คาถาธรรม ๘

ความรู้รอบ

ความแยบคายถ่องแท้ จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อ เราต้องเดินโพชฌงค์ ๗ อย่างละเอียดเสมอๆ ความมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่การมีสติรู้เฉยๆ จะต้องมีความรู้อย่างรอบ มีธัมมวิจัยอยู่เสมอ มีความเข้าใจต่อกรรม มีความเข้าใจต่อผัสสะ มีจิตละเอียดที่ตามรู้เข้าไปถึงเวทนา ต้องเพียรวิจัย ต้องเพียรระลึกรู้ ต้องเพียรรู้เท่าทัน แล้วก็วิจัยชั่ววิจัยดี วิจัยมิจฉาวิจัยสัมมา วิจัยอารมณ์ที่เป็นสุขเวทนาทุกขเวทนา และมีวิธีปรับ และต้องเพียรปรับเพียรทำซ้ำซาก รู้เร็วรู้ไว ทำได้เร็วทำได้ชัด รู้อารมณ์ รู้อาการของเวทนาในจิต ของอารมณ์ในจิต รู้กรรมข้างนอกที่มันยังไม่ดีทำให้ดี ยังไม่เหมาะทำให้เหมาะ ปรับเช่นนั้นจริงๆ จึงจะเข้าสู่การละรูปราคะ อรูปราคะ สูงลึกและชอนไชเข้าไป ความถี่แห่งภาคปฏิบัติ จึงจะเป็นผลที่ลึกซึ้งและมั่นคงแข็งแรง

หากผู้ใดปละปล่อยขณะ ทำขณะให้ล่วงไปโดยตกหล่นมาก ก็ช้า ถ้าขณะใดที่ได้ทำถี่ขึ้นเท่าใด ความได้ความเป็นก็เร็ว และยิ่งสามารถที่จะปฏิบัติได้สูงยิ่งๆ สู่ความเป็นผู้เดินทางไปยังที่หมาย ได้ดีที่สุด

๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


 

 

จิตลึกซึ้ง

ความลึกซึ้งหรือโยนิโสมนสิการ ซึ่งจะลึกซึ้งทั้งปัญญา ลึกซึ้งถึงจิต กระทำได้ที่จิต และจิตก็จะลึกซึ้งเข้าไปสู่ ระดับรูปจิตอรูปจิต ความลึกซึ้งจะเกิดขึ้นไป เป็นผลของการปฏิบัติได้ ก็เพราะว่า ผู้ที่ได้ปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาแล้ว มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ทำขณะไม่ให้หยุด พยายามพากเพียร แม้จะอยู่ในผัสสะ ที่เป็นเหตุเกิดอย่างหนัก แรงหรือเบาก็ตาม บางอย่างเหตุปัจจัยที่ผัสสะหรือกระทบต้องแรง เราจึงจะเกิด และแม้เกิด ก็อาจจะเกิดเป็นอรูปจิตเบาๆ

ถ้าเผื่อสติไม่ดี โยนิโสมนสิการไม่พอ ธัมมวิจัยไม่ลึก เราจะไม่รู้จักอรูปจิตที่มันมีกิเลสเกิด มีเศษกิเลสแฝง นั้นได้เป็นอันขาด แม้จะกระทบเบาๆ หรือสัมผัสเบาๆ

ถ้าเผื่อผู้ยังไม่หมดกิเลส ยังไม่หมดอนุสัยในอรูปจิต ก็ยังจะมีพลิ้วแผ่ว ยังจะมีกิเลส เกิดอาการนั้นๆอยู่ได้ แต่ถ้าผู้ที่ขาดการพิจารณา ขาดการติดตามเรียนรู้ตน ไม่มีโยนิโสมนสิการ ไม่มีธัมมวิจัย ไม่พากเพียรเพ่งตน ไม่พยายามกระทำอย่างติดตามลึกซึ้ง ไม่หยั่งกาย-หยั่งเวทนา -หยั่งจิต-หยั่งธรรมารมณ์ ของตนๆ ให้สม่ำเสมอละก็ เราจะเป็นผู้ลึกซึ้ง จะมีโยนิโสมนสิการสมบูรณ์ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติก็จะไม่เจริญ

แต่ถ้าได้กระทำอย่างเป็นผู้ที่ทำขณะไม่ให้ล่วง และเป็นผู้ที่เดินโพชฌงค์ ๗ อย่างเต็มที่ มีสติปัฏฐาน ๔ อย่างแท้ ผู้นั้นย่อมมีจิตลึกซึ้งและเจริญ

๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


 

 

การพัฒนาทางวัตถุ นำมาซึ่งความทุกข์

เดิมแรก มนุษย์ที่ยังไม่ได้พัฒนา ย่อมซื่ออยู่กับความเป็นปกติของกิเลส แม้จะมีสังขารธรรมยังไม่มาก ก็ยังมีกิเลส ทำให้คนผู้ที่ยังซื่อ และยังไม่รู้ เป็นไปตามกิเลสที่มีอยู่เท่านั้น ยังน้อย ยังไม่มีอะไรหวือหวา ยังไม่มีอะไรฟู่ฟ่า ก็เป็นกิเลสที่อยู่กันอย่างสั่งสมด้วยความไม่รู้ จนมีผู้ฉลาด มีผู้ที่เข้าใจการปรุงการแต่งเพิ่มขึ้นๆ ความหวือหวาความฟู่ฟ่า จึงเกิดขึ้นมากขึ้น คนก็พัฒนาตามความหมายที่เขาเห็นว่า คือการพัฒนาทางวัตถุ ทางสังขาร ทางความปรุง ที่หวือหวาฟู่ฟ่ามากยิ่งขึ้น คนจึงพลอยเข้าใจผิด หลงผิดเห็นผิด ว่าสังขารธรรม และความหวือหวาฟู่ฟ่าที่เกิดตามนั้น คือการพัฒนา คือความเจริญ คือสิ่งที่มนุษย์เพิ่มความฉลาด

ดังนั้น เมื่อปราชญ์มาชี้ ย้อนกลับไปให้เห็นความจริง ว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สังขารที่ปรุงมาหวือหวาฟู่ฟ่า ยิ่งคือทุกข์ที่ชัดเจน ผู้เกิดญาณปัญญา ผู้เกิดเห็นความจริงแล้ว จึงจะเห็นได้ว่าการปรุงสังขาร หรือการตกแต่งให้หวือหวาฟู่ฟ่า เพิ่มเติมขึ้นมายิ่งขึ้นนั้น ไม่ใช่ความฉลาดที่แท้ แต่เป็นความฉลาดเฉโก เป็นความฉลาดที่บวกความหลงผิด และสร้างเหตุแห่งทุกข์ ให้ทับถมโลกลงไป

