โพธิรักษ์ กับโพธิกิจ ๔

๒๑
มหายาน

สาย "มหายาน" มีความรู้เรื่อง "โพธิสัตว์ โพธิญาณ" วิ่งเข้าสู้ทุกข์ ช่วยเหลือแต่ผู้อื่น... จนไม่ช่วยตน "เพ้อจะไปช่วยคนอื่น ทำแต่นาคนอื่นเขา" จึงอ่อนแรง
มีแต่จะสอนเขา จะรื้อขนคนอื่น สอนคนอื่นเก่ง ไม่สอนตัวเอง ไม่ประพฤติ -ไม่ปฏิบัติ -ไม่ทำกิจตน -ไม่ช่วยตน แล้วตนเองก็อินทรีย์พละอ่อน ไม่มีกำลัง ภูมิธรรม "เจโตวิมุติ" ก็น้อย ก็เลยไม่มี "วิมุติ"

"มหายาน" จึงซวยอีก เพราะช่วยแต่คนอื่น แล้วช่วยเขาได้ก็แค่ผิวเผิน นั่นก็เป็น "มหายาน" โตงเตงไปแล้ว!

ทุกวันนี้ในเมืองไทย ไม่ใช่ว่าไม่มี "มหายาน" แต่เขาไม่รู้ว่า "มหายาน" คือ อะไร? มีคุณค่า ลักษณะอย่างไร? ก็นึกว่า "มหายาน" มีอยู่แต่ในต่างประเทศโน่น เปล่า! สภาพพระที่ปกครองศาสนา ในเมืองไทยนี่ละ เป็นสภาพ "มหายาน"

มีแต่เรียนๆ มีวิชาความรู้โน่นนี่ต่างๆ นานา มีปริญญา ดีกรีทางศาสนา หลายใบ เป็นพระนักพัฒนา สร้างวัง สร้างเวียง สร้างวัตถุเก่ง ร่ำรวย คนก็ให้ค่า ให้ยศ ให้ตำแหน่ง แต่ตัวเอง ไม่มีวิมุติ ก็เลยกลายมาเป็น สิ่งหลอก ช่วยคนอื่นเพื่อ "สร้างบัลลังก์" ให้แก่ตนเอง แล้วก็มาเป็น "พระบริหารปกครอง" เป็น "พระสังฆาธิการ"

ระบบอย่างนี้ ก็เลยกลายมาเป็น ระบบโลก เป็นระบบ "มหายาน" โตงเตง และเป็น "มหายาน" ตกกระป๋อง ด้วย ไม่ใช่ "มหายาน" ที่มีคุณค่าอะไร

 

๒๒
เถรวาท

สาย "เถรวาท" ก็เอาแต่ตัวเองรอด เอาแต่ประโยชน์ตน สุดโต่ง จนกลายเป็น ฤาษีหลงป่า ไม่สร้างสรร ไม่เป็นประโยชน์ แก่คนอื่น ไร้คุณค่า
ติดภพ ติดสงบ ทั้ง "เสนาสนะ" ทั้ง "ภพของจิต" ที่ตนหัดสะกด เอาไว้ได้ เป็นผู้ไม่รู้จบ -ไม่รู้แล้ว "ปฏินิสสัคคะ" (สลัดคืน) ไม่ได้สักที

ถ้าไม่มีจิตตั้งมั่น อย่างสมบูรณ์แล้ว ออกป่า เธอจะจม (ถีนมิทธะ) หรือ ลอย (อุทธัจจะ) เหมือนอย่าง กระต่ายป่า และ เสือปลา (อุบาลีสูตร)

ระบบ "พระปฏิบัติ" ในเมืองไทย คือ ระบบ "เถรวาท" เอียงสุดโต่ง และเป็น "เถรวาท" ที่เอียงเทไปหา เดียรถีย์ ฤาษี คือ เข้าป่า เข้าเขา เข้าถ้ำไป แม้ (หลงว่าตน) บรรลุแล้ว ก็ยังจมอยู่ ติดอยู่ในป่า นั่นแหละ เป็น "ปลิโพธ" ปล่อยไม่ได้ สลัดคืน "ปฏินิสสัคคะ" ไม่ได้สักที

