ธรรมปัจเวกขณ์ (๑๐๖)
๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕

ธรรมปัจเวกขณ์ (๑๐๖)
วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕

เราเรียนกันทุกวัน บอกสั้น บอกยาว บอกละเอียด บอกย่อสรุป บอกทุกจังหวะ การบอกมากๆ บางที ก็กลายเป็นความเบื่อหน่าย หรือว่า กลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะว่า เอา ไหนๆ ประเดี๋ยว จะไม่ต้องจำ ไม่ต้องใส่ใจ เดี๋ยวท่านก็บอกใหม่ เดี๋ยวท่านก็บอกอีกหรอก อันนี้เป็นความรู้สึก ของคนที่ไม่มีความรู้ เป็นคนที่ไม่เข้าใจด้วยปัญญาน่ะ คนที่เกิดประมาทอย่างนั้น เราเป็นคนที่คิดผิด มีมิจฉาทิฏฐิ ที่จะประมาทว่า เออ! ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวท่านก็บอกอีกนะ แล้วไม่ต้องจำหรอก แล้วบางทีก็ เบื่อๆ ซ้ำๆ เซ็งๆ นั่นเป็นลักษณะที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าการเบื่อหน่ายนั้น ไม่มีในพระอรหันต์ โดยเฉพาะพระอรหันต์ ไม่เบื่อธรรมะ ที่ท่านต้องเอาพระอรหันต์ มาเป็นหลักยืนยัน เพราะพระอรหันต์ มีปัญญาดีแล้ว เป็นความสัมมาทิฏฐิ อย่างสูงสุดแล้ว ว่าความเห็นอย่างนั้น เป็นมิจฉา ในการเบื่อ ในการหน่าย โดยเฉพาะ เบื่อภาษาธรรมะ มาเบื่อหลักธรรม มาเบื่อคำซ้ำซาก เราเบื่อไม่ได้ ฉันเดียวกันกับ เราเบื่อการขี้ เบื่อการเยี่ยว เบื่อการกินอาหาร เบื่อไม่ได้ เพราะมันเป็นสัจจะ มันเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันจะต้อง โปรยสิ่งนี้ลงไว้เรื่อยๆ จะต้องรับเอาสิ่งนี้ มาสังเคราะห์ไว้ ถ้าในโลกไม่มีธรรมะ มาสังเคราะห์ให้แก่คน ให้แก่โลก อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะธรรมะที่เป็นสัจธรรม เป็นสัทธรรม เป็นธรรมะที่ดีที่งาม ยืนยันความไม่ดี ก็บอกไม่ดี ความดีก็บอกดี ความถูกต้องก็บอกถูกต้อง ความผิดบอกผิด จะต้องโปรย จะต้องกำกับ กำชับกำชาโลกไว้เรื่อยๆ ว่าอย่างนี้ไม่ดีนา อย่างนี้ไม่ดี อย่างนี้ๆ ทำ รักษาไว้ ทำให้ยิ่ง อย่างนี้ไม่ดี เลิกๆให้หมด เลิกให้หมด บอกกัน แนะนำกันอยู่ ซ้ำซาก เกิดมาใหม่ก็ให้รู้ เกิดอยู่เก่าๆก็ให้รู้ เกิดมาแล้ว ก็ให้ย้ำซ้ำซาก จำไว้อย่าให้เลือน อย่าให้ลืม เพราะการรู้ แม้แต่ธาตุรู้ แม้แต่จิตเอง จิตเองมันก็สภาพเป็นสังขารธรรม เพราะจิตไม่มีตัวตน จิตเป็นความประชุม เท่านั้น แต่มันมียางเหนียว มันมีอะไร ที่เป็นอุปาทาน เข้าไปรัดรอบ เข้าไปยึดถือ แล้วมันก็เกิดเป็นกิเลส ตัวกิเลสก็เลย ไม่รู้จักสลายกันสักทีหนึ่ง แล้วมันก็เป็นสังขารธรรม ที่ไปทำให้คนหลงว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นเที่ยงเป็นแท้ เป็นยืนยันยืนหยัด

