่เห็นแก่ตัว คือ เขาไม่แก่งแย่งใคร เมื่อไม่แย่ง ก็ไม่เห็นแก่ตัวนะ ไม่แย่งจริง แต่ก็ไม่ช่วยใคร แต่โพธิสัตว์นั้น ไม่เห็นแก่ตัว แล้วช่วยคนอื่น พอเริ่มต้นเป็น โสดาบัน ก็เป็นโพธิสัตว์ เมื่อลด ความเห็นแก่ตัวได้ จึงเกิดส่วนเกิน เหลือกินเหลือใช้ในตนเอง ระดับหนึ่ง ส่วนเกินอันนั้น โสดาบัน ก็ได้ช่วยเหลือสังคม นี่คือเริ่มต้นเป็น พระโพธิสัตว์ อันดับหนึ่ง

อันดับสองก็ สกิทาคามี ก็ลดความเห็นแก่ตัวลงไปอีก และก็ช่วยผู้อื่นลงได้อีก โพธิสัตว์ ระดับที่สาม ก็ลดความเห็นแก่ตัว ลงไปอีก แล้วก็ช่วยผู้อื่นได้อีก ก็มีคุณสมบัติ หรือคุณภาพที่มัน ทวีคูณสูงขึ้น ตามลำดับ ตามสัจจะ ที่เป็นจริง เพราะฉะนั้น สังคมจึงไปรอด ไม่ใช่มีแต่ความรู้ แล้วก็มีแต่ ความเห็นแก่ตัวเพิ่ม ความรู้มาก ยิ่งเห็นแก่ตัวเพิ่ม นอกจากเห็นแก่ตัว เพิ่มแล้วไม่พอ ไม่ช่วยใครอีก มันก็เลย หนักกันใหญ่เลย

เพราะฉะนั้น สังคมจึงขาดความเป็น โพธิสัตว์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษา ของพระพุทธเจ้า จึงเริ่มต้นที่ โสดาบัน มิฉะนั้น จะไม่ได้ผลอะไร จากการศึกษา เมื่อไม่ได้ผล จากการศึกษา คนๆนี้ ไม่เกิดประโยชน์ในโลก เข้าใจขึ้นใช่ไหม โพธิสัตว์ระดับ ๑ = โสดาบัน
โพธิสัตว์ระดับ ๒ = สกิทาคามี
โพธิสัตว์ระดับ ๓ = อนาคามี
โพธิสัตว์ระดับ ๔ = อรหันต์
โพธิสัตว์ระดับ ๕ = อนุโพธิสัตว์
โพธิสัตว์ระดับ ๖ = อนิยตะ
โพธิสัตว์ระดับ ๗ = นิยตะโพธิสัตว์
โพธิสัตว์ระดับ ๘ = มหาโพธิสัตว์
โพธิสัตว์ระดับ ๙ = ก็คือ สัมมาสัมพุทธะ

ถาม : ก็แปลว่า ในหลวงก็อย่างน้อย ก็เข้าสู่โสดาบัน

พ่อท่าน : แน่นอน ถ้าไม่ใช่โพธิสัตว์ ท่านจะตรัสต่อประชาคม ต่อสังคม ทั้งประเทศได้ไง! ท่านไม่ได้ตรัสกับสังคม กลุ่มเล็กนะว่า หลักการบริหาร ที่รัฐมนตรีเกาหลี มาถาม บริหารประเทศ ทำแบบไหน? คำตอบก็คือ... “แบบคนจน!” มีหรือในโลก ที่จะบอกว่า บริหารประเทศ แบบคนจน มีที่ไหน ท่านเป็น พระเจ้าแผ่นดินนะ เป็นหัวหน้า ประมุขของประเทศ และพระเจ้าแผ่นดิน ตรัสด้วย พูดออกมาแล้ว ต้องรับผิดชอบ คำพูดของตนเองนะ มันไม่ใช่เรื่องเล่นนะ

ยิ่งท่านบอกว่า “ขาดทุนของเรา เป็นกำไรของเรา!” คนธรรมดา ไม่มีญาณปัญญา แบบนี้มาพูดได้ พูดไม่ได้หรอก และท่านตรัสต่อประชาคมจริงๆ ไม่ใช่ตรัสเฉพาะ ส่วนตัว แบบแอบกระซิบว่า..นี่อย่าไปบอกคนอื่นนะ อยู่ตรงนี้นะ ไม่ใช่!

