FMTV
560402_รายการสงครามสังคมธรรมะการเมือง โดยพ่อครู
เรื่อง ฌานพุทธว่างจากโลกีย์ ฌานฤาษีว่างจากความจริง

            พ่อครูเปิดรายการที่บ้านราชฯ ประกาศถึงบัณฑิต ว.บบบ. ที่ได้รับเข็ม ตราพระธรรม ที่สอง จำนวน ๖๔ คน โปรดเตรียมตัว มารับเข็มได้ ในวันที่ ๗ เม.ย. ๕๖ เวลา ๗.๗๗ น. (๘.๑๗ น.) ผู้ที่ไม่ได้รับเข็ม ได้แต่เสื้อก็มารับได้

พ่อครูก็ยังคงอธิบายในเรื่องของ สังขาร ที่เป็น อวิชชากับวิชชา ซึ่งสังขาร เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าปัญญาเป็นอวิชชา ก็จะสังขารไม่สัมมาทิฏฐิ สังขารไม่ถูกต้อง ตามสัจธรรม ของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าอธิบายอย่างอนุโลมว่า ผู้ที่เจริญวิปัสสนา หรือมนสิการ (ทำใจในใจ) ถ้าวิปัสสนา อย่างไม่สัมมาทิฏฐิ ก็ไม่ออกจากภูมิเดิม คือปุถุชน พระพุทธเจ้าท่านว่า ก็จะได้ความฉลาดเฉลียว ฉลาดในการตั้งไว้ ในของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีอนัตตา เหมือนกัน แต่ทุกข์ที่ว่า มีทุกข์แบบโลกีย์ มีการปฏิบัติสติปัฏฐานได้ แต่ไม่รู้ว่า โลกุตระคืออะไร

อย่างปุถุชน อยากกิน ก็พิจารณาว่าจะกินอย่างไร เป็นผู้ตั้งไว้โดยสภาพเป็นสูญ มีสภาพต่างๆ ๙ อย่างเลย แต่ยังไม่เข้าหลักโลกุตระ เขาก็ทำได้ อย่างมีรายละเอียดเต็มที่เลย ใน ล. ๓๑ ข้อ ๔๖๒

และพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสถึง วิปัสสนาของเสขบุคคล ก็จะมีวิปัสสนาได้ ๑๐ อย่าง เพิ่มจากปุถุชน มีญาณขั้นอาริยะแล้ว คือญาณที่รู้ว่า อันนี้ญาณโลกุตระ อันนี้เป็น ญาณโลกียะ คือแยกเนกขัมมสิตะ กับเคหสิตะ

และวิปัสสนาของผู้ที่ มีวิมุติถึงอรหัตตผล จะมีวิปัสสนาถึง ๑๒ ข้อ
[๔๖๒] ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาด ในความตั้งไว้ ด้วยอาการ ๙ เป็นไฉน เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ ด้วยอาการ ๙ เป็นไฉน ฯ

ปุถุชนเจริญวิปัสสนา
ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความเป็นของเที่ยง ๑
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความเป็นทุกข์ ๑
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความเป็นสุข ๑
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความเป็นอนัตตา ๑
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความเป็นอัตตา ๑
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความสิ้นไป ๑ เป็น
ผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความเป็นก้อน ๑
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความเสื่อมไป ๑
เป็นผู้ ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความประมวลมา ๑
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความแปรปรวน ๑
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความยั่งยืน ๑
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยเป็นสภาพหานิมิตมิได้ ๑
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยเป็นสภาพมีนิมิต ๑
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยเป็นสภาพไม่มีที่ตั้ง ๑
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยเป็นสภาพมีที่ตั้ง ๑
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยเป็นสภาพสูญ ๑
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความยึดมั่น ๑

ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ ด้วยอาการ ๙ เหล่านี้
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ ด้วยอาการ ๙ เหล่านี้ ฯ

พระเสขะเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาด ในความตั้งไว้ ด้วยอาการ ๑๐ เป็นไฉน
ย่อมเป็นผู้ฉลาด ในความไม่ตั้งไว้ ด้วยอาการ ๑๐ เป็นไฉน ฯ

พระเสขะเจริญวิปัสสนา
ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความเป็นของเที่ยง ฯลฯ
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความเป็น สภาพสูญ
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความยึดมั่น
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งญาณ
เป็นผู้
ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ซึ่งสิ่งมิใช่ญาณ
พระเสขะเจริญวิปัสสนา
ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ ด้วย อาการ ๑๐เหล่านี้
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ ด้วยอาการ ๑๐ เหล่านี้ ฯ

ท่านผู้ปราศจากราคะเจริญวิปัสสนา
ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ ด้วยอาการ ๑๒ เป็นไฉน
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ ด้วยอาการ ๑๒ เป็นไฉน ฯ

