560628_รายการเรียนอิสระ(ตามสำนึก) โดยพ่อครูและส.เดินดิน
เรื่อง มีแต่อนัตตาแล้วเอาอัตตาอะไรไปตกนรก

        ส.เดินดินดำเนินรายการ ที่ห้องกันเกรา สันติฯ

ตอนนี้ในบ้านเมือง มีพระฝีปากกล้า กำลังท้าถกธรรมะกัน เป็นข่าวใหญ่โต แต่พ่อครู ก็มีคุณ 8705 ที่คอยส่งประเด็น มาค้านแย้งพ่อครู อยู่ตลอดเวลาเลย ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหลาย ก็ทำให้เราได้ศึกษา ได้เรียนรู้ และพ่อครูก็เตรียม เนื้อหาธรรมะ มาให้พวกเราแล้ว

                พ่อครู ชีวิตเราก็อยู่กับธรรมะนั่นแหละ ฟังด้วยดีย่อมเกิดปัญญา ก็ตั้งใจเอา วันนี้ ก็จะอ่านประเด็น ของพวกเรา หลายคนที่ส่งมา

                มีคนหนึ่งส่งประเด็นมาถามเรื่อง ลิงลมอมข้าวพอง ว่าเป็นอย่างไร?
                ศัพท์ "ลิงลมอมข้าวพอง" เป็นศัพท์ที่พ่อครู นำมาเปรียบเทียบ คือสมัยก่อน เขามีการละเล่น อย่างหนึ่ง คือเอาคนมาเขย่า ให้เมาๆ แล้วก็ให้คนเมานี้ ไปไล่จับคนอื่น ถ้าจับได้ คนนั้นก็เป็น ลิงลมอมข้าวพองต่อ ก็เหมือนกับ คนที่เกิดมาในโลกนี้ ก็ถูกโลก มอมเมากันทุกคน ยุคนี้ยิ่งหยาบมาก เราก็จะเมา ไปตามโลกเขา พักหนึ่ง แต่ถ้าเรามีภูมิ ของตน เช่น เป็นสยังอภิญญา หรือสยัมภู แม้มีบารมี ก็ถูกครอบงำ เป็นเวลาหนึ่ง จนกว่าจะโต และถึงเวลา ที่จะรู้ตัวขึ้นมา อย่างพระพุทธเจ้า ก็ต้องอายุถึง ๓๕ ปี จึงจะตรัสรู้ได้ กว่าจะตรัสรู้ ก็หลงไปกับโลกเขา ทั้งถูกบำรุงกาม และก็หลงผิดไปทำ ทุกรกิริยา ท่านทำได้เก่งกว่า คนอื่นด้วย คือท่านมีภูมิธรรม ที่สั่งสมมา มากมายหลายชาติ เป็นอรหันต์ และต่อภพภูมิ เป็นโพธิสัตว์อีก

                ใครเข้าใจว่า อรหันต์ตายแล้วสูญ ผู้นั้นไม่บรรลุ อรหันต์หรอก และจะหลงว่า ตนเป็นอรหันต์ และจะเชื่อว่า ตนตายแล้ว ไม่มาเกิดอีก เป็นอรหันต์แล้ว เป็นทิฏฐิที่เป็น อุจเฉทิฏฐิ เขายึดว่า ตายแล้วสูญ คือการตายเกิด ทางร่างกาย แต่พระพุทธเจ้า ให้เรียนรู้ กายตาย การเกิดทางจิตวิญญาณ ให้กิเลสตายไปให้สนิท ไม่เกิดอีก แต่จิตวิญญาณเรา ก็มาเกิดอีกได้  กิเลสตายแบบ นิจจัง (เที่ยงแท้) ธุวัง (ไม่เปลี่ยนแปร) สัสสตัง (แน่นอน)
                อย่าว่าแต่อรหันต์เลย แม้แต่โสดาบัน ที่ได้คุณสมบัติ โสตาปันนะ อวินิปาตธรรม นิยตะ สัมโพธิปรายนะ ก็มีจิตมีปัญญา ที่เห็นกิเลสลด ทำกิเลสลดได้ แน่นอน ถ้ามีคุณสมบัติตั้งแต่ นิยตะขึ้นไป ส่วนอนาคามี  มีแต่จะไปถึง ที่สุดแห่งทุกข์ ส่วนอรหันต์ ก็มีแต่ จะต่อเป็นโพธิสัตว์ ต่อไป และถ้าอรหันต์ ตายแล้วสูญ จะมีพระพุทธเจ้า ที่ไหนได้ ไม่มีรากเหง้า อาริยธรรมเบื้องต้น อยู่ๆก็เป็น พระพุทธเจ้าเลย ทำให้คน คิดเพี้ยนไปว่า ถ้าเป็นอรหันต์ จะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า หนักกว่านั้น อย่าเป็น แม้แต่ โสดาบัน เพราะเป็นโสดาบันแล้ว จะต้องเกิดอีก ๗ ชาติ แล้วเป็นอรหันต์ต่อ จะไม่เป็นพระพุทธเจ้า แล้ว ๗ ชาติ จะพอที่จะบำเพ็ญ เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ ต้องเรียนรู้ อีกมากมาย ไม่รู้กี่ชาติ จึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า
                ต้องชัดเจนว่า ที่จะไม่ให้เกิดอีกคือกิเลส แต่กายขันธ์ หรืออัตภาพ ต้องอาศัย ต่อไป จนกว่าจะปรินิพพาน อย่างเช่น พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ท่านเป็น โพธิสัตว์ใหญ่ แต่ท่านก็ช่วยมนุษย์ทุกคน ให้พ้นทุกข์ได้ก่อน จึงจะปรินิพพาน ก็เป็นปณิธาน ที่ยิ่งใหญ่มาก

