บทแยกแยะวิจารณ์ (ธรรมวิจัยกถา)
page: 5/8


        แต่เมื่อ "พระ" เอง เป็นผู้เลอะเสียเอง ก็เลยพลอยงมๆ งายๆ ไปกับพระกันหมด "พุทธศาสนา" จึงเลอะเทอะ เมื่อหยิบ "ศีล" พระธรรมนูญ ของพุทธแท้ๆ มาเทียบ มาสอบทานดู ก็จะเห็น กันได้ชัดที่สุด ว่าแทบจะไม่เป็น "พุทธศาสนา" กันแล้ว มันก็เหมือนๆ กับลัทธิอื่นศาสนาอื่น ที่เป็น "เทวนิยม" บ้าง ที่เป็นศาสนาแค่ "โลกียธรรม" บ้างที่เป็นแค่สถาบัน ผู้ยึดครอง ความเป็นเจ้าเข้า เจ้าของ ศาสนพิธี หากินกันไปบ้างฯลฯ
        ก็ขอพูดตรงๆ แหละว่า เนื่องจากพระไม่รู้จัก "ศีล" และ เพราะไปตีขลุม หด "ศีล" ที่จะต้องรักษา กุดลงเพียงแค่ "พระวินัย" "เดรัจฉานวิชา" ก็ดี "จารีตที่นอกรีต" ก็ดี อันมีแจ้งห้ามไว้ชัดเจน มากมาย ในหมวด "มัชฌิมศีล-มหาศีล" จึงเกิดขึ้นเต็มบ้าน เต็มเมือง โดยฝีมือของ "พระ" สาวกแห่ง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เองด้วย ความสูงต่างๆ จึงต่ำลงๆ ความบริสุทธิ์ต่างๆ จึงน้อยเข้าๆ เพราะ พระตีวงแคบให้ "ศีล" และไปยึดหลงเอา พระโอวาทปาฏิโมกข์ กุดด้วนหลงเหลือ แค่ "วินัย ๒๒๗" เป็น "ศีลพระ"
        ถ้าพระเรียน "ศีล" ให้ถ่องแท้จริงๆ เข้าใจ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อีกทั้ง โอวาทปาฏิโมกข์ศีล ทั้งหลายได้ ประพฤติถูก แม้แต่ การรดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก การสวดแต่ภาษา ซ้ำลากยาว ใส่เสียงร้องเสียอีก เป็นเรื่องหากิน การหลงคำสอน เป็นมนต์คาถาขลัง เป็นวรรคเป็นเวร อันเป็นพิธีพราหมณ์ พิธีเดียรถีย์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่พุทธ ก็จะไม่เกิดมารกรุงรัง ในแวดวงแห่งศาสนาพุทธ เป็นอันขาด
        พระพุทธเจ้านั้น โดยพระตระกูล ก็ยึดถือ ลัทธิพราหมณ์ มานานนม ย่อมเคยรู้ เคยเห็นจารีตต่างๆ พิธีนานา การกระทำสารพัดใดๆ ของบรรดาลัทธิอื่นๆ พระองค์ย่อมทรงทราบ ด้วยพระปัญญาธิคุณดีว่า จารีตใด พิธีใด การกระทำใด ดี หรือไม่ดี
        เมื่อพระองค์ตรัสรู้เอง จะตั้งศาสนาของพระองค์ จึงได้ทรงปรับปรุง เลือกสรร แก้ไขเรื่องเหล่านี้ ให้มันพาตรง มุ่งเข้าหาจุดพ้นทุกข์แท้ (อริยสัจ) โดยทรงตรา กำหนด "พระธรรมนูญ" ขึ้น คือ "จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล" ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ชัด ยืนยัน ความเป็นพุทธศาสนา ของพระองค์ ว่า ไม่ทำอะไรบ้าง ไม่ให้พระสาวกไปหลง เอาอะไรมาเลอะเทอะ ในพระศาสนาของพระองค์ และจะเห็นได้ว่า มีมากมายเป็นเรื่องยึดติด งมงาย มัวเมา ขวางทางแห่ง "ปัญญา" ต้านกั้น "นิพพาน" เอาอย่างหนักด้วย
        มันเป็นจารีต เป็นประเพณี ของลัทธิเก่าๆ ก่อนๆ อื่นๆ ที่สืบต่อกันมา ปรัมปราเต็มที มันเป็น "ศีลพตปรามาส" แท้ๆ จริงๆ คำตรัสห้าม ก็มีออกมากมาย ในคำสอน มีแม้กระทั่ง กำหนดเป็นบท "ศีล" และบท "วินัย" ทั้งพระอริยเจ้า ในพุทธกาล ก็ไม่ได้ประพฤติกัน ก็ช่างกระไร ไม่ยึดแบบอย่างที่ดี ให้ถูกตรงตาม
        ความเสื่อมโทรม ของศาสนา มีได้โดยนัย เป็นประการดังนี้ ขอให้ผู้รู้ ผู้หวังดีทั้งหลาย ตั้งหลักยึด เขยิบฐานะอันควร กันขึ้นใหม่ด้วยเถิด
        ที่ข้าพเจ้า เขียนมาจนขนาดนี้ ย่อมเป็นของแน่ ว่า จะต้องกระทบกระเทือน ต่อเพื่อนผู้ร่วม ในพระพุทธศาสนานี้ (สพรหมจรรย์) และ ก็คงจะต้องมีผู้ไม่ชอบใจ ข้าพเจ้าผู้เขียน แล้ว ข้าพเจ้า ย่อมจะไม่เป็นที่รัก ของเขาผู้นั้น ไม่เป็นที่เคารพ ไม่เป็นผู้ที่ควรยกย่อง ของเพื่อนพรหมจรรย์ (สพรหมจรรย์) ผู้นั้น
        ซึ่งข้าพเจ้า ทราบสภาพเหล่านี้ดี แต่ข้าพเจ้าเลี่ยงไม่ออก เพราะไม่เห็นทางอื่น ที่ดีกว่า การบอกกล่าวกันตรงๆ ด้วยความจริงใจ ตามที่ ข้าพเจ้า ได้ทำมาตลอดเวลานี้ และข้าพเจ้า ก็ไม่มีปัญหาใดๆ สำหรับผู้ที่จะรู้สึก ไม่ชอบใจข้าพเจ้า ถ้าเขาไม่เข้าใจความจริงใจ ของข้าพเจ้า เขาผู้เช่นนั้น ย่อมจะต้องเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าเห็นใจเขา และ สงสารเขาอยู่ และอีกอนึ่ง ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำอะไร โดยมีเป้า มุ่งหมายให้คนชอบใจ หรือ ไม่ชอบใจ แต่ก็มิใช่ว่า ไม่คำนึง ไม่พึงระวังตามควรในเรื่องนี้ หรือ แท้จริงแล้ว ข้าพเจ้า ทราบชัดในใจ ดียิ่งด้วยซ้ำ ว่า ที่ข้าพเจ้า ทำงาน ชี้ทุจริต-ติเตียนสิ่งผิด ของผู้อื่น นี่แหละ ผลคือ จะได้ "ความไม่ชอบใจ" เป็นของแน่ ข้าพเจ้าจะต้องต่อสู้หนัก ก็แสนรู้อยู่ จึงทำไปอย่างประมาณตน ทะนุถนอมกันอยู่อย่างยิ่ง ถ้าจะให้ถล่มทลายกันจริงๆหนะหรือ?! มีมากกว่ามากยิ่งนัก และเป็นเรื่องตามหลัก ตามธรรมด้วยนะ
        อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็เชื่อมั่น ในพระพุทธพจน์ ที่ทรงสอนไว้ ละเอียดลออ แม้ในแง่นี้ก็มี ว่า
        "ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า ขอเราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ และ เป็นผู้ควรยกย่อง ของ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เถิดดังนี้ ภิกษุนั้น พึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล" ["อากังเขยยสูตร" มัชฌิม. มูลปัณ. เล่ม ๑๒ ข้อ ๗๔]
        ดังนั้น สักวันหนึ่ง ผู้มีปัญญาดี ก็จะพึงรู้พึงเห็นจริง พึงเข้าใจในความจริง ในความปรารถนาดีนี้ ของข้าพเจ้าเองแหละ
        จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นผู้อยู่ในร่องในรอยของ "ศีล" แล้ว หมดปัญหา ขอให้ศึกษา "ศีล" จริง และปฏิบัติถึง "ศีล" จริง มี "ผล" จริงเถิด
        ถ้าผู้ใดเข้าใจ "ศีล" ได้จริง และ ตั้งใจ (ทำสมาธิ) ประพฤติบำเพ็ญ (พต) จริงๆ ก็จะเห็นแจ้ง รู้ชัดจริงๆ ว่า มันค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างไร? ทั้งในด้าน "สิ่งปรุงแต่งต่อเติมพาเสีย" (สังขารธรรม) ทั้ง "สิ่งที่หลุดลุ่ยกร่อนโทรม" (วิบัติธรรม) และพร้อมกันนั้น ผู้นั้นก็จะแจ้งใน "สิ่งที่มันหลุดร่วง กร่อนสลายไปจากตน" ว่า มันหลุดพ้นลงไปแล้วแค่ใด? (วิมุติธรรม) จะแจ้งทะลุ "สิ่งปรุงแต่ง ต่อเติมให้ตนสู่ดี" (วิสังขารธรรม) ว่ามีขึ้นมาอย่างไรแค่ใดๆ? ด้วย เช่นนี้ จึงจะเรียกว่า ก้าวสู่ "วิโมกข์" ขึ้นไปเรื่อยๆ
        ผู้ประพฤติจริง ปฏิบัติจริงเป็นผู้รู้ อันนี้แหละ เรียกว่า "อธิปัญญา" เป็น "ปฏิเวธธรรม" เป็นการรู้เห็นของเกิดจริง เป็นจริง และ ถูกต้องตามความเป็นจริงด้วย เป็น "ยถาภูตญาณ" เป็น "วิมุตญาณทัสสนะ" เป็นผลของ "ภาวนามยปัญญา"
        มันไม่ใช่เรื่องแค่ พูดเอาท่องเอา หรือได้ยินแล้วได้ "รู้" แล้ว "จำ" ได้แล้วเพียงแค่นั้น หรือ แม้จะขบคิดผกผัน พร้อมเหตุ พร้อมผล แยบยลปานใด มีเงื่อน ได้แง่แน่ชัดถนัดซึ้ง ตามแต่จะรู้ชั้น รู้เชิง ลึกใด ลึกนั้น แค่ไหนๆ ก็ตาม ก็เลยเรียกว่า "ปัญญา" แล้วก็ "หลง" ยึดไว้ ถือไว้ ถกเถียงกับผู้อื่น หลงว่า นี่คือ "ปัญญาแท้" ถูกต้องแน่ ยึดมั่น ถือมั่น อยู่แค่นั้น หลงเหลิง ปลื้มใจ ดีใจ อยู่แค่นี้นั้น หาได้ไม่
        ยิ่งถ้าไปหลงคำว่า "สิกขา" หรือ การศึกษา เพียงแค่ฟัง อ่าน ท่อง จำไว้ได้แม่นเก่ง และหรือ มีการนำมาทำให้เข้าใจ นำไปเปรียบเทียบ วิจัย ขบคิด-ค้นคิด ได้ลึกซึ้ง ได้อะไรใหม่ๆ ออกมาอีกๆๆ เพื่อสอบ เพื่อนำไปสอน เพื่อนำไปอ้าง ไปยืนยันได้ว่า เป็น "ผู้รู้" "สิกขา" ชนิดเช่นนี้แหละ ยิ่งคือ การเสริมกิเลส ตัณหา ให้แก่ผู้หลงนั้น โดยตรงเลยทีเดียว
        และโดยแท้จริงแล้ว ในทุกวันนี้ แทบจะเรียกได้ว่า "สิกขา" นั้น พุทธศาสนิกชน พากันเป็นได้กันเพียง เพื่อความมีไว้ เป็นเครื่องแสดง (แค่ภาษา) ว่า "เรามี เรารู้" เราเป็น "ผู้รู้" เท่านั้นจริงๆ แล้วเราก็มีผู้รู้ หรือ ปราชญ์ทางศาสนากัน ด้วย "ปัญญา" ด้วย "สิกขา" กันเท่านี้ๆ มันจึงเป็น "สิกขา" ที่เข้าใจผิด บ้องตื้นอยู่เท่านั้นๆ จึงเจริญกันแต่เปลือก และแถม พอกเปลือกออกไป ให้มันหนา หุ้มแก่นแท้ เพิ่มเข้าไปทุกทีๆ แล้ว "สภาวธรรม" นั้น จึงยิ่งสุขุม และ ยิ่งลุ่มลึก หายไปๆ ทุกทีๆ
        เพราะเหตุว่า ไปเข้าใจ "สิกขา" ผิดนี่แหละ เป็นเบื้องต้น จริงๆ การศึกษา จึงไม่เป็นไป ในลักษณะ เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ครบรอบ มันก็ขาดวิ่น และสับสน ปนเป กันไปหมด การก้าวหน้า หรือ การเจริญในธรรม จึงไม่มีเท่าที่ควร เหตุมาจาก ไม่ได้ศึกษา "ศีล" เป็นความรู้เบื้องต้น มีหลัก มีฐาน (ปริยัติ) และดูหลักดูฐานของตน ให้รู้ชัดแจ้งถูกตรง แล้ว "ปฏิบัติ" จริงให้เป็นจริง ไปจริง จนเกิด "อธิจิต" (สมาธิ) และมีปฏิเวธเป็น "ยถาภูตญาณทัสสนะ" (อธิปัญญา) ไปเป็นขั้นๆ รอบๆ ตามฐานะ แล้วจึงเพิ่ม "อธิศีล" ให้ตน เป็นรอบใหม่ แล้วก็จะ รอบแล้ว รอบอีก เป็นสภาพ "หมุนรอบเชิงซ้อน" (ปริวัฏฏ์ ๓) งามด้วย เบื้องต้น-ท่ามกลาง-บั้นปลาย ลึกซึ้ง ลึกซ้อน สู่สภาวะจริง (คัมภีราวภาส) ขั้นปรมัตถ์ได้ ตามคำสอน (อนุศาสนี) ของพระบรมศาสดา นั่นเอง