ซ้ำมิหนำยังแถมไปเลอะป่า เอาความคิดแบบ เชิงชาวโลก เข้าไปใส่ในป่าอีก สร้างสิ่งก่อสร้าง แบบโลกๆ อยู่บนยอดเขา สร้างอะไรต่ออะไร ที่เฟ้อๆ ใส่ป่า ใส่เขา ใส่ถ้ำ เข้าไปอีก ทั้งๆ ที่ สร้างก็ยากแสนยาก

เมื่อผู้ใดปฏิบัติตาม "มรรคองค์ ๘" ถูกทางจริง มีจิตตั้งมั่นแท้ แข็งแรงจริง มี "วิมุติ" จริง "ปฏินิสสัคคะ" (สลัดคืน) ได้ ก็จะต้องออก มาช่วยคน ที่เขาวุ่นๆ

อาตมาจะไม่หลงฤาษีว่า "เออ มาอยู่ป่านี่สิ สบาย! อยู่ในกรุง มันวุ่นวาย!"

ก็เมืองกรุงวุ่นน่ะซิ! จึงต้องสงสารกันมั่ง ต้องมาช่วยเขา ให้หายวุ่นกันจริงๆ

นี้เป็นความรู้ของ "โพธิสัตว์"

สาย "เถรวาท" ไม่มีความรู้อย่างนี้!

๒๓
สังฆเภท

อาตมา ไม่ได้ทำ "สังฆเภท" (แม้จะขอแยกออกมาจาก มหาเถรสมาคม)

อาตมา ต้องการจะรวมต่างหาก พยายามอ่านอาตมา ให้ออกเถอะ เห็นให้เป็นเถิด มีทั้งหลักฐาน แห่ง ความเป็นจริง ปรากฏอยู่

ผู้ใดทำตนให้ออกนอก "ธรรมวินัย" ของ "พระพุทธเจ้า" ตั้งแต่มีความเห็น มีความเข้าใจ เป็น "มิจฉาทิฐิ" ไม่เป็นไปตาม "สภาวะสัจธรรม" ไม่เป็นไปตาม "สุปฏิปันโน" กลายเป็น "สัทธรรมปฏิรูป" กลายเป็นธรรมะ นอกรีต นอกรอย

ผู้นั้นแหละ "สังฆเภท" ออกจาก "ศาสนาพุทธ" ออกจาก "พุทธธรรม" ออกจาก "สวากขาตธรรม" ไปแล้ว โดยธรรม! จน...

ไม่มี "สันทิฏฐิโก" คือ "ไม่เอาตนเองเข้าปฏิบัติ พิสูจน์ ให้เห็นดำ-เห็นแดง ให้เห็นมรรค ให้เห็นผล"

ไม่มี "อกาลิโก" คือ "หลงเห็นผิดไปว่า ยุคนี้ กาลนี้ มีมรรค-มีผลไม่ได้ เป็นพระอริยะไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น"

ไม่มี "เอหิปัสสิโก" คือ "ตัวเองไม่มีมรรค-ไม่มีผล ให้เป็นจริง จนเชิญชวน จนท้าทายผู้อื่น ให้มาพิสูจน์ หรือ เรียกร้อง ให้มาดู ก็ไม่ได้ เพราะไม่มี"

ก็จงพึงรู้ตัวดีๆ ไว้เถิดว่า "ตนออกนอกขอบเขตพุทธ ไปแล้วหรือเปล่า?"

ผู้ใดมี "มรรคผล" อยู่ในคำสอนที่เป็น "สัมมาทิฐิ" อยู่ในภาคปฏิบัติ ที่มีคุณค่า เป็น "สุปฏิปันโน" ปฏิบัติได้ "อาริยคุณ" ขึ้นมาแล้ว โลกนี้ก็จะไม่ว่างจาก "พระอรหันต์"

ผู้เป็นไปตาม "สวากขาตธรรม" ผู้เป็นไปตาม "สุปฏิปันโน" ถูกต้องอยู่อย่างนั้น เป็นผู้ที่ไม่เป็น "สังฆเภท"!

