560513_รายการเรียนอิสระ(ตามสำนึก) โดยพ่อครูและอ.กฤษฎา
เรื่อง อาหาร ๔ ที่เป็นไปเพื่อสัญญาเวทยิตนิโรธ

        
       อ.กฤษฎา เปิดรายการที่ศาลาฟังธรรมปฐมอโศก...

วันนี้จัดที่ปฐมอโศกอีกครั้งหนึ่ง ตรงกับวันพืชมงคลพอดี เป็นวันสำคัญ เกี่ยวกับเรื่อง ของข้าว มีความเกี่ยวเนื่องกับธรรมะ อย่างสำคัญ เพราะเรื่อง การกินอยู่หลับนอน นั้นเป็นกรรมฐาน ของชาวอโศก ในการปฏิบัติธรรม

พื้นฐานของชีวิตคือ ขันธ์ ๕ มีความเห็นของบางคนบอกว่า การปฏิบัติ จะต้องดับ เวทนาให้ได้ ซึ่งองค์ประกอบของชีวิต คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าองค์ประกอบหายไป จะเป็นคน หรือเป็นชีวิตได้หรือไม่

วันนี้วันพืชมงคล พืชจะมีความสำคัญอย่างไร ในเรื่องของ กวฬิงการาหาร ที่เป็นเรื่องสำคัญ ในการปฏิบัติธรรม เพราะเราต้องกินทุกวัน ซึ่งในการกินของเรา จะมีความต่อเนื่อง เชื่อมโยง ในกระบวนการของ ตัณหาอุปาทาน ทุกวันนี้ในสังคม จะมีพฤติกรรมว่า จะกินอาหารเมื่อใด จะต้องถ่ายภาพอาหาร ไปอวดกันก่อนกิน ดูเหมือนว่า จะไปเพิ่มการโชว์อวดเข้าไปอีก

พ่อครู....เรื่องนี้คงจะอธิบายกันอีกนาน เรื่องอาหาร ๔ นี่คงต้อง แจกละเอียดพิศดาร ให้รู้ว่าอาหาร คือเครื่องอาศัย ในชีวิต ทั้งอย่างหยาบ อย่างละเอียด เราต้องอาศัย ซึ่งก่อนจะได้อ่านเรื่อง อาหารวรรค ในพระไตรปิฎก ที่ในรายการที่แล้ว พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ จะสรุปตรงกันว่า ปฏิบัติธรรม จะเห็นการเกิดการดับ ทำอย่างไร จึงจะไม่มีชรา และมรณะ และอะไรมีอยู่ จึงเกิดชราและมรณะ

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็สรุปว่า ชรามรณะย่อมมี เพราะกระทำไว้ในใจ โดยแยบคาย จึงได้รู้ด้วยปัญญา ซึ่งคำว่า เพราะกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ก็คือคำว่า "โยนิโสมนสิการ" เป็นคำยิ่งใหญ่ ซึ่งถ้าไม่เข้าใจ อย่างคมชัดแม่นจริง จะไม่เกิดผล

ผู้รู้หรือโบราณาจารย์มากมายแปล โยนิโสมนสิการว่า คือการพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งไม่ผิด แต่พ่อครูว่า แปลอย่างนั้นไม่ครบ เพราะทำให้คนแค่พิจารณา ด้วยความคิด วิจัยวิจารณ์ ด้วยตรรกะ ซึ่งไม่ครบไปถึง มนสิการ แต่เฉพาะคำว่า โยนิโส คืออย่างแยบคาย ละเอียดละออ ซึ่งจะละเอียดได้ จะต้องพิจารณา จนเห็น การกระทำ ใจในใจ เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำใจในใจไม่เป็น หรือทำผิด คือทำอย่าง มิจฉาทิฏฐิ ก็เรียนกัน ปฏิบัติกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การนั่งสมาธิ เข้าในภพ เป็นการทำใจในใจ เหมือนกัน แต่เป็นการทำใจในใจที่ผิด ระบบของพุทธศาสนา ก็ได้ผลเหมือนกัน แต่เป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นนิโรธแบบฤาษี กดข่มเป็นมิจฉาผล ไม่ตรงกับที่ พระพุทธเจ้า ค้นพบ และประกาศ

คำว่า ฌาน สมาธิ หรือนิโรธ ที่ทำกันมาทุกวันนี้ ก็ต้องบอกว่า ท่านเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ ท่านว่าการเข้า-ออก นิโรธ นั่งหลับตา ถือว่าเป็น สมาธิ นิโรธ ที่ไม่ถูกต้อง หรือผิด ก็เลี่ยงไม่ออก ที่จะไม่บอก พ่อครูเคยฝึกทำใจในใจ แบบนั้นมาแล้ว ก็ทำได้ แต่รู้ว่า มันไม่ถูกต้อง เลยเลิกทำ จึงเข้าใจผู้ที่ทำไม่ถูกต้อง ก็สงสารเขา