        ทว่า ไพล่ไปหลงเลอะเทอะ ศึกษาเอาอะไร ต่อมิอะไรกันต่างๆ นานา มากเหลี่ยมมากมุม ให้มันเกินการ และ ไม่มี "ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ" จริง เป็นลำดับ ครบถ้วนแท้
        เช่น บ้างก็ไป หลงเรียนลัด เอา "สมาธิ" กันเลย โดยหลง "สมาธิ" อันจะไม่ก่อให้เกิด "อธิจิต" ที่จะเป็น "อธิปัญญา" แต่จะไปเกิด "จิตทางดับปัญญา"
        หรือไม่ก็ นั่ง "สมาธิ" แล้วจึงสร้าง "ปัญญาโลกีย์" ที่ละเอียดสุขุมยิ่งขึ้น ขบคิดกัน ปั้นสร้าง "ปัญญา" กันในภพ ก็ลึกซึ้งได้เก่งกาจ
        หรือ หลงสุขใน รูปฌาน-อรูปฌาน ตามแบบลัทธิของ ศาสดาฤาษี ดาบสอื่น ที่เล่นแต่ "ฌานโลกีย์" มายึดมามุ่งบำเพ็ญ ซึ่งมันเพี้ยนๆ กันอยู่กับแนวของพุทธ
        "สิกขา" จึงไม่ดำเนินถ้วนรอบ สอดร้อยกัน ครบ "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" เป็นปริวัฏฏ์ ๓ กันสักที เพราะ เขาไม่ต้องใช้ "ศีล เป็นหลักตั้ง ศีลเป็นฐาน ศีลเป็นที่เป็นไป" ตาม พหุลานุศาสนีย์ ของพระพุทธองค์ การปฏิบัติของเขา หรือ "สิกขา" ของเขานั้น เอาแต่นั่งหลับตา เป็นหลัก เป็นฐาน เป็นที่เป็นไป
        ที่หนักขึ้นไปกว่า ก็คือ ไป "หลง" อย่างมืดมัวโมหันธ์ อันจะช่วยคนผู้ "หลง" ชนิดนี้ได้ยากยิ่ง คือ ไปหลงเรียนให้ลัด ยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก
        เช่น ๑. ไปศึกษาเอา "ตัวปัญญา" อันมีทั้ง "ปัญญา" ที่ผกผันคำความ หาเหตุหาผล จนเป็นปรัชญาน่าทึ่ง
        และ ๒. มีทั้งเรียนลัด เอาความเข้าใจ อย่างลึกซึ้ง ซาบซึ้ง ในตัว "ผลสุดยอด" โน่นเลย มาเป็นตัว "ตรัสรู้" แล้วก็หลงว่า "ตนตรัสรู้"
        และ ๓. ทั้งศึกษาเรียนรู้ให้เกิด "ปัญญา" อย่างรอบรู้ ลึกซึ้งใน "พระอภิธรรม" ที่เป็นเพียงภาษา กับเหตุผล
        อันเป็นการกระทำ โดยประมาท อวดดี (เพราะมานะทิฐิ) นั้น ๑ เลยเป็นผู้มัวหลงติด "วิปัสสนูปกิเลส" นั้นอีก ๑
        กรณีแรก และ ๒ นั้นไม่มีปัญหา เพราะเป็นตรรกะ ชัดๆ เจนๆ อยู่แล้ว หรือ แม้จะมีทางประพฤติ ลดละบ้าง ก็ได้ขั้นหยาบๆ แล้วก็หลงคิดเป็น "วิปัสสนูปกิเลส" กันอยู่เช่นนั้นต่อไป ส่วนกรณีหลังนั้น คนส่วนมากไม่เข้าใจว่า "พระอภิธรรม" เป็น "วิปัสสนูปกิเลส" กัน แท้จริงนั้น "พระอภิธรรม" นั้นเป็น "อุปกิเลส" ทั้งในลักษณะ "โอภาส" ทั้งในลักษณะของ "ปีติ" และ ทั้งในลักษณะของ "อธิโมกข์" ทั้งในลักษณะ "ญาณ" เต็มรูปเลยทีเดียว
        เหมือนคนธรรมดาๆ จะเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ทุกคนก็รู้ว่า ถ้าพูดถึงวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์แล้ว จุดมุ่งหมายที่สูงสุดขณะนี้ มันไกลสุดยอดถึงปรมาณู นิวเคลียร์กันทีเดียว (เหมือนพระอภิธรรม มันก็ไกลสุดยอดถึง จิต เจตสิก รูป นิพพาน โน่นเลยทีเดียว) แต่คนธรรมดาๆ นั้น ก็ไม่มีใครจะอุตริวิตถาร เริ่มต้นเรียนฟิสิกส์ โดยสตาร์ทเอาปรมาณู เอานิวเคลียร์ มาเรียนก่อนไม่ จะต้องเริ่มเอา ความร้อน แสง เสียง แม่เหล็ก-ไฟฟ้า ในระดับต้น มาเรียนกันก่อนแน่ๆ
        เหมือนนักปฏิบัติธรรมชั้นต้นๆ ก็จะต้องลงมือเรียนรู้ข้อต้นๆ รู้ปริยัติของ "ศีล" รู้ปริยัติของ "สมาธิ" รู้ปริยัติของ "ปัญญา" รู้ "อัตถะ" รู้ "ธรรมะ" รู้ธาตุ รู้ขันธ์ รู้อายตนะ รู้รูป รู้นาม แค่ตื้นๆ กันไปก่อน แล้วก็ปฏิบัติ ขั้นต้น นั้นจริงๆ จนรู้แจ้ง สัมผัสสภาวะ "อัตถะ" สภาวะ "ธรรมะ" สภาวะ "รูป" สภาวะ "นาม" ในจิตในใจแท้ๆ จึงจะมี "อริยกันตศีล" มี "ปาริสุทธิศีล" เลื่อนขึ้นเป็น "อธิจิต" เรื่อยๆ ไปตามลำดับ แล้วจึงจะมี "อธิปัญญา" ได้
        ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ไปหยิบจับเอา "ความรู้อันเกินกว่าฐานะ" ที่เป็นจริงแท้จริงมายึดมา "หลง" และไม่ "ปฏิบัติ" ให้ถูกๆ ตรงๆ กันจริงๆ จังๆ มันจึงทำให้เขาผิดพลาด ผยองตน เห็นเป็น "ความรู้อันเรืองรอง ส่องแสงสว่างไสว" (โอภาส) จึงหลงดีใจ ภูมิใจ ยินดีปรีดา (ปีติ) อยู่อย่างนั้น ได้ระงับ บำบัด "ความอยากรู้" ไปบ้าง (ปัสสัทธิ) แต่ที่หลงที่ฟุ้ง (อุทธัจจะ) ปรุงยึดมั่น ถือมั่นว่ามันสูง (อหังการ) นั้น มันยังมีตัวตน ลดมัน ระงับมัน ให้มันดับลงไม่ได้
        ภูมิจิต หรือ ภพ ของจิตผู้นี้ จึงวนอยู่ใน "อุปกิเลส" เพียงเท่านี้ ด้วยซ้ำไป อย่าเพิ่งไปพูดถึงขั้นเป็น "อธิโมกข์" ที่มันสูงกว่า "โอภาส" และ ยิ่งเป็น "สุข" เป็น "ญาณ" อันเป็นปริวัฏฏ์ ๓ ของกิเลสรอบสูงสุด ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะอุปกิเลสทั้ง ๑๐ นี้ ก็มีระดับเป็นสมังคีธรรม และ มีสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน (ปริวัฏฏ ๓ คัมภีราวภาส) เช่นธรรมหมวดอื่นๆ ทั้งสิ้น
        การหลงเช่นนี้เอง จึงทำให้ "สภาพธรรม" ใน "จิต" ตามความเป็นจริงของ "ผู้หลง" ก้าวขึ้น หรือเลื่อนไหล ขึ้นสู่ความสูงไม่ได้
        คำสอน (อนุศาสน์) ของ พระบรมศาสดาเจ้า ของเรา ที่พระองค์ทรงย้ำอย่างยิ่ง นักหนาว่า "…ให้งามในเบื้องต้น ให้งามในท่ามกลาง ให้งามในบั้นปลาย" นั้น ไม่ได้เป็นไป ตามพระดำรัสย้ำนั้นกันแล้ว มันพอมีเบื้องต้น มีท่ามกลาง มีบั้นปลายอยู่บ้าง แต่มันไม่ "งาม" ไม่ครบ
        ทุกสิ่งทุกอย่าง อันหลอมรวมเข้าเป็น "พุทธศาสนา" จึงกุดด้วนลงไปเสีย เกือบไม่มีเนื้อ ไม่มีตัวกันเลย
        คำว่า "ไตรสิกขา" ในปัจจุบันนี้ จึงไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ที่ "งาม" แท้ "งาม" จริง กลายเป็น "สมาธิ-ปัญญา-ศีล" บ้าง หรือไม่ก็ "ปัญญา-ศีล-สมาธิ" บ้าง หรือไม่ก็ "ปัญญา-สมาธิ-ศีล" บ้าง หรือไม่ก็ "สมาธิ-ศีล-ปัญญา" บ้างหัวหกก้นขวิด จับต้นชนปลาย เรียงระดับไม่ได้เลย และที่แย่คือ มีไม่ครบ ๓ จึงให้ "งาม" ตามที่พระบรมศาสดา ทรงหวัง และกำชับไม่ได้แล้ว
        และ แม้ ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ ก็มีแต่ "ปริยัติ" หา "ปฏิบัติ" ไม่ได้เลยบ้าง มีแต่ "ปฏิบัติ" โดยไม่ได้ใส่ใจ "ปริยัติ" ให้ถูกแนวถูกทางก่อนบ้าง "ปฏิเวธ" จึงไม่มี แม้มี ก็ไม่ใช่ "ผลสภาวธรรม" ไม่ใช่ "ปัญญา" ตามจุดสุด อันคือ "งามในบั้นปลาย" และเป็นที่หมายแห่ง "ไตรสิกขา" จนเดินหมุนรอบปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ ครบ
        เนื่องมาแต่ "ปริยัติ" มันอาพาธ "ปฏิบัติ" ก็อาเพศ "ปฏิเวธ" จึงอาภัพ เพราะ พระ หรือ นักธรรม ไม่ "ทำสิกขา" ตามคำสอน หรือ เพราะไม่รู้แท้ว่า "สิกขา" นั้น มันต้องทั้ง "ปริยัติ" จริง "ปฏิบัติ" แท้ๆ จึงจะบรรลุ "ปฏิเวธธรรม" ได้ และ "ปริยัติ" ก็คือ "ศีล" "ปฏิบัติ" ก็คือ "สมาธิ" (การทำจริงตาม "ศีล" จนมั่นคงตั้งขึ้นได้แท้ๆ) "ปฏิเวธ" จึงจะคือ "อธิปัญญา" หรือ "วิมุติญาณทัสสนะ"
        มิใช่ว่า "ปริยัติ" คือ จับบทเรียนเอา "ปัญญา" เอารู้ความหมาย ความเป็นไปของ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งเป็นแค่ภาษา เป็นเพียงคำอธิบาย เนื้อตัวของ สภาวะ ปรมัตถธรรมขั้นสูง อันละเอียด แต่หัวข้อของ "ศีล" ทั้งหลาย ทั้งรายละเอียด ที่จะนำไปปฏิบัติ เพื่อขัดเกลากิเลสแท้ๆ ของ "ศีล" กลับไม่เรียน ไม่เอาใจใส่ เห็นเป็นของต่ำ เป็นภาษาธรรม ที่ตื้นเขินพื้นๆ ล้าสมัยเสียแล้ว
        ก็พระอรหันต์เจ้า ในสมัยพุทธกาล มีองค์ใด รูปไหนนะ เรียน "พระอภิธรรม" (คือ คำอธิบาย จิต เจตสิก รูป นิพพาน) กันเป็นวรรค เป็นเวรบ้าง? ไม่มีเลยแม้แต่องค์เดียว ที่สำเร็จบรรลุอรหันต์ เพราะไปมุ่นเรียนภาษา ที่แจกลูก แจกหลานบานเบิกของ จิต เจตสิก รูป นิพพานกันเป็นวรรคเป็นเวร แต่ ท่านเหล่านั้น ก็บรรลุเป็นอรหันต์จริงๆ ทั้งสิ้น และบรรลุทั้งๆ ที่ไม่ได้ศึกษาภาษามากมาย ที่ขยาย จิต เจตสิก รูป นิพพานเลย ก็ทั้งนั้นๆ ศึกษาแต่ศีล โอวาทปาฏิโมกข์ศีล ทั้งหลายเท่านั้น แล้วนำไป ปฏิบัติตามจริงๆ
        และ ไม่มีเลยสักองค์ ที่มุ่นมัวเมาหลงใหล ในภาษาพระอภิธรรม อัน "พุทธศาสนิกชน" หมู่หนึ่ง ในปัจจุบันนี้ เขาเรียบเรียงกันขึ้น เป็นกอบเป็นกอง แล้วยืนยันว่า เป็นของต้องเรียน (สิกขา) นักหนา ถ้าไม่เรียน จะไม่สามารถบรรลุได้