ดังนั้น ผู้ที่ได้ซาบซึ้งตามปราชญ์เอก หรือพระบรมศาสดา ผู้ที่รู้สัจจะความจริง จึงถอดถอนความหวือหวาฟู่ฟ่า หรือสังขารที่ปรุงมาด้วยกิเลส แล้วก็ล้างกิเลส ลดความเข้าใจผิด ล้างความติดความเคยชิน จนสะอาดออกๆ จิตวิญญาณที่ซื่อสัตย์จริง และฉลาดที่แท้ ไม่ใช่ฉลาดเฉโก จึงจะปรากฏ

ผู้นั้น ๆ จึงจะพบความจริงของความเจริญแท้ ของความพัฒนาจริงแห่งมนุษย์

๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


 

 

เพลงตะวันทอฟ้า

มืดมนหม่นฟ้าหล้าแดน แม้นเพลิงแผดเผา
แย่งชิงโฉดเฉา เร่าแรง ร้อนฟอน ไฟบ้า
คนใดใครดล ข้นใจไร้จนระอา
เดือดร้อนแรงกล้า ด้วยอวิชชาพาต่ำ
ทั่วเมืองเฟื่องเฟ้อ อย่าพลอยเผลอใจให้ผี
กระหน่ำย่ำยี ยี่เยินหลงเพลินคำพร่ำ
ลวงกันลั่นไก ใช่คนพ้นใคร ใจดำ
ต้องเน้นเข็นธรรม เข้านำค้ำชูผู้ชน

ฟ้ามืดจืดจาง ห่างแสงแห่งธรรม
จึ่งซ้ำต่ำแสน ไม่แม้นเมืองคน
มาเถิดเทิดธรรมนำผล
กระตือรือล้น ไม่พ้นคนเพียร
มืดใดไม่แคล้ว แน่วแรงแสงธรรมเถอะหนา
ตะวันทอฟ้า หล้าเรืองเหลืองพลัน ผันเปลี่ยน
แดนทอง แดนธรรม ด่ำดอมน้อมนำจำเนียร
สาดแสงแรงเพียร แผ้วพาฟ้าธรรม ฉ่ำเมือง

๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


 

 

แม้ชั่วนาตาปี ...

แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ มีการแสดงธรรมเทศนา
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ มีการฟังธรรม
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ยังยินดีปรีดา ในผู้ได้รับส่วนแห่งบุญ
แม้ชั่วนาตาปี ถ้าเปรต ได้รับการโปรด
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ยังมีความขวนขวาย อุตสาหะพากเพียร
แม้ชั่วนา ตาปี ถ้ามนุษย์ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ยังได้ทำตนให้เกิดผลภาวนา
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ได้ทำตนให้มีศีล เป็นคนถึงพร้อมด้วยศีล
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ เป็นคนมีทาน ถึงพร้อมด้วยทาน
แม้ชั่วนาตาปี ถ้ามนุษย์ ได้มีความเห็นที่ถูกต้อง ดังนี้ ได้มีการกระทำที่ถูกต้อง ดังนี้

เมื่อนั้น
โลกเป็นอิสรเสรีภาพ
โลกเป็นภราดรภาพ
โลกเป็นสันติภาพ
โลกเป็นสมรรถภาพ
สะอาด สว่าง สงบ สุภาพ และ สามัคคี
(บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่พรั่งพร้อม)

๑ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

ความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้มีความเพียร ซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่าง สองอย่างเป็นไฉน คือความเพียรเพื่อทำให้เกิดจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนหนึ่ง ความเพียรเพื่อสลัดคืนอุปาทิทั้งปวง ของผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตหนึ่ง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในโลกมีความเพียร ซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาความเพียร ๒ อย่างนี้ ความเพียร เพื่อสลัดคืนอุปาทิทั้งปวง เป็นเลิศ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเริ่มตั้งความเพียร เพื่อสละคืนอุปาทิทั้งปวง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

๒ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

ความซ้ำซาก

ในสังคมใด ถ้าแม้นว่า
มีความซ้ำซาก คือ มีผู้เทศนาได้อยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีผู้ฟังธรรมอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีผู้ยินดีในส่วนแห่งบุญ ในส่วนแห่งธรรมอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีการให้ธรรม หรือให้บุญแก่กันและกันอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีผู้ขวนขวาย อุตสาหะ บากบั่นอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีความอ่อนน้อม ถ่อมตนของคนอยู่
มีความซ้ำซาก ที่เกิดผลแห่งมรรค แห่งผลทางธรรมอยู่
มีความซ้ำซาก แห่งการประกอบศีล ถึงศีล พร้อมด้วยศีลอยู่
มีความซ้ำซาก แห่งการมีทาน ถึงพร้อมด้วยทานอยู่
มีความซ้ำซาก ที่มีผู้เห็นที่ถูกต้อง มีผู้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดังกล่าวมาแล้วนี้

สังคมนั้นๆ มนุษยชนนั้นๆ ล้วนเป็นผู้อยู่สุข และประกอบด้วยประโยชน์ สิ้นกาลนาน

๓ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

ตรวจสอบตนเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมมาแล้ว ย่อมรู้ในกุศล รู้ในอกุศล ตามภูมิตามปัญญา เมื่อได้ไตร่ตรองพิจารณาทบทวน ด้วยปัญญาของตน อันเป็นทิฏฐิ ซึ่งสัมมาทิฏฐิ เท่าที่ภูมิตนเองเป็นตนเองมี แล้วพึงคัดเลือก พึงตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ ว่าเราควรได้เพิ่มอธิศีล ให้แก่ตนได้หรือไม่ เมื่อใด หรือว่ายังไม่ควรเพิ่ม ควรจะกระทำให้ยิ่ง เพื่อจะได้เจริญสู่จุดที่เจริญยิ่งขึ้น

ผู้ที่ตรวจตราอยู่เช่นนั้น ชื่อว่าเกิดอธิปัญญา เกิดอธิศีล เพราะเรามีอธิจิตจริง ถ้าตรวจอย่างหลงก็เป็นผู้ที่หลงตน อาจผิดพลาด จึงควรระวังอย่างยิ่ง

เมื่อผู้ใดตรวจตรงแท้ ถึงอธิจิตของตนจริงๆแล้ว ว่าเรามีจิตที่สามารถจางคลายหรือวิมุติได้ อันสมควรแก่ตน พอที่จะเพิ่มอธิศีลให้แก่ตนได้ ด้วยอธิปัญญาของตน ที่ตรวจตราจริงๆนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ได้ปฏิบัติตนด้วยไตรสิกขา อันเป็นแบบปฏิบัติของพุทธ อยู่อย่างมีผลยิ่ง

