เรื่อง นิโรธที่แท้คือแก้ที่เหตุ |
พ่อครูจัดรายการที่บ้านราชฯ....
เราไปงานอโศกรำลึกกันมา ๔-๕ วัน ก็เป็นรายการตามลีลา งานอโศกรำลึก มาถึงวันนี้ ก็เข้าสู่รายการปกติ
ในเรื่องของสาระธรรมะ พระพุทธเจ้า จะพูดไปไหนๆ ก็มีอันเดียวคือ เป็นไปเพื่อ ความหลุดพ้น จากความเป็นสัตว์ ไม่ถูกผูกไว้ เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด - ไม่สะสม -ไม่มักมาก (มักน้อย) - เพื่อความพอ (สันโดษ) - มันมีมากแน่นอนก็พอ แต่ว่าถ้ามักน้อยแล้ว มีน้อยแล้ว พอหรือไม่?
ในพระไตรฯล.๒๓ ข.๑๔๓
ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นไป
๐ เพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
๐ เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้
๐ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
๐ เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ
๐ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๐ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก
ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า "นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอน ของพระศาสดา ฯ"
คำว่าไม่มีโลกสมุทัย หรือคำว่าวิภวตัณหา ไม่ใช่แปลตื้นๆว่า ไม่มีตัณหา วนเวียนแค่ว่า มีหรือไม่มี แต่ว่าต้องไม่มีแบบ ไม่กลับกำเริบ ไม่วนเวียนกลับมา ที่เก่าอีกเลย อย่าง นิจจัง ธุวัง สัสตัง อวิปริณาธัมมัง อสังหิรัง อสังกุปปัง
แม้ที่สุดคนเรา หมดความใคร่อยากแล้ว โดยเฉพาะ ไม่ต้องมีโลกียรส -โลกียสุข เป็นกลาง สูญ ว่าง ต้องรู้ว่า จิตวิญญาณที่มีโลกีย์ เป็นอย่างไร อาการของ วิมุติรส เป็นอย่างไร หรือนิโรธแบบ ไม่เวียนกลับมาเกิดอีก เป็นอย่างไร แม้จะอยู่กับโลก สัมผัสแล้ว เราก็หมดสุข-ทุกข์ หมดอารมณ์ อย่างโกลีย์ ได้อย่างไม่กลับคืน ไม่มีอะไร ลบล้าง ทำลายผลธรรม ความบรรลุอันนี้ได้ ไม่แปรเป็นอื่น
รูปกายคือองค์ประชุมของรูปทั้งหมด ทั้งรูปในภายนอก และรูปในภายใน
รูป คือสิ่งที่ถูกรู้ ที่มีการสัมผัสทางทวาร ๕ ถ้าอยู่ข้างนอก ก็เรียกว่า รูปรูป ถ้าอยู่ภายใน ก็เรียก นามรูป
วันก่อนอธิบายถึงสภาวะ สัญญาเวทยิตนิโรธ ที่ไม่ใช่พุทธ
เหตุ ที่ทำให้มีความคลาดเคลื่อนผิดพลาดอยู่ ก็เพราะ...
๑. หลงว่าตนปฏิบัติมี นิโรธ แล้ว แต่แท้จริงนั้น เพราะมิจฉาทิฏฐิอยู่ จึงสัญญาวิปลาส เพราะกำหนดหมาย นิโรธ ไม่เป็นบ้าง กำหนด นิโรธ ผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไปจากภาวะที่เป็น สัมมานิโรธ บ้าง เพราะกำหนดวิธีปฏิบัติผิด คลาดเคลื่อนไปจาก มรรคอริยสัจ ของพุทธบ้าง
๒. ตนยังมีกิเลสอยู่ แต่หลงว่าตนเองปฏิบัติถึงขั้น ดับกิเลส แล้ว เนื่องจาก สัญญาวิปลาส เพราะเข้าใจความเป็น สัญญา คลาดเคลื่อนไปบ้าง จึงกำหนดหมาย ปรมัตถธรรม ไม่ถูกต้องได้แท้จริง
เพราะกำหนดหมายความเป็น กาย คลาดเคลื่อนไปจาก สัจธรรมบ้าง ไม่ว่ารูปกาย หรือ นามกาย โดยเฉพาะ กำหนดหมาย ตัวตนของกิเลส (อัตตา)ไม่ถูก นามกาย ของมัน จึงล่วงพ้น (สมติกฺกมติ) แม้แค่กิเลสขั้นต้น คือ วีติกกมกิเลส ไปตามลำดับ ก็ยังไม่ได้ จึงไม่ถูกต้อง (คือผิด) ตั้งแต่เบื้องต้น
