๒. ร่วมกันสู้ หน้า ๒๓ - ๓๔

ค้านรัฐธรรมนูญ

"พฤษภาทมิฬ" หรือ "พฤษภามหาโหด" ที่ทำให้ผู้คนบาดเจ็บ ล้มตายกันมากมายนั้น ต้นเหตุมาจาก การปฏิวัติ เมื่อ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ คณะ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) หรือคณะปฏิวัตินั่นเอง ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในขณะที่กำลังจะพา พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ไปเข้าเฝ้า ถวายสัตย์ปฏิญาณ เข้าดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี

น่าแปลก ในขณะที่มีการชุมนุมประท้วง การเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ นั้น รัฐมนตรีร่วมคณะ และ นายกรัฐมนตรี พลเอกสุจินดา คราประยูร ตำหนิติติงเสมอๆว่า "มีอะไรให้ไปพูดกันในสภา ทำไมมาดำเนินการนอกสภา" ทั้งๆ ที่การต่อสู้นอกสภา ของประชาชนเรือนแสน ที่ออกมาประท้วง เรียกร้องให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการประท้วงอย่างสันติ ถูกต้อง ตามที่กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญ

"พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ประธาน รสช. พอเอกสุจินดา คราประยูร รองประธาน รสช. และบุคคลร่วมคณะ รสช.

มีอะไร ทำไมไม่ไปพูดในสภา

อยากจะให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และคณะ ออกจากตำแหน่ง ทำไมไม่พูดในสภา ทำไมถึงต้องปฏิวัติ ทำไมต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษร้ายแรง ถึงประหารชีวิต"

เป็นคำปราศรัยของ อุศมาน ลูกหยี และ จตุพร พรหมพันธ์ นักศึกษาหนุ่ม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปราศรัยในการชุมนุม เรียกร้องให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออก ใครที่ชอบพูด "มีอะไรให้ไปพูดกันในสภา" นั้น ฟังแล้วสะอึก เถียงไม่ออก

เมื่อปฏิวัติ ฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ที่แย่ยิ่งกว่าเก่า ประชาชนหลายกลุ่ม หลายอาชีพ นักศึกษา ครูบาอาจารย์ ร่วมกันคัดค้านว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย

ประเด็นสำคัญๆ ก็คือ เรื่องวุฒิสมาชิก และนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมก็เป็นผู้หนึ่ง ที่ร่วมคัดค้านด้วย

ท้วงติงกันถึงเรื่องที่มา จำนวน และอำนาจของวุฒิสมาชิก ที่รัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดไว้นั้น ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประชาธิปไตย

ประธานสภา รสช. คนเดียว เสนอตั้งวุฒิสมาชิกได้ทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากมายถึง ๓ ใน ๔ ของ ส.ส. คือมีถึง ๒๗๐ คน วุฒิสมาชิกมีอำนาจล้นฟ้า อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ได้ และมีอำนาจพิจารณา ร่างพระราชกำหนดด้วย ถ้ารัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลของ รสช. ก็จะถูกวุฒิสมาชิก โค่นล้มได้

ประเด็นที่กำหนดว่า นายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น หวั่นเกรงกันว่า จะร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปูทางให้นายทหารใหญ่ของรสช. มาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการสืบทอด อำนาจเผด็จการของ รสช. หรือของคณะปฏิวัติ ออกไปไม่สิ้นสุด ก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรง กับบ้านเมืองอย่างยิ่ง

ประชาชนได้ช่วยกันคัดค้านเรื่อยมา ตั้งแต่ขณะที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ต้องการ ให้เกิดความเสียหาย ในภายหลัง

ในการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง คัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ นั้น ผมได้เอาคำ ในประวัติศาสตร์ตอนหนึ่ง มาพูดเทียบเคียงว่า

"พี่จะยืนช้างอยู่ใต้ร่มไม้ทำไม เชิญมาทำยุทธหัตถีกันเถิด"

ไม่ได้หมายความว่า ผมท้านายทหารรุ่นพี่ๆ ในคณะรสช. ให้ออกมาสมัคร ส.ส.แข่งกับผม เพราะตอนนั้น ผมยังเป็นผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่มีความคิด ที่จะสมัคร ส.ส.เลย

แต่ผมหมายถึง พี่ๆ ในคณะรสช. ที่ประสงค์จะเป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ให้ลาออกมาสมัคร ส.ส. เมื่อเป็น ส.ส. แล้วมาเป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นการชอบธรรม ไม่เอาเปรียบใคร เป็นการสืบทอดอำนาจ ที่ใครก็ว่าไม่ได้ ผมจึงเสนอแนะไปเช่นนั้น