๔ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

อยู่เหนือโลก

ผู้ปฏิบัติใด ได้รับรู้ด้วยตน มีปัญญาเห็นแจ้งว่า ตนได้ปลดปล่อย ได้ละลดอยู่ ในความไม่ปรุงไม่แต่ง แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เรารู้ เช่น เราไม่ปรุงแต่งในการแต่งตัว เราก็อยู่ได้ เราไม่ต้องไปหลงความสวยความงามของเสื้อผ้า เราก็สงบได้ เราไม่ต้องไปหมุนเวียนเปลี่ยนแปร ไปกับแฟชั่นของเสื้อผ้า เราก็เป็นสุขได้ เราไม่ต้องมีอะไร ที่ไปเป็นตามอย่างของโลก ที่หมุนอยู่ไม่รู้จักหยุด ด้วยแค่แง่ของเสื้อผ้า เราก็เป็นผู้เบิกบานร่าเริงได้ เราไม่ต้องไปหลงตามที่โลกเขาสมมุติ ในเรื่องของเสื้อผ้า ที่เขาตกแต่งตัวตน เรามีอะไรก็มักน้อยอยู่ เรามีอะไรก็สันโดษ พอใช้ของเราอยู่ ซ้ำซากแล้วซ้ำซากเล่า

แต่เรารู้สารัตถะของเสื้อผ้า ว่าเป็นเครื่องกันร้อนกันหนาว กันแมลงสัตว์กัดต่อย กันอุจาด รักษาให้สะอาด และพอใช้พอสอยเพียงพอ เราก็เป็นผู้หยุดคิด หยุดหลงตามโลก ไม่น้อยใจ ไม่เสียใจ ไม่ดีใจลิงโลดเกินไป แต่ภูมิใจอยู่ พอใจอยู่ สบายใจอยู่ ซ้ำซากเช่นนั้นอยู่ได้ ผู้นั้นเข้าใจด้วยปัญญา เห็นด้วยปัญญา ว่านี่คือความหยุดแล้ว โลกซิยังไม่หยุด แต่เรานั้นได้หยุดแล้ว เราสงบแล้ว เราสบายแล้ว

ผู้เช่นนี้ ชื่อว่า เป็นผู้มีอำนาจเหนือโลก เป็นผู้เหนือสังขารโลก ที่เขาหมุนไปไม่หยุดหย่อน เป็นความปรุงความแต่ง ความหลงสร้าง ผู้เป็นได้จึงชื่อว่าผู้สงบ ผู้เป็นได้จึงชื่อว่า ผู้หยุดโลก แม้ในตัวอย่าง หรือเหตุปัจจัยหนึ่งเพียงเท่านี้ ผู้ปฏิบัติใด ที่สามารถศึกษา พิสูจน์เป็นจริงได้ ผู้นั้นจักรู้ความสงบ ความหลุดพ้น และความถึงที่สุดแห่งจิต ที่หมดกังวล ที่หมดอยาก หมดตัณหา หมดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องของเสื้อผ้าต่อไป

ผู้นั้นจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีวิมุติ และมีวิมุติญาณทัศนะ ถึงที่สุดของตนๆ รู้ได้ด้วยตน เป็นยถาภูตญาณทัศนะ ผู้ที่บรรลุด้วยจิต ก็สะอาด สงบ ผู้รู้เองของตนเองด้วยจิต เป็นความสว่าง และเราก็เป็นผู้สุภาพอยู่ มีความสามารถที่จะอยู่กับสังคมโลก ได้อย่างมีคุณค่าประโยชน์ และไม่ทะเลาะกับโลก เป็นสามัคคีอยู่ในโลก ได้อย่างสมบูรณ์

จึงจะชื่อว่า ผู้ถึงที่สุด ด้วยความสะอาด สว่าง สงบ สุภาพ สมรรถนะ สามัคคี

นี่คือ ผู้อยู่เหนือโลก

๗ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

เดินทางไปสู่พุทธะ

พุทธะ แปลว่าความตื่น ตื่นที่มีความรู้ และเป็นผู้เบิกบานแจ่มใสทุกขณะ ที่เรามีสติทุกขณะที่เรารู้ตัว เราจะต้องทำทุกขณะ ให้เป็นผู้เบิกบานแจ่มใส เป็นผู้ทำตนให้รู้รอบ เป็นผู้ตื่นอยู่ มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ ตื่นรู้ รู้เท่าทันกายกรรม วจีกรรมมโนกรรม รู้เท่าทันรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสและจิตของเรา เราต้องพยายาม ต้องอุตสาหะวิริยะ ที่จะทำตนให้มีความรู้ตัวอยู่ ดังเช่นนี้เป็นปฐม รากฐานแห่งการประพฤติตนสู่พุทธะ จะต้องเป็นผู้ตื่นรู้ ตื่นรู้ และเบิกบาน

ความเศร้าหมอง ความไม่สบายใจใดๆ ขจัดออกจากจิตอย่างไม่มีข้อแม้ เพราะไม่มีประโยชน์อันใด ทำตนให้เบิกบานแจ่มใส ตื่นเต็ม อย่าหดหู่ อย่าง่วงเหงาหาวนอน ผู้ที่กำหนดจิต ปรับปรุงจิต ให้เป็นผู้ตื่นรู้ ขจัดความหม่นหมอง ไม่สบาย ที่เกี่ยวข้องกับจิตออก จนจิตเบิกบานแจ่มใสดีอยู่ทุกเมื่อ เป็นกำไรเบื้องต้น แล้วเป็นผู้ที่สังวรระวัง รู้เท่าทันทุกทวาร และกรรมทางกายวจีมโน วิจัยสิ่งที่ดีที่ชั่ว ปรับสิ่งที่ดีที่ชั่ว ให้ได้มากขณะที่สุด

ผู้นั้นแลชื่อว่า ผู้เดินทางไปสู่พุทธะ ซึ่งมีหวังจะถึงปลายทางแห่งที่หมายของพุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นที่สุดได้

๘ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

หลักในการอธิษฐาน

อธิษฐาน แปลว่า ความตั้งใจ หมายความว่า สภาพที่ได้หยั่งลง ตั้งลงที่ใจของผู้นั้นๅ เพราะฉะนั้น ผู้ใดเข้าใจคำว่าอธิษฐาน ก็จะพยายามที่จะอบรมใจ ให้ใจนั้นตั้งมั่น ให้ใจนั้นมีสิ่งที่ตั้งลงหยั่งลงอย่างดี อย่างเจริญ เพราะใจหรือจิตวิญญาณนั้น เป็นประธานของสิ่งทั้งปวง เราจะดีหรือเราจะชั่ว อยู่ที่ใจ หรืออยู่ที่จิตวิญญาณเป็นตัวหลัก การทำให้ตั้งลงหยั่งลงนั้น เป็นการยาก เพราะต้องอบรม ต้องฝึกฝน ต้องศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจ และปฏิบัติให้เห็นจริง มีของจริง

