ธรรมปัจเวกขณ์ (๑๐๕)
๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๕

การบำเพ็ญของพระโยคาวจรนั้น หลักเอกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ สติปัฏฐาน ๔ หรือ มรรคองค์ ๘ โดยการมีสติ เป็นสำคัญ แล้วก็พยายามปฏิบัติตน เข้าใจความหมายของทุกๆอย่างให้ชัด เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ แล้วก็รู้ในองค์ประชุมของความคิด เรียกว่าสังกัปปะ รู้องค์ประชุมของคำพูด เรียกว่าวาจา รู้องค์ประชุมของ การกระทำ อิริยาบถต่างๆ ประกอบการงานต่างๆ เรียกว่ากัมมันตะ แม้กระทั่ง เราจะยึดทำอะไร เป็นประจำวันอยู่มากๆ โดยส่วนมาก เรียกว่าอาชีพ เราก็จะรู้องค์ประชุม ในอาชีพการงาน ทางกาย วจี มโน ให้ชัดแจ้ง รู้ต่อผัสสะ สืบทอดโยงใยไปถึงจิต รู้แม้กระทั่ง กรรมกิริยา กาย วจี มโน อันใดทุจริต อันใดเป็นมิจฉาทิฏฐิ อันใดเป็นอกุศล แล้วเราก็ระงับลดลง การปฏิบัติระงับกายระงับวาจาก็ดี เป็นการระงับใจด้วย เพราะใจเป็นตัวรู้ ใจเป็นตัวอำนาจ ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง

การได้ประกอบปฏิบัติ ประพฤติอยู่ พร้อมทั้งการได้ระงับกาย ที่มากไป หรือได้กระทำ ให้กายมีกรรมอันน้อยไป ให้สมบูรณ์ ให้เกิดการสร้างสรรพอดี วาจาอันมากไป ให้ระงับลงมา วาจาอันน้อยไป ให้พอดี เป็นประโยชน์เป็นคุณค่า จิตอันน้อยไป เพิ่มขึ้นมาให้พอดี จิตอันฟุ้งซ่านมากไป ระงับลงมาให้พอดี เป็นคุณค่า การได้จัดอยู่อย่างนี้เสมอๆ นั่นคือ ทำให้กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ซึ่งเป็นการปฏิบัติด้วยสติปัฏฐาน และโพชฌงค์ ๗ ดับนิวรณ์ไปในตัว ลดนิวรณ์ ๕ ไปในตัว เสมอๆ ว่าเราทำกายสุจริตถูก วจีสุจริตถูก มโนสุจริตถูก นั่นคือ เราให้อาหารที่เป็นอาหาร หรือเป็นยาฆ่านิวรณ์ เป็นอาหารของวิชชา ถ้าเราฆ่านิวรณ์ได้ ด้วยสติปัฏฐาน ๔ ด้วยโพชฌงค์ ๗ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจน ในอวิชชาสูตร ในตัณหาสูตร ซึ่งเราได้ศึกษาเรียนรู้แล้ว รู้ความหมายและกระทำได้ถูก มีบทปฏิบัติถูกต้อง เราก็จะเป็นผู้ที่ มีผลเสมอ ทำได้ยืดยาวออกมา มีความหมายออกมา ก็เพราะว่า เราได้สำรวมสังวร อินทรีย์ทั้ง ๖ ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญาอันแยบคาย เรามีปัญญาแยบคาย มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมดูแลทวารทั้ง ๖ สัมผัสแล้วก็ลดละ กาย วจี มโน ให้เข้าสู่ หรือเพิ่มกาย วจี มโน ที่มันน้อยไป ให้เข้าสู่ความพอดี ความสุจริต ความสมบูรณ์ ความได้ประโยชน์ ได้คุณค่า เราก็ลดนิวรณ์ไปตลอดกาล การลดนิวรณ์ สะเด็ดได้ตลอดเวลา ที่มีการงาน มีอาชีพ มีปฏิบัติ มีพฤติกรรม อันมีความเป็นไปธรรมดา เหมือนมนุษย์มนา เป็นคามินีปฏิปทา แต่เราดับทุกข์ไปสนิท เป็นทุกข์นิโรธ ชัดเจน นั่นคือ ความสูงสุดของผลในศาสนาพุทธ ถ้าผู้ใดดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้ แต่ไม่มีปฏิปทา เหมือนมนุษย์ชาวบ้าน ทำงานก็ไม่ได้ เอาแต่นั่ง เอาแต่หลบ เอาแต่หลีก เอาแต่ลี้ หรือว่าทำงานก็ไม่ได้ ฟุ้งซ่าน หรือทำเกินไป ในสังคม ทำอะไรก็กลายเป็น เผาผลาญพร่า เป็นการทำลาย เพราะว่ามันมากเกิน อย่างนั้นก็ไม่ใช่สิ่งดี ไม่ใช่ ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทา

การเข้าใจความหมาย และการเข้าใจปฏิบัติ ให้ถูกมรรค ของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ง่ายนัก แต่ก็จะต้องศึกษาเรียนรู้ แม้ขณะบัดนี้ เราจะสังวร ในคำพูดในวาจา ในวันพุธวันนี้ เราก็ต้องสังวร ระมัดระวังให้จริงๆ ผู้ใดมีน้อย ก็พึงมีสติ พูดให้พอเหมาะ หรือว่าไม่จำเป็น ตอนนี้ เราฝึกหัดในการควบคุม การเปิดหรือการดับ การหรี่หรือการเพิ่ม เราก็จะต้องเรียนรู้ว่า ตอนนี้ เรามีจุดมุ่งหมายหรี่ เพราะฉะนั้น เราก็จะให้น้อยไว้ หรือให้ไม่มี ตามแนวโน้ม ตามจุดมุ่งหมาย ที่เราได้ฝึกเพียร แม้คำพูด เราก็ฝึก แม้การกระทำการงาน เราก็ฝึกทุกวัน จิตนั้น ได้รับการฝึกไปด้วย ทั้งพูด ทั้งการงาน ทั้งแม้อยู่กับความนึกคิดของเรา น้อยไปเราก็รู้ มากไปเราก็รู้ ได้คุณได้ค่าได้ประโยชน์ จบแล้วก็รู้ มัวแต่คิดฟุ้งซ่านวนเวียน จบแล้วก็ไม่รู้จบ สบายแล้วก็ไม่รู้สบาย แล้วแถมเสพย์ในจุด ความคิดที่ว่างไป น้อยไป จนตัวเองกลายเป็น ตัวเสพย์ความว่าง ก็ไม่รู้ เราก็เลยไม่ได้สิ่งที่สมบูรณ์ ของศาสนาพุทธ เอียงเทไป ไม่ข้างหนึ่งก็ข้างหนึ่งน่ะ ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค ก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค อยู่โดยสองส่วน อย่างนั้น แต่ถ้าผู้ใดทำถูกต้องแล้ว แม้อยู่ในดงกาม เราก็ไม่ต้องเสพย์กาม แม้เรามีจิตสงบ เราก็ไม่ไปนั่งพิจารณา แล้วฝึกเพียร ให้ได้เกิดของจริง ความจริง อย่างแยบคาย สูงสุดบริบูรณ์ เพื่อเป็นการยืนยันศาสนาของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ตลอด นิรันดร์กาล ไปเถิดเทอญ .

สาธุ

*****