ธรรมปัจเวกขณ์ (๑๑๑) ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๕ |
การพิจารณาทั้งภพทั้งกาม ไม่ว่าจะเป็นกามภพ ภวภพ เราพึงมีจิตอันละเอียด ที่จะได้ประโยชน์ ทั้ง ๒ ฐาน กามเราก็มีอิริยาบถ มีส่วนสัมผัสสัมพันธ์ แม้เราจะอยู่ในวัด ซึ่งเราพยายามที่จะให้มีกาม มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ยั่วยวนน้อยแล้วก็ตาม มันก็ยังมีกามอันละเอียดซ้อนใน โดยเฉพาะ เรากินอาหาร เรื่องอาหารนี่ เป็นเรื่องที่มีกาม ผสมมาอยู่เยอะ เราจะต้องละเอียดลออ เรียนรู้ซ้อน ซับซ้อน ให้ลึกซึ้ง ประณีต ถอดถอนออกให้ได้จริงๆ จับให้มั่น คั้นให้ตาย รู้ให้จริง เพราะในฐานของกาม เราก็ยังได้ฝึกอยู่ ฐานของภพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยู่อรัญวาสี อยู่ในวัดป่า วัดที่สงบ แล้วเราก็ฝึกสงบ แต่ความสงบของเรา จะต้องมีสภาพที่จะต้องเรียนรู้ ให้ชัดแจ้งว่า สงบ โดยที่ไปหยุดอยู่เฉยๆนั้น มันไม่ได้ แล้วมันก็ติดหลับ ติดนอน ติดเอน ติดอยู่นิ่งๆเปล่าๆ เราจะต้องพิจารณา เราจะต้องเรียนรู้ เราจะต้องรู้ ยิ่งอยู่สงบนี่ มีอะไร มันไม่มีอะไรกวน จิตของเราจะไม่ถูกดึง ถูกอะไรไปมาก ถ้าเราลดกามลงได้ พอสมควรแล้ว จิตของเรา ก็