        สมัยมีพระอรหันต์กันมากมาย "พระอภิธรรม" (ที่เป็นแบบบัญญัติ เป็นภาษา) กลับไม่เฟื่องฟู แม้ในหมู่พระอรหันต์ ด้วยกันเอง แต่พอมาสมัย หาพระอรหันต์ แทบพลิกแผ่นดิน "พระอภิธรรม" กลับจะสำคัญ และ หลงใหลสิ่งนี้กัน ดูๆ ก็กลับตาลปัตร กันไปหมด แทนที่ พระอรหันต์มากๆ ท่านจะพูดกันแต่เรื่อง ภาษาพระอภิธรรม หรือ พระพุทธเจ้า จะสอนแต่ภาษา พระอภิธรรม กลับเป็นว่า สมัยนี้ เก่งกว่าสมัยพุทธกาล เอาเนื้อหา ภาษาชั้นยอด ของธรรมะชนิด "อธิปัญญา" หรือ "อภิปัญญา" มาสอนกันก่อน "ศีล" เลยทีเดียว
        ที่จริง เรื่องนี้ ก็มีการพูดกัน มามากแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่อยาก จะพูดซ้ำอีกมากนัก แต่เมื่อกล่าวถึง เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ให้งามแล้ว มันก็จำเป็น ต้องกล่าวด้วย และ เพื่อจะ "กัน" ไว้ สำหรับผู้ยังไม่หลงผิด ไม่หลงยึด อย่าไปยึดเข้า และหรือ หากจะมีกุศล จนทำให้ผู้ที่ "หลงยึด" เข้าไปแล้วเต็มเปา คลายความยึดได้ด้วย ก็จะเป็นผลดีแก่ผู้นั้นเอง เป็นอันมาก ข้าพเจ้าผู้นำมากล่าวนั้นเท่าทุน และจะมีส่วนขาดทุนอยู่ด้วย
        แต่ที่พูดมาถึงขนาดนี้ ก็มิได้หมายเอาว่า "ภาษาพระอภิธรรม" ไม่ใช่ความรู้ ไม่เป็นของดี ก็ไม่ใช่เช่นนั้น ก็หากดี ทว่า หลงใหลกันเป็น "อุปกิเลส" หรือ นำมาเรียนกัน มันผิดระดับ ขั้นตอน เป็นการหลงทาง จับหัวเป็นหาง ดังคำตรัสของ พระบรมศาสดาที่มีว่า "…เราตถาคต ไม่สรรเสริญ ผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีศีล ผู้มีความรู้น้อย แต่เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล เราสรรเสริญ แลนับถือผู้นั้นว่าเป็นคนดี ผู้ใดนับถือผู้ที่มีกิเลสว่า ดีกว่าผู้ไม่มีกิเลส บุคคลผู้นั้นชื่อว่า ถือศีล เอาต้นเป็นปลาย เอาปลายเป็นต้น เอาสูงเป็นต่ำ เอาต่ำเป็นสูง ถ้าถืออย่างนี้ ผิดทางแห่งพระนิพพาน เป็นคนมิจฉาทิฏฐิ
        ภาษา หรือ คำกล่าวเรียกสภาวะ "ปรมัตถธรรม" สูงๆ ละเอียดๆ นั้น มีจริง ดีจริง ไม่เถียง ซึ่งมันจะค่อยมี ค่อยเป็น ค่อยทำกับสภาวะ ตามฐานะของผู้พึงศึกษา และ เรียนรู้ ประพฤติได้ไปตามลำดับๆ มิใช่จะนำมารวมกัน ท่องจำพร้อมกันเลย พรวดพราด ลัดผลุบไปสู่ปรมัตถ์กัน เช่นที่หลงเรียนนี้ ไม่ธรรมทุกตัว ที่จริงถ้าไม่ "หลงผิด" นำมาเรียนรู้ก็ดี เป็นอุปการะ
        แท้จริง "ศีล" อันจะนำส่งเราสู่ "ปรมัตถธรรม" เป็นผู้สูงขึ้นนั้น ก็มีให้เรียนมากมายยิ่งนัก และแท้จริงแล้ว มีเป็น "อนันตัง" คือ ไม่มีที่สุดเอาด้วย อย่าว่ากันเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนข้อเลย เมื่อผู้ใด รู้แจ้งแทงทะลุ อัตถะ ธรรมะ นิรุตติ และปฏิภาณ ของคำว่า "ศีล" และ "อธิศีล" แล้วจะพึงเข้าใจได้ เพราะ "ศีล" เป็นทั้ง "อัตตา" และเป็นทั้ง "อนัตตา" "ศีล" มีทั้งความรู้จบ และ ความไม่ต้องจบ
        "ศีล" ที่ลึกละเอียดแล้ว พระอริยะล้วนรู้เอง เข้าใจได้เอง และ จะนำมาประพฤติเอง บางเรื่อง ไม่ต้องมีใครกล่าวไว้ ณ ที่ใด อันท่านจะรู้ทั้งกาละเทศะว่า "ศีล" อย่างไร เกื้อกูลตน "ศีล" อย่างไรเกื้อกูลโลก
        พระสุตตันตปิฎก หมวด "ศีลขันธวรรค" ทั้งหลายนั้น เป็นหมวดที่พระอริยสงฆ์ ผู้ได้ทำสังคายนา รวบรวม หยิบเอาสูตรที่พระพุทธองค์ ทรงยกตรัสชัดๆ ถึง "หมู่ศีล" สำคัญ ซึ่งเป็น "พระธรรมนูญ" แห่งศาสนาของพระองค์ เพื่อให้ปวงชน ได้รู้ชัด เป้าประสงค์ ในลัทธิของพระองค์ พึงรู้ พึงรับเอามา ใช้ปฏิบัติได้ง่ายๆ เข้า
        "หมู่ศีล" เหล่านั้น อันมี "จุลศีล-มัชฌิมศีล" และ "มหาศีล" ก็เป็นข้อปรามข้อห้าม ที่รู้ง่าย รู้ชัด รู้ได้ว่า นี่เป็นแบบของพระสมณโคดม ซึ่งต่างจากของพราหมณ์ ของฤาษี ของศาสดาอื่นๆ นะ! และ "พุทธสาวก" ผู้จะประพฤติ หวังพระนิพพาน ตามทาง ของพระศาสดาพระองค์นี้ พระพุทธองค์ก็ยก "ศีล" เหล่านี้ ขึ้นสอนทั้งสิ้น แม้จะเป็นฆราวาส หรือ จะเป็นสมณะ ก็ตาม จงหาอ่านดูใน สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค กันเถิด
        ดังนั้น สมณะ หรือ "พุทธสาวก" ของพระพุทธองค์ ผู้จะยังศาสนาให้งาม ในกาลต่อๆๆๆ ไปนั้น ก็จะต้องศึกษา (สิกขา) "ศีล" ตามฐานะไป เป็นลำดับๆ โดยเฉพาะ "ศีลธรรมนูญ" สำคัญ ที่กำลังกล่าวถึง เหล่านี้ และจะต้อง นำมาประกอบ การประพฤติ ปฏิบัติไปตามนั้น ตามฐานะ
