สังคมมนุษย์ก็จัดพิธีกรรม ในวันสำคัญต่างๆ มาร่วมพัฒนาทำสิ่งดี ให้เจริญ ในทางโลก ต้องการให้คนมารวมกันมากๆ ก็ใช้เครื่องล่อ เครื่องเล่น เอากิเลสจูงใจคน ให้มาร่วมกันมากๆ คนก็มา แต่พอหนักเข้า แทนที่จะได้การสร้างสรร กลับเรื้อกัน ไปเอาแต่สนุกสนาน คนทำ คนมา ก็ไม่รู้เป้าหมายสาระ มาแต่เอิกเกริกเฮฮา หยำเป ก็ไม่ได้เรื่อง คำว่าสนุกสนาน เป็นคำที่สำคัญ เพราะคำว่าสนุกสนาน เพลิดเพลิน เอร็ดอร่อย เป็นรสกาม รสความใคร่อยากของมนุษย์ ที่ได้บำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เสร็จแล้วก็สมอุปาทาน สมกิเลสที่ไปติดยึด ก็เกิดผลสังขารกัน แล้วก็ไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้ศึกษาศาสนา ก็สังเคราะห์ปรุงแต่งสังขาร เป็นรสชาติ อยู่ตราบนิรันดร์ ผู้ไม่ศึกษาศาสนา จนถึงขั้น รู้ความเป็นกาม คือความใคร่อยาก แล้วแสวงหามาบำเรอ ความใคร่อยาก ก็เป็นทาสกาม อยู่ตลอดกาลนาน
วันนี้วันมาฆะบูชา ๒๕ ก.พ. ๕๖ พวกเรามาบัดนี้ ก็รู้ธรรมะที่พ่อครู ได้พากเพียรบรรยายได้มากขึ้น ธรรมะพระพุทธเจ้า เป็นของที่ไม่ลึกลับ เป็นไปได้ เป็นสวากขาตธรรม สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ
ต้องเอาตัวเองมาปฏิบัติ (สันทิฏฐิโก) ยุคไหนก็ปฏิบัติได้ (อกาลิโก) ข้อสำคัญ ต้องสัมมาทิฏฐิ สามารถยืนยัน ให้ใครดูได้ เชิญหรือท้าทาย ให้มาพิสูจน์ได้ เป็นดอกฟ้า ที่หมาวัดควรเอื้อม (โอปนยิโก) เป็นสิ่งสูงที่แม้เราจะต่ำ ก็ควรเอาให้ได้ จะเกิดกี่ชาติก็ตาม ควรได้ที่สุดคือ อาริยธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ อาริยสัจ ๔ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ไหนๆ ก็ตรัสรู้อันนี้ เป็นสูตรสมบูรณ์
ความรู้อันนี้ ก็ได้ประกาศออกไป แล้วก็ใช้ได้ระยะหนึ่ง ต่อมาก็เพี้ยนไป มีภาษาเดิมอยู่ แต่เอาความเห็น ความเข้าใจของตนไปใส่ จนเพี้ยนออกจาก เนื้อแท้ของพุทธ เรียกว่า ได้มิจฉาผล เพราะไม่มีสัมมาอาริยมรรค ไม่มีผลจริงที่เห็นได้ว่า ศาสนาพุทธจริงๆ เป็นศาสนาสังคม มีโลกะวิทู มีความรู้ความเข้าใจโลก (รู้ชัด รู้ดีด้วย) และมีโลกุตรธรรม อยู่เหนือโลกีย์ ได้อย่างแท้จริง อยู่เหนือแต่ไม่ข่มเบ่งโลกีย์ แต่เข้าใจ เห็นใจ เมตตาด้วย ช่วยให้เขาพ้นทุกข์อย่างเราบ้าง ให้เขามีสุข พหุชนะสุขายะ
ซึ่งไม่ใช่สุขโลกีย์ ในโลกุตระก็ใช้คำว่าสุข แต่จริงๆไม่สุขอย่างโลกีย์ ที่เขาสุขอย่างบำเรอ ตัณหาอุปาทาน ได้สมที่ต้องการก็สุข ได้บำเรอทวารนอกก็สุข แต่กิเลสก็โตก็อ้วน เมื่อมีการกระทบทวาร ก็เกิดอารมณ์ชอบใจไม่ชอบใจ แล้วคนก็แย่งชิงกัน ไปบำเรอใจตนเอง ตามกิเลสบงการ ตามที่เรายึด ตามสเปค ของใครก็ของมัน ได้ก็สมใจ แต่มันหลอก ตัวสุขนี้เป็นตัวล่อ ให้คนหลงว่ามันจริง ถ้าไม่ได้ก็แห้งเหี่ยว โหยหา หมดชีวิตชีวา เขาก็ปรุงแต่งกันจัดจ้าน หลอกล่อ ปรุงไม่หยุดหย่อน จัดจ้านวิตถารมากมาย ไม่ว่าจะให้ได้สมกาม หรืออัตตาก็ตาม