 

๒๔
พุทธแท้ ไม่แยกนิกาย

อาตมา จะรวมทั้ง "เถรวาท" และ "มหายาน"

อาตมา จะรวมทั้ง "ธรรมยุต" และ "มหานิกาย"

จุดไหนดี จุดไหนถูกต้อง ก็เอา! เอาส่วนที่ถูกต้องของทุกฝ่าย

อาตมาถือว่า "ต่างก็เป็นลูกพุทธด้วยกัน ก็ต้องดูแลกัน ทั้งนั้นแหละ อันไหนไม่ดี ไม่งาม ไม่เข้าท่า ก็ว่ากันไป"

อย่างอาตมาไม่กิน "เนื้อสัตว์" นี่ ก็เป็นวิถีปฏิบัติของ "มหายาน" นะ แต่อาตมาก็ไม่ได้ หลงยึดว่า ตนเป็น "มหายาน"

ฉะนั้นในชีวิตของอาตมา จะพยายามทำ "มหายาน" กับ "เถรวาท" ให้คืนเป็น หนึ่งเดียวกัน ไม่ให้เป็น "สังฆเภท"!

แต่ไม่ได้หมายความว่า "อาตมาจะไปนำคน ที่นับถือศาสนาพุทธ ต่างนิกาย ที่มีอยู่ทั่วโลก บ้างเป็น 'มหายาน' บ้างเป็น 'เถรวาท' มาเลิกล้มความเป็น 'มหายาน' เลิกล้มความเป็น 'เถรวาท' ได้หมดนะ"

แต่อาตมาจะประกาศ "สัจธรรม" ความไม่ใช่ "นิกาย" ความไม่ต้องแตกแยก "สัมมาทิฐิ" กัน ให้ชัดแจ้ง ให้ได้!

อาตมา แก้กลับแค่ "ธรรมยุต" กับ "มหานิกาย" ยังเรื่องเล็กไป!

อาตมา จะทำให้เห็น-ให้แจ้งถึง "เถรวาท" และ "มหายาน" มาโน่นเลยทีเดียว ต้องเป็นอันหนึ่ง อันเดียว เท่านั้น แล้วผนึกกัน ให้ถูกต้อง ทำให้ถูกธรรม

ถ้าธรรมะยัง "สังฆเภท" อยู่อย่างนี้ "ศาสนาพุทธ" ไม่งอกเงย ไม่ฟื้นเด็ดขาด

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจให้ถูกต้อง -ถูกเหลี่ยม ทุกแง่ทุกมุม

๒๕
สัทธรรมปฏิรูป

อาตมาขอยืนยันว่า ศาสนาเดี๋ยวนี้ได้ถูก "ปฏิรูป" ไปแล้ว
กลายเป็น "สัทธรรมปฏิรูป" ออกนอก ความแท้แห่ง "พุทธธรรม" ไปไกล เหมือน "กลองอานกะ" ที่แตกปริออก ก็เอาไม้อื่นมาแซม จนกระทั่ง กลายเป็น "กลองอานกะ" ไม้ใหม่หมด ที่เขาเอามาเสริม ไม้เก่าแทบไม่เหลือ เป็นกลองไม้ใหม่ แต่ก็ยังใช้ชื่อว่า "กลองอานกะ" อยู่อย่างเก่า

ฉันเดียวกับ "ศาสนาพุทธ" เดี๋ยวนี้ ยังใช้ชื่อว่า "พุทธ" แต่เนื้อหาสาระ ที่เขาสาธยายอยู่ ทุกวันนี้ หาใช่เนื้อหาของ "พุทธ" ที่ถูกต้องไม่

นี่เรียกว่า "สัทธรรม" ได้ "ปฏิรูป" ไปแล้ว

เขากล่าวตู่อาตมาว่า "อาตมานั่นแหละ ทำสัทธรรมปฏิรูป" อาตมาไม่ถือสา ที่เขาว่า แต่ถ้าถูกอาตมา ว่าเอาบ้าง ยังถือโกรธ แล้วไม่ฝึกตัว -ฝึกตน ก็ขาดทุนนะ!