ผมพูดที่สนามหลวง ให้นายทหารการข่าว ของคณะ รสช. รีบไปเรียนเสนอแนะโดยด่วน พี่ๆ ที่ชอบเป็นนักการเมือง ก็ลาออกมาสมัคร ส.ส. เพื่อเป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนท่านที่ถนัด จะเป็นใหญ่ทางทหาร ก็อยู่ในกองทัพต่อไป และเลิกยุ่งเรื่องการเมือง นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด ผมพูดไปแล้วก็เงียบ ไม่มีเสียงโต้แย้ง หรือตอบรับ

ผมต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกชื่อ "ถามใจพี่ดูก่อน" ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน หลายฉบับ พร้อมๆกัน เป็นที่ฮือฮา ของบรรดาผู้ที่ติดตามการเมือง แต่ก็ไม่มีเสียงตอบจากพี่ๆ อีกเหมือนเดิม

หน้า 27

ถามใจพี่ดูก่อน

"พี่จ๊อด พี่สุครับ แม้ผมจะคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญนี้ อย่างหนักแน่นรุนแรง ก็เป็นการคัดค้านในหลักการ ไม่ใช่ค้านเพราะเกลียดพี่หรือโกรธพี่ ผมบอกจริงๆว่า ค้านไป ก็ห่วงพี่ทั้งสองไปด้วย

ผมเริ่มห่วงตั้งแต่วันที่พี่ปฏิวัติ ผมพูดกับวินัย และฤกษ์ดี ว่าน่าเห็นใจ พี่จ๊อดกับพี่สุ และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการเมือง คราวนี้ เมื่อก่อนนี้ ใครจะมาเป็นรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี พี่ก็อยู่กับเขาได้สบาย แต่คราวนี้ พี่ทำให้เขาตกงานกันหมด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ไปจน ถึงส.ส. อีก ๓๕๗ คน ใครที่เจ็บช้ำน้ำใจ ถ้าเขาขึ้นมาเป็นใหญ่ เขาต้องล้างแค้นแน่ อย่างน้อยก็ให้พี่ ต้องตกงานบ้าง

ผมจึงบอกนายทหารรุ่นน้องๆว่า หากมีโอกาส ขอให้เสนอแนะพี่ๆ ใน รสช.ว่า ให้เตรียมตั้งพรรคการเมือง และให้เตรียมตัว ลงสมัครรับเลือกตั้งได้แล้ว ไม่ต้องทุกคนหรอกครับ ส่วนหนึ่งของ รสช.ก็พอแล้ว เปลี่ยนมาช่วยบ้านเมือง โดยเป็นนักการเมืองเต็มตัว อีกส่วนหนึ่ง ยังคงอยู่ในกองทัพ ทำหน้าที่ทหาร อย่างเดียว โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลนั้น มีอยู่เต็มที่ เป็นการสืบทอดอำนาจ รสช. ที่ถูกต้องชอบธรรม ยอมรับกันทั้งเมือง

เมื่อพี่เป็นรัฐบาล พี่ก็ไม่ต้องกลัวใครเขาจะปฏิวัติ เพราะแม่ทัพนายกอง เป็นเพื่อน รุ่นเดียวกับพี่สุทั้งนั้น

ผมไม่สบายใจ เมื่อมีข่าวหนาหูว่า พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ยืนยันในทุกที่ว่า พี่สุ และ พี่เต้ เป็นหัวหน้า ในการสนับสนุนอย่างลับๆ แม้พี่ทั้งสอง จะออกมาปฏิเสธ ใครๆก็ไม่เชื่อ ถ้าพี่ๆ สักคนหนึ่งใน รสช. ประกาศ ออกมาเลยว่า เป็นหัวหน้าพรรคจริง และจะสมัครรับเลือกตั้งด้วย พรรคเติบใหญ่ได้แน่ๆ อดีต ส.ส.หลายคน จากหลายพรรค เขารออยู่แล้ว ที่จะเข้าร่วมกับพี่ ซึ่งเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ใครๆก็ว่าพี่ไม่ได้

เรื่องนี้ยังไม่ทันจางหายไป เรื่องใหม่ก็มา หนักยิ่งกว่าเก่า คือเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมไม่เข้าใจ ว่าทำไมพี่ทั้งสอง ถึงปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านวาระ ๒ ออกมาอย่างนี้ ทั้งเรื่อง "ที่มา" และ "อำนาจ" ของวุฒิสมาชิก เป็นเรื่องฟ้องอยู่ชัดๆว่า คณะรสช.ของพี่ ต้องการจะสืบทอดอำนาจ อย่างไม่ถูกต้อง หลายคนหลายกลุ่ม จึงต้องออกมาคัดค้าน

