คาถาธรรม ๙

มนุษย์พันธุ์ใหม่

ความใหม่ เป็นสิ่งที่มนุษย์หอมหวาน มนุษย์พยายาม แสวงหาความใหม่ สิ่งที่แปลก ที่ใหม่ ทำให้มนุษย์ตื่นเต้น ชมชื่นสมใจได้ แม้แต่วันเวลาที่วนเวียน นับตัวเลขเช่นเดิม นับวัน เดือน เช่นเดิม หมุนเวียนกันมา พบกับจุดอีกจุดหนึ่ง ซึ่งก็เป็นวันที่หนึ่ง อย่างเดิม เดือนมกราคม อย่างเดิม แต่เพียงว่าเลื่อนกาละ ยาวนานขึ้นไป เหมือนเรา เจอวันพรุ่งนี้ แล้วก็เจอวันพรุ่งนี้ อยู่อย่างซ้ำซาก แต่แท้ก็ยังดีใจ กับวันใหม่ ของปีใหม่ได้

ถ้าผู้ฉลาด จะระลึกรู้ความใหม่ ที่ประเสริฐสุด คือ ปุถุชน เป็นความเก่า ชาติแล้ว ชาติเล่า เป็นความเก่าของปุถุชน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียน ทุกข์แล้วก็สุข สุขแล้วก็ทุกข์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นความเก่า

ปราชญ์เอกผู้ฉลาด จึงพยายามค้นหาความใหม่ อันประเสริฐ มาให้แก่มนุษยโลก จนค้นพบความใหม่ ที่ยอดยิ่ง คือ การเป็นมนุษย์ใหม่ เป็นมนุษย์ ที่มีจิตวิญญาณ ชนิดที่บริสุทธิ์สูงสุด ซึ่งเป็นจิตวิญญาณ ที่จะต้องฝึกฝน อบรม สร้างสรร ขึ้นมาใหม่ ด้วยความอุตสาหะ วิริยะ พากเพียร

มนุษย์พันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่ เรียกได้อย่างเต็มปากว่า เป็นผู้เข้าสู่ โลกใหม่ มนุษย์เช่นนั้น เป็นมนุษย์ที่ จางคลายจากกิเลส และสูงสุด เป็นมนุษย์ ที่ล้างกิเลสออกหมดเกลี้ยง จากจิตวิญญาณ เป็นมนุษย์ที่มี จิตวิญญาณ สะอาดบริสุทธิ์ ถึงยอดสูงสุด เรียกว่า "อรหันต์" มนุษย์เช่นนั้น เป็นมนุษย์โลกใหม่ มนุษย์พันธุ์ใหม่ ที่บรมศาสดาเอก ของโลก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เป็นผู้ค้นพบ และ เป็นผู้พิสูจน์ มนุษย์พันธุ์ใหม่ สำเร็จ พร้อมทั้ง ได้สร้างมนุษย์ใหม่ เช่นนี้ได้สำเร็จ

สิ่งใหม่ที่ประเสริฐ สูงสุดนี้แล เป็นสิ่งใหม่ ที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ และน่าไขว่คว้า โดยเฉพาะ แต่ละคน แต่ละคน พึงแสวงหา และ พึงสะสมเอา สร้างตนเอา ให้เป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ สู่โลกใหม่ อันเป็นบรมสุข เป็นมนุษย์ประเสริฐ ที่มีคุณค่า แก่โลกนี้เถิดเทอญ.

๑ มกราคม ๒๕๒๘


 

สู่พุทธะ

พระโยคาวจร ย่อมเป็นผู้เบิกบาน แจ่มใส ย่อมเป็น ผู้รู้ตัวทั่วพร้อม ทำตนให้เป็น ผู้ตื่นอยู่ เป็นผู้แจ่มใส เบิกบาน ฝึกตนให้เป็นพุทธะ ในข้อที่ว่า เบิกบาน แจ่มใส ให้ได้อยู่ทุกขณะ ผู้นั้นๆ เมื่อได้ฝึกตน มีความรู้สึกตัว กระทำตน ให้จิตใจเบิกบาน แจ่มใส อยู่มากขณะ ได้เท่าใด

ผู้นั้น ย่อมชื่อว่า ได้อบรมตน ได้กระทำตน ให้เลื่อนไหลเข้าสู่ เป็นผู้ชื่อว่า พุทธะ อยู่ทุกขณะ นั้นแล

๔ มีนาคม ๒๕๒๘


 

ต่ำสู่ต่ำ สูงสู่สูง

ผู้รู้ความสำคัญ ในความสำคัญ ย่อมเสียสละอดทน และลงทุนลงแรง เพื่อความสำคัญ นั้นๆ ผู้มีภูมิเป็นโลกียะ ก็ย่อมจะเห็น ความสำคัญ อยู่ในแนวของโลกียะ ผู้มีภูมิโลกุตระ ก็ย่อมเห็น ความสำคัญ ในแนวของโลกุตระ

ผู้มีภูมิต่ำ ก็ย่อมจะมี ความอดทน เสียสละ ลงทุน ลงแรง เพื่อความสำคัญแรง เท่าภูมิต่ำ

ผู้มีภูมิสูง ก็ย่อมอดทน อุตสาหะ เสียสละ ลงทุน ลงแรง เพื่อสิ่งที่ตน สำคัญได้สูง

เพราะฉะนั้น ผู้ใดจะได้เดินทาง ไปสู่จุดสูง จุดสำคัญ ก็เพราะผู้นั้น พึงสร้างภูมิ ให้แก่ตน ให้ได้จริง ให้ได้สูง และ จะต้องเป็นผู้ที่อดทน อุตสาหะ พากเพียร เป็นหลักสำคัญ

จึงจะเป็น ผู้ที่ได้สู่ภูมิสูง และจบสุด ถึงภูมิ ที่ควรจะสำคัญที่สุด ได้แล

๕ มีนาคม ๒๕๒๘


 

คนสำคัญ

บุคคลใดแล ที่เห็นอสาระ ว่าเป็นอสาระ
บุคคลใดแล ที่เห็นสาระ ว่าเป็นสาระ
บุคคลนั้น ขวนขวาย รู้ถูกต้อง กระทำถูกต้อง
อุตสาหะ พยายามเลิก สิ่งที่เป็นอสาระ
พยายาม กระทำให้ยิ่ง ในสิ่งที่เป็นสาระ
บุคคลที่เห็น ความสำคัญ เป็นความสำคัญ
แท้จริง ได้ฉะนี้ นั่นคือ "คนสำคัญ"

๘ มีนาคม ๒๕๒๘


 

สัตบุรุษ

ผู้รู้จักระดับแห่งสาระ ก็ยิ่งเป็นผู้ที่มี ความประณีต มีความละเอียด ที่ได้ศึกษา มีธัมมวิจัย รู้จักความสำคัญ แห่งขั้นตอน แล้วก็ประกอบด้วยโอกาส กาละ ประกอบด้วย องค์ประกอบ ของสิ่งแวดล้อม รู้จักจัดสรร กระทำความสำคัญ ให้เหมาะสม กับกาละ และ สิ่งแวดล้อม ตัวตน บุคคล