ใครรับคำติติงไม่ได้ ไม่เป็น "วจนักขัมโม" รับคำติติงไม่ได้ ก็ไม่เจริญ เพราะ ไม่อดทนต่อถ้อยคำ -ถ้อยความ ก็เจริญไม่ได้ หรือ เป็นครูไม่เก่ง

ผู้ที่รับคำติติงได้ ผู้นั้นแหละ คือ "ครูธรรมะชั้นหนึ่ง" คือ "วจนักขัมโม" อดทนต่อถ้อยคำ ย่อมได้ความรู้ ความเจริญ

 

๒๖
ไม่เข้าถึงธรรม ก็ดึงกันต่ำ

เมื่อปฏิบัติไม่เข้าถึงธรรม ไม่มีสภาวะลึกซึ้งจริง การขยายความ การแปลความ ตามความเห็น -ความเข้าใจ ของตน ประกอบเข้าไป ก็ดึงกันให้ต่ำ

"พระพุทธเจ้า" จึงไม่ให้เชื่อตำรา ไม่ให้เชื่อคำเล่าลือ ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์

อาตมาพูดให้ฟังนี่ ก็อย่าเชื่อตาม แบบโง่ๆ เง่าๆ อาตมาไม่ต้องการ คนงมงาย ใครพูดอะไรๆ ก็เชื่อตามๆ ไป อย่างนี้ไม่เอา อย่าเชื่ออะไรดายๆ ง่ายๆ ฟังธรรม ต้องฟังให้เป็น "สุตมยปัญญา"

ฟังแล้วต้องเอาไปทบทวน-พิจารณา -ไตร่ตรอง เรื่องไหนน่าเชื่อ -น่าลองทำตาม ใคร่ครวญให้ดีๆ แล้วก็เอาไปลอง ปฏิบัติพิสูจน์ตาม ไม่ไตร่ตรองกรองก่อน ไม่ได้หรอก ลองทำตามไปทุกเรื่อง จะทำไหวเหรอ? ต้องเอา ที่แน่ๆ ชัดๆ แล้วเราก็จะมีปัญญาสูงขึ้น เพื่อจะไปกรอง เอาสิ่งที่ลึกซึ้ง ต้องมีองค์ธรรม ๔ องค์ ของ "ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล" แล้วก็มี "ธัมมวิจัย" จึงจะมารวมเป็น "สัมมาทิฏฐิ"

เมื่อเกิด"สัมมทิฎฐิ" มี"ธัมมวิจัย" สามารถแยกแยะเหตุผล ในส่วนสัมพันธ์ มีการเปรียบเทียบให้รู้ อะไรดีกว่า - เหนือกว่า -ถูกกว่า -สมควรกว่า แม้ขนาดนั้น ยังต้องตรวจสอบให้รอบ ให้สอดคล้อง เทียบเคียงกับองค์ ต่างๆ ของมรรคทั้ง ๘

ถ้า "สัมมาทิฏฐิ" เป็นตัวแรก ก็ให้เทียบกับอีก ๗ องค์ จึงจะครบครันว่า "เป็นความเห็น... ที่ไม่เป็นมิจฉา" แล้วมรรค อีก ๗ องค์ ก็ไม่เป็น "มิจฉา"

ถ้าความเห็นถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) "สัมมาวายามะ" กับ "สัมมาสติ" จะเป็นแรงหนุน "สัมมาทิฏฐิ" ให้มีความเห็น ที่ถูกต้องยิ่งๆ ขึ้น เสมอ