หลักในการอธิษฐาน หรือหลักในการตั้งใจ หรือหยั่งลงที่ใจนั้น มีอยู่ ๔ คือ ปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ หลักปัญญานั้น ที่เรียกเต็มว่า ปัญญาธิษฐาน ก็คือทำความเข้าใจให้ชัดแจ้ง ให้มีเหตุมีผล ให้รู้รอบอย่างดี ตัดสินว่าถูกต้อง ว่าดีจริง เหมาะสม

แล้วเราก็จะพบความหยั่งลง เป็นขั้นที่สอง คือสัจจาธิษฐาน หรือความจริง ปัญญาจะเป็นตัวกลั่นกรอง ถึงความจริงหรือไม่จริง จะตัดสิน เห็นความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เห็นความดียิ่งหรือไม่ดียิ่ง ด้วยปัญญาของตนๆ

การศึกษาที่เพียงฟัง เพียงรู้ เพียงคิด แล้วเราก็จะได้พิสูจน์ พิสูจน์ลงไปถึงความจริง ปฏิบัติลงไปถึงความจริง เราก็จะยิ่งเกิดปัญญา เห็นจริงหรือเห็นไม่จริง เห็นว่าดีหรือว่าไม่ดี ก็จะเกิดสัจจะหรือความจริง ที่ยิ่งหยั่งลง ตั้งลงที่ใจ ที่มีทั้งปัญญา และมีทั้งความจริง และถ้าเป็นว่า คนเราจะเจริญได้ เพราะต้องละกิเลส ต้องสละความเห็นแก่ตัว สละความโลภความโกรธความหลง ถ้าความจริง มีจริง ปฏิบัติถูกทฤษฎีถูกทาง การสละนั้น ก็จะเกิดได้จริง มีได้จริง ละได้จริง ลดได้จริง

อธิษฐาน ข้อที่สามก็จะตามมา คือ จาคาธิษฐาน หมายถึง ความสละ ความลด ความละ ความหมดเห็นแก่ตัว หรือ ลดเห็นแก่ตัวลงไปอย่างจริงจริง ปัญญาก็จะรู้ ก็จะเห็นความจริงของตนๆ สัจจะก็จะเกิด ความจริงก็จะเกิดในตนๆ การสละ หยั่งลง ตั้งลง จนกระทั่งถึงจิตใจ คนที่ได้สละหยั่งลงถึงจิตใจ และเห็นความประเสริฐแห่งการสละ ก็จะเกิดเอง เป็นจริงของบุคคลนั้นเอง

เมื่ออธิษฐานทั้งสาม เกิดจริงเป็นจริง ลึกซึ้ง หลายรอบ ตั้งแต่รอบย่อย จนถึงรอบใหญ่ขึ้นมากขึ้น ก็เดินทางสู่ความสงบ เป็นอธิษฐานข้อที่สี่ คืออุปสมาธิษฐาน หรือเข้าหานิพพาน เป็นสถานที่สงบจากกิเลส แต่มีความขยันหมั่นเพียร มีความสร้างสรร ในบุคคลนั้น มีความเมตตาเกื้อกูล เอื้อเฟื้อ ก่อประโยชน์อยู่ในโลก แต่จิตนั้นสงบจากโลภโกรธหลง สงบจากกิเลสยิ่งขึ้นๆ ตามความจริงที่เราได้ทำเอง ให้หยั่งลง ให้ตั้งลงที่จิตวิญญาณ

จิตวิญญาณ ที่ได้ตั้งโดยเราเป็นผู้ที่สร้าง หรือตั้งลงหยั่งลงให้ได้ เป็นอธิษฐานดังกล่าวนี้ นำพาให้บุคคลผู้ศึกษาปฏิบัติ ประพฤติเจริญ เป็นคนประเสริฐในโลก

๙ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

มิตรดี สังคมดี

มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งสิ้นของศาสนา หรือทั้งหมดทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ มีความหมายทั้งในที่กว้าง และทั้งในที่ลึก ความมีผู้คนที่มีทิฏฐิเสมอกันสมานกัน ความเป็นผู้คนที่มีศีลเสมอกันสมานกัน คือ ผู้คนที่มีความเห็นตรงกัน ไปในแนวเดียวกัน แม้จะมีความมีอินทรีย์ มีพละ มีจริต และมีฐานะอันสูงต่ำ ต่างกันก็ตาม

ผู้ที่ต่ำ ย่อมรู้ตนว่าต่ำ และยอมรับผู้ที่สูง เอื้อเอ็นดู และเมตตา ขัดเกลา ช่วยอุ้มชูแก่กันและกันอยู่ ผู้คนที่ช่วยเหลือเฟือฟาย เอื้อเฟื้อ อันเป็นเครื่องขัดเกลาร่วมกัน เอื้อประโยชน์แก่กัน แม้จะมีการลงโทษแก่กันและกันอยู่ ก็ย่อมเป็นวิธีการ เป็นยิฏฐัง เป็นสภาพที่ช่วยเหลือเฟือฟาย ซึ่งกันและกัน ตามปัญญาของมนุษย์ มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความหมายมาก รวมตั้งแต่บุคคล กลุ่มที่มีความดี จริงๆ อยู่ในชนหมู่นั้นเป็นส่วนมาก และเจตนามีความเห็นที่ชัดเจน มีจิตมุ่งที่จะนำพากันไป สู่ทิศทางที่เห็นตรงกัน และมีความรู้ที่ถูกต้องมาก ตรงกัน จึงเป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ คือเมืองพระศรีอาริย์ หรือแดนของมนุษย์ที่เป็นอยู่เจริญ เป็นอยู่ประเสริฐ

ผู้ที่มีความรู้แจ้งชัด ย่อมไม่ออกจากกลุ่ม ที่เป็นหมู่มวลมิตรดีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี นอกจากผู้ที่มีจิตต่ำกว่าทิฏฐินี้ และผู้ที่มีศีลต่ำกว่าทิฏฐินี้ จึงจะเป็นผู้ออกจากกลุ่มนี้ ด้วยความจริง ทั้งที่ผู้ออกไปนั้น รู้ตนหรือไม่รู้ตนก็ย่อมได้

