560517_รายการเรียนอิสระ(ตามสำนึก) โดยพ่อครูและส.ฟ้าไท _
เรื่อง ดับเหตุและปัจจัยเพื่อไล่กองทุกข์ทั้งปวง

ส.ฟ้าไทเปิดรายการที่ชั้น ๓ เฮือนศูนย์สูญ บ้านราชฯ

...ที่บ้านไม้เมืองหิน บ้านดินเมืองน้ำ บ้านงามเมืองพุทธ บ้านพิสุทธิ์เมืองอมตะ

เมื่อเรายังปฏิบัติไม่ครบถ้วนรอบ เราก็ต้องมาฟังซ้ำ ให้รู้ชัดรู้จริงรู้ลึกซึ้ง จึงปฏิบัติได้ถูกต้อง ในอาหาร ๔ ที่มี กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร ที่พ่อครูสอนทวน ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้พวกเรา เข้าใจได้ ธรรมะของ พระพุทธเจ้านั้น ละเอียดลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก เห็นตามได้ยาก

พ่อครู...จะอ่านพระไตรฯมาแล้วอธิบายด้วย จะได้ฟังทบทวน ตั้งแต่ กวฬิงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร ที่พ่อครูได้อธิบาย ลักษณะต่างๆ

กวฬิงการาหาร พระพุทธเจ้าให้กำหนดรู้ เบญจกามคุณ

ผัสสาหาร พระพุทธเจ้าให้กำหนดรู้ในเวทนา ถ้าไม่มีการกระทบสัมผัส เวทนาจะไม่เกิด

มโนสัญเจตนาหาร พระพุทธเจ้าให้กำหนดรู้ใน ตัณหา ๓

วิญญาณาหาร พระพุทธเจ้าให้กำหนดรู้ในนามรูป ซึ่งนามรูปก็คือ นามธรรมที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ เราเรียกว่ารูป ตัวรู้ที่เข้าไปรู้ เราเรียกว่านาม เช่น ใจเราจะต้องมีญาณรู้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย เราต้องอ่านรู้ ในอาการ ลิงค นิมิต ที่มันประชุมอยู่ เป็น เวทนา (สัมโมสรณา) ถ้ามันอวิชชา ก็ปรุงกันไปว่า ชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ มีอยู่สามอาการ อยู่เป็นอัตโนมัติเลย สัมผัสแล้ว สุข ทุกข์ หรือเฉย

นอกจาก ผัสสะ แล้วท่านก็ให้กำหนดรู้ใน เจตนา ที่มีการตั้งเป้าว่า ให้ตรงสเปค ถ้าตรงสเปคก็ชอบ ไม่ตรงสเปคก็ไม่ชอบ หรือเฉยๆก็ได้ เราต้องกำหนดรู้เจตนา มุ่งหมาย สามอย่าง คือ มุ่งตามชอบ หรือไม่ชอบ ในขั้นหยาบก็เรียกว่า กามตัณหา เป็นเบื้องต้น ที่ต้องเรียนรู้

ใน กามภพ มีตัวเหตุ ที่เราต้องกำหนดรู้ใน กวฬิงการาหาร มีเหตุให้เราปรุง ชอบ ชัง หรือเฉย เราต้องกำหนดรู้มี นามรูปปริจเฉทญาณ ว่าตัวนี้คือตัว ตัณหา แยกแยะตัวกาม ที่มาปรุงร่วมด้วย ในตัณหา นี่แหละ กำหนดรู้ แล้วเราก็มีการปหาน ด้วยสมถะ และ วิปัสสนา คือมีไฟฌานเผากิเลส มันมาหลอกเรา มันไม่จริง เราปหานมันได้ จนมันหายไป มันไม่มีจริง

จนทำได้เห็นจริงเห็นเลยว่า มันเป็นตัวหลอก ซึ่งปัญญาเราจะมีสำทับ ไปเรื่อยๆ ว่ามันเป็นผี หลอกเรามา ไม่รู้กี่ชาติ เราเห็นตัวโง่ของเรา ที่เรายินดีให้หลอก เราโง่ซ้ำซ้อนด้วย มันเหมือนพยับแดด เหมือนฟองน้ำ ที่เกิดแล้วก็ดับ อย่างรวดเร็ว ชั่วแวบเดียว

ล. ๑๖ [๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร เหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด

อาหาร เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด

ก็ตัณหานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ตัณหา มีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นที่ตั้งขึ้น มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด

ก็เวทนานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เวทนา มีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นที่ตั้งขึ้น มีผัสสะเป็น กำเนิด มีผัสสะ เป็นแดนเกิด

ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะ เป็นที่ตั้งขึ้น มีสฬายตนะเป็นกำเนิด มีสฬายตนะ เป็นแดนเกิด

ก็สฬายตนะนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด สฬายตนะ มีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นที่ตั้งขึ้น มีนามรูปเป็นกำเนิด มีนามรูป เป็นแดนเกิด

ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด นามรูป มีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณเป็นที่ตั้งขึ้น มีวิญญาณ เป็นกำเนิด มีวิญญาณ เป็นแดนเกิด

ก็วิญญาณนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด วิญญาณ มีสังขารเป็นเหตุ มีสังขารเป็นที่ตั้งขึ้น มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด

ก็สังขารเหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร เป็นแดนเกิด สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นที่ตั้งขึ้น มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้น แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ฯ

[๓๐] ก็เพราะอวิชชานั้นแหละดับ ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ฯ

. ผัคคุนสูตร
[๓๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้ ย่อมเป็นไป เพื่อความดำรงอยู่ ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร เป็นไฉน คือ (๑) กวฬีการาหาร หยาบหรือละเอียด (๒) ผัสสาหาร (๓) มโนสัญเจตนาหาร (๔) วิญญาณาหาร

อาหาร ๔ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ ของหมู่สัตว์ ผู้เกิดมาแล้ว หรือ เพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ ผู้แสวงหาที่เกิด ฯ

[๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระโมลิยผัคคุนะ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมกลืนกิน วิญญาณาหาร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า กลืนกิน [วิญญาณาหาร] ถ้าเรากล่าวว่า กลืนกิน [วิญญาณาหาร] ควรตั้งปัญหา ในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอ ย่อมกลืนกิน [วิญญาณาหาร] แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดพึงถามเรา ผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า วิญญาณาหาร ย่อมมีเพื่ออะไรหนอ อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่าง ในปัญหานั้นว่า วิญญาณาหารย่อมมี เพื่อความบังเกิด ในภพใหม่ต่อไป เมื่อ วิญญาณาหารนั้น เกิดมีแล้ว จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะฯ

[๓๓] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถูกต้อง ฯ
ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่าย่อมถูกต้อง ถ้าเรากล่าวว่าย่อมถูกต้อง ควรตั้งปัญหา ในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถูกต้อง แต่ เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดพึงถามเรา ผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไร เป็นปัจจัยหนอ จึงมีผัสสะ อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่าง ในปัญหานั้นว่า เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ฯ

[๓๔] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมเสวยอารมณ์ ฯ
ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมเสวยอารมณ์ ถ้าเรากล่าวว่า ย่อมเสวยอารมณ์ ควรตั้งปัญหา ในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอ ย่อมเสวยอารมณ์ แต่เรามิได้กล่าว อย่างนั้น ผู้ใดถามเรา ผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไร เป็นปัจจัยหนอ จึงมีเวทนา อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่าง ในปัญหานั้นว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ฯ

[๓๕] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมทะเยอทะยาน ฯ (ตัณหา)
ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมทะเยอทะยาน ถ้าเรากล่าวว่า ย่อมทะเยอทะยาน ควรตั้งปัญหา ในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอ ย่อมทะเยอทะยาน แต่เรามิได้กล่าว อย่างนั้น ผู้ใดถามเรา ผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไร เป็นปัจจัยหนอ จึงมีตัณหา อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่าง ในปัญหานั้นว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯ

[๓๖] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถือมั่น ฯ
ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมถือมั่น ถ้าเราพึงกล่าวว่าย่อมถือมั่น ควรตั้งปัญหา ในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถือมั่น แต่เรามิได้กล่าว อย่างนั้น ผู้ใดถามเรา ผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไร เป็นปัจจัยหนอ จึงมีอุปาทาน อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่าง ในปัญหานั้นว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ... ความเกิดขึ้น แห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

[๓๗] ดูกรผัคคุนะ ก็เพราะบ่อเกิดแห่งผัสสะทั้ง ๖ ดับด้วยการสำรอก โดยไม่เหลือ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วย ประการอย่างนี้ฯ