เพราะฉะนั้น "ทิฏฐิ" จึงเป็นประธานเอก ต้องนำทุกอย่าง จึงสำคัญมาก ที่จะต้องใช้ปัญญา ไตร่ตรอง "สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา" ให้สำคัญ


๒๗
"พุทธะ" พาพ้น "โมฆบุรุษ"

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่แก้ไขความบกพร่อง ของศาสนาเก่าๆ ที่มีศาสดา เจ้าลัทธิอื่นๆ ทำไว้แล้ว ที่เป็นฤๅษี เดียรถีย์ ซึ่งแก้ไขความเป็น "โมฆบุรุษ" ไม่ออก
"พระพุทธเจ้า" มาแก้ไข ความเป็น "โมฆบุรุษ"

"โมฆบุรุษ" มีความหมายนัยะลึกซึ้ง เป็นคำที่ ว่า ติง หรือ บอกเตือน ฤๅษี เดียรถีย์ ที่ปฏิบัติมา จนได้ภูมิธรรม สูงสุดจุดหนึ่ง คือ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ บางที ยังน้อย ยิ่งกว่าพุทธอีก กิน อยู่-หลับ-นอน ทรงชีวิต ตัวตนน้อยเกินไป จนเลยเถิดเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" เบียดเบียนตนเอง คนเรามีชีวิตอยู่ในโลก ต้องใช้ "สังขาร" อาศัยพักพิง ก็ต้องรู้เท่าทัน "สังขาร" ทั้งหลายใน หู ตา จมูก ลิ้น กาย

พวกฤๅษี มักน้อย สันโดษ ไม่แย่งชิง สงบ วิเวก แต่ขาด "วิริยารัมภะ" กลายเป็นคนเฉื่อย ขี้เกียจ ไม่ทำงาน มีภพ แล้วไม่รู้ว่า "ตัวเองมี ภพถีนมิทธะ และภพอุทธัจจะ เป็นภวตัณหา" แล้วก็เห็นกันผิดๆ ว่า "คนทำงาน เป็นคนฟุ้งซ่าน" มีแค่กถาวัตถุ ๓ แต่ไม่มีกถาวัตถุ ครบ ๑๐ ขาด "อสังสัคคะ วิริยารัมภะ" ไม่มีหลักการ "ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัสสนะ" อันแจ้งชัด ฤๅษีเดียรถีย์ ไม่ทำชั่ว แต่ก็ไม่ได้ "ทำดี" อะไร จึงเป็น โมฆบุรุษ ๑๐๐%

สายนั่งหลับตา ที่พากันปฏิบัติ ไม่มีมรรคองค์ ๘ ที่แท้ ธรรมะที่อาตมาสอน ให้พวกคุณ ถ้าคุณจะเป็นฤๅษี ออกไป ทางป่าเขาบ้าง จะเป็นได้งามกว่า ที่เขาเป็นกัน เพราะอาตมาสอน ลึกละเอียด ในเรื่องกาม หรือ จะไปก่อ - ไปสร้างอะไร ก็จะไม่ถึงขั้น เป็น "เรือนไฟใหญ่" มีมุข ๔ ด้าน ในทาง ๔ แพร่ง แต่ก็ยังไม่ใช่ ความดีสุดนะ

"ศาสนาพุทธ" อธิบายความเป็น "ภิกษุสูงสุดยอด" ไว้มากมาย ละเอียดลึกซึ้ง ศาสนาพุทธไม่ให้ "ทำชั่ว" แล้ว ยังต้อง "ทำดี" อย่างปราศจาก "ตัวตน" ด้วย

จิตต้องสะอาดบริสุทธิ์ ไม่เหลืออัตภาพ แม้ในภวภพ ติดภพ ติดอัสสาทะ ในขั้น "ภวตัณหา" ไม่ใช่เรื่อง เล่นๆ นะ!