นอกจากเรื่อง"ที่มา" และ "อำนาจ" ของวุฒิสมาชิกแล้ว ยังมีประเด็น ประกอบอีกมากมาย ที่ไม่น่าให้ผ่านวาระ ๒ เช่น กำหนดว่า ประธาน รสช. เป็นผู้เสนอตั้งวุฒิสมาชิก คือ พี่จ๊อดคนเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นผู้เสนอแต่งตั้งได้ ผมไม่ได้แช่ง ถ้าเกิดพี่จ๊อดเป็นอะไรไปก่อน แล้ววุฒิสมาชิก จะมีได้อย่างไร เมื่อรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้อย่างนั้น ตำแหน่งประธาน รสช.นั้น จะไปเลือกใคร ขึ้นมาแทนไม่ได้ ถ้าได้ก็ต้องปฏิวัติใหม่ มีประธานรสช.คนใหม่ จึงจะเสนอตั้ง วุฒิสมาชิกได้ ยุ่งกันใหญ่

พี่ครับ ผมชักจะเชื่อคำพูดของนายทหาร รุ่นน้องๆบางคน "ที่ยุ่งๆกันอยู่เวลานี้ ก็พวกเราทั้งนั้น" จริงครับ พล.อ.ชาติชาย ก็จปร. (ผมไม่กล้าเรียกท่าน ว่า "พี่" เพราะท่าน รุ่นก่อนผมมาก) พี่จิ๋ว, พี่จ๊อด, พี่สุ ก็จปร. ทั้งนั้น

เมื่อเรา ศิษย์เก่าจปร. เป็นผู้ทำให้บ้านเมืองยุ่ง พี่จะไม่ช่วยแก้ไขหรือครับ

ผมเข้าไปเป็นนักเรียนเตรียมนายร้อย ปี ๑ พี่จ๊อดเป็นนักเรียนนายร้อย ปีสุดท้าย ผมยังจำภาพพี่จ๊อด และเพื่อนรุ่นเดียวกับพี่จ๊อด คาดกระบี่ นำแถวนักเรียนนายร้อย เดินข้ามสะพานมัฆวาน ไปเรียนหนังสือทุกวัน ผมและเพื่อนๆ มีความภาคภูมิใจว่า นักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น ๑ ตามหลักสูตร เวสต์ปอยต์ ของสหรัฐฯ นี่แหละ จะเป็นผู้นำในการปกป้อง อธิปไตยของชาติ และแก้ปัญหาของชาติ ได้เป็นอย่างดี เพราะเราเรียนหมด ทุกสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, อักษรศาสตร์ และ สังคมศาสตร์

กับพี่สุและเพื่อน จปร.รุ่น ๕ ของพี่สุนั้นเล่า ก็เช่นกัน ผมมีความภูมิใจ และมั่นใจ ในความรู้ความสามารถ และปณิธานอันแน่วแน่

ผมจำได้ดี ตอนเป็นนักเรียนนายร้อย พี่ๆจะทำโทษพวกผมเสมอ ถ้าผ่านศาลาวงกลม ซึ่งประดิษฐานพระบรมรูป รัชกาลที่ ๕ แล้วเผลอเรอ ลืมทำความเคารพ พร้อมกับเปล่งเสียงดังๆ ให้ได้ยินไปทั่วว่า…

"ข้าฯ จักรักษามรดกของพระองค์ท่านไว้ด้วยชีวิต"

ผมเชื่อว่า พี่ทั้งสองยังจำคำปฏิญาณนี้ได้ อย่างแม่นยำ ใช่ไหมครับ

พี่จ๊อดและพี่สุครับ มรดกของพระองค์ท่าน คือเอกราช และความเจริญรุ่งเรือง ของประเทศ

พี่จ๊อดกับพี่สุ ร่วมกันทำการปฏิวัติ เศรษฐกิจสูญเสีย เป็นหมื่นเป็นแสน ล้านบาท ถ้าปล่อยให้รัฐธรรมนูญเผด็จการ ผ่านสภา วาระ ๓ ในวันนี้ ชาติของเรา จะต้องสูญเสียอีกเท่าไร พี่จะไม่ช่วยกันแก้หรือครับ

ผลการลงมติของสภานิติบัญญัติในวันนี้ จะเป็นคำตอบ วิธีแก้ไข ง่ายนิดเดียว พี่ทั้งสอง บอกสมาชิกสภาฯ ให้คว่ำ เขาก็คว่ำ พี่บอกให้เขาเป็นสมาชิก สภาฯ เขายังเชื่อพี่เลย ขอเขาอีกที ทำไมเขาจะไม่ให้ครับ

ถ้าโชคร้าย รัฐธรรมนูญผ่านวาระ ๓ ผมขอให้พี่จ๊อด ในฐานะประธาน รสช. และอดีต ผบ.ทหารสูงสุด ร่วมกับพี่สุ รองประธาน รสช. ผบ.สูงสุด และผบ.ทบ รีบสั่งโรงเรียนนายร้อย ให้ยกเลิกคำปฏิญาณได้แล้ว

คำปฏิญาณ "ข้าฯจักรักษามรดกของพระองค์ท่าน ไว้ด้วยชีวิต" ไม่มีให้ได้ยินได้ฟัง กันอีกต่อไปแล้ว

พี่ทั้งสอง พอใจเช่นนั้นหรือ

จากนักเรียนรุ่นน้อง

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

 

 

หน้า ๓๑

การชุมนุมคัดค้านรัฐธรรมนูญ นับวันก็ยิ่งรุนแรงขึ้น สภารสช. ถูกกล่าวหาว่า จะใช้รัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องสืบทอดอำนาจ สภา รสช. ทนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ พยายามหาหนทาง ที่จะคลี่คลายความรุนแรงลง

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ พลเอกสุจินดา คราประยูร จึงนัดแถลงข่าวใหญ่ โดยมีพลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ นั่งข้างซ้าย และพลเรือเอก วิเชษฐ์ การุณยวนิช ผู้บัญชาการทหารเรือ นั่งข้างขวา เป็นข่าวพาดหัวตัวโตๆ ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ที่ผู้คนสนใจ กันทั้งบ้านทั้งเมือง เพราะไม่คิดมาก่อนว่า จะมีการให้คำมั่นสัญญา ถึงขนาดนั้น หนังสือพิมพ์ ถ่ายทอดข่าว ให้อ่านกัน คำต่อคำเลยทีเดียว

"พล.อ.สุจินดา กล่าวว่า สิ่งที่ตนจะตอบในที่นี้ เพื่อให้หายข้องใจ ก็คือว่า ที่พูดกันว่า ทางสภา รสช. จะสืบทอดอำนาจ โดยการใช้รัฐธรรมนูญนั้น เราขอยืนยันว่า จะไม่มีการสืบทอดอำนาจ โดยสมาชิกสภา รสช. และขอยืนยันในที่นี้ ซึ่งความจริง ได้พูดมานานแล้ว ตนเคยพูดมา ตั้งนานแล้ว ในการเป็นนายกรัฐมนตรี พูดไปแรกๆ ก็เคยพูดไปแล้ว และขอยืนยัน จุดยืนอันนั้น คือว่า ผมจะ… (หยุดชั่วครู่) เพื่อให้รัฐธรรมนูญ เกิดความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องกับ สภา รสช. สมาชิกสภา รสช. จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ การจัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่มีกฎหมายเลือกตั้ง อะไรออกมาแล้ว ขอยืนยันในที่นี้ และขณะนี้ สมาชิก รสช. ก็อยู่ที่นี่แล้ว และที่พูดกันว่า พล.อ.สุจินดา จะเป็นนายกฯ มั่ง พล.อ.อ.เกษตร จะเป็นนายกฯมั่ง ก็ขอยืนยันว่าทั้ง พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.เกษตรนั้น จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้กำหนดออกมาแล้ว และในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เป็นที่ยืนยัน พรรคการเมืองต่างๆ จะได้สบายใจได้"

เมื่อผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองของ รสช. ประกาศออกมา เป็นมั่นเป็นเหมาะอย่างนี้ว่า หลังจากการเลือกตั้ง จะไม่เป็นนายกฯ แน่นอน หลายคนก็คลายใจ หายห่วง เรื่องการสืบทอดอำนาจ ทำให้การคัดค้านรัฐธรรมนูญ แผ่วลงๆ จนผ่านการพิจารณา วาระ ๓ ในสภาไปอย่างสบาย ยอมให้รัฐธรรมนูญ ผ่านไปก่อน ตรงไหนไม่ถูกต้อง ก็ตามไปแก้ในสภา

ผมได้พูดปราศรัยที่สนามหลวง ในวันนั้นว่า รัฐธรรมนูญ จะแก้ไขให้ได้ง่ายๆ ต้องแก้ขณะที่กำลังร่าง เพราะสภา รสช. เป็นผู้แต่งตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติ ทั้งหมด ถ้าสภา รสช.เห็นด้วย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นต่างๆ ก็แก้ไขได้ ง่ายนิดเดียว

หากหวังจะไปแก้รัฐธรรมนูญในสภา ต้องรอชาติหน้า ๒๕ น.


 

อ่านต่อ ๓
ค้านนายกฯ

 

จากหนังสือ ... ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง * ค้านรัฐธรรมนูญ * หน้า ๒๓ - ๓๔