ที่อาตมาต้องพูดถึงนี้ ก็เพราะว่า พระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงงาน เอาแบบคนจน ท่านมาเสียสละ พระองค์เสียสละ อย่างจริงจังเลย แต่คนเข้าใจท่านไม่ได้ ท่านอยู่ในฐานะของ พระเจ้าแผ่นดิน ท่านมีทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านมีคนศรัทธา ท่านมีฐานะทางสังคม เป็นถึงพระประมุข ของประเทศ ก็จะต้องยกอะไรให้ท่าน ต่างๆ นานาสารพัด ซึ่งมันเป็นเรื่องของ สังคมศาสตร์ด้วย มันเป็นทั้ง รัฐศาสตร์ด้วย มันจะต้องเป็นเช่นนั้น ในโลก

วิสัยทัศน์
สัมมาอาชีวศึกษา

วันนี้ (๒๒ พ.ย.'๕๗) พ่อครูและปัจฉาฯอีก ๔ รูป จะเดินทางไปสันติอโศก ตั้งแต่ หกโมงเช้า ก็ไปถึงสนามบิน อุบลราชธานี ซึ่งยังอยู่ในช่วง ปรับปรุงอาคาร เนื่องจาก มีเหตุถูกไฟไหม้ ขณะนั่งรอขึ้นเครื่องบิน เด็กๆ สมุนพระราม ๑๐ กว่าคน ตามมาส่งพ่อครูด้วย

เด็กหญิงนักร้อง ประจำบ้านราชฯ นามว่า แด่แดนไพร หรือ หมวยเล็ก ที่ร้องเพลงโบราณ (ร้องไห้) มากับเขาด้วย พ่อครูเลยบอกสอน หมวยเล็กว่า เพลงโบราณ แบบนั้น เขาไม่นิยมร้องกันแล้ว... ว่าแล้ว พ่อครูก็ทำเสียงแงๆๆๆๆ ให้หมวยเล็กฟัง แล้วบอกหมวยเล็กอีกว่า นี่ต้องร้องเพลงนี้ถึงจะดี ว่าแล้วพ่อครู ก็ทำเสียงหัวเราะ ๕๕๕๕๕๕ ต้องเพลงนี้สิ ถึงจะดี เพลง ๕๕๕๕๕ พ่อครูก็ทำเสียง ร้อง ๕๕๕๕๕ อีกสองถึงสามที หมวยเล็กก็หยุดร้อง และฟังพ่อครู

อาอ้อย ที่เป็นคุรุอาชีวศึกษา สัมมาสิกขาวิชชาราม ราชธานีอโศก (ส.สว.) มาส่งพ่อครูด้วย ได้เรียนถามพ่อครู ให้ตั้งวิสัยทัศน์ของ ส.สว.ใหม่ เพราะของเก่า ยาวมาก อ่านแล้วก็ดี แต่ว่าจำไม่ได้ พ่อครูได้เมตตาให้วิสัยทัศน์แก่ ส.สว.ใหม่ว่า “การศึกษาที่ไม่ลดกิเลส กู้ประเทศไม่ได้” แต่เพื่อให้เกี่ยวเนื่อง การสัมมาอาชีวะ ที่มีเรื่อง กรรมการงานมาก ก็เลยตั้งให้ว่า “การทำงาน ที่ไม่ลดกิเลส กู้ประเทศไม่ได้”

และอาอ้อยบอกว่า เมื่อมี vision คือ วิสัยทัศน์แล้ว ก็ต้องมี mission หรือพันธกิจ พ่อครูก็บอกว่าเมื่อเรามีวิสัยทัศน์แล้ว พันธกิจก็คือ ทำตามวิสัยทัศน์ อย่างต่อเนื่อง ติดตามผล

จากนั้น ทั้งคุรุ และเด็กสมุนพระราม ก็กราบลาพ่อครู ส่งพ่อครูขึ้นเครื่องบิน มุ่งไปสู่สนามบิน ดอนเมือง กทม. ต่อไป

เมื่อถึงดอนเมือง ศิษย์เก่าสัมมาสิกขา นำรถมารับพ่อครู เข้าสันติอโศก สมณะเดินดิน ที่เดินทางไปด้วย เสนอว่า ถ้าเติมเป็น “การศึกษาที่ไม่ลดกิเลส กู้ตนและประเทศไม่ได้” จะดีไหม? ซึ่งพ่อครูก็เห็นด้วยว่า ต้องกู้ตนเอง ให้ได้ก่อนกู้ประเทศ ( ๒๒ พ.ย. ๒๕๕๗ )

