๗. ร่วมกันสู้ หน้า ๘๘ -๑๑๖

ยิ่งชุมนุมยิ่งเพิ่ม

เจ้าของผู้จัดการโรงงาน บริษัท ห้างร้านหลายแห่ง สนับสนุนให้พนักงาน ไปร่วมชุมนุมเรียกร้อง ประชาธิไตย แม้จะต้องหยุดงานก็ยอม ไปกันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพราะเห็นเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องช่วยกันทั้งประเทศ ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ หากบ้านเมืองปกครองแบบเผด็จการต่อไป ไม่ช่วยกันหยุดยั้ง ไม่ช่วยกันเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนจะไม่มีสิทธิเสรีภาพ การทำมาหากิน ทุกอาชีพ จะฝืดเคืองลง เศรษฐกิจจะพังพินาศในที่สุด

ดังนั้น การชุมนุมซ้ำแล้วซ้ำอีก แทนที่คนจะน้อยลง เพราะเหนื่อย เพราะเบื่อ อดหลับอดนอน นั่งตากแดด ก็ทนนั่งฟังปราศรัยกันจนสว่าง จึงกลับบ้าน อาบน้ำอาบท่า กินข้าวแล้วมาใหม่ ยิ่งชุมนุม คนยิ่งเพิ่มขึ้นทุกทีๆ

แรกๆรัฐบาลก็เฉยๆ ต่อมาเริ่มไหวหวั่น เฉยอยู่ไม่ได้ ผู้ที่ไปร่วมชุมนุมมากมายนั้น ไม่ได้ไป เพราะคนชื่อจำลอง คนชื่อฉลาด หรือคนชื่อครูประทีป แต่ไปชุมนุมเพราะ จำเป็นต้องเข้าช่วย กอบกู้สังคมบ้านเมือง ต่างหาก ถ้าไม่ช่วยกัน สักวันหนึ่ง ภัยก็ต้องไปถึงเขาจนได้ ดังเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นในเยอรมัน

สายเสียแล้ว
ในประเทศเยอรมัน
พวกนาซีส่งคนมาจับ พวกคอมมิวนิสต์
แต่ข้าพเจ้ามิได้ออกเสียงคัดค้าน
เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมิวนิสต์
หลังจากนั้น พวกนาซีก็ส่งคนมาจับชาวยิว
แต่ข้าพเจ้าก็มิได้ออกเสียงคัดค้าน
เพราะข้าพเจ้ามิใช่ชาวยิว
ต่อมา พวกนาซีก็ส่งคนมาจับ คนของสหภาพแรงงาน
แต่ข้าพเจ้าก็มิได้ออกเสียงคัดค้าน
เพราะข้าพเจ้ามิใช่คนของสหภาพแรงงาน
ต่อจากนั้น พวกนาซี ก็ส่งคนมาจับพวกคาทอลิก
แต่ข้าพเจ้าก็มิได้ออกเสียงคัดค้าน
เพราะข้าพเจ้าเป็นโปรเตสแตนต์
ในที่สุดพวกนาซีก็ส่งคนมาจับข้าพเจ้า
แต่อนิจจา… ไม่มีใครเหลือที่จะออกเสียงค้าน ให้ข้าพเจ้าอีก เลย…
โดย มาร์ติน นีมูลเลอร์ ชาวเยอรมัน
นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ สมัยฮิตเลอร์
เขาเคยถูกฮิตเลอร์ จับไปขังในค่ายนรก ๗ ปี
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง
เขาถูกปล่อยตัวออกมา
โดยความช่วยเหลือ ของทหารอเมริกัน
แปลโดย นายแพทย์โชติช่วง ชุตินธร

วันที่ ๗ พฤษภาคม ผู้คนไปร่วมชุมนุมหน้ารัฐสภา มากยิ่งกว่าวันที่ ๖ พฤษภาคมเสียอีก วันที่ ๖ พฤษภาคม สาเหตุที่มีคนชุมนุมมาก อาจจะเป็นวันหยุดชดเชยรัฐวิสาหกิจ แต่คนมากวันที่ ๗ พฤษภาคม อ้างอะไรไม่ได้เลย

วันนี้ตำรวจใช้กำลังปิดกั้นหมดทุกด้าน ปิดยิ่งกว่าวันที่ ๖ พฤษภาคม ทางที่เคยผ่านได้ ก็ผ่านไม่ได้ คณะผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องส่งคนออกไป แนะนำให้เล็ดลอดเข้าไป ตามเส้นทางลัดเลาะต่างๆ เช่น เข้าเขาดิน ทำเป็นว่าจะไปดูสัตว์ เสร็จแล้วก็ปีนกำแพง ข้ามไปหน้ารัฐสภา โดยเราจัดโต๊ะเก้าอี้ ซ้อนๆ เตรียมไว้ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการปีนกำแพง

น่าคิด จะทำดีเพื่อบ้านเพื่อเมือง ช่างเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เสียนี่กระไร ต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากยากเข็ญ แต่พวกเราก็ไม่ท้อ พยายามฝ่าฟันไปจนได้ เราชุมนุมกันด้วยความสมัครใจ ใครก็ห้ามไม่ได้

ผู้ชุมนุมหลายต่อหลายคน แวะเวียนไปเยี่ยมผม ด้วยความห่วงใย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พูดคุยบ้าง เขียนจดหมาย ให้กำลังใจบ้าง เด็กส่วนใหญ่ เรียกผมว่า "ลุง" บางคนเรียก "พ่อ" เขียนจดหมายน่ารัก เช่น

กราบ คุณลุงจำลองที่เคารพ กรุณาทานข้าวและอาหาร และมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นความหวังของหนู และคนไทย ที่รักคุณลุงจำลองค่ะ ขอพระเจ้าสถิตย์อยู่กับคุณลุงค่ะ ด.ญ.พิญญ์ ตนานนท์ ๑๓ ถนนหน้าวัดเกต ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ๕๐๐๐๐

คุณพ่อคะ หนูมาอีกแล้ว มาให้กำลังใจคุณพ่อ และจะไม่ถอย หนูจะอยู่กับคุณพ่อค่ะ ประกายแก้ว

เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. รัฐสภาเริ่มประชุมอภิปราย การแถลงนโยบายของรัฐบาล เป็นวันที่สอง หลังจากประชุมไปได้ ประมาณ ๑ ชั่วโมง นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภา ก็รวบรัดให้ พลเอกสุจินดา ลุกขึ้นพูดสรุป แทนที่จะสรุปการแถลงนโยบาย กลับไปพูดแก้ตัว เรื่องการรับ ตำแหน่งนายกฯ และพูดกล่าวหาผู้อื่น ในเรื่องสภาเปรซิเดียม และศาสนาใหม่ ทำให้ถูกโห่ฮา จาก ส.ส. จึงเป็นสาเหตุ ให้ปิดประชุมอย่างกระทันหัน การโห่ฮาป่านายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย

ข้อความโดยสรุป ที่พลเอกสุจินดา กล่าวถึงความจำเป็น ในการรับตำแหน่งนายกฯ คือ

๑. รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่า นายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

๒. การรับตำแหน่งครั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลคนหนึ่ง ขึ้นสู่อำนาจ เพราะบุคคลผู้นั้น ใฝ่ฝันขึ้นสู่อำนาจ ในระบอบประชาธิปไตย แบบสภาเปรซิเดียม

๓. ได้รับคำขอร้องจากพุทธศาสนิกจำนวนมาก ให้มาเป็นนายกฯ เพื่อป้องกันและรักษา พระพุทธศาสนา ที่กำลังถูกบุกรุก บุคคลกลุ่มหนึ่ง ก่อตั้งศาสนาขึ้นใหม่

๔. การเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ได้มีการใช้เงินกัน มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในฐานะคนกลาง ที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะควบคุมดูแลการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้ดีที่สุด

ดร.อมร รักษาสัตย์ อดีตอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้วิเคราะห์ ตามหลักประชาธิปไตย ไว้อย่างน่าฟัง ถึงเหตุผลดังกล่าวที่ พลเอกสุจินดา นำมาอ้าง ในการรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ซึ่งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้นำมาพิมพ์ เมื่อวันที่ ๑๕ และ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ตอนหนึ่ง สรุปว่า เหตุผลที่ พลเอกสุจินดานำมาอ้าง เพื่อรับตำแหน่งนายกฯ นั้น ฟังไม่ขึ้น :-

"๑. รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า นายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตนจึงมีสิทธิเป็นนายกฯได้

ข้อนี้ ในคำสัญญา ที่ได้ประกาศต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ว่า ตนจะไม่รับตำแหน่งนี้ ขอให้ประชาชน ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน จึงเป็นการปฏิเสธ ไม่รับสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เมื่อผู้ทรงสิทธิ์ ปฏิเสธสิทธิ์ไปแล้ว ย่อมไม่สามารถ ยกมาอ้างได้อีก มิฉะนั้น จะกลายเป็นฉ้อโกง หรือฉ้อฉลไป

๒. การรับตำแหน่งครั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ บุคคลคนหนึ่งขึ้นสู่อำนาจ เพราะผู้นั้นใฝ่ฝัน ขึ้นสู่อำนาจ ระบอบประชาธิปไตย แบบสภาเปรซิเดียม

ความจริง คนอื่นที่เป็นส.ส. ขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็กันบุคคลนั้นได้เช่นกัน พิจารณาแง่หลักกฎหมาย รัฐธรรมนูญแล้ว บุคคลย่อมมีสิทธิ แสดงความคิดเห็นใดๆ ทางการเมืองได้ แม้จะมีความเห็น ที่ต่างกันก็ตาม ส่วนเรื่องสภาเปรซิเดียมนั้น ต่ำทราม และผิดกฎหมายอย่างใด ไม่บอกไว้ ชื่อสภาเปรซิเดียม คือสภาสูงสุดของรัสเซีย เช่นเดียวกับ สภาคองเกรส ปาเลียเมนต์ หรือไดเอต หรือรัฐสภา หรือสภานิติบัญญัติ เพียงแต่เรียก คนละภาษาเท่านั้น

สำหรับบุคคลผู้นั้น ก็เคยมีตำแหน่งสูงสุดทางทหาร เคยเป็นรองนายกฯ ก็ลาออกมา ตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางประชาธิปไตย ความจริงน่าจะต่อต้าน บุคคลที่ยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐบาล และรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุด มาปกครองประเทศ มากกว่า

๓. เป็นนายกฯ เพื่อป้องกันและรักษาไว้ ซึ่งศาสนาพุทธ ที่กำลังถูกบุคคลกลุ่มหนึ่ง ก่อตั้งศาสนาใหม่ขึ้น

รัฐธรรมนูญของไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒๗ ได้รับประกันเสรีภาพ ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือ ลัทธินิยมในทางศาสนา ในการใช้เสรีภาพดังกล่าว บุคคลย่อมได้รับ ความคุ้มครอง มิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิ หรือทำให้เสียประโยชน์

คำพูดของนายกฯ แสดงการกีดกัน มิให้บุคคล ที่มีความเชื่อถืออย่างอื่น ไม่ให้มีบทบาท ทางการเมือง ทำให้บุคคลผู้นั้นเสียประโยชน์ เสียความเชื่อถือ สร้างความลังเลสงสัย แก่ประชาชน จึงเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ อย่างชัดแจ้ง

แสดงว่า นายกฯไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ โดยมารยาท สมควรลาออกไป

ในประเทศไทย แม้มีพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ไม่เคยกีดกันศาสนา และนิกายศาสนาใดเลย (ผู้ที่ขึ้นเวทีปราศรัย เรียกร้องให้ พลเอกสุจินดาลาออก มักจะตั้งข้อสงสัยเสมอ "ที่ท่านนายกฯ ว่าท่านจะปกป้อง รักษาศาสนาพุทธนั้น ท่านสำรวจตัวเอง แล้วหรือยังว่า มีศีล ๕ เหลืออยู่กี่ข้อ ซึ่งเป็นมาตรฐานต่ำสุด ของพุทธศาสนิกชน")

๔. การเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ได้มีการใช้เงินกัน มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในฐานะคนกลาง ที่เป็นนายกรัฐมนตรี คงจะอยู่ในฐานะที่จะควบคุมดูแล การทุจริตคอร์รัปชั่น ได้ดีที่สุด

คำกล่าวเช่นนี้ เท่ากับเป็นการประณาม และหมิ่นประมาท ศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของส.ส. ทั้งปวงโดยตรง ฉะนั้น ส.ส. จึงควรจะมีมติ ให้ถอนคำพูด หรือขอขมาต่อรัฐสภา"

ในวันเดียวกันนั้น ได้มีการเรียกประชุมแม่ทัพนายกอง ที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี เพื่อประเมินสถานการณ์ และพิจารณาแก้ปัญหาการชุมนุม