๓. กำหนดการเกิด(ชาติ)ยังไม่ สัมมาทิฏฐิ จึงยังผิดพลาด คลาดเคลื่อนอยู่ ก็ยังสัญญาวิปลาสอยู่ เช่น ต้องเข้า-ต้องออกอยู่ เมื่อ เข้านิโรธ ก็มี การดับ เมื่อออก นิโรธ ก็มี การเกิด นั่นคือ ยังวนอยู่กับการเกิด-การดับ จึงยังไม่มีความดับเหตุ ดับปัจจัย กระทั่งสิ้น ไม่เกิดไม่ดับ อีก จึงไม่ใช่การดับชาติ จนสนิทเด็ดขาด
เพราะยังมีการเข้านิโรธ แล้วยังมีการออกนิโรธ จึงยังมีการดับ แล้วก็วนเวียนมามีการเกิด แล้วก็ยังมีการดับ-การเกิด อีก แสดงว่า ไม่รู้จักแม้แต่คำว่า ชาติ ที่เป็นปรมัตถธรรม
๔. ยังมีโลก(ภพ) เพราะไม่ได้ ดับเหตุ แห่งการเกิดโลก (ภพ) แบบอริยสัจ ๔ ยัง มีโลก(ภพ) เพราะ ยังไม่รู้จัก โลกหรือภพ เช่น โลกที่เป็นโลกียะ นั้นเป็นไฉน โลกที่เป็นโลกุตระ นั้นเป็นไฉน แม้แค่ความเป็น โลกนี้ (อยังโลก) โลกหน้า (ปรโลก) ก็ยังไม่สัมมาทิฏฐิ จึงไม่สามารถปฏิบัติ มรรค องค์ ๘ ให้เป็น สัมมามรรค - สัมมาผล (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑) จึงยังมี โลกสมุทัย อยู่ แน่นอน โลกนิโรธ จึงยังไม่มีอยู่นั่นเอง
๕. ยังมีความเป็นสัตว์ มีสังโยชน์ มีความเป็น สัตตาวาส ๙ อยู่ สัตว์ ในที่นี้คือ สัตว์โอปปาติกะ สัตว์ทางจิตวิญญาณ จึงยังไม่พ้นสังโยชน์ สัมบูรณ์
เพราะตัวตน (อัตตา) ของสัตว์ ตั้งแต่สักกายะ อันเป็นตัวตน (อัตตา) ของสัตว์เบื้องต้น ต่อไปจนถึงตัวตน เบื้องกลาง และสุดท้าย ตัวตนเบื้องปลาย คือ อาสวะ ตามลำดับ ลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเล กิเลสหรืออัตตา จึงถูกกำจัดได้ ไม่ละเอียดชัดจริงบริบูรณ์
นั่นคือ ยังไม่สิ้น สังโยชน์ ๑๐ หรือ อนุสัย ๗ บริบูรณ์ เพราะ ยังไม่สัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วยกาย ถึงขั้นเห็น (ปัสสติ) ความจริง ด้วยปัญญายอดยิ่ง (สัมมัปปัญญา) ว่า อัตตา หรือตัวตนของกิเลสหยาบ กลาง - ละเอียดทั้งหลาย ได้ ดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ (อเสสวิราคนิโรธา) หมด แม้ที่สุดอาสวะ สิ้นแล้ว ชนิดที่ รู้อยู่-เห็นอยู่เป็นปัจจุบัน (ชานโต ปัสสโต วิหรติ) นั่นเทียว
จะเป็นพรหมสัตว์หรือเดรัจฉาน ก็เอาคำว่าสัตว์ มาเรียกสัตว์ ทางจิตวิญญาณ หรือโอปปาติกสัตว์ ที่อยู่ในทิฏฐิ ๑๐ ไปเข้าใจผิดว่าสัตว์ โอปปาติกสัตว์ เป็นตัวตน มีรูปร่าง ซึ่งขัดกับพระพุทธเจ้าตรัสว่า วิญญาณ อนิทัสสนัง อนันตัง สัพฺพโต ปภัง
คนที่เข้าถึงจิตวิญญาณ ก็ไม่ติดยึด ใช้ภาษาที่ว่า เป็นรูปร่าง บุคคลธิษฐาน แทนได้ แต่คนส่วนใหญ่ไปยึดว่า มีจริงเป็นจริง
ในสัตตาวาส ๙ ถ้าไม่เข้าใจ ก็กำหนดกายต่างกัน สัญญาต่างกันไม่ได้ กายต่างกัน สัญญาต่างกัน เช่นคนที่จิตใจสูง อย่างเขาก็ว่า ต้องฉลาด ต้องรวย ต้องเก่ง เป็นผู้ดี แต่ของเรากำหนดหมาย ผู้มีจิตใจสูง อีกอย่างหนึ่ง ก็ต่างกันไป แม้จะดูเหมือน จะคล้ายกัน แต่ต่างคน ต่างสร้าง อย่างเทวนิยม และอเทวนิยม ก็กำหนดต่างกัน
