|
||
ส.ฟ้าไท แจ้งข่าว สำหรับ นิสิตว.บบบ. ที่ได้รับเข็มพระธรรมเข็มที่สอง ให้มารับ ในวันที่ ๗ เม.ย. นี้เวลา ๗.๗๗ นาที ในงานปลุกเสกฯ รายการของพ่อครูฯที่ผ่านมา ได้บรรยายถึงสังขาร ๓ ซึ่งมีความละเอียดลึกซึ้ง และเราก็ช้า ในการรู้ และปฏิบัติด้วย ต่างจากภูมิรู้ของพ่อครูมาก ทุกข์อาริยสัจจ์ ต้องเป็นอาริยบุคคลเท่านั้น จึงรู้จักได้ และต้องกำหนดหมาย เรียกว่า "ทุกขสัญญา" และจะมี "ทุกขลักษณะ" ว่ามีอย่างไรบ้าง เหตุแห่งทุกข์คืออุปาทาน พ่อครูว่าคืออนุสัย (กิเลสที่ฝังลึกในก้นบึ้งของจิตใจ) หรือ กิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน (เหมือนไม่มี แต่ถึงเวลาแสดงออก ก็มาทำให้เราทุกข์) เรามาเรียนรู้ ว่าทำอย่างไร จะหมดกิเลส ที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ได้ ใครไม่ทำก็ไม่ได้ แม้ฟังรู้เรื่องก็ตาม พ่อครู... ขออภัยที่ต้องพูดเรื่องธรรมะขั้นลึกนี้อีก สำหรับผู้ที่ฟังยังไม่เข้าใจ แต่ก็ต้อง ขอเวลา ลุยไปบรรยายไป อย่างต่อเนื่อง ให้จบก่อน แล้วค่อยย้อนไปหา เบื้องต้น ท่ามกลางต่อไป ขอย้ำว่า เราเริ่มต้นงานปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ ในวันที่ ๖ ไปถึงวันที่ ๑๒ เม.ย. ๕๖ เรากำหนดเวลา ๗.๗๗ นาที (คือ ๘.๑๑ น.) เราจะเริ่มต้นแจกเข็ม ว.บบบ. และเสื้อรุ่น จากนั้นก็จะถึงงานตลาดอาริยะ พวกเราก็เตรียมงาน จนเข้มเลย ผิวเข้ม อุณหภูมิบางวัน ถึง ๕๐ องศาเซลเซียสเลย ในบริเวณกลางแดด พวกเรามีไม่มากคน แต่ก็มีพฤติพุทธ มีกำลัง ๔ พ้นภัย ๕ เราทำอย่างอิสระ เราทำอย่างรู้คุณค่า เพื่ออะไร ไม่ใช่อยากเอาหน้า ใจเราจะอ่าน อาการจิต ว่าเรามี สาเฐยยะจิตหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องปราบของตนเอง ต้องรู้ตัวทุกขสมุทัย ต้องรู้ทุกขสัญญา กำหนดหมายรู้ ต้องทำงานเป็นว่าจะรู้ทุกขลักษณะ รู้ลักษณะ เหตุแห่งทุกข์ ก็จะสามารถรู้ได้ และรู้ลึกละเอียด โดยมีญาณปัญญา หยั่งรู้ได้ ลักษณะของทุกข์ที่เป็นอนิจจัง ที่มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่สามารถ เลิกมันได้ หรือว่า มันคงอยู่ไม่ได้ ในสภาพเดิม มันทนได้ยาก ต้องเปลี่ยนไป เรียกว่า อนิจจัง ผู้อวิชชา จะไม่รู้ภาวะเหล่านี้ได้ พระอาริยะ จึงจะรู้จักรู้แจ้งรู้จริง ในสภาวะทุกข์นี้ หรือว่าสภาพที่มันตั้งอยู่ที่ไหน ก็ที่ใจเรา เราจะมีญาณอ่านเห็นทันที เป็นประสพการณ์ ทันทีเลย เรียกว่า (ญาณินทรีย์) คือเห็นเป็นประสพการณ์ ในเฉพาะหน้า ทันทีเลย เห็นที่ตั้งแห่งทุกข์ หลัดๆเลย แต่ถ้ามันมีอยู่ แต่ไม่รู้ ในภาวะที่แย้ง หรือปฏิเสธความสุข แต่คนไม่รู้ เป็นทาสความทุกข์ คนที่มีสภาวะเหล่านี้ จะบอกได้อธิบายได้ กล่าวถึงอย่างชัดเจน ไม่ใช่พูดแต่พยัญชนะ ทุกข์กับสุขเป็น "ทวิภาวะ" ถ้ายังมีสุข ก็จะมีทุกข์อยู่ ดังนั้น ถ้าผู้ใดไม่มีทุกขสัญญา คือไม่มีความกำหนดหมาย รู้ว่าเป็นทุกข์ หรือ ไม่มีการกำหนดหมาย ให้มองเห็นสังขาร ที่เป็นทุกข์ได้จริง ผู้นั้นก็ไม่สามารถ รู้จักรู้แจ้งรู้จริง ทุกขลักษณะ (เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่แสดง ให้เห็นว่าเป็นทุกข์) ได้แก่ ๑. ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลาย บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา [ผู้อวิชชาไม่รู้สึกหรอก ว่าภาวะเหล่านั้น บีบคั้นตน ยอมเป็นทาสให้บีบคั้น ไม่สามารถเลิก ความบีบคั้นนั้นได้] ๒. ทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ [ซึ่งหมายถึงอนิจจัง ผู้อวิชชาไม่รู้จักหรอก ว่า ภาวะเหล่านั้นมันเป็นดังที่ อาริยบุคคลรู้จัก ดังนั้น ผู้รู้จักรู้แจ้งรู้จริงอนิจจัง ดังว่านี้ได้ ก็ต้องมีภูมิอาริยบุคคล] ๓. เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ [ผู้อวิชชานั้นรู้ไม่ได้หรอก ว่า ภาวะเหล่านั้นเป็นที่ตั้ง แห่งความทุกข์อย่างไร อยู่ที่ไหน และไม่คิดจะหาทาง ขจัดภาวะนี้ออกไป จากจิตให้หมดสิ้น] ๔. แย้งต่อสุข หรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข เมื่อปฏิเสธความสุข หรือแย้งความสุข มันก็คือทุกข์นั่นเอง คนที่หลงติดสุข ว่าเป็นภาวะที่น่าได้ น่ามีน่าเป็น จึงดิ้นรนแสวงหาสุข อยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดสนิท ชนิดที่ไม่เกิดอีกเลย ตลอดกาลเด็ดขาด ก็ยังมีทุกข์ แต่โดยสามัญปุถุชนคนทั่วไปก็ตาม ก็จะมีหยุด คือมี อารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์ อารมณ์เฉยๆ แบบพักยกตามธรรมชาติ อยู่เหมือนกัน เพียงแต่ว่า อารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์ หรืออุเบกขา (เคหสิตอุเบกขา) นี้จะพักนานหรือจะพักสั้นเท่านั้นเอง ซึ่งมันก็ยังมีภาวะบีบคั้นในใจอยู่ เพียงแต่ผู้มีนั้น ไม่สามารถรู้ตัวเองได้ ความบีบคั้นให้ดิ้นรนแสวงหาเพื่อมาบำเรอเวทนา ภาวะฉะนี้แหละ ที่เป็นตัวการจริงๆ คือเหตุแท้ จึงเป็นตัวทุกข์แท้ เวทนาที่ตนติดยึด (อุปาทาน)ว่า น่าได้น่ามีน่าเป็น อยู่ จึงดิ้นรนไม่หยุด เด็ดขาดลงได้ จะต้องให้เกิด เวทนานั้นอยู่ ไม่คราใด ก็คราหนึ่งจนได้ เมื่อมันเกิดการ บำบัดอารมณ์ ที่น่าได้น่าเป็นของตน ขึ้นมาทีไร ก็เรียกมันว่าสุข กระนั้นโดยธรรมชาติ มันก็ยังมีโอกาส ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข (อุเบกขา) เป็นครั้งคราว ทว่าผู้หลงมัวเมาติดสุข ก็ยังไม่เข้าใจ ความไม่ทุกข์ไม่สุข หรือ อุเบกขานี้ ว่าเป็น ความสงบจากทุกข์จากสุข (วูปสมสุข= อทุกขมสุข, อุเบกขา) แม้จะเป็นอารมณ์ ที่เกิดโดยธรรมชาติ แค่มันพักยกก็ตาม ซึ่งความสงบนี้ เป็นอารมณ์ที่ดีวิเศษกว่า อารมณ์สุข เพราะอารมณ์สุข (สุขเวทนา) นั้นเกิดขึ้นเฉพาะ ขณะที่บำเรอตัณหา - อุปาทานอยู่เท่านั้น แล้วมันก็ หายวับไป เมื่อหมดสิ้นสัมผัส (ผัสสะ) ลงคราใด ภาวะนั้นก็หายไป ไม่มีอยู่ ซึ่งปราชญ์และศาสดาทั้งหลาย ต่างยืนยันตรงกันว่า อารมณ์สงบนี้แหละ เขาเดาลักษณะจิตใจ ของผู้เห็นจริงเป็นจริงแล้วว่า สุขสงบนี้แหละ วิเศษกว่า สุขแบบโลกีย์ หรือสุขที่ต้องบำเรออารมณ์ (โลกียสุข)นี้ ไม่ได้จริงๆ [อตักกาวจร] เพราะเขายังหลงจม ดำฤษณาอยู่กับความสุขแบบโลกีย์ ยังไม่หมดเชื้อ เพราะผู้อวิชชาอยู่จริง ไม่รู้หรอกว่า สุขที่ต้องบำเรอ อารมณ์นี้แหละ คือ ตัวหลอก เป็นเท็จ (สุขัลลิกะ) แท้ๆ..มันมีทุกข์ เป็นเหตุอยู่ ยังยึดอยู่ และความสงบนั้น ก็มีนัยสำคัญ อย่างยิ่งอีก นั่นคือ ปราชญ์ผู้ใด จะสามารถ ทำให้ความสงบของตน ได้แท้แน่นอนยิ่ง ถาวรยั่งยืนจริง ยิ่งกว่ากัน ซึ่งลัทธิทั้งหลายที่แสวงหาความสงบ เช่นกันนั้น ล้วนยังค้นหาตัวตน ของเหตุที่เป็นตัวการ ก่อความไม่สงบ คือ อัตตาหรืออาตมัน หรือปรมาตมัน ซึ่งตัวการแท้ ตัวนี้ก็คือ อวิชชานุสัยนั่นเอง เขายังสัมผัสอัตตาไม่ได้ อวิชชาก็ดี อนุสัยก็ดี นี้แหละคือ ตัวตนแห่งผีร้าย ที่รู้ตัวยากยิ่งที่สุด หรือแม้จะสามารถจับตัวตนของอัตตาได้แล้ว ก็ต้องมี วิธีดับที่วิเศษสำคัญอีกด้วย ถ้ายังไม่มี แม้แค่วิธีดับที่วิเศษ ก็ยังไม่สามารถดับตัวเหตุ ให้หมดเกลี้ยง สิ้นสนิท จนกระทั่ง ดับหมดสิ้น อย่างละเอียดสัมบูรณ์ได้ ดังนั้น การรู้จักรู้แจ้งรู้จริง ความเป็นตัวตน ที่บาลีว่า อัตตสัมปทานั้น พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า เป็นแสงอรุณ ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น หรือ ก่อนจะมีสัมมามรรค อันมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติอันเอกได้ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยความตรัสรู้แท้ๆ พุทธจึงสามารถพิสูจน์ด้วยของจริง ทำจริง บรรลุผล สำเร็จจริง แล้วยังตรวจแล้ว ตรวจอีก ด้วยทั้งอรูปฌาน หรือ วิโมกข์ ๘ และทั่งปฏิบัติ จนกระทั่ง เกิดความตั้งมั่น ด้วยกาละ ๓ คือ อดีต - ปัจจุบัน - อนาคต โดยการทำ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ด้วยอาเสวนา ภาวนา - พหุลีกัมมัง จนมั่นใจใน สัจจญาณ กิจจญาณ - กตญาณ จึงถึงที่สุด แห่งความสงบสัมบูรณ์แท้ ดังนั้น ผู้ที่แม้แค่ความสงบ ก็ไม่มีปัญญารู้ว่า วิเศษกว่าสุข ผู้นี้ก็แก้ยากแน่ สงบแบบพุทธไม่ใช่เฉยๆ แต่สงบแล้วช่วยคนด้วย จะทำประโยชน์เพื่อคนอื่น เราอยู่เฉยๆ ก็ตายไว น้ำนิ่งๆนั้น จะเน่าง่ายกว่า น้ำที่ไหลอยู่เสมอๆ เราออกไปทำงาน เพื่อคนอื่น เราก็ได้ประโยชน์ด้วย เราทำอย่าง ไม่อยากได้อะไร ตอบแทน ยิ่งอยากได้ตอบแทน ยิ่งลดค่า สิ่งที่เราทำ ยิ่งเราไม่อยากได้ อะไรตอบแทน สิ่งที่เราทำยิ่งจะมีค่า คนที่ยังหลงผิด เชื่อว่า สุขมันเป็นของถาวร มันมีอยู่จริง ก็เพราะผู้นั้นยัง ยึดมันไว้ อยู่ในอนุสัย อยู่นั่นแหละ.. นี่หนึ่ง ความยึดว่าสุขอย่างนี้ๆเอง ที่ยึดว่าจริง ตนยังต้องได้ ต้องมี ฉะนี้แลคือ อุปาทาน ที่ฝังลึกอยู่สุดลึกในใจ อีกอย่างหนึ่ง..ก็คือ ไปหลงสัญญา ซึ่งเป็นแค่ความจำเท่านั้น ว่า เป็นความจริง คือหลงเอาความจำมาเป็นความจริงสดๆ นี่ก็หลงผิดแล้ว ที่แท้อารมณ์สุขนั้นมันหายไป ตั้งแต่ไม่มีผัสสะ (สัมผัส) แล้ว ผู้แยกแยะได้ว่า ความจำไม่ใช่ความจริง เพราะมีอาการแตกต่างกัน ความจำมันเป็นของแห้งที่ธรรมชาติของจิตมันเก็บไว้ได้เท่านั้น คนผู้ที่มี ภาวะสดๆสัมผัสอยู่ ก็รู้สึกหิริถึงขั้นโอตตัปปะ ในภาวะสด นั้นได้แล้ว แต่ยังเหลือ ภาวะแห้งอยู่บ้าง นั่นคือ ผู้สิ้นทุกข์ภายนอกได้ ถือว่า สิ้นกิเลสในกามภพ ถ้าทำได้อย่างนั้น จริงถาวรยั่งยืน ก็นับเป็นผู้เข้าสู่ อนาคามีภูมิ ผู้แยกความแตกต่างได้ว่า การระลึกเอาของแห้งขึ้นมา ระลึกเมื่อใด ก็เป็นของแห้ง เมื่อนั้น ซึ่งมันไม่ใช่ของสด แล้วเห็นได้ว่า สดกับแห้งนี้ เข้าใจได้ว่า สดมันจริงกว่าแห้ง มันเป็นความจริง กันคนละระดับ ผู้นั้นก็มีภูมิรู้ ยิ่งกว่าสามัญ ผู้บรรลุธรรมสัมบูรณ์ของพุทธนั้น หมดสิ้นความสุขความทุกข์แท้ ในภาวะที่ เป็นทั้งของสด ทั้งของแห้ง กล่าวคือ มีหรือไม่มี ของสดอยู่ ก็ไม่สุขไม่ทุกข์ มีหรือไม่มี ของแห้งอยู่ ก็ไม่สุขไม่ทุกข์ หมายความว่า มีหรือไม่มีก็ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่ความจำ ก็ยังมีได้ มีของแห้งได้ แม้ว่า ผู้นั้น จะระลึกนึกดึงเอา ความจำหรือ ของแห้งนั้นๆ มารู้อีกเห็นอีกอย่างไร มันก็ไม่มีความสุข และ ไม่มีความทุกข์ กันอีกแล้ว ซึ่งความจริงสดๆนั้น ไม่มีความสุข - ความทุกข์แล้ว ผู้บรรลุพุทธธรรม ต้องมีถึงขั้นดังว่านี้ ดังนั้น แม้สัมผัสอยู่สดๆ มันก็ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่ได้พิสูจน์กับตัวเองแล้วจริง และเป็นความสงบที่ปราศจากความสุขความทุกข์ถาวรยั่งยืนตลอดไป ความสงบที่..ไม่มีทั้งความสุข และไม่มีทั้งความทุกข์นี้ แม้เราจะ สัมผัสอยู่ กับเหตุปัจจัย ที่เราเคยหลงว่าสุขนั้นปานใด สำหรับ ผู้บรรลุธรรมแบบพุทธ ที่เป็นโลกุตระจริงนั้น จะไม่มีทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้ง ๒ อย่าง แม้บัดนี้เราจะสัมผัสมันอยู่อย่างไร จิตใจเราก็ไม่มีอารมณ์สุข เพราะทุกข์ที่มีเหตุปัจจัย เราได้กำจัดเหตุนั้น หมดสิ้นแล้วสนิท พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมาแต่เหตุ เมื่อเหตุดับ ทุกสรรพสิ่ง ย่อมดับ จึงเป็นสัจธรรมที่จบบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้ เห็นได้ไหมว่า ทุกข์ต่างหาก ที่มันเป็นสัจจะยิ่งกว่า เป็นต้นตอยิ่งกว่าสุข เพราะสิ่งนี้มี (คือทุกข์) สิ่งนั้นจึงมี (คือสุข) พระบรมศาสดา จึงตรัสเรียกทุกข์ ว่าทุกขสัจจ์ มีคำว่าสัจจะ กำกับอยู่ชัดๆ ส่วนคำว่าสุขนั้น ท่านกลับตรัสเรียก สุขตัวนี้ไว้ชัด อีกเช่นกันว่า สุขัลลิกะ มีคำว่าอลิกะ กำกับอยู่แท้ๆ ที่ว่าทุกข์มันจริงกว่านั้น เพราะทุกข์ที่มีเหตุแห่งทุกข์ ของผู้อวิชชา นี้ มันฝังอยู่ในใจคน ผู้อวิชชา เรียกด้วยภาษาว่า อุปาทาน มันเป็น อนุสัย เชียวนะ อนุสัยนี้คือ กิเลสที่ฝังลึกอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจ, กิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่อง อยู่ในสันดาน นี่แหละคือ จิตสันดาน ที่ต้องชำระให้หมดสิ้นเกลี้ยงให้ได้ อนุสัย หรือกิเลสตัวอื่นๆ ก็ล้วนเป็นตัวตนที่หยาบ กว่าตัวตนที่เรียกด้วย คำว่าอนุสัย ทั้งนั้น จริงๆนั้นอนุสัย หรือกิเลสทั้งหลาย มันไม่ใช่ตัวตน ที่แท้จริงอะไรเลย มันแค่เป็น อาคันตุกะ แค่ตัวอื่น ไม่ใช่ตัวเรา แต่มันเข้ามาเยือนจิตใจเรา แล้วเราก็โง่ (อวิชชา)ไปหลงยึดว่า มันเป็นตัวเรา มันจึงมีตัวตน (อัตตา) ฝังลึกอยู่ในตัวเรา ด้วยความโง่ คืออวิชชาแท้ๆ ที่เรียกว่า อนุสัยนี่ไง! คนที่หมดสิ้นอวิชชาสวะ หรือ อวิชชานุสัย จึงจะหมดสิ้นตัวตนเกลี้ยง ถ้าใครมัวไปหลงอยู่แต่ว่า กิเลสที่เราจะต้องเรียนรู้ตัวตน (อัตตา) ของมัน ที่มันฝังตัว อยู่ในจิตใจเรา แม้เราจะเข้าใจ ในความหมายแล้วล่ะว่า มันไม่ใช่ตัวตน, มันไม่ใช่ตัวเราอะไรนั่นหรอก แต่มันมีตัวตน ในตัวเราไหมล่ะ? เราหมดสิ้นอวิชชาสวะ หรืออวิชชานุสัย แล้วหรือ? กำจัดละล้างตัวตนขั้น อนุสัย สุดท้าย ออกไปไม่ได้หมดสิ้นเกลี้ยง จนเด็ดขาด กระทั่ง ไม่มีการวนกลับ มาเกิดอีก (อสังกุปปัง) ได้จริงแท้หรือยัง? ถ้าผู้รู้จักรู้แจ้งรู้จริงว่า ในจิตใจเรานั้น หมดสิ้นอวิชชานุสัย แล้วจริง เราก็ไม่มี ตัวตน ใดๆอีกแล้ว แต่ถ้าใครตรวจ จิตใจตนเองได้ว่ายังมี อนุสัย ตราบใดที่ยังกำจัดชำระล้างอนุสัย ออกจากจิตใจไม่หมด ก็ยังไม่หมดตัวตน ยังไม่หมดสิ้น ทุกขอริยสัจ ยังไม่ชื่อว่า อรหันต์ จึงยังเป็นผู้หลงใหล สุขโลกีย์นี้อยู่ ว่า สุขนี้แหละต้องได้ ต้องมี ต้องเป็น เพราะไม่เห็นว่า สุขนี้เป็นเท็จ (อลิกะ) สุขนี้มันไม่ใช่ของจริง (อลิกะ) สุขนี้มันผ่านมา หลอกคน แล้วก็ผ่านไป ไม่มีอะไรเหลือ, ว่างเปล่า, ไร้ประโยชน์ (ตุจฉ) ทุกข์ต่างหากที่จริงกว่า บีบคั้นเราอยู่ประจำชีวิตของผู้อวิชชา ตลอดที่มันยัง ไม่หมดตัวตน สิ้นเกลี้ยง