พระพุทธเจ้า ได้เห็นแบบอย่างศาสนาเก่าๆ ที่ทำมาก่อนแล้ว ก็เห็นว่า "ไม่สิ้นสุด ในเรื่องของ จิตวิญญาณ ยังมีภพ มีภวตัณหา"

พระพุทธเจ้า จึงละเอียดเด็ดขาด คิดค้นทฤษฎีออกมาเป็น "มรรคองค์ ๘" มีการงานทางกาย -วจี-มโน มี "สัมมาอาชีพ" เป็นการงานที่ทำ เป็นส่วนมาก โดยเฉพาะ งานสืบสานศาสนา มี "สัมมาสมาธิ" รู้จริง ตามความเป็นจริง กับสิ่งนั้น แล้วก็ กระทำการงานนั้น ด้วยจิตที่ไม่มีกิเลส พ้นบาป พ้นกรรม พ้นมิจฉา ทั้งหลาย

"ทฤษฎีมรรคองค์ ๘" ของพระพุทธเจ้า จึงมีการงาน เมื่อเราทำงาน อย่างพอเหมาะ พอสม เรียกว่า "สัมมา" ก็ไม่มีกิเลส การทำงาน ก็มีประสิทธิภาพ

คนที่นั่งนิ่งๆ เฉยๆ อย่างพวกฤๅษีนี้ "จะฟุ้งซ่านไปกับภพ" อย่านึกว่า คนทำงานฟุ้งซ่านนะ! คนนั่งเฉยๆ ไม่ทำงาน นั่นแหละ "ฟุ้งซ่านเก่งที่สุด"!

การปฏิบัติธรรมตาม มรรคองค์ ๘ จึงคือ การสัมผัสเกี่ยวข้องกับ บุคคล-วัตถุ แต่ไม่ให้เกิด "กิเลส" การงาน สุจริต ก็ต้องทำเหมือนกับชาวโลก แต่เหนือชั้นตรงที่ ต้องมี "สติ-ธัมวิจัย-วิริยะ" (โพชฌงค์) มีการวิจัยธรรม อันใดเป็น "มิจฉา-สัมมา"

จับ "กิเลส" จิต เจตสิกได้ แล้วระงับละเว้น ไม่ให้เป็นไปเพื่อ มิจฉา -โลภ -โกรธ -หลง -พยาบาท หรือ อยากสนอง บำเรออารมณ์ ก็ต้องไม่ทำ ระงับละเว้นได้เมื่อใด ก็ได้ปฏิบัติธรรมเมื่อนั้น จะยืน-เดิน-นั่ง-นอน ทำงาน ทำการ อยู่ที่ไหนๆ ปฏิบัติ โพชฌงค์ทั้ง ๓ อย่างนี้ ก็ได้ปฏิบัติธรรม ตลอดเวลา

ก็จะเกิดผลเป็น "ปีติ-ปัสสัทธิ" ได้ดี ก็คือ ได้ลดละกิเลส เป็นความเจริญทางปรมัตถ์ เมื่อละกิเลสได้ จิตก็จะสงบ ระงับสนิท กิเลสไม่เกิดอีก

จะเกิดผลสุดท้าย ของโพชฌงค์ ๗ จิตเป็น "สมาธิ-อุเบกขา" คือ ยิ่งละกิเลส ได้มากเท่าไร จิตยิ่งปักมั่น - แน่แน่น - มั่นคง -แข็งแรง-แน่วแน่ จิตก็ยิ่งสว่างโพลง สะอาด ปลอดโปร่ง เฉลียวฉลาด เห็นสัจจะได้ดีขึ้น สูงขึ้น เป็นระดับๆ

แม้จะคิดสังขารปรุงใช้ "สังกัปปะ" เร็วขนาดไหน ความแน่น ก็แน่นลึกลงไปอีก เป็นความชำนาญ เชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมตามทฤษฎีของพุทธ นี่แหละ จะพ้นความเป็น "โมฆบุรุษ"

 

๒๘
โมฆบุรุษ

คนเราเกิดมาแล้ว ไม่มีความคิดนึก ที่จะศึกษา -ฝึกฝน -สั่งสม -อบรมตน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ชีวิต และ จิตใจ ไม่รู้จักตั้งศีล -ตั้งกฎ ให้แก่ตนเอง เพื่อให้ราคะ -โลภะ -โทสะ -ความเห็นแก่ตัว -ความหลง - ลดน้อย ลงไป นี่แหละ "โมฆบุรุษ"