เมืองมหาวิทยาลัย

ความล้มเหลวของสังคมไทยในทุกวันนี้ พ่อครูมองว่า ส่วนหนึ่งเกิดมาจาก การศึกษา ศาสตร์ทั้งหลาย กลายเป็นศาสตราอาวุธ ที่ผู้ศึกษาเล่าเรียน เอามาใช้ เป็นเครื่องมือ ที่จะใช้แสวงหาความได้เปรียบ ให้กับตน นอกจากนี้ การศึกษา ก็ยังเพิ่ม ความหลงตัวหลงตน ให้เป็นคน ไม่ติดดิน หยิบโหย่ง จนกลายเป็นว่า ยิ่งเรียนสูง ยิ่งหางานทำยาก เพราะมุ่งหมายที่จะเป็นเจ้า เป็นนาย เป็นใหญ่เป็นโต ทั้งๆที่ แค่ไปท่องมาจำมา แล้วก็พากันออกมา บริหารบ้านเมือง จนแทบจะพา บ้านเมือง เละเป็นโจ๊ก !

พ่อครูจึงได้ดำริ ให้มีการศึกษาทางเลือก มหาวิชชาราม นาวาบุญนิยม เน้นคุณธรรม และต้องทำงานเป็น ( “ศีลเคร่ง - เก่งงาน - ชำนาญวิชชา” ) ทำให้ ฝ่ายการศึกษา เกิดฟิตขึ้นมา คิดจะพัฒนาชุมชน ให้ยกระดับ ขึ้นเป็น “เมืองมหาวิทยาลัย” และคิดจะเอาการศึกษา เข้าไปแก้ปัญหา ฐานงานต่างๆ ในชุมชน

และฐานงานแรก ที่พวกนิสิต เข้าไปแก้ปัญหา ก็คือ “โรงสีชุมชน” แต่ก็ได้พบ อุปสรรค ในช่วงแรก จึงได้เข้ามารายงานปัญหา ให้พ่อครูได้ทราบว่า..... “การที่ทำอะไร ปุ๊บปั๊บ ไม่ค่อยๆ ปรึกษาหารือกัน ฐานงาน เขาไม่ไว้ใจ เขาเลย ไม่ปล่อยมือ เขาหัวเราะ ว่าเราทำอะไรเปิ่นๆ ทำอะไร ไม่รู้เรื่องรู้ราว เข้าไปแบบ เท็คโอเวอร์ (ยึดกิจการ) มันก็เลย เกิดการต่อต้านขึ้นมา ขอเสนอให้ วนบ. เข้ามาแบบอ่อนน้อมถ่อนตน เป็นสะใภ้ใหม่!”

พ่อครู : จริงๆ ยังเข้าใจกันไม่ได้ เดี๋ยวอาตมาจะต้องเทศน์ อย่างสำคัญเลยว่า เมืองมหาวิทยาลัย กินความอย่างไร อาตมาเคยพูด ไปแล้วว่า วนบ. มหาวิทยาลัย กับชุมชน มันกินความได้แค่ไหน? จะให้น้ำหนักความสำคัญ จัดเป็นสัดส่วน แยกกันกี่เปอร์เซ็นต์ อาตมาก็พูดแรง ยังจำได้ว่า ตัวเองตั้งใจ กระแทกเสียง ให้ดังเลย ให้หนักเลยว่า “มันรวมทั้งหมด!” ยังจำได้ เสียงนี้ได้กระทุ้ง มันรวมทั้งหมด นี่ก็หมายความว่า

มหาวิทยาลัย หรือว่าการศึกษานั้นน่ะ เป็นเพียงซีกหนึ่ง มหาวิทยาลัยและโรงเรียน ที่เรียนที่ทำการศึกษา นักเรียนและนิสิต เป็นซีกหนึ่งของหมู่บ้านราชธานี อย่าไปเข้าใจว่า วนบ. มหาวิชชาราม นี่คือ ใหญ่แล้วก็ไปคุม การบริหาร ไม่ใช่ มันเป็นตัวความรู้ส่วนหนึ่ง ของทั้งหมด ของราชธานีอโศก ตอนนี้อย่าสำคัญ ตนผิดว่า ตนเองเป็นผู้รู้ จะเข้าไปบริหารควบคุม อันนี้แหละไม่ได้!