พ่อครูว่า ...การดับผัสสะ ท่านใช้คำว่าสำรอกนั้น ไม่ใช่ดับอย่างพาซื่อ ดับไปหมด แต่แท้จริงคือ การดับอกุศลเหตุก คือกิเลส ตัณหา อุปาทาน ออกจากจิตต่างหาก ซึ่งความดับ แห่งกองทุกข์นั้น ไม่ใช่ไปดับสังขาร วิญญาณ แต่กองทุกข์อยู่ในใจ คือ เวทนา หรืออารมณ์ความรู้สึก ที่เกิดจาก การปรุงแต่ง หรือสังขาร อย่างอวิชชา แต่ถ้ามีวิชชา ก็ดับเหตุแห่ง กองสุขกองทุกข์

ผัสสะ คือต้องมีสัมผัสทางทวาร ๖ นี่จึงจะเกิดวิญญาณ ให้เรียนรู้ทวารนอก ให้ชัดเจน แล้วเหลือแต่ รูปราคะ อรูปราคะอยู่ภายใน แต่ก็ต้องมี การกระทบสัมผัส ทางทวารนอก จึงจะเกิดของจริง เป็นเหตุปัจจัย จึงจะอ่านไปถึง รูปราคะ อรูปราคะ หรือเรียกว่า ราคานุสัย หรือภวานุสัย

ในการดับรูป-อรูปใน ภวตัณหา ต้องมีผัสสะ ในขณะที่ไม่มีกิเลสกามแล้ว คืออนาคามี ดับของพระพุทธเจ้า จึงดับอย่างลืมตา ในกามาวจร สัมผัสแล้ว กิเลสที่เหลือ จะออกมาทำงาน แต่จะไม่ออกทางกาย วาจา มาทำงานข้างนอกแล้ว แต่มีผัสสะเป็นปัจจัย ซึ่งมันรู้ยากจริง ไม่ง่ายเลย เพราะว่ามันยึดถือ แบบเก่า มานาน แพร่หลายมานานแล้ว ไม่เห็นอาจารย์ ที่ไหนมาพูด เมื่อมีปัจจัย จึงจะเกิดเหตุ แห่งกองทุกข์ แล้วเราก็ดับ ให้ถูกตัวตน ที่เราสังขารอย่างอวิชชา ดับอย่างสำรอกไม่เหลือ

. สมณพราหมณสูตรที่
[๓๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ...

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้จักชราและมรณะ ไม่รู้จักเหตุเกิด แห่งชราและมรณะ ไม่รู้จักความดับ แห่งชราและมรณะ ไม่รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับแห่งชราและมรณะ ไม่รู้จักชาติ ... ไม่รู้จักภพ ...ไม่รู้จักอุปาทาน ... ไม่รู้จักตัณหา ... ไม่รู้จักเวทนา ... ไม่รู้จักผัสสะ ... ไม่รู้จักสฬายตนะ ... ไม่รู้จักนามรูป ... ไม่รู้จักวิญญาณ ... ไม่รู้จักสังขาร ไม่รู้จักเหตุเกิด แห่งสังขาร ไม่รู้จักความดับ แห่งสังขาร ไม่รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับแห่งสังขาร

สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น จะสมมติว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือสมมติว่า เป็นพราหมณ์ ในหมู่พราหมณ์ หาได้ไม่ แลท่านเหล่านั้น มิได้กระทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ของ ความเป็นสมณะ หรือประโยชน์ของ ความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ฯ

[๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้จักชราและมรณะ รู้จักเหตุเกิด แห่งชราและมรณะ รู้จักความดับ แห่งชราและมรณะ รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับแห่งชราและมรณะ รู้จักชาติ ... รู้จักภพ ... รู้จักอุปาทาน ... รู้จักตัณหา ... รู้จักเวทนา ... รู้จักผัสสะ... รู้จักสฬายตนะ ... รู้จักนามรูป ...รู้จักวิญญาณ ... รู้จักสังขาร ... รู้จักเหตุเกิด แห่งสังขาร รู้จักความดับ แห่งสังขาร รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับแห่งสังขาร

สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้นแล สมมติได้ว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะ และสมมติได้ว่า เป็นพราหมณ์ ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้น ได้กระทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ของ ความเป็นสมณะ และประโยชน์ของ ความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ฯ

. สมณพราหมณสูตรที่
[๔๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ...