        แต่เมื่อ "พุทธสาวก" เข้าใจ "ศีล" ไม่ได้ แม้คำว่า "โอวาทปาฏิโมกข์ศีล" ก็เข้าใจไม่ได้ แยก "พระปาฏิโมกข์ศีล" เป็นคำหนึ่ง แยก "พระโอวาทปาฏิโมกข์" ไปเสียอีกคำหนึ่ง แล้วก็ไปยึดแค่ภาษา ที่จำกัดความไว้นั้นๆ เท่านั้น แต่แท้จริง มันก็อันเดียวกัน เป็นแต่ว่า ผู้เข้าใจไม่ได้ แทงไม่ทะลุถึง ก็ถูก "ภาษา" นั่นแหละกั้น "ปัญญา" ไว้ ให้ตนไม่ได้ทำความดี สูงขึ้น จนสุดท้าย ก็เป็นการตัดตอน หั่นกุด บั่นทลายสมบัติอันล้ำค่า (คือ "ศีลพระปาฏิโมกข์ทั้งหลาย") ของตนเองทิ้งเอง จำกัดจำเขี่ยตัวเอง ลงมาอยู่ในวง แคบเข้า เล็กลง ยึดเอาแค่ที่ว่าไว้ใน "พระวินัย" เท่านั้น เป็น "ศีล"
        ส่วนใน "พระสูตร" ที่สอน "ศีล" ไว้ทั้งหลาย อันมีมากกว่า "พระวินัย" เสียอีก กลับถือว่า ไม่ใช่ "ศีล" ของพระ อันจะพึงสังวร ระวังรักษาเสียแล้ว ทั้งๆ ที่ เกิดเป็นบทบัญญัติ ขึ้นมาก่อน "พระวินัย" และ เป็นหลักในการตั้ง "พระศาสนา" ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เสียด้วย
        พระสาวก ของตถาคต เดี๋ยวนี้ มองเมิน "ศีล" เสียสิ้น หันไปยึดอยู่แค่ "วินัย" ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก มีพระอรหันต์ แล้วตั้งนาน "วินัย" เกิดเพราะมี "คนเลว" "พระวินัย" จึงเป็นแค่ "กฎหมาย" พระเท่านั้นเอง มันไม่ได้ลึกซึ้ง ละเอียดลออ ยิ่งใหญ่เท่า "ศีล" เลย
        "ศีล" นั้นคือ ข้ออันควรเรียนรู้ให้มาก แล้วเอามาปฏิบัติ ให้ตนสูงขึ้นๆ ให้ได้ เป็นข้อกำหนดอิสระ ของผู้ดี ที่พึงรู้เอง พึงเลือกเอาเอง ส่วน "วินัย" นั้นคือ ข้อกำหนดเคร่งครัด ที่ต้องลงอาญา มันหยาบกว่า "ศีล" ตื้นกว่า "ศีล" และต่ำกว่า "ศีล" เพราะเป็นข้อบังคับ เกิดมาแต่เชื้อคนเลว
        "วินัย" นั้น ผู้ใดยิ่งมีมาก ก็ยิ่งต่ำ ไม่น่าภาคภูมิอะไร เช่น ภิกษุณีมี "วินัย" มากตั้ง ๓๑๑ ก็ต้องเคารพ กราบไหว้ ภิกษุ ผู้มี "วินัย" น้อย คือมีแค่ ๒๒๗ ดังนี้ ส่วน "ศีล" นั้น ผู้ใดยิ่งมีมาก ยิ่งสูงส่ง เช่น ผู้มี "ศีล ๕" ก็ต้องกราบเคารพผู้มี "ศีล ๘" ผู้มี "ศีล ๘" ก็ต้องกราบเคารพ ผู้มี "ศีล ๑๐" ผู้มี "ศีล ๑๐" ก็ต้องกราบเคารพ ผู้มี "จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล" อย่างนี้เป็นต้น
        ที่สามเณร ต้องกราบ เคารพ ภิกษุนั้น เพราะภิกษุมี "จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล" เป็นต้น ไม่ใช่เพราะมี "วินัย ๒๒๗" แต่ท่านเคารพกันด้วย "ศีล" ที่มากกว่ากันจริงๆ
        นี่คือ หลักแท้ แต่ดั้งแต่เดิม ตั้งแต่พุทธกาล ที่เป็น ที่มีมา ตั้งแต่ "วินัย" ยังไม่มี เลยสักข้อด้วยซ้ำ
        ซึ่งเดี๋ยวนี้ หลงผิด สับสนกันมาก แถม "พระ" ไปคุยโอ่ว่า ตนสูงกว่าเขา เพราะมี "วินัย ๒๒๗" เสียอีกแน่ะ!
        "วินัย" นั้น มีขึ้น เพื่อป้องกันศาสนา เพื่อมัดมือมัดเท้า "คนเลว" มิให้ทำลายศาสนา ลงเร็วนัก
        ส่วน "ศีล" นั้น มีขึ้น เพื่อการเกิดของ พระอริยเจ้า อันเป็นเนื้อแท้ ของศาสนา
        แต่ก็เป็นจริงล่ะ ว่า "วินัย" ก็มีผลขัดเกลากิเลสได้ ถ้าผู้ปฏิบัตินั้น มีปัญญาแท้ ใช้ "วินัย" เยี่ยง "ศีล" ประพฤติด้วยมรรคองค์ ๘ หรือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ให้ได้แท้ ก็ย่อมส่งผล ได้เสมอกัน นั้นก็แน่ๆ
        และ ก็ถูกต้องด้วยล่ะ ที่ว่า "กฎหมายพระ" หรือ "วินัย ๒๒๗" นั้น ต้องประพฤติให้ได้ กันก่อน มิฉะนั้น "เลว" แน่ เสื่อมแท้ ยิ่งละเมิดวินัย หยาบเท่าใด ก็ยิ่งต่ำ ยิ่งเลวอยู่เท่านั้น ยิ่งหมักหมมความผิด หรือยิ่งละเลย ไม่เห็น "วินัย" สำคัญยิ่งเท่าใด ก็ยิ่งเลว ยิ่งเหลวเละ ยิ่งเสื่อม หยาบต่ำหนักหน้ายิ่งๆ ขึ้น ยิ่งพาน พาให้ศาสนาเสื่อมโทรม เสียหายพัวพัน
        ได้ชี้แจงอธิบายมาแล้วว่า เหมือนผู้คนในสังคมบ้านเมือง นั่นเอง ก็ต้องประพฤติตนอยู่ใน "กฎหมาย" ผิดกฎหมายไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญก่อนนั้นแน่ๆ แต่ผู้คนในสังคม จะมีความประพฤติ เพียงไม่ผิด "กฎหมาย" อยู่เท่านั้น ทว่าไม่มี "ศีล" ไม่มี "ธรรม" หรือ ผู้คนในสังคม ไม่มี "จริยธรรม" อื่นๆ อีกมากมายนั้น สังคมอยู่กันไม่ได้ สังคมมี "กฎหมาย" เท่านั้น ไม่เพียงพอ สังคมไปไม่รอด