การทำใจในใจไม่ครบ ก็ไปแปลแค่ โยนิโส ว่าแค่การพิจารณาด้วยเหตุผล ไม่ลงลึกไปถึง การทำใจในใจ หยั่งลงไม่ถึงจิต จึงไม่เป็นปรมัตถธรรม แต่ที่เขาไปนั่งหลับตา ทำสมาธิ ก็ทำใจในใจ แต่ไม่ใช่แบบพุทธ บางสำนัก ก็ไปนั่งอ่านใจในใจ แต่นั่นคือ อ่านนามธรรม ที่เป็นอรูป ไม่ได้มีสัมผัส มีองค์ประกอบ ที่กระทบทางทวาร ๕ ไม่มีกายสังขาร มันมีแต่สัญญา มีแต่อรูป ยกความจำ ความคิดมาอ่าน ในขณะนั่งหลับตา ก็ดับทวาร ที่รับรู้ภายนอก ก็เลยไม่ครบ ทวารนอกทวารใน ไม่ใช่พหิทธา รูปานิ ปัสสติ ที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน วิโมกข์ ๘ ข้อที่ ๒ มันก็มีแต่ อัชฌัตตัง อรูปสัญญี ก็ได้แค่นั้น ไม่ครบ มันขาดมันแหว่ง

อ.กฤษฎา แทรกว่า การทำใจในใจ เรื่องสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ ต้องทำใจในใจ ให้ถึง สติปัฏฐาน ๔ ทั้งหมด ใช่หรือไม่

พ่อครูว่า ในมหาสติปัฏฐาน หรืออานาปานสติสูตร ท่านก็ไม่ทิ้งคำว่า กายภายนอกเลย คนที่ไม่ละเอียด จะเอาแต่กายใน และไปตัดทิ้งกายนอกไม่มีสัมผัส จึงขาดแหว่ง ไม่สมบูรณ์ พ่อครูพิสูจน์ความเข้าใจ แล้วปฏิบัติ จนเกิดมรรคผล และก็เอาหลักฐาน ในพระไตรฯ มาแสดงด้วย

การทำใจในใจ นั้น ต้องทำก่อนจะมีการพิจารณาโดยแยบคาย การทำใจ หรือจัดแจงใจ ก็คือการสังขาร หรือปรุงแต่ง ถ้าปรุงแต่งด้วยวิชชา โดยรู้ว่าเรากำลังจัดแจง ปรุงแต่งใจเรา ให้เป็นเช่นนี้ๆ โดยการอ่านของจริงด้วย เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง ก็จะเกิดเป็น เวทนา รับรู้สึก แล้วก็จะเป็นองค์ประชุม คือกาย

นามกายหรือนามรูป คือสิ่งที่ถูกรู้ ถ้าเป็นกายที่เป็นนามกายในใจ ก็คือ สภาพองค์ประชุม ของความรู้สึก เรียกโดยพยัญชนะว่า "เวทนา" ก็คือ อารมณ์หรือความรู้สึก ผู้ใดอวิชชา เมื่อกระทบสัมผัส ก็เกิดเวทนา ก็ปรุงด้วยอวิชชาปุ๊บ เลยเป็นกายออกมา ด้วยอกุศลเหตุ คือกิเลสตัณหาในจิต ก็ปรุงกันเละเลย อันนี้ชอบไม่ชอบ ก็เกิดอารมณ์ชอบชัง อยู่ตลอดเวลา

รู้จักสังขาร ในพระไตรฯล. ๑๖ ท่านให้เรียนรู้ กายสังขาร จิตสังขาร วจีสังขาร ซึ่งวจีสังขาร คือมโนกรรมที่ปรุงแต่งกันในใจ ผู้ศึกษาจะรู้ว่า ตอนนี้ มันสังขารออกมา เป็นวจีอยู่ในใจแล้ว มันปรุงเป็นภาษา ที่พร้อมจะออกมา สื่อให้คนอื่นรู้ ถ้าคุณเป็นอีสาน มันก็สื่อเป็นภาษาอีสาน เป็นเขมรหรืออังกฤษ ก็เป็นเขมรหรืออังกฤษ มีหลายภาษา ก็ออกมาเป็นหลายภาษา ตามถนัด แต่อยู่ภายในจิต ยังไม่ออกมาภายนอก

คำว่าจิตสังขาร ก็รวมทั้งกายสังขาร ที่สัมผัสภายนอกด้วย คือเมื่อผัสสะแล้ว ก็จะต่อเนื่อง มาสู่จิตสังขาร แล้วก็จัดแจง เป็นวจีสังขาร ถ้าคุณมีอวิชชา ก็ปรุงไปตามกาม พยาบาท แต่ถ้าคุณมี อภิสังขาร ก็สามารถดับเหตุ ที่มาปรุงแต่งร่วมด้วย ดังนั้น วจีสังขารของคุณ ก็สะอาดบริสุทธิ์ เป็นจิตสังขาร