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ไม่รู้จักธรรมเหล่านี้ ไม่รู้จักเหตุเกิด แห่งธรรมเหล่านี้ ไม่รู้จักความดับ แห่งธรรมเหล่านี้ ไม่รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับ แห่งธรรมเหล่านี้ ไม่รู้จักธรรมเหล่าไหน ไม่รู้จักเหตุเกิด แห่งธรรมเหล่าไหน ไม่รู้จักความดับ แห่งธรรมเหล่าไหน ไม่รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับ แห่งธรรมเหล่าไหน คือ

ไม่รู้จักชราและมรณะ ไม่รู้จักเหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ไม่รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับ แห่งชราและมรณะ ไม่รู้จักชาติ ... ไม่รู้จักภพ ... ไม่รู้จักอุปาทาน ... ไม่รู้จักตัณหา ... ไม่รู้จักเวทนา ... ไม่รู้จักผัสสะ ... ไม่รู้จักสฬายตนะ ... ไม่รู้จักนามรูป ... ไม่รู้จักวิญญาณ ... ไม่รู้จักสังขาร ไม่รู้จักเหตุเกิด แห่งสังขาร ไม่รู้จักความดับ แห่งสังขาร ไม่รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับ แห่งสังขาร

ชื่อว่าไม่รู้จักธรรม เหล่านี้ ไม่รู้จักเหตุเกิด แห่งธรรมเหล่านี้ ไม่รู้จักความดับ แห่งธรรมนี้ ไม่รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับ แห่งธรรมเหล่านี้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น จะสมมติว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือสมมติว่า เป็นพราหมณ์ ในหมู่พราหมณ์ หาได้ไม่ และท่านเหล่านั้น มิได้กระทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ของ ความเป็นสมณะ หรือประโยชน์ของ ความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ฯ

[๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้จักธรรมเหล่านี้ รู้จักเหตุเกิด แห่งธรรมเหล่านี้ รู้จักความดับ แห่งธรรมเหล่านี้ รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับ แห่งธรรมเหล่านี้ รู้จักธรรมเหล่าไหน รู้จักเหตุเกิด แห่งธรรมเหล่าไหน รู้จักความดับ แห่งธรรมเหล่าไหน รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับ แห่งธรรมเหล่าไหน คือ รู้จักชราและมรณะ รู้จักเหตุเกิด แห่งชราและมรณะ รู้จักความดับ แห่งชราและมรณะ รู้จักปฏิปทา ที่ให้ถึงความดับ แห่งชราและมรณะ รู้จักชาติ ... รู้จักภพ ... รู้จักอุปาทาน ... รู้จักตัณหา ... รู้จักเวทนา ... รู้จักผัสสะ ... รู้จักสฬายตนะ ...รู้จักนามรูป ... รู้จักวิญญาณ ... รู้จักสังขาร รู้จักเหตุเกิด แห่งสังขาร รู้จักความดับ แห่งสังขาร รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึง ความดับแห่งสังขาร

ชื่อว่ารู้จักธรรมเหล่านี้ รู้จักเหตุเกิดแห่งธรรมเหล่านี้ รู้จักความดับ แห่งธรรมเหล่านี้ รู้จักปฏิปทา ที่จะให้ถึงความดับ แห่งธรรมเหล่านี้ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้นแล สมมติได้ว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะ และสมมติได้ว่า เป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้น ได้กระทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ของ ความเป็นสมณะ และประโยชน์ของ ความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ฯ

จบสูตรที่ ๔

พ่อครูก็สำทับว่า... ต้องมีปัจจุบันธรรม สัมผัสอยู่อย่างมีสภาวะจริง ไม่ใช่แค่ ไปนึกคิด ตรรกะเอา

. กัจจานโคตตสูตร
[๔๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระกัจจานโคตต์ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่า สัมมาทิฐิฯ

[๔๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรกัจจานะ โลกนี้ โดยมากอาศัยส่วน อย่าง คือ ความมี ๑ ความไม่มี

ก็เมื่อบุคคล เห็นความเกิดแห่งโลก (โลกสมุทัย) ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี

เมื่อบุคคล เห็นความดับแห่งโลก (โลกนิโรธ) ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลก ย่อมไม่มี

โลกนี้โดยมาก ยังพัวพันด้วย อุบาย อุปาทาน และ อภินิเวส แต่พระอริยสาวก ย่อมไม่เข้าถึง (นอุเปติ) ไม่ถือมั่น (อุปาทิยติ) ไม่ตั้งไว้ ซึ่งอุบาย และอุปาทานนั้น อันเป็นอภินิเวส และอนุสัย อันเป็นที่ตั้งมั่น แห่งจิตว่า อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัย ว่าทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับ ย่อมดับ พระอริยสาวกนั้น มีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล กัจจานะ จึงชื่อว่า สัมมาทิฐิ