เลขาธิการและหัวหน้าพรรคทั้ง ๕ เข้าร่วมปรึกษาหารือ กับพลเอกสุจินดา และพลอากาศเอกเกษตร เกี่ยวกับสถานการณ์ ชุมนุมประท้วง โดยฉายวิดีโอดู ตั้งแต่วันแรก

รายงานข่าวแจ้งว่า พลอากาศเอกเกษตร ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึง ๓ มาตรการ กรณีผู้ชุมนุมคัดค้าน ไม่สลายตัว คือ

๑. ออกประกาศเตือน
๒. ประกาศกฎอัยการศึก
๓. ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด

ซึ่งมาตรการต่างๆ ขึ้นอยู่กับผู้ชุมนุม และที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า ข้อเสนอของผม ที่ให้พลเอกสุจินดาลาออก เป็นข้อเสนอที่ ๕ พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล รับไม่ได้ เพราะเป็นข้อเรียกร้อง มากเกินไป แต่พลอากาศเอกเกษตร แจ้งว่า ตนพร้อมให้ตัวแทนไปติดต่อ ขอให้ผม เลิกอดข้าวประท้วง

ต่อมานายวีระ มุสิกพงศ์ ขึ้นปราศรัยว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นายกรัฐมนตรี มีคำตอบ ให้กลุ่มที่คัดค้านแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศ ขณะนี้ ฝ่ายค้าน กำลังประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ อยู่ในรัฐสภา และกำลังติดต่อสำนักพระราชวัง โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน จะขอนำหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อถวายรายงาน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ตกบ่าย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำแถลงการณ์ ของสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมอาจารย์อุดมศึกษาแห่งประเทศไทย และกลุ่มนักวิชาการ เพื่อประชาธิปไตย ๑๕ สถาบัน มาแจกจ่ายแก่ประชาชน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันเดียวกันนั้น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะอาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน ๔๖ คน ได้ลงบัญชีหางว่าว สนับสนุน ความเคลื่อนไหวของ น.พ.ประเวศ วะสี และกลุ่มอาจารย์ ๔๐ คน ที่ถวายฎีกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับแนวทาง แก้ไขปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบัน โดยการยุบสภา

ประมาณบ่ายสามโมง สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ได้รายงานข่าวและภาพ ผู้ชุมนุมประท้วง หน้ารัฐสภา และนายจักรพันธ์ ยมจินดา ได้อ่านประกาศ กองอำนวยการกลาง กองอำนวยการ รักษาความสงบเรียบร้อย ภายในประเทศ ฉบับที่ ๑ ลงนามโดย พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เตือนประชาชน ให้ระงับการมาร่วมชุมนุม ที่หน้ารัฐสภา เพื่อป้องกัน ความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการจลาจล

เวลาประมาณหกโมงครึ่ง มีเครื่องบินตรวจการณ์ ของกองทัพบก จำนวน ๓ ลำ ได้บินวน อยู่เหนือกลุ่มผู้ชุมนุม หน้ารัฐสภา และได้โปรยใบปลิว ของกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายใน ให้แก่ผู้ชุมนุม โดยระบุว่า ไม่ต้องการให้ประชาชน มาร่วมชุมนุมกับผู้ไม่หวังดี และขอวิงวอน ให้ผู้ร่วมชุมนุม เดินทางกลับบ้าน มิฉะนั้น กองกำลังฯ อาจจะดำเนินการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อผู้ชุมนุม ลงนามโดย พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาพระนคร

ระหว่างที่เครื่องบินวน เพื่อโปรยใบปลิวนั้น ผู้ชุมนุมได้โห่ขับไล่ ตลอดเวลา นอกจากนี้ เครื่องบิน ยังบินไปโปรยใบปลิว บริเวณใกล้เคียงด้วย เช่น ย่านบางลำพู ทางด้านท้องสนามหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้บินวน ๒-๓ รอบ พร้อมกระจายเสียง ห้ามปราม ไม่ให้ประชาชน ไปร่วมชุมนุม และให้รีบกลับบ้าน

ยิ่งค่ำ ประชาชนก็ไปชุมนุมเพิ่มมากขึ้นๆ ตอนหนึ่งทุ่ม แทบไม่มีที่จะยืน ร้อนอบอ้าว อากาศแทบไม่พอจะหายใจ ก่อนหน้านี้ ผู้ร่วมชุมนุมท่านหนึ่ง ใช้ชื่อว่า "คนสำเหร่ รุ่นสงครามโลก ครั้งที่สอง" ได้เขียนจดหมายถึงผม คงจะเป็นเพื่อนผม สมัยเด็กๆ

๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕
เรียน พลตรีจำลอง

กระผมและประชาชนหลายคน มีความเห็นว่า ท่านควรย้ายที่ประท้วง จากหน้ารัฐสภา ไปที่สนามหลวงดีกว่า มีเหตุผลดังนี้
๑. สถานที่แคบยาว ไม่เหมาะที่จะมารวมกันมากๆ
๒. ทุกคนมาเพราะรักประชาธิปไตย และรักท่านด้วย ไม่ว่าคนจะแน่นแค่ไหน ต้องเดินมา จนเห็นหน้าท่าน บางคนก็ถ่ายรูป หลังจากนั้น ถ้าไม่มีที่นั่ง ส่วนหนึ่งจะกลับออกไป
๓. การคมนาคม สู้สนามหลวงไม่ได้
๔. ถ้าการคมนาคมดี ทุกคนจะมาสะดวก ผลัดกัน กลับบ้านบ้าง มาบ้าง จะดีกว่ามากเลย
๕. คนที่รักท่าน มีคนสูงอายุมาก เดินเหินไม่สะดวก ถ้าเป็นสนามหลวง จะดีกว่า

รัก
คนสำเหร่ รุ่นสงครามโลกครั้งที่ ๒

ตอนนั้นผมก็ไม่เห็นด้วย แต่พอพลบค่ำ คนมากเกินไป จำเป็นต้องย้าย ตามข้อเสนอของ ผู้ร่วมชุมนุม ผมได้เขียนไปบอก กรรมการจัดการชุมนุม เสนอแนะ ให้เตรียมเคลื่อนย้ายไปสนามหลวง โดยให้ ส.ส.ไชยวัฒน์ ประสานงาน