วจีสังขาร อยู่ในมรรคองค์ ๘ ในภาคที่จะต้องรู้จัก สังกัปปะ ๗ (คือ ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา วจีสังขารา)

ตักกะ มีอาการของใจอย่างไร ผู้ปฏิบัติจริง ก็ต้องกำหนดรู้ ตั้งแต่เริ่มดำริ ก็รู้ว่า มันมีอำนาจกิเลส มาปรุงแต่งหรือไม่ รู้เหตุที่มันจะพาเรา มิจฉาสังกัปปะ ปรุงแต่งอย่าง อวิชชา แต่ถ้าคุณสามารถมนสิการ หรือทำใจในใจเป็น เมื่อมันมีกาม เข้ามาผสมปรุงแต่ง คุณก็ดับตัวอาการ ของกามเสีย จับมาวิเคราะห์ในใจ แล้วก็ฆ่าหรือกำจัด ทำให้มันหยุด จนมันออกไปจากใจ (เนกขัมมะคือ กำจัดกามออกจากใจ) ไม่ใช่แปลว่า ออกจากกาม จะให้ชัดต้องแปลว่า กำจัดกามออกจากใจ เรียกว่า เนกขัมมะ

หรือกำจัดพยาบาทที่เป็นมิจฉาสังกัปปะ กำจัดได้จริง เฉพาะแต่กาม หรือพยาบาท ทำให้กามมันดับ ทำให้กามไม่ตั้งอยู่ในใจสำเร็จ อย่างกดข่ม ก็ไม่เที่ยง แต่ถ้าด้วยปัญญา เห็นว่า มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอาคันตุกะ หากกำจัดมันไป ใจเราก็ไม่เว้าแหว่ง แต่กลับจะเป็น ใจที่เต็มผ่องใน ต้องเห็นด้วยปัญญาอย่างยิ่ง ทำให้กิเลส มันยอมแพ้ ด้วยปัญญา หรืออำนาจอันวิเศษ ดับด้วยปัญญา ไม่ใช่ไปกดข่ม หรือนั่งหลับตา ลืมทิ้งไป ซึ่งเขาทำง่าย ทำมานาน เป็นลัทธิที่ฝึกกันมานาน คือการนั่งหลับตา สะกดจิต แต่ของพระพุทธเจ้านั้น ลึกซึ้งมากกว่า

ถ้าศึกษาจริง จะรู้ จิตสังขาร วจีสังขาร รวมแล้วในจิต คือจิตสังขาร แต่ถ้ารวมทั้ง ภายนอกภายใน แต่ถ้าเอาแค่กายในกาย ก็ตัดภายนอกออก เอาแต่ภายใน จนกระทั่ง มันเป็นรูป หรือมันเป็นอรูป จนกระทั่ง มันเป็นแค่อาการ เราก็สามารถรู้ลีลาของ เจตสิกต่างๆได้ กำหนดหมายได้ว่า นี่คืออาการกาม อาการโลภ คุณก็มีนิมิต หรือเครื่องหมายเอง มันต่างกันนะ มีลิงค หรือแม้แต่อาการโกรธ อย่างแรง อย่างเบา ก็ต่างกัน เราก็รู้ตระกูลของมัน ซึ่งมีอยู่ ๓ คือ ราคะโทสะโมหะ เป็นต้น

อธิบายแยกในเรื่องการทำใจในใจก่อนถึงอาหารวรรค สรุปเรื่องการทำใจในใจ โดยแยบคาย จึงจะสำเร็จ ปฏิจจสมุปบาททั้งพวง หรือทั้งปวงทั้งหมด ต้องทำใจในใจ ไม่ว่าจะทำสังขาร วิญญาณ นามรูป อายตะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา นี่คือตัวการใหญ่ ที่จะทำให้หาย และอุปาทานจะดับ ภพจะดับ ชาติจะดับ แต่ไม่ได้หมายความว่า เวทนาจะดับไปหมด ไม่ใช่เลย

มีชายคนหนึ่งชื่อว่า วิสาขอุบาสก มาพบ ธรรมทินนาภิกษุณี เพื่อถามปัญาหา แล้วต่อเนื่อง มาถึง พระไตรฯล.๑๒ ข้อ ๕๑๐ ว่า เรื่องสัญญาเวทยิตนิโรธ
          [๕๑๐] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอย่างไร?
   ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจัก เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ว่าเรากำลัง เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ว่าเราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว ก็แต่ความคิด อันนำเข้าไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้ว ตั้งแต่แรก.
   วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรม คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน ย่อมดับไปก่อน?
   ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับก่อน ต่อจากนั้น กายสังขารก็ดับ จิตตสังขาร ดับทีหลัง.
   วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นอย่างไร?
   ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มิได้มีความคิด อย่างนี้ว่า เราจัก ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ว่าเรากำลังออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ว่าเราออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ก็แต่ความคิด อันนำเข้าไป เพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วแต่แรก.