เราถึงมาล้าง เราถึงมาเรียนรู้ยางเหนียว มาล้างยางเหนียว ให้ออกให้ได้ ให้หมด เมื่อหมดแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็รู้ธาตุแท้ของสังขารธรรม รู้สิ่งที่จะต้องสังเคราะห์ไว้ในโลก เช่น ท่านจะต้องกินอาหาร ท่านจะต้องอุจจาระ ปัสสาวะ มันเป็นการซ้ำซากแหละมนุษย์ ต้องยืน ต้องเดิน ต้องนอน ต้องนั่ง ต้องพูด ต้องทำงาน มันเป็นการซ้ำซาก แต่สิ่งนี้ ควรจะสังเคราะห์ไว้ สิ่งนี้ควรจะดำเนินไปให้ดี สิ่งนี้ควรจะพยายามทำให้ยิ่งอยู่ ทำให้ยิ่งอยู่ อย่าให้เลือนหายไป เมื่อใครเข้าใจอย่างนี้แล้ว หรือ พระอรหันต์ท่านเข้าใจ ท่านก็ไม่เบื่อ ท่านก็ไม่เซ็ง แม้จะซ้ำซากอย่างไร ก็บอกแล้ว เหมือนกันกับ เราต้องเดิน ต้องนอน ต้องขี้ ต้องเยี่ยว ต้องกิน มันเป็นธรรมดา น่ะ

ถ้าเผื่อว่าผู้ใดฟังธรรม เป็นธรรมดา มีทุกวัน อย่างที่เราเป็นนี่ ถ้าผู้ใดเกิดอาการเบื่อ หน่าย เซ็ง แน่นอน นั้นเป็นผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิแล้ว มีสิ่งที่ไม่เข้าเรื่องแล้ว ฟังธรรมะ แม้จะมีธรรมะ ผู้ที่จะสาธยาย อาจจะมีถูกบ้างผิดบ้าง หรือว่า สาธยายไม่เก่งบ้าง เราก็ต้องเห็นใจ เราก็ต้องเอาใจช่วยคนที่ไม่ค่อยเก่ง นี่ยังเด็ก เดินไม่ค่อยได้ เดินเตาะแตะๆ แล้วแกจะเดินล้มนี่น่ะ ถ้าเรามีเมตตา เกื้อกูล เอื้ออารี เราจะเอาใจใส่ เอาใจช่วยเด็ก เอ๊ย! เด็กอย่าล้มนะ อย่าล้มนะ อย่างนี้เป็นจิตอันดี เป็นเมตตา เกื้อกูล ทีนี้บางคน เทศน์ยังไม่เก่ง เทศน์ยังไม่ดี ยังไม่ค่อยถูกนัก ผิดๆบ้าง ถูกๆบ้าง เหมือนอย่างกับเด็ก กำลังเดินยังไม่เก่ง เดินยังไม่แข็งแรง เดินยังไม่ดีนี่ เรายังสงสารได้ แต่พระหรือผู้ที่เขาเทศน์ เทศน์ยังไม่เก่ง เทศน์ยังไม่ดี เราก็เลยไปเบื่อไปชัง ไปดูถูกดูแคลน อย่างนั้นเป็นจิตเลว เป็นอกุศลจิต แทนที่เราจะมีใจ นึกเช่นเดียวกันกับเขา เห็นเด็กที่ยังไม่เก่ง แล้วเราก็ยังอุตส่าห์ เอาใจช่วย

