ชีวิตจำลอง |
๔. แม่ค้าหาบเร่
"จำลองเขารู้วิธีนับปล้องไม้คานได้อย่างไร
คาน แคน ยาก แค้น มั่ง มี ศรี สุข”
พลเอกจุไท แสงทวีป อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก
ถามเพื่อนผม เมื่อตอนที่ผมเขียนบทความ “หาบเร่กับผม คนชื่อจำลอง” ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน พร้อมๆกันหลายฉบับ ตอนนั้นหลายคนสับสน บางคนหาว่าผมโหดร้าย บ้างก็ว่าผมใจดี กับแม่ค้าหาบเร่เกินไป
แม่สอนผมว่า ไม้คานเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับแม่ค้าหาบเร่
จะต้องพิถีพิถันเลือกให้ดี ถ้าไม้คานมี ๔ ปล้อง ทำมาค้าขาย มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง
ต้นหายกำไรหด เพราะ ๔ ปล้องนั้น นับดังนี้ คือ คาน แคน ยาก แค้น ไปตกท้ายคำว่า
“ยากแค้น”
ถ้าหกปล้อง จะตกว่า “มั่ง มี” จะให้ดีหาไม้คาน
๘ ปล้องได้ จะวิเศษ “คาน แคน ยาก แค้น มั่ง มี ศรี สุข”
ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยสมัยนี้ คงไม่รู้หรอก
ผู้ว่า ”คนที่เข้มงวดกวดขัน และเป็นขี้ปาก ให้ผู้ค้าที่เข้าใจผิด
ด่าทุกวันนั้น เป็นลูกแม่ค้าหาบเร่ จึงรู้เรื่องหาบเร่ดี แต่การเป็นผู้ว่าฯ
ต้องทำเพื่อคนทั้งหมด ไม่ใช่ทำเพื่อผู้ที่มีอาชีพเดียวกับแม่เรา เท่านั้น
จึงไม่เป็นที่สบอารมณ์ของแม่ค้า บางคนเท่าไร ถ้าผมเอาหูไปนา เอาตาไปไร่
ทั้งหูทั้งตา อยู่ที่นาที่ไร่ ไม่สนใจกับทางเดินเท้า ไม่สนใจว่าใครจะต้องลำบาก
เดินหลีก กระจาด หลีกแผง ลงไปเดินให้รถชน รถเฉี่ยวในถนน ผมคงจะเบาหูกว่านั้นมาก
ไม่ต้องเป็นขี้ปากให้ใครด่า
สมัยแม่ แม่หาบเร่จริงๆ หาบจากวัดกลาง
ตลาดพลู ลัดเลาะเร่ไปขายถึงโพธิ์สามต้น และบ้านขมิ้น ถ้ายังขายไม่หมด
ก็เร่ขายกลับมา ตามเส้นทางเก่า แม่ขายหมากขายพลู ถ้าขายสมัยนี้ คงไม่มีใครซื้อแน่
เพราะคนรุ่นใหม่ เขาไม่กินหมากกันแล้ว ตอนที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ห้ามกินหมาก ด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง ถ้าไม่ห้ามอย่างจริงจัง ตั้งแต่ตอนนั้น
เดี๋ยวนี้ เราคงเหมือนอินเดีย บ้วนน้ำหมากกันทุกหนทุกแห่ง สถานีรถไฟ
คงเต็มไปด้วยอ่าง สำหรับบ้วนน้ำหมาก อย่างที่ผมไปพบเห็นมาในอินเดีย
เป็นแน่
ผมจำได้ แม่หาบของขาย เสียจนไหล่ปูด ขายของหาบเร่นั้น
ต้องแข่งกับเวลา เมื่อหาบไปๆ บ่าใดบ่าหนึ่งเจ็บ แม่จะไม่ยอมเสียเวลา