ที่พูดกันว่า “ให้อ่อนน้อมถ่อมตน” ถูกต้องแล้ว แล้วก็ต้องทำตน ให้อ่อนน้อม ถ่อมตนได้จริง เพราะจะเข้าไปในฐานใด ฐานนั้นๆ นั่นคือเจ้าของสถานที่ เขาเป็นผู้ใหญ่ ต้องถือว่า เขาเป็นผู้ใหญ่ เราเป็นนักเรียน เราเป็นนักศึกษา เราไม่ใช่ ผู้ไปบริหาร จะต้องเข้าใจ ให้ชัดเจนถึงมุมนี้ให้ดีๆ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ มันยังไม่ได้เทศน์ อย่างสำคัญ อย่างชัดเจน ก็จะต้องค่อยๆ พูดไปให้เข้าใจ

ดังนั้น ผู้ที่มาเป็นนิสิต เป็นนักเรียน หรือเป็นนักศึกษาอยู่ ควรจะทำความเข้าใจ ส่วนชุมชนนี้ จะอาศัยเหมือนห้องแล็ป เป็นโซเชียล (social) แล็ป หรือ แล็ปของสังคม ทั้งหมด ไม่ใช่แล็ปที่สร้าง จุ๊กจิ๊กนิดเดียว มันขยายสเกล ของคำว่า มหาวิทยาลัย ออกไป ให้ไปเป็นเมือง ไปเป็นสังคมกลุ่ม ที่แท้จริง

แม้แต่เป็นงานเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่
ถ้างานนั้นๆ สามารถตอบโจทย์
ให้กับชุมชน หรือสังคมที่ตัวเองอยู่ได้

นับวันๆ กิจการ กิจกรรมของชาวอโศก ก็จะมีมาก เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ดูเหมือน คนที่จะทำงาน นับวันๆ ก็น้อยลง นับวันๆ อายุที่เหลือ จะทำงานก็ยิ่งน้อยลงไปอีก มีแต่หนุ่มน้อย สาวเหลือน้อย เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น นักทำงาน คงต้องคิดกัน แหละว่า กระสุนที่เหลือไม่กี่นัด ที่เราจะยิงออกไปนี้ เราจะยิงอย่างไร ที่จะทำให้ได้ เข้าเป้ามากที่สุด เป็นประโยชน์กับชีวิตตน และเป็นประโยชน์ กับสังคม ได้มากที่สุด

จะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ต้องเป็นงานที่ตอบโจทย์ ให้กับชุมชน ให้กับสังคมนั้นๆ ได้ เหมือนกับกรณี ที่บ้านราชฯ คนเก็บผัก จะเป็นคนที่ สำคัญมากๆ ของชาวชุมชน เพราะว่าคนส่วนใหญ่ ของชาวอโศก จะไม่นิยมการเก็บผัก เพราะว่ามันเหมือน ไม่ได้แสดงความสามารถ แสดงมีฝีมือของตนเอง ดังนั้นคนเก็บผักที่นี่ จึงยิ่งใหญ่ และสำคัญ ที่สามารถเลี้ยงชีวิตของคน ทั้งชุมชน แม้เขาจะไม่มี ความรู้มาก อาจจะจบแค่ ป.๔ หรือ ป.๖ แต่เขาก็ต้อง เลี้ยงด็อกเตอร์ เลี้ยงปริญญาโท เลี้ยงผู้มีการศึกษาสูง แม้แต่เลี้ยงสมณะ ได้อีกด้วย ใครๆ ก็อาศัยฝีมือของเขา ดำรงชีวิตอยู่ได้

อันนี้เห็นได้ว่า เป็นงานที่ตอบโจทย์ เพราะว่าในสังคม ไม่มีใครทำ ไม่มีคนนิยมทำ แต่งานนี้ มันเป็นงาน ที่แก้ปัญหาของชุมชน ทำให้เราอยู่กันได้ ในการทำงาน ตอบโจทย์นั้น เราอาจจะไม่เก่งกันก็ได้ แต่ว่าถ้าเราต่างวางแผน วางภพคือ ไม่ยึดที่ต้องให้ได้ “อย่างภพของเรา - อย่างแผนของเรา” ก็จะทำให้เกิดพลังรวม เป็นความสำเร็จ ที่ยิ่งใหญ่ได้