พ่อครูว่า...ท่านก็ปฏิบัติให้กิเลสคลายจาง แล้วก็มีนิโรธ มันไม่มีภพ เมื่อดับโลก ดับภพหมด คุณจะไปเข้าไปออกทำไม มันตัดภพ จบชาติแล้ว ดูจากที่ภิกษุณีว่า ท่านไม่ใช่ ทั้งมีการเข้า และออกอย่างนั้น ซึ่งเป็นการกำหนดรู้ หรือสัญญาที่ผิด ดังนั้น กายก็คนละกาย องค์ประชุมภายนอกภายใน ก็ไม่เหมือนกัน เพราะนั่งหลับตา ก็ไม่มีกายภายนอก แม้แต่การนั่งหลับตา ก็ให้ดับอีก ก็เลยได้นิโรธมืด เป็นสุภกิณหพรหม อย่างมิจฉาทิฏฐิ แถมยังถือว่า เป็นโชค อีกต่างหาก เป็น สัตตาวาส ข้อ ๔. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพมืด สุภกิณหพรหม (ได้นิโรธมืด เป็นโชค) ของแบบฤาษีนั้น ต้องเข้าต้องออก เพราะได้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เวียนกลับ ก็เลยมีการเข้าการออก แต่ของพุทธนั้น จะดับก็ดับแต่เหตุ ที่เป็นอกุศล เท่านั้น ไม่ต้องมี การเข้าการออก เมื่อดับเหตุได้ ก็เป็นนิโรธเลย

   วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมคือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน เกิดขึ้นก่อน.
   ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขาร เกิดขึ้นก่อน ต่อจากนั้น กายสังขารก็เกิดขึ้น วจีสังขารเกิดขึ้นทีหลัง.

พ่อครูอธิบายแทรกว่า ...เมื่อคุณจดจ่อทำใจในใจ จึงเกิดจิตสังขารก่อน แต่ก็ต้องไม่ทิ้ง ภายนอก กายสังขารจึงตามมา และเมื่อจัดแจงใจเสร็จ วจีสังขารจึงเกิดทีหลัง

   วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้อง ภิกษุผู้ออกแล้วจาก สัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติ?

         พ่อครูอธิบายว่า จะเห็นได้ว่า ต้องมีผัสสะ หรือสัมผัสอยู่ กับผู้ที่ออกจาก หรือล่วงพ้น สัญญาเวทยิตนิโรธ อย่างไรก็คือ

              ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ผัสสะ ประการ คือ ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง) ผัสสะ ชื่ออนิมิตตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต) และผัสสะ ชื่ออัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง) ย่อมถูกต้องภิกษุ ผู้ออกแล้วจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.

พ่อครูแทรกว่า...ในวงเล็บ อัปปณิหิตะ คือไม่มีความอยากแล้ว แต่ผู้วุฏฐานะ คือออกจาก คือได้แล้ว เป็นแล้ว ได้แล้วสมบูรณ์แล้ว

   วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ภิกษุผู้ออกแล้วจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ. มี จิตน้อมไป ในธรรมอะไร โอนไปในธรรมอะไร เอนไปในธรรมอะไร?
   ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกแล้วจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มีจิตน้อมไป ในวิเวก โอนไปในวิเวก เอนไปในวิเวก.

พ่อครูอธิบายแทรกว่า. สุดท้ายคือสงบ สงบอย่างพุทธ คืออยู่อย่างมีผัสสะ มีจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง คือผู้มีความดับคือนิโรธ ดับอย่างมีแสงสว่าง มีญาณ ปัญญา เป็นเรื่อง สุดลึกซึ้ง

อ.กฤษฎา ..ถามแทรกว่า ถ้าใครฟังตอนนี้ สิ่งที่พ่อครู ยกมาเป็นวิชาการ ในพระไตรปิฎก มีการอธิบาย เนื้อหา สิ่งที่เกิดขึ้น ก็มาจาก อายตนะ ๖ ขันธุ์ ๕ ซึ่งไม่มีทาง ที่จะไปตัด ให้เหลือแต่ อายตนะ ๒ หรือขันธ์ ๔ แต่อย่างใด