ผู้ได้ฝึกปรือ รู้จักความสำคัญ พิจารณา กระทำกับสาระ ให้เหมาะสมกับสาระ ดั่งนี้ เรียกว่า ผู้ได้ฝึกตน มีสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ผู้กระทำได้ถูกตรง เป็นสัมมาเหมาะสม เป็นมัชฌิมาเหมาะสม เป็นสมดุลเหมาะสม ได้ยิ่งๆ นั้นแล คือ สัตบุรุษ

๒๕ มีนาคม ๒๕๒๘


 

สู่ความเป็นสัตบุรุษ

บุคคล รู้ความสำคัญ ในความสำคัญ และ บุคคล ผู้รู้"พอ" ในความ"พอ" ในสิ่งที่ควร "พอ" ในกาละที่ควร"พอ" บุคคลผู้นั้น เป็นผู้มีสัมมา หรือ มัชฌิมา

แม้ผู้นั้น จะจัดความพอ ในกาละที่ควรพอ ยังไม่ตรงสัจจะแท้ก็ตาม แต่ถ้าหากว่า ผู้นั้นได้ใช้ปัญญา ด้วยการไตร่ตรอง พินิจ ได้จัดแจง มีมาตรการ ในการมุ่งหมาย ลด ละ ปลด ปล่อย กระทำตนให้เป็น ผู้มักน้อยสันโดษ รู้จัก"พอ" รู้จัก"ลด" รู้จัก"ละ" แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะกระทำ ให้ทรมานตน จนเสียสุขภาพ ทว่า มีความอดทนยิ่ง มีความอดกลั้น มีความอุตสาหะ วิริยะ เป็นผู้รู้ยิ่ง เข้าใจในกรรม ที่ตนกระทำ มีผลให้แก่ตน และ ให้แก่ส่วนรวม อย่างชัดแจ้ง สอดคล้อง

ผู้กระทำ จนจิตใจนั้นสบาย และเป็นผู้ที่พอได้ ในสิ่งที่เล็กลง น้อยลง สำหรับตน เปลืองน้อยลง ใช้ส่วนตนน้อยลง แต่ได้สร้างสรรมากขึ้น ได้กระทำเผื่อแผ่ เป็นประโยชน์คุณค่า แก่ผู้อื่นมากขึ้น ผู้ที่รู้จักพอ ในส่วนสัดที่ตนควรพอ ได้รู้จักสร้างสรร มากมายขึ้น ให้แก่ผู้อื่นได้มาก และก็ยังมี ความรู้กว้าง ที่รู้ขอบเขต แห่งความ"พอ" ในความ"กว้าง" อีกด้วย

ผู้ฝึกฝนดั่งนี้เอง ที่ชื่อว่า ... เป็นผู้เดินทางสู่ ความเป็นสัตบุรุษ

๒๖ มีนาคม ๒๕๒๘


 

ค่าของมนุษย์

คนผู้ที่ชื่อว่า "อริยะ" คือ บุคคลผู้ที่เกิดปัญญา เริ่มรู้จักว่า ความสำคัญ ที่เหนือกว่า ความสำคัญ ที่เคยเข้าใจ ตั้งแต่เป็นปุถุชน เราก็สำคัญว่า สิ่งที่เราหลงใหลไขว่คว้า เป็นความสำคัญ ต่อเมื่อ มารู้สึกเห็นจริง เกิดความเข้าใจ อย่างชัดแท้ เห็นความไขว่คว้า อย่างปุถุชน ที่จะแย่งลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขนั้น เป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องไม่สำคัญ เป็นเรื่องไม่ประเสริฐแท้ ผู้ที่ได้มีความเห็น ทวนกระแสขึ้นดังนี้ หาวิธี เพื่อที่จะเลิกละ เพื่อที่จะลด ตามความเห็นนั้น กลับทางเดิน เดินสู่ทางใหม่ อริยบุคคล หรือ อารยชนแท้ ดั่งนี้ เมื่อได้พากเพียรเดิน และปละปล่อย การไขว่คว้าแสวงหา หรือ ความชื่นชอบ ที่เคยเป็นสุข เพราะได้ลาภเป็นสุข เพราะได้ยศเป็นสุข เพราะได้สรรเสริญ เป็นสุข เพราะได้เสพย์ สิ่งที่ปรารถนา ไม่ว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสใดๆ ผู้ที่ได้ละล้าง ความปรารถนา อยากใคร่เสพย์สม ด้วยอามิสเหล่านี้ ทำจริง เห็นผลจริง เกิดผลจริง รู้รสใหม่ ที่เป็นรสไร้อามิส เป็นนิรามิสสุข หรือ เป็นวิมุตติรส เป็นรสสงบ เป็นรสวางเฉย เป็นรส ที่ไม่ต้องดูดดึง ไม่ต้องผลัก ไม่ต้องดูดทั้งปวง ผู้ที่ได้ทราบถึง วิมุตติรส ด้วยตนเอง ยินดีในวิมุตติรส ด้วยตนเอง อย่างมั่นใจ ผู้ถึงซึ่งวูปสโมสุข เป็นความสุข ที่ต่างจากโลกียสุข เป็นความสุข อันสงบระงับ จากความปรารถนา อยากใคร่ ไขว่คว้า

ผู้ถึงซึ่ง อริยสุข หรือ วิมุตติรส ดังกล่าวนี้จริง ผู้นั้นจะมั่นคง แน่นอน ไม่แปรปรวน จากสภาพที่ทรงไว้นี้ เหนือกว่านั้น และ ทิศทางที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน นอกจาก เราจะไม่หลงใหล ไขว่คว้า ในโลกียสุขแล้ว ยังเป็นผู้ที่รู้จัก ค่าของมนุษย์ ที่เป็นผู้สร้างสรร เป็นผู้ขยันเพียร เป็นผู้ที่เสียสละ อนุเคราะห์โลก เป็นผู้เกื้อกูลประโยชน์ ต่อมวลมนุษยชาติ และ ได้ชื่อว่า เป็นผู้สร้างความสุข แก่มวลมหาชน อย่างแท้จริง

๘ เมษายน ๒๕๒๘


 

สู่ความเป็นพุทธะ ด้วยโพชฌงค์ ๗

ผู้มีองค์แห่งการตรัสรู้ หรือ ชื่อว่า ผู้ที่ก้าวเดินอยู่ ในการก้าวเดิน ไปสู่พุทธะ ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า คือ ผู้มีองค์ทั้ง ๗ เป็นทิศทาง เป็นพฤติกรรม ประกอบอยู่กับ การปฏิบัติในชีวิต คือ มีการมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม อยู่ในตัวในตน อยู่ในกรรมกริยา ในความนึกคิด มีสติ รู้ต่อสัมผัสรอบด้าน รู้ตัวเอง และ วิจัยต่อสิ่งสัมผัส วิจัยพฤติกรรม ที่ตนเป็นตนมี พร้อมกับวิจัย สิ่งที่เรา จะรับสัมผัสมา แล้วจะก่อเกิดในตน

ผู้ที่มีสติรู้ และ มีวิริยะ อุตสาหะ กระทำตน เพื่อวิจัย สิ่งที่ได้สัมผัส เกิดขึ้น อยู่ตลอดเวลา กระทำได้มาก ก็เป็นผลมาก กระทำได้น้อย ก็เป็นผลน้อย ผู้ไม่ได้เคยฝึกหัดเลย ก็ย่อมไม่รู้จัก การปฏิบัติธรรม ในระบบของพุทธเลย