เขาไม่เข้าใจ ไม่เชื่อ ว่าคนจะไปทิ้งมันทำไม ได้ลาภยศมา ก็ต้องยินดี ถ้าได้มาก็เฉยๆ ไม่ต้องไปแย่งชิง จะไปคิดอย่างนั้นทำไม เขาคิดว่าได้ยศมาก็ดี ได้อำนาจมาก็ดีสิ เรื่องอะไร ต้องไม่อยากได้ เรื่องสรรเสริญ เขามาว่าเราดี มันก็ดีสิ คนก็เอาความคิด แบบโลกีย์สามัญมาคิด อธิบายออกนอกไม่ได้ ทวนกระแสไม่ได้ การได้มาบำเรอทวาร ๖ หาทางเอามาให้ได้ รุนแรงทำลายยังทำ เลวร้ายก็ทำเพื่อสมกิเลส ในยุคไหนก็ทำกันเช่นนี้ ยุคนี้ยิ่งชัด เห็นง่าย มโหฬารพันลึก
ผู้ที่จะมีภูมิธรรม จะรู้แจ้งเห็นจริงว่า เราต้องลดละ ปล่อยวางออกมา แล้วจะเห็นคุณค่า ของการลดละ ว่าดีอย่างไร จะเป็นปัญญาของ ผู้ที่ได้รู้แจ้งเห็นจริง อย่างไม่ต้องให้ใครบอก คนอื่นบอก ก็ไม่เท่าเราเห็นเอง จะตรงหรือไม่ก็ตาม เราก็เห็นเอง
คำสอนพระพุทธเจ้าคือ ให้เรียนรู้ตัวกิเลสไปเป็นลำดับ ตั้งแต่อบาย เป็นเริ่มต้น แต่ทุกวันนี้ เขาไปตัดลัด เอาแต่ภายใน แต่ภายนอกที่หยาบนั้น ไม่ศึกษา ซึ่งการศึกษาปรมัตถ์ ไม่ว่าหยาบ กลางละเอียด ก็ต้องมีสัมผัสภายนอก เพื่อเรียนรู้ อาการใคร่หยาบ ที่เรียกว่า กาม เป็นตัณหาเบื้องต้น แล้วค่อยไล่ไปหา ภวตัณหา คือตัณหาข้างใน เป็นรูปภพ อรูปภพ เรียนรู้ตัณหา มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ซึ่งเขาไม่เข้าใจในวิภวตัณหา ว่าคือ ความต้องการล้างภพชาติ เมื่อล้างกามในกามภพแล้ว ผู้ที่บรรลุกามภพ บรรลุกามราคะ ดับกิเลสได้จริง ตั้งแต่อนาคามี เป็นต้นไป แม้จะเป็นอนาคามี ก็รู้จักกามาวจรภูมิ คือภูมิที่ ดำเนินไปกับทวาร ๕ ก็มีการสัมผัสกระทบ แต่ท่านรู้ทันหมด ว่ากิเลสมันเกิดจาก ทางทวาร ๕ แต่ท่านก็ดับกิเลสได้หมด เรียกว่านิโรธ ดังนั้น ผู้ที่ได้ชื่อว่ามี โลกนิโรธ ก็คือ พระอนาคามี เป็นต้นไป แต่เขาเข้าใจผิด ว่าไปนั่งหลับตา มีนิโรธภายใน ซึ่งเป็นทางผิด ที่บอกนี้ ไม่ได้มีเจตนา ยกตนข่มท่าน แต่เลี่ยงไม่ออก ก็ต้องชี้ให้ชัด ให้รู้เรื่อง แต่ไม่ได้มีจิตที่จะไปข่มเบ่ง ยกตนเหนือ ไม่มีจิตลามก แต่ทำด้วยเมตตาสงสาร แต่ท่านที่ไม่เชื่อ ก็ห้ามท่านไม่ได้หรอก
พระอนาคามี ถ้าล้างกามาวจร จนสามารถดับกิเลสกามได้เลย ถึงขั้นดับกามได้สุด เรียกว่า กามาภิพู แปลว่า ผู้ชนะกาม ผู้ครอบงำความใคร่ ได้เสร็จ นั่นคือ ผู้มีภูมิขั้นอนาคามี เป็นต้นไป ผู้ที่สามารถดับกามได้ ก็อยู่กับโลกธรรม กับกามคุณ เขานี่แหละ ไม่ได้หนีไปไหน ซึ่งเราอยู่ แล้วเราให้เขา เขาก็ยิ่งจะให้เราอีก ถ้าความสามารถเรามี เขาก็จะยิ่งให้เรา เพราะเราจะขยัน สร้างสรร สิ่งที่เขาควรมีในโลก ที่เป็นประโยชน์ เราก็จะสร้างสรรให้คนอื่น แจกจ่ายเจือจานเกื้อกูล ก็ยิ่งได้กลับมามาก เป็นการทดสอบใจ ผู้ที่บรรลุด้วย จะไม่ตื่นเต้น ยินดียินร้ายใดๆ แล้วก็จะสละออก ให้คนอื่นอีก เป็นพุทธเศรษฐศาสตร์ ที่สุดยอดเลย