พ่อครูว่า จะเห็นได้ชัด จากสูตรที่ผ่านมา อุบาสก เขาซักถาม ภิกษุณีธรรมทินนา และถามไปถึง นิพพานเลยทีเดียว เช่นถามว่า เล่ม ๑๒ [๕๑๒]
   วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อะไรเป็นส่วนเปรียบ แห่งสุขเวทนา?
   ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคะเป็นส่วนเปรียบ แห่งสุขเวทนา.
   วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งทุกขเวทนา?
   ธ. ปฏิฆะเป็นส่วนแห่งเปรียบแห่งทุกขเวทนา.
   วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา?
   ธ. อวิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา.
   วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา?
   ธ. วิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา.
   วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา?
   ธ. วิมุติเป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา.
   วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุติ?
   ธ. นิพพานเป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุติ?
   วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งนิพพาน?
   ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ท่านล่วงเลยปัญหาเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาส่วนสุดแห่งปัญหาได้ ดูกรวิสาขะ ผู้มีอายุ เพราะพรหมจรรย์หยั่งลงในพระนิพพาน มีพระนิพพาน เป็นที่ถึง ในเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นที่สุด ถ้าท่านจำนงอยู่ ก็พึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ทูลถาม เนื้อความนี้เถิด พระผู้มีพระภาค ทรงพยากรณ์ แก่ท่านอย่างใด ท่านพึงจำ ทรงพระพยากรณ์นั้น ไว้อย่างนั้นเถิด.

             ซึ่งวิสาขอุบาสก ก็ไม่ย่อท้อไปถามพระพุทธเจ้า ก็ถามเช่นเดียวกันกับ ที่ถาม ธรรมทินนาภิกษุณี พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า จะตอบเหมือน ภิกษุณีธรรมทินนา เป็นการรับรอง

ที่อธิบายผ่านมา คืออธิบายการทำใจในใจ ต่อเนื่องมา ต่อมาจะเข้าสู่ อาหารวรรค ในพระไตรล.๑๖

วันนี้เราบรรยายธรรม หน้าศพของโยมบุญแรง .. ผู้ที่พอใจ จะมาเผาที่ พุทธสถานเราก็ดี ในเรื่องของอาหาร ผู้ปฏิบัติธรรมในอโศกเรา จะมีโภชเนมัตตัญญุตา เป็นกรรมฐาน ของชาวอโศก คือ กิน อยู่ หลับนอน (กินคือ โภชเนมัตตัญญุตา อยู่ก็คือ สำรวมอินทรีย์ ส่วนหลับนอนคือ ชาคริยานุโยคะ )

         อาหารของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ มี ๔ อย่าง
๑.กวฬีการาหาร (อาหารคำข้าว ให้รู้กิเลสเบญจกาม) . .
๒.ผัสสาหาร (อาหาร คือ ผัสสะกระทบให้เกิดเวทนา) .
๓.มโนสัญเจตนาหาร (อาหารใจที่เจตนามุ่งกับตัณหา) . .
๔.วิญญาณาหาร (อาหารของวิญญาณ คือ กำหนดรู้จักแยกแยะนาม-รูป แล้วกำจัดเฉพาะ อาสวะ ให้จบสิ้น)

อาหาร ๔ นี่คือความยังอยู่ ในความเป็นไปของหมู่สัตว์ ให้อยู่ได้ ถ้าชื่อว่าสัตว์นี้ จะต้องมี อาหารทั้ง ๔ อย่าง เป็นเครื่องอาศัย และถ้าไม่เรียนรู้อาหาร ๔ ก็มีแต่กิเลส เช่น อาหารคือคำข้าว นี่แหละ เต็มไปด้วยกิเลส คำว่าโภชน ก็คือทั้งเครื่องอุปโภค และบริโภค เรียกว่า บริโภคนอก และบริโภคใน

กวฬีการาหาร ทั้งคนทั้งเดรัจฉาน ก็ต้องอาศัย จะเป็นเวไนยสัตว์ หรืออเวไนยสัตว์ ก็ต้องกินอาหาร แต่ว่าไม่รู้ว่า มีกิเลสอยู่ในอาหาร ที่จะเกี่ยวเนื่อง ทั้งภายนอกภายใน

เราผัสสะอาหารทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่นวันนี้แม่ทำอาหารอะไร กลิ่นโชยมา ก็อยากแล้ว เดินเข้าไปดู เห็นแล้วสีสวย น่าดูน่ากิน ในกิเลสคือ อาหารนั้นครบเลย ทั้งผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร

ถ้าได้กลิ่นมาแต่ในครัว ว่ากลิ่นอะไรในครัว ได้กลิ่นก็อ้วกจะแตก นี่คือเจตนา ไม่อยากได้ ไม่อยากมีแล้ว นี่ก็คือ มโนสัญเจตนา

ถ้าผู้อวิชชา ก็หม่ำกิเลสทุกคำข้าว หรือก็กินๆ เพื่อให้พ้นไป จะได้ไปทำอย่างอื่น ก็ผ่านไป เท่านั้น แต่ผู้ศึกษาจะอ่าน กิเลสที่อยู่ในการกินอาหาร นี่แหละ เราต้องศึกษา ว่ามันปรารถนา ผลักหรือดูด ในมโนสัญเจตนาหาร

