ชีวิตจำลอง |
๑.โรงเรียนกินนอน
“คุณนายครับ เมื่อวานนี้ ผมโทรศัพท์ไหว้ครู
แต่ยังไหว้ไม่หมด จึงไหว้ต่อวันนี้ ผมเพิ่งโทรศัพท์ ไปกราบอาจารย์สุวรรณ
และอาจารย์ศรีสมร คุณนายเป็นผู้มีพระคุณ สั่งสอนผมมา ตั้งแต่ผมยังเล็ก
เสมือนเป็นครูที่ยิ่งกว่าครู ผมขอกราบระลึกถึง บุญคุณของคุณนาย ทางโทรศัพท์ครับ”
“ขอให้จำเริญ
จำเริญนะพ่อคุณ ยายดีใจที่ได้ยินเสียงจำลอง” ท่านพูดด้วยสำเนียงสั่นเครือ
อาจารย์ทั้งสอง เป็นบุตรชายและบุตรสะใภ้
ของคุณนายละมุน ทังสุบุตร เมื่อถึงวันครู ผมใช้วิธีไหว้ครูทางโทรศัพท์
คารวะ ครูบา อาจารย์เก่าๆ หลายท่าน รวมทั้ง ผู้ที่เปรียบเสมือนครู ซึ่งได้อบรมบ่มสอนผมมา ตั้งแต่กาลก่อน
ท่านเรียกตัวเองว่า”ยาย” เพราะขณะนี้ อายุท่านมากแล้ว
ผมเรียกท่านว่า “คุณนาย” จนติดปาก เพราะท่านเคยเป็นนายของแม่ และนายของผม
แม่เรียกท่านว่า คุณนาย ผมก็เรียกตามไปด้วย
ชีวิตผมนึกๆก็แปลก ตอนเล็กๆ เป็นเด็กรับใช้
ในบ้านคุณนาย ต่อมาเป็นผู้ว่าฯ รับใช้คนกรุงเทพฯ ชีวิตนี้มีแต่การรับใช้
ซึ่งผมก็พอใจ
“จำลอง เวลากวาดบ้าน ให้นั่งกวาด
แล้วจับไม้กวาดนอนๆ อย่างนี้นะ จะกวาดได้เกลี้ยง และกวาดเร็ว”
คุณนายเคยสอนผมกวาดบ้าน ด้วยไม้กวาดทางมะพร้าว ทำท่าทำทางให้ดู วางไม้กวาดตามแนวนอน จะกวาดได้หมดจด และเร็วกว่า
“ไม่ละครับ
กวาดอย่างนั้นต้องนั่ง คุณนายให้ผมนั่งกวาด เสียบุคลิกหมด ยืนกวาดดีกว่า”
บางครั้ง ผมก็เป็นเด็กดื้อ เถียงท่านหน้าตาเฉย แม้ผมจะแก่นแค่ไหน คุณนายและทุกคนในบ้าน ไม่เคยตีผมเลย อย่างดีก็แค่บอกแม่ แล้วแม่มาดุผมต่อ
อีกทีหนึ่ง
คุณนายและทุกคนในครอบครัวท่าน อบรมบ่มสอนผมมาทั้งนั้น
ผมโชคดี เป็นเหมือนนักเรียนกินนอน ที่มีครูคอยจับตา ดูอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน นิสัยดีๆเป็นอันมาก ติดตัวผมมา ตั้งแต่ครั้งอยู่บ้านคุณนาย
แม้ผมจะเป็นเด็กรับใช้จนๆ มีเด็กข้างถนนเป็นเพื่อน
แต่ผมไม่เคยพูดคำหยาบ ไม่เคยพูดคำ สบถคำ ถึงผมจะพูดเสียงดัง พูดจาโผงผาง
บางครั้ง ไม่เกรงอก เกรงใจใคร แต่รับรองได้ว่า ผมไม่จ้วงจาบหยาบช้า
คำที่มีความหมายสองแง่สองง่าม ชวนให้เข้าใจ ไปในทางสกปรก ผมก็ละเว้นอย่างเด็ดขาด