                ส.เดินดินถามว่า ทำไมถึงเชื่อกันมาผิดๆ มายาวนาน

                พ่อครูว่า.... เพราะเชื่อตามที่ ครูบาอาจารย์สอนมา ซึ่งครูก็มีทั้งที่ ถูกและผิด ในยุคนี้ พ่อครูก็ว่ายากแล้ว แต่ยากกว่านี้อีก ก็ต้องผ่าน ไม่ต้องคิดว่า ยากกว่านี้ จะเป็นอย่างไร แม้เมื่อยแต่ก็ไม่ท้อ เราเจริญได้ก็เพราะ สิ่งเหล่านี้ อุปสรรค์ ทำให้คนเจริญได้ ไม่ไหวจะเสียผลก็พัก เราไม่เอาชนะคะคาน เราทำตามเหตุปัจจัย ให้ดีที่สุด ไม่เหยาะแหยะ ต้องอุตสาหะ เต็มเหนี่ยว แต่อย่าเกินของตนเอง ไม่อย่างนั้น เสียเวลามาก ก็ประมาณเอาเอง ตามภูมิ
        กรณีที่โยมยังกินเนื้อสัตว์ แต่ก็รู้สึกผิดที่กิน แต่ก็มีกิเลสตน บวกกับที่ต้อง อยู่กับคนอื่น ก็เทียบกับ พระมิตซูโอะ ที่บวชมานาน แต่ออกไปมีคู่ สิ่งไหน จะมีกิเลส มากกว่ากัน?

                พ่อครูว่า เทียบกันไม่ได้ คนหนึ่งไม่กินเนื้อสัตว์ แต่กินเนื้อสด มันคนละเรื่องกัน กิเลสมันคนละตัว แต่ที่จริง มันเป็นเรื่องเดียวกันหมด แต่ท่านก็แบ่งกันตามฐานะ สรุปแล้ว กิเลสใครกิเลสมัน

                ก็แวะท่านมิตซูโอะว่า.. การปฏิบัติธรรม ที่ไม่สัมมาทิฏฐิ กดข่ม นั่งสมาธิ สายอาจารย์ชา ท่านว่าเป็นผู้มีปัญญา มีผู้นับถือ มีชื่อเสียงยิ่งกว่าพ่อครู แต่เสร็จแล้ว ก็เวียนกลับ พ่อครูเชื่อว่า ถ้าไม่สุดวิสัย ท่านไม่สึกหรอก ลงทุนมาเยอะแล้ว ซึ่งพระปฏิบัติ ที่ท่านไม่ยอมสึก กดข่มได้ก็เยอะ แม้สายปัญญา จะมีกิเลสอย่างนี้ แต่ก็เอาตัวรอดได้ จะเบากว่ากัน ก็ขอแวะอธิบายนิดหนึ่ง

        0813998xxx ขอเสนอให้เจ้าสำนักต่างๆ มาโต้ธรรมกัน ปชช จะได้ปัญญา เพิ่ม

        พ่อครูว่าก็ดีนะ ประชาชนจะได้ปัญญา สมัยโบราณ ต่างลัทธิ ก็มีการโต้วาทะกัน ศาสนาพุทธ กับศาสนาอื่น ก็โต้กัน เวลาจะโต้กัน ก็หักกิ่งหว้ามาเสียบ ที่หน้าสำนักกัน แล้วก็สากัจฉากัน ซึ่งการโต้ธรรมกัน อยู่ในลัทธิทิเบต โต้กันออกท่าทาง เอาเป็นเอาตาย ให้เกิดปัญญา พ่อครูก็ว่าดี ไม่ใช่จะมาสร้างกิเลส แต่ว่าเป็นการสร้างความเข้าใจกัน อย่างพระยามิลินทร์ กับพระนาคเสน เป็นต้น