ความเป็นมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ไม่ใช่ของหาได้ง่าย เป็นของหายาก และผู้จะเข้าใจความเป็นมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีนั้น ก็เข้าใจได้ยาก คำว่าเข้าใจได้ยากนี้ ย่อมเกิดจากญาณปัญญา มีศรัทธินทรีย์ มีปัญญินทรีย์ มีศรัทธาพละ มีปัญญาพละอันเพียงพอ แม้เพียงผู้นั้นๆ มีศรัทธาอ่อน ยิ่งมีปัญญาอ่อนด้วย ก็ย่อมอยู่ร่วมไม่ได้

ถ้ามีศรัทธาดี มีปัญญาน้อย แต่ไม่ใช่ปัญญาอ่อน ก็ยังพออยู่ได้

ถ้ามีศรัทธามาก มีปัญญามากด้วย ย่อมไม่ออกไปเป็นแน่นอน

แม้มีปัญญามาก แต่ศรัทธาอ่อน ก็ยังสามารถออกไปได้

ยิ่งมีทั้งศรัทธาอ่อน และปัญญาอ่อน แน่นอน ผู้นั้นย่อมออกจากหมู่มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี นั่นเทียว

๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

สังคมที่อนุเคราะห์โลก

คราใด ที่เราไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวหม่นหมอง แต่มีอารมณ์ผ่องใส ปลอดโปร่ง คราเช่นนั้น เราย่อมเป็นสุขสบาย เพราะฉะนั้น ในความสำนึก ในความรู้เพียงเบื้องต้น ดั่งนี้ ผู้ฉลาดย่อมจะต้องขจัดความหม่นหมอง ขจัดความขัดข้องซึ่งมีอยู่ เพื่อที่จะปลงวางออกไป ให้จิตใจของเราโปร่งใสผ่องแผ้ว และแล้ว เราจึงเป็นผู้ค่อยๆ หยิบปัญหาขึ้นมา ค่อยๆไตร่ตรอง พิจารณาหาเพื่อนฝูง ที่เป็นมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ช่วยคิด ช่วยปลดปล่อย ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะกลายเป็นคนยิ่งโดดเดี่ยว ยิ่งอ้างว้าง ยิ่งว้าเหว่ หรือยิ่งถูกอัดลงไปในที่มืด นั้นไม่ใช่ทางปฏิบัติของพระศาสนา ที่เรียกว่า พุทธ

พุทธ มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี โดยเฉพาะ มีครูบาอาจารย์ มีสัตบุรุษ มีผู้เกื้อกูลอุดหนุน สร้างหิตประโยชน์ สร้างความสุขแก่ผู้อื่น อยู่รวมกัน สังคมศาสนาพุทธ จึงเป็นสังคมแห่งพหุชนะหิตายะ เป็นสังคมที่มีประโยชน์เกื้อกูล เพื่อคนอื่นๆ คนส่วนรวม คนหมู่มาก เป็นสังคมที่สร้างความสุขให้แก่คนส่วนรวม คนหมู่มาก เป็นสังคมที่มีโลกานุกัมปายะ เป็นสังคมที่อนุเคราะห์โลก อนุเคราะห์ทุกๆอย่างที่รวมกันอยู่ หมุนเวียนอยู่เป็นสังสารวัฏ จึงเป็นสังคมที่จะต้องศึกษา มีบารมี มีความสามารถในบุคคล เป็นระดับชั้น รวมกันอยู่ จึงเรียกว่า สังคมสิ่งแวดล้อม มีร่วมกันอยู่ จึงเรียกว่ามิตร มีประโยชน์ร่วมกัน จึงเรียกว่าสหาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตน ทำตนไปในทิศทางที่ขาดมิตรขาดสหาย ไม่มีสหาย และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เราก็ทำตนให้ยิ่งปลีกออกจากสิ่งแวดล้อมอย่างโง่ จึงเป็นคนปฏิบัติธรรม ที่ไม่เข้าทางของศาสนาพุทธ และจะหม่นหมอง อับเฉา อึดอัด ทุกข์ และก็โดดเดี่ยวอ้างว้าง

ขอให้ศึกษาและไตร่ตรองรายละเอียดเหล่านี้ให้ดี เราจึงจะสามารถสร้างศาสนา หรือสร้างตนเอง ให้เป็นคนตรง กับศาสนาที่หมาย เราจะสามารถทำตน ให้เป็นผู้มีอิสรเสรีภาพ ที่มีภราดรภาพ เป็นความอิสรเสรีภาพ ไม่ใช่โดดเดี่ยว แต่เป็นอิสรเสรีภาพ ที่มีพี่มีน้องอย่างลึกซึ้ง มีสันติภาพ มีความสงบ มีความเรียบร้อย มีความสามัคคี มีสมรรถภาพ มีประสิทธิภาพในการสร้างสรร มีฝีมือ มีความสามารถ เกื้อกูลกัน เอื้อเฟื้อกัน ช่วยเหลือกัน แบ่งเบากัน เป็นเหมือนมัดแห่งเรียวไผ่ที่มีพลัง สังคมที่จะเป็นสังคมมนุษย์บูรณภาพได้ จะต้องประกอบไปด้วยลักษณะที่ลึกซึ้ง ละเอียด ในอิสรภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ และสมรรถภาพ ด้วยประการคร่าวๆ เช่นนี้

๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

รสชาติแห่งวิมุติรส

เพราะว่าเราได้รู้ได้เห็น ว่าเหตุแห่งทุกข์ คืออะไรในใจ ในจิตวิญญาณ ซึ่งภาษาก็กล่าวระบุไว้ เป็นภาษาที่เรารู้ดี ว่ามีกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น ซึ่งมีความจริง มีสภาวะจริง ที่เป็นสภาพหยาบบ้าง กลางบ้างละเอียดบ้าง หลายชั้นหลายเชิง ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเราได้มาอบรมได้ศึกษาบำเพ็ญ จับได้ไล่ทัน รู้ตัว และรู้วิธีขจัดออก ปลดปล่อยออก ผู้ได้ทำจริง ได้ฝึกหัดจริง มีผลต่อตนเองจริง จึงจะเป็นผู้ได้รู้รส ถึงสภาพที่กิเลสก็ดี ตัณหาก็ดี อุปาทานก็ดี เมื่อมันจางคลายจากจิต หรือว่าดับสูญไปจากจิต แล้วสภาพที่ไม่มีเหตุแห่งทุกข์นั้น เรามีอารมณ์ มีความรู้สึกเป็นเช่นใด ผู้ปฏิบัติถึง ผู้ปฏิบัติได้เอง ย่อมรู้แจ้งเอง เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ว่ารสชาติแห่งวิมุติรส หรือธรรมรส ที่เราสามารถดับเหตุแห่งทุกข์ จางคลายเหตุแห่งทุกข์ได้นั้น เป็นวูปสโมสุข เท่าใดๆ ความสุขที่เหนือชั้นยิ่งกว่าการเสพย์ หรือสุขัลลิกะ ไม่ใช่สุขเสพย์สม แต่เป็นสุขที่ปราศจาก เป็นสุขชนิดพิเศษ เป็นสุขที่สงบระงับ