ยกตัวอย่างอโศก มีพาณิชย์บุญนิยม คือมันทวนกระแสทุนนิยม ที่เขาต้องได้กำไร สูงสุดให้ได้ แต่บุญนิยม จะขาดทุนให้ได้มากที่สุด เอาไว้ให้น้อยที่สุด แต่อยู่ได้ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จ ในการทำการค้า ดังที่เราได้เอา พระราชดำรัสในหลวง ว่า แบบคนจน ทุกวันนี้ มั่นใจว่า ไม่ได้หลงไป เพราะพวกเราทำได้จริง ยิ่งชัดว่า ขาดทุนของเรา คือกำไรของเรา ยิ่งชัดอีก ทุกวันนี้ สังคมตีไม่แตก แต่ค้านแย้งในหลวงไม่ได้ เราจึงมีสิ่งยืนยัน ทั้งของในหลวง และของพระพุทธเจ้า ยืนยันว่า เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ที่ไม่ต้องไปทำงาน ลาภแลกลาภ พ้น ลาเภ น ลาภัง นิชิคิง สนตา ในมิจฉาชีพ ข้อที่ ๕ ของการมีสัมมาอาชีวะ ถ้ายังทำงานเพื่อ ให้ได้สิ่งตอบแทนอีก นั่นคือไม่พ้น ลาภแลกลาภ แต่พวกเรามีทำให้ฟรีเลย ในงานประจำชีวิต สามารถให้คนอื่น อย่างไม่ต้อง รับสิ่งแลกเปลี่ยนเลย ในสาธารณโภคี เลี้ยงดูกันไป มีสาราณียธรรม ๖ พุทธพจน์ ๗
ตามมรรคองค์ ๘ ท่านได้ตรัส ถึงการเรียนรู้ ถึงขั้นทำใจในใจ เรียกว่า มนสิการ หรือ มนสิกโรติ ในการจัดการทำใจ ให้กิเลสลด กิเลสดับทำอย่างไร จะรู้จะแยกแยะได้อย่างไร จะชัดเจนอย่างไร จนถึงขั้น รู้สังขาร ที่เรียกว่า วจีสังขาร คือการสังขารในใจ ถ้าเรารู้แล้วว่า มันมีการปรุงข้างใน เป็นคำพูด เป็นเรื่องราว แต่ยังไม่เป็นวจีกรรม มีแต่ในใจ เป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเรียนรู้ ถึงขั้นนี้ รู้อาการ ลิงค นิมิต อุเทศ ถึงนามธรรม ตัวจิตที่เป็นองค์ประกอบกัน เรียกว่า เห็นด้วยปัญญา คือ ยถาภูตัง สัมมัปปัญญายะ ปัสสโต ยถาภูตัง คือเห็นตามจริงว่า มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่อย่างไร อ่านสภาพนั้น อย่างเห็นความจริง ตามความเป็นจริง ที่แจกเป็น วิปัสสนา เป็นวิชชาหนึ่ง ในวิชชา ๘ ประการ ต้องเห็นตั้งแต่โสดาบัน เริ่มแยกออกว่า นี่คือกาม นี่คือพยาบาท ซึ่งกามและพยาบาท คือมิจฉาสังกัปปะ ซึ่งมีสาม (อีกอันคือวิหิงสา ก็คือขั้นกลาง ปลาย ของกาม และพยาบาทนั่นเอง) ให้หมดเกลี้ยง เรียนรู้ลักษณะของกาม พยาบาท คือลักษณะดูด ลักษณะผลัก เป็นพลังงานทางจิต รู้โดยใช้ อาการ ลิงค นิมิต อุเทศ อุเทศคือการยกเอาสภาวะ ออกมาเป็นภาษา เป็นคำความ ดังที่กำลังพูดอยู่นี่ เมื่อฟังเข้าใจ เราก็ต้องไปปฏิบัติ โดยอ่าน อาการ ลิงค นิมิต นิมิตคือเครื่องหมาย เราจะหมายรู้ว่า นี่คือกาม