                0894979xxx ถ้าความนึกคิด (ไม่มี) ความรู้สึกจะเป็นเช่นไร ถ้าความนึกคิด (มันมี) ความรู้สึก จะเป็นเช่นไร.. พ่อท่านว่า นิพพานเป็นอนัตตาได้ไง นิพพานเป็น อสังขตะนะยะ ไม่ใช่สังขตธรรม แต่ถ้าความรู้สึกนึกคิด (ไม่มีเลย) มันจะเป็นเช่นไร สุดท้าย ถ้า(ดับ)ความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด (ด้วยญาน)...? มันจะเป็นเช่นไร ช่วยอธิบาย ความคิดเห็นนี้ (จัดเต็มๆ...?) ให้หน่อยครับ ขอกราบนมัสการ อย่างสูงครับ

                พ่อครูว่า ความนึกคิดเป็นตรรกะ เมื่อคุณไม่นึกคิด ก็อยู่เฉยๆ พยายามให้จิต ว่างๆ กลางๆ จะเป็นเช่นไร คุณก็ลองหัดดูสิ คนที่ฝึกมาก็ทำได้ คนที่ฝึกสมถะ ก็ทำได้ หรือคนที่ฝึก แบบพุทธเจ้าก็ทำได้ อย่างไม่ต้องบังคับเลย ทั้งๆที่ตื่นลืมตา นี่แหละ จะมีคนพูดอย่างไรก็เฉย หรือจะนั่งสมาธิ ก็เกาะกสิณ แต่อย่างพระพุทธเจ้า ก็ไม่ต้องเกาะกสิณ มันเป็นเช่นนั้นได้เอง ตถตา คุณต้องฝึกเอง

                ถ้าดับความรู้สึกนึกคิด จิตก็ว่ากลางๆ แต่ถ้าฝึกแบบพุทธ ต้องฝึกรู้อารมณ์ อุเบกขา ในคนสามัญก็เกิด เคหสิตอุเบกขา ตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่นาน มันจะมีเรื่อง ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่ความเฉยแบบพุทธ ที่ของพุทธจะเกิดจาก การล้างกิเลส ไปตามลำดับ ให้เกิด มโนปวิจาร ๑๘ ที่แยกเนกขัมสิตะ และ เคหสิตเวทนาได้
                แบบฤาษี ก็ทำอุเบกขา แบบไม่ได้กำจัดกิเลส ออกจากจิต ของพุทธ ทำกิเลส ออกจากจิต ไม่มีกิเลส มาสัมปยุติ ตลอดไปเลย ถ้าจะเฉย ก็เฉยได้ ถ้าจะปรุง ก็ปรุงได้
                คำว่าไม่คิดไม่นึก ท่านแปลว่า ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ และในนั้น มีการคิดนึก แล้วมีกิเลส ไปร่วมคิดนึกด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มีก็เฉยๆ ซึ่งมีพักยก แบบเคหสิตะได้ แต่ของพุทธ ล้างกิเลสได้ตลอดไปเลย จะสังขารอย่างไร ก็ไม่มีกิเลสร่วม มีแต่กุศล

        0894979xxx สมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ มันเป็นเพียงแค่พื้นฐานของ รูปฌาน และ อรูปฌาน ถูกต้องไหมครับ กราบนมัสการ อย่างสูงครับ

        พ่อครูว่า ถูกต้อง...คำว่าอัปปนาสมาธิ เป็นคำเรียก อัปปนาเป็นความแน่วแน่ คือจิตได้ฝึก ล้างกิเลสได้เรื่อยๆ จนกระทั่ง มีสภาวจิตที่เก่งขั้นหนึ่ง ไม่มีกิเลสร่วมปรุง อย่างแน่วแน่ ซึ่งจะมี อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา มีการสั่งสมเป็น เจโตสมาธิ หรือ เจโตสมถะ ส่วนตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ เป็นตัวปัญญา
                เมื่อสั่งสมเป็นคุณสมบัติที่สมบูรณ์ เมื่อชำระกิเลส ก็เป็น ปุญญาภิสังขาร แล้วก็ทำได้หมดเป็น อปุญญาภิสังขาร แล้วก็ทำซ้ำ ทำทวน อาเสวนา ภาวนา พหุลีกัมมัง สั่งสมเป็น อเนญชาภิสังขาร ไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงขั้นสมบูรณ์ ก็เรียก อัปปนาสมาธิ
                ซึ่งมีโบราณาจารย์ท่านถือว่า อัปปนาสมาธิ เป็นตัวจบ ซึ่งพ่อครูว่า ถ้าได้ ก็สั่งสมจาก อุปจารสมาธิ คือเข้าใกล้สมาธิ แล้วสั่งสมลงไปหาลึก
                แต่ผู้ถามมา ก็ยังไม่เข้าใจรายละเอียด ที่พ่อครูพูดนี้หรอก แต่ว่าเป็นการปฏิบัติ สมาธิทั่วไป ที่ทำให้จิต แน่วแน่เป็นหนึ่ง เพื่อให้ทำสมาธิ และฌานต่อไป

