|
||
พ่อครูว่า คนปกติเกิดมาด้วยอวิชชา แล้วก็มีการสังขาร คนไม่ได้ศึกษาสังขาร ก็แยกไม่ออก ว่าอันไหนสังขารด้วยอวิชชากับวิชชา อันไหนสังขารอย่างธรรมดา อันไหนสังขารอย่างอภิสังขาร หรือแยกสังขาร ๓ ไม่ออก อ.กฤษฎา ว่าคนปกติไม่รู้รายละเอียด ของการปฏิบัติ ในการสังขาร ที่มีอวิชชา เป็นตัวเริ่มต้น และจะมีกลยุทธ หรือวิธีการปฏิบัติอย่างไร ที่พ่อครูได้กล่าวถึง อวิชชาสูตรเมื่อวานนี้ ที่สอนถึง อาหารของวิชชาและอวิชชา ว่ามีต้นเหตุจาก การคบสัตบุรุษ ที่บริบูรณ์หรือไม่? พ่อครู... ตอนนี้ได้อธิบายธรรมะ แบบร้อยมาลัย คนที่มีสภาวะ จะเข้าใจดี ส่วนผู้ไม่มี สภาวะนั้น ก็ต้องเห็นใจว่าคงจะฟังไม่เข้าใจ แต่พ่อครูต้องทำ รายละเอียดให้เพิ่มขึ้น เพราะอายุปูนนี้แล้ว ก็พยายามจะลงรายละเอียด ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ มีคุณ 0850556xxx ผมอยากไปฝึกดำน้ำที่แม่น้ำมูล จะได้ดำน้ำเก่งเหมือนพ่อท่าน ก็เห็นใจเขา ที่ว่าพ่อครูดำน้ำ หาว่าพ่อครู ไม่รู้ธรรมะพระพุทธเจ้า พ่อครูก็ไม่ถือสาเขา เขาไม่รู้เรื่องจริงๆ เห็นใจเขา เขาจึงว่าเราดำน้ำไป แต่ก็ดีเขาก็ยังอุตส่าห์ตามฟัง ก็ดีช่วยตรวจสอบ ก็แจ้งมา อย่างคุณ 8705 ก็หายเงียบไปเลย มีคุณ 0556 ก็โผล่มา สองสามข้อความ สำหรับผู้ที่ท้วงติงมา ก็ขออภัย ไม่ได้หน้าด้านหน้าทน ก็จำเป็นต้องอธิบายต่อ มั่นใจว่าไม่ได้ทำเรื่องเลวร้าย แต่มั่นใจว่า อยู่ในทำนองคลองธรรม ของพระพุทธเจ้า อย่างแท้จริง ถ้าผู้มีปฏิภาณปัญญา จะเข้าใจ เขาอุตส่าห์ท้วงมา เป็นสิ่งแสดงออกว่า ถ้าอย่างหนึ่งถูก อีกอย่างหนึ่งต้องผิด ถ้ามีคนทักท้วงมามาก ก็น่าจะเป็นเรื่องผิด บางคนเขามีปฏิภาณ ว่าสิ่งที่พ่อครูพูดนั้นผิด แต่เขาไม่กล้าท้วง แต่พ่อครูก็ได้เอาหลักฐาน มาอ้างอิงตลอด และพ่อครูก็ว่า เขาแปลมาผิดอีก เขาก็ยิ่งว่า พ่อครูแปลเอาเอง แต่ก็ไม่ได้ท้อถอย ขอตั้งใจเจตนา อธิบายต่อ พ่อครูจะได้อธิบายต่ออีก ในเรื่องของ กาย "สังขาร "จึงคือ การประชุมของสภาวะ ที่ปรุงแต่งกันขึ้นมา แล้วก็มีอำนาจ มีบทบาท ออกฤทธิ์แรง จัดแจงความเป็นคน แล้วก็มีพฤติกรรม เกิดขึ้นในสังคม เป็นพฤติภาพในโลก อาตมาต้องการสำทับย้ำคำว่า "กาย" ซึ่งเป็น "องค์ประชุม" ที่ต้องเข้าใจ ในการปฏิบัติธรรม ว่า เมื่อท่านหมายถึง " กาย " ที่ รวมทั้งภายนอก - รวมทั้งภายใน ไม่ได้ขาด การเชื่อมต่อกันอยู่นั่นแหละ ที่เรียกว่า "กาย "คือ องค์ประชุมของรูป ของนาม ทั้งจากภายนอก ต่อเนื่องเข้าไปสู่ภายใน ก็รับรู้ติดต่อกัน ทำงานร่วมกันอยู่ เช่น "อัชฌัตตัง อรูปสัญญี เอโก พหิทธา รูปานิ ปัสสติ" (วิโมกข์ ข้อที่ ๒) ซึ่งอาตมา ขอให้ความหมายว่า ผู้ที่ "เห็น" (ปัสสติ) ด้วยการ "สัมผัส" ภาวะจริง เห็นทั้งรูป ทั้งหลายภายนอก และเห็นทั้งรูปทั้งหลายภายใน แล้วลึกซึ้งเข้าไปเห็นทั้งอรูปภายใน ไปทั้งหมด ด้วย "สัญญา" คือ ความรู้ที่สามารถกำหนดหมาย สัมผัสรู้ภาวะรูปทั้งปวง ตลอดไปจนถึง ภาวะอรูปทั้งปวงนั้นๆได้จริง โดยตัวเอง (เอโก) ของตนเอง ในตนเอง สำเร็จเอง (เอโก) "รูป" หรือ "อรูป" คือ สิ่งที่ถูกรู้ ด้วย "ปัญญา" หรือ "ญาณ" ที่แท้คือ "วิชชา" ดังนั้น แม้จะเป็น "นามธรม" ที่ประชุมกันเป็นหมู่ เป็นกองขึ้น แล้วเรียกว่า "นามกาย" ก็เป็น "รูป" คือ เป็น "รูปของนามธรรม" นั้นๆ เพราะอยู่ในภาวะที่ "ถูกรู้"ไง ที่บาลีว่า "อิเธกัจโจ ปุคฺคโล อัฏฐ วิโมกฺเข กาเยน ผุสิตฺวา วิหรติ ปัญญาย จัสส ทิสฺวา อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ" ท่านแปลไว้ว่า "บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะของผู้นั้น ก็หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา" (พระไตรปิฎก เล่ม ๓๖ ข้อ ๑๕๑) คำว่า ด้วยกาย ในที่นี้ ยืนยันให้เห็นชัด ว่าเป็นคำสำคัญ ที่จะละเลยไม่ได้ และอีกคำคือ "ถูกต้อง" หรือ "สัมผัส" (ผุสิต) ที่เป็นตัวชี้บ่งว่า จะเป็น"ความจริง" ที่เรียกว่า "สัจธรรม" ต้องมี "สัมผัสภาวะนั้นอยู่หลัดๆ" แม้จะเป็น "นามธรรม" หรือ "นิโรธ" ดังนั้น สังขารเกิด เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย เป็นไฉน ในสังขารเหล่านั้น ปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน กุศลเจตนา เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร ที่สำเร็จด้วยทาน ที่สำเร็จด้วยศีล ที่สำเร็จด้วยภาวนา นี้เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร สังเกตให้ดีๆนะ ว่า กุศล และเจตนา ที่เป็น "กามาวจร และ รูปาวจร" ตามที่พระพุทธเจ้า ทรงระบุไว้นี้ จะสำเร็จผลเป็น"บุญ" (ปุญญ) นั้น ต้องเกิดด้วย "ทาน" ด้วย "ศีล" และ ที่สำคัญคำว่า ด้วย "ภาวนา" นี่แหละ ที่อาตมาเห็นว่า ยังเพี้ยนๆกันอยู่ "บุญ"ที่จะสำเร็จผลด้วย"ทาน" ก็ไม่ใช่สำเร็จด้วย "การทำทาน เพียงแค่ทำ พฤติภายนอก" เท่านั้น โดยไม่มีความรู้เลยว่า "ทาน"แล้ว "ทำใจในใจ" (มนสิกโรติ) อย่างไร จึงจะ "มีผล" เป็น "บุญ" กันตามแบบพุทธ หรือแม้ "ศีล" ปฏิบัติกันอย่างไร จึงจะ "มีผล" เป็น "บุญ" กันตามแบบพุทธ โดยเฉพาะ"ภาวนา"คืออะไร