        สังคมมนุษย์ ต้องอาศัย "จริยธรรม" ต้องพึ่ง "ศีล" พึ่ง "ธรรม" ที่แท้ในจิตวิญญาณมนุษย์ ใน "ใจจริง" ของมนุษย์ จึงจะมี "อิสรเสรีภาพ" ที่แท้ มี "ภราดรภาพ" ที่แท้ มี "สันติภาพ" ที่แท้ มี "สมรรถภาพ" ที่แท้ มี "บูรณภาพ" ที่จริง
        หรือ ผู้ใดยังมีความเข้าใจ ว่า "ศีล" ก็ดี "ศีลธรรม" ก็ดี นั้น มีคุณ มีค่า มีความหมายเท่ากับ "วินัย" ซึ่งเห็นว่าต่างจาก "กฎหมาย" เหมือนกัน คือ เห็นว่าเป็น "วินัย" แห่งสังคม เป็น "กฎหมาย" ที่สังคมหล่อหลอม ก่อเกิดกันขึ้นเอง โดยอัตโนมัติ ซึ่งมีทั้งหยาบ ทั้งละเอียด หลากหลาย (คือ ไม่ใช่มีคณะบุคคลตั้งขึ้น ในสภา หรือ คนใดคนหนึ่ง กำหนดตั้งขึ้น) ดั่งนี้ ก็ตาม
        ถ้าผู้ใดยังเข้าใจว่า "ศีล" มีคุณค่าเท่านี้ๆ อยู่จริงๆ ผู้นั้นก็ยังคือ ผู้ที่ยังเข้าใจ ยังหยั่งถึงความเป็น "ศีล" เข้าถึงความเป็น "ศีล" ยังไม่ได้อยู่นั่นเอง ยังเป็นผู้รู้จัก "ศีล" ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่เป็นผู้ทรง "ศีล" ทรง "ธรรม" อันอเสขะ และ ยังไม่เป็นผู้ทรง "ศีล" ทรง "ธรรม" อย่างมั่นคง "นิยต" (ซึ่งแน่นอน, ซึ่งเที่ยง) เนื่องจาก ยังไม่มี "ปัญญาวิมุติ" และ ยังไม่มี "เจโตวิมุติ อันไม่กลับกำเริบ" (อกุปปาเจโตวิมุติ) ใน "ศีล" เพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือ ยังศึกษา "ศีล" ไม่เคยถึงขั้น จนรู้แจ้ง แทงทะลุ "ศีลอเสขะ" ในตน
        เพราะ คนในสังคมขาด "ศีลธรรม" ตัวแท้ นั่นเอง สังคมจึงอยู่กันไม่เป็นสุข ไม่เป็นอิสระจริง ไม่เป็นภราดรจริง ไม่สันติจริง ความทุกข์ร้อนทั้งหลาย จึงครอบคลุมอยู่ทั่วไป
        แม้จะมี "กฎหมาย" ให้ดียิ่งอย่างไรๆ ก็อยู่กัน ไม่เป็นสุขสันติจริง เพราะ คนในสังคม จะมีแต่การละเมิด "กฎหมาย" ด้วยเล่ห์ ด้วยอำนาจ ไม่เคร่งครัด ในกฎหมายกัน นั่นก็ ไม่ใช่เพราะอะไร ก็เพราะ จิตวิญญาณของคน ไม่มี "ศีล" ไม่มี "ธรรม" แท้ๆ จริงๆ
        หรือ ต่อให้คนในสังคมนั้น เคร่งครัดใน "กฎหมาย" ก็เถอะ แต่ถ้าคนไม่มี "ศีลธรรม" ด้วยละก้อ สังคมนั้น ก็ไม่เป็นสุขอยู่นั่นแหละ อิสรภาพ ก็จอมปลอม ภราดรภาพ ยิ่งหายาก สันติภาพนั้น ก็เพียงตกแต่ง ประดิษฐ์ไว้เท่านั้น ดูจากบางประเทศ ที่เขาทำ "กฎหมาย" ให้คนเคร่งครัดกันได้ ก็ได้
        เรื่อง "ศีลธรรม" จึงเป็นเรื่องแก่น แกนของสังคม ของมนุษย์ อย่างลึกซึ้ง และเป็นเรื่องจริง ของมีจริง เป็นจริงที่สำคัญเอกอุ ไม่เช่นนั้น แม้แต่ "วินัย" หรือ "กฎหมาย" ที่จะทำกันได้ง่ายๆ หยาบๆ ตื้นๆ ก็ไม่มีผล ก็จะคอยละเมิดกันอยู่ นั่นเอง มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่ รู้กันอยู่ดาษดื่น เกลื่อนกล่น
        คนที่มี "ศีล" มี "ธรรม" แท้ๆ จริงๆ ย่อมเคารพ "กฎหมาย" เชื่อถือ ประพฤติตาม กฎระเบียบวินัย เพราะ "ศีลธรรม" นั้นคือ สภาพมีความซื่อสัตย์ที่แท้ สภาพมีความจริงใจแท้ สภาพมีปัญญา (ไม่ใช่ "เฉโก) จริง ไม่มีสังคมคนในโลกไหน ที่จะสามารถทำคน ให้ซื่อสัตย์แท้ มีความจริงใจแท้ มีปัญญา (ไม่ใช่ "เฉโก") จริงได้สมบูรณ์ที่สุด ด้วยอำนาจ "กฎหมาย" หรือ เพียงด้วยหลักระเบียบวินัย ที่เป็นแค่ข้อบังคับ แล้วก็ทำให้คน จำนนได้แค่ "กาย-วาจา" [ตามที่เชื่อๆ และสอนๆ กันว่า "ศีล" นั้น ชำระได้แค่ "กาย-วาจา"] ไม่จริงใจ
        ดังนั้น คนที่ตื้นๆ แค่ "วินัย" แค่ "กฎหมาย" ก็ละเมิด ก็ไม่เคารพ ไม่เคร่งครัดนั้น ก็คือ คนจิตวิญญาณหยาบ ไม่มี "ศีล" ไม่มี "ธรรม" ที่แท้จริง ไม่มี "ปัญญา" ที่เป็น "ญาณทัสสนะ" แท้ จะมีก็แต่ ความเฉลียวฉลาด ที่คือ "เฉโก"
        สังคมที่มีแต่ "กฎหมาย" มีแต่ "วินัย" ทว่า ไม่มี "ศีล" ไม่มี "ธรรม" นั้น พ้นทุกข์กันไม่ได้ แต่ว่าสังคม ที่มีแต่ "ศีล" แท้ "ธรรม" แท้ เข้าถึงความเป็นจริง แม้จะ ไม่มี "กฎหมาย" ไม่มี "วินัย" ก็พ้นทุกข์ สงบสุขได้แน่นอน
        ยิ่งเล่าเรียนวิชาการว่าด้วย "วินัย" ว่าด้วย "กฎหมาย" มาก แต่ไม่ประพฤติ "ศีล" ประพฤติ "ธรรม" กันจริงๆ ละก้อ ผู้รู้ "วินัย" มาก หรือ รู้ "กฎหมาย" มาก ก็ยิ่งเฉโกได้มาก เอาเปรียบผู้ไม่รู้ ตะพึดไปได้ ก็เห็นๆ กันอยู่ทั่วไป ยิ่งผู้นั้นมีกิเลส โลภะ โทสะ พยาบาท มากอีกด้วย ก็ยิ่งจะรู้ชัด เห็นง่าย