ตัวสำคัญคือ วิญญาณ คือธาตุรู้ คือทั้งหมดเลย ซึ่งธาตุรู้จะมี เจตสิก ๓ คือ เวทนา สัญญา สังขาร นี่คือตัวการใหญ่ ของวิญญาณ เมื่อผัสสะปุ๊ป ก็ปรุงแต่งสังขาร เกิดวิญญาณเลย จริงๆแล้ว เวทนากับสังขาร คือตัวเดียวกัน ในปฏิจจสมุปบาท สังขารปรุงแต่ง แล้วก็เป็น เวทนา ก็เกิดนามรูป ถ้าอ่านเวทนาออก ก็จะรู้การสังขาร ซึ่งในการสังขาร เกิดเวทนา ก็มีตัณหาเป็นตัวการ

เมื่อผัสสะปุ๊บ ตื่นมากระทบ ทางทวาร ๕ ก็เป็นเรื่องที่ถูกปรุงแต่งจากสังขาร ที่มีอวิชชา ทั้งสิ้น ทำอย่างไร เราจะมีธัมวิจัย แยกแยะ ถ้าอยากเอาออก ก็เรียกว่า พยาบาท ถ้าอยากเอาเข้า ก็เรียกว่ากาม

การปฏิบัติธรรมอยู่แค่นี้ เข้าใจให้ดี ปฏิบัติได้ถูก รับรองว่า คุณได้มรรค ได้ผลแน่นอน

คำว่าโภชเนมัตตัญญุตา ก็คือ ต้องรู้จักการจัดแจงประมาณในเรื่องอาหาร จะพิจารณา อย่างไร ให้มีอาหาร ที่กินเลี้ยงร่างกาย เป็นตัวหลัก ที่จะเกิดกิเลส อย่างแท้จริง หากแยกแยะ กิเลสได้ จับตัวการใหญ่ ที่ไปปรุงแต่ง โดยมีวิธีกำจัด มีวิธีปหาน โดยพิจารณา เห็นความจริง อันลึกซึ้ง ว่ามันไม่เที่ยง มันหลอก ให้เราหลงใหล วนเวียนมา แม้ได้อารมณ์สุข ก็เป็นสุขเท็จ สุขหลอก อารมณ์สุขไม่จริง อัลลิกะ แต่ทุกข์ท่านเรียกว่า อาริยสัจ

ก็เพราะว่ากิเลสที่ได้เป็นสุขก็ตอนมีผัสสะเท่านั้น พอผัสสะก็เกิดสุขทุกข์ เพราะอวิชชา ทันที แต่ผู้ศึกษา จะพิจารณาระวัง เห็นว่ามันทำให้เราสุข แค่ตอนผัสสะ พอเลิก ผัสสะแล้ว มันไม่มีอารมณ์จริงเช่นนั้น เช่นสุขทางหู ทางตา พอไม่มีผัสสะ มันก็ไม่มี สุขในจิต แต่ถ้าจะระลึกถึง ก็คือความจำ ถ้าจะรู้สึกสุขทุกข์ ก็คือการเอาสัญญา มาปรุงแต่งเท่านั้น ถ้าคนจำไว้ ในความสุขนั้นก็คือ อุปาทาน เช่น จำความรู้สึกดีๆ นั้นๆไว้ หลงสุขแห้งๆ ถ้าอยากได้สุขสด ก็ไปสัมผัสใหม่ ทั้งสดและแห้ง ก็คือของปลอม ทั้งคู่ แต่ถ้าของแห้งอยู่ในใจ ก็ปรุงแต่งกันเองในใจ อย่าลืมฉันนะ จำเหตุการณ์นี้ไว้นะ คนก็มอมเมาเขาไว้มากมาย

ผู้สามารถละล้าง ไม่ติดไม่หลงใหล ถ้าเราจะกินอาหาร เราขบกินอาหาร มันนิ่มมันแข็ง ก็รู้ความจริงตามจริง มันหวาน ก็รับรู้ว่าหวาน ส่วนจะชอบ หรือไม่ชอบ ก็คือกิเลส แต่รสหวาน ก็คือหวาน เป็นภาษาต่างๆกันเรียกไป เช่น sweet , ตี๊ , หวาน , ก็อันเดียวกัน สัมผัสเหมือนกัน แต่คนไปชอบหรือไม่ชอบ ก็คือโง่เอง ไปสร้างอุปาทาน ใส่ตัวเองไว้ แต่หวานนั้นจริงตามจริง เราต้องไม่หลง ไปตามองค์ประกอบข้างเคียง ไปปรุงว่า มันอร่อย เหม็นดี หอมดี ก็คือไปถูกมอมเมา แล้วก็ยึดว่า มันเป็นจริง มีสุขทุกข์ตามที่ยึด

เรากำลังอธิบายถึงสุขหลอก แต่ทุกข์นี่จริง คือทุกขสัจ เพราะคนเราอวิชชา ไปยึดไว้ การยึดเอาไว้นี่คือทุกข์ ที่จริงหมดผัสสะแล้ว ก็ไม่มีสุขทุกข์แล้ว แต่เราไปยึดเอง อยู่ในจิต การสุขทุกข์ จะเกิดในผัสสะ เป็นปัจจุบันเท่านั้น ถ้าจะมีอีกก็เพราะ คุณเอาของแห้ง เอาสัญญา ขึ้นมาปรุงอีก ก็ถูกหลอก ซ้ำซ้อน