[๔๔] ดูกรกัจจานะ ส่วนสุดข้อที่ ๑ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดข้อที่ ๒ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรม โดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ ส่วนสุดทั้ง นั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ความเกิดขึ้น แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชา นั่นแหละดับ ด้วยการสำรอก โดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับ แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ฯ

จบสูตรที่ ๕

พ่อครูว่า....เมื่ออวิชชาดับ ก็มีวิชชา ก็มีอภิสังขาร ..... ตัณหาก็มีเป็นวิภวตัณหา ภพมีเป็นวิภวภพ ชาติมีเป็นชาติที่อมตะ ชาติที่ไม่ตาย หรือตายก็ได้ คือไม่ตายไม่เกิด หรือตายก็ได้ เกิดก็ได้

. ธรรมกถิกสูตร
[๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า ธรรมกถึก ธรรมกถึก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่า ธรรมกถึก

[๔๖] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก

ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม

ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่น ชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน

ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชาติ ...ภพ ... อุปาทาน ...ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ...วิญญาณ ... สังขาร

ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก

ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม

ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพาน ในปัจจุบัน
จบสูตรที่ ๖

. อเจลกัสสปสูตร
[๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนคร ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ในพระนครราชคฤห์ อเจลกัสสป ได้เห็นพระผู้มีพระภาค เสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ณ สถานที่นั้น ได้ปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๔๘] ครั้นแล้ว อเจลกัสสปได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพเจ้าจะขอถาม เหตุบางอย่าง กะท่านพระโคดม ถ้าท่านพระโคดม จะทรงกระทำโอกาส เพื่อทรงตอบปัญหา แก่ข้าพเจ้า พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ดูกรกัสสป ยังมิใช่เวลา จะตอบปัญหา เรากำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ อเจลกัสสป ก็ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพเจ้าจะขอถาม เหตุบางอย่าง กะท่านพระโคดม ถ้าท่านพระโคดม จะทรงกระทำโอกาส เพื่อทรงตอบปัญหา แก่ข้าพเจ้า พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ดูกรกัสสป ยังมิใช่เวลาตอบปัญหา เรากำลังเข้าไปสู่ ละแวกบ้าน ฯ

[๔๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อเจลกัสสป ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ก็ข้าพเจ้า ไม่ประสงค์จะถาม ท่านพระโคดมมากนัก ฯ
ภ. ดูกรกัสสป ท่านจงถามปัญหา ตามที่ท่านจำนงไว้เถิด ฯ
ก. ข้าแต่ท่านพระโคดม ความทุกข์ตนกระทำเองหรือ
ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้นกัสสปฯ
ก. ความทุกข์ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม
ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้นกัสสปฯ
ก. ความทุกข์ตนกระทำเองด้วย ผู้อื่นกระทำให้ด้วยหรือ ท่านโคดม
ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้นกัสสปฯ
ก. ความทุกข์บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม
ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้นกัสสปฯ
ก. ความทุกข์ไม่มีหรือ ท่านพระโคดม
ภ. ความทุกข์ไม่มีหามิได้ ความทุกข์มีอยู่กัสสปฯ
ก. ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์
ภ. เราย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์หามิได้ เรารู้เห็นความทุกข์อยู่กัสสปฯ

ก. เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ความทุกข์ตนกระทำเองหรือ ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้นกัสสป เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความทุกข์ผู้อื่น กระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้นกัสสป เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความทุกข์เกิดขึ้น เพราะอาศัยการที่ มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้นกัสสป เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความทุกข์ ไม่มีหรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า ความทุกข์ไม่มีหามิได้ ความทุกข์มีอยู่กัสสป เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์ ท่านตรัสว่า เราย่อมไม่รู้ ไม่เห็นความทุกข์ หามิได้ เรารู้เห็นความทุกข์อยู่กัสสป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงตรัสบอกความทุกข์ แก่ข้าพเจ้า และขอพระผู้มีพระภาค จงทรงแสดงความทุกข์ แก่ข้าพเจ้าด้วย

[๕๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป
เมื่อบุคคลถืออยู่ว่า นั่นผู้กระทำ นั่นผู้เสวย [ทุกข์] เราจะกล่าวว่า ทุกข์ตนกระทำเอง ดังนี้ อันนี้เป็นสัสสตทิฐิไป

เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง [รู้] อยู่ว่าผู้กระทำคนหนึ่ง ผู้เสวยเป็นอีกคนหนึ่ง เราจะกล่าวว่า ทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ ดังนี้ อันนี้เป็นอุจเฉททิฐิไป