                แต่ของพุทธจะเป็น ฌาน แล้วค่อยเป็น นิโรธ และเป็น สมาธิ ตามลำดับ ตัวจบ ของสมาธิ คือ สมาหิตัง  ไม่มีอะไร หักล้างเปลี่ยนแปลงได้

                0857308xxx การทำสมาธิหลับตา ใช่การปฏิบัติของสาย ศรัทธานุสารี หรือไม่คะ
                พ่อครูว่าใช่ การทำสมาธิหลับตา ใช่การปฏิบัติของสาย ศรัทธานุสารี ส่วนสาย ธรรมานุสารี คือสายปัญญา ซึ่งสายศรัทธานี้ จะไปชอบทำสมาธิ แบบหลับตา เสียเยอะ ไม่ชอบแบบ มีเหตุผล แบบตื่นๆหรอก
                สายศรัทธา มีความรู้แบบพุทธได้บ้าง แต่ไม่ค่อยสัมมาทิฏฐิ สมบูรณ์ แม้จะได้ถึง กายสักขี พระพุทธเจ้า ก็ไม่รับรอง ซึ่งพระพุทธเจ้าว่า สายนี้ ถ้าไม่มีความรู้ถึง วิโมกข์ ๘ คือรู้กายนอกกายใน ต่อเนื่องไปทาง วิญญาณ ๖ ให้สมบูรณ์ ต้องจากหยาบ กลาง ละเอียด คือกิเลสจะถูกดึง ออกมาข้างนอก แต่วิธีนั่งสมาธิ จิตจะดิ่ง จะไม่รู้ กรรมกิริยา ได้ยาก ไม่ชัดเจน
                สายปัญญา จะปฏิบัติจาก ธรรมานุสารี แล้วพัฒนาเป็น ทิฏฐิปัฏฏะ คือเข้าถึง ความรู้ ความเห็นสัมมาทิฏฐิ และจะเข้าสู่ปัญญาวิมุติ แต่สายศรัทธาจะมี สัทธาวิมุติ แล้วได้กายสักขี ซึ่งพระพุทธเจ้าเน้นว่า จะต้องเข้าใจ สัตตาวาส ๙ (วิญญาณฐีติ ๗) และถูกต้อง สัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วยกาย

                0816624xxx ต้นไม้ผลไม้ไม่สุขไม่ทุกข์ กายในกายสุขทุกข์ กายในกาย ยึดติดผลไม้

                ผลไม้ก็เป็นองค์ประชุมของมัน เป็นพีชะนิยาม แต่ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่มีโกรธ หรือรัก พระพุทธเจ้าสอน เป็นวิทยาศาสตร์

                0897146xxx มีศีลห้า กินมังสวิรัตได้ แต่เป็นโรคกลัว ระแวงสังคม ถ้าไปปฏิบัติธรรม กับชาวอโศก ที่ต้องมีผัสสะเป็นปัจจัย จะพอไหวไหม ครับ

                พ่อครูว่า คุณเองต้องตอบตนเองว่า จะไหวไหม หอกที่นี่ หอกแหลม เสียบไม่ค่อยเจ็บ แต่จี๊ดไปลึก แต่ข้างนอกนี่ หอกไม่แหลม แทงกว่าจะเข้า ก็เจ็บเลย

                0824027xxx ขอบคุณ8705 ที่ทำให้ข้าน้อย ยิ่งเห็นความต่าง ระหว่างพ่อครู กับคุณ มากยิ่งขึ้น พ่อครูเปรียบเหมือนฟ้า คุณเหมือนเหวลึก

                0888705xxx รูปในฟามหมายของคนทั่วไป คือวัตถุ แต่รูปในฟามหมายของ ธรรมะ มิใช่อย่างนั้น!
              0888705xxx พุทธเจ้าสอนว่ารูปมี นามมี แต่รูปนามที่มีอยู่นั้น.. เป็นอนัตตา ต่างหากจ๊ะ
                0888705xxx เมื่อรูปเกิด เรียกว่ารูปมีหรือมีรูป เมื่อรูปดับ เรียกว่ารูปไม่มี หรือไม่มีรูป เช่นเดียวกัน เมื่อนามเกิด เรียกว่านามมีหรือมีนาม เมื่อนามดับ เรียกว่า นามไม่มี หรือไม่มีนาม แต่ว่าสำหรับอัตตาแล้ว พุทธเจ้าบอกว่า หากผู้ใด มีความเห็นว่า อัตตามีอยู่ หรือมีอัตตาอยู่.. ย่อมเป็นมิจฉาทิฐิ! ทั้งพุทธเจ้าก็บอกด้วยว่า หากผู้ใด มีความเห็นว่า อัตตาไม่มีอยู่ หรือไม่มีอัตตาอยู่.. ก็ย่อมเป็นมิจฉาทิฐิ เหมือนกัน แต่พธร ไม่รู้ จึงมั่ว!