เมื่อคุณไปติดความหลอกความเท็จ ที่เหมือนพยับแดด แวบเดียว แต่คุณยึดว่า อันนี้น่าได้ น่ามีน่าเป็น ต้องไปแสวงหา และก็อยากได้ หอบหวง มาเป็นของตัวของตน จะได้ผัสสะ อีกเรื่อยๆ มันเป็นเรื่องหลอกๆ จริงเราไปหลงแค่นั้น ถ้าเข้าใจว่า อารมณ์นั้น มันไม่มีจริง มันอนัตตา คุณไปสมมุติมัน ทั้งนั้น มันจะมีกลิ่น มีรูปอย่างไร มีกระทบสัมผัสอย่างไร มันก็เป็นไป ตามที่มันเป็น แต่ต้องชัดเจนว่า สิ่งเกินมี ถ้าคุณทำมันออกได้ เมื่อคุณผัสสะ แล้วก็ทำสิ่งเกินออกได้ในสิ่งที่คุณเกี่ยวข้อง อะไรเป็นประโยชน์ คุณก็เอามา เป็นประโยชน์ ในการยุ่งเกี่ยว อะไรไม่ใช้ประโยชน์ เราก็ไม่เกี่ยวก็ได้ แล้วเราสามารถ สังขารปรุงแต่ง ไปกับมันได้ โดยไม่สุขไม่ทุกข์ ผู้เข้าถึงความจริงขั้นนี้ คือผู้ล้างตัณหา ที่อยากได้ อยากมี อยากเป็น กระทบสัมผัส ก็รู้ตามจริง อะไรต้องอาศัย หรือไม่อาศัย แม้แต่เราไม่ต้องอาศัย เราทำให้คนอื่นก็มี ถ้าคนไม่ยึดติดเป็นเรา เป็นของเรา คนนั้น ก็อยู่กับโลก อย่างไม่แย่งชิง อาศัยสิ่งตามภูมิปัญญา

ชีวิตที่ขาดจากรสอร่อย อัสสาทะ ที่ปรุงแต่งเป็นของหลอก แม้คุณไม่มี ก็ไม่ใช่ว่า ชีวิตจะอยู่อย่างเหี่ยวเฉา ยกตัวอย่างว่า เราไม่ได้รส ที่เป็นปลาร้า เพราะเราไม่ติดปลาร้า ไม่ชอบปลาร้า เราเหี่ยวที่ไหน เราไม่ยึดปลาร้า มันมีถ้าเผื่อว่า ปลาร้ามีประโยชน์ เราก็กินก็ใช้ โดยไม่รังเกียจ เพราะมันมีประโยชน์

เราติดพริก ติดกาแฟ-ดำร้อน เข้มข้น คุณติดว่าอันนี้น่าชื่นใจ คุณกินก็สุข แต่คนไม่ติด เมื่อต้องกินพริก กินกาแฟ ก็กินโดยไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เหี่ยวเฉาอะไร ถ้าอันนั้น เป็นประโยชน์ก็ทำ โดยไม่มีอัสสาทะ

คนที่ติดลิปสติก คนไม่ได้ทาก็จะเป็นจะตาย ไม่มั่นใจตนเอง แต่คนไม่ติด ก็เห็นเขาทา ก็ทาไป ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ก็ทาไป ถ้าไม่เห็นว่ามีประโยชน์ ก็ไม่ทา

คนกินเหล้าตับแข็งก็มี คนไม่ติดเหล้า ก็ไม่เหี่ยวเฉาอะไร ตอนนี้ใครเอ่ย ยังอยากนุ่ง ประโปรงสั้น สายเดี่ยว มีหรือไม่ แต่ถ้าใครไม่นึกแล้ว ว่าต้องนุ่งสั้น ก็สบาย ที่สุดเงินทอง ลาภยศไม่ได้ เราก็ไม่เหี่ยว แต่ถ้าคุณสร้าง มาปลูกมะม่วง ไม่ต้องอยากได้เงิน มันก็ได้มา มีคนมาซื้อ เมื่อมีเงิน แต่ถ้าหวงแหนมาก เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ นี่คือที่หลงใหลกัน

เราจะรู้วิธีอยู่กับอาหาร ทั้งนอกและใน คุณก็ยิ่งเบาไม่หนัก ไม่ต้องไปแสวงหา ให้วุ่นวาย คุณมีบริขารที่จำเป็น ให้พอดี อาศัยกันให้พอดี น้อยก็พอ ไม่ต้องมากมาย ไม่ต้องแย่ง สะสม แบกหาม ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ไปรอที่ทางช้างเผือก อย่างโกโบริ