พูดคำ ด่าคำนั้น ผมฟังมาเสียจนชิน ชินจนเกลียด
ทำไมต้องพูดคำหยาบ ทำไมต้องด่าสาดเสียเทเสีย พูดกันดีๆ ไม่ได้หรือ
ดีทั้งคนพูด ดีทั้งคนฟัง บางคนเกิดในตระกูลใหญ่โต เรียนสูงๆ แต่หยาบเป็นนิสัย
เพราะ “ไม่อบรมในหมู่ของผู้ดี”
การทำตัวให้ปรากฏ เป็นข่าวย่อยๆ ด้วยการด่าให้แสบที่สุด ให้ร้ายป้ายสี ปั้นน้ำเป็นตัว ให้คนเขาฟังกันมันๆ กลายเป็นอาชีพ
ที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ของนักการเมืองบางคน เมื่อตอนที่เราช่วยกัน ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา
จึงเห็นมีความจำเป็น ต้องระบุ เป็นส่วนหนึ่ง ของปณิธาน ในการดำเนินงานทางการเมืองว่า “เราจะไม่โป้ปดมดเท็จ จ้วงจาบหยาบช้า ให้ร้ายป้ายสี เป็นอันขาด”
แม่สอนผมเสมอๆว่า “ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น” ที่จริงคุณนาย คุณหลวง และลูกๆของท่าน ก็ไม่ได้จ้ำจี้จ้ำไช สอนผมนัก
แต่ท่าน ทำเป็นตัวอย่าง ผมเห็นดีเห็นงาม ก็ทำตาม
บ่ายวันหนึ่ง ผมเดินตามแม่ไปไกล ไม่รู้ว่าแม่จะพาผมไปไหน ไปที่ๆผมไม่เคยไป เดินผ่านสวนกล้วย สวนมะม่วง อากาศค่อนข้าง
จะร้อนอบอ้าว ไปหยุดที่หน้าบ้านหลังใหญ่ เสาประตู เป็นรูปห่วง ๓ ห่วง
ขาว เขียว เหลือง มีสมอเรือ อยู่ตรงกลาง
คุณป้าคนหนึ่ง อายุพอๆกับแม่ ท่าทางใจดี
ชวนให้แม่และผม ขึ้นไปนั่งบนบ้าน เสียงแม่เรียก “คุณนาย
คุณนาย”
คุณนายเดินไปเปิดตู้เย็น หยิบผลไม้ ซึ่งผ่าซีกไว้เรียบร้อย
ยื่นส่งให้แม่และผม พร้อมกับกล่าวว่า “หวานดี
ปลูกที่สวนนี้แหละ ยิ่งแช่ตู้เย็น ยิ่งอร่อย”
รสหวาน แต่มีขมปนนิดๆ เพราะไม่เคย เย็บเจี๊ยบเกือบเท่ากับไอติม
แม่บอกให้รู้ว่า เขาเรียกมะละกอ ผมกินเป็นตั้งแต่วันนั้น และจำได้ จนถึงวันนี้
“คุณยายคะ
ผู้ว่าฯจำลอง สมัยเล็กๆซนมั้ย และดื้อมั้ยคะ”
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ไปสัมภาษณ์แม่ เพื่อจะนำเรื่องราวของผม ไปลงพิมพ์ เมื่อใกล้จะถึงวันเกิดของผม
“ซนจ๊ะ แต่ไม่ใคร่ดื้อ
ซนมาตั้งแต่เขาเพิ่งคลานได้ จับกันไม่หวาดไม่ไหว”
แม่ตอบด้วยภาษาง่ายๆ
ยิ้ม เมื่อระลึกถึงเหตุการณ์ ตอนผมเป็นเด็ก
ผมซนจริงๆ อยู่ไม่ติด ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