                พ่อครูว่า รูปก็มีนามก็มี แต่เราไม่ยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ซึ่งพระพุทธเจ้าว่า นามคือ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ซึ่งไม่เคยเจอ ที่พระพุทธเจ้าว่า หากผู้ใด มีความเห็นว่า อัตตามีอยู่ หรือมีอัตตาอยู่.. ย่อมเป็นมิจฉาทิฐิ! ถ้าใครหาเจอ ก็บอกพ่อครูด้วย

                0888705xxx ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพธร . เข้าใจเอาเองว่า รูปคืออัตตา! ฉะนั้น เมื่อรูปเกิดอยู่ จึง=มีอัตตา และเมื่อรูปดับ จึง=ไม่มีอัตตา หนำซ้ำยังเข้าใจ เอาเองอีกว่า นามคือ ไม่มีอัตตา! (เพราะไม่มีรูป) ฉะนั้น ถ้าละรูปได้แล้ว อย่างพธร. ก็จะ=ว่า ละอัตตาได้แล้ว.. จึงกลายเป็นอรหันต์จ้อย เหมือนอย่างพธร. ที่เหลือแต่นาม (คือไม่มีอัตตา ) เท่านั้น! แล้วบอกว่า ไม่มีอัตตา นี่แหละคืออนัตตา อันเป็นสุดท้าย หรืออมตะ! สรุปว่า ความรู้ของพธร. =เด็กอนุบาล!

                พ่อครูว่า ต่อไปเด็กอนุบาล จะได้อธิบายธรรมะ
                ต่อไปเป็นการแจกอภิธรรม