        หรือ ผู้ใด เห็นยิ่ง เชื่อจริงว่า "ศีล" ก็คือ "วินัยของสังคม" คือ "กฎหมาย" ของสังคมเท่านั้น ดังแจกแจงมาแล้ว ผู้นั้น ก็จะหมิ่นหยาม "ศีล" อยู่ในใจจริงๆ และย่อมจะละเมิด "ศีล" ได้ทันที ที่ตัวผู้นั้นเกิดความโลภ หรือความโกรธขึ้นถึงขนาด
        "วินัย" และ "ศีล" มีนัยะ ลึกซึ้ง ซับซ้อน กันอยู่ ด้วยประการอย่างนี้ เป็นต้น
        ถ้าเข้าใจ ความลึกซึ้งนี้ได้ ก็จะเห็นได้ว่า "ศีล" ก็ดี "ธรรม" ก็ดีนั้น สำคัญ ลึกล้ำ นักหนา กว่า "วินัย" กว่า "กฎหมาย" เพราะ แม้จะมี "กฎหมาย" มี "วินัย" แต่ไม่มี "ศีล" ไม่มี "ธรรม" นั้น มันช่วยสังคมไม่ได้ดีเด่น สมบูรณ์สุดดอก ส่วน สังคมใดที่มี "ศีล" มี "ผลธรรม" ที่เป็นปรมัตถสัจจะ กันจริงๆ ถึงจิต ถึงเจตสิก ถึงวิญญาณนั้น จะมี "วินัย" หรือมีกฎหมาย มีระเบียบใดๆ ก็ได้ ก็เรียบร้อย ศักดิ์สิทธิ์ ดีพร้อม
        ทำความเข้าใจในแง่ต่างๆ เหล่านี้กันให้ดีๆ เถิด แล้วเราจะไม่สับสน ในการปรับปรุงชีวิต ทั้งของเรา และ ของสังคม
        ดังนั้น ผู้ที่ยังเข้าใจว่า "ศีลธรรม" เป็นเรื่องตื้นเขิน เป็นเรื่องของกฎหลัก ที่ต้องใช้สำหรับ คนที่ยังไม่ฉลาด โดยเข้าใจว่า "ศีลธรรม" หรือ "ศีล" ทั้งหลายนั้น มีนัยะแค่ "วินัย" แค่กฎ แค่หลักของสังคมเท่านั้น ไม่ใช่สภาพลึกซึ้ง หยั่งถึง "ปรมัตถสัจจะ" นั่นคือ ผู้เข้าใจเช่นนั้นเอง นั่นแหละ เป็นผู้ที่ยังไม่ถึง "ศีล" ยังไม่ถึง "ธรรม" แท้จริง ยังปฏิบัติเจาะแทง (ปฏิเวธ) หยั่งถึงความลึกซึ้งของ "ศีลธรรม" ของ "ธรรม" ยังไม่พอ ผู้นั้นยังไม่มี อเสขศีล หรือ ยังมีความเฉลียวฉลาด ที่เรียกว่า เฉโก จึงตีค่า "ศีลธรรม" ว่า เป็นแค่ "สมมุติสัจจะ"
        แท้จริง "ศีลธรรม" นั้นคือ เรื่องทั้ง "กาย" ทั้ง "วาจา" และถึงขั้น "จิตวิญญาณ" ขั้นปรมัตถสัจจะ ทีเดียว
        ผู้ไม่ศึกษา "ศีลธรรม" อย่างถ่องแท้ ก็จะไม่ปฏิบัติ "ศีล" จนเป็น "สัมมาสมาธิ" เพราะไม่เข้าใจ "อธิศีลสิกขา" เพราะฉะนั้น ผู้นี้จึงจะ ไม่มีโอกาสเข้าถึงขั้น "อธิปัญญาสิกขา" ซึ่งมันลึกไกลไปถึง "วิมุติญาณทัสสนะ" นั่นเทียว และเป็น ความฉลาดเฉลียว หรือความรู้ คนละทิศทางกับ "เฉโก"
        "ความรู้-ความฉลาด" ของผู้ศึกษา "ศีล" ไม่ถ่องแท้ และ ไม่ปฏิบัติ "ศีล" จนเข้าขั้น "สัมมาสมาธิ" (อธิจิตสิกขา) นั้น ส่วนมาก จะมี "ความรู้-ความฉลาด" แค่ตรรกะ ก็เป็นเรื่องแท้ เรื่องจริง ตามปกติธรรมดา มีให้เห็นกันอยู่เยอะแยะ และ คนเหล่านี้ ส่วนมากจะดูหมิ่น "ศีล" อยู่ครามครัน หยามหยัน คนผู้ที่ปฏิบัติ "ศีล" เพราะ ในใจลึกๆ ของเขานั้น เขามีความเห็น อยู่อย่างหนึ่ง คือ เขาเข้าใจว่า ผู้ยังต้องปฏิบัติ "ศีล" อยู่ คือ ผู้ไม่มีความอิสระ ซ้ำหาว่า ผู้ปฏิบัติ "ศีล" เคร่งครัดนี้ เป็นคน "หลงยึดมั่นถือมั่น" เอาเสียอีกด้วย
        มันไม่มีปัญหาเลย สำหรับผู้ที่มี "วิมุติญาณทัสสนะ" หรือ มี "อธิปัญญา" แท้ เมื่อผู้นั้นมี "ศีล" ถึงขั้น "ปาริสุทธิศีล ๔" จริง มี "อเสขศีล" จริง เขาย่อมถึงความ "มั่นคง" จริง และ เขาย่อมรู้แจ้ง เข้าใจเพียงพอใน กรรมกิริยา ของความ "ยึดมั่นถือมั่น" เพราะ เขาย่อมรู้แจ้ง ในสมมุติสัจจะ เพื่อตน เพื่อผู้อื่น และ ย่อมรู้แจ้ง ในปรมัตถสัจจะ ของตนแน่แท้ เป็นจริง
        เขาจะ "ยึดมั่นถือมั่น" หรือ เขาจะ "มั่นคง" ในศีล ในธรรม เป็นหลัก เป็นแก่น แกนให้แก่สังคม แต่จิตวิญญาณเขา ไม่ได้ติด ไม่ได้หลงอะไร เขาย่อมรู้ "ความจริง" ที่เป็นจริงสูงสุด ของเขาได้ เขาจะยึด "ศีล" เป็นผู้ทรง "ศีล" มั่นคงแน่วแน่ แม้จะต้องเสียชีวิต ก็เป็นเรื่อง ที่ย่อมเป็นไปได้ โดยจะไปตู่ หรือ ดูหมิ่นว่า พระสาวกผู้ "มั่นคง" ในศีลในธรรม นี้ นั้นคือ คนมีกิเลส "ยึดมั่นถือมั่น" เป็นการไม่ควรอย่างยิ่ง ยังกล่าวง่ายๆ ด้วยความไม่ถูกต้อง ก็ขนาดพระพุทธเจ้า ผู้เป็นปราชญ์แท้ ยังไม่กระทำ ยังไม่กล้าตรัสอย่างนั้น แต่ผู้ฉลาดไม่แท้ จะกล้าพูด กล้าตู่ เพราะคิดไม่ถึง นั่นก็เป็นเรื่องจริง ได้แน่นอน
        พระพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕

อ่านต่อ หน้า 6 พระพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญ

 

 
page: 5/8
   Asoke Network Thailand