เหมือนอย่างพวกเรา ที่อยู่บ้านราชฯ จะช่วยกัน จัดงานเจ ทั้งๆที่พ่อครูบอกว่า คนอีสาน กับการกินเจ มันคนละซีกโลก มันไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันเลย แต่พลังรวมและองค์รวม ของพวกเรา ทำให้พี่น้อง ทางอีสาน ตื่นเต้น แห่มากินเจ แม้แต่วันสุดท้าย อะไรๆ ทำออกมา ก็กว้านซื้อไปหมด เหลืออะไร ทำออกมา ก็แย่งกันซื้อไปกินกัน อย่างไม่มีที่ไหน จะพากันขายดี อย่างนี้

ถ้าเปรียบเทียบแล้ว มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่า เอาเหล็กแหลม มาแทงปาก หรือตัดลิ้น เดินลุยไฟ ทำนองนั้น นี่เขาตัดลิ้น ที่เขาชอบกินเนื้อสัตว์ แล้วเขายัง ตื่นเต้น กับการกินเจ ได้ด้วย สิ่งนี้น่าจะเป็น อนุศาสนีปาฏิหาริย์ ของพุทธ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งถ้าย้อนทบทวน ระลึกดูการเริ่มต้น ของคนบ้านราชฯ ในยุคเริ่มต้น เราต้องทำสงคราม การต่อสู้ทางความคิด ระหว่างฝ่ายเศรษฐกิจ กับฝ่ายจิตวิญญาณ เป็นกลุ่มใหญ่ๆ พอๆกัน เพราะทุกคนก็เก่ง ทุกคนต่างก็มีแผน - มีภพของตนเอง

เราต้องเหน็ดเหนื่อย กับการต่อสู้ทางความคิด แต่ว่าเหตุการณ์นั้น ก็เป็น ประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาแล้ว แต่ต่อมา เมื่อต่างฝ่าย ต่างมายอมรับ ความจริงกันว่า เราเองแต่ละฝ่าย ไม่เก่งอะไรกันนักหรอก เราน่าจะมา รวมพลัง กันดีกว่า มีการเรียกร้อง ให้ช่วยกันวางแผน - ช่วยกันวางภพ แล้วออกมาพบกัน เอาพลัง มารวมกัน ทางคนบ้านราชฯ ก็สามารถที่จะจัดงาน รวมพลังงานเจ ได้อย่าง น่าอัศจรรย์ แล้วน่าเสียดายว่า งานเจนี้ เป็นงานที่ชุมชน ของชาวอโศกต่างๆ ไม่น่าจะพลาด เพราะว่า เราจะได้ญาติพี่น้อง เพิ่มขึ้น คนที่มากินเจ ถือว่าเป็นญาติ ที่ใกล้ชิดเรามาก ที่เขาจะมีโอกาส ได้เข้าใจ “โลกุตตระ” ได้ง่ายมากเลย ถ้าเขามีโอกาส ได้มากินเจ จิตใจเขาจะอ่อนโยน จะปลูกฝังคุณธรรม ให้ได้ง่ายมาก

เมื่อเร็วๆ นี้ทางเราได้สร้างอาคาร “มหาราม” ซึ่งได้ติดต่อ สถาปนิก จากข้างนอกมา เขาประกาศตัวเลยว่า เขาเป็นลูกศิษย์ของที่นี่ เพราะเขาไปกินเจ อยู่ทุกปี นี่ก็เป็นเพราะ เขาเคยไปกินเจกับเรา ก็มีอานิสงส์กับเราแล้ว ปกติการเขียนแบบ เขาก็ต้อง คิด ๓-๕ % ถ้าแบบเขียนราคา ๙๐ ล้าน เปอร์เซนต ์การเขียนแบบ ก็จะเป็น ๒-๓ ล้าน ทีเดียว แต่ว่าในความเป็น ลูกศิษย์ของที่นี่ เขาคิด สามสี่แสน ก็พอ นี่ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าคนที่ผ่านการกินเจ เขาจะรู้สึก มีวิญญาณสัมพันธ์ มีความผูกพันกับเรา