นี่คือการอธิบายอย่างพิศดาร วันนี้อธิบายอย่างลูกทุ่ง ทำความเข้าใจก่อน เอาความจริง เอาสภาวะ มาขยายความให้เข้าใจ ว่ามันเป็นของหลอกอย่างไร แล้วจะหน่าย จะคลายบ้างไหม ผู้ตั้งใจฟัง ตั้งใจจริง ที่จะออกจากพวกนี้

สรุปว่า การกินเป็นเรื่องหลัก กิเลสอยู่ในนี้ ในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ต้องเรียนรู้อาการ ที่เป็นสุขเท็จในอาหาร ที่มันหลอก ทำจนเป็นอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า ก็ต้องกินอาหาร

อ.กฤษฎา..สรุปว่า การล้างพิษตับ ก็ต้องล้างกิเลสด้วย ตอนอดอาหาร อยู่ๆก็เดินไป หยิบฝาชี แล้วจะหยิบอาหารมากิน แต่ก็นึกได้ว่า เราอดอาหารอยู่ กิเลสก็พาไปได้

พ่อครูว่า รู้ทั้งรู้ว่าอดอาหาร มันอยู่ไม่ได้ แต่กิเลสมันบังคับ ให้ไปกิน ทั้งๆที่รู้ว่า อดอาหารอยู่ กิเลสมันยิ่งใหญ่ มันบังคับเราเป็นทาส อย่างสนิทเลย การล้างพิษตับ ถ้าเอาแค่สุขภาพกาย ก็ได้แค่กาย แต่ว่าถ้าเราได้เห็นจิตใจ ว่าอันไหนที่มีประโยชน์ แต่เราไม่ชอบ ก็ต้องกิน อย่างพิจารณา เอาประโยชน์ทางปรมัตถ์ด้วย

ในเวลาที่มีเรื่องราวมาก จิตเราเหมือนน้ำขุ่น แต่ถ้าจิตเราไม่มีกิเลส จิตเราก็จะเต็มไปด้วย ภาวะใส เป็นปภัสสร มีจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เสมอ

วันนี้อธิบายอาหาร ๔ อย่างพิศดาร ก็คงจะรับรู้เข้าใจมากกว่า อ่านจากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ก่อนจะหมดเวลา ก็จะอ่านต่อให้ฟังว่า อาหารวรรคที่
                          ๑. อาหารสูตร
          [๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
   สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถปิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ ความดำรงอยู่ ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์ หมู่สัตว์ ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร เป็นไฉน คือ (๑) กวฬีการาหาร หยาบ หรือละเอียด (๒) ผัสสาหาร (๓) มโนสัญเจตนาหาร (๔) วิญญาณาหาร อาหาร ๔ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อ ความดำรงอยู่ ของหมู่สัตว์ผู้เกิด มาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ ผู้แสวงหาที่เกิดฯ
          [๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร เหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไร เป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด อาหาร เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด ก็ตัณหานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นที่ตั้งขึ้น มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด ก็เวทนานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นที่ตั้งขึ้น มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ผัสสะมีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะเป็นที่ตั้งขึ้น มีสฬายตนะเป็นกำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด ก็สฬายตนะนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด สฬายตนะมีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นที่ตั้งขึ้น มีนามรูปเป็นกำเนิด มีนามรูป เป็นแดนเกิด ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด นามรูปมีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณเป็นที่ตั้งขึ้น มีวิญญาณ เป็นกำเนิด มีวิญญาณเป็นแดนเกิด ก็วิญญาณนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด วิญญาณมีสังขารเป็นเหตุ มี สังขารเป็นที่ตั้งขึ้น มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด ก็สังขารเหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไร เป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นที่ตั้งขึ้น มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่ง กองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
          [๓๐] ก็เพราะอวิชชานั้นแหละดับ ด้วยการสำรอก โดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่ง กองทุกข์ ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

สรุป พ่อครูอธิบายเรื่องอาหาร ๔ โดยพิศดารโดยสภาวะก่อน แล้วจึงมาอ่าน ในพระไตรปิฎก ทีหลัง ใครเห็นว่า เป็นธรรมวาที ก็มาเอา ใครเห็นว่า ไม่เป็นธรรมวาที ก็ไม่ต้องเอา ข้อสำคัญคือ ไม่เหี่ยวแห้งอะไร เบิกบานสดชื่น เป็นประโยชน์ต่อโลก, สังคมด้วย ไม่มีโทษภัยต่อสังคม มันดีอย่างนั้น

อ.กฤษฎา. สรุปว่า วันนี้มีมรณานุสสติด้วย พ่อครูอธิบายเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท เราต้องมาเรียนรู้ เรื่องอาหาร ๔ ซึ่งสุดท้าย ขอยกที่ท่านผู้รู้ แปลคำว่า อาหารไว้ว่า สภาพที่เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ ให้เจริญได้....

จบ


 
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ พุทธสถาน ปฐมอโศก