พักเพื่อเปลี่ยนบ่า แต่แม่จะเปลี่ยนบ่า ขณะที่เดินหาบไปนั้น เหมือนทหารแบกปืน
ที่เปลี่ยนบ่าตอนกำลังเดิน แม่สวมเสื้อแขนยาว คลุมถึงข้อมือ สวมงอบ
ไม่ต้องเอาร่มไปกาง ให้เกะกะเหมือนสมัยนี้ แม่ไม่ลืมที่จะเอาม้านั่งเล็กๆ
ใส่หาบไปด้วย เมื่อลูกค้าเรียกซื้อของ แม่จะเอาม้ามานั่ง หยิบของขายทันที
ลูกค้าจะยืนบ้าง นั่งยองๆบ้าง อยู่รอบๆ
หน้าผลไม้ แม่ก็เปลี่ยนมาขายผลไม้ แม่มีความชำนาญในการดูทุเรียน จนถึงวันนี้ เพียงแต่จับลูกทุเรียน หมุนดูรอบๆ และเอามีดเคาะๆ
เท่านั้น แม่ตีราคาได้เลยว่า ควรจะลูกละเท่าไร ข้างในมีกี่พู ผมคุ้นกับชื่อ
ชะนี ก้านยาว กบ … มาตั้งแต่เล็กๆ แต่จำไม่ได้ว่า ตอนนั้น มีทุเรียน
“หมอนทอง” แล้วหรือยัง
ผมมาเกี่ยวข้องกับทุเรียนหมอนทองอีก เมื่อตอนเป็น
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตอนนั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ได้ไม่นาน รัฐบาลก็เชิญ เหงียน โกธัค รัฐมนตรีต่างประเทศของเวียดนาม
มาเลี้ยงอาหารกลางวันที่ทำเนียบ หน้าทุเรียนพอดี ให้เจ้าหน้าที่ ไปซื้อทุเรียนหมอนทองอย่างดี มาต้อนรับ
ผมนั่งอยู่ติดกับเหงียน โกธัค ไม่ห่างจากท่านนายกฯ
เท่าไร คุยกันไปคุยกันมา สักพัก เหงียน โกธัค ก็เปลี่ยนมาคุยเรื่องเบาๆ
ซึ่งล่ามแปลเป็นไทย อย่างรวดเร็ว
“ผมอยู่บ้าน ถือศีลเหมือนกันครับ”
“ดี ถืออย่างเลขาจำลองซี เขาถือศีลแปด กินมื้อเดียว”
ท่านนายกฯ กล่าวเสริม พร้อมกับชำเลืองไปทางผม
“โอ๊ย ไม่ได้หรอกครับ ผมใจไม่แข็งพอ ทำได้อย่างไร
ถือศีลแปด กินมื้อเดียว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บวช” เหงียน โกธัคค้าน
ผมนั่งฟังการสนทนา และนั่งดูอาหารจานที่อยู่ข้างหน้าผม
จนกระทั่งเขายกกลับไป โดยไม่ได้แตะต้องเลย พอถึงรายการของหวาน ก็มีทุเรียน
สำหรับแขกทุกคน รวมทั้งตัวผมด้วย เหงียน โกธัค กินเดี๋ยวเดียวหมดจาน
ผมรีบยกจานทุเรียนของผมยื่นให้ เหมือนรู้ใจ
เขายืนขึ้น พร้อมกับกล่าว ตามแบบฉบับของคอมมิวนิสต์
“ข้าพเจ้าขอคารวะ ต่อสหายที่ใจแข็ง ถือศีลแปด กินมื้อเดียว
นอกจากท่าน จะเคร่งครัดกับการถือศีลแล้ว ท่านยังเป็นประโยชน์ ให้ข้าพเจ้า
สหายผู้นั่งข้างๆท่าน ได้กินทุเรียนอย่างดี เพิ่มอีกหนึ่งจาน ข้าพเจ้าขอคารวะ”
เป็นคำพูดทีเล่นทีจริง ของคนที่ได้รับขนานนาม ในบางครั้งว่า บุรุษเหล็กแห่งโลกคอมมิวนิสต์