ท่านผู้ปราศจากราคะเจริญวิปัสสนา
ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความเป็นของเที่ยง ฯลฯ
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งญาณ
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ซึ่งสิ่งมิใช่ญาณ
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความไม่เกี่ยวข้อง
เป็นผู้
ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ โดยความเกี่ยวข้อง
เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ โดยความดับ
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ซึ่งสังขาร

ท่านผู้ปราศจากราคะ เจริญวิปัสสนา
ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ ด้วย อาการ ๑๒ เหล่านี้
เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ ด้วยอาการ ๑๒ เหล่านี้
บุคคลผู้มีตนอันเว้นแล้ว ย่อมให้อินทรีย์ประชุม ด้วยสามารถความเป็นผู้ฉลาด ในความตั้งไว้ ซึ่งอารมณ์ รู้จักโคจร และแทงตลอดธรรม อันมีความสงบ เป็นประโยชน์ ฯลฯ ย่อมให้ธรรมทั้งหลาย ประชุมลง รู้จักโคจร และ แทงตลอดธรรม อันมีความสงบ เป็นประโยชน์ ฯ

เมื่อวานนี้ พ่อครูค้างอธิบายถึง วิญญาณฐีติ (จะใช้คำว่าฐิติก็ได้) หรือสัตตาวาส ๙ (ยังมีความเป็นสัตว์อยู่ แม้จะรู้ว่า มีวิญญาณ ๖ พิจารณาวิญญาณ ๖ ที่เป็นองค์ประชุม ของกายวิญญาณ ซึ่งในวิญญาณฐีติ และสัตตาวาส ท่านตรัสถึงคำว่า กาย กับ สัญญา

เมื่อมีอวิชชาจึงมีสังขาร สังขารนั้น มีกายสังขาร จิตสังขาร วจีสังขาร ที่เราจะอ่าน ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ ได้ ซึ่งผู้ที่มีฌาน ตั้งแต่ ฌาน ๑ จะอ่านอาการ จิตเราออกได้ แยกได้ว่า มันเป็นสุขหรือทุกข์ เราอ่านออกว่า มันจะเสพสุข เราต้องไม่ให้มันเสพสุข เราต้องพยายาม เคร่งไว้ตามศีล ลดละปลดปล่อย เมื่อไม่ให้มันแล้ว เราจะเห็น อาการดิ้น ของตัวเหตุ แล้วเราจึงจะกำจัด ด้วยวิปัสสนาญาณ ด้วยปหาน ๕ ด้วยการเห็น อย่างปัญญาว่า มันไม่เที่ยง มันเป็นเหตุแห่งทุกข์ มันเป็นตัวบีบบังคับ มันเปลี่ยนแปรไป เราต้องอ่าน ให้เห็นจริง ไม่ใช่ว่า เราคิดเอาจาก เรารู้ภาษาแล้ว มันเป็นเรื่องเห็นจริงเลยว่า มันเป็น ทุกขลักษณะ ๔ อย่างเลยคือ

๑. ถูก “การเกิดขึ้น” และ “การดับสลาย” บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา [ผู้อวิชชาไม่รู้สึกหรอก ว่าภาวะเหล่านั้น บีบคั้นตน ยอมเป็นทาสให้บีบคั้น ไม่สามารถเลิก“ความบีบคั้น” นั้นได้] หรอก ว่าภาวะเหล่านั้นบีบคั้นตน ยอมเป็นทาสให้บีบคั้น ไม่สามารถเลิก“ความบีบคั้น” นั้นได้]

๒. ทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ [ซึ่งหมายถึง“อนิจจัง” ผู้อวิชชาไม่รู้จักหรอก ว่า ภาวะเหล่านั้นมันเป็นดังที่ อาริยบุคคลรู้จัก ดังนั้น ผู้รู้จักรู้แจ้งรู้จริง“อนิจจัง” ดังว่านี้ได้ ก็ต้องมีภูมิอาริยบุคคล]

๓. เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ [ผู้อวิชชานั้นรู้ไม่ได้หรอก ว่า ภาวะเหล่านั้นเป็น“ที่ตั้ง แห่งความทุกข์” อย่างไร อยู่ที่ไหน และไม่คิดจะหาทาง ขจัดภาวะนี้ออกไปจากจิต ให้หมดสิ้น]

๔. แย้งต่อสุข หรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข
     เมื่อปฏิเสธ“ความสุข” หรือแย้ง “ความสุข” มันก็คือ“ทุกข์” นั่นเอง
     “ทุกข์” จึงตรงกันข้ามกับ“สุข” ตลอดกาลนาน เป็นภาวะ“คู่” ที่แท้จริง
     ถ้ายังมี“สุข” ก็ยังมี“ทุกข์” อยู่ ต้องหมดสิ้น “สุข” จึงจะหมดสิ้น“ทุกข์” แท้