นี่คือพยาบาท ซี่งจิตนั้นไม่มีสรีระ (อสรีรัง) มันเป็นนามธรรม เห็นด้วยญาณ หรือสัญญาของเราทำ กำหนดหมายรู้ เกิดเป็นปัญญา ซึ่งสัญญา จะเป็นตัวทำงานตลอด ให้รู้จักอาการกาม มันขึ้นมาอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นสัญญาณก็เป็นคำนาม เช่น สัญญาณทางไฟฟ้าวิทยุ มันเป็นอรูป ไม่มีสีสัน แต่ก็หาวิธีสัมผัสได้ วัดค่าได้ แต่ของพุทธ ไม่ได้ตั้งค่าเหมือนฟิสิกส์ ที่เขาตั้งค่าละเอียดให้รู้กัน แต่เราต้องกำหนด อ่านรู้ของตนเอง ให้ฝึกในขณะที่มี ทวาร ๖ นี่แหละ
ตอนนี้พ่อครูก็สอนในเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ที่มีการสัมผัสรู้ภายนอก ทางทวาร ๖ แล้วต่อเนื่อง ไปสู่ในใจ ที่พ่อครูอธิบาย ยังไม่ต่อเนื่องคือ เมื่อพระอนาคามี ดับกิเลสกามแล้ว แม้จะเจอ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ทางทวาร ๕ ท่านสัมผัสอยู่ ท่านก็ไม่สุขไม่ทุกข์ ท่านไม่ต้องหนี ท่านรู้โลกะวิทู ท่านไม่เป็นทาสมัน อะไรที่จะพออาศัย ในรูป เสียง กลิ่น รสก็ดี สัมผัสอะไร ที่พออาศัยใช้ ท่านก็ใช้ แต่ท่านไม่ได้มีอาการเสพ ท่านไม่ได้เกิดรสอร่อย เพราะอัสสาทะ ดับสนิทแล้ว ท่านเหลือแต่สังโยชน์ชั้นใน ที่เป็นภวานุสัย ท่านดับกามานุสัยได้แล้ว ยังเหลือแต่ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ท่านก็ยังต้องสัมผัสทาง ทวาร ๕ อยู่ ท่านอยู่ในกามาวจร แต่ท่านมีโลกุตรภูมิ สำหรับกามแล้ว เมื่อกระทบสัมผัสแล้ว ถ้ารูปราคะยังมีอยู่ มันก็เกิดให้เห็น เมื่อมีสัมผัส ในขณะผัสสะสดๆเลย ก็เกิด รูปราคะ อรูปราคะ ให้เห็นได้เลย แม้จะดับได้อีก เหลือแต่มานะ อุทธัจจะ อวิชชา คืออรหัตมรรค ก็ยังต้องมีการสัมผัสอยู่ ปฏิบัติขณะมีผัสสะอยู่ ท่านยังเหลืออุทธัจจะ ซึ่งเข้าข่ายอรูปฌานแล้ว อุทธัจจะคือของเล็กน้อย ส่วนเหลือ ที่เราต้องอากิญจัญญะ นิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ก็ไม่ให้มี แม้อวิชชา นิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ก็ไม่ให้มี ให้พ้นอวิชชาสังโยชน์ พ้นอวิชชาสวะ นี่คือ พ้นเนวสัญญานาสัญญา ยตนะสัญญา ต้องใช้สัญญา ในการกำหนดหมาย ทางทวารทั้ง ๖ อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้แยกออกจาก ชีวิตประจำวันเลย แม้บรรลุถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ ก็ยังลืมตาอยู่ แต่กิเลสดับสนิท ไม่เกิดเลย เห็นอยู่โทนโท่ เรียกว่า รู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริง คือ ยถาภูตัง สัมมัปปัญญายะ ปัสสโต ไม่ได้หมายความว่า หลับหูหลับตาเลย มุมนี้ให้เป็นของขวัญ วันมาฆะบูชาเลย