อย่างอเทวนิยม จะชัดเจน รู้ความเป็น เทวดา มาร พรหม อย่างไร จิตสูง อย่างสมมุติเทพ อุบัติเทพ -วิสุทธิเทพ การอุบัติ ต้องอุบัติเป็นอาริยะ ที่แท้ของพุทธ ไม่ใช่วนเวียน ในโลกีย์อย่างเดิม อาจจะมีความดีบ้าง แต่ไม่ได้ฆ่าเหตุ ไม่ได้รู้อาริยสัจ ๔ รู้เหตุแล้วฆ่าเหตุ ด้วยวิธีของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นจรณะ ๑๕, ไตรสิกขา, มรรคองค์ ๘ , โพธิปักขิยธรรม ๓๗ , ทุกหลักก็เหมือนกัน คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุร้าย แล้วมีวิธีดับได้ นี่คือ หัวใจของพุทธ
โบราณาจารย์ ท่านย่อไว้ดีแล้วคือ จิต-เจตสิก-รูป-นิพพาน , ต้องชัดเจน ในการแยกรูป แยกนาม , รู้ว่ารูปกาย, นามกายคืออย่างไร คำว่า จิต-เจตสิก -รูป -นิพพาน คำว่ารูป ไม่ใช่รูปขันธ์ แต่ว่ารวมทั้ง รูปและนาม ไม่ใช่เป็นแต่รูปขันธ์ หรือนามขันธ์ อย่างเดียว (ไม่เคยมีพยัญชนะที่ว่า นามนาม)
๖. ยังมี กาย ที่ไม่สัมมาทิฏฐิ เพราะความเป็นนิโรธ ของคนผู้นี้ยัง มิจฉาทิฏฐิ จึงได้ นิโรธ ที่ยัง สัญญาวิปลาส อยู่ เช่น นิโรธที่มีองค์ประชุม (กายที่ประชุม เข้าไปอยู่ภายในใจ) เป็นความมืดดำ (กิณหะ) หรือเป็นความสว่างใส (อาภัสสรา) ก็ยัง หลง กันได้ว่า เป็นแดนนิพพาน แดนพรหม ซึ่งเป็นองค์ประชุม ในจิตใจ [มิใช่หมายเอา ร่างกาย (สรีระ)นะ]
เพราะไม่ได้เรียนรู้ กาย (ที่ชื่อว่า) ภายนอก กระทั่งถึงกาย (ที่ชื่อว่า) ภายใน และ สัญญาที่กำหนดหมายรู้ รูปกายและนามกาย ทั้งที่เป็นองค์ประชุม อันมีสัมผัส พร้อมด้วย วิญญาณ ๖ อายตนะ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ อย่างครบถ้วน ตามคำสอน อันเป็นพระวัจจนะ ของพระพุทธเจ้า (พตปฎ. เล่ม ๑๖ ข้อ ๑๐-๑๕) จึงไม่สามารถสัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วย กาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ย่อมไม่ เห็น (ปัสสโต) ด้วยปัญญา อันชอบยิ่ง (สัมมัปปัญญา) จึงไม่สามารถ เห็น (ปัสสโต) แจ้ง (สัจฉิ) นิโรธหรือวิมุติ ซึ่งเป็นขั้น สิ้นอาสวะ ได้ (พตปฎ. เล่ม ๓๖ ข้อ ๑๔๙ และ ๑๕๑)
เพราะไม่มี ปัญญา หรือแม้แค่ไม่มี สัญญา (ถึงจะมีก็ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ถูก) ที่จะกำหนดหมายรู้ ความเป็น สัตตาวาส ๙ หรือวิญญาณฐิติ ๗ หรือแม้จะ กำหนดหมายรู้ ได้ ก็เป็น สัญญาวิปลาส แน่นอน
จึงหลงผิด อสัญญีสัตว์ ว่าเป็น สัญญาเวทยิตนิโรธ ดังนั้น นิโรธ ที่ได้ก็ยังมี กาย ที่มืดดำ (กิณหะ) ไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริง ด้วยปัญญา ตามความเป็นจริง เพราะไป ดับสัญญา ให้ตนกลายเป็น อสัญญีสัตว์ จึงไม่รู้แจ้งว่า อะไรเป็น ผล ได้ ความว่าง แบบไหนกันแน่
จริงอยู่ในขณะนั้นอาจจะ ว่างจากกิเลสปรุงแต่งอยู่ ณ บัดเดี๋ยวนั้น (สัมปติ) เพราะได้ ถึงพร้อม, กลายเป็น, สำเร็จ (สัมปัชชติ) ความมืดดำ (กิณหะ)นั้น หรือบางทิฏฐิ ยึดความสว่างใสอยู่ในภวังค์ (อาภัสสรา) เป็นวิมุติหรือนิโรธก็มี