                "วิญญาณ" ที่เกิด(ชาติ) เพราะ "มีสัมผัสเป็นปัจจัย" นี้เอง ที่เป็นสภาวสัจจะ ในการศึกษาของพุทธ ต้องทำความเข้าใจให้ดีๆให้ถ่องแท้ ว่า "วิญญาณ" ที่ศาสนาพุทธ จะศึกษา จากความตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า เป็นอย่างไร
                ซึ่งความเป็นวิญญาณ มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ระหว่างศาสนา "เทวนิยม" ที่ล้วนมี มโนคติ (concept, trend of thought) เชื่อว่า "ความเป็นวิญญาณ" นั้นคือ ภาวะที่ ท่องเที่ยวไป (สันธาวติ) แล่นไป (สังสรติ) มิใช่อื่น (อนัญญันติ) ตามที่ "สัสตทิฏฐิ" เชื่อถือกันอยู่
                กล่าวคือ เห็นว่า "วิญญาณ" เป็นตัวเป็นตน มีสรีระ (มีร่างกายเป็นรูป เป็นโฉม) ล่องลอย ท่องเที่ยวอยู่ทั่วไป ในภพดินแดน นรกสวรรค์ต่างๆ ปรากฏตัว ให้คนเห็นก็ได้ หรือผู้ฝึกฌาน - ฝึกสมาธิเก่งๆ ก็สามารถจะเห็น "วิญญาณ" ตามที่เทวนิยม เชื่อกันว่า มี รูปร่างโฉมกาย (สรีระ) ถ้าผู้ใดมี "ภูมิ" ถึงขีดถึงขั้น หรือมีความเก่ง จึงจะสามารถ "เห็นรูปร่าง โฉมกายของวิญญาณ" ดังว่านี้ได้ และจะเป็น "วิญญาณ" เกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ไปตลอดกาล นิรันดร
                นี่คือ "สัสสตทิฏฐิ" (ความเห็นว่า "อัตตา-ตัวตน" เที่ยง)
                ไม่เพียงแต่ชาว "เทวนิยม"เท่านั้น ที่เชื่ออย่างนี้ แม้แต่ชาวพุทธแท้ๆ ที่ยังมิจฉาทิฏฐิอยู่ ก็มีทิฏฐิแบบ สัสสตทิฏฐิ นี้กันอยู่มากมาย นับไม่ถ้วน
                แถมชาวพุทธ บางคนบางหมู่ ก็มีทิฏฐิแปลกแยก ไปอีกแบบ เช่น เข้าใจว่า ในชีวิตคนเป็นๆ นี้เท่านั้น "วิญญาณไม่ใช่ตัวตน -ไม่ใช่อัตตา" อัตตา-ตัวตน จึงไม่สามารถจะ "มี" อยู่ใน "คน" ได้ ถ้าขืนผู้ใด เข้าใจว่า ในคนมีตัวตน มีอัตตา ผู้นั้นมิจฉาทิฏฐิ ว่างั้นเลย
                กล่าวคือ เขาเชื่อว่า อะไรๆก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะได้เรียนมาว่า สัพเพธัมมา อนัตตา ซึ่งแปลเป็นคำไทยว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ตัวตน แปลกันอย่างนี้จริง แต่คนผู้นี้ ต้องใช้คำว่า "ใช่" ใช้คำอื่นไม่ได้ จะใช้คำว่า "มี" คำว่า "เป็น" ไม่ได้ ต้องใช้คำว่า "ใช่" จึงจะถูกต้อง เขายึดตามภาษา คำพูดนั้นเลย ยึดว่า นอกร่างกายคนออกไป นี้กลับเห็นว่า วิญญาณ มีรูปร่างโฉมกาย มีตัวตนเห็นได้
                เขาเชื่อว่า วิญญาณ ของผู้ทำบาป จะต้องไปตกนรกขึ้นสวรรค์ แล้วมันมี หรือไม่มีกันล่ะ?
                มันอะไรล่ะ ที่มันเดินทางไปสู่ นรกสวรรค์นั้น มัน "มี" หรือ"ไม่มี" มันใช่ตัวตน หรือไม่ใช่ตัวตน มันมีตัวตน หรือไม่มีตัวตนกันแน่?
        ในเมื่อคนผู้นี้ ยืนยันว่า ยัง "มี" สภาวะอย่างหนึ่ง เดินทางไปตกนรก -ขึ้นสวรรค์ ก็เท่ากับ เข้าใจว่า วิญญาณมี นั่นก็คือ อัตตามี หนะซี ใช่มั้ย?
                เลย งง! ไอ้ที่ยืนยันว่า ไม่ใช่ตัวตน นั้น มันเป็น ยังไง? แล้ว "ตัวตน" (อัตตา) หมายความว่าไงกันแน่?
        เท่าที่เขาแสดงความเห็น ออกมานี้ ผู้ฟังก็เข้าใจความเห็น ของผู้ที่แสดงออกมานี้ได้ ว่าความเข้าใจ ของคนผู้นี้ ยังไม่มีสภาวธรรม ของนามธรรม มีแต่ตรรกะ มีแค่ความเข้าใจ ในเหตุผลเท่านั้น และเป็นเหตุผล ในเรื่องอัตตา ว่าไม่ใช่ตัวตน คือปฏิเสธตัวตน เอาด้วย นี่แหละคือ ผู้มีทิฏฐิ นิรัตตา ตัวจริง (อะไรๆ ก็ไม่ใช่ตัวตน)
                จึงยืนยันชัดเจนว่า  ทิฏฐินี้คือ อัตตวาทุปาทาน เป็นผู้ที่ยึดได้แค่คำพูด เท่านั้นว่า เป็นตัวตน-อัตตา
                ซึ่งเขาหมายเอาว่า ในตัวคนที่มีชีวิตอยู่เป็นๆอยู่นี้ ก็ยึดคำพูดว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ตัวตน ดังนั้น ในร่างคนเป็นนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ตัวตน  ตัวตนมีไม่ได้ ก็เท่ากับว่า วิญญาณมีไม่ได้  วิญญาณจะมีในตัวคนไม่ได้ เพราะเขาได้ศึกษาภาษา และได้เข้าใจลึกซึ้ง ในภาษาแล้ว มาจากคำตรัส พระพุทธเจ้าว่า อนัตตาคือ ความไม่ใช่ตัวตน

        คำตรัสพระพุทธเจ้ามีว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน" (ต้องใช้คำพูดนี้ ด้วยนะ) ดังนั้น ในร่างกายคนเป็นๆ มีชีวิตอยู่ มีตัวตนไม่ได้ -ไม่มีตัวตน ถ้าขืนใคร ไปเข้าใจว่า ในร่างกายคน มีตัวตน เป็นมิจฉาทิฏฐิ เขาสรุปเช่นนั้นเลย

                ทีนี้เมื่อคนตาย ร่างกายแตกตาย ไม่มีร่างกายแล้ว เขากับยังมีอะไรอันหนึ่ง ไปตกนรก ขึ้นสวรรค์ ดูมันสับสน แปลกๆ อย่างนี้ไม่ดูชอบกลรื้อ?
                ซึ่งแตกต่างกับ ศาสนาพุทธ ที่เชื่อว่า "อเทวนิยม" ที่มีมโนคติ กันคนละ นัยสำคัญ
                พิจารณาให้ชัดๆเถิด จะเข้าใจรายละเอียดได้ว่า การจะพ้นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งผู้จะพ้น อวิชชา ข้อต้น เท่านั้นได้ จะต้องมีตา (จักษุ) เป็นต้น กระทบสัมผัส สิ่งที่ถูกรู้ (รูป) จึงจะเกิด "ความรู้" หรือ "ธาตุรู้" ที่พระพุทธเจ้า ทรงเรียกว่า วิญญาณ มีสภาวะให้เรา รู้จักรู้แจ้งรู้จริง
                ซึ่งคำว่า วิญญาณ นี้แหละ ที่จะต้องเรียนรู้ อย่างมีทิฏฐิ เข้าข่าย สัมมาทิฏฐิ แท้จริง ในศาสนาพุทธ ตามที่พระพุทธเจ้า ทรงย้ำยืนยัน อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง กับภิกษุสาติ และภิกษุทั้งหลาย (ล. ๑๒ ข.๔๔๐)