เป็นสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน ที่เขาทิ้งไปแล้วไปนั่งหลับตา แต่พ่อครูให้มา ลืมตาปฏิบัติ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี่แหละ ซึ่งมีหลักฐานอยู่ ในพระไตรปิฏก เล่ม ๑๖ วิภังคสูตร
[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชราและมรณะเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่าชรา ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความทำลาย ความอันตรธาน มฤตยู ความตาย กาลกิริยา ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า มรณะ ชราและมรณะ ดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่า ชราและมรณะฯ
ถ้าเราดับชาติได้ ชรา มรณะก็ไม่มีแล้ว เราเอาคำว่าชาติให้สำคัญ
[๗] ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิดความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่าชาติฯ
ซึ่งที่เขาแปลมา มันให้ความหมายได้ไม่ชัดเจน ต้องดูพระบาลี จึงจะทำให้แยกแยะ สภาวะได้ชัดคือ
- ชาติ แปลว่า ความเกิด
- สัญชาติ คือความบังเกิด
- โอกกันติ คือ เขาแปลว่า ความหยั่งลง พ่อครูแปลว่า ความเกิดที่ต่อเนื่อง ตรงข้ามกับคำว่า ขณิกะ(คือขณะ) แต่ถ้ามันต่อเนื่องไม่มีขาด คือผู้บรรลุสูงสุด ไม่มีตัวอกุศลมาคั่น จะมีแต่กุศลต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย
- นิพพัตติ คือ ใกล้กับคำว่า นิพพาน คือการเกิดอย่างลดกิเลสได้ อันหนึ่งตาย อีกอันหนึ่งเกิด อกุศลจิตตาย กุศลจิตก็เจริญขึ้น นักวิทยาศาสตร์เขาเถียงกันว่า แสงเป็นควันตัม กับ แสงเป็นโฟตอน ซึ่งทั้งไม่ขาด และไม่เป็นก้อน แต่ต่อเนื่องกันไป นิพพัตติ คือการเกิดในจิต ที่เรียกว่า โอปปาติกโยนิ
- อภินิพพัตติ ท่านแปลว่า เกิดจำเพาะ แต่พ่อครูแปลว่า เกิดสูงสุด คือมันเกิดอย่าง แข็งแรงถาวร อภิคืออย่างยิ่ง อย่างยอดเยี่ยม เราจะเห็นอาการเหล่านี้เกิด
ถ้ารู้สภาวะ ก็จะอ่านรู้ได้ มีอนุปัสสี ตามเห็นกิเลสจางคลาย ตามเห็นมันดับ จะทำทนทำซ้ำ รักษาผล อาเสวนา ภาวนา พหุลีกัมมัง ให้เกิดผลเช่นนี้ ทำเกิด ทำดับได้ ทำภาวนาคือ ให้เกิดผล ทำให้มาก แล้วก็อ่านจิต ให้แข็งแรงมั่นคง
[๘] ก็ภพเป็นไฉน ภพ๓ เหล่านี้คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ นี้เรียกว่าภพฯ
ถ้าปฏิบัติจนเข้าถึงโลกุตรภูมิได้ ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค คุณก็จะเหนือโลก อยู่กับโลก แต่กิเลส ทำอะไรคุณไม่ได้ ซึ่งในโลกุตรภูมิ ๙ มี โสดาฯมรรค โสดาฯผล สกิทาฯมรรค สิกทาฯผล อนาคาฯมรรค อนาคาฯผล อรหัตมรรค อรหัตผล และนิพพาน
ในกามาวจรภูมิ คือชั้นหรือระดับ ที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกามภพ เรียกว่า กามาวจรภูมิ อวจรคือมันยังอยู่ คือยังดำเนินบทบาทลีลาอยู่ กับโลกกาม แต่อยู่เหนือโลกกาม