ไปจากจิตใจเรา แล้วมันก็บังคับให้ ผู้อวิชชานั้น หลงเป็นทาส หาทางบำบัดทุกข์ อยู่ทุกลมหายใจ ที่ยังมีตัวตน ผู้ที่มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตัวตน แล้วกำจัดออกได้หมดสิ้น จนกระทั่ง ไม่มีตัวตน (อนัตตา) จึงเห็นชัดแจ้งได้ว่า มีแต่ทุกข์เท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพราะเห็นจริงว่า กามาวจร คือ ในขณะที่เราดำเนินชีวิต ท่องเที่ยวอยู่กับ กามภพ เป็นสามัญ แล้วก็ยังเสพสุข รวมทั้งท่องเที่ยวอยู่กับ รูปภพ (รูปาวจร) ในภาวะที่ ภูมิสูงขึ้นด้วย เราก็เสพสุข ตามที่มียืนยันอยู่ใน ปุญญาภิสังขารนี้ จึงต้องชำระจิตสันดาน คือ ทำบุญนี้ ให้หมดจด กระทั่งสูงขึ้น สู่ความเป็น อปุญญาภิสังขาร จึงจะเห็นความจริง ระดับ ปรมัตถธรรม ทุกภพทุกภูมิ อย่างสัมบูรณ์ จึงรู้ตัวเองว่าเป็นคนผู้ยังไม่หมดอวิชชา เพราะรู้จักสังขาร ฉะนี้เอง แล้วก็ปฏิบัติความเป็น สังขารนั้นๆ อย่างมีวิชชาให้ได้ (อภิสังขาร) จนกระทั่ง สามารถชำระ จิตสันดานให้หมดจด (ปุญญ) ได้ไปตามลำดับ ถึงขั้นสำเร็จ ก็เข้าสู่ภูมิ อปุญญาภิสังขาร ซึ่งปฏิบัติที่ รู้จักรู้แจ้งรู้จริง กิเลสทั้งในกามาวจร และรูปาวจร จึงเหลือก็แต่ อรูปาวจร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในภูมิที่เป็น อาเนญชาภิสังขาร ผู้ใดไม่รู้ภพภายนอก ตั้งแต่กามาวจร และรูปาวจร จึงขาดธาตุรู้ คือวิญญาณ ๖ ที่ต้องร่วม รู้จักรู้แจ้งรู้จริง ทั้งรูปธรรม และนามธรรมครบ หมดทุกภพภูมิ หากขาดธาตุรู้คือวิญญาณ ๖ ก็รู้รูปธรรมนามธรรมภายนอกไม่ได้ จะรู้ความเป็นกายไม่ครบ ก็ไม่สามารถจะ สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จ อิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะของผู้นั้น ก็หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๖ ข้อ ๑๕๑ สำเร็จสัมบูรณ์ไม่ได้ การปฏิบัติธรรมของพุทธ จึงต้องมีวิญญาณ ๖ ทำงานร่วมอยู่ตลอด จึงจะชัดเจนใน วิญญาณฐีติ ๗ และมี วิโมกข์ ๘สัมบูรณ์ แต่ถ้าปฏิบัติปิดทวารภายนอก หมดสนิทแล้ว ก็ย่อมไม่พ้นอวิชชา แน่นอน ดังนั้น คำว่ากามาวจร จึงเป็นภาวะที่บ่งชี้ ชัดเจนถึง ภาวะผู้ปฏิบัติธรรม ที่บรรลุ อปุญญาภิสังขาร ด้วยประการฉะนี้ และเมื่อถึงภูมิ อปุญญาภิสังขาร ก็ไม่ต้องกล่าวคำว่า รูปาวจรอีกแล้ว เพราะเราต้อง ทำสำเร็จ ตั้งแต่ภูมิ ปุญญาภิสังขาร โน่นก่อนแล้ว ได้สำเร็จแล้ว จึงจะผ่านพ้น เข้ามาสู่ภูมิ อปุญญาภิสังขาร เมื่อบรรลุหลุดพ้นภูมิ ปุญญาภิสังขาร เป็นผู้มีภูมิ อปุญญาภิสังขารนั้น ก็มีชีวิตอยู่กับ กามาวจร อยู่เป็นปกติ สามัญนั่นเอง พระวัจนะ จึงมีแค่กามาวจร ผู้มีภูมิอปุญญาภิสังขารนั้น คือ ผู้ ไม่ต้องทำบุญและบาปแล้ว ตามที่ได้อธิบาย