“ได้มีการมอบหมายให้ผม ประสานงานกับทางพรรคการเมือง ครป. สนนท. เพราะตอนนั้น สมาพันธ์ประชาธิปไตย ยังไม่มี ผมจึงประสานงาน โดยขอคำตอบว่า ทุกองค์กรจะว่าอย่างไร ภายใน ๒ ทุ่ม ผลของการหารือ ซีกนักการเมือง จากพรรคฝ่ายค้าน ก็มีความเห็นว่า ควรจะเคลื่อนออก จากหน้ารัฐสภา ไปสนามหลวง เนื่องจากสถานที่แออัด และอึดอัด ล้อมปราบได้ง่าย เพราะลักษณะของฝูงชน ที่เช้าจะน้อย ตกเย็นจะมากันใหม่หลังเลิกงาน จึงน่าจะมีการเคลื่อน โดยให้ สนนท. เป็นผู้นำไป แต่ขณะนั้นทาง สนนท. และครป. ยังไม่ทันประสาน เวลา ๒ ทุ่มพอดี พื้นที่ก็แออัดมาก จนรับไม่ได้อีกแล้ว พล.ต.จำลอง จึงตัดสินใจ เคลื่อนออกมาก่อน”

(ส.ส.ไชยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ “ข่าวพิเศษ” เพราะเรื่องนี้ มีผู้สงสัยมาก)

ผู้ร่วมชุมนุม เป็นคนสุภาพเรียบร้อย มีความสมัครสมานสามัคคี ว่าอะไรว่าตามกัน การเคลื่อนย้ายผู้คน เป็นหมื่นเป็นแสน ในค่ำคืนวันนั้น จึงสะดวกมาก

หนังสือ “ประชาธิปไตยเลือด” ได้บรรยายไว้ว่า…..

“บรรยากาศการย้ายมวลชน จากหน้าสภาไปสนามหลวง เป็นไปอย่างมีระเบียบมาก สนุกสนาน โดยหัวขบวน เป็นนักศึกษา ประสานมือกันเป็นหน้ากระดาน ตามด้วยขบวนประชาชน หลายหมื่นคน ขณะที่หัวขบวน อยู่บริเวณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท้ายขบวน ยังเพิ่งพ้น ลานพระบรมรูป ในช่วงท้าย มีขบวนจักรยานยนต์ของประชาชน ที่มาร่วมชุมนุมปิดท้าย

เมื่อเคลื่อนขบวนมาถึงถนนราชดำเนิน ขบวนที่ใช้ถนนเพียงเลนเดียว ก็ขยายออก จนเกือบเต็มถนน ทำให้การจราจรติดขัด ในช่วงที่ขบวนผ่านย่านชุมชน ก็ได้รับเสียงปรบมือ จากประชาชน สองข้างทาง คนในรถยนต์นั่งส่วนตัว หลายคัน ก็เปิดกระจกมาทักทาย และสนับสนุน”

พอหัวขบวนถึงสนามหลวง เราก็เปิดการปราศรัยทันที โดยใช้รถตู้ เป็นเวทีชั่วคราว จนกว่า รถเวทีใหญ่จะไปถึง เรานั่งล้อมเป็นวงกว้างๆ กลางลานสนามหลวง ลมพัดเย็นคล้ายๆ การเล่น รอบกองไฟ ของลูกเสือชาวบ้าน

เดินจากหน้ารัฐสภาไปถึงสนามหลวง ไม่มีใครบ่นว่าเหนื่อยเลย ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส มีความหวัง ในเบื้องหน้าว่า เราจะหยุดยั้ง การสืบทอดอำนาจเผด็จการได้สำเร็จ พลเอกสุจินดา จะต้องลาออก

ความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับความสามัคคีของพวกเรา

ไปถึงสนามหลวงได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ ก็เดินทางไปพบผม พร้อมกับ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนใหม่ ส่งเอกสารให้ผมลงนามรับไว้ ในหนังสือนั้น ท่านราชเลขาธิการ มีถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหมด ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ถามความเห็นว่า แต่ละพรรคเห็นด้วยหรือไม่ กับข้อเสนอของ นายแพทย์ประเวศ วะสี ที่ได้ถวายฎีกาถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้มีการยุบสภา

ผมจึงให้คนในพรรคผม ส่งให้รองหัวหน้าพรรคพิจารณา ผมทราบผลสรุป ในภายหลังว่า ในบรรดา ๑๑ พรรคนั้น มีอยู่พรรคเดียว ที่เห็นด้วยกับการยุบสภา นอกนั้นอีก ๑๐ พรรค ไม่เห็นด้วย และพรรคที่เห็นด้วยนั้น ทั้งพรรคมี ส.ส. อยู่คนเดียว

ตลอดคืนวันที่ ๗ พฤษภาคม มีผู้ร่วมชุมนุม อยู่ค้างคืนที่สนามหลวงด้วยกัน เป็นจำนวนมาก เป็นไปตามที่โฆษก ได้ขึ้นไปพูดขอร้องว่า ถ้าอยู่กันน้อย ทหารตำรวจ อาจใช้กำลังเข้ากวาดล้าง ทำให้เสียผลในการชุมนุม

วันที่ ๘ พฤษภาคม ตอนเช้า เครื่องบินมาโปรยใบปลิว และกระจายเสียง โฆษณาชวนเชื่ออีก สภาพการณ์ เหมือนวันก่อน คือ ถูกประชาชนโห่ขับไล่ กลับไปทุกครั้ง เรายังพูดกันเลยว่า รัฐบาลต้องการให้ประชาชน รักษาความสะอาด แต่รัฐบาลทำผิดเสียเอง เอาเครื่องบิน มาโปรยใบปลิว ทำให้สนามหลวงสกปรกไปหมด เสียค่าน้ำมัน เสียค่าใบปลิว ไม่ได้อะไรขึ้นมา เงินทองที่เสียไป ก็เป็นภาษีอากร ของประชาชนทั้งนั้น

นอกจากใช้เครื่องบินแล้ว ยังใช้ผู้คนแปลกปลอม เข้าไปอ้างตัว เป็นผู้รักประชาธิปไตย เที่ยวเดินแจกใบปลิว ชักชวนให้แยกย้ายกันกลับบ้าน ประชาชนไม่ให้ความสนใจเลย จึงต้องกลับไปเอง

ผู้ที่ไปแวะเยี่ยมผม ไม่ได้มีเฉพาะชาวพุทธเท่านั้น ประชาชนที่นับถือศาสนาต่างๆ ไปกันเกือบครบ ทุกศาสนา สุภาพสตรีชาวมุสลิมท่านหนึ่ง ไปสวดขอพรพระเจ้า ให้ผมเป็นประจำ พระภิกษุหลายรูป ได้เมตตาไปเยี่ยมผม