เพราะเป็นลูกแม่ค้าขายทุเรียน ได้กินทุเรียนมาตั้งแต่เล็กๆ
ผมจึงติดทุเรียนมาจนกระทั่งโต พอถึงหน้าทุเรียนทีไร มีเงินเป็นต้องไปซื้อ
หากินทุกที ถ้าปีไหนราคาแพงมาก ก็พยายามซื้อ ชนิดที่ราคาถูกลงมาหน่อย
เช่น กบบ้าง ชะนีบ้าง แม้บางครั้ง จะไม่ได้กินเป็นลูกๆ กินแค่ข้าวเหนียวทุเรียน
ได้กินเนื้อทุเรียนนิดๆ ผสมกลิ่นทุเรียนหน่อยๆ ก็ยังดี
ตอนที่มาเอาจริงเอาจัง กับการปฏิบัติธรรม
ละลดความอยากได้ใคร่ดี ละลดกิเลสต่างๆ ลงบ้าง ก็ยังทิ้งกิเลสทุเรียนไม่ได้
แม้จะฝึกเอาชนะใจตนเอง ด้วยการเลิกกินของชอบๆ สิ่งนั้นสิ่งนี้ ผมก็ไม่ประสงค์
จะเลิกกินทุเรียน
วันหนึ่ง ผมยังจำได้ดี เห็นหญิงจนๆ คนหนึ่ง
นุ่งผ้าถุงเก่าๆ ไปยืนรอซื้อทุเรียน ที่พ่อค้าใส่รถเข็นมา แกยืนกำเงินจนเหงื่อหยด ซื้อไม่ได้ เพราะในมือแก มีเงิน ๑๐ บาทเท่านั้น ผมเห็นแล้วก็สะท้อนใจ ทุเรียนบางปี ราคาแพงลิบลิ่ว แพงเกินเหตุ แพงกว่าผลไม้อื่นๆ
หลายสิบเท่า แล้วผมยังตั้งหน้าตั้งตากิน ของที่คนจนๆ กินไม่ได้ อยู่อีกหรือนี่
ทุเรียนมีอะไร มีแค่หนามแหลมๆ ส่วนผมมีมือที่จะจับมีดผ่าทุเรียน แล้วทำไมผม จึงยอมแพ้ทุเรียนมาตลอด ลองเอาชนะใจตนเอง
ด้วยการเลิกกินทุเรียน ดูสักที จะตายก็ให้รู้ไป
จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมเลิกกินทุเรียนมา
๗ ปีแล้ว ไม่แตะต้องเลย แม้แต่ทุเรียนกวน หรือข้าวเหนียวทุเรียน นอกจากหย่ากับทุเรียนแล้ว ผมยังหย่ากับแอปเปิ้ลอีก ด้วยเหตุผลเดียวกัน ราคาแพงเกินไป
คนจนมากๆ กินไม่ได้ ผมจะไปนั่งกินอยู่ได้อย่างไร แต่ถ้าไปเมืองนอก
ผมกินแอปเปิ้ล เพราะเขาปลูกได้เอง ราคาไม่แพง
มีการลองใจมาตลอด ลองทั้งใจ ลองทั้งกาย
ว่าจะเลิกกินทุเรียนได้จริงหรือไม่ ถ้าเลิกได้ เพราะไม่มีเงินจะซื้อ
ไม่มีทุเรียนจะกินละก็ ไม่เห็นจะเก่งตรงไหน ต้องเลิกได้ แม้มีคนมาให้เปล่าๆ ก็ไม่กิน
น่าแปลก ตอนที่ยังกินทุเรียนอยู่ ต้องซื้อเอง
พอเลิกกิน มีคนเอามาให้อยู่เรื่อยๆ ให้เอา ให้เอา เหมือนกับลองดี เมื่อเดือนพฤษภาคม
ปี ๒๕๓๒ นี้ ผมได้รับเชิญให้ไปพูดธรรมะ ให้สามเณร วัดคณิกาผลฟัง พระท่านให้ทุเรียนมาถึง ๓ ลูก ผมก็เอาไปให้คนอื่นต่ออีก เหมือนที่เคยปฏิบัติมา
ผมไม่ได้ต่อต้านทุเรียน แต่อย่างใด ไม่เคยชวนใครให้อดทุเรียน บางครั้ง ยังไปช่วยขายให้เสียด้วย