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเดา ไม่ใช่เรื่องคาดคะเน เป็นเรื่องที่จะประสพผล เมื่อถึงผล ผู้ฉลาดย่อมพยายามเสมอ ที่จะรู้ตนให้ได้ทุกขณะ ว่าขณะใดเรามีเหตุแห่งทุกข์ แม้น้อยแม้มาก โทษภัยอันมีประมาณน้อย เราก็ไม่ประมาท เราหัดขจัดอยู่เสมอๆ ผู้ใดรู้ยิ่งเห็นจริง รับรสจริง ความเชื่อมั่นในสัจธรรม ความเชื่อมั่นในทิศทางที่ไปสู่สุญตา ในทางที่ไปสู่อนัตตาอันแท้จริง ก็ยิ่งเป็นจริง และยิ่งมีใจพากเพียร ผู้ที่ได้กระทำด้วยการพบความจริง ด้วยประการอย่างนี้ จึงจะเป็นผู้ที่ขยันหมั่นเพียร และพากเพียรกระทำ ให้ลดละปลดปล่อยให้แก่ตน ผู้นั้นจึงจะมีความเร็วในการปฏิบัติ จะไม่เนิ่นช้า

ขอให้พยายามตรวจสอบ และกระทำโดยจริง อย่าทำขณะให้ล่วง ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เตือนเถิด เราจะได้เป็น ผู้ที่ใกล้ฝั่งนิพพาน

๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

กรรมฐาน

กรรมฐาน หรือ ศีล ที่เป็นหลักให้เราปฏิบัติก็ดี กิจวัตร สิ่งที่กระทำกันเป็นพิธี หรือเป็นรูปแบบ ที่ให้เราพึงได้กระทำกันนั้นก็ดี เป็นส่วนเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลได้อยู่ในกรอบ หรืออยู่ในแบบที่อบรมฝึกฝน

แต่ถ้าบุคคลใด แม้ปฏิบัติว่า มีกรรมฐาน มีศีล หรือว่าแม้จะได้กระทำตามกิจวัตร ตามพิธีรูปแบบก็ตาม หากว่าไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะปัญญา ไม่มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ไม่ได้มีอิทธิบาท ๔ ใดๆ เข้าประกอบ ทำสักแต่ว่าทำตามๆเขาไป เป็นจารีตเป็นประเพณี เป็นแต่เพียงเหมือนเราเป็นหุ่นยนต์ ผลของการปฏิบัติย่อมไม่เกิด ย่อมไม่เกิดทั้งปัญญา อาจจะเกิดจิตที่ชินชา แต่จิตที่ชินชานั้น ยิ่งโง่และยิ่งไม่รู้เรื่อง ยิ่งไม่ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติที่จะมีผล จะต้องมีอิทธิบาท ๔ มีความยินดี มีความตั้งใจ มีความเพียรเพื่อที่จะรู้ เพื่อที่จะสอดส่องไตร่ตรอง เพื่อที่จะได้รู้กิเลส ได้รู้ความหมาย ได้เห็นของจริง ได้เห็นความจริง คือ กิเลสตัณหาอุปาทาน และตัวเราที่พึงเป็นพึงมี แม้อย่างน้อยก็ได้เทียบวัด ได้ระลึก เปรียบกับตนเทียบกับตน ที่เราได้มีได้เป็นมา และเราได้กระทำจริง ได้ละจริงลดจริง ไปพร้อมๆกับกิจวัตรนั้นๆ และทำให้ถูกตรงตามกรรมฐาน หรือศีลของตนๆ นั้นๆ เราจึงจะเกิดประโยชน์ เราจึงจะมีมรรคมีผล

ดังนั้น การมีสติ สัมปชัญญะ ปัญญา ตามรู้ทุกระยะทุกขณะ ใช้ปัญญา ใช้กำลังเท่าที่เรามี เป็นกำลังใจที่จะเพียรรู้ เพียรตัด เพียรละ ไปกับทุกอิริยาบถ กายกรรม วจีกรรม กระทำให้ถึงมโนกรรมของเรา และจะสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไร ก็ฝึกรู้เท่าทัน ฝึกเรียน ฝึกวิเคราะห์วิจัย แล้วเราก็จะได้ฝึกใช้สิ่งที่เราสามารถที่สุด ทั้งสมถธุระ และวิปัสสนาธุระ เพื่อละเพื่อลดเพื่อปลดปล่อย ตัดซึ่งกิเลสตัณหาอุปาทาน

มรรคผล จึงจะเจริญ ชื่อว่าปฏิบัติธรรม ด้วยมรรคองค์ ๘ ด้วยประการฉะนี้

๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

ผู้สงบ

บุคคลที่ชื่อว่าสงบแล้ว คือ ผู้ที่มีกิเลสออกไปจากจิต ดับไปจากจิต เรียกว่า ผู้นั้นสงบ

ผู้สงบ แม้จะอยู่ท่ามกลางสิ่งที่ยั่วยวนมอมเมา อึกทึก ที่เป็นสิ่งที่ทำให้จิตเกิดกิเลส เมื่อผู้ที่ได้ดับกิเลสให้แก่ตน ได้สนิทแข็งแรง รู้เท่าทัน มีปัญญาอย่างวิเศษแล้ว ผู้นั้นก็ยังสามารถสงบอยู่ได้ เพราะฉะนั้น คำว่าสงบ จึงไม่ได้หมายความว่า ผู้นั้นจะต้องห่างจากสิ่งที่เป็นเหตุแห่งกิเลส เป็นเหตุที่ยั่วย้อมมอมเมา กระแทกกระทั้นให้เกิดกิเลส

ผู้สงบจริง อยู่กับกิเลส อยู่กับสิ่งที่ยั่วกิเลสก็ได้ แต่สงบจริง หรือยิ่งจะอยู่ในที่ที่ไม่มีสิ่งที่จะยั่วย้อม เป็นเหตุแห่งกิเลส ก็ยิ่งจะสงบยิ่ง ยิ่งจะสบายยิ่ง ผู้สงบ จึงสามารถที่จะอยู่ในที่ใดๆ ได้ทั้งสิ้น

