ชีวิตจำลอง |
๑๒. ๖ ตุลา
คนบางคนไม่ได้ดังใจ เอะอะก็จะเดินขบวน หารู้ไม่ว่า การเดินขบวนนั้น
ยากลำบากแค่ไหน ผมรู้ เพราะผมเคยเดินขบวนกับเขามาแล้ว
คนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม คงยืนยันได้ว่า ไม่มีครั้งใด ที่บ้านเมืองจะเกิดเหตุวุ่นวาย
เหมือนเมื่อปี ๑๙ ตั้งแต่ต้นปี เป็นลำดับมา ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร
มีการประท้วง เกิดขึ้นเกือบทุกวัน วันละหลายราย ไม่ได้ประท้วงเงียบๆ
เหมือนสมัยนี้ ประท้วงทีไร ดังทุกที ขว้างระบิดกันตูมตามๆ
ไม่รู้ไปร่ำเรียนกันมาจากไหน ผลิตระเบิดออกใช้กันเป็นว่าเล่น
บ้านเมืองระส่ำระสาย หนังสือพิมพ์ และวิทยุ รายงานข่าว ระทึกใจให้ทราบ
เป็นระยะๆ ชาวบ้านอกสั่นขวัญหาย เป็นห่วงเป็นใยว่า เมื่อใดสถานการณ์
จะกลับสงบเหมือนเดิม ถ้าเป็นเช่นนั้นต่อไป จะกระทบกระเทือน ต่อชาติ
ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างแน่นอน
ผมคนหนึ่งที่ร้อนอกร้อนใจ เหมือนคนทั่วๆไป นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ตะลอนๆไปฟังการอภิปราย
ที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ไปร่วมชุมนุม ฟังเขาพูด เรื่องบ้านเรื่องเมือง
ที่สถานีวิทยุก็ไป จนกระทั่ง ได้รู้จักกับนักพูดหลายคน ซึ่งล้วนแล้วแต่
เป็นคนเอาจริงเอาจัง ต่างก็วิตกกังวล ต่อเรื่อง ที่จะฆ่าจะแกงกัน
เหตุการณ์เลวร้ายลงทุกทีๆ ค่ำวันที่ ๕ ตุลา มีคนเอาหนังสือพิมพ์มาให้ผมดู เป็นภาพคนถูกแขวนคอ แต่งหน้าเหมือน องค์รัชทายาท ผมเห็นเข้าก็ตกใจ
ทำไมปล่อยให้บ้านเมือง วุ่นวายถึงขนาดนั้น ใครรู้จักใคร ก็บอกกันต่อๆไปว่า
“แย่แล้วๆ” จำเป็นต้องไป เรียกร้องรัฐบาล ในวันรุ่งขึ้น ให้ยุติความวุ่นวายเสียที
เช้ามืดวันที่ ๖ ตุลา ผมก็แต่งตัวเหมือนกับ ที่เคยไปฟังอภิปรายครั้งก่อนๆ
คือใส่หมวก ใส่แว่นตา เพราะตอนนั้น ไม่รู้ใครเป็นใคร การตัดผมสั้นๆ
ซึ่งบ่งบอกถึงการเป็นทหารนั้น จะมีอันตรายหรือเปล่า การไปร่วมชุมนุม
ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ผมไปเอง ไม่มีใครใช้ และก็ไม่ได้ชวนลูกน้องในที่ทำงาน
ให้ไปด้วยเลย นอกจากคุณศิริลักษณ์
ตอนสายๆ ก็เดินไปที่ทำเนียบ จำได้ว่า วันนั้นฝนตกหนักมาก เปียกปอนกันไปหมด
ไปเรียกร้อง ให้รัฐบาลทำบ้านเมือง ให้สงบเรียบร้อยเหมือนเดิม ไม่ได้ไปเรียกร้อง
ให้รัฐบาลลาออก หรือให้รัฐบาลฆ่านักศึกษา แต่อย่างใด
ทั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และที่หน้าทำเนียบ มีการขึ้นไปพูดอภิปราย
แสดงความคิดเห็น ซึ่งสับสน ชุลมุน ไม่รู้ใครเป็นใคร มาจากหลายที่หลายแห่ง
พูดดีบ้างไม่ดีบ้าง ตรงประเด็นบ้าง น้ำท่วมทุ่งบ้าง บางทีก็ปล่อยให้เวทีว่างๆ
ไม่มีใครพูด คนฟังไม่ได้ดังใจ อดรนทนไม่ได้ ก็ขึ้นไปหยิบไมโครโฟน ยื่นให้คนนั้นคนนี้พูด แล้วตัวเองก็รีบนั่งฟังต่อ ด้วยความพึงพอใจ บางครั้ง ผมก็ทำเช่นนั้นด้วย
เมื่อรัฐมนตรีสองสามคน ออกมาที่หน้าทำเนียบ พูดรับปากรับคำว่า
จะแก้ไขสถานการณ์ จะรักษาความสงบเรียบร้อย อย่างจริงจัง ลูกเสือชาวบ้าน
และประชาชนที่ไปชุมนุม ต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน เมื่อประมาณบ่ายสี่โมงกว่าๆ
ถ้าเป็นการชุมนุม เพื่อไล่รัฐบาล ก็จะต้องอยู่ จนรัฐบาลประกาศลาออก
จึงจะเลิก
ผมตากแดดตากฝนอยู่ทั้งวัน ไหนจะเมื่อย ไหนจะเสี่ยง ไม่รู้ว่าจะมีระเบิดขวด
หลงมาถูกเมื่อไร การเดินขบวนในเวลานั้น ไม่ใช่ของง่ายๆเลย แขนขาดขาขาด มีให้เห็นกันบ่อยๆ กลับไปถึงบ้านได้สักพัก ก็มีข่าววิทยุ ตอนหนึ่งทุ่ม