เมื่อเราไม่ให้มัน เราจะเห็นชัดเจนเลย ว่ามันจะดิ้นอย่างไร แล้วเมื่อเราได้ปหานมัน ก็จะมี ความเบื่อหนาย คลายกำหนัด หลุดพ้น มีญาณรู้ว่า ชาติสิ้นแล้ว เป็นการเกิดขั้น นิพพัตติ อภินิพพัตติ เพราะคลายจากอกุศล อกุศลดับ มันถึงอนัตตา ต้องเห็นอย่างมีญาณ

เราจะแยกออก ว่ามันเป็นสาย ราคะ-โทสะ-โมหะ ไม่มีสีเสียงเส้นสาย แต่เราจะเห็นได้ ด้วยญาณ รู้อาการ ลิงค นิมิต อุเทศของกิเลส

เมื่อหมดกิเลสไปถึง อปุญญาภิสังขาร สั่งสมลงเป็น อาเนญชาภิสังขาร ผู้รู้ความเป็นกาย ที่เป็นองค์ประชุมรวม ผู้นั้นจะรู้อย่างมี ปัจจัตตลักษณ์ รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง

เมื่อวานนี้พ่อครูเทศนาเรื่อง วิญญาณฐีติ ๗ ได้ ๑ ข้อ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ วิโมกข์ ๘ ด้วย

๑. ผู้มีรูป(รูปฌาน) ย่อมเห็นรูปทั้งหลาย  (รูปี รูปานิ ปัสสติ) จิตจะต้องรู้จักรูป (รูปคือสิ่งที่ถูกรู้)

๒. ผู้ไม่มีความสำคัญในรูปภายใน (๑๐/๖๖) ย่อมเห็นรูปทั้งหลายในภายนอก (อัชฌัตตัง อรูปสัญญี เอโก พหิทธา รูปานิ ปัสสติ) . (พ่อครูแปลว่า มีสัญญาใส่ใจในอรูป คือรู้ทั้งรูปภายนอก ไปจนถึงรูปภายใน ต้องเห็นทุกเวลา แม้ขั้นอรูป ก็ต้องใส่ใจกำหนด)

๓. ผู้ที่น้อมใจเห็นว่าเป็นของงาม (สุภันเตวะ อธิมุตโต โหติ, หรือ อธิโมกโข โหติ (พ่อครูแปลว่า เป็นโชคอันดีงาม ที่ผู้นั้นโน้มไปเจริญ สู่การบรรลุหลุดพ้นได้ยิ่งขึ้น) เป็นทิศทางโลกุตระ ทางไปสู่ที่สูง สู่สัมโพธิปรายนะ เราก็จะอ่านออก เมื่อเจริญสูงสุด ก็คือ สุภันเตวะ อธิมุตโต โหติ เป็นโชคอย่างยิ่ง

๔. ผู้ล่วงพ้นรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะ(ละ) ไม่ใส่ใจถึง นานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง จึงบรรลุอากาสานัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า... อากาศหาที่สุดมิได้ (สัพพโส รูปสัญญานัง สมติกฺกมา ปฏิฆสัญญานัง  อัตถังคมา นานัตตสัญญานัง อมนสิการา อนันโต อากาโสติ  อากาสานัญจายตนัง อุปสัมปัชชะ วิหรติ)

ท่านเปรียบเหมือนคนที่สรงน้ำ แล้วใช้จุลสีตัว พ่อครูว่าคือการใช้จุนสี (ภาษาภาคอีสานเรียก สีญ่อมญ้อน) พ่อครูมีความรู้ว่า จุนสี มีคุณสมบัติพิเศษ เอาจุนสีละลายน้ำ ใช้รักษาเนื้อไม้ไผ่ได้ดี โดยเอาลำไผ่แช่แต่โคนไผ่ ไม้ไผ่จะดูดน้ำจุนสีไปทั่วลำไผ่ ทำให้ไผ่อยู่ทนทานได้ คนโบราณมักใช้ จุนสีละลายน้ำ สำหรับลงสรง หรืออาบน้ำ ซึ่งจุนสีจะกระจายไปทั่ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ ที่จะไม่มีจุนสี เมื่อลงอาบจุนสี จะเข้าไปแทรกตัว ตามผิวกาย เปรียบจุนสีเหมือนกับปีติ ที่แทรกซึมไปทั่วกาย เหมือนผรณาปีติ ซึ่งจะต่างจากอุพเพงคาปีติ ที่จะเป็นลักษณะเป็นก้อน ปีติแบบผรณา คือความดีใจสบายใจพอใจสมใจ แต่ไม่ร่าซ่า ไม่แรงอย่างอุพเพงคาปีติ