ส่วนผู้ไม่สงบนั้น จะอยู่ในที่ที่มีเหตุแห่งกิเลส ก็จะยังไม่สงบ และจะสงบไม่ได้ ทนไม่ได้ จะต้องเกิดกิเลส หรือ ยิ่งจะอยู่กับที่ที่ไม่มีสิ่งที่เป็นเหตุแห่งกิเลส อยู่ในที่ที่ห่างจากเหตุแห่งกิเลส ไกล หรือไปอยู่ในที่สงบ ที่ที่เงียบ ที่ที่ไม่มีเหตุแห่งกิเลสของมนุษย์ ผู้นั้นยิ่งจะดิ้นรน ผู้นั้นยิ่งจะเดือดร้อน จะฟุ้งซ่าน ไม่สงบ

ดังนั้น ผู้ไม่สงบ จะอยู่ในที่ที่ไม่สงบ หรือ จะอยู่ในที่ที่สงบ ก็ย่อมไม่สงบ

ส่วนผู้สงบแล้ว จะอยู่ในที่ที่ไม่สงบ หรือ จะอยู่ในที่ที่สงบ ก็ย่อมสงบ ด้วยประการอย่างนี้แล

๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

มีใจพอ

บุคคลใดมีใจพอ หรือมีสันโดษ มีความรู้แน่ชัดว่า สิ่งที่เราใช้ หรือสิ่งที่เราไม่ต้องใช้ เราสงบ เราระงับ เราหยุด เราพอได้ ได้พยายามพากเพียรลดละ และทำให้น้อยในสิ่งที่เราจะต้องใช้ จนกระทั่งรู้ความจริงว่า เราใช้เพียงน้อยแต่ก็พอ พอสำหรับจะยังชีวิต พอดีสำหรับจะทำให้ชีวิตนั้นเป็นไปด้วยดีแล้ว ผู้มีความรู้ว่าควรจะลดลง ในสิ่งที่เราต้องมีต้องใช้ เป็นความมักน้อยลงมาให้แก่ตน แล้วก็พิสูจน์ ฝึกฝนอบรม จนลงตัว จนเข้าที่ จนรู้ชัดว่าชีวิตนั้น ไม่ใช่ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หลากหลายอะไรนัก สิ่งที่จะใช้กับชีวิตมีเพียงเท่านั้น ซึ่งเอียงข้างไปในทางมักน้อย มีน้อย ไม่เปลือง ไม่ผลาญ ประหยัด แต่ก็พอดีสำหรับชีวิตอยู่ได้ อย่างไม่ได้ทรมานตน แต่อย่างใดเลย

ผู้ที่ได้ฝึกฝนอบรม ฝึกฝนพิสูจน์ จนกระทั่งเห็นความพอของชีวิต แม้ที่สุดถึงปัจจัย ๔ ยิ่งสิ่งอื่นๆใดๆ ที่เป็นเรื่องอลังการ เป็นเรื่องห่างตัว เป็นเรื่องไม่ใช่สิ่งจำเป็น ก็เป็นคนรู้ในความพอ ผู้มีใจพอดังกล่าวนี้ จึงเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่อย่างสบาย เบา เป็นผู้ง่าย เป็นผู้ไม่หนักหนา ไม่เป็นภาระแก่ตนแล้วอย่างจริง และในชีวิตก็เป็นผู้ที่มีความขวนขวาย ความขยัน อุตสาหะวิริยะ รู้จักสิ่งที่ควรสร้างสรร พากเพียรกระทำสิ่งที่ควรกระทำ มีการงานสร้างสรร จึงเป็นผู้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นผู้มีกำไร เป็นผู้มีคุณค่าประโยชน์อยู่ในโลก เพราะเป็นผู้ที่ใช้น้อย แต่มีผลผลิต มีสิ่งที่ตนได้สร้างสรรให้แก่ผู้อื่น และสังคมมาก

บุคคลเช่นนี้แล ที่เป็นบุคคลประเสริฐ เป็นผู้อนุเคราะห์โลก เป็นผู้มีประโยชน์เกื้อกูลต่อชนส่วนมาก เป็นผู้ทำให้ชนส่วนมาก เป็นอยู่สุข

๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

ขยัน หมั่นเพียร สร้างสรร

ผู้มีความสงบ ย่อมเป็นอยู่สุข คำว่าสงบ ไม่ได้หมายความว่าอยู่เฉยๆ หรือเป็นผู้ที่หลบ ไปอยู่ในที่ ที่มันไม่มีอะไรจะเกี่ยวข้อง เช่น อยู่ป่า อยู่เขา อยู่ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ เป็นต้น

คำว่า สงบ หมายความว่า จิตได้ละล้างลดจากกิเลส ความดิ้นรนที่เป็นทาสของโลกียะต่างๆ ผู้ที่ได้ปฏิบัติตน พบความจริงดังกล่าวนี้ ได้ฝึกลดความเป็นทาสจากโลกียะ ซึ่งเป็นเรื่องของโลก ที่ได้มอมเมายั่วย้อม ให้เราได้หลงติดหลงเสพย์ เมื่อเราได้พิสูจน์ ละล้างจากความติดความเสพย์นั้นมาแล้ว เราจึงจะรู้ความเป็นไท ที่หยุดดิ้น แส่

จิตที่หยุดเสพย์ หมดรสอร่อย เป็นจิตที่สงบ ทั้งๆที่โลกก็ยังมีสิ่งนั้นอยู่ แม้เราจะต้องสัมผัสเกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งนั้น เพราะมันยังมีอยู่ในโลก อาจจะห้อมล้อมอยู่ใกล้ชิดตัวเรา เสียด้วยซ้ำไป

แต่เราก็สงบ เราจะเป็นผู้ที่มีเวลากลับคืนมาให้แก่เรา ทุนรอน-แรงงานกลับคืนมาให้แก่เรา

เมื่อเราปฏิบัติธรรม ตามทฤษฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถูกต้อง เราก็เป็นผู้ขยันหมั่นเพียร สร้างสรร ใช้เวลาและแรงงาน ทุนรอนเหล่านั้น ผลักเบนไปในการงาน ไปในสิ่งที่ควรกระทำ เราจะยิ่งเป็นผู้ที่คล่องแคล่ว ยิ่งจะเป็นผู้ที่มีกำลัง หรือมีพลัง เพราะพระพุทธเจ้าตรัสยืนยันเราไว้ว่า พลังของสมณะนั้นคือ วิมุติ เพราะฉะนั้น ผู้ใดยิ่งหลุดพ้นจากโลกียะ ผู้นั้นยิ่งเป็นผู้มีพลังสร้างสรร เป็นคนมีประโยชน์คุณค่าต่อมวลมหาชน

เป็นพหุชนะหิตายะ เป็นผู้ที่ทำประโยชน์สร้างสรร เพื่อให้มวลมหาชน เป็นอยู่สุข

เป็นพหุชนะสุขายะ ผู้ได้หลุดพ้นจากความเป็นทาสโลกออกมา เป็นผู้มีความสงบ จะเห็นความสุขเย็น เป็นวูปสโมสุข เป็นปรมังสุขัง ยิ่งกว่าสุขในโลกีย์ ที่เราเคยเป็นเคยพบ