ทำงานบ้าน ด้วยการปัดกวาด วิ่งออกไปปากซอย ซื้อโน่นซื้อนี่ ตามคำสั่งของคุณๆในบ้าน ซึ่งชอบใช้ผม เพราะผมเป็นเด็กที่ปราดเปรียวว่องไว ไม่มีใครใช้
ผมก็หาอะไรๆ ในบ้าน เล่นไปเรื่อย จนตลอดวัน ไม่มีเวลาอยู่นิ่ง
สมัยก่อน ไม่มีน้ำประปาใช้ ที่บ้านคุณนาย
ต้องขุดบ่อใหญ่ๆ เจาะเป็นทางน้ำ ไหลมาจากคู ซึ่งแยกจากคลองสำเหร่
มาอีกทีหนึ่ง น้ำในบ่อบ้านคุณนาย ขึ้นลงตามกระแสในคลองสำเหร่
ที่ท่าน้ำริมบ่อ มีซุ้มบานบุรีที่ร่มรื่น
ออกดอกเหลืองอร่ามทุกวัน ผมชอบไปนั่งหย่อนอารมณ์ ที่ม้ายาวๆ ใต้ซุ้มนั้น
แม่ห้ามนักห้ามหนา ว่าอย่าลงไปในบ่อ เพราะบันใดลื่น ตะไคร่น้ำจับ และบ่อลึกมาก
เดี๋ยวจะจมน้ำ สายๆของวันหนึ่ง พอทุกคนเผลอ ผมแอบลงไปจนได้ น้ำกำลังขึ้นเสียด้วย
น่าเล่นไม่น่ากลัว
ใช้ความระมัดระวังทุกฝีก้าว ไม่ให้พลาด
หย่อนตัวลงไปในน้ำ เคยเห็นผู้ใหญ่ เขาว่ายน้ำอย่างไร ผมก็ตะกุยตะกาย
ไปตามอย่างบ้าง โดยไม่มีใครหัดให้
ผมว่ายน้ำเป็นวันนั้นเอง ดีใจมาก ว่ายไปรอบบ่อ
ว่ายอยู่นาน เพราะกลัวจะลืม กลัวจะกลับมาว่ายไม่เป็นอีก พยายามจดจำ
ว่าว่ายท่าไหน พอขึ้นจากบ่อ ก็เที่ยวได้คุยกับใครต่อใคร เสียรอบบ้านว่า
“ผมว่ายน้ำเป็นแล้วๆ” ทุกคนไม่ต้องห่วง ว่าผมจะตกน้ำอีกต่อไปแล้ว
สักวันหนึ่ง ผมจะไปว่ายที่คลองสำเหร่ให้จงได้
ว่ายขณะที่น้ำพัดแรงๆ คงสนุกกว่าว่ายในบ่อ เป็นไหนๆ
คุณนายเป็นคนใจบุญสุนทาน ไปทำบุญที่วัดเสมอ
ทั้งวัดใกล้บ้าน และไกลบ้าน ไกลถึงวัดสิงห์ วัดไทรก็ไป
สมัยนั้น รถไฟวิ่งจากปากคลองสาน ไปถึงมหาไชย
ผมเป็นเด็กที่ค่อนข้างจะว่าง่าย ใช้คล่อง เวลาคุณนายไปวัดไกลๆ มักเอาผมไปด้วยเสมอ
นั่งรถไฟจากวงเวียนใหญ่ แล้วไปต่อรถสามล้อ อีกทีหนึ่ง น่าสนุก
คุณนายมีเด็กรับใช้ รุ่นราวคราวเดียวกับผม
อีกคนหนึ่ง ชื่อ”เจ้าวัว” ชื่อจริงว่า “วัฒนา” เราจากกันมาหลายสิบปี
ไม่ได้พบกันอีกเลย เดี๋ยวนี้ เป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่ทราบ ผมออกจากบ้านคุณนายไปก่อน ”เจ้าวัว” หลายปี ตอนผมเข้าโรงเรียนนายร้อย ได้ข่าวว่า
“เจ้าวัว” ไปเรียนธรรมศาสตร์
จนถึงขณะนี้ ผมยังแปลกใจไม่หาย ทำไมใครๆ