ดังนั้น ยัญพิธีงานเจ จึงเป็นงานที่เหมือนกับ เรารวมพี่รวมน้อง ที่ยังต้องอยู่ รอบนอก ให้เข้ามาใกล้ชิดเรา มากขึ้น อาตมาได้คุยกับพวก ดีเจเสื้อแดง กลุ่มดีเจต้อย เขาบอกว่า สิ่งหนึ่งที่เขา ต้องยอมรับเรา ก็เพราะว่า ถ้าเราทำคนเดียว เขาตัดสินได้เลยว่า....บ้า! แต่เขาเห็นคน มากินเจ มืดฟ้ามัวดิน เป็นหมื่น หลายหมื่น คนนี่ เขาก็ยอมรับว่า อันนี้ไม่บ้าแล้วหละ มันเป็นสิ่งที่ เขาจะต้อง ให้การยอมรับ กับขบวนการของเรา ที่เขาดูว่าเหมือนกับ พวกแหวกโลก ไม่สอดคล้องกับเขา แต่เมื่อมีคนทำ เป็นพันเป็นหมื่นคน เขาก็ปฏิเสธไม่ได้

อาหารมังสวิรัติ จึงเป็น “บุญญาวุธ หมายเลข ๑” ที่พ่อท่านฯ ชูธงขึ้นมา แต่ก็เป็นที่ น่าเสียดายว่า หลายๆชุมชนของเรา ไม่สามารถรวมพลังกันได้ นับวันๆ เทศกาล งานเจ ก็ค่อยๆ แผ่วลงไป แม้แต่ชุมชนใหญ่ๆ ก็ค่อยๆ จางหายไป เพราะการที่ ไม่สามารถ รวมพลังกันได้ ต่างคนต่างมี ภพของตัวเอง ต่างคน ต่างมีแผน ของตัวเอง และต่างคน ต่างก็อายุขัย ก็ร่วงโรยไป ตามลำดับ

สรุปแล้ว “ศาสนาคือพลังที่รวมสังคม อันใดที่ไม่ได้เป็นไป เพื่อความร่วมกัน รวมกันนั้น ไม่ใช่ศาสนา” ดังนั้น งานศาสนา เราจะต้อง คำนึงกันว่า งานศาสนา คือเป็นงานที่วางแผน วางภพแล้วเอาพลัง มาพบกัน ออกจากภพ มาพบกัน จึงจะทำให้สามารถ สร้างสิ่งมหัศจรรย์ ให้เกิดขึ้น ในโลกนี้ได้ แล้วเราจะเป็น “บุรุษแห่งการงาน” ที่สำคัญ! เพราะพ่อครูเคยให้ โศลกธรรมไว้ว่า บุคคลที่รู้ ความสำคัญ ในความสำคัญ เขาย่อมเป็น คนสำคัญ เพราะงานที่เขาทำนั้น เป็นงานที่ตอบโจทย์ เป็นงานที่แก้ปัญหา ชุมชนอย่างยิ่ง เป็นงานที่ชุมชน ขาดเขาไม่ได้เลย เพราะเขาเป็นนักวางแผน นักวางภพ แล้วออกมาพบ รวมพลังกัน เพราะงานศาสนา คือการร่วมกันรวมกัน นั่นเอง

โอวาทวันออกพรรษา... สำหรับผู้มีหวัง!
ในวันออกพรรษา ก่อนจะได้ทำพิธี ปวารณา ในหมู่สมณะ ที่จำพรรษาร่วมกัน ที่พุทธสถาน ราชธานีอโศก พ่อท่านฯ ได้ให้โอวาทกับหมู่สงฆ์ มีใจความสำคัญ ดังนี้

ชีวิตที่อยู่ได้โดยอาศัยซึ่งกัน เรียกว่า “ปรปฏิพัทธา เม ชีวิกา” เป็นชีวิตเนื่องกัน อยู่ด้วยกัน อาศัยกันไป นักบวชอาศัยฆราวาส ฆราวาสอาศัยนักบวช ทางธรรม อาศัยซึ่งกันและกัน ทางโน้น ก็ดูแลสมณะ เลี้ยงดูเอาไว้ ในเรื่องของวัตถุ ส่วนธรรมะ ก็เป็นหน้าที่ของสงฆ์ สงฆ์ก็หน้าที่ รักษาธรรมะไป มันก็ควรที่สงฆ์ จะต้องปฏิบัติ ให้บรรลุมากๆ