"ศีล" ปฏิบัติดีแล้ว จะเป็นสมาธิ -เป็นปัญญา -เป็นวิมุติ เป็น "พระอรหันต์" คือ ปฏิบัติ "ศีล" ที่เป็นกุศล (กุศล=ความเจริญ, ได้ดี) นี่แหละ ย่อมยังความเป็น "พระอรหันต์" ให้บริบูรณ์ โดยลำดับ

คนทั่วๆ ไป มีความเห็นว่า "ศีล" ขัดเกลาแค่ "กาย-วาจา" ถ้าจะขัดเกลาใจ ต้อง "นั่งสมาธิ" ความจริงแล้ว "สมาธิ" เกิดจากการปฏิบัติ "ศีล" ปัญญารู้ดี-รู้ชั่ว ก็เกิดจาก การปฏิบัติ "ศีล" คือ "การมีหลักเกณฑ์ สำหรับตน ให้พอเหมาะ"

"โมฆบุรุษ" จึงคือ "บุคคลที่เกิดมา สูญเปล่าความดี ไม่ทำดี ไม่ได้ดี" แล้วหลายคนแถม "ทำชั่ว-ทำบาป-ทำกรรม" ให้แก่ตนเองอีก โดยที่รู้บ้าง -ไม่รู้บ้างว่า"ชั่ว" เช่น ไปแย่งชิง เบียดเบียน เป็น "มิจฉาชีพ" เป็น "มิจฉาวาจา" เป็น "มิจฉาสังกัปปะ" ก็ไม่รู้ -ไม่เข้าใจจริงๆ เป็นไปเพื่อกาม... ก็ไม่รู้ว่า ..บาป เป็นไปเพื่อ พยาบาท ... ก็ไม่รู้ว่า...บาป เป็นไปเพื่อ ความเบียดเบียน เอาเปรียบ...ก็ไม่รู้ว่า... บาป คือ ภายในจิตใจเป็น "พิษ" ทั้งสิ้น แต่ภายนอก อาจดูดี ราวเทพบุตร อย่างนี้ก็ "โมฆบุรุษ" ระดับต่ำๆ หยาบๆ รู้กันได้ทั่วไป

แต่ "โมฆบุรุษ" ไม่ได้หมายแค่ "ไม่ทำชั่ว" เท่านั้น

แม้ "ไม่ทำดี" ก็ "โมฆะบุรุษ" พวก "ไม่ทำชั่ว" และ "ไม่ทำดี" นี่แหละ ที่ "พระพุทธเจ้า" กล่าวประนามไว้มาก ว่า โมฆบุรุษ!!

ผู้ที่จะพ้นความเป็น "โมฆบุรุษ" ได้ "ต้องไม่ทำชั่ว และ ต้องทำดี"

ทฤษฎีของพุทธ ๑. สัพพปาปัสสะ อกรณัง ไม่ทำชั่ว ไม่ทำบาปทั้งปวง ๒. กุสลัสสูปสัมปทา ทำดี


๒๙
วิหารพันปี สันติอโศก

อาตมาสร้างพระวิหาร ที่สันติอโศก หลายคนก็คิดว่า "อาตมาผิดแล้ว มักมาก สร้างใหญ่โตไปเรื่อย ทำมากขึ้นเรื่อย เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่จริงแล้ว"
ต้องเล็กสิ! อย่างนี้ไม่มักน้อยแล้ว ไม่ถูกแล้ว!