จึงยังมี การเกี่ยวเนื่องกัน (สัมพันธะ), การผูกพัน (สัมพันธะ) ซึ่งเป็น การสัมผัส, การถูกต้อง (สัมผัสสะ, สัมผุสติ, สัมผุสนา) ภาวะนั้นๆอยู่ คือ สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับ ความมืดดำ (กิณหะ) หรือ ความสว่างใส (ที่อยู่ในภวังค์) (อาภัสสรา)
ยังไม่เข้าใจความเป็น กาย ที่ชื่อว่า เทพสุภกิณหะ ยังไม่เข้าใจความเป็น กาย ที่ชื่อว่า เทพอาภัสสรา เพราะไม่ได้ สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จอิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะของผู้นั้น ก็หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา (อัฏฐ วิโมกฺเข กาเยน ผุสิตฺวา วิหรติ ปัญญาย จัสส ทิสฺวา อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ)
จึงไม่เป็นการสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับ สัญญาเวทยิตนิโรธ ที่เป็น ความดับ (นิโรธ) ชนิดที่มี ความว่าง (สุญญตา) อันเป็น ปรมัตถธรรม ของโลกุตรภูมิ ขั้นที่ ๙ อย่างแท้จริง
คำตอบที่พระพุทธเจ้า ทรงรับรองว่า ไม่ผิดแท้ในเรื่อง ภาวะของ สัญญาเวทยิตนิโรธ นี้ ได้แก่ ผัสสะ ๓ ประการ คือ ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง) ผัสสะชื่ออนิมิตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต) ผัสสะชื่อว่าอัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง) ย่อมถูกต้อง (ผัสสะ) ภิกษุผู้ออกแล้วจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ (พตปฎ. เล่ม ๑๒ ข้อ ๕๑๐)
การออกจากแบบไม่ใช่พุทธ คือออกจากภพมืด มาสู่ภพปัจจุบันปกติ เขาก็ไม่ได้ความมืด หรือสว่างอีก แต่ของพระพุทธเจ้า ได้นิโรธนี้ ไม่ต้องนั่งหลับตา เข้าภวังค์ แต่ว่าดับแล้ว ก็อยู่ในโลกนี้ ก็มีผัสสะทั้ง ๓
ออกจากหรือล่วงพ้น (สมติกกมะ) ภูมิเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มาสู่ภูมิ สัญญาเวทยิตนิโรธ นั่นเอง คือการเปลี่ยนฐานะ จากภูมิเก่า มาสู่ภูมิใหม่ หรือเรียกว่า ล่วงพ้นก็ได้
นั่นก็คือ แม้จะใช้ภาษาว่า ออกแล้ว (วุฏฐะ) จาก นิโรธสมาบัติ ผู้มี สัญญาเวทยิตนิโรธ ก็ยังมี ผัสสะ (สัมผัส, ถูกต้อง) เป็นแต่ว่า ผัสสะนั้นคือ รู้สึกว่าว่าง หรือ ผัสสะนั้นคือ รู้สึกว่าไม่มีนิมิต จะมีนิมิตของอากิญจัญญะ (เหลือเศษน้อยนิด อย่างไร ก็ไม่ให้มี)
เป็นความว่าง ๑.รู้สึกว่าว่า ๒.ว่างจากนิมิต ๓.ว่างจากความตั้งอยู่ อะไรที่จะ ไม่ให้ตั้งอยู่ อะไรที่จะให้หมดปราถนา อนิมิตคือ ผัสสะความไม่มีที่ตั้ง ผัสสะความไม่ปรารถนา จบแล้ว ตรวจสอบ อากิญจัญญะแล้วว่า ไม่มีนิมิตอีก
ผัสสะนั้นคือ รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง ภาวะของ สัญญาเวทยิตนิโรธ มี ผัสสะ อยู่แท้ๆ แต่รู้สึกว่า ว่าง (สุญญโต ผัสโส) แล้วภาวะที่ว่า ว่าง นั้นเป็นอย่างไร?
ภาวะของ สัญญาเวทยิตนิโรธ มี ผัสสะ อยู่แท้ๆ แต่รู้สึกว่า ไม่มีนิมิต (อนิมิตฺโต ผัสโส) แล้วภาวะที่ว่า ไม่มีนิมิต นั้นอย่างไร?
ภาวะของ สัญญาเวทยิตนิโรธ มี ผัสสะ อยู่แท้ๆ แต่รู้สึกว่า ไม่มีที่ตั้ง (อัปปณิหิโต ผัสโส) แล้วภาวะที่ว่า ไม่มีที่ตั้ง นั้นอย่างไร?
นี้แหละ คือภาวะที่ผู้ปฏิบัติถ้าได้ สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แล้วจะรู้ ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่น
ภาวะที่ ว่าง ทั้งๆที่มี ผัสสะ ๖ อยู่แท้ๆ แต่ก็รู้สึก ว่าง ได้แก่ ผู้นั้นรู้จัก กาย ที่เป็น องค์ประชุมของ รูปธรรมและนามธรรม พร้อมอยู่ โดยกำหนดรู้ ทั้งอรูปภายใน และเห็นรูปภายนอกอยู่ จิตก็ ว่าง จากกิเลสาสวะ อยู่ตลอดเวลา ว่างจากอัตตา (ตัวตน) อยู่ตลอดเวลา เพราะ ไม่มีอัตตา ๓ แล้ว แม้แต่ อรูปอัตตา สุดท้าย คือ อวิชชาสวะ หรืออวิชชาสังโยชน์ อยู่ตลอดเวลา
มี กาย อันสัมผัสครบพร้อมอยู่ จึงรู้ได้ว่า ว่าง นั้นอย่างไร? ซึ่งเปรียบกับ อะไรๆ ก็ไม่ได้ นัตถิ อุปมา มันเป็น ปัจจัตตัง จริงๆ รู้ได้เฉพาะตน ซึ่ง ว่าง อย่างนี้แล ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปรมังสุขัง เป็น ความ สุขสงบจากกิเลสทั้งปวง มิใช่สงบสลบไสล หรือเงียบเชียบ ไม่เกี่ยวไม่ข้องกับใคร ไม่มีผัสสะใดๆ
ภาวะที่ ว่าง(สุญญตะ)ในขณะนั้นมี ผัสสะ ๖ อยู่แท้ๆ แต่รู้สึก ไม่มีนิมิต (อนิมิตฺโต ผัสโส) นั้นก็หมายความว่า อัปปณิหิตะ นอกจากจะแปลว่า ไม่มีที่ตั้ง ก็ยังแปลว่า ไม่มีความมุ่ง, ไม่ปรารถนา, ไม่อยาก (ชนิดที่เป็นกิเลสแล้ว) ถ้าแม้น จะมีความปรารถนา หรือมีความอยาก หรือมีความมุ่ง ก็มุ่ง ก็ไม่ใช่ปรารถนา ชนิดที่เป็นกิเลส ไม่ใช่ปรารถนา ชนิดที่เป็น เอามาบำเรออารมณ์ตน แน่นอน เพราะเป็นผู้มี นิโรธ แล้ว ดับกิเลส ได้แล้ว
ต่อไปเป็นการตอบปัญหาและประเด็น
- ในรายการเอื้อไออุ่น ที่บ้านราช ได้พูดเรื่องเพลง ดิฉันมีความคิดว่า พวกเรา ชาวกองทัพธรรม (ชาวอโศก) ได้ออกไปทำงาน สู่สังคมวงกว้าง น่าจะมีเพลงประจำ ของชาวกองทัพธรรม สักหนึ่งเพลง ก็คือเพลง กองทัพพุทธธรรม เพลงนี้ เนื้อร้อง ทุกคำความ ได้ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน ถ้าทำได้เป็นกลุ่มใหญ่ มากขึ้น สังคมประเทศชาติ ก็จะพลอยสุข สงบร่มเย็น ชาวกองทัพธรรม และชาวอโศก น่าจะร้อง หรือจำเนื้อได้ เหมือนคนไทย จำหรือร้องเพลงชาติได้ค่ะ
ตอบ.. จะเอางั้นก็ได้ จะเอาถึงขนาดนั้น แต่ก็ดี เรื่องเพลงการ เป็นเรื่องที่เป็นศิลปะ อันเป็น มงคลอันอุดม ไม่ใช่ข้าศึกแก่กุศล ก็ปรึกษากันดู พ่อครูทำขึ้นมา เพื่อให้ใช้ เป็นชื่อเพลง กองทัพพุทธธรรม
- เมื่อมีคนมาว่าพ่อครู ไม่ดีต่างๆนานา เราควรทำอย่างไร
ตอบ.. พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ในพระไตรฯ ล.๙ ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่น จะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลาย ไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจ ในคนเหล่านั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่น จะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลาย จักขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจ ในคนเหล่านั้น อันตรายจะพึงมี แก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่น จะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลาย จักขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจ ในคนเหล่านั้น เธอทั้งหลาย จะพึงรู้คำ ที่เขาพูดถูก หรือคำที่เขาพูดผิด ได้ละหรือ?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่น จะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลาย ควรแก้ให้เห็น โดยความไม่เป็นจริง ว่านั่นไม่จริง แม้เพราะเหตุนี้ นั่นไม่แท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้นั่นก็ไม่มี ในเราทั้งหลาย และคำนั้น จะหาไม่ได้ ในเราทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่น จะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ เธอทั้งหลาย ไม่ควรเบิกบานใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระเหิมใจ ในคำชมนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่น จะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลาย จักเบิกบานใจ จักดีใจ จักกระเหิมใจ ในคำชมนั้น อันตราย จะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่น จะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือ ชมพระสงฆ์ ในคำชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลาย ควรปฏิญาณให้เห็น โดยความเป็นจริงว่า นั่นจริง แม้เพราะเหตุนี้ นั่นแท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้คำนั้น ก็มีในเราทั้งหลาย และคำนั้น จะหาได้ ในเราทั้งหลาย.