มาตลอด แต่ยังมีชีวิต จึงทำกุศลได้ ดังโอวาทปาติโมกข์ที่ว่า ไม่ทำบาปทั้งปวงแล้ว - สัพพปาปัสสะ อกรณัง แต่ยังกุศลให้ถึงพร้อม - กุสลัสสูปสัมปทา คือ ยังทำกุศล ให้ถึงพร้อมอยู่ สำหรับผู้ทำจิตสะอาดผ่องใส (อรหัตผล) ดังนั้น ทุกกรรม ทุกการกระทำ ของท่านผู้ที่ อปุญญแล้วนี้ เมื่ออภิสังขาร คือปรุงแต่งใดๆ ตามฐานะของท่าน ก็ต้องคำนึงอย่างสำคัญ สังวรอกุศลเสมอ เพราะในโลกีย์ ไม่มีอะไรเที่ยง มันเกิดจากเหตุปัจจัย ซึ่งก็ไม่เที่ยง อยู่ตลอดเวลา มันเป็นเหตุแห่งทุกข์ และเป็น เหตุที่พาอกุศล ได้มากเหลือเกิน ในกามาวจร แม้ตัวท่านแน่นอนว่า ไม่ทุกข์ ไม่มีอกุศลจิต แต่ท่านก็ต้อง ทำความสุข ให้แก่มวลชน เป็นอันมาก (พหุชนสุขายะ) ตามคุณธรรมแท้ ของพุทธอยู่ จึงต้องใช้ ความระมัดระวัง อย่าให้เกิดอกุศล ให้ได้เสมอ กระนั้นในสังคมโลกที่มี ลาภสักการะเสียงสรรเสริญ พระพุทธเจ้าตรัส สำทับไว้ว่า มันยังเป็น อันตรายอันแสบเผ็ด แม้แต่กับอรหันต์ หรือขีณาสพ ปานนั้น ทีเดียว ในการดำเนินชีวิตอยู่กับ แดนดงกาม (กามาวจร)นี้ จึงต้องระมัดระวัง อกุศลตัวนี้อยู่ อย่าให้เกิดได้ ต้องมัตตัญญุตาด้วย สัปปุริสธรรม ๗ และ มหาปเทส ๔ อย่างสำคัญ ตัวท่านเองไม่ใช่ตัวอันตราย แต่แม้มีอรหัตตผลแล้ว ทำการงาน ก็อาจจะเกิด ขาดตก บกพร่องได้ อาจจะหนักถึงขั้น เป็นอันตรายได้ ถึงขนาด อันตรายอันแสบเผ็ด ก็เป็นได้ พระพุทธเจ้าจึงต้อง ให้สังวรเสมอ จึงเป็นการ อภิสังขาร กับชาวโลกีย์เขา กับพหุชนเขา (มวลชนเป็นอันมาก) ที่ต้อง อนุโลม-ปฏิโลม อย่างมีการประมาณ (มัตตัญญุตา) ด้วยสัจจานุโลมิกญาณ คือ ด้วยปัญญาที่ใช้ประมาณ ในการอนุโลม ตามสมมุติสัจจะนั้นๆ ให้เป็นกุศล อันถึงพร้อมเสมอ อย่าให้เกิดอกุศล เป็นอันขาด นี้คือ เจตนา (ความมุ่งหมาย) ที่ต้องระมัดระวัง ด้วยความไม่ประมาทอย่างยิ่ง ถ้าขืนผิดพลาดบกพร่องแล้ว มันเสียหาย เป็นอันตรายต่อสังคม สำหรับผู้มีอรหัตตผลขึ้นไป ความเสียหายต่อสังคมนั้น แม้เล็กแม้น้อย ก็ต้องสังวรอย่างยิ่ง ว่า เป็นความแสบเผ็ดเสมอ สาธยายมาถึงตรงนี้ ก็คงมีบางคน ที่พอได้ฟัง ที่อาตมาพูดอย่างนี้ ก็คงจะสะดุดใจว่า ทำไมอาตมาพูดอย่างนี้ อรหันต์ ทำอะไรบกพร่อง ทำผิดได้ด้วยเหรอ? มีคนไม่รู้แจ้งสัจธรรม มักเดาเลยเถิดไปว่า อรหันต์ทำอะไรไม่ผิด หรือ ทำผิดไม่ได้ บกพร่องไม่ได้ ซึ่งเป็นการเดาที่ผิด อรหันต์ก็ทำผิดได้ ตามภูมิรู้แห่งฐานะ หรือตามบารมี ซึ่งอรหันต์ ย่อมมีความรู้ ในทางโลก มากบ้าง น้อยบ้าง ไม่เท่ากัน อรหันต์แต่ละท่าน จะใช้สัจจานุโลมิกญาณ หมายถึง ปัญญาของอรหันต์ แต่ละท่าน ที่จะอนุโลม กับสังคมโลกเขา ท่านก็ต้องประมาณด้วย สัปปุริสธรรม ๗ และ มหาปเทส ๔ ของท่าน ให้พอเหมาะ ของแต่ละท่าน และโดยส่วนตัว อรหันต์แต่ละท่าน ก็มีสังขารุเปกขาญาณ อันเป็นภูมิปัญญา ที่มี กำลัง ๔ (พลัง ๔) ที่จะทำงานกับสังคม ได้แก่ ๑.