ก็ดีแล้วที่เขารู้สึกอย่างนี้ คนที่เห็นจุดมักน้อย เป็นของดีของมนุษย์ เป็นฐานที่ดีแล้วล่ะ เพราะเขาเอง ยังไม่น้อย ยังลดไม่ได้ ก็ดีกว่าเขาเข้าใจผิด

ฉะนั้น คนที่เขาว่า "อาตมามักมาก" เขายังเข้าใจอาตมาไม่ได้ ก็อย่าไปเกลียดชัง โกรธเคืองว่าเขา ให้ใจเขา มักน้อยลงไปเรื่อยๆ แม้เขายังละกิเลสไม่ได้ ต่อไปเขาก็ยัง จะมามักน้อยได้ เพราะเขามีฐานคิด มักน้อยอยู่

คนเรามีขอบเขตของความมักน้อย บุญบารมีน้อย ก็น้อยไม่ได้เท่าไร? แต่ใจ เขาดิ่ง ยังชอบมักน้อยอยู่ ก็ดีแล้ว ถ้าไม่มีใจมักน้อยเลย เขาก็จะวนไปหาโลกีย์ เมืองไทย เป็น "เถรวาท" มีแนวคิดมักน้อย อย่างนี้ ดีแล้ว

พระวิหาร ที่สันติอโศก เสร็จเมื่อไร? ก็จะเป็นศูนย์รวมแห่ง พลังศรัทธา ต่อไป ก็จะต้อง มีการเคารพ บูชา กราบไหว้ ก็ขอให้เคารพบูชา กันด้วย ๑๐ นิ้ว

อย่าเอา "ดอกไม้-ธูป-เทียน" ไปบูชาไปจุดกัน ให้เลอะเทอะ จนเข้าข่าย "สร้างเรือนไฟ" ทำอย่างนี้ ถือว่า "นอกรีตจาก ศาสนาพุทธแล้ว"

"ความเสื่อมของศาสนา" มีบัญญัติบอกไว้ใน พระไตรปิฎก และวัดทุกวันนี้ ได้นำพาให้ "ศาสนาเสื่อม" ด้วยการสร้าง "เรือนไฟ" กันทั้งนั้น จนศาสนาเสื่อมแล้ว

๑. ออกแสวงหาอาจารย์ในป่า โดยเก็บผลไม้หล่นกิน (ยังเคร่งในศีลในวินัย) เพื่อรอหาอาจารย์ เป็น ความเสื่อม เป็นมิจฉาทิฏฐิ และจะไม่เจออาจารย์ ของพุทธที่แท้ จะเจอก็แต่ฤาษี เพราะอาจารย์ของ "พุทธ" อยู่ในเมือง ไม่ได้อยู่ในป่า

๒. ไม่เก็บผลไม้หล่นกินแล้ว ที่นี้ถือเสียม ถือตะกร้า ขุดเผือก ขุดมัน ตัดไม้ หากินเอง เพื่อรออาจารย์

๓. ไม่อยู่ป่าแล้ว เข้าไปอยู่ในโบสถ์ -ในวิหาร -ในศาลา จุดธูปเทียน บูชาอัคคียัญ มีน้ำเป็นสื่อ มีไฟเป็นสื่อ วัดที่มีอย่างนี้ ก็คือ วัดที่มี "เรือนไฟ" ไปหาอาจารย์ดีๆ ที่นั่นไม่ได้หรอก จะเป็นอาจารย์ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นพุทธแท้ แสวงหาผิดที่

๔. ทีนี้เสื่อมหนักเลย สร้าง "เรือนไฟใหญ่" ไว้ในทาง ๔ แพร่ง สร้างมุข ๔ ด้าน เป็นเจดีย์ใหญ่ เป็นโบสถ์ใหญ่ เป็นวิหารใหญ่ เพื่อดึงดูดผู้คน ล่อคนเข้าไปหา ยิ่งผิดใหญ่เลย ยิ่งออกนอกรีต นอกรอย ไปใหญ่ ไม่มีพุทธแท้แน่นอน พาให้ ศาสนาเสื่อมหนัก พาผู้คน หลงงมงาย

"เป็นความเสื่อมของศาสนา ความเสื่อมของภิกษุ ในระดับหนึ่ง"

๓๐. พระพุทธรูป

(อ่านต่อหน้า ๕)