ตอนสาย พระลูกศิษย์ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้ไปเยี่ยม และเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์เป็นห่วง ได้ปรารภกับพระหลายๆ รูปที่สวนโมกข์ ท่านเมตตากรุณาผมมาก เขียนเตือนผม ด้วยลายมือท่านเอง

คุณจำลอง ถ้าคุณยังมี
สติสัมปชัญญะดีอยู่ เราขอร้อง
ว่า อย่าทำอะไร ชนิดที่เอา
พิมเสน ไปแลกเกลือ ซึ่งคุณ
ก็รู้ดีอยู่แล้วว่า อะไรคือพิมเสน
อะไรคือ เกลือ.
พุทธทาส อินทปัญโญ
(พระธรรมโกศาจารย์)

๗ พ.ค.๓๕

เนื่องจาก วิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด เสนอแต่ข่าวรัฐบาลฝ่ายเดียว ทำให้ประชาชนจำนวนมาก ไม่พอใจ

ตอนเที่ยง อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ได้แจ้งว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตกลงใจ ใช้สถานีวิทยุ ของธรรมศาสตร์ เสนอข่าวทั้งสองฝ่าย และยังได้อ่านแถลงการณ์ สนับสนุน การเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแถลงการณ์ ของสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมอุดมศึกษา แห่งประเทศไทย และกลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย

บ่ายวันนั้น อากาศร้อนจัดมาก แม้ผู้ชุมนุมส่วนมาก จะอยู่ในเต็นท์ก็ตาม ผมนอนอดข้าว เวลานอนหงาย เหมือนเอาดวงอาทิตย์ มาไว้บนหน้าผาก ต้องรีบนอนตะแคงทันที ร้อนมาก จนต้องยอมเสียมารยาท ถอดเสื้อ พร้อมกับเอาผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำ ลูบตามเนื้อตามตัว เป็นระยะๆ

เวลาประมาณห้าโมงเย็น ประชาชนมาร่วมชุนนุมเพิ่ม ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ คาดว่าประมาณ 200,000 คน เดินทางมาจากทุกสารทิศ ยิ่งค่ำก็ยิ่งมาก

มีการเสนอว่า หากเปลี่ยนเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนการเรียกร้อง ให้พลเอกสุจินดาลาออก ผมจะเห็นเป็นอย่างไร ผมเขียนบอกให้ พันเอกวินัย สมพงษ์ อ่านให้ ส.ส.ท่านอื่นฟังว่า พลเอกสุจินดา ต้องมีหนังสือ กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า….

๑. จะรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตย ทุกประการ ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑ เดือน

๒. รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับทันที ไม่มีบทเฉพาะกาล

๓. หากไม่ทำตามข้อ ๑ และ ๒ นั้น พลเอกสุจินดา ต้องขอรับพระราชทานโทษ

การที่ต้องกำหนดข้อ ๓ ไปด้วย เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่า จะมีการปฏิบัติตามข้อ ๑ และ ข้อ ๒ อย่างแน่นอน

ส.ส.ท่านหนึ่งท้วงติงว่า ข้อ ๓ คงทำได้ยาก

ผมก็เขียนตอบว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร แต่ต้องรับปากว่า จะต้องทำตาม ๒ ข้อนั้น อย่างแน่นอน ก็แล้วกัน หากเป็นไปตามนี้ ผมถือว่า เราประชาชนที่ร่วมชุมนุม ยอมรับได้

ในตอนสายๆ ของวันที่ ๘ นั้น มีข่าวมาว่า ทางราชการ จะใช้พื้นที่สนามหลวงทั้งหมด เตรียมจัดงาน สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา ซึ่งจะมีขึ้น ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ พฤษภาคม และ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม จะจัดเพิ่มอีกงานหนึ่ง คือ งานวันพืชมงคล

กรรมการที่จัดการชุมนุมบางท่าน มาส่งข่าวว่า ได้หารือกันแล้ว อย่างไรเสีย ในวันที่ ๙ ต้องย้ายออกจาก สนามหลวงแน่ เพราะทางราชการ ต้องการสถานที่จัดงาน

มีบางท่านถามผมว่า เราไปสวนจิตร เพื่อถวายฎีกา จะดีไหม

ผมห้ามว่า อย่าไปทำอะไรให้ระคายเคือง เบื้องพระยุคลบาทเลย ดีไม่ดี รัฐบาลจะกล่าวหาว่า พวกเราไปล้อมวัง เรื่องจะไปกันใหญ่

ผมฟังข้อเสนอในการย้ายที่ชุมนุม แล้วก็เก็บมาคิด คิดเรื่อยมา จนเวลาประมาณทุ่มครึ่ง ก็หารือกับบางคนว่า หากจะต้องย้ายวันที่ ๙ พฤษภาคม ย้ายตอนกลางคืนวันที่ ๘ พฤษภาคม จะดีกว่า เราเคยย้ายตอนกลางคืนมาแล้ว สะดวกดี

ผมจึงขอให้พวกเราบางคนที่อยู่กับผม เดินไปบอกกรรมการจัดการชุมนุม ที่เวทีใหญ่ว่า ควรเคลื่อนย้าย มุ่งไปทางลานพระบรมรูปทรงม้า ไปตามถนนราชดำเนิน เส้นทางเดิม

“ปฏิกิริยาจากทางรัฐบาล ก็เริ่มบีบให้ผู้ชุมนุม ออกจากสนามหลวง โดยอ้างว่า จะใช้พื้นที่จัดงาน ด้านศาสนา ขอให้สลายการชุมนุม และอ้างว่า จะมีการเสด็จฯ ด้วย จึงมีการพิจารณากันว่า เราต้องย้ายออกจากสนามหลวง และ ส.ส. พลังธรรมผู้นี้ ก็มีส่วนร่วมในการหารือเช่นเคย ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็น ตรงกันว่า ควรจะเคลื่อนขบวน แต่จุดหมายปลายทาง ก็ยังสับสนเช่นเดิม ที่ประชุม จึงมอบหมายให้ผู้ใหญ่ ไปหารือกับพล.ต.จำลอง ว่า ในเมื่อที่ประชุมว่าอย่างนี้ พล.ต.จำลอง จะเห็นอย่างไร โดยให้ผู้ใหญ่ท่านนั้นไปว่า จะเอาอย่างไร ก็เอากัน ดังนั้น การที่จะบอกว่า เป็นการตัดสินใจของ พล.ต.จำลอง นั้นไม่ใช่ ซึ่งจุดหมายที่แตกต่างกันนั้น ไชยวัฒน์ ก็ได้ขยายความต่อว่า บางท่านก็เสนอว่า ควรไปแค่อนุสาวรีย์ แล้วก็กลับ บางท่านก็เสนอ ไปแค่วัดพระแก้ว แล้วก็กลับ บางท่านก็เสนอว่า ให้ไปที่วังสวนจิตรลดา เพื่อยื่นฎีกา ในเมื่อจุดหมายปลายทาง ตกลงกันไม่ได้ จึงมีการหารือกัน แล้วสรุปว่า ควรจะกลับไปที่ หน้ารัฐสภาอย่างเก่า อีกครั้งหนึ่ง ตอนนั้น เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันแล้ว จะมาประชุม พร้อมกันอีกที มันไม่ได้ จึงมีการเคลื่อนออกมา”