ผู้ไม่มีโพชฌงค์ ไม่ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติของพุทธ ผู้มีโพชฌงค์ จึงจะชื่อว่า มีปฏิบัติของพุทธ เพียงมีสติ รู้ตัวเฉยๆ รู้ว่า ทำอะไรก็อะไร แต่ไม่มีธัมมวิจัย ไม่มีการปรับ สิ่งที่ดีให้เป็นดี สิ่งที่ชั่วให้หายไป สิ่งที่ควรปรากฏ ทำให้ปรากฏ สิ่งที่ควรหายไป ทำให้หายไป สิ่งที่มีหนึ่งเดียว ถ้าควรมีให้ยิ่ง ก็ควรทำให้ยิ่ง สิ่งที่มีอยู่ หลากหลาย ถ้าควรทำให้หายไป หรือ เหลือหนึ่งเดียว ก็ควรจะทำ ให้เหลือหนึ่งเดียว ดังนี้

ผู้ที่มีฤทธิ์จริง มีอิทธิวิธี มีธัมมวิจัย เห็นความสำคัญ ในความสำคัญ รู้ความควร ความไม่ควร รู้ความผิด รู้ความถูก อันชัดแท้ และ ได้พากเพียร บำเพ็ญตน ปฏิบัติตน เพื่อละบาปทั้งปวง ละชั่วทั้งปวง และ ยังกุศลให้ถึงพร้อม ให้ยิ่งขึ้นอยู่เสมอ กระทำทั้งกาย วาจา และจิตใจ รู้ต้นเหตุแห่งจิตว่า มีกิเลสเป็นพื้นฐาน เป็นมูลราก และ ได้ฆ่ากิเลส ถูกสภาพ ตามไป จนกระทั่ง ละเอียด หยาบ กลาง ทำจนกระทั่ง สนิทสนม หมดเกลี้ยง สูญสิ้น ถาวร ตั้งมั่น ผู้ได้กระทำมีดี ได้ดี กิเลสสงบ ระงับจริง แข็งแรง ตั้งมั่นจริง จนรู้จักฐานอุเบกขา มีภาวะเป็นปกติ ธรรมดา เป็นอัตโนมัติ แห่งตน ผู้ที่ได้ประพฤติ มีโพชฌงค์ทั้ง ๗ อยู่ประจำตน ดั่งนี้แล

ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ก้าวไปสู่ ความเป็น "พุทธะ"

๙ เมษายน ๒๕๒๘


 

ยืนยันความจริง

มนุษย์นั้น มีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้น มากบ้างน้อยบ้าง เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ปราชญ์เอก จึงพยายามที่สุด ที่จะหาทฤษฎี หรือวิธีการ ที่จะมาฝึก ให้คนลด หรือ ละล้าง ความเห็นแก่ตัว ออกไปให้หมด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปราชญ์ผู้หนึ่ง ที่ได้สามารถ คิดค้นพบทฤษฎี หรือ วิธีการ ที่เอามาล้างละ ลดความเห็นแก่ตัว ออกไปได้ อย่างสนิทจริง เมื่อเราได้มาปฏิบัติ ประพฤติ พิสูจน์ ตามทฤษฎีของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เราจึงจะเกิดผล จึงจะเห็นจริง ว่าความเห็นแก่ตัวนั้น เกิดมาแต่กิเลส ตัณหา อุปาทาน ซึ่งมีสภาพจริง เป็นยางเหนียว เป็นสิ่งที่ ละล้างได้ยาก มีความเข้าใจ มีความเห็นจริง ได้ยาก จึงต้องใช้ ความอุตสาหะ วิริยะอย่างยิ่ง แต่เมื่อได้ปฏิบัติ อย่างดี มีผู้ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แก่กันและกัน ซับซ้อน เป็นสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน ลึกซึ้งต่อเนื่อง ชอนไช ไปจนถึง อาสวะ อนุสัย และเกิดญาณ หรือ ดวงปัญญา อันแหลมลึก ละเอียด จึงจะสามารถ แทงทะลุ สิ่งที่เป็นเชื้อ แห่งยางเหนียว หรือตัวร้าย ที่สามารถทำ ให้คนเห็นแก่ตัว อย่างร้าย ได้ครบถ้วน เราได้พิสูจน์กันถึง ความจริงอันหนึ่ง จึงได้เกิด ความจริงขึ้นมา ตามที่เรามี เราได้พิสูจน์เห็น

เมื่อสภาพยางเหนียว หรือ ตัวกิเลส ตัณหา อุปาทาน ตัวร้าย ได้ลด จางคลายลง เราจึงจะพบความจริง ของแต่ละคน พบเองรู้สึกเอง เกิดน้ำจิต เกิดน้ำใจเอง ว่าคนนั้น เป็นพี่น้องกัน คนนั้นมีสมรรถภาพ มีความสามารถ มากขึ้นได้ แต่ความสามารถนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ จะกระทำขึ้น เพื่อที่จะไปสนองความโลภ สนองความเห็นแก่ตัว เท่านั้น ความสามารถนั้น สามารถที่จะมีขึ้น เพื่อที่จะสนองญาติ เพื่อที่จะเกื้อกูลญาติ เกื้อกูล มวลมนุษยชาติได้ และเป็นความดี เป็นความประเสริฐ ที่แท้จริง

ผู้พบความจริงนี้ได้ จึงเกิดมีความจริงนี้ ปรากฏขึ้น เมื่อมีมากคน มีมากส่วน ที่รวมกันเข้า ภราดรภาพอันยิ่งใหญ่ จึงปรากฏขึ้น สมรรถภาพ ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อ ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ใส่ตน จึงแสดงออกได้ และนับวัน จะมีรูปที่จริง นับวัน จะปรากฏจริงขึ้น ให้แก่ชาวโลกได้รู้

ขอพวกเรา จงได้ประกาศความจริง และ ยืนยันความจริง ที่สมเด็จพ่อ หรือ สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎี วิธีการนี้ ให้ปรากฏ แก่สายตาโลก อย่างชะงัด กันเถิดเทอญ.

๑๐ เมษายน ๒๕๒๘


 

ขจัดที่ตน ... เพื่อตน

ชีวิต เป็นของตนเสวย เป็นของตนอาศัย
คนรัก ก็เพราะตนทำ
คนเกลียด ก็เพราะตนทำ
คนมีทุกข์ จึงเป็นเพราะตนเองทำ
ผู้ที่รู้ดีว่า เราจะขจัดทุกข์
ก็เพราะเราขจัดรัก เพราะเราขจัดเกลียด
เมื่อผู้รู้ดีเช่นนั้น ได้ฝึกตน ได้ศึกษาอย่างถูกทาง
ขจัดสิ่งที่ตนมีเอง ขจัดสิ่งที่ ตนกระทำเอง
ขจัดสิ่งที่ตนอาศัย หรือ เสวยเองนั้นๆได้
ตนจึงจะรู้ว่า ไม่มีใครเลย จะช่วยตนได้
นอกจากตน เท่านั้น จะเป็นที่พึ่ง ของตนเอง
ดังนั้น คนแม้จะเยาว์วัย แต่เมื่อได้พบ สัจธรรม
รู้ความสำคัญ ในความสำคัญ
ให้โอกาส ศึกษาอบรม
ในสิ่งที่สำคัญปานฉะนี้
คนผู้นั้น ฉลาดนัก ประเสริฐนัก
คนแก่เฒ่า และ ตายไปนานัปชาติ ?
เวียนแล้ว เวียนเล่า ไม่ได้พบสัจธรรม
ดั่งนั้น มีนับไม่ถ้วน