ผู้นั้น จึงจะเป็นผู้อนุเคราะห์โลกอยู่ โดยแท้จริง คือ เป็นผู้มีโลกานุกัมปายะ

๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

สันติ

ความสันติ หรือที่เราแปลง่ายๆว่า ความสงบ ที่จริงคำว่าสันติ ไม่ได้หมายความว่า สงบ ที่เป็นความเข้าใจของไทยๆ ง่ายๆ อยู่เท่านั้น

นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง ไม่มีความสุขใด ที่จะสุขยิ่งไปกว่าสันติ คำว่าสันติ มีความสูงสุด สันตินั้นจะหมายถึง นิพพาน ก็อันเดียวกัน ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น คำว่าสันติ จึงเป็นคำที่มีความหมาย เทียบได้กับนิพพาน คำว่าสันติ ที่แปลเอาความสงบ จึงเป็นความสงบ ที่ไม่ใช่สงบอย่างที่เข้าใจกันง่ายๆ ดังกล่าวแล้ว เพราะคำว่าสงบ ที่มีความหมายขยายความว่า สันติ มันมีความหมาย ลึกไปถึงนิพพาน ดังที่ได้โยงใยให้รู้ ให้ได้เข้าใจ เรามุ่งหมายสันติ แม้แต่ในสังคม ต้องการสันติภาพ เพราะฉะนั้น เราผู้เป็นลูกศิษย์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะต้องมาศึกษา แม้แต่จะขยายความคำว่าสันติ ว่า สงบ ให้เข้าใจคำว่า สงบ นี้ให้ลึกซึ้ง และพิสูจน์ ให้มีชีวิตที่สงบ ได้ขยายคำว่าสงบ ให้ฟังบ้างแล้ว

ว่ากายสงบก็ดี จิตสงบก็ดี ไม่ได้หมายความว่า สถานที่ที่มันเงียบ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เงียบ แม้สิ่งแวดล้อมจะอึกทึก หรือมากหลากหลาย เต็มไปด้วยเหตุปัจจัยที่จะยั่วย้อมมอมเมา แต่เราก็เป็นผู้มีกายอันสงบ เป็นผู้มีจิตอันสงบ เพราะเราได้ปฏิบัติตามทฤษฎี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือมรรค อันมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง รู้อย่างมีมรรคมีผล ขัดเกลาสิ่งที่มันเป็นตัวการใหญ่ ที่พาให้ไม่สงบได้จริง และเราก็รู้ยิ่งเห็นจริง เป็นยถาภูตญาณทัสสนะ ว่าเหตุนั้น ลดลงดับลง เป็นความสงบจากเหตุ ทุกอย่างเกิดมาแต่เหตุ เพราะฉะนั้น เมื่อเราจับเป้าเหตุได้ ว่าคือกิเลสตัณหาอุปาทาน ความซ่อนแฝง ความมีฤทธิ์เดชอยู่ในจิตวิญญาณ ที่เราเรียกมันว่า กิเลสตัณหาอุปาทาน มันเป็นเช่นใด เรามีวิธีการใด ที่ทำให้มันอ่อนแรง หรือตายไปได้ จนสงบ หรือดับสนิทได้ นั่นแหละคือสันติ และสันติชนิดที่ดับกิเลสนี้ มีผลต่อเนื่อง ทำให้เราเป็นสุข และทำให้มีผลไปสร้างสรร ให้สังคมมนุษยชาติ ผู้อื่น เป็นประโยชน์ท่าน ทำให้ผู้อื่นก็พลอยสันติ หรือพลอยสงบไปด้วย ดังนั้น คำว่าสงบ ที่เป็นคำไทยๆ แปลพระบาลี คำว่าสันติ นี้ ถ้าได้โยงใยมาถึงคำว่าสันติ ตามความหมายทางธรรมแล้ว

คำว่า สันติ หรือ สันติภาพ จึงเป็นคำที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๗


 

 

สัตว์ประเสริฐ

ความเป็นมนุสโสนั้น คือ ผู้มีจิตใจ หรือจิตวิญญาณอันมีปัญญารู้ และมีจิตที่เป็นสัตว์ประเสริฐ มีความประเสริฐอยู่ในตัว อย่างแท้จริง ดังนั้น แม้คนจะได้เกิดมามีร่างกายเป็นคน แต่จิตใจหรือจิตวิญญาณ ยังไม่ได้มีปัญญา ยังไม่ได้รับการขัดเกลา ชำระกิเลสตัณหาออกไป จิตนั้นวิญญาณนั้น ย่อมไม่ทำให้คนผู้นั้นๆ ประเสริฐขึ้นมาได้

มนุษย์ที่ชื่อว่าผู้ประเสริฐ หรือมีจิตวิญญาณ มีจิตใจสูงนั้น จึงคือผู้ที่จะต้องรู้อย่างชัดแท้ ว่าจิตวิญญาณ หรือจิตใจคนนั้น มีกิเลสห่อหุ้ม และนำพากันมา นานับชาติ

ดังนั้น ผู้รู้ จึงเพียรพยายามที่จะสั่งสอน และนำพาให้เป็นผู้ที่ทำคนให้เป็นมนุษย์ ทำคนให้เรียนรู้ ฝึกฝน ชำระกิเลสออกจากจิตวิญญาณ ทำให้จิตใจมีทั้งปัญญา มีทั้งความลดละ จางคลายจากกิเลส

เมื่อมีความละ ความจาง ความคลาย ออกจากจิตใจ จิตวิญญาณ ไปได้จริงแล้ว คนจึงกลายเป็นมนุษย์ ผู้มีจิตที่สูงขึ้นๆ ตามลำดับๆ ตามความเป็นจริง ของผู้ที่ได้จริงเป็นจริงนั้นๆ

ผู้ที่ใฝ่แสวงหา อดทน ฝึกฝน เรียนรู้ กระทำตน ซึ่งเป็นคน ให้กระเถิบขึ้นมาเป็นมนุษย์ได้ มีจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ลง มีกิเลสอันจางคลายลง และสามารถที่จะเป็นผู้มีปัญญาแท้ รู้ความชัดแท้แห่งความประเสริฐของมนุษย์ ที่ควรจะมีชีวิตเพื่อสิ่งนี้เท่านี้

จึงเป็นคนที่ฉลาด เป็นคนรู้จักค่าของชีวิต จะดำเนินชีวิต นำพาชีวิตเพื่อความประเสริฐ ที่ชื่อว่า มนุสโส อย่างแท้จริง

๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๗


สมณะโพธิรักษ์