                มาต่อเรื่องวิญญาณฐิติ ๗
๑.สัตว์บางพวก กายต่างกัน สัญญาต่างกัน (คือปุถุชนทั้งหลาย) เช่น พวกมนุษย์ เทพบางเหล่า พวกวินิปาติกะบางเหล่า เช่นฝรั่งหรือไทย ก็เข้าใจเทวดาต่างกัน เห็นผีในลักษณะต่างกัน คือไปสัญญา บวกกับอุปาทาน ปั้นออกมาเป็น มโนมยอัตตา ต่างกัน ผีฝรั่งก็ไม่เหมือนผีคนไทย ผีกระสือของแต่ละคน ก็กำหนดหมายต่างกัน เทวดาก็ต่างกัน มนุษย์ก็ต่างกัน แม้ในจิตวิญญาณ

๒.สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน  เช่น เหล่าเทพ จำพวกพรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน เป็นต้น เช่นพุทธสัมมาทิฏฐิ กับพวกมิจฉาทิฏฐ ก็สัญญาว่า ไม่มีนิวรณ์เหมือนกัน แต่ว่า พุทธแท้จะลืมตาปฏิบัติ  ปฐมฌานฤาษีกับแบบพุทธ จะมีกายต่างกัน แต่สัญญาอย่างเดียวกัน ตรงกันที่ ไม่มีนิวรณ์ ๕ นั้นสัญญาตรงกัน แต่ได้สภาวะของ องค์ประชุมต่างกัน การนั่งหลับตาก็ได้สภาวะไม่มีนิวรณ์อยู่ในภวังค์ แต่ของพุทธลืมตาเปิดก็ได้สภาวะ ไม่มีนิวรณ์ กายก็ต่างกัน ลืมตากับหลับตา

๓. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสราพรหม (ว่าง..ใส.. สว่าง.. แผ่กว้าง) ใน ๓ ข้อนี้ หมายถึงรูปฌาน

๔. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน  กำหนดความใสต่างกันไป ของพวกนั่งสมาธิ ของพุทธนั้น กำหนดใสขณะลืมตา แต่ของพวกฤาษี ต้องนั่งหลับตา จึงเห็นความใส กัน เช่น พวกเทพ.. สุภกิณหพรหม (ได้นิโรธมืดเป็นโชค)

อย่างอากาสานัญจายตนะ คือว่างใสสว่าง เป็นภพอรูปภพ การนั่งสมาธิ ก็ได้ใสสว่าง พ่อครูเคยทำ มันเป็นสมมุติไปว่า เป็นโลกใหม่อีกโลกหนึ่ง เป็นอรูปภพ อย่างอากาสา คือสว่างโล่ง ทะลุไปไม่สิ้นสุด เหมือนท้องฟ้า เหมือนอวกาศ คุณก็พยายามปั้นสร้าง ตามสัญญาของใครก็ของใคร ใครสำเร็จขึ้นมาก็ ปึ๊ง ไปนอกโลกแล้ว อาโลกสัญญา ซึ่งที่จริง อยู่ในภพตนเอง มีความว่างเหมือนกัน แต่ว่า สัญญาต่างกัน

ในสุญญตสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ศาลานี้ว่า
[๓๓๔] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรอานนท์ แน่นอน นั่นเธอสดับดีแล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว ดูกรอานนท์ ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ เราอยู่มากด้วย สุญญตวิหารธรรม เปรียบเหมือน ปราสาทของมิคารมารดา หลังนี้ ว่างเปล่าจาก ช้าง โค ม้า และลา ว่างเปล่าจากทองและเงิน ว่างจากการชุมนุม ของสตรีและบุรุษ มีไม่ว่างอยู่ก็คือ สิ่งเดียว เฉพาะภิกษุสงฆ์เท่านั้น ฉันใด ดูกรอานนท์ ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกันแล ไม่ใส่ใจสัญญาว่าบ้าน ไม่ใส่ใจสัญญาว่ามนุษย์ ใส่ใจแต่สิ่งเดียว เฉพาะสัญญาว่าป่า จิตของเธอ ย่อมแล่นไป เลื่อมใสตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าป่า เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในสัญญาว่าป่านี้ ไม่มีความกระวนกระวาย ชนิดที่อาศัยสัญญา ว่าบ้าน และ ชนิดที่อาศัยสัญญา ว่ามนุษย์เลย มีอยู่ก็แต่เพียง ความกระวนกระวาย คือภาวะเดียว เฉพาะสัญญา ว่าป่าเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ ว่างจากสัญญาว่าบ้าน สัญญานี้ ว่างจากสัญญาว่ามนุษย์ และรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่ก็คือ สิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่าป่า เท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณา เห็นความว่างนั้น ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัด สิ่งที่เหลืออยู่ ในสัญญานั้น อันยังมีอยู่ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลง สู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ

ของฤาษีในขณะที่ว่าง คุณจะไม่รู้ตัว ว่าตัวเองคือใคร คือแวบแรก ที่ได้ความว่าง แต่มันยังไม่รู้ ว่าเราคือใคร มันมีแต่เสพภพ ยังไม่รู้ว่าเป็นเรา แต่พอรู้ตัวเองว่า นี่เราเข้าไป ในอรูปฌานแล้ว นี่คือ วิญญานัญจายตนะ ก็จะตั้งหน้าตั้งตา ให้อยู่ต่อ อนันโต วิญญานันติ คือขอให้วิญญาณ อยู่ตรงนี้ตลอดไป ไม่กลัวตายกลัวเป็นเลย เป็นธาตุสว่าง

แต่ความรู้ที่เรียนมา ก็ให้ดับต่อไป ไม่ให้มี นิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ก็ไม่ให้รู้ ก็ทำดับจนได้ พอดับได้ก็เป็น อากิญจัญญายตนฌาน ของฤาษี อาฬารดาบส (มาตรวัดยังไม่ทันรู้ ว่ามีแว่บรู้อยู่)

เมื่อดับไปอย่างไร กดข่มอย่างไร ก็ยังมีขันธ์ ๕ ที่ทำงาน กลับออกมารู้จนได้ แต่เขาก็จะ พยายาม สะกดไว้อีกให้ได้ แต่มันจะรู้แว่บอีก ซึ่งอุทกดาบสรู้อีก ก็จะดับมันอีก มันก็เลยแว่บรู้ แล้วก็พยายามดับ ธาตุรู้ที่แว่บมา ก็ยังไม่ได้รู้อะไร เพราะเขาจะดับต่อ เขาเชื่อว่า การดับคือนิโรธ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

ซึ่งสภาพดับพวกนี้ จะไม่พ้นกามาวจร เป็นสัตว์ในร่างมนุษย์ (สัตตาวาส) เป็นฐานะของ อเวไนยสัตว์ เป็นปทปรมะ รู้พุทธพจน์ ท่องจำพุทธพจน์มาก แต่ว่าลดกิเลสไม่ได้ มีอยู่มากมายในสังคม

๕. สัตว์บางพวก ไม่มีสัญญา ไม่เสวยอารมณ์ เช่น เทพจำพวก “อสัญญีสัตว์” (อุทกดาบส ทำนิโรธสมาบัติ ดับจนไม่รับรู้อะไร)

๖. สัตว์บางพวก เข้าถึง.. อากาสานัญจายตนะ (พ้นรูปสัญญา)
๗. สัตว์บางพวก เข้าถึงชั้น.. วิญญาณัญจายตนะ (พ้นเสพความว่าง
๘. สัตว์บางพวก เข้าถึงชั้น.. อากิญจัญญายตนะ (ดับดิ่งไม่มีอะไร)
๙. สัตว์บางพวก.เข้าถึงชั้น.. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ดับๆ รู้ๆ)

ของพุทธมีสัญญาเวทยิตนิโรธ ทำอย่างลืมตา มีผัสสะเป็นปัจจัย ผัสสะเกิด ก็มีเวทนา มีตัณหา ที่เป็นทุกขสมุทัย เราก็กำจัดเหตุ คือทำปุญญาภิสังขาร เมื่อลดตัณหา อุปาทานก็ลด จนหมดเป็น อปุญญาภิสังขาร สั่งสมเป็น อเนญชาภิสังขารในที่สุด

เราจะชัดขึ้นๆ มีญาณที่ละเอียดลออมากขึ้น จะมีญาณขนาดรู้ว่า สุขมันแค่แว่บเดียว แล้วมันก็หายไป เราไปหลงยึดมันไว้ ว่ามันมีจริง ที่จริงมันไม่มี มันไร้แก่นสาร เป็นดั่งหัวฝี มันเป็นสุขลวง เราหลงไปยึด ไปคว้ามันไว้ เพราะโง่หรืออวิชชาแท้ๆ

เราจะมีไฟฌาน ที่จะไปเผา กิเลสที่เราไปหลงว่าเป็นสุข เราจะมี ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันเพ่งเห็น กิเลสสังขาร เป็นภัยอันน่ากลัว.. เพราะล้วนแต่ต้องสลายไป

มีอาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นโทษ . ต่อเนื่องมาจาก การเห็นภัย ในอนุปุพพิกถา ท่านสอนพระยสะว่า มี

  • ทาน
  • ศีล
  • สัคคะ (สวรรค์) .
  • กามาทีนวะ โทษของกาม . สุขเหล่านี้คือผีหลอก
  • เนกขัมมะ การออกจากกาม