                ใครจะได้เห็นวิญญาณ กันได้แล้วจริงๆ ก็ต้องมี วิปัสสนาญาณ ซึ่งเป็นการเห็น ของจริง ด้วยการสัมผัสของจริงนั้น แม้จะเป็น "นามธรรม" ขั้นละเอียด สุดยอดปานใดๆ (นิปุณา) ก็ต้องเกิดจาก "ปัสสติ" คือเห็น และเป็นการเห็นที่ต้องมี สัมผัส หรือถูกต้อง (ผัสสะ, ผุสิต) จึงจะเป็น ปัญญาหรือความรู้ ที่เรียกว่า สัมมัปปัญญา ที่เข้าขั้น ปรมัตถธรรม คือ ภาวะที่เป็นอยู่ ทรงอยู่หลัดๆ

                ซึ่งความหมายแท้ๆของคำว่า ปรมัตถธรรม นั้นคือ "ภาวะแห่งธรรม ที่เป็นความจริงสูงสุด หรือภาวะที่ทรงไว้ อยู่ในขณะนั้น เป็นความจริงสูงสุด อันมีหลายระดับ
                และภาวะที่ว่านี้ เป็นภาวะขั้น จิตเจตสิกรูปธรรม ลึกไปถึงอรูปธรรม ที่เรียกว่า รูปกาย เพราะต้องรู้ ด้วยการสัมผัส ตลอดไปถึง นามกาย ที่เกิดจาก นามรูป อันได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่า "นาม" กับ "มหาภูตรูป ๔ และ อุปาทายรูป ๔" นี่เรียกว่า "รูป" นามและรูป ดังพรรณามานี้ เรียกว่า นามรูป

                ในบริบทของ ปฏิจจสมุปบาท ผู้ปฏิบัติจะต้องเรียนรู้ ให้ชัดเจนว่า พระพุทธเจ้า ตรัสการจำแนก (วิภังค) ความเป็นรูปไว้ อย่างที่พ่อครู อธิบายมานี้ (ล ๑๖ ข. ๑๔)
                 แม้ที่สุด ภาวะที่ยอดปลายขั้นนิพพาน ก็สามารถสัมผัส ของจริง นั้นด้วย วิชชา หรือความรู้ ที่ต้องครบ วิโมกข์ ๘ และต้องเข้าขั้น สัมผัส ด้วย กาย (องค์ประชุม) ของ รูปและนาม ครบครันอยู่พร้อม โดยมีปัญญาขั้น สัมมัปปัญญา อย่างแท้จริง จึงจะสัมผัส ภาวะแห่งนิพพานในตน
                และจะรู้แจ้งเห็นจริง นั้นก็ต้อง จับต้องอยู่ หรือสัมผัสภาวะนั้นๆ อยู่โต้งๆ โทนโท่ หลัดๆ ใช่มั้ย
                จึงจะชื่อว่า ของจริงสดๆ ที่ยืนยันกันได้ เป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะ เป็นปัจจุบัน ภาวะนั้นๆ มีอยู่ เป็นอยู่ ทรงภาวะอยู่ เห็นๆรู้ๆ หลัดๆ
                มีทั้ง"รูปธรรม" และทั้ง "นามธรรม" ให้เรารู้อยู่ มีอยู่ทรงอยู่ จึงเรียก "ธรรม" ที่หมายถึง ภาวะที่ทรงอยู่ หรือสภาพที่ทรงไว้
                ภาวะใด ถ้ามีแต่ รูป ไม่มี นาม การตรัสรู้ในที่นั้น ไม่เกิดขึ้น การตรัสรู้ มีไม่ได้
                ภาวะใด ถ้ามีแต่ "นาม" ไม่มี "รูป" ก็ไม่มีการตรัสรู้ หรือตรัสรู้ไม่ได้
                "ตรัสรู้" แปลว่า "ความรู้" ที่เป็นอาริยธรรม ตามที่พระพุทธเจ้า ทรงค้นพบ แล้วนำมาประกาศ ให้ผู้ศึกษาฝึกฝนปฏิบัติ จนเราเกิดผล มีภาวะแห่งพุทธธรรม ตามพระพุทธองค์ แล้วเราก็ "รู้" ภาวะแห่งผลจริงนั้น ในตัวเราที่ทำได้ ตรงพุทธธรรม ตามที่พระพุทธองค์ "ตรัส"
                คำเรียกภาวะ ผู้บรรลุธรรมแล้ว "รู้แจ้งผลธรรม ที่เราบรรลุนั้นของตน" ด้วยภาษาสั้นๆว่า "ตรัสรู้"
                ซึ่งคำว่า ตรัสรู้ นี้ใช้กับผู้บรรลุ อาริยธรรม ของพระพุทธเจ้าจริง ได้ทุกคน ตั้งแต่ขั้น โสดาบันขึ้นไป จะไม่ใช่คำที่ใช้เฉพาะกับ พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว เท่านั้น