ส่วนคนที่จะพบสัจธรรม
และ ได้ขจัดสิ่งที่ควรขจัด
อันเป็นสิ่งที่ปราชญ์เท่านั้น
ผู้ที่มีบุญ อย่างยิ่งเท่านั้น ที่จะสามารถรู้
และ กระทำให้แก่ตน จนพบอริยสัจ
อันเป็นสัจจะ อันประเสริฐได้
จึงเป็นผู้ที่มีบุญ และ เป็นผู้ที่ได้รับ
สิ่งที่หาได้ยาก มีน้อย ในมนุษยโลก

๑๑ เมษายน ๒๕๒๘


 

ตนพึ่งตน

เรารู้อยู่แสนรู้ว่า กิเลสนั้น ฆ่าได้ยาก ปราบได้ยาก แต่จะปราบกิเลส เราก็ต้องพยายาม เราก็รู้สึกเช่นนั้น เพราะฉะนั้น บุรุษผู้มุ่งมั่น จะต้องใช้ความพยายาม เพื่อที่จะกระทำ สิ่งที่ยาก พระพุทธเจ้าสอนเราว่า เราจะกระทำ สิ่งที่มนุษย์ ทำได้ยาก เราจะอดทน ในสิ่งที่ มนุษย์ทนได้ยาก เพราะฉะนั้น บุรุษผู้ที่เข้าใจว่า เมื่อทำความยากก็ดี ผู้มีความอดทนก็ดี จึงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นเรื่องดียิ่ง

เมื่อเราแน่ใจว่า เราได้ใช้ความพยายาม อุตสาหะ หรืออดทน เพื่อสิ่งที่ดีที่สุด หรือ สิ่งที่ดียิ่ง แก่ตัวเรา อย่างแท้จริง ทั้งเป็นสิ่งที่ดียิ่ง แก่มวลมนุษยชาติ ทั้งเป็นสิ่งที่ดียิ่ง แก่ศาสนา เราก็จะต้อง กระทำให้ยิ่ง ด้วยใจเบิกบาน ร่าเริง ไม่เหนื่อยหน่าย แม้จะเหนื่อยด้วยกาย จะหนักด้วยอุปสรรค ที่เราเอง ยังมีบารมีน้อย บารมีอันจะได้ ก็เพราะ เราทำจริง อุตสาหะ วิริยะจริง สั่งสมด้วยความเพียร พยายาม ไม่ใช่ได้มาด้วย การบันดาล ไม่ใช่ได้มาด้วย บังเอิญ ทุกอย่างเป็นกรรม อันสั่งสม ได้มาด้วยเหตุที่จริง กรรมเป็นอันทำ และ เราเป็นเจ้าของกรรม คนอื่นทำให้เราไม่ได้ แบ่งกันไม่ได้

ยิ่งเป็นบุญ กุศล ขั้นที่จะละกิเลส เป็นผลทาง โลกุตรธรรม ทางปรมัตถธรรม ยิ่งต้องทำเอง โดยตนเท่านั้น จะแบ่งเงินแบ่งทอง ให้แก่กันและกัน เป็นโลกียะโลกย์ๆ ยังพอแบ่งกันได้ แต่จะแบ่งปรมัตถธรรม แบ่งการล้างละกิเลส แบ่งการกระทำ ที่เป็นภาคปฏิบัติ อันเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมรรค อันถูกต้องแล้ว ตนของตนเท่านั้น จะพึ่งตนได้ ไม่มีใครสามารถ ที่จะช่วยเราได้จริงๆ จนถึงผลได้เลย นอกจาก ตนต้องพยายาม อุตสาหะให้จริง เท่านั้น

เมื่อผู้ที่รู้ว่า สิ่งที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด ที่ควรได้ที่สุด ถ้าเราไม่ทำเอา เราก็โง่ที่สุด เท่านั้นเอง

๑๒ เมษายน ๒๕๒๘


 

รู้ตัวทั่วพร้อม

... คือ ผู้ที่สำคัญ ในโพชฌงค์ ๗ และ สติปัฏฐาน ๔ อันปฏิบัติอยู่ เป็นประจำวัน หรือ การปฏิบัติ อย่างมีมรรคองค์ 8 ผู้ที่เดินโพชฌงค์ ๗ คือ ผู้รู้จักจังหวะแรก คือสติ

บุคคลที่ปฏิบัติ อย่างผู้มีสติ จะต้องสำคัญ ในสติอย่างยิ่ง เราต้องพยายามรู้ตัว อิริยาบถทุกอย่าง จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน นั่นเป็น อิริยาบถใหญ่ หรือ เราจะทำอันใดๆ ขยับกาย ขยับแขน ขยับขา จะยืน จะนั่ง จะนอน จะเดิน ที่เราจะมี อากัปกิริยา ประกอบอื่น เราก็จะต้อง รู้ตัวอยู่ ในสภาพสำรวม สังวร และ จัดแจง ให้เป็นผู้ที่สงบ เรียบร้อยก่อนอื่น นี่เป็นบทต้น เราจะละ ลด อากัปกิริยา ของคนโลกย์ๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่พิจารณากาย กายนั้นคือ พิจารณาอิริยาบถ พิจารณาว่า ตนเอง รู้ตนอยู่ โดยคำนึงถึง อาณาปาณสติ ว่าเรามีลมหายใจ เข้า-ออกอยู่ หรือ ใช้ลมหายใจ เข้า-ออก เป็นกสิณ มีสติ ไม่ให้ออกนอกตัว ลมหายใจ คือกาย เราพยายามหัด ทำให้ชิน ให้ใช้สติ และความระลึกรู้ ที่รู้ในสิ่งเหล่านี้ เราจึงจะเป็น ผู้ควบคุมกาย ให้สุจริตได้ พร้อมกระนั้น เราก็คำนึงถึงวจี นี่เป็นการฝึกอบรม ที่ได้อบรม ทั้งจิตด้วย

ในการศึกษา ที่เรามีรายละเอียด ของความรู้ ที่จะรู้ลึกซึ้งต่อไป และ เราก็ได้ เรียนไปแล้ว มันจะช่วยให้เรา ได้ฝึกตน เนียนตั้งแต่ต้น ละเอียดตั้งแต่ต้น แล้วจะต่อ เป็นกลาง เป็นปลาย ไปได้อย่างครบถ้วน

ขอให้เราทั้งหลาย จงได้ดำเนิน ตั้งแต่บทที่ ๑ ที่ว่า สติปัฏฐาน ๔ หรือ ดำเนินบท โพชฌงค์ ๗ ที่ว่า สติ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ให้สำรวม สังวร ดังกล่าวแล้ว แล้วเราจะรู้สึกว่า... เราเป็นผู้ปฏิบัติ ที่จะเริ่มมีความละเอียด เนียนในขึ้น