กามรสคือรสของกาม คือจิตที่ยังเสพอยู่ ยังมีอาการรสชอบชื่นใจ เสพสุขในกามรส เราสัมผัสก็จะอ่านกามรส ไม่ได้หมายความว่า กามคือตาบอด กามคือไม่มีความใคร่อยาก ไม่มีการเห็นทางตา หู จมูกลิ้นกาย เห็นเป็นกามโทษ คือมันมีตากระทบรูป หูกระทบเสียง ลิ้นกระทบรส จมูก กาย ก็มีความชื่นใจชอบใจ ความชื่นใจก็คือทวารที่ ๖ คือใจ ก็มาจากทวารทั้ง ๕ นั่นแหละ เป็นอุปาทายรูป หรือเป็นวิญญาณเลย พอชื่นใจ ก็เป็นเทวดาสุขขัลลิกะ คือมีกามรส
ต่อมาคือ กามานุสารี คือผู้มีใจเยื่อใยใฝ่กามอยู่ ยังมีน้องแน้ง จนกว่าจะเรียนรู้ ลดละได้ นึกว่ามันจะขาด มันก็ยังมีน้องแน้งอยู่ หรือมันตามติดเลยไม่ขาด คุณก็ต้องรู้ตัวว่า เรานี่มันตามแจ หรือมันลดลง เหลือเพียงพริ้วพราย ถ้าใช้อนุสารี แล้วก็ตามมีสาระ
คำต่อมาคือ กามาทิกรณะ หมายความว่า มีกาม มีความใคร่ เป็นเหตุให้เกิดเรื่อง เกิดเรื่องอะไร เช่น ฆ่าผัวมันเสีย เอาเมียมันมา เอาบ้านเมืองมาให้ได้ เอาแผ่นดินตรงนี้ แล้วจะได้ ทรัพยากรทางทะเล เป็นเรื่องเพราะยังมี ความใคร่อยาก กามทำให้เกิดเรื่อง คนที่หมดกามแล้ว ไม่อยากไปมีเรื่อง
ต่อมาคือ กามาวจรกิริยา คือจิตที่มีกิริยาของอาการเสพกาม คือกิริยาของกามาวจร ยังอยู่ในแดนของ กามคุณ
ต่อมาคำว่า กามาวัฏฏะ คือความวนเวียนอยู่ ในเรื่องของกาม พอได้เสพก็สบาย ก็พักยก แล้วก็มาเวียนเสพใหม่ เกิดเป็นสวรรค์ปลอม นรกจริง วนเวียนไป นรกจริง เพราะมันฝัง เป็นอุทาทาน แต่สุขปลอมนั้น มันแค่ชั่วสัมผัส พอเลิกสัมผัสก็หมดไป ฝังเหลือแต่อุปาทาน ทำให้ทุกข์จริง ฝันเองปั้นเอง ก็เอาแต่ของแห้ง มานึกคิดเอา ซึ่งไม่ใช่รสจริงๆ
คำต่อมาคือ กามาวจรวิปาก คือเป็นผลของกามาวจร คือมันสั่งสม เป็นผล ตกเป็นกามภพ ก็เกิดจากการบำเรอ ตกเป็นวิบากสั่งสมไป เรารวยกามจนเต็มถัง มันใหญ่ หนาอ้วนโต คุณจะรู้ว่า เราสั่งสมกาม
ต่อมาเป็นกามุปาทาน ก็มันยึดไว้ ถ้าภาษาปากก็ว่า ยึดไว้ทำไมปล่อยเสียสิ แต่ปล่อยได้จริงไหม
ถ้าไม่สร้างไฟฌาน ที่แรงพอ จะไปละล้างกิเลส ของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปนั่งหลับตาทำฌาน จะเกิดเมื่อปฏิบัติ มัคคังคะ จะมีธัมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีวิจัยวิจารด้วยตน จะรู้แจ้งเห็นจริง จะมีกำลังของปัญญา จนเป็นปัญญาพละ เป็นผลระงับกิเลส จึงจะล้างตัณหาได้ ล้างตัณหาได้ ก็สามารถล้างอุปาทานไปด้วย เพราะมันเป็นตัวเดียวกัน แต่ต่างสถานะ เหมือนกับที่พูดว่า จิตตัวเดียวกัน แต่ต่างสถานะ เมื่อล้างอกุศลเสร็จ กุศลก็เกิดทันที การตายการเกิด ก็เกิดเนื่องกัน ตายแบบสนิท ไม่กลับกำเริบ ตัณหาก็ขับเคลื่อนออกมา เป็นพลังจลน์ แต่อุปาทาน เป็นพลังนิ่ง เป็นพลังงานศักย์ ล้างอุปาทาน ภพก็ดับ ชาติก็ดับ