ใครตำหนิเราถูกต้อง พิจารณาแล้วก็ทำใจ อย่าโกรธชัง อย่ารัก อย่าชอบ กราบเขาได้เลย การตำหนินี้ ได้ดีกว่าคนชม มีเพลงอาริยะว่า พ่อครูได้ดี เพราะคนตำหนิ
หากเขาด่าสาดเสียเทเสีย เราก็ทำเฉย เราก็ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก เพราะเขา ไม่มีหลักเกณฑ์ ยกตัวอย่าง ด่าเราว่า ไอ้สัตว์หมา ซึ่งเราก็เข้าใจ ว่าเรามีความไม่ดีไม่งาม เขาเปรียบเรา เหมือนหมา ถ้าเขาตำหนิผิดๆ เราก็ให้ข้อมูลเขาไป บอกเขา ถ้าเขาฟัง แต่ถ้าเขา ไม่ฟังเสียงเราเลย ก็ปล่อยให้เขาด่าไปเถอะ
สรุปคือ เราไม่ควรเถียง แต่บอกความจริงได้ ก็ควรบอก
- คำว่า รักไม่มีเงื่อนไข มีสภาพอย่างไร ในความรัก ๑๐มิติ
ตอบ... คือรักอย่างโง่งมงาย พ่อครูว่า รักต้องมีเงื่อนไข ทั้ง๑๐ มิติ คือเหตุผลต่างๆ ความรัก ที่เป็นกาม ใคร่อยากทางกามราคะ โดยเฉพาะเรื่องทางเพศ นั้นเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ถ้ามันดำฤษณานั้น ใครก็เอาไม่อยู่ ถ้ามันหน้ามืดตามัวมา ถ้าว่าจะรักในลาภยศ ชื่อเสียง อย่างหน้ามืด ตามัว ก็เรียกว่า ดำฤษณา เช่นกัน เช่นรักในเงิน มากกว่าลูกเมีย พ่อแม่ หรือ เห็นแก่ยศ ศักดิศรี ก็ตาม จริงๆมันซ้อน ก็มีพอสมควร แต่รักอย่างหน้ามืด ไม่มีเหตุผลควรเลย อย่างลาภ-ยศ-สรรเสริญ โดยธรรม มีตามธรรมชาติ พ่อครู ไม่มีใครตั้งยศ แต่พ่อครู มีฐานะที่คนให้โดยธรรม มีสรรเสริญโดยธรรม ลาภก็มี โดยบารมี โดยธรรม แม้พ่อครู มีคนที่ส่งเสริม สนับสนุน แต่พ่อครูไม่ได้ตั้ง เพื่อให้คนมาให้ แตว่าก็มีคนมาให้ ก็เอามาใช้งานศาสนา ไม่ได้มุบมิบกักตุน หรือแม้แต่ เอามาเสพให้แก่ตน ก็ไม่มี ไม่ว่าจะเจ็บป่วย ก็ไม่ใช้เงิน ที่เขาบริจาคมา หรือ แม้จะไม่มีกิน ก็ไม่เอาเงินไปซื้อข้าว ปล่อยให้ตายไปได้เลย
- การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ถูกไหม เมื่อได้เห็นกล้วย ที่โต๊ะพ่อครูออกอากาศ ก็คิดว่า เราจะไปอยากกินทำไม มันอยู่ไกล และเขาให้พ่อครูประดับรายการ สรุปคือ ให้เหตุผลมันไม่ต้องไปอยาก
ตอบ... พ่อครูว่า ก็เป็นเหตุผลตรรกะเทียบเคียง ก็ช่วยได้ไม่น้อย เฉลียวฉลาด แต่ถ้าจะให้ เข้าปรมัตถ์ เมื่ออาการอยาก ตอนสัมผัสเห็น แล้วอยาก แต่เพราะติด ก็ต้องล้าง เพราะมันต้องได้อย่างนี้ ได้ก็ชอบ ไม่ได้ก็ไม่ชอบ พออยากได้ก็แสวงหา ได้มาก็ชอบใจ ซึ่งจะเป็นตัวกล้วย หรือความอยาก มันก็ไม่เที่ยง ขนาดไกลขนาดนี้ ยังอยากได้ เราก็ต้องมีปัญญา เห็นไตรลักษณ์ และจริงๆ มันไม่มีกิเลสตัวนี้หรอก จริงๆเรามีอะไร เกี่ยวข้องกับเรา มีกล้วยมา ควรกินก็กิน