แต่จริงๆ แล้ว แม้ในสมัยพระพุทธเจ้า ก็มีฆราวาส เป็นอรหันต์มากกว่า เป็นโสดาฯ ไม่ต้องพูด โสดาฯ เยอะมากมายกว่า เพราะว่ามีประชาชน พลเมือง มากกว่านักบวช อยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีนักบวช ถ้าไม่มีนักบวช ก็ไม่มีแก่นแกน เมื่อเรามาบวชแล้ว เราก็ต้องพยายาม พากเพียรปฏิบัติตน ให้มันบรรลุสูงสุด เพราะว่ามันจะได้พิสูจน์ ยืนยันว่า ธรรมะพระพุทธเจ้าที่เป็นอาริยะบุคคล สูงสุดน ี้ยังมีอยู่ เป็นไฉน เป็นอย่างไร และพวกเราผมเอง ผมเชื่อว่า พวกเราเข้าใจ

ผมบรรยายมามากมาย ขนาดนี้แล้ว พวกเราก็คงจะเข้าใจ ยิ่งตอนหลังๆนี้ ถ้ายิ่งได้มาฟัง รายละเอียด ในการปฏิบัติ ได้ติดตามฟังมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะเข้าใจ ได้ชัดเจน มากขึ้น แต่พวกเราก็ไม่ค่อย จะเห็นสนใจ สมณะก็ไม่เห็น ค่อยสนใจ เท่าไหร่ คิดเปอร์เซ็นต์แล้ว สู้สิกขมาตุ ยังไม่ได้เลย สิกขมาตุมีไม่กี่รูป แต่ละคราวๆ ยังมีสิกขมาตุ ไปนั่งฟัง ๔๐, ๕๐, ๖๐% สมณะมีไม่ถึง ๑๐ % มานั่งฟัง ไม่รู้หายไปไหนหมด

ในด้านปริยัติ ถ้าเผื่อว่าไม่มีใคร สามารถบรรยายได้ ก็แล้วไป แต่ถ้ามีผู้บรรยาย มีผู้อธิบายให้ลึกซึ้ง ให้ซับทราบได้ มันย่อมเป็นประโยชน์ เพราะฟังธรรมแล้ว บรรลุธรรมได้ ไม่ใช่ฟังธรรมแล้ว มันก็ได้แต่ปริยัติ ฟังธรรมแล้ว ก็บรรลุธรรมได้ เทศนาเอง บรรลุธรรมก็ได้ ในขณะเทศนา เกิดการใช้ ญาณปัญญา หรือว่า จะพิจารณาธรรม จากสมาธิไปในตัว มันก็บรรลุธรรมได้ ทั้งนั้นแหละ

จริงๆแล้วผู้ที่มีธรรมะ หรือว่าเป็นธรรมะ อยู่ในเนื้อ มันจะอยู่กับธรรมะ ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ มันก็จะเป็นธรรมะ ไปอยู่ทุกขณะ ถ้าผู้ใด รู้สึกว่า ทุกๆขณะ มีแต่ธรรมะ ดำเนินไป อย่างนั้น มันก็มีหวัง! ผู้ใดรู้สึกตัวว่า อะไรๆ เราก็เป็นธรรมะ จะเดินจะย่าง จะไปจะมา มันก็เป็นธรรมะ มันมีสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ อยู่กับธรรมะ ตลอดเวลา มีโพชฌงค์ มีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมวิจัยสัมโพชฌงค์ อยู่ไปเรื่อย มีสติปัฏฐาน ๔ มีสัมมัปทาน ๔ พร้อมไปเลย อิทธิบาท เกิดมาก หรือน้อย แล้วแต่ใคร ใครมีอิทธิบาทมาก ก็ต่อเนื่องมาก

ถ้าเผื่อว่าถึงขั้น เข้าสู่สถานะ ผู้ที่เข้าไคล์ (ใกล้บรรลุ) แล้วมีธรรมะอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ และผู้นี้ก็หวังได้ บรรลุสุดยอดได้ เพราะว่ามันถึงเวลาวาระ มันจะเป็นจริง เป็นไปตามสัจธรรม มันเป็นธรรมชาติ ของผู้ที่มีธรรมะ มันจะอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราจะต้องพากเพียรปฏิบัติ ให้มันเดินทาง เข้าไปเรื่อยๆ ไม่งั้น ก็เสียเวลาเยอะ!

                 กองงานปัจฉาสมณะ

สารอโศก เล่ม ๓๓๖ ต.ค.-พ.ย.๕๗ หน้า ๔๑-๕๙