อย่าถือตัวว่า เราเป็นนักปฏิบัติ ที่ยิ่งใหญ่แล้ว ที่ผ่านมา นานปีแล้ว แต่จงกระทำ อย่างยิ่ง เราจึงจะเพิ่มอธิ หรือ เพิ่มความยิ่งขึ้นได้

๑๔ เมษายน ๒๕๒๘


 

แบบฝึกหัดทางธรรม... แบบฝึกหัด อันยิ่งใหญ่

่ทุกเวลา ทุกนาที คนเรา ล้วนแล้วแต่ฝึก แต่หัด ผู้ที่ได้ศึกษา หลักฝึก หลักหัดที่ดี ก็จะได้เป็น ผู้ที่ฝึก หรือ หัดอย่างดี ส่วนผู้ที่ ได้รับหลัก หรือ ได้รับวิธี ฝึกและหัด ที่เลว ก็ย่อม จะไปสู่ความเลว

โลกมีแบบฝึกหัด ที่พาฝึกพาหัด ไปสู่โลกียารมณ์ ไปสู่โลกธรรม เป็นแบบฝึกหัด อันยิ่งใหญ่ ที่พาคนไปสู่ ความลงนรกใหญ่ ผู้ที่มีบุญ ได้รับรู้ ความรู้ ที่พามาฝึก มาหัด พามาทำ แบบฝึกหัด อย่างธรรมะ ไปสู่โลกุตระ ผู้นั้นมีบุญ จะไปสู่สวรรค์ที่แท้ และ มันเป็นหมู่น้อย แบบฝึก แบบหัดนั้น มีคนกลุ่มน้อย จึงมีฤทธิ์ มีแรงน้อย แต่ก็เป็นแบบฝึกหัด ที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่า ผู้ที่ดำเนินแบบฝึกหัด กระทำแบบฝึกหัด อยู่จริง ได้มาก ทุกวินาที ได้มีสติ รู้ตัว ทั่วพร้อม และ กำหนด กระทำตน อยู่ในขอบข่าย ของแบบฝึกหัด ที่ดี ไม่ให้ขณะล่วง กระทำได้เสมอ เท่าใดๆ ก็จะแก้กลับ จากที่เรา ไปเคยได้รับ แบบฝึกหัด อันยิ่งใหญ่ทางโลก มานานแสนนานแล้ว การแก้กลับ มาสู่ แบบฝึกหัดทางธรรม สู่โลกุตระนั้น จึงเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่จะต้อง พากเพียร อุตสาหะอย่างยิ่ง ผู้ที่รู้จริงแล้ว เห็นจริงแล้ว ว่าเราจะต้องเข้าสู่ การฝึกการหัด จริงๆ อย่างนี้ จึงจะเป็นผู้เดินทาง เข้าไปสู่สวรรค์ แท้จริงได้

จึงต้องพยายาม อย่าให้สติตก อย่าให้ขณะล่วง จะต้องนำตน เข้าสู่กรอบ แบบฝึกหัด ที่จะไปสู่โลกุตระ ให้ได้ถี่ที่สุด จึงจะเป็น ผู้พอมีหวังได้

๑๕ เมษายน ๒๕๒๘


 

ผู้ปฏิบัติธรรม

สร้างสติ และ กระทำการรับรู้ ทำความรอบรู้ ฝึกการวิจัย อยู่ในตน เราเป็นผู้ที่ กำลังสร้าง ฌาน ขณะที่เรามีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ติดตาม อิริยาบถของตน ติดตาม รู้เท่าทันผัสสะ ที่ผัสสะแล้ว ก็มีการสังขาร ในอารมณ์ พยายามแยกอารมณ์ ที่มีกิเลสผสมออก การกระทำอยู่ดังนั้น คือ การปฏิบัติธรรม โดยเดิน โพธิปักขิยธรรม ๓๗

ผู้ที่ได้ฝึกเสมอ เริ่มต้นตั้งแต่ ตื่นนอน มีสติรวดเร็ว ตื่น ไม่ซึม สลัดความง่วง อย่างเร็วไว และ เป็นผู้ที่ฝึกตน อยู่ตลอด ตั้งแต่ตื่น ทำสติ และ กำกับอิริยาบถ กำหนดอารมณ์ กำหนดความรอบรู้ ปรับกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

นั่นคือ เราปฏิบัติธรรม อยู่ทั้งสิ้น ทั้งมวล

๑๖ เมษายน ๒๕๒๘


 

รู้ตัว รู้ตน รู้อารมณ์ ย่อมเป็นสุข

ผู้ได้ซับซาบอารมณ์ ที่เป็นอารมณ์ ไม่วู่วาม ไม่ร้อนรน โดยเฉพาะ ไม่ซึม เซ็ง ผู้ที่ทำในใจ หรือ มนสิการ ปรับโดยแยบคายเป็น ก็คือ ผู้ที่กำลังเรียนรู้ อิทธิวิธี ให้แก่ตน

ความทุกข์สองด้าน ด้านหนึ่งก็คือ ด้านฟุ้ง วุ่นวาย ร้อนรน กระวน กระวาย อีกด้านหนึ่ง ก็คือ ด้านอึดอัด ด้านซึม ด้านไม่ปลอดโปร่ง ไม่โล่ง ไม่เบา ไม่ว่าง ซึ่งเป็นสภาพ ที่ไม่สบาย นั่นเอง เป็นทิศทางสองทาง ที่ไม่ใช่สภาพกลาง หรือ สภาพของจิต ที่ทั้งแววไว โปร่งใส เฉลียวฉลาด มีสติรู้ทั่ว มีความวิจัยที่รวดเร็ว และ มีการรับรู้อยู่ อย่างไม่ผลัก และไม่ดูด การเข้าใจ สภาพของอารมณ์ ที่แจ่มใส เบิกบาน อารมณ์ที่ควร อาศัยเสมอ อย่างยิ่ง แล้วก็หัดปรับ หัดรู้ตัวรู้ตน รู้อารมณ์ แม้จะได้รับการกระทบ กระแทกสัมผัส โดยสิ่งแวดล้อม อย่างใดๆก็ดี เราก็เรียนรู้ และหัดปรับ เข้าสู่อารมณ์ ที่เราซับซาบนั้น

นั่นคือ การฝึกหัดตน เป็นผู้ที่สร้างอิทธิวิธี ที่ทำตนให้ได้กำไร ทั้งเบื้องต้น และมีฤทธิ์ ที่จะทำให้เกิด การมีผลดี ต่อไป ถึงเบื้องปลายได้ อย่างสุขาปฏิปทา

คือ ปฏิบัติ ประพฤติอยู่ ด้วยความมีผลกำไร ที่เรียกว่า "เป็นสุข"

๑๘ เมษายน ๒๕๒๘


 

เห็นจริงเพราะรู้ และปฏิบัติจนเกิดผลจริง

การสร้างสัมมาสมาธิ ของพุทธนั้น ผู้ปฏิบัติ จะต้องสำคัญ ในทุกๆกาละ แม้คิด แม้พูด แม้กระทำ อันใดๆ อยู่ทั้งนั้น กระทำให้เป็น ประจำชีวิต จะต้องระลึก มีสติรู้ตัว ทั่วพร้อม มีสติปัฏฐาน ๔ มีสัมมัปธาน ๔ อย่างแน่แท้ กระทำ ด้วยความพยายาม มีอิทธิบาท มีความยินดี วิริยะ อุตสาหะ เอาใจใส่ ในการกระทำ อย่าให้ขณะล่วง จึงจะมีผล อันเห็นผล ได้ชัดแจ้ง และ เจริญดี แต่ไม่ใช่เคร่งเครียด ทว่า ผู้ปฏิบัติ ต้องพึงฝึก ให้ชำนาญ