แต่ไม่ได้กินเพราะอยาก จะว่ารสดี รูปดีกลิ่นดี ก็ไม่ใช่ มันมีเนื้อแข็งหรือนิ่ม ก็เป็นโดยความจริงของมัน แต่ถ้าคุณพิจารณาจริง ว่ามันไม่เที่ยง ถ้าเราไม่ต้องได้ตามสเปค ก็จะดี จริงๆอาการเหล่านี้ มันไม่มีตัวตน เราจะเห็นความลดละ จางคลาย มันเป็นตัวเหตุ ที่มุ่งมาดปรารถนาอยากได้ แต่เราทำการลด ก็สัมผัสแล้วก็ไม่อยาก ก็รู้ความจริงตามจริง อันไหนควรใช้ก็ใช้ ไม่ต้องไปมีสิ่งเกิน ทำให้เราหลงผิด
- พีชะนิยาม จะมีแต่ตัวถูกรู้ ไม่มีธาตุรู้ แล้วมันจะพัฒนา ให้มีธาตุรู้ได้อย่างไร
ตอบ... วิวัฒนาการของธรรมนิยาม ๕ ที่ทรงไว้ในมหาจักรวาล ตั้งแต่เป็นอุตุ ที่เป็น พลังงาน ธาตุ ๔ และอากาศธาตุ ลมคือความเคลื่อนไหวบางเบา (แก๊ส) แต่ภาษา ทางตะวันออก เรียกว่า ลม ซึ่งละเอียด บางเบามาก จากลมก็เป็น อุณหธาตุ เราเรียกว่า ไฟ ส่วนความร้อน ที่น้อยมากลงๆ ก็เรียกว่า เย็น จนกระทั่งติดลบได้เลย แต่ละคน เย็นร้อน ติดยึดต่างกันไป สรุปแล้ว อุณหธาตุ คือธาตุของพลังงาน ในมหาจักรวาล มีมากมาย หลายชนิด ความร้อน แสง เสียง แม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น ก็คือร้อนนั่นแหละ เป็นธาตุไฟ สิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นชีวะ
พลังงานเหล่านี้ พัฒนาเป็นพีชะได้ ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่ ก็ตอบไม่ได้ แต่มันวิวัฒนาการมา ซึ่งพีชะ ก็มีพลังงานของอุตุ อยู่ในนั้น ซึ่งพระพุทธเจ้า ท่านแยก พลังงานเหล่านี้ไว้ ตั้งแต่อรูป ไปจนถึงพีชะ ตั้งแต่แสงเสียงกลิ่น ที่เราไม่รู้สึกได้ก็มี อย่างกลิ่นมีพิษบางอย่าง เราก็ไม่รู้กลิ่นได้
เมื่อเป็นจิตนิยามแล้ว จะมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ครบ แต่พีชะ จะเป็นชีวะ ในระดับมีรูป แต่ไม่มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร กำหนดรู้ในตัวมันได้ว่า อย่างนี้มันต้องการ อย่างนี้ไม่ต้องการ มีการสังขารได้ แต่ไม่มีเวทนา ไม่มีการยึด เป็นอัตตา มันยึดมั่นถือมั่น ระดับจิตไม่ได้
เริ่มตั้งแต่ จิตวิญญาณชั้นต่ำ ก็เริ่มมีกาม มีพยาบาท น้อยมาก จากสัตว์เซลล์เดียว จนพัฒนา มาเป็นมีวิบาก มีการยึด การแย่ง การชิง การรัก การดูด มีคู่ มีเพศมา ที่จริงพีชะ ก็มีเพศแล้ว แต่ไม่มีอารมณ์ แต่ว่าระดับจิต จะมีกรรมวิบาก
ถามว่าเมื่อไหร่จะเป็น ตอบไม่ได้เป็นอจินไตย พระพุทธเจ้าท่านแบ่งไว้เยี่ยม มากกว่า ทางโลกเขามาก เรามาศึกษา จะรู้จิตวิญญาณ สามารถแยกเวทนาได้ อันไหน จะให้ทรงไว้ อันไหนจะให้หมดไป เรายึดอย่างไร ยึดอย่างสมาทาน เป็นอย่างไร เราใช้อาศัยได้ จนกว่าเราจะหมด อย่างไม่ต้องยึด ไม่ต้องอาศัย อะไรที่ไม่ต้องอาศัย เราก็ไม่ต่อ อันไหนต้องอาศัย ก็เอามาใช้ ไม่ได้ก็ไม่ทุกข์