ดับตั้งแต่ สักกายะตัวต้น ตัวกลางไปจนตัวปลายคือ กามาสวะ เราสิ้นอาสวะเกลี้ยง ก็สูงสุดเป็น กามาภิพู คือผู้ชนะกาม คือผู้ครอบงำความใคร่
[๙] ก็อุปาทานเป็นไฉน อุปาทาน ๔ เหล่านี้คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทานฯ
ทิฏฐิคือความเห็น ความรู้ หรือแปลว่าลัทธิเลยก็ได้ ลัทธินั่งหลับตา เพ่งลูกแก้ว พุทโธ ยกมือ ก้าวหนอ ย่างหนอ ก็ไปติดอยู่ในกสิณนี้ บางอย่างก็มาใช้ได้ แต่เขาไปปรุงแต่งกันมากมาย พระพุทธเจ้า ไม่พาทำเลย แม้แต่คำว่าหลับตา ก็ให้ค้นหาในพระไตรฯ ว่ามีไหม แต่พ่อครูไม่เคยเห็น มีแต่ให้ลืมตาปฏิบัติ
ส่วนวิธีปฏิบัติที่ไปยึด คือสีลพัตตุปาทาน จะต้องแบบนี้ อย่างนี้ ไม่ใช่แบบนี้ไม่ใช่ เช่น ยึดนั่งหลับตาเป็นต้น ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐานสมบูรณ์
อัตตวาทุปาทาน คือยึดติดในวาทะ ได้แค่ภาษายึดเป็นอัตตา (มีโอฬาริกอัตตา มโนมยอัตตา อรูปอัตตา ) จะมากอยู่ที่ มโนมยอัตตา ที่รวมอยู่ในกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ก็รวมในมโนมยอัตตา
[๑๐] ก็ตัณหาเป็นไฉน ตัณหา ๖ หมวดเหล่านี้คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา นี้เรียกว่าตัณหา ฯ
[๑๑] ก็เวทนาเป็นไฉน เวทนา ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา นี้เรียกว่าเวทนาฯ
[๑๒] ก็ผัสสะเป็นไฉน ผัสสะ ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี้เรียกว่าผัสสะฯ
[๑๓] ก็สฬายตนะเป็นไฉน อายตนะคือ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี้เรียกว่า สฬายตนะฯ
ผัสสะเป็นนาม เพราะเป็นอาการทางจิต อย่างอวิชชา พอปรุงแต่งก็สุขๆทุกข์ เป็นทาสมัน ถ้าไม่มีทวารกระทบรูป อายตนะไม่เกิดขึ้น ใจนั้นไม่ต้องกระทบ แต่จะปรุงแต่งมากระทบก็ได้ หรือปรุงอย่างไม่กระทบ คือธรรมารมณ์ การปรุงแต่งอย่างกระทบ ทำให้เราอ่านอารมณ์ออก เช่นการตรวจอรูป ก็ต้องมีสัญญาอ่าน อากาสาฯ วิญญานัญจาฯ อากิญจัญญายตนะ แล้วก็อ่านธรรมารมณ์ต่างๆ ที่เราไปยึดติดความว่าง วิญญาณ ติดนิดน้อย ยึดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ อ่านความยึดความจม ในภพนั้นให้ได้ ซึ่งทวารใจ มีนัยะต่างจากทวารนอก
ถ้าไม่มีผัสสะ ๖ ก็ไม่มีอายตนะ ๖ ต้องมีอายตนะ (เกิดในขณะมีสัมผัสนอกกับใน มีการกระทบ ต่อเนื่องเป็นสะพาน อายตนะเกิดขึ้นแล้ว ก็จะหายไป โดยอัตโนมัติ ไม่มีความตั้งอยู่ มันทำงานเฉพาะ ที่มีการกระทบนอกและใน มันไม่เกิดขึ้น ไม่ดับไป มันทำงานเฉพาะ เมื่อมีเหตุปัจจัย ไม่มีตกค้างที่ไหน หาที่ไหนไม่เจอ จะหาเจอ เมื่อมีการสัมผัสทางทวาร เท่านั้น การเกิดนี้ เมื่อมีผัสสะ ทางทวาร ๖ จึงจะทำสติปัฏฐาน ๔ ได้ การปฏิบัติธรรม ต้องมี ๖ อย่างนี้ จึงเจริญได้สูงสุด