พระหรือว่าผู้รู้องค์ใด มีโอกาสได้ขึ้นเทศน์ขึ้นสอน ผิดบ้างถูกบ้าง เหมือนเด็ก เดินเอียงไปเอนมา จะล้มเหมือนกันนะ เราก็ต้องอภัย เดินไม่ค่อยถูก ทำยังไม่ค่อยเป็น การที่ทำยังไม่ค่อยเก่ง ไม่ค่อยเป็นนี่ น่าเอ็นดู และน่าสงสาร ถ้าเรารู้ เราคอยช่วยกัน ถ้ามาอยู่ในฐานะจะช่วยได้ ผู้ใหญ่ท่านจะรู้ ผู้ใหญ่ท่านจะช่วย ผู้ใหญ่ท่านจะอุ้มชูกัน ช่วยเลี้ยง ช่วยพยายาม ปรับปรุงให้ดี มันก็เป็นอย่างนั้น โดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้น แม้แต่พระองค์ใด ที่ท่านเทศน์ไม่เก่ง เทศน์ยังไม่ดี ผิดบ้าง ถูกบ้างก็ตาม เราก็ต้องทำใจ เหมือนกับเราเห็นเด็ก ที่ทำไอ้นี่ ยังไม่เก่ง หรือคนที่ยังไม่มีฝีมือในสิ่งนั้น ทำพึ่งจะค่อยๆหัด ค่อยๆฝึก ยังไม่เก่ง ผิดบ้างพลาดบ้าง เราก็ต้องอภัย เราก็ต้องช่วยกัน เอ็นดู เมตตา จิตกุศล จิตเอ็นดู เมตตาเป็นจิตดี จิตเบ่งข่ม จิตดูถูกดูแคลน เป็นจิตเลวน่ะ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปสร้างจิตเลวอย่างนั้น การฟังธรรมซ้ำซาก ก็แนะให้ฟังแล้วว่า มันก็เหมือนกันกับ เรากินข้าว มันก็เหมือนกันกับ เราอุจจาระ ปัสสาวะ เหมือนกับ เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน มีเป็นประจำชีวิต สั้นบ้างยาวบ้าง เหมือนกัน เดิน ยืน นั่งนอนทุกวัน วันหนึ่ง เราเดินมาก เดินน้อย เรานั่งมาก นั่งน้อย มันเหมือนกันทั้งหมด ถ้าผู้ใดเข้าใจอย่างนี้แล้ว ธรรมะเป็นธาตุสังเคราะห์เหมือนกัน เราก็จะต้องสังเคราะห์ไว้ เราก็จะต้องติดต่อไว้ ย้ำไว้ อันใดมีผลเพิ่ม ใหม่ แปลก เราก็ได้ฟังใหม่ เราก็ได้รับความแยบคาย ลึกซึ้งเพิ่มขึ้น อันใดไม่ใหม่ ไม่แปลก เป็นการซ้ำซาก เราก็เหมือนกินเม็ดข้าวทุกวัน อันนั้นเราก็จำไว้ เป็นสัญญา เป็นกำหนดรู้ เพื่อไม่ให้มันร้างเลือน ไม่ให้มันลืมเลือน สัญญาก็ไม่เที่ยง ถ้าเราไม่ย้ำ ไม่ซ้ำ ไม่เติมไว้ ไม่พยายามท่อง ไม่พยายามทวน มันก็ร้างก็เลือน เพราะมันไม่เที่ยง นะ

ถ้าเราได้ฟังซ้ำของซ้ำ ไม่มีใหม่ เราก็ถือเสียว่า เราจำเพิ่มจำไว้ เพราะจำธรรมะ มันดี ถ้าเผื่อว่า มันมีใหม่ เราก็จะได้ผลประโยชน์อีก เพิ่มเช่นเดียวกัน ถ้าเราทำในใจอย่างนี้ เราก็จะฟังธรรมะได้เสมอ ฟังเมื่อไหร่ๆ ไม่มีเบื่อหน่าย ดังพระพุทธเจ้า ท่านตรัสแล้วว่า พระอรหันต์เจ้า ไม่มีวันเบื่อธรรมรส หรือ เบื่อธรรมะ ไม่มีการเบื่อหน่าย ในการฟังธรรมน่ะ ก็ขอให้ทุกคน ได้ทำในใจด้วย รายละเอียดที่ได้แนะนำนี้ และอย่ามีจิตที่เป็นอกุศล ดังที่ได้แนะเชิงไว้แล้ว ให้มีจิตเป็นกุศลๆ ทุกเมื่อ ในสิ่งที่ควร แล้วเราจะเป็นผู้เจริญ ทุกคนแล

สาธุ

*****