                ผู้ปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติ จนกระทั่ง ไม่ยึดติดใน "รูป" นั้น -"นาม" นั้น ไปได้ตามลำดับๆ ก็เป็นผู้อยู่เหนือ รูปนั้น -นามนั้น ที่เรียกว่า อุตตระ โดยไม่ต้อง วนสุข วนทุกข์ อยู่ดับ รูปนั้น นามนั้นแล้ว ก็เรียกว่า "โลกุตรชน"

                ส่วน "รูป" นั้น "นาม" นั้น ก็ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นสามัญลักษณ์ ตามธรรมชาติของมัน ผู้บรรลุแล้ว แม้ รูปนั้น นามนั้น จะมีอยู่ ท่านสัมผัสอยู่ ท่านก็สักแต่ว่า "รูป-นาม" มันเป็นอยู่ โดยท่าน มี "ปัจจัตตลักษณ์" แล้ว
                ภาวะของภูมิรู้ ในจิตใจผู้ตรัสรู้ พุทธธรรม ด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้ จึงเรียกว่า มี "โพธิ" (ปัญญาตรัสรู้)
                ซึ่งมีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ จากผู้มีภูมิรู้ แค่เพียง เห็น -เข้าใจ ว่า โลกนี้ มันก็มีแต่เพียง รูป-นาม แล้วก็ทำใจ ให้วางเฉยได้ เพราะภูมิแค่นี้ ยังไม่ใช่ "โพธิ"
                คนที่ตรัสรู้ไม่ได้ หรือไม่เกิดความตรัสรู้ ในอาริยธรรม ของพระพุทธเจ้า กับเขานั้น ก็เพราะไม่สัมมาทิฏฐิ แม้จะปฏิบัติตน จนหลุดพ้น รูปนั้น นามนั้น กระทั่ง มีวิสัยอยู่ เหนือ (อุตตระ) รูปนั้น นามนั้น ได้ นั้น ก็ไม่บรรลุธรรมนั้น
                เพราะปฏิบัติเรียนรู้ ไม่ครบพร้อมทั้ง "วิญญาณ ๖ อายตนะ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัส การจำแนกความเป็น วิญญาณ อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา ในบริบทแห่ง ปฏิจจสมุปบาท ไว้ว่า ต้องมีทั้งภายนอก และภายใน ครบ ๖ ไม่ว่า วิญญาณ อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา....

                ส.เดินดินว่า ในฐานะสาวกภูมิ ศาสนาพุทธไม่ใช่แบบตรรกะ แม้มีผู้ชี้ทาง ก็ยังเป๋ได้ แต่ถ้าใช้แต่ตรรกะ เช่น พระอรหันต์ตายไปแล้ว ไม่ต้องเกิดอีก แล้วพอ คิดตามพ่อครู ก็จะไปเป็นพระพุทธเจ้า ได้อย่างไร ก็ไม่สอดคล้องกับความจริง แต่พ่อครูก็ว่า การทำให้กิเลสหมด ก็แตกต่างกัน อย่างการเห็นกระท้อน แล้วทำอย่างไร ไม่ให้กิเลสเกิด หรือทำให้กิเลสหมด แต่ถ้าเข้าใจผิด จะเอากระท้อนไปซ่อน เป็นต้น และคนเขา ไม่ค่อยเข้าใจว่า เราปฏิบัติธรรมอย่างไร มีกิจกรรม ดูวุ่นวายไปหมด ซึ่งเขาจะจับ ทิศทางไม่ได้ว่า จะลดละกิเลสอย่างไร ก็ทำอย่างมั่วๆ พ่อครูก็ว่าแต่ต้นว่า ก็ทำการแต่ กดข่มเท่านั้น แต่ของพุทธเรา ก็ต้องมี ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ วิญญาณ ๖ เราจะได้ ตื่นรู้เป็น Thai spring ไม่เป็น ไทยเฉย....

จบ
               

              

 
๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่ พุทธสถานสันติอโศก