ประกาศว่า มีการปฏิวัติ พร้อมทั้งมีข่าวน่าสลดว่า นักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกฆ่าตายหลายคน หนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น ลงข่าวเต็มหน้า
ต่อมาภายหลัง ผมทราบจากบันทึกจดหมายเหตุ ว่าตลอดเวลา ขณะที่เราไปร่วมชุมนุม
กันที่ลานพระบรมรูป และ หน้าทำเนียบนั้น อะไรเกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์
เช่น ตอนใกล้หกโมงเช้า มีการยิงปืนจากข้างนอก เข้าไปในธรรมศาสตร์
และจากข้างในออกมาข้างนอก มีการขว้างระเบิด และใช้อาวุธสงคราม นักศึกษาหลายคนเสียชีวิต
และอีกมากมาย ที่ถูกควบคุมตัว
การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาขยาย เอาขึ้นมาพูดโจมตี ผมได้พูดปราศรัยที่สนามหลวง ชี้แจงแสดงหลักฐานว่า
ผมไม่ได้ทำผิดคิดร้าย อย่างที่มีการกล่าวหากัน ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
หรือสนับสนุน ให้มีการฆ่านักศึกษา แต่อย่างใด
๑๙ กรกฎาคม ๓๑ วันที่ผมปราศรัย ที่ท้องสนามหลวงนั้น คนฟังมืดฟ้ามัวดิน
เหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี ก่อนหน้านั้นสองวัน ผู้ปกครองคนหนึ่ง ของนักศึกษาที่เสียชีวิต เมื่อ ๖ ตุลา ๑๙ โทรศัพท์ไปถึงผมว่า เคารพนับถือศรัทธาผมมาก
เมื่อมีคนพูดว่า ผมมีส่วนพัวพัน กับการฆ่านักศึกษา แกจะไปฟังผมพูดที่สนามหลวงให้ได้ และจะพกปืนไปด้วย ถ้าเหตุผลของผมฟังไม่ขึ้น คือฟังดูแล้ว
เห็นว่าผมมีส่วนเกี่ยวข้อง กับการฆ่านักศึกษาแน่ เขาก็จะฆ่าตัวตายที่สนามหลวง ต่อหน้าเวทีปราศรัย
หลายท่านที่ยังสนใจ อยากค้นหาความจริงเพิ่มเติม นอกจากบันทึกจดหมายเหตุแล้ว
ก็สามารถหาอ่านได้จาก หนังสือพิมพ์รายวัน ที่หอสมุดแห่งชาติ จะให้ดี
ต้องอ่านติดต่อกัน ๑๕ วัน ก่อนและหลัง ๖ ตุลา ๑๙ ซึ่งได้รายงานรายละเอียดไว้หมด
ว่าใครทำอะไร ที่ไหน ใครเกี่ยวข้องบ้าง โกหกกันไม่ได้
นอกจากนั้น ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่รู้เห็นเหตุการณ์ ย่อมจะยืนยันได้อีกว่า
ใครกันแน่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสนับสนุน การฆ่านักศึกษา
หลายคนมีความเห็นว่า เหตุการณ์ผ่านมา ถึงสิบกว่าปีแล้ว เป็นเรื่องเศร้าสลดมาก
ไม่ควรจะรื้อฟื้นขึ้นมาพูดกันอีก แต่เมื่อมีการกล่าวหา ให้ร้ายป้ายสีพรรคพลังธรรม ที่ผมสังกัดอยู่ จึงได้ยื่นกระทู้ถามรัฐบาล ขอให้รัฐบาล
ทำความจริงให้ปรากฏ แต่รัฐบาลก็ไม่ดำเนินการ แต่อย่างใด
ใครมีส่วนร่วมในการก่อกรรมทำเข็ญ เมื่อ ๑๔ ตุลา ๑๖ และ ๖ ตุลา
๑๙ อาจารย์ธรรมศาสตร์ ทราบดี และ ตัดการคบหาสมาคม กับคนเหล่านั้นไปแล้ว
เพราะไม่สามารถจะลบความกินแหนง แคลงใจ และไม่สามารถจะลืมเหตุการณ์
ที่ทารุณโหดร้ายนั้นได้
ในพิธีรัชมังคลาภิเษก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง
ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไปร่วมในพิธีด้วย ได้ยืนยันกับผมว่า
ท่านทราบดีว่า การที่นำเอาเรื่อง ๖ ตุลา มาขยายให้ร้ายป้ายสีนั้น เป็นเรื่องทำลายกันทางการเมือง ถ้าผมเป็น อย่างที่ ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหา ธรรมศาสตร์คงไม่เชิญผม
ไปร่วมงานบ่อยๆ และได้เชิญผม ตั้งแต่ก่อนเป็นผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครแล้ว
พิธีทางศาสนาและปาฐกถา รำลึกถึงนิสิตนักศึกษา ที่ธรรมศาสตร์ ในวันที่ ๖ ตุลา ปีต่อๆมา คนน้อยลงทุกที บางคนเคยแต่งดำไว้ทุกข์ ก็เปลี่ยนไป
ไม่เป็นไร หมดทุกข์หมดโศกกันเสียทีก็ดี
แต่เหตุการณ์อย่างนั้น ต้องไม่เกิดขึ้นอีก.
อ่านต่อ ๑๓. เหมือนเตรียมเป็นผู้ว่าฯ