[๑๔] ก็นามรูปเป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป นามและรูปดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่านามรูปฯ
[๑๕] ก็วิญญาณเป็นไฉน วิญญาณ ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณฯ
เมื่อรู้จักนามรูป และวิญญาณทั้ง ๖ ได้ จึงจะรู้ มโนปวิจาร ๑๘ ได้ ถ้านั่งหลับตา ก็ไม่มีมโนปวิจาร ๑๘ คุณไม่ชัดเจนหรอกว่า เคหสิตโสมนัส เคหสิตโทมนัส เป็นอย่างไร จะไม่รู้เรื่อง เพราะนั่งหลับตาเล่นไปกับจิต ที่มีหลายหลากอาจารย์
[๑๖] ก็สังขารเป็นไฉน สังขาร ๓ เหล่านี้คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร นี้เรียกว่าสังขารฯ
การปฏิบัติธรรม ต้องอ่านกายสังขาร ที่เนื่องจากข้างนอก จิตสังขารคือบทบาทของจิตทั้งหมด วจีสังขารคือมโนกรรมในจิต ยังไม่ออกมาเป็น วาจา กัมมันตะ อาชีวะ
คนที่ไม่สามารถรู้วจีสังขาร จะไม่รู้ตัว แต่พอรู้โดยสัญชาติญาณ ยกตัวอย่างว่า อยากด่า แต่พูดในใจ แต่มีมารยาทยั้งไว้ได้ รู้แต่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ศึกษาอย่างรู้ ตักกะ วิตักกะ แล้วรู้กามที่มาร่วมปรุง แล้วกำจัดเหตุ ให้มันปราศจากกาม พยาบาท แล้วหรือยัง แล้วเราจะให้มัน ออกไปทำงานเมื่อไหร่ จะทำการทางวจี เบาๆ หรือทำทางกายกรรม ประกอบอาชีพ ก็จัดสรรมันได้หมด ในวจีสังขาร เป็นสิ่งสำคัญมาก กายสังขารก็หยาบ จิตสังขารก็ละเอียดมากไป ให้จับที่วจีสังขารนี่แหละ มีลีลาหลายอย่าง ที่ไม่ใช่แค่พูดในใจ
ผู้ใดรู้จักสังขารก็มีวิชชา ใครไม่รู้สังขารก็อวิชชา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร คุณก็ปรุงแต่งไป แต่ละวัน แต่ละเดือนไป ปรุงเป็นสุขทุกข์ไป งมงายอยู่ไป ตลอดกาลนาน ซึ่งต้นเหตุแรก มาจากการไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ตามในอวิชชาสูตร มี
๑.การไม่คบสัปบุรุษ เป็นอาหารของ... การไม่ได้ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์
๒.การไม่ได้ฟังสัทธรรม เป็นอาหารของ... ความไม่มีศรัทธา (หรือศรัทธาผิดๆ)
๓.ความไม่มีศรัทธา (ศรัทธาไม่บริบูรณ์) เป็นอาหารของ... การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย (กระทำใจไม่เป็น)
๔.การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (หรือทำใจไม่เป็น) เป็นอาหารของ... ความไม่มีสติสัมปชัญญะ
๕. ความไม่มีสติสัมปชัญญะ (หรือทำสติไม่เป็น) .เป็นอาหารของ... ความไม่สำรวมอินทรีย์
๖. การไม่สำรวมอินทรีย์ เป็นอาหารของ... ทุจริต ๓ (กาย,วาจา,ใจ ทุจริต)
๗. ทุจริต ๓ เป็นอาหารของ... นิวรณ์ ๕
๘. นิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของ... อวิชชา
|