เมื่อสะสมความมีสติ และ มีธัมมวิจัย พากเพียร กระทำอยู่เสมอ ฝึกซ้อมให้มี สติปัฏฐาน ๔ ที่พิจารณาออก ทั้งสิ้น ในกายานุปัสสนาก็ดี เวทนานุปัสสนา ก็ดี จิตตานุปัสสนาก็ดี ธัมมานุปัสสนาก็ดี และ มีธัมมวิจัย มีการสังวรปธาน มีการ ปหานปธาน มีภาวนาปธาน มีอนุรักขนาปธาน อย่างมีผล มีผลน้อย หรือ ผลมาก ก็อยู่ที่ ประสิทธิภาพ หรือ ความสามารถ ความพยายาม ของผู้พึงกระทำนั้นๆ

เมื่อผู้ใด ได้กระทำอย่างยินดี อย่างเบิกบาน แจ่มใส พอใจ กระทำด้วยความเพียร เอาใจใส่ พินิจพิเคราะห์ ไปตลอดเวลา ให้ได้ทุกๆขณะ แท้จริง มันย่อม ไม่ได้ทุกขณะ ก็จริงอยู่

แต่ความเพียรนั้น จะทำให้เกิดการต่อเนื่อง ความชำนาญ จะทำขณะนั้น ถี่ขึ้นได้ จะมี สติปัฏฐาน ๔ ประจำตน จะมีการปหาน จะมีการได้ละ ลด เลิก อยู่ประจำตน จะได้มีการกระทำ สิ่งที่ควรทำให้ดียิ่ง ก็จะดียิ่งขึ้น อยู่ประจำตน อินทรีย์พละ ทั้งห้า ของตนๆ จึงจะเกิดจริง มีจริง ความเจริญ เป็นปีติ เป็นปัสสัทธิ เป็นสัมมาสมาธิ หรือ สมาธิ สัมโพชฌงค์ ก็จะเกิดเนียนใน เป็นฌานแล้วฌานเล่า ความชำนาญ ในการซับซ้อนของ ฌาน ๑, ๒, ๓, ๔ ก็จะเกิดขึ้น จะเจริญขึ้น ด้วยการปฏิบัติที่จริง จนสู่อุเบกขา จะมีผลให้เรา ได้รับสัมผัสรู้

เมื่อจิตเป็น สัมมาสมาธิ การปฏิบัติมีผล สัมมาสมาธิ จึงจะก่อให้เกิด สัมมาญาณ สัมมาวิมุติ อันพอเหมาะได้ ดังนั้น การปฏิบัติธรรม ของศาสนาพุทธ จึงจะต้องปฏิบัติ อยู่ตลอดเวลา มีสัมมาทิฏฐิ แจ้งชัด ในทฤษฎี วิธีการปฏิบัติ และได้ลงมือ พากเพียรอยู่จริง เป็นประจำ

ชีวิต มีองค์ ๗ ของมรรค เป็นสภาพที่ กระทำถูกต้อง จึงจะมีผล ทฤษฎี อันยิ่งใหญ่นี้ ถ้าไม่ได้ฝึกเพียร ไม่ได้เห็นผล ไม่ได้รู้ได้ด้วยตน ก็จะไม่เข้าใจ ความยิ่งใหญ่นั้นได้ แต่ผู้ที่ได้ปฏิบัติแล้ว เห็นผล ยิ่งพากเพียร ยิ่งกระทำ ก็ยิ่งจะรู้แจ้ง ถึงความยิ่งใหญ่ ด้วยตนเอง เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ เราได้แต่รู้ ไม่ได้ปฏิบัตินั้น จะไม่ซาบซึ้ง ถึงความยิ่งใหญ่ เป็นอันขาด

แต่ถ้าเผื่อว่า เราได้รู้และปฏิบัติจริง จนมีผลจริง ยิ่งสูง ยิ่งมาก เรายิ่งจะรู้จริงว่า ทฤษฎี เรียกสั้นๆ สรุปว่า มรรคองค์ ๘ หรือ โพชฌงค์ ๗ ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นทฤษฎี อันยิ่งใหญ่

เพราะผู้กระทำจริง มีผลจริง เท่านั้น จะเป็นคน เห็นความจริงสิ่งนี้

๑๙ มษายน ๒๕๒๘


 

รู้แล้วต้องปฏิบัติ

นักศึกษาทางโลก ก็เรียนทางทฤษฎี แล้วก็ลงมือ ฝึกหัด ปฏิบัติ แล้วจึงจะเกิด ผลิตผล หรือ ความสามารถ ฉันใดก็ดี นักปฏิบัติทางธรรม ก็ต้องเรียนทฤษฎี เรียนความรู้ปริยัติ แล้วก็ เอาไปปฏิบัติ ลงมือฝึกหัด อบรมตน จึงจะเกิดผล ที่เป็นจริงขึ้นมา ฉันนั้น และการปฏิบัติ หรือ ศึกษาทางธรรมนั้น กระทำด้วยชีวิต ฝึกหัดด้วยชีวิต ประพฤติ ปฏิบัติ ตลอดชีวิต หรือ ปฏิบัติ จนกว่า จะจบกิจ ซึ่งต้องเอาตน เข้าปฏิบัติ อย่างละเอียดลออ ลึกซึ้ง ใช้วิญญาณ เป็นตัวตัดสิน

จิตวิญญาณ ได้ถูกการขัดเกลาจริงๆ มีการได้ลด ได้ละจริงๆ ซึ่งเป็นของละเอียด เป็นความรู้ยาก เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ที่ปฏิบัติ ไม่ละเลย ทั้งภาคปริยัติ และ ไม่ละเลย ทั้งภาคปฏิบัติ ที่แท้จริง ศึกษา เอาใจใส่ ทั้งฟัง ทั้งคิด ทั้งสอบถาม อ่าน ค้นคว้า พร้อมกระนั้น ก็ปฏิบัติอย่าง มีสติ รู้ตัว ทั่วพร้อม กระทำให้ขณะ ล่วงน้อยที่สุด เสมอๆ ไม่ต้องเคร่งเครียด แต่กระทำ ให้ติดต่อเนื่อง เสมอๆ

ถ้าถูกทางเป็น สัมมาทิฏฐิแล้ว ความพยายาม และสติ ที่ช่วย สัมมาทิฏฐินั้น จะเกิด สัมมาสมาธิ เกิดสัมมาญาณ และ เกิดสัมมาวิมุติได้ อย่างแท้จริง

๒๑ เมษายน ๒๕๒๘


 

การศึกษา ๓

ขึ้นชื่อว่า "มนุษย์" เป็นผู้รู้กว่าสัตว์ มนุษย์จึงรู้ว่า ตนจะเจริญได้นั้น ต้องมีการศึกษา การศึกษา คือ การทำให้เจริญ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ

การให้เจริญทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่ถูกต้องที่สุด ก็คือ การศึกษา ที่เป็นการศึกษา สาม ของพระพุทธเจ้า ที่ได้พิสูจน์ความเจริญ อย่างแน่ชัด และรู้รอบ พาศึกษา ให้ถ้วนรอบ จึงเป็นผู้เจริญ ที่มีประโยชน์ คุณค่ามาก ทั้งได้คุณค่าแก่ตน ทั้งเป็น คุณค่าแก่ผู้อื่น แก่สังคม แก่โลก สอดคล้องไปพร้อมกัน

ส่วนผู้มีการศึกษา ที่ผิดพลาด คือ ศึกษาเพื่อจะเจริญ ทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เหมือนกัน ทว่าเจริญไปเพื่อ ล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญ มุ่นเมา ในโลกียสุข ให้แก่ตน การศึกษาไปเพื่อ ที่จะได้มา เพื่อที่จะเอาเปรียบ เพื่อที่จะเป็น ผู้ที่จะมักมาก มีมาก การศึกษาเช่นนั้น ทำลายทั้งคน ทำลายทั้งสังคม โลกมนุษย์อื่น

การศึกษา ถ้าผู้ที่ไม่มีสัมมาทิฏฐิ ว่าการศึกษานั้น จะต้องศึกษาหลัก ความหมาย ในวิชาการใดๆ ก็ตาม ต้องรู้ว่า มีมาเพื่อชีวิต เมื่อรู้หลัก ความหมาย ที่จะมาฝึกฝน กระทำกิจ แล้วเราก็ต้องลงมือ กระทำกิจนั้น กระทำกิจนั้นไป เพื่อพัฒนา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรา ให้บริสุทธิ์ หรือ ให้เป็นผู้มีความขยัน หมั่นเพียร สร้างสรร เป็นผู้มีผลผลิต คุณค่าประโยชน์ และ เป็นผู้ลดโลภ ลดโกรธ ลดหลง สร้างสรรได้มาก กระทำกิจใด เพื่อการก่อผลผลิต ก็ตาม ก็จะเป็นผู้ที่สร้างสรร ด้วยความสามารถ มีฝีมือ มีความสามารถ สมรรถนะ อันสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นผู้ลดความโลภ ลงเรื่อยๆ เป็นผู้ลด ความพยาบาท ความโกรธ เป็นผู้ลดความหลงผิด ทว่า ชีวิตนั้น เจริญ ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นสุจริตกรรม

ยิ่งเจริญมากเท่าใด ยิ่งสุจริตเท่าใด ยิ่งเป็นผู้สบายเบา และมีคุณค่า ประโยชน์แก่ตน คือลด โลภ โกรธ หลง ได้มากยิ่งขึ้น จนหมดสิ้น โลกก็จะได้ จะมีค่า มีประโยชน์ จากผู้ที่เจริญ ดังกล่าวนี้ไป ทั้งหมดสิ้นด้วย ไม่ขัดแย้งกับโลก ที่เต็มไปด้วย ความพร่อง

ส่วนผู้ที่เจริญจริง ก็เป็นผู้ที่เต็มไปด้วย ความเต็ม อันมีให้แก่โลก และ เป็นการช่วยเสริม หนุนโลก ที่มีแต่ความพร่องนั้น ตลอด นานับกัปกัลป์

๒๕ เมษายน ๒๕๒๘


 

เจริญสมาธิด้วยศีล

เราจะเจริญสมาธิด้วยศีล ด้วยพฤติกรรม ที่มีทั้ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตามหลัก มรรค องค์ ๘ นั้น จะต้องมีสติ รู้ตัว ให้มากขณะที่สุด พยายาม หรือ วิริยะอย่างยิ่ง เพื่อที่จะ ไม่ให้ขณะล่วง ไม่ว่าเรา จะเป็นอยู่อย่างไร มีอิริยาบถทั้งสี่ หรือ มีกรรมกิริยา ทุกกรรม ทุกกิริยา เราจะรู้ตน รู้ตัว และ มีธัมมวิจัย ตลอดเวลา ว่ากรรมกริยา เหล่านั้น อิริยาบถเหล่านั้น หรือ แม้ที่สุด ผัสสะ ที่เป็นเหตุเกิด แห่งกิเลสอย่างเก่ง เราผัสสะ อะไรอยู่ ก็จะต้องมีสติ สัมปชัญญะ ธัมมวิจัย จนเกิดปัญญา ไปทุกขณะ แล้วเลือกเฟ้น พยายามมีอิทธิวิธี ที่จะชนะ ที่จะกระทำสู่จุดที่ดี ที่เราได้สมาทานแก่ตน ไปเสมอๆ การกระทำเช่นนี้ ชื่อว่า การปฏิบัติธรรม ของพระพุทธศาสนา

ถ้าไม่พยายาม ไม่รู้วิธีทำอย่างถูกต้อง ดำเนินโพธิปักขิยธรรม ไม่ถูกต้อง สติปัฏฐาน ๔ ก็ไม่เข้าใจ และไม่ทำจริง เราก็ไม่สามารถที่จะเกิด สัมมาสมาธิ ไม่สามารถ จะสู่ สัมมาญาณ สัมมาวิมุติได้ ดังนั้น เราจะต้องรู้แจ้ง หลักเกณฑ์ ภาคปฏิบัติ และ ได้ปฏิบัติอยู่ โดยความเพียร พยายามระลึกรู้ อย่าให้ตกร่วงเสมอๆ จึงจะเกิดผล ตามที่เรามุ่งหมาย ผลจึงจะเกิดจริง เราจึงจะเป็น อริยบุคคล และ เดินทาง ไปสู่จุดที่พ้นทุกข์ ถอนอาสวะ ได้จริง

๒๖ เมษายน ๒๕๒๘


 

ยึดมั่น ถือมั่น อย่างมีปัญญา

ผู้ที่ฉลาด ย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่น เพื่อความพ้นทุกข์ ผู้ที่ยังยึดมั่น ถือมั่นอยู่ โดยมีทุกข์ ก็ต้องเป็นผู้รู้ว่า การยึดศีล ยึดธรรม ยึดวินัย ยึดหลักประพฤติ เพื่อการประพฤติ ละ หน่าย คลาย จาง อย่างมีผลอยู่นั้น ย่อมตั้งตน อยู่ในความลำบากบ้าง แต่ก็มีการคลาย จาง ผู้ยึดมั่นถือมั่นเช่นนั้น เรียกว่า ผู้เพ่งเพียรอยู่ และ มีมรรค - มีผล ผู้หลง จะยึดมั่นถือมั่น โดยไม่มีปัญญา แล้วมีทุกข์อยู่ในตน ผู้นั้นชื่อว่า "ผู้อวิชชา" หรือโง่อยู่ ผู้ยึดมั่นถือมั่น ย่อมทุกข์ ด้วยประการฉะนี้ แม้ทุกข์อย่างไร้ผล หรือ ทุกข์อย่างมีผล

ส่วนผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น อย่างไม่มีทุกข์นั้น คือ พระอริยเจ้า ท่านยึดศีล ยึดธรรม ยึดวินัย เพื่อตน เพื่อผู้อื่น โดยเฉพาะตนเองนั้น ปฏิบัติศีลก็ดี ธรรมก็ดี วินัยก็ดี หลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ดี ได้โดยง่าย ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก และ ไม่มีทุกข์