เราต้องมาเข้าใจว่า สุขมันมีสองแบบ สุขโลกีย์กับโลกุตระ เทวดาก็มี สมมุติเทพ กับ อุบัติเทพ วิสุทธิเทพ คือเทวดาบริสุทธิ์จากกิเลส ต้องทำด้วยตนเอง ได้ผลด้วยตนเอง

พระพุทธเจ้าท่านให้อยู่กับกามภพ มีสัมผัสเป็นปัจจัย อย่างมี มโนปวิจาร ๑๘ เรารู้ว่า เรายังมีสุขโลกีย์ไหม แล้วทำเนกขัมมะได้ อยู่กับโลกเขา แต่จัดการกิเลสให้ดับ ให้จิตจางคลาย ตามเห็นความไม่เที่ยง ตามเห็นความดับ ตามเห็นความไม่มีตัวตน อย่างมี อนุปัสสี ๔

๑. อนิจจานุปัสสี (ตามเห็นความไม่เที่ยงของกิเลสตัณหา). เมื่อไม่ให้กิเลส มันก็ลดลงได้ มันไม่เที่ยง ต้องแยกระหว่าง เคหสิตเวทนา กับ เนกขัมมสิตเวทนาได้ ทำโยนิโสมนสิการได้ ให้กิเลสลด

๒. วิราคานุปัสสี (ตามเห็นความจางคลายของกิเลส)
๓. นิโรธานุปัสสี (ตามเห็นความดับของสัตว์กิเลสตัณหา)
๔. ปฏินิสสัคคานุปัสสี (เห็นการย้อนทวน กลับไปสลัดคืน) อย่างมีตาหู จมูกลิ้น กายใจ สัมผัสอยู่ ไม่ได้ปิดทวาร ใช้ไฟฌาน เผากิเลส ราคะ-โทสะ-โมหะ

ต่อไปเป็นการตอบประเด็น

บทสวดบูชาพระรัตนไตร เช่น อรหังสัมมา ใครแต่ง มีประวัติอย่างไร?
ตอบ...ไม่ทราบ พ่อครูไม่ใช่นักวิชาการนักรู้อะไรหรอก

พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแต่ฉันเนื้อสัตว์ จะเป็นอาริยะได้หรือไม่?
ตอบ พอเป็นได้ แต่ว่าการกินเนื้อสัตว์ จะมีอิทัปปัจจยตา คนจะมีปัญญารู้ว่า ทุกอย่างมาแต่เหตุ รู้ว่าเพราะเราเป็นเหตุ เขาถึงฆ่ามาให้เรา จะรู้จะมีปัญญารู้จริงๆ พระพุทธเจ้า จึงอธิบาย จะกินเนื้อได้อย่างบริสุทธิ์ ด้วยส่วนสาม คือเนื้อสัตว์ที่กินได้ เรียกว่า ปวัตตมังสะ ซึ่งมีอยู่ ๒ นัยคือ

นัยที่ ๑ หมายถึง สัตว์ที่ตายเอง โดยไม่มีใครฆ่า ซึ่งไม่เป็นเหตุให้ใครทำบาป ใครจะกินเนื้อสัตว์แบบนี้ ก็กินเถอะ เพราะไม่มีใคร เชื่อมโยงบาปบุญ

นัยที่ ๒ เดนสัตว์กิน สัตว์เดรัจฉานก่อบาป เนื้อ ๒ อย่างนี้ท่าน อนุญาต ถ้าจะกิน ใครมีปัญญาก็ฟังขึ้น ส่วนเนื้อสัตว์ที่ท่านห้าม เรียกว่า อุทิศมังสะ แปลว่า มุ่งหมายหรือจงใจ ถ้าสัตว์ใด ถูกฆ่าโดยคน ที่มีอุทิศ คือ มีการจงใจมุ่งหมาย ฆ่ามันจนตาย แล้วเอาเนื้อมันมากิน ก็คือบาปเกิดแล้ว ไม่ใช่ว่า มันตายโดยอุบัติเหตุ แต่เป็นคนนี่แหละ มุ่งหมายฆ่ามันอย่าง ผิดศีลครบองค์ ๕ คือ ๑. สัตว์มีชีวิต ๒. รู้อยู่ว่ามันมีชีวิต ๓. คิดอ่านฆ่า ๔. ลงมือพยายามฆ่า ๕. ฆ่าจนสำเร็จสัตว์ตาย นี่คือผู้ที่ทำบาปครบเลย เป็นปาณาติบาต ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งเขาแปลผิดๆ แบบเบี้ยวบาลี ว่า เนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ปวัตตมังสะ เนื้อที่ขายตามตลาด ที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ว่าเขาฆ่าเพื่อตน และไม่รังเกียจสงสัย ว่าเขาฆ่าเจาะจงเพื่อเรา แต่ในความเป็นจริง เราก็ต้องรู้ว่า เขาฆ่าเพราะเรากินมัน ถ้าเราไม่กิน เขาก็ไม่ฆ่ามาขายหรอก