พลังปัญญา ถ้าปัญญาที่รู้กิเลส-กำจัดกิเลสของท่าน ท่านมีเต็มแล้ว แต่ปัญญา ที่รู้จักสังคม และความสามารถทางสังคม ท่านมีเท่าที่ท่านมีบารมี ๒.พลังความเพียร ท่านมีเต็มที่ตามบารมี หมดความขี้เกียจแน่ๆ เมื่อกิจตนหมดแล้ว จึงมีแต่กิจ เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อโลก ตามที่พระพุทธเจ้า เริ่มมีอรหันต์ ๖๐ องค์แรก ก็ตรัสว่า พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ - โลกานุกัมปายะ เธอจงไปทำเถิด ๓.พลังการงานอันไม่มีโทษ ท่านจะต้องระวังอกุศลดังกล่าวแล้ว ต้องทำการงาน อันไม่มีโทษ ต้องประมาณด้วยสัปปุริสสธรรม ๗ และ มหาปเทส ๔ ด้วยความไม่ประมาทจริง และด้วยพลังปัญญา แห่งความเป็นอรหันต์ ซึ่งไม่มีกิเลสมานะ ๔.พลังการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ซึ่งเป็นน้ำใจของอรหันต์ทุกองค์ เพราะมันเป็น ธรรมชาติ ของผู้หมด ความเห็นแก่ตัว และชีวิตก็ยังอยู่ กินข้าวมีชีวิต อาศัยสังคมอยู่ ท่านมีกตัญญุตา แน่นอน จึงต้องทำงานช่วยสังคม ช่วยโลกอยู่จริงๆ ซึ่งอรหันต์แต่ละองค์ โดยภูมิธรรมของจิตแต่ละท่าน ตามสัจจะ ก็มีอุเบกขาบารมี คือ ความวางเฉย (อุเบกขา) และมีการปรุงแต่ง (สังขาร) ขั้นอภิสังขารแน่นอน จะมากและเข้มแข็ง พอที่จะสามารถอนุโลม ได้แค่ไหน อย่างไร ก็ตามภูมิบารมี ของแต่ละท่าน เท่าที่ท่านได้สั่งสมมา เป็นบารมีที่ สัมมาทิฏฐิ ตั้งแต่โสดาบันภูมิ มาทีเดียว อรหันต์แต่ละท่าน ต้องประมาณด้วยความสังวรยิ่ง ที่จะไม่ให้เกิดอกุศล อย่างสำคัญ ด้วยความมุ่งหมาย (เจตนา) ที่แน่นอนว่า สำหรับคนระดับอรหันต์ ย่อมไม่มีอกุศลเจตนา นั้นแน่ ยิ่งกว่าแน่อยู่แล้ว ความผิดของพระอรหันต์ หรือความบกพร่องของอรหันต์ จึงไม่มีอกุศลเจตนาแน่ นี้เป็นสัจธรรม ซึ่งไม่ใช่อรหันต์เก๊ นะ! นี่คือ ข้อยกเว้นที่เรียกว่า สติวินัยของพระอรหันต์ ไม่ให้เอาผิดกับอรหันต์ แม้จะมีความผิด บกพร่อง จึงไม่ปรับอาบัติอรหันต์
ส.ฟ้าไทสรุป ทุกข์คือความดิ้นรนแสวงหา แล้วทำให้เราทุกข์มากขึ้น พ่อครูได้อธิบาย ให้เราได้เรียนรู้ เหตุแห่งทุกข์ คือกิเลส ทั้งของสดและของแห้ง คนที่หมดกิเลสสดๆ คือพระอนาคามี เหลือแต่กิเลสแห้ง ได้ฟังแล้ว เราก็ต้องไปทบทวน ที่พ่อครูเทศนา ฟังซ้ำอ่านซ้ำ ให้เกิดความเข้าใจ เราต้องพยายามศึกษา เพื่อความเข้าใจลึกซึ้ง เป็นบัณฑิตได้...... พ่อครูแถม ว่า ตอนนี้อากาศร้อนมาก น้ำซับที่เราใช้ ก็ออกไม่ทัน เวลาจะอาบน้ำ ก็ให้ไปอาบที่แม่มูนได้ อีกอย่างคือ ป่ายางที่ใกล้เฮือนสุดชีวิต เรามีไฟไหม้ป่า ให้ช่วยกันไปดับไฟด้วย ....เอวัง
|
||
|