การยึดมั่นถือมั่น ในศีล ในธรรม ในวินัย ในหลักเกณฑ์ต่างๆ อันพึงเป็นไป ด้วยความสามัคคี สันติภาพ ผู้ยึดได้ โดยไม่ทุกข์ จึงคือ อริยเจ้า ผู้รู้เท่าทัน และ ผู้มีกำลังใจ อันแข็งแรง ปราศจากธุลี การยึดมั่นถือมั่น อย่างไม่มีทุกข์ จึงเป็นสิ่งที่ เป็นคุณค่า ประโยชน์ต่อตน ต่อโลกมนุษย์

ส่วนผู้ที่ยังยึดมั่น ถือมั่น ไม่วาง และไม่มีผล เต็มไปด้วยทุกข์ นั้นคือ ผู้ยังเป็นปุถุชน หรือ ยังเป็นผู้ที่ ยังโมหะ ยังอวิชชา ยังไม่มีทางคลี่คลาย เพราะฉะนั้น แม้ผู้นั้น จะฉลาดขึ้น ในคราใด จงปล่อยวางเสียทั้งสิ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งนั้นเสียเลย เราจะเห็นการพ้นทุกข์ ในปัจจุบันทันที

๒๘ เมษายน ๒๕๒๘


 

ความพร้อมเพรียงของมวลมิตร นำไปสู่ความสำเร็จ

ความพร้อมเพรียง ของชนผู้เป็นหมู่ ย่อมยังผลสำเร็จ ความสำเร็จ มีทั้งส่วนตน และ ความสำเร็จ มีทั้งส่วนรวม เมื่อเกิดความพร้อมเพรียงขึ้น เป็นมิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี ความพร้อมเพรียงที่ดี ที่กล่าวนี้ หมายถึง ความพร้อมเพรียง ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นสำคัญที่สุด เมื่อได้อบรมกัน ช่วยเหลือเฟือฟาย พากันปฏิบัติ เข้าไปสู่จุดหมาย ที่จะเข้าใจคำว่า "สามัคคี" หรือ "ความพร้อมเพรียง แล้วเราก็ฝึก ทั้ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยเฉพาะ ทั้งรู้ และมีจิตใจ มีน้ำใจ มีความเป็นจริงในใจ ซึ่งเห็นแก่ การช่วยเหลือเฟื่อฟาย เอื้อเฟื้อเกื้อกูล เสียสละ อย่างแท้จริง น้ำใจนั้น จะทำให้ความเป็นหนึ่ง หรือ ความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ อย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น แม้กิจนอก กิจส่วนรวม ซึ่งกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา จะสำเร็จลงไป คนที่ได้ฝึก ได้อบรม ผู้ยังไม่มีน้ำใจ ผู้ยังไม่ได้ขัดเกลา จนสะอาด ก็จะได้ถูกดึง ด้วยแรงหมู่นั้น ขัดเกลา นำพา เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นมวลมิตรที่ดี มีอำนาจดึงดูด จูงกันขึ้นไปสู่ ความสำเร็จ คือ ละกิเลส อันค้างคาอยู่ ของแต่ละคนๆ ได้ด้วยประการ ฉะนี้

๒๙ เมษายน ๒๕๒๘


 

ปฏิบัติอยู่ทุกขณะ
จึงจะได้ชื่อว่า นักปฏิบัติธรรม

ผู้ชื่อว่า นักปฏิบัติธรรม หรือ ลูกศิษย์ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องทำความเข้าใจ ทำความเห็น ให้ถูกต้อง ว่าการปฏิบัติธรรม นั้นคือเช่นใด ประพฤติ ปฏิบัติอยู่อย่างไร เรียกว่า การปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้านั้น ก็คือ จะต้องมีสติ มีความพยายาม ที่จะปฏิบัติ อยู่เสมอ ให้ได้ทุกขณะ ให้ได้มีการติดต่อ ต่อเนื่อง ว่าเราอยู่ ในภาค ประพฤติอยู่ ปฏิบัติอยู่ สังวร สำรวมอยู่ ให้ต่อเนื่อง มากขณะที่สุด

การปฏิบัติ มีสติรู้ตัว ให้ปฏิบัติต่อเนื่องอะไร ก็คือ เราจะต้องคิด ก็คิดให้เป็นสัมมา ตามฐานะ ที่เราสมาทาน พูดก็พูดให้เป็นสัมมา ตามที่เราได้มีฐานะ สมาทาน ทำการงาน ก็ทำให้เป็นสัมมา ตามที่เราสมาทาน

จะต้องใช้ความพยายาม ใช้สติ ระลึกรู้ตัว ให้ต่อเนื่อง แล้วปรับวิจัยธรรม ปรับวิจัยธรรม ปรับวิจัยธรรม อยู่เนืองๆ การกระทำเช่นนี้ เป็นประจำ เป็นส่วนมาก กระทำ ด้วยการคิดก็ดี ด้วยการพูดก็ดี ด้วยการกระทำ ด้วยกายก็ดี เราจะต้องพิจารณา การกระทำ ประจำวัน หรือ ส่วนมาก ที่เรากระทำ ทั้งคิด ทั้งพูด ทั้งลงมือ ว่าเราได้ทำ เป็นสัมมา หรือ เป็นอธิขึ้น ตามศีล ตามหลักกรรมฐาน ที่เราได้สมาทานนั้นๆ อยู่จริงหรือไม่

ต้องหมั่นรู้ว่า ตนเองได้มีสติอยู่ ได้สังวรปธาน ได้ปหานปธาน มีภาวนาปธาน และ ได้อนุรักขนาปธาน อยู่เรื่อยๆ และ จะต้องตรวจสอบ ตรวจตรา รำลึกว่า วันหนึ่งๆ เราได้ผล เราได้พัฒนาคน หรือเราเอง เราเกิดสิ่งที่ เป็นมิจฉา สิ่งที่ตกต่ำ

การได้ตรวจตรา จะเป็นผู้รู้ตน ว่าเราได้ทำตกร่วง ในวันหนึ่งๆ มาก หรือ เราได้ปฏิบัติ ประพฤติตน ตามหลัก ตามทฤษฎี อันยิ่งใหญ่ ของพระพุทธเจ้ามาก แม้เราจะอินทรีย์พละ ยังไม่กล้าแข็ง แต่ถ้าเราได้ตั้งตน รู้ตัวว่า ได้กระทำอย่าง สามารถอยู่ แม้จะเอาชนะกิเลส ยังไม่ได้ ก็ยังชื่อว่า เป็นพระโยคาวจร ที่มีความเพียร มีอิทธิบาท สร้างอินทรีย์ สร้างพละอยู่

ยิ่งเราปฏิบัติได้มีผล นั่นคือ ผู้เป็นพระโยคาวจร ที่เจริญยิ่งๆ อยู่ตามลำดับ

การสร้างสมสมาธิ การสร้างสมญาณ และวิมุติ จึงจะต่อเนื่อง และ เจริญยิ่งๆ ไพบูลย์

๓๐ เมษายน ๒๕๒๘


คาถาธรรม ๑๐ / คาถาธรรม ๑๑ / คาถาธรรม ๑๒