ทำอย่างไร จึงจะ"มีผล" เป็น"บุญ" กันตามแบบพุทธ ซึ่ง "ภาวนา" นี้หมายถึง "การเกิดผล" เป็นเรื่องของ"ผล" แต่ไปหลงผิดกันแค่ว่า "ภาวนา" เป็น"วิธีการปฏิบัติ" พูดกัน เข้าใจกันอย่างนั้น ซึ่งนั่นมันแค่"มรรค" ยังไม่ถึง"ผล" ยังเป็นคนละอย่าง กับความเป็น"ผล" ถ้าถึงขั้น"ภาวนา" มันก็ต้องหมายถึง "ผล"ที่เกิดขึ้น (ภาวนา) จากการปฏิบัติ ถูกแบบถูกแผน ของศาสดามั้ย แล้วมี"ผล"อย่างไร จากการกระทำอย่างไร ภาษาที่ว่า "บุญ"นี้ คือ "ผล" ที่ผู้ปฏิบัติ "จะได้" "บุญ" เป็น"สิ่งที่ได้"ก็จริง แต่ไม่ใช่ "ได้ความโลภเติมใส่จิตใจ" ทว่าหมายถึง "ผลในใจ" ที่ชำระจิตสันดาน หรือ ผลในใจที่ "ชำระกิเลสให้ลด ให้หมดไปจากจิตใจ" ซึ่งต้อง "ทำใจ" สละออกไป จึงจะเป็น "การได้บุญ" ที่ถูกต้อง"สัมมาทิฏฐิ" ถ้าผู้ทำทานยังมี "การทำใจในใจไม่ถ่องแท้" (โยนิโสมนสิการ) กล่าวคือ "ยังทำใจในใจ" หาก "ทำใจ"แบบนั้น มันคือ มโนกรรมที่ "ทำใจโลภเพิ่มใส่ให้ตน" ต่างหาก ผู้ทำเช่นนี้ ก็ได้ "ความโลภ" ตามมโนกรรมที่มี "พฤติของจิตใจ" ที่ทำจริง "ทำทาน" แต่ได้"ความโลภใส่ใจ" มันก็ไม่เป็น"บุญ"เลย แม้จะสละวัตถุ ก็ได้กุศล ได้ความดีงาม ที่เป็น "โลกียธรรม" ส่วนนี้ แต่ ไม่ได้"กุศล" ที่เข้าขั้น"บุญ" คือ ขั้น"ชำระจิตสันดาน" อันเป็น"ปรมัตถธรรม" ที่บรรลุธรรม"โลกุตระ" ทุกวันนี้ ภาษาคำว่า " บุญ " นี่ มันหมายถึงอะไรต่ออะไร ผิดเพี้ยนไป หนักหนาแล้ว คนจึง "ทำบุญ" ก็ผิด แล้วไปหลง "สิ่งที่ตนได้" ก็ผิด ซึ่งยังไม่ใช่ "บุญ" แท้ๆเลย ลองมาทำความเข้าใจกับ " ปุญญาภิสังขาร " กันดีๆซิ พระบาลีว่า ตตฺถ กตโม ปุญฺญาภิสงฺขาโร ซึ่งท่านแปลเป็นไทยไว้ว่า "กุศลเจตนา เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร ที่สำเร็จด้วยทาน ที่สำเร็จด้วยศีล ที่สำเร็จด้วยภาวนา นี้เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร" ตามภูมิอาตมา ซึ่งจะเอาสภาวะธรรม ที่อาตมามีเป็นหลัก ก็เข้าใจได้ว่า กุศล นั้นคำหนึ่ง เจตนา นั้นอีกคำหนึ่ง ที่มีในประโยคนี้ ซึ่งให้ความหมายอยู่ชัด ดังนั้น ปุญญาภิสังขาร จึงหมายถึง ความมุ่งหมาย (เจตนา) ปฏิบัติตนให้เกิด ความดีงามถูกต้อง (กุศล) ที่ท่องเที่ยวไป ในแดนกามภพ (กามาวจร) และ ท่องเที่ยวไปใน แดนรูปภพ (รูปาวจร) ที่สำเร็จได้ด้วยทาน สำเร็จได้ด้วยศีล สำเร็จได้ด้วย ภาวนา ซึ่งต้องเข้าใจ "ทาน-ศีล-ภาวนา" อย่างสัมมาทิฏฐิ แท้จริงเป็นสำคัญ ดังที่ได้อธิบาย "การทำทาน" ที่ผ่านมานั้นบ้างแล้วเป็นต้น ความสำคัญตรงตัวของ "บุญ" ก็คือ ภาวะนั้นต้อง "ชำระจิตสันดานให้หมดจด" ดังนี้จะเป็น "บุญ" ที่ถูกที่แท้ เป็นปรมัตถสัจจะจริง ชี้บ่งยืนยันได้ว่า "กุศล" นั้น แต่ถ้า "กุศล" ยังเป็นสังขารได้แค่ความดีงาม แค่กรรมดี ที่เป็นโลกียะ นั่นก็เป็น "กุศล" ได้ ก็เป็นไปตาม "เจตนา" (ความมุ่งหมาย) ของผู้นั้น "อภิสังขาร ๓" ของผู้นั้น ก็เป็น "กุศล" ตาม "เจตนา" ขั้นโลกียะ ก็เป็นของผู้ที่ไม่มี "ความมุ่งหมาย" หรือไม่มี "เจตนา" ให้ "กุศล" เป็นผลถึงขั้น "บุญ" ที่แปลชัดเจนว่า "ปุญญาภิสังขาร" ก็ไม่ต้องหมายถึง "ชำระจิตสันดาน, ชำระกิเลส" เป็นปรมัตถธรรม ถ้าเป็นแค่โลกียะดังว่านี้ แล้วจะแปล "อปุญญ" ให้เป็นคำว่า "บาป" อันเป็นคำ ตรงกันข้ามกับ "บุญ" อาตมาก็ไม่ได้เห็นแปลก อะไรเลย ตามภูมิของผู้นี้ ก็ถูกแล้ว คำว่า "บาปกับบุญ" ของคนผู้นี้ ก็ปฏิบัติธรรมได้ "กุศล" ที่เป็น "กุศล" แค่โลกีย์ ก็ได้ "บุญ" ที่ไม่ใช่ "การชำระกิเลส" ที่เป็นโลกุตระ มีมรรคผลไปสู่นิพพาน ส่วนอาตมานั้นมี "ความมุ่งหมาย" (เจตนา) และยืนยันว่า "อภิสังขาร ๓" นี้ เป็น "อภิสังขาร" ขั้นโลกุตระ มุ่งหมายชัดเจนว่า หมายเอา "ปรมัตถธรรม" ที่ต้องถึงขั้น ลดละกิเลส หรือ ชำระกิเลสกันให้ได้จริงๆ "กุศล" จึงเป็นความมุ่งหมาย (เจตนา) หรือ ความจงใจ (เจตนา) ที่อาตมาหมายนั้น คือ "บุญ" ที่เป็นภาวะ "ชำระจิตสันดานให้หมดจด" (สันตานัง ปุนาติ วิโสเธติ) และ "บาป" ก็คือ "กิเลส" ที่ต้องชำระ หรือ กำจัดเจ้าตัวนี้ ให้มันสิ้นสุดถึง กิเลสอนุสัย คือสันดานในจิต จนหมดจด ดังนั้นคำว่า "อปุญญ" ขั้นที่อาตมาหมาย จึงไม่ใช่เพียง แปลกันแค่ การกลับไปกลับมา ของ "ภาวะบาปกับภาวะบุญ" วนไปวนมา ไม่หยุดความวนลงได้ "ความวนของ บุญๆ-บาปๆ" หรือ "ความวนของกุศล-อกุศล" ซึ่งยังเป็นขั้นโลกีย์ อันไม่พ้นจาก "วัฏฏะ" ของ "บุญกับบาป" หรือไม่พ้นจาก "วัฏฏะของกุศล กับอกุศล" ซึ่งเป็นภาวะที่ออกจาก "วัฏฏะ" ไม่ได้ ก็คงยังเป็น "โลก" ที่หมายถึง ความหมุนวน ไม่รู้จบอยู่นั่นเอง "วัฏฏะ" ที่เป็น "ความวนเวียนไม่รู้จบ" นี่แหละ คือ "โลก" คือ "โลกีย์" อาตมาหมายเอา "โลกุตระ" ที่หมดสิ้น "วัฏฏะ" หมดสิ้น "ความวนเวียน" "อปุญญ" ที่อาตมาหมาย จึงได้แก่ "การหมดสิ้นความวนเวียน ไม่มีบาป และไม่มีบุญ" ด้วย บาปก็หมด "การชำระบาป" จึงไม่มีแล้ว หมดแล้ว นั่นคือ "ไม่ต้องชำระบาปหรือกิเลส" อีกแล้ว จึงพ้นทั้งบาป - พ้นทั้งบุญ ถ้าไม่ถึงขั้นเข้าสู่ "โลกุตรภูมิ" เพื่อไปสู่นิพพาน คือ "ทำบุญ" ไม่ถึงขั้น "ชำระกิเลส" จนกระทั่งหมด "ความวนที่ต้องชำระบาป -ต้องทำบุญ" อยู่ไม่จบ ก็ยังไม่ชื่อว่า "อภิสังขาร" ที่เป็น "สังขาร" ขั้น " อภิ" คือ อยู่เหนือ ยิ่งๆขึ้นไป ถึงขั้น ปรมัตถธรรม หรือธรรมะ ที่เป็นอาริยะ ยังไม่เข้าข่ายโลกุตระ ถ้า "กุศล" นั้น ยังไม่เป็นอาริยะ ที่เข้าถึงขั้น "ปรมัตถธรรม" ที่เป็นโลกุตระ "ปุญญาภิสังขาร - อปุญญาภิสังขาร" แม้แต่ "อาเนญชาภิสังขาร" นั้นๆก็ยัง ไม่เข้าข่าย ที่เรียกได้ว่า "บุญ" ที่เป็น "กุศล" (ความดีงาม) ตามอาตมามุ่งหมาย (เจตนา) ความสำคัญ ที่ขอตั้งข้อสังเกต ให้เห็นชัดๆอีกประเด็น ก็คือ สังขาร (การจัดแจง) ที่ "ท่องเที่ยว อยู่ในแดนกามภพ" (กามาวจร) นั่นก็หมายความว่า "อภิสังขาร ๓" นี้ ปฏิบัติในขณะที่มี ตาหูจมูกลิ้นกายใจ รับรู้ทั้ง ภายนอกภายในครบ "มิใช่" หลับตาไม่รับรู้ทางภายนอก ๕ ทวาร ตามพระวัจนะที่ทรงยืนยันอยู่ชัดๆ จึงจะมีคุณธรรมขั้น อุตตริมนุสสธรรม ที่มีคุณภาพ ยิ่งกว่าปกติสามัญ เข้าข่าย "โลกุตระ" และจะชี้ได้ว่า "กุศล" นั้นเข้าขั้น "บุญ" ก็ต้องมีข้อตัดสิน นั่นคือ "กุศล" นั้นต้อง ทำทาน ก็มีแต่จิตชำระโลภลดลงๆ มิใช่ทำทานก็มีแต่ "โลภ" มากขึ้นๆ ปฏิบัติศีล ก็ต้องลดอุปาทาน ไม่ใช่ยังเป็นแค่ "สีลัพพตุปาทาน" หนักขึ้นๆ ภาวนา คือ การเกิดผล ก็ได้แต่ "สัมมาผล" มิใช่มีแต่ "โลกียกุศล" เป็นผล คำว่า "บุญ" หรือ "กุศล" จึงไม่ใช่แค่เจริญด้วย "อามิส" เป็น "โลกีย์" อยู่เท่านั้น ดังนั้น "กุศล" ที่เราจงใจ(เจตนา) ที่เรามุ่งหมาย(เจตนา) และสำเร็จด้วย ทาน - ศีล - ภาวนา นั้น ทั้งที่ท่องเที่ยวไปใน แดนกามภพ (กามาวจร) และท่องเที่ยวไปใน แดนรูปภพ (รูปาวจร) ไม่ใช่หลับตาอยู่ในภวังค์ จึงเป็นการท่องเที่ยวไป ก็ได้สัมผัสสัมพันธ์ "กามภพ - รูปภพ" ไป พร้อมกับ "ชำระจิตสันดานของตนไป" เมื่อชำระได้ก็ "ได้บุญ" ไปตามลำดับ สู่จุดมุ่งหมายคือ "โลกุตรภูมิ" หมายความว่า ปฏิบัติธรรมแบบลืมตาปกติ ในชีวิตสามัญ ตามแบบพุทธ ที่สัมมาทิฏฐิ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา ล้วน "โยนิโสมนสิการ" บริบูรณ์ คือ ทำใจในใจ ได้ถูกต้อง ตามหลัก " ปฏิจจสมุปบาท" ตามหลัก "มรรค อันมีองค์ ๘" ที่เป็น "สัมมาสมาธิ" คือมี "สัมมามรรค - สัมมาผล " ซึ่งต่างจาก "โลกียมรรค-โลกียผล" ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑ "มหาจัตตารีสกสูตร" เพราะไม่ใช่ปฏิบัติแบบนั่งหลับตาทำ "สมาธิ" ที่ไม่ได้ดำเนินตาม "มรรค ๗ องค์" ตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน "มหาจัตตารีสกสูตร" จึงได้ "สมาธิ" กันคนละอย่าง หรือสำเร็จ "อธิจิตสิก" ขาไม่เหมือนกัน สรุปก็คือ "ปุญญาภิสังขาร" แบบหนึ่งเป็นโลกียะ อีกแบบหนึ่งนั้น เป็นโลกุตระ โลกียะ กับ โลกุตระ คือ โลกทั้ง ๒ โลก แต่เป็น "โลก" คนละแบบ ผู้บรรลุ "โลกุตระ" รู้จักรู้แจ้งรู้จริง "โลกียะ" ดี เพราะเคยอยู่ "โลกียะ" มาแล้วทุกคน ครั้นได้เรียนพุทธธรรมที่ "สัมมาทิฏฐิ" และสามารถปฏิบัติ จนหลุดพ้นออกไปอยู่ใน "โลกุตระ" ได้แล้ว จึงเป็นผู้รู้จักรู้แจ้งรู้จริง "โลกทั้ง ๒ โลก" ส่วนผู้อยู่ใน "โลกียะ" ยังไม่พ้น "โลกียะ" ออกไปจาก "โลกียะ" ไม่ได้ ก็ไม่สามารถจะ รู้จักรู้แจ้งรู้จริง "โลกุตระ" ได้ นอกจาก "เดา" หรือคาดคะเนเอา พระพุทธเจ้าทรงเรียก "โลก" อันเป็น "โลกียะ" ที่มีคนปุถุชนอยู่อาศัยเป็น โลก ส่วน "ปรโลก" ที่เรียกกันว่า "โลกหน้า-โลกอื่น" พระองค์ทรงเรียกว่า โลกุตระ ซึ่งเป็น "โลก" ที่พระองค์ทรงค้นพบใหม่ เป็น "โลก" อีกแบบหนึ่ง ที่ต้องศึกษา ให้สัมมาทิฏฐิจริงๆ จึงจะปฏิบัติกระทั่ง "ทำใจในใจ" (มนสิกโรติ) ของตน พ่อครูอธิบายแทรกว่า ที่คุณ 0850556xxx ว่าถ้าไม่ใช่วิญญานแล่นไปท่องเที่ยวไป แล้วมันคืออีหยัง ทิ่แล่นไปท่องเที่ยวไป พ่อครูว่า พระพุทธเจ้าท่านบริภาษ ภิกษุสาติว่า อย่าไปพูดอย่าไปคิด ว่าวิญญาณ ท่องเที่ยวไปอย่างนั้น พวกที่คิดอย่างนั้น เป็นเทวนิยม ไม่ใช่ธรรมะปัจจุบันธรรม ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ให้เรียนรู้วิญญาณ ที่เกิด ในขณะมีผัสสะ ทางทวาร ๖ ท่านตรัสไว้ใน วิภังคสูตร แม้ขั้นอรูปาวจร ก็ยังต้องลืมตาปฏิบัติล้าง รูปาวจร อรูปาวจร ยังมีสัมผัสครบ ๖ ทวารเลย ไม่ได้ไปจับวิญญาณล่องลอย เราไปจับไม่ได้ เพราะเอกจรัง ไปเดี่ยวๆ ไม่เกี่ยวกับใคร ถ้าไม่มีโลกที่มี ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ก็ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ เหมือนคุณนอนฝัน หรือสลบไป ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ก็ไปตามวิบาก แม้จะมีจิต ระลึกได้ ก็ได้ระดับหนึ่ง ถ้ามีอนุสัยกิเลส มันก็ตื่นมาเล่นงานคุณแน่ ถ้ามีทวาร ๖ ก็กลบเกลื่อนไปได้ ในตอนเป็นสะกดจิต ก็ได้ไปนานเท่าที่สะกดได้ แต่ก็ต้องตื่นมารับรู้อยู่ดี อย่างฤาษีตื่นมา ก็ต้องกินต้องอยู่ ต้องมาอยู่กับผัสสะอยู่ดี พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัยมิได้มี ภิกษุสาติ มีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า "เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาจะปลดเปลื้องภิกษุสาติ จากทิฏฐินั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียงสอบสวนว่า ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ ท่านอย่ากล่าวตู่ พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาค มิได้ตรัสอย่างนี้เลย ดูกรท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัย ประชุมกันเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วโดยปริยาย เป็นอเนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัยมิได้มี. (มหาตัณหาสังขยสูตร พตปฎ. ล.๑๒ ข.๔๔๐) พอตายแล้ว วิญญาณเกิดไม่ได้ ไม่มีตาหูจมูกลิ้นกายสัมผัส มันจะจมอยู่กับภวังค์ เท่านั้น คุณต้องอาศัยสัญญา หรือความจำ ซึ่งเป็นของแห้ง และคุณเองก็ไม่เก่ง ที่จะเอาสัญญา มาใช้ได้ เพราะไม่ได้เรียนรู้ดับโลก มาตั้งแต่ กามโลก รูปโลก อรูปโลก คุณตายไป ก็ต้องดิ้นรน จะไม่รู้ตัวว่า ตนเป็นใครลึกซึ้ง อย่างฝันก็แค่รู้ว่า อยากอะไร ดิ้นไปหา สิ่งที่อยากได้ อยากมีอยากเป็น ตอนตาย คุณจะไม่มีเวลา อเวจีไม่มีเวลาให้คุณดู ไม่รู้ว่า จะจมนานขนาดไหน ตอนหลับมีผีอำ คุณก็ดิ้นรนออกมาให้ได้ ทางทวาร ๖ แต่ว่าตายไป ดิ้นไปก็ไม่ออกมา ก็จะทรมาน เป็นผีอำอยู่ตลอดกาลนาน เท่าที่มีวิบาก ตัวเป็นๆ มีนรกสวรรค์แล้ว แต่ตอนตาย เป็นนรกไม่มีทางออกเลย จะจมอยู่กี่กัป กี่กัลป์ เท่าที่ตนยึดถือ เหมือนคนดื้อ ดันทุรังตอนเป็นๆ ก็อย่างนั้นแหละ แต่ตอนตาย จะดื้อดันทุรัง มากกว่าไม่รู้กี่เท่า น่ากลัว "ใจ" เท่านั้น "เกิด" โดยเราได้ "ทำใจ" ที่เป็น "อกุศลจิต" ของเราส่วนหนึ่ง เกิดใน "กาย" ที่ยังมีชีวิตเป็นๆนี่เอง เป็น "การเกิดทางใจ" (โอปปาติกโยนิ) เมื่อปฏิบัติจนเกิดผลรู้แจ้ง ความเป็น "โลกุตระ" นั้นได้ในตนแล้ว ก็เป็น "ความรู้แจ้ง" ได้ด้วยตนเอง ของตนเอง เป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา= เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงเป็น) ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตแท้ๆ ที่พิสูจน์ "โลกุตระ" นี้ได้จริงๆ เพราะรู้แจ้ง "โลกียะ" หรือโลกของคนทั้งหลาย ที่เป็นแดนแห่งจิตใจ อาศัยอยู่ แล้วก็ 'วนหมุน' อยู่กับสุขกับทุกข์ แบบสามัญปุถุชน ซึ่งเป็นกันอยู่ทั่วทั้งโลก แล้วได้ศึกษาทั้งปฏิบัติ จนกระทั่งบรรลุ "ความจริง" สำเร็จจริง ว่า เพราะ "สวรรค์กับนรก" นั้นเป็นธรรมชาติคู่ เป็นภาวะคู่ ถ้ายังมีอย่างหนึ่ง