         ที่ว่า ทำบุญแต่ได้บาป ๕ ลำดับ
๑. ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา” (อุทิศ, อุททิสสะ คือ เจาะจงมุ่งหมายไปที่สัตว์ชื่อนั้น)
๒. สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัส
๓. ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้”
๔. สัตว์นั้น เมื่อกำลังถูกเขาฆ่า ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส
๕. ผู้นั้นยังตถาคตและสาวกตถาคต ให้ยินดีไปด้วยเนื้อ ย่อมประสพบาป มิใช่บุญ เป็นอันมาก (ตถาคตํ วา ตถาคตสาวกํ วา อุทฺทิสฺส ปาณํ อารภติ โส อิเมหิ ปญฺจหิ ฐาเนหิ พหุง อปุญฺญํ ปสวตีติ) 

คนตายแล้วเกิดทันทีหรือยังไม่เกิด ถ้าไม่เกิด จิตวิญญาณไปค้างที่ไหน ช่วยอธิบาย อย่างละเอียด...
ตอบ.. คนเกิดมาแล้วตายไป จะไปเกิดเป็นเทวดานั้นมีน้อย ส่วนใหญ่ตกนรกทั้งนั้น เพราะคนเกิดมาส่วนใหญ่ เพิ่มกิเลส คิดดูแค่กินอร่อย ก็เพิ่มกิเลสแล้ว สรุป ตายแล้วเกิดทันที ตามวิบาก ไม่ได้ค้างเติ่ง เหมือนตกบนที่สูง เหมือนตกที่ชายคา หรือไปค้างอยู่ที่ไหนหรอก
จิตจะเกิดใหม่ คุณต้องสั่งสมกุศลอกุศล แต่ตอนเป็น มีกรรมเป็นสมบัติ เป็นทายาส มีบาปบุญไปเต็มๆ แบ่งใครไม่ได้ มีกรรมเป็นของคุณ แบ่งคนอื่นไม่ได้ กรรมพาคุณเกิดพาเป็น

ผมรู้สึกประทับใจที่ท่านลงไปเข็นรถที่ติด แต่ผมรู้สึกว่า มีหนามไมยราพ เกี่ยวบ่าพ่อท่านเกือบล้ม การเข็นรถน้ำ ในตำแหน่งที่อันตราย ล้อที่หมุน ขอกราบพ่อท่าน ให้ระมัดระวังอันตราย ไม่ให้อันตรายมากเกินไปครับ ผมไม่ทราบว่าปัจฉาฯ จะเห็นเหมือนผมหรือไม่ ได้เตือนพ่อครูหรือไม่..

ตอบ คนมักมองว่า พ่อครูจะอายุ ๘๐ ปีแล้ว ไม่อยู่สมแก่ แต่พ่อครูว่า พ่อครูรู้สึกว่า ไม่ได้แก่ เมื่อเทียบกับคนที่อายุ ๘๐ พ่อครูก็เท่กว่านะ หลายอย่างปัจฉาฯ ก็เตือนพ่อครู ได้บ้างไม่ได้บ้าง ท่านก็แสดงน้ำใจ

ขณะที่พยายามกำหนดรู้นามธรรม เช่นเวทนา คือการที่เรากำลังฝึก สร้างญาณ สร้างสัญญา ฝึกสัญญาไป เป็นปัญญาใช่หรือไม่
ตอบ.. ถูกต้อง ตามองค์ธรรม ๖ สัมมาทิฏฐิ ๖ ที่เป็นอนาสวะ ของ พระอาริยะ ที่จะมีปัญญา – ปัญญินทรีย์ - ปัญญาพละ เกิดจาก ธัมวิจัยสัมโพชฌงค์ และมัคคังคะ โดยมีสัมมาทิฏฐิ เป็นการเกิดเนื่องของ อิทัปปัจยตา หรือ ปฏิสัมพัทธ์ของจิต เป็นสัมพัทธภาพ ทางนามธรรม ที่เหนือกว่าไอสไตน์ ซึ่งมีนิพพาน เพียงอย่างเดียว ที่ไม่มีปฏิสัมพัทธ์

สัญญากำหนดรู้สิ่งใดบ้าง
ตอบ... ก็กำหนดรู้ในสติปัฏฐาน กำหนดสิ่งที่ควรรู้ จากนอกไปถึงใน ทุกเวลาสัญญา จะกำหนดรู้เจริญขึ้น