ดูกรกัสสป ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง (พระบาลีว่า มัชเฌนะ ซึ่งไม่ใช่แปลว่า ทางสายกลาง แต่ที่จริงคือ "ความเป็นกลาง" ไม่มีส่วนสุด ทั้งสองข้าง คือไม่มีอันตา) ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ...ความเกิดขึ้น แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ...ความดับแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ฯ

[๕๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อเจลกัสสปได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือ ตามประทีป ในที่มืด ด้วยประสงค์ว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป

ฉะนั้นข้าพระองค์ ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรม และภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะ ข้าพระองค์ พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักของ พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้อง อยู่ปริวาส เดือน เมื่อล่วง เดือน ภิกษุทั้งหลาย เต็มใจแล้วหวังอยู่ จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุก็แต่ว่า เรารู้ความต่างแห่งบุคคล

อเจลกัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้อง อยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลาย เต็มใจแล้วหวังอยู่ จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์ จักอยู่ปริวาส ๔ ปี เมื่อล่วง ๔ ปี ภิกษุทั้งหลาย เต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุเถิด ฯ

[๕๒] อเจลกัสสปได้บรรพชา ได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นท่านกัสสป อุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตแน่วแน่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้ง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ก็ท่านกัสสป ได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

จบสูตรที่ ๗

พ่อครูเพิ่มเติมว่า...คำว่าหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว หรือเว้นออก ไม่ใช่ว่า หนีไปอยู่คนเดียว แต่หมายถึง การอยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง หมายถึงว่า ไม่มีตัณหา เป็นเพื่อนสอง ไม่ได้หนีไปแต่ผู้เดียว เพราะศาสนาพุทธ มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ศาสนาพุทธมีหมู่สงฆ์ เป็นคณะ สมัยพระพุทธเจ้า ก็แก้ไขได้ ส่วนลัทธิออกป่า เขาก็ทำไป ทุกวันนี้ก็มีมาก ลัทธิที่จะรู้ว่า ไม่มีเพื่อนสอง อย่างถูกต้องนั้น มีน้อย

โบราณาจารย์ว่าไว้ว่า ศาสนาพุทธในพันปีแรก จะมีพระอรหันต์เก่งๆ มีปฏิสัมภิทาครบ พอถึงพันปีที่สอง ก็จะมีอรหันต์ ที่ไม่เก่งอภิญญา ที่ท่านตั้งชื่อว่า เป็นสุขวิปัสสโก เป็นผู้ที่มีปัญญารู้ ของตนเองเท่านั้น ไม่เก่งอะไรมากมาย พอถึงพันปีที่สาม จะเหลือแต่ อนาคามี สูงสุด พอพันปีที่สี่ จะเหลือแต่ พระสกิทาคามี พอพันปีที่ห้า จะได้แค่โสดาบัน พอเลยห้าพันปี ก็ไม่มีใครบรรลุธรรม นี่คือ โบราณาจารย์ว่าไว้ แต่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้ามีผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โลกไม่ว่างเว้นจากอรหันต์ แต่ก็องค์รวมก็มีน้อย อย่างที่โบราณาจารย์ท่านว่า

นี่ก็เข้าพันปีที่สาม ก็จะมีองค์รวม บรรลุกันแค่อนาคามี แต่ผู้เป็นอรหันต์ ก็น้อยลงๆ จะหาคนเก่ง มีปฏิสัมภิทาญาณก็น้อย

ขอยืนยันว่า พ่อครูได้อรหันต์ ๙ องค์นี้น้อยแล้ว เพราะส่วนใหญ่ จะได้แค่อนาคามี ก็ขอสัก ๙ องค์ นอกนั้นก็อนาคามี ส่วนต่อไป ก็จะได้น้อยลงๆ

ส.ฟ้าไทสรุป สรุปรวมๆ ได้ฟังปฏิจจสมุปบาท คือให้เราดับที่เหตุ อย่างไปดับ อารมณ์ดื้อๆ แต่ตอนนี้ ต้องหาเหตุ ซึ่งต้องมีผัสสะ จึงจะหาเหตุเจอ ศาสนาพุทธคือ เกิดเรื่องอะไรมา ก็ไล่หาเหตุ แล้วดับเหตุ ก็ใช้ปัญญาแท้ๆ ในการดับ ไม่ดับอย่างทื่อๆ แต่ต้องสำรอกกิเลส ในปัจจุบันขณะ อย่างมีผัสสะ นี่แหละ ใครอยากเป็น ๑ ใน ๙ อรหันต์ ก็ต้องพากเพียรเอา

....จบ

 

 
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ พุทธสถานราชธานีอโศก