ก็ต้องมีอีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีอย่างหนึ่งอย่างใด อีกอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ไม่มี คนผู้ยัง "อวิชชา" จะเชื่อว่า "สวรรค์หรืออารมณ์สุข" อย่างที่คนทั้งหลาย หลงยึดว่าจริง ที่ต้องเสพนั้น หมดไปจากจิตใจไม่ได้ ถือว่าขาดธรรมชาติ(สุข) อย่างนี้ไปจาก จิตใจคนไม่ได้ ต้องมี ยังไงๆ คนก็ต้องมี "อารมณ์สุข" คนที่หลงมากติดมาก จึงหลง "ปรุงแต่ง (สังขาร) อารมณ์สุข อย่างนั้นอย่างนี้ ให้ตนเสพ" อยู่เสมอ ไม่ปรุงอย่างใด ก็หาเรื่องปรุงอย่างหนึ่ง อยู่ตลอด คน "อวิชชา" จึงหลงใน "สังขาร" อย่างงมงาย เละเทะเลอะเทอะ หาที่สุดมิได้ สุขมันไม่มีอยู่ตลอดเวลา คนก็รู้ มันมีอย่างนั้น แล้วก็ไปมีอย่างนี้ สุขอย่างนี้หยุดไป ไม่มีระยะใด ระยะหนึ่งก็จริง ไม่มีอารมณ์สุขชั่วคราว..ได้ พักชั่วคราว..ได้ แต่ขาดสูญ "อารมณ์สุข" อย่างที่เคยมีนี้ ไปจากจิตใจคน ตลอดกาลไม่ได้ ยิ่งอารมณ์สุข ที่ตนเสพติด ยิ่งขาดไม่ได้ คนต้องมี "สุข" (โลกียสุข) ไม่เชื่อว่า " สุข" จะสูญสิ้นไปได้ ถ้าคน "ไม่มีสุข" ก็จะไม่ปกติ ไม่เหมือนคนทั้งหลาย หนะสิ เมื่อผู้ศึกษาและได้ปฏิบัติ จนกระทั่งมี "การชำระกิเลส" หรือ "ชำระจิตสันดาน ให้หมดจด" ได้จริง จึงจะเชื่อสนิทว่า "โลกที่ยังหลงสุขอยู่" นั้น ก็ต้องมี "ทุกข์" อยู่ สัมผัสจริงๆมันสุข แต่เมื่อไม่ได้สัมผัส มันก็มีแต่ความจำ ไม่ใช่ความจริง มันลวงเรา ต้องชัดเจนว่า มันไม่ใช่สุขจริง ถ้าสุขจริง มันต้องอยู่ตลอดสิ โลก..โลกียะ จึง "ดับสุขดับทุกข์สนิท" ไม่ได้ ส่วนโลก..โลกุตระนั้น "ดับสุข-ดับทุกข์" ได้สนิทจริง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่แยก "โลก" ๒ โลกนี้ได้ และ พาคนให้ปฏิบัติ จนเลิกเป็นคน " โลกียะ" กลายเป็นคนโลกใหม่คือ "โลกุตระ" โดยไม่ต้องกลับมาเป็นคน "โลกียะ" เป็นคนผู้ "ไม่ทุกข์ไม่สุข" (อทุกขมสุข) อีกเลย ได้อย่างแท้จริงสัมบูรณ์ (โปรดติดตามตอนต่อไป) อ.กฤษฎา สรุป สิ่งที่พ่อครูอธิบาย เป็นการอธิบาย ปฏิจจสมุปบาท อย่างลงรายละเอียด โดยเฉพาะเรื่อง การสังขาร ที่มีสังขาร ๓ ที่เป็นกระบวนการเกิดทุกข์ เราเรียนรู้ไป เพื่อให้พ้นทุกข์ ในขณะเป็นๆ สูงสุดถึงนิพพาน ซึ่งต้องมีวิธีการปฏิบัติ โดยการมี ปุญญาภิสังขาร ที่ประกอบจากกุศลเจตนา วันนี้เราชัดเจนว่า ถ้าเป็นกุศลที่เป็นบุญ ก็คือ เครื่องชำระจิตสันดานให้ได้ เป็นสภาวะปรมัตถธรรม จะสำเร็จได้ ด้วยการทำทาน อย่างชำระความโลภ ทำศีลที่สัมมาปฏิบัติ ไปสู่ ภาวนา ที่เป็นผลโลกุตระ ....จบ
|
||
|