สังขาร ๓ กาย-วจี-จิต เกิดจากการกระทบสัมผัส ภายนอกทั้งสิ้น และมีการจัดการที่เดียวหรือไม่

ตอบ.. ทำทั้งนอกและใน กายสังขารก็พอเข้าใจ มีมหาภูตรูป ปรุงแต่งตื้นๆ แต่ถ้าอุปาทายรูป จะเกิดจากการ กระทบสัมผัสภายนอก แล้วมีการสังขารภายใน ส่วนจิตสังขารนั้น หมายเอาบริบท ในจิตเท่านั้น ซึ่งต่อเนื่องจากกายสังขาร ซึ่งจะมีวจีสังขาร ที่คือ สิ่งปรุงแต่งภายในมโน ต้องจัดแจงในวจีสังขาร ถ้ามีกาม หรือพยาบาท มาปรุงร่วมต้องรู้ แล้วหยุดการปรุงร่วม คนเรามีวจีสังขาร ออกมาเป็น คำพูดเร็วๆ อย่างสัญชาติญาณ คนเรามีการรู้ ห้ามกั้นบ้าง ตามมารยาท แต่ไม่ได้ฝึกให้รู้ อย่างละเอียด การกำหนดรู้ตำแหน่งเดียว ก็คือใจนี่แหละ

เลือกข้างการเมือง เป็นอบายมุขหรือไม่ มันเมามันได้แรง ได้ร่วมหนุกหนาน และจะทรงอนัตตาได้อย่างไรคะ

ตอบ.. การเมืองที่จริงควรเลือกข้าง ไม่เป็นอบายมุข มันเป็นงานของสังคม พ่อครูก็เลือกข้าง แต่นักการเมืองทุกวันนี้ ไม่มีให้เลือกเลย จึงต้องเลือกกลางๆ คือต้องเข้าข้างส่วนดี ส่วนถูกต้อง ต้องข่มสิ่งไม่ดี ยกสิ่งที่ถูกต้อง ความเป็นกลาง ของปรมัตถ์ นั้นลึกซึ้ง แต่ในโลกนั้น กลางไม่ไปไม่มาเลย ไม่มีหรอก กลางอย่างโลก ต้องเข้าข้างสิ่งดี แต่กลางอย่างปรมัตถ์ ต้องเข้าถึงความเป็นกลาง จากอุเบกขา ไปหามัชฌิมา กลางคือนิวทรอน ไม่สุขไม่ทุกข์อย่างถาวร ไม่ไปไม่มา จิตตัวถาวรอุเบกขา คือบารมี ข้อที่ ๑๐ อยู่กับโลกอย่างอนุโลม แต่ใจกลาง ถ้าจะเข้าข้าง ก็เข้าข้างคนดี

ผู้ที่บรรลุอรูปฌานได้อากิญจัญญายตนะ เมื่อตายไป ไปไหน
ตอบ.. จะได้อยู่ในภพมืด อย่างอาฬารดาบส

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเทวดาเหล่านั้น เป็น อุบัติเทพ หรือ วิสุทธิเทพเท่านั้นหรือไม่  
ตอบ.. เป็นเรื่องพุทธวิสัย เทวดาคือจิตสูง เทวดาอย่างที่ตายไป ไปสอนอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่โลก ที่จะสร้างพรหมจรรย์ ไม่ใช่ อิธะ พรหมจริยวาโส โลกที่จะสร้าง ความเจริญ ช่วยได้คือ โลกที่มีกาย ยาววาหนาคืบกว้างศอก พร้อมสัญญาและใจ คือโลกชมพูทวีป พระพุทธเจ้าท่านว่า ท่านพบเทวดา เป็นเรื่องธรรมะที่สูง เทวดาคือ ผู้ที่พาสูง พระพุทธเจ้าท่านส่งเสริม ให้สูงขึ้น ด้วยจิตตนเอง เป็นอจินไตย เป็นนามธรรม ปรมัตถ์ พ่อครูก็คุยกับเทวดา คือจิตตนเองบ่อยๆ

คนที่โดนลงพรหมทัณฑ์ในหมู่ แล้วไม่แก้คืนมีบาปไหม?
ตอบ.. บาป

ระหว่างวันที่ ๑-๓ เม.ย. รัฐบาล และสภากำลังดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระผม มีความสิ้นหวัง ทุกข์ระทมจริงๆครับ...
ตอบ.. พยายามมอง โลกก็เป็นเช่นนั้น เราอยู่ในโลกหนีไม่ออก หัดปฏิบัติธรรม แล้ววางใจ อันไหนช่วยได้ก็ทำ

ประเทศทางทิศตะวันออก และใต้ของไทย มีความโลภมาก อยากได้ดินแดนของไทย ไปเป็นของตนด้วยครับ
จากพล.เรือตรีมินทร์ 

.........จบ