รวมทั้งตัวผมด้วย เรียกเขาว่า “เจ้าวัว” แทนที่จะเรียก ”วัว”เฉยๆ หรือ
“หนูวัว” ก็เปล่า วัวเป็นลูกป้าสงัด ซึ่งเป็นแม่ครัวบ้านคุณนาย วัวตัวดำ
ผมตัวขาว เราซนด้วยกันทั้งคู่ คุณนาย “ป้าหวัด” และแม่เคยเรียก ผมกับวัวว่า
ลิงขาวลิงดำ
ตอนเย็นๆ ทั้งวัวและผม มักจะถือจานข้าว ยืนรอข้างกระทะ
ขณะที่ป้าหงัดกำลังผัดกับข้าวอยู่ ผัดเสร็จ ยังไม่ล้างกะทะ ป้าจะเอาข้าว
ใส่ลงไป เรียกว่า ผัดก้นกะทะ แล้วตักใส่จานให้เรา กินข้าวผัดก้นกะทะ
ตอนร้อนๆ อร่อยจริงๆ บางครั้ง ผมกับเจ้าวัวหิวก่อน เราก็จะปรุงอาหารแปลกๆ
กินกันเอง ไม่ต้องต้มไม่ต้องผัด บีบมะนาว เอาน้ำมันหมูมาคลุกข้าว
ใส่น้ำปลา หั่นพริก หั่นหอม บีบมะนาว กินเท่าไร ไม่รู้จักอิ่ม ทุกวัน
ผมและ ”เจ้าวัว” มีความสุขกับการกิน การเล่นในบ้านคุณนาย โรงเรียนกินนอน
ที่แสนดีของเรา
เป็นเรื่องแปลก ผมกับเจ้าวัว ไม่เคยเถียงกัน
ไม่เคยทะเลาะ ไม่เคยตีกัน เราว่าอะไรว่าตามกัน เมื่อตกลงว่า จะเลือกเล่นอะไร
เราเล่นเหมือนๆกัน เข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย วัวท่าทางอ่อนแอ ตุ้งติ้ง
กระเดียดไปทางผู้หญิงนิดๆ เราต่างเป็นลูกกำพร้าพ่อ และเป็นเด็กรับใช้
เหมือนๆกัน
บ้านคุณนาย อะไรๆก็ดีหมด เสียอย่างเดียว
ไม่ชอบเลี้ยงสัตว์ ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ไม่เลี้ยงปลา ไม่เลี้ยงนก ไม่เลี้ยงไก่
เราหรืออยากจะเลี้ยง ใจจะขาด แล้วจะทำอย่างไรดี
นับวัน เจ้าวัวกับผม ก็ออกไปเล่นไกล ห่างออกไปทุกที
จนสุดสวนหลังบ้าน มีไก่บ้านอื่น ลอดรั้วเข้ามาหากิน ในสวนคุณนายเสมอ
ไก่สีสวยน่ารัก เราหาเข่งไม้ไผ่คนละใบ ไปดักจับลูกไก่ที่เดินตามแม่
มาคุ้ยเขี่ยที่ชายสวน เลือกเอาตัวที่โตที่สุด สวยที่สุด คนละตัว ไว้เลี้ยงแข่งกัน
ว่าของใครจะโตเร็วกว่ากัน จะเอากลับเข้าไปเลี้ยงในบ้านก็ไม่ได้ โดนแม่ตีแน่ๆ
เพราะขโมยเขามาเลี้ยง เลยต้องเลี้ยง ที่ริมรั้วตรงนั้น เราคิดว่าไม่ได้ขโมย
ขอยืมเลี้ยงเล่นๆ เท่านั้น เบื่อแล้วก็จะปล่อยกลับไป
แรกๆก็หาปลวกให้กิน ไก่ชอบมาก พอปลวกหมด
ก็เข้าครัวเลือกข้าวเปลือก จากตุ่มข้าวสาร กว่าจะได้สักกำมือ แทบแย่
อย่ากระนั้นเลย เลี้ยงด้วยข้าวสุกดีกว่า เราสองคนกินข้าวเสร็จ ก็แอบเอาข้าวไปให้ไก่