หนังสือข่าวพิเศษรายงาน ซึ่งเรื่องนี้ ก็มีคนสงสัยเหมือนกัน

เวลาประมาณสองทุ่ม ผมและประชาชน ที่อยู่ริมสนามหลวง ด้านพระบรมมหาราชวัง ก็เริ่มออกเดิน โดยใช้รถตู้ ที่มีเครื่องขยายเสียงแล่นนำ ค่อยๆเดินไปเรื่อยๆ อย่างสงบ ผมไม่พูดจากับใครมา สี่วันเต็มๆ คืนที่เคลื่อนย้ายนั้น มีความจำเป็นต้องพูดตลอดเวลา ปีนขึ้นไปพูดบนรถตู้ เพื่อให้ขบวนประชาชน ซึ่งมีมากมายกว่าวันที่ ๗ พฤษภาคม เดินไปอย่างเรียบร้อย

เมื่อหัวขบวนไปถึงสะพานผ่านฟ้า มีตำรวจเอาลวดหนามมากั้น ผมก็ขอร้อง ให้ผู้ร่วมชุมนุม หยุดแค่นั้น อย่าลุยฝ่าลวดหนามเข้าไป และเรียนขอร้องให้อาจารย์ชินวุธ สุนทรสีมะ ช่วยเตือนประชาชนข้างหน้า อย่าไปยั่วยุตำรวจ ให้เกิดเรื่องวิวาทกัน

ประชาชนส่วนหลัง ที่ยังอยู่ในสนามหลวง ก็เริ่มทยอยไปสมทบมากขึ้น จนกระทั่งเต็มถนน ราชดำเนินหมด ตั้งแต่เชิงสะพานผ่านฟ้า ไปจนเลยสี่แยกคอกวัว ผมพูดทางเครื่องขยายเสียง ขอเจรจากับตำรวจ

สักครู่หนึ่ง พลตำรวจโทธนู หอมหวล นักเรียนนายร้อย รุ่นก่อนผมปีหนึ่ง ก็ไปเจรจากับผม

ท่านบอกว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้ปิดกั้นตรงผ่านฟ้า

ผมเรียนกับท่านว่า ผู้ที่ไปร่วมชุนนุม มีทางเลือก ๒ ทาง คือ ลุยฝ่าลวดหนามเข้าไป หรือปักหลัก ชุมนุมอยู่ตรงนั้น

พี่ธนูบอกว่า อย่าฝ่าเข้าไปเลย

ต่อจากนั้น ก็มีนายทหารยศพลโท รุ่นเดียวกับผม ไปเจรจากับผมอีก ผมได้หารือกับพวกเรา เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เราตกลงใจ ปักหลักชุมนุม ในถนนราชดำเนินดีกว่า เมื่อกั้นไม่ให้เราไป เราก็ไม่ไป ตั้งเวทีใหญ่ อยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เปิดการปราศรัยตลอดคืน

ขึ้นวันใหม่ ๙ พฤษภาคม ตอนตีสองกว่าๆ ผู้แทนของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเวทีปราศรัย สนับสนุน การชุมนุมของประชาชน หลังจากนั้น ชั่วโมงกว่าๆ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และคณะ ก็ปราศรัยกับประชาชน

ตลอดคืนนั้น มีข่าวเข้ามาเสมอๆว่า ทหารตำรวจ จะยกกำลัง เข้ากวาดล้างพวกเรา ผมจึงต้องคอยเตือนประชาชน อยู่ตลอดเวลา ให้อยู่กันเป็นกลุ่ม ให้แน่นที่สุด ทหารตำรวจ จะไม่กล้าบุก อย่าอยู่กันกระจัดกระจาย

เช้ามืด ผมต้องนั่งรถ ตระเวนรอบพื้นที่ชุมนุม จัดวางกำลังเฉลี่ยให้เต็มพื้นที่ ขอให้ผู้ร่วมชุมนุม กลุ่มนั้น ย้ายมาอยู่ตรงนี้ ผู้ที่ชุมนุมกลุ่มถัดไป ให้ย้ายไปตรงโน้น ป้องกันการเข้ากวาดล้าง ของตำรวจ ทหาร

ตอนสายๆ มีผู้มาเสนอผมว่า ผมควรเลิกอดอาหาร เพราะเหตุการณ์ ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยสิ้นเชิง หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น ผมจะนั่งเฉยๆ นอนเฉยๆ พร้อมกับปิดปากเงียบต่อไป ไม่ได้อีกแล้ว

ผมอดอาหารมาได้ ๔ วันค่อน ไม่ใช้เสียงเลย แต่เมื่อมีความจำเป็น ต้องเคลื่อนย้ายดังกล่าว ผมต้องพูดเป็นระยะๆ ตั้งแต่สองทุ่มครึ่ง จนถึงตีสอง และต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา

เรื่องนี้เหมือนกับที่ผมประกาศว่า ผมจะกินอาหาร วันละมื้อเดียวไปจนตาย ผมก็กินมื้อเดียวตลอดมา แต่เมื่อผมป่วย ผมก็กินสองมื้อ

เพื่อให้เกิดความแน่ใจเพิ่มขึ้น ผมเดินไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งขณะนั้น มีประชาชน รวมตัวกันอยู่ ประมาณ ๘๐๐ คน ผมขอให้ช่วยออกเสียง