เมื่อเดือนเมษายน ปี ๓๒ นี้ ผมพาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ของ กทม. ไปเที่ยวชายทะเล ที่หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ชวนกันเดินไปดู
ซื้อของที่ตลาด แม่ค้าทุเรียนคนหนึ่ง อุตส่าห์ทิ้งร้าน เดินข้ามถนนมาหาผม ปอกทุเรียนมาให้หนึ่งจาน พร้อมกับเล่าว่า หน้าทุเรียน เวลามากรุงเทพฯ
มักเอาทุเรียน ติดมือมาฝากผมเสมอๆ โดยไม่ได้พบผม ซึ่งเป็นความจริง
ผมได้รับทุเรียนไม่ขาด โดยไม่รู้ว่า ใครเป็นคนให้
ผมตามไปนั่งที่ร้านคุณป้าคนนั้น ใครผ่านหน้าร้าน
ก็ทักทายผม ล้วนแล้วแต่เป็นคนกรุงเทพฯ ทั้งนั้น บ้างก็ขอถ่ายรูปด้วย
เป็นที่สนุกสนาน ทักแล้ว ถ่ายรูปแล้ว ก็มักจะซื้อทุเรียนติดมือไป
ไม่ทันไรขายได้กว่าครึ่ง แล้วผมก็ย้ายไปช่วยขายทุเรียน ร้านข้างๆอีก
ตลาดทุเรียน บ่ายวันนั้น คึกคักเป็นพิเศษ ผมช่วยขายให้มากมาย หลายสิบลูก
เมื่อมีการตัดถนนตากสิน ผ่านสำเหร่ การทำมาหากินของชาวสำเหร่ ก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้ที่เคยรับจ้างทำสวน หรือเรียงพลู
ก็หันมา เป็นกรรมกรสร้างถนน ซึ่งต้องใช้คนงาน วันละมากๆ
แม่หาบของไปเร่ขาย แต่ละวัน ต้องไปไกลๆ
เหน็ดเหนื่อยมาก จึงเปลี่ยนเป็นปักหลักขาย ริมถนนตากสิน ที่กำลังตัดใหม่นั้น
มีลักษณะ เหมือนกับหาบเร่สมัยนี้ คือไม่หาบ และก็ไม่เร่ นั่งขายอยู่กับที่
แม่ขายเมี่ยงคำ และข้าวเม่าคลุก เอามะพร้าวมาซอยเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดไว้คั่ว ส่วนใบทองหลาง และใบชะพลู ไม่ต้องซื้อ
เก็บเอาในสวน ไม่มีใครหวง
การค้าขายของแม่ ดำเนินไปได้พักหนึ่ง ก็เริ่มซาลง
รายได้ชักไม่แน่นอน ผมก็โตขึ้นทุกวันๆ ทำอย่างไร แม่ถึงจะสู้กับชีวิต
ไปให้ตลอดรอดฝั่ง เผอิญแม่ทราบจากลูกค้า ที่มาซื้อเมี่ยงคำว่า คุณนายละมุน
กำลังหาคนทำงานบ้านพอดี แม่จึงไปสมัคร ขออนุญาตคุณนาย เอาผมไปเลี้ยงด้วย
แม่ได้ทำงานที่มีรายได้มั่นคง เดือนละ
๖ บาท ส่วนผมยังเล็กอยู่ ไม่ได้ทำอะไร คุณนายท่าน แถมเลี้ยงดู ให้ผมได้กินข้าวอีกคนหนึ่ง ก็เป็นบุญแล้ว
แม่สอนผมเสมอๆ มาตั้งแต่เล็ก ให้เป็นคนขยัน และประหยัด แม่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ได้รับคำชมจากคุณนาย และทุกๆคนในบ้าน เกี่ยวกับเรื่องความขยัน แม่เล่าถึงความหลังให้ผมฟัง เมื่อตอนผมเป็นผู้ว่าฯ แล้ว แม่ใช้เดือนละ ๒ บาท เท่านั้นเอง เก็บไว้ ๔ บาท เป็นทุนให้ผมได้เล่าเรียนต่อมา.
อ่านต่อ / ๕. พ่อค้าปลาสด