ยิ่งเราลดความติดยึด ที่จะต้องหรูหรายิ่งใหญ่ คุณก็ต้องแย่งชิงมามาก เพื่อให้เป็นของตัว คุณก็มีวิบากมากอีก
พีชะมันรู้ของมัน มีสัญญาอยู่ แต่จะวิวัฒนาการ เป็นจิตนิยาม ได้เมื่อไหร่นั้น ตอบไม่ได้ แต่ว่ามันเป็นได้ เป็นจิตนิยาม จะมีกรรมวิบาก ต่อมาก็ต้อง เรียนรู้กรรม ให้เป็น เวไนยสัตว์ รู้กรรมโลกุตระได้
- มีวิธีอย่างไรที่จะฟังธรรมให้รู้เรื่อง
ตอบ .. ฟังไปตามลำดับ ดีที่คุณพูดอย่างนี้ คุณคงฟังพ่อครู แต่พอฟังแล้ว ไม่รู้เรื่อง วิธีฟังอย่างไร.. คุณฟังธรรม ถ้าคุณฟังคนอื่น ไม่รู้เรื่องก็แย่ แต่คุณฟังพ่อครูไม่รู้เรื่อง ก็อย่าเสียใจ คุณมีจิตอยากฟัง เห็นคนอื่นฟังรู้เรื่อง ก็อยากรู้เรื่องบ้าง อย่างคนฟังแล้ว ไม่รู้เรื่อง ก็ตีทิ้งเลยนี่ แย่ที่สุด ยิ่งต้านเลยยิ่งแย่ ให้คุณฟังไปเรื่อยๆ เป็นธรรมขั้นลึก ขั้นสูง ก็ฟังคนอื่น ที่ย่อยให้ฟังด้วย และขอยืนยันว่า ที่อยากฟังให้รู้เรื่องนี่ ก็คือ คุณรู้เรื่องบ้าง
- ภาพหลังพ่อครู คือ คอมเพล็กซ์บุญนิยม ๔ ภาพ พ่อครูเลือกภาพไหน
ตอบ คอมเพล็กซ์บุญนิยม เรียกว่า วิหารหินฟ้า หรือ Monolith sanctuary เป็นที่รวมของ กิจการบุญนิยม จะมีพระพุทธรูป เป็นองค์ประกอบ มีคนช่วยคิด ช่วยทำมา พ่อครู ก็ไม่มีทรัยพ์ ไม่มีแรงจะทำ แต่ว่าคนก็จะช่วยทำ ก็เป็นที่รวมของบุญนิยม ที่ตรงกันข้ามกับ คอมเพล็กซ์ทุนนิยม ตอนนี้ ยังไม่เป็นรูป เป็นร่างเลย พอเสนอไป ก็มีคนข้างนอก มาช่วยเหลือบ้างแล้ว
- สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ามีเรื่อง ร้อยเรื่องพันเรื่อง มีชื่อของตัวละคร ที่ชื่อคล้ายกันหมด ตั้งใจให้คนอินเดียเข้าใจ ใช่หรือไม่
ตอบ ใช่ ซึ่งจะยุคไหน จะตั้งชื่ออะไร ก็คือสภาวะอันนั้นแหละ อย่างคำว่าคน จะภาษาไหน ก็คือคน จะเป็นไมโครโฟน จะเรียกภาษาไหน ก็คืออันนั้น ก็แล้วแต่ยุคกาล พระพุทธเจ้า ก็ใช้อย่างนั้น ในยุคนั้น อย่าไปติดยึดในภาษา
เช่นสารีบุตร คือผู้ที่มีสาระของความเป็นบุตร คือผู้นำสาระของพระพุทธเจ้า ได้เยี่ยมที่สุด เป็นรองพระพุทธเจ้า ต้องชื่อนี้ คนนี้คือสิ่งนี้ จะเห็นได้ว่า ชื่อตัวละคร ของพระพุทธเจ้า จะตรงหมด กับสภาวะ อย่างจักขุบาล, สิริมหามายา, สิทธัตถะ (คือเนื้อแท้ ที่เยี่ยมยอด)
- โครงการบริหารน้ำของรัฐบาลใช้ ๓.๕ แสนล้านบาท คิดว่าเป็นโครงการ ตำปลาร้า ละลายแม่น้ำ ต่อไปครับ..........
จบ
|