จะเป็นเพราะลูกไก่ได้อาหารไม่พอ วันหนึ่งๆ
ต้องถูกทรมาน เดินวนเวียนในเข่งแคบๆ หรือตรอมใจ คิดถึงแม่ คิดถึงพี่ๆน้องๆ ก็ไม่รู้
อยู่ได้ไม่นาน ลูกไก่ของเจ้าวัวกับของผม ก็นัดกันตายพร้อมกัน
เราเหงาอยู่ได้ไม่นาน ก็ชวนกันขอเงินแม่
ไปซื้อลูกเป็ดมาเลี้ยง แหนในท้องร่อง มีเหลือเฟือ เลี้ยงยังไม่ทันโต
ก็เบื่ออีก หันมาเลี้ยง ลูกห่านดีกว่า ตัวอ้วนน่ารักกว่า ที่สำคัญคือ
ชอบดูตอนมันดำน้ำ ดำอึดมาก ดำได้นานๆ ส่วนอาหารหาลำบากหน่อย ต้องไปขอ
เศษผักกาดหอม ที่เหลือๆ จากในครัว มาหั่นให้มันกิน เลี้ยงอยู่หลายเดือน
ก็เบื่อตามประสาเด็กอีก
ระหว่างถนนตากสิน กับบ้านคุณนาย มีมะม่วงใหญ่ต้นหนึ่ง
สูงทะมึนทึน ออกลูกดกทุกปี พันธุ์อะไรไม่รู้ ลูกมะม่วง รูปร่างแปลก
เราตั้งชื่อเองว่า มะม่วงสะดือจุ่น ใต้ต้นมะม่วงอันร่มรื่นนั้น มีคูน้ำยาวๆ
ทอดผ่านไปออกคลองสำเหร่
แม้เจ้าวัวกับผม จะเป็นเด็กคนใช้ ไม่มีเงินไม่มีทอง
เราก็สามารถจัดงานเลี้ยง อย่างสนุกๆ ได้บ่อยๆ ที่ใต้ต้นมะม่วงนั้นเอง
การกินประเภท ชี้ตัวไหนกินตัวนั้น เด็กสมัยผมทำกันมาแล้ว ก่อนที่จะมาฮือฮาในตอนหลัง ที่เขาเอากุ้ง ปู ปลา มาขังใส่ตู้กระจก
ให้คนกิน ชี้เลือกเอา มันไม่เป็นธรรมชาติ สู้วิธีของเราไม่ได้
ผมกับ”เจ้าวัว” นัดเพื่อนมาสองสามคน ตั้งวงใต้ต้นมะม่วง
ซึ่งรับประกันได้ว่า วันทั้งวัน ร่มรื่นตลอด ไม่มีวันโดนแดดเลย เครื่องมือ
ก็ไม่มีอะไรมาก เตาอั้งโล่ กระทะ ตะหลิว น้ำมันหมู น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา
อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือสวิง ถ้าขาดละก็ งานเลี้ยงเป็นต้อง เลิกราเอาทีเดียว
เราแบ่งเพื่อนเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งช้อนกุ้ง
แช่อยู่ในคูน้ำ อีกฝ่ายหนึ่ง ผัดกุ้งหวาน อยู่บนบก แล้วทั้งสองฝ่าย
ก็ขึ้นมาร่วมวงกินกัน อย่างสนุกสนาน พอกุ้งหมด ก็ผลัดกันลงไปช้อนอีก
เด็กๆ สมัยหลัง ฟังแล้วอิจฉา เพราะสมัยก่อน บ้านเมืองเราอุดมสมบูรณ์มาก เหมือนที่ผู้ใหญ่พูดเอาไว้นั้น ไม่มีผิด “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
อ่านต่อ ๒. น้ำท่วมใหญ่ /