เมื่อถามว่า ใครเห็นว่า ผมควรจะอดอาหารต่อไป

ปรากฏว่า ไม่มีใครยกมือเลย

พอมาถึงประเด็นที่ว่า ใครเห็นว่า ผมควรจะหยุดการอดอาหารได้แล้ว ยกมือกันทุกคน

ผมนั่งรถไปตรวจดู ตามช่องทางต่างๆว่า มีการจัดวางจำนวนผู้คน ได้เหมาะสมหรือไม่ เพื่อป้องกัน การกวาดล้าง ของทหาร ตำรวจ

เวลาผ่านไปสองชั่วโมง มีผู้มารวมกันที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพิ่มเป็นประมาณ ๓,๐๐๐ คน

ผมก็ถามประชามติอีกครั้ง ผลออกมาเหมือนเดิม และมีผู้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ถ้าผมตายลง ในตอนนั้น ประชาชนจะลุกฮือ ใช้ความรุนแรง ปะทะกับฝ่ายรัฐบาล ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิต และเลือดเนื้อ ซึ่งผมไม่ได้คิดเรื่องนี้ ผมจึงตัดสินใจยุติการอดข้าว ซึ่งได้อดมาเกือบห้าวัน ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เหตุการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ส่วนการถามความเห็น ของประชาชนนั้น เป็นส่วนประกอบ เพื่อตรวจสอบข้อตกลงใจ ของผมอีกทีหนึ่ง ผมได้ขอให้ผู้ร่วมงาน พิมพ์ใบปลิวแจก ชี้แจงถึงเหตุผล ในการยุติการอดอาหาร โดยลงท้าย ในใบปลิวว่า…

ขณะนี้ ฝ่ายตรงข้าม กำลังบิดเบือนการยุติการอดอาหารของผมว่า ผมไม่รักษาคำพูด ละทิ้งอุดมการณ์ เพื่อชักจูงให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา จะได้เลิกชุมนุม ซึ่งเป็นความเท็จ ผมจึงต้องเรียนให้ทราบ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด

ต่อมา ผมได้ประชุมสมาชิกสภาเขต สมาชิกสภา กทม. และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังธรรม ที่ยังอยู่ในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชี้แจงถึงความจำเป็นว่า เพื่อให้การชุมนุม หยุดยั้งการสืบทอด อำนาจเผด็จการได้ผล ผมขอลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคพลังธรรม หลังจากนั้น ผมก็ไปยืนประกาศ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับพิมพ์ ใบปลิวแจก ในเวลาต่อมา

คำชี้แจงเรื่องการลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม

เรียน พี่น้องประชาชนที่เคารพ

ผมประกาศลาออกจาก หัวหน้าพรรคพลังธรรม เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม เพื่อร่วมกับพี่น้องประชาชน ต่อสู้กับเผด็จการ ให้ได้ผลยิ่งขึ้น

การต่อต้านเผด็จการ โดยขอให้พลเอกสุจินดา ลาออกครั้งนี้ แม้ผมจะยืนยันไปแล้วว่า ผลจากการต่อต้าน หากทำให้ผมมีโอกาสเป็นรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ก็ตาม ผมจะไม่รับตำแหน่งใดๆ เพื่อนร่วมงานหลายคน ยังคงไม่แน่ใจ เพราะผมเป็นหัวหน้าพรรค ทำให้การดำเนินงาน ในการชุมนุมต่อต้านเผด็จการ ขลุกขลัก

ผมเขียนบอกพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า อย่าเกรงว่า หากการต่อต้าน เป็นผลสำเร็จแล้ว พรรคพลังธรรม จะได้เปรียบ ผมเตรียมแก้ไขไว้แล้ว แต่ยังจะไม่บอก ว่าจะทำวิธีใด

ซึ่งก็คือ การลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม นั่นเอง

ขณะนี้ สถานการณ์เผชิญหน้า ระหว่างรัฐบาล และฝ่ายต่อต้าน เข้มข้นยิ่งขึ้น ผมจึงประกาศลาออก จากหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม นี้ ผมเห็นแก่ส่วนรวม ไม่ได้เห็นแก่ตัวเอง หรือพรรคเลย ในการต่อสู้ร่วมกับประชาชน

การลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม จะทำให้ผมคล่องตัวยิ่งขึ้น ไม่มีใครคิดระแวงเป็นอื่น

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕

เวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ประกาศว่า ผมได้เลิกอดข้าวแล้ว และทันทีที่ประชาชนทราบข่าว ก็เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่เข้าใจว่า ผมได้สลายการชุมนุม และชักชวนให้ประชาชน แยกย้ายกันกลับบ้านหมดแล้ว

อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษา เดินทางมาพบ หารือกับนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เลขาธิการ สนนท. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหามาตรการ ดำเนินการต่อไป

ต่อมา นายโคทม อารียา รองประธาน ครป. และนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้ออกแถลงการณ์ ยืนยัน ที่จะร่วมมือกับพรรคการเมือง ฝ่ายค้านทุกพรรค ในการชุมนุมเรียกร้องต่อไป โดยสันติ และไม่ได้มีความแตกแยก กับพรรคพลังธรรม หรือพรรคความหวังใหม่ ในการต่อสู้ ตามที่มีข่าวลือ แต่อย่างใด

ใกล้เที่ยง พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียกประชุม เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง เพื่อเตรียมการรับมือ สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

ต่อมา ทหารจำนวนหนึ่ง ได้นำรั้วลวดหนามขึงกั้น ๓ แถว ตรงสะพานผ่านฟ้า เสริมความมั่นคง กั้นประชาชน ไม่ให้ผ่านเข้าไปร่วมชุมนุม

พลตำรวจตรีณรงค์ เหรียญทอง รักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้ปิดถนน ในบริเวณที่ใกล้เคียงการชุมนุม และที่สะพานมัฆวาน มีทหารพร้อมอาวุธครบมือ เข้ามาเสริมกำลังอีก ๕ คันรถบรรทุก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนลัดเลาะ เดินบนท่อประปา ทหารได้นำรั้วลวดหนาม มากีดขวางเพิ่ม ตรงท่อประปา ป้องกันไม่ให้ประชาชน อาศัยเป็นทางข้าม มาร่วมชุมนุม ทางฝ่ายผู้ชุมนุม จึงแก้ปัญหา ด้วยการหาเรือข้ามฟาก มาคอยรับ

ตอนสี่โมงเย็น ผมได้ประกาศทางรถกระจายเสียงว่า ได้รับข่าวยืนยันว่า ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งคน มาแปลกปลอม ปะปนกับผู้ชุมนุม ประมาณ ๒,๐๐๐ คน ให้ประชาชน ช่วยกันระแวดระวัง และสังเกต คนไว้ผมเกรียน ใส่เสื้อยืดมีปกสีดำ สวมกางเกงวอร์ม

ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ ในการตระเวนตรวจช่องทางต่างๆ ที่ทหารตำรวจ อาจจะบุกเข้ากวาดล้าง ผมแวะเวียน ไปพูดให้กำลังใจแก่ประชาชน ที่ร่วมชุมนุมทุกจุด ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้า ถึงสี่แยกคอกวัว

ผู้ชุมนุมล้วนแล้วแต่เป็นผู้เสียสละ เอางานเอาการ ขยันขันแข็ง เหมือนพี่เหมือนน้อง รวมอยู่ในครอบครัว ใหญ่มหึมา มีอะไรพอจะช่วยได้ ไม่ต้องบอกต้องวาน รีบลงมือทำทันที บ้างก็ไปหาน้ำดื่ม บรรทุกกันมาเป็นรถๆ รถกระบะ ถูกทหารตำรวจห้ามเข้า เพื่อตัดกำลัง ก็แอบเอาน้ำขวด ใส่รถตุ๊กๆ เล็ดลอดเข้าไปจนได้

อาหารก็ออกไปช่วยกันซื้อหามา มีตั้งแต่ขนมครก ขนมปัง ปาท่องโก๋ โรตี ข้าวห่อ ผลไม้มีสารพัด บางรายไปซื้อส้ม จากปากคลองตลาด ๓ เข่ง พอแม่ค้ารู้ว่า เอาไปเลี้ยงผู้ร่วมชุมนุม ก็แถมให้อีก ๓ เข่ง พร้อมกับบอกว่า ไม่พอให้ไปเอาอีก

หน้าร้านอาหารศรแดง มีโรงครัวขนาดใหญ่ ทั้งพ่อครัวแม่ครัว รูปร่างกำยำล่ำสัน ผลัดกันหุงหาอาหาร ตลอดวันตลอดคืน มีคนเข้าแถวรับแจกอาหาร ไม่ขาดระยะ ฝีมือดีเสียด้วย ปรากฏว่า พ่อครัวแม่ครัว มากันคนละทิศละทาง มาพบกัน ก็มารวมกันทำอาหาร ตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม ด้วยเงินทุนครั้งแรก ๕๐๐ บาท ผู้ที่รับแจกอาหารบางคน บริจาคเงินเป็นค่าข้าว ค่ากับข้าว ไม่ขาดแคลน ใครเห็นก็นิยมชมชอบ ในความสมัครสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของผู้ชุมนุม

หนักนิดเบาหน่อย ก็ให้อภัยกัน งานวัดมีคนไปเที่ยวห้าหกร้อยคน ต้องให้ตำรวจไปรักษาการณ์ เพราะมักมีเรื่องมีราวกันเสมอ แต่การชุมนุมของพวกเรา คนเป็นแสน อยู่ร่วมงานกันเป็นวันๆ คืนๆ ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ มาดูแลสักคน

ตอนใกล้ค่ำ กองกำลังรักษาพระนคร ออกแถลงการณ์เตือน ไม่ให้ประชาชน เดินทางไปร่วมชุมนุม ทั้งยังระบุด้วยว่า หากจำเป็น กองกำลังรักษาพระนคร จะใช้มาตรการเหมาะสม เข้าจัดการ

หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ๑๒๓ จำนวน ๑๐๐ นาย ยกไปเสริมกำลังที่ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ร่วมด้วย รถพยาบาล ๓ คัน ขณะที่พลตำรวจโทธนู หอมหวล ได้เดินทางมายัง บริเวณด้านหลัง สะพานผ่านฟ้า เพื่อตรวจดูการวางกำลัง

ตอนหนึ่งทุ่ม กำลังทหารติดอาวุธส่วนหนึ่ง ได้มาเสริมกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตรึงกำลัง เผชิญกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง อยู่ที่สะพานผ่านฟ้า ซีกทางด้านกรมโยธาธิการ วิทยุสามยอด ของกองปราบฯ รายงานว่า มีประชาชนมาชุนนุมกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน

ในเวลาทุ่มครึ่ง สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เสนอข่าว ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศว่า ๙ พรรคการเมือง ได้ตกลงร่วมกัน จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๔ ข้อ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์

เวลาประมาณสองทุ่ม ได้มีการเคลื่อนย้ายทหาร กองพันที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ จำนวน ๕๕ นาย เดินทางมาสมทบทหาร ที่ตรึงกำลังอยู่ที่สะพานผ่านฟ้า ซึ่งรวมกันแล้ว มีทั้งตำรวจและทหาร เต็มอัตราศึก

ในเวลาต่อมา โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ได้ออกอากาศ ประกาศ กองอำนวยการ รักษาความสงบเรียบร้อย ภายในประเทศ โดยพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เรื่องความคลี่คลายของสถานการณ์ ซึ่งที่จริง สถานการณ์ยังคงเป็นเช่นเดิม มีผู้ร่วมชุมนุม หนาแน่นเหมือนเดิม

สภาพบริเวณที่ชุมนุม โดยเฉพาะหน้าเวทีปราศรัย แออัดยัดเยียดไปด้วยประชาชน ที่พยายาม เข้าใกล้เวที ให้มากที่สุด เพื่อรับฟังการปราศรัย

ตอนนั้นมีฝูงชน ไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่ นั่งอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ในบริเวณ หน้าเวทีปราศรัย ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ปรบมือ และใช้ขวดพลาสติก เคาะพื้นให้จังหวะ พร้อมเพรียงกัน

กลางดึก ได้มีการประชุมร่วมทุกองค์กร ที่เป็นผู้จัดการชุมนุม อภิปรายกัน ทุกแง่ทุกมุม ประเมินสถานการณ์ อย่างละเอียด ทั้งของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายที่ชุมนุมต่อต้าน ตลอดจนคำนึงถึง ความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ของผู้ชุมนุม ในที่สุด ที่ประชุมก็ลงมติว่า ควรจะชุมนุมต่ออีกวันหนึ่ง เพื่อรอดูสถานการณ์ ให้กระจ่างชัดขึ้น


 

อ่านต่อ ตอน ๘
รับเสด็จเก้อ

 

จากหนังสือ... ร่วมกันสู้ ...พลตรี จำลอง ศรีเมือง * ยิ่งชุมนุมยิ่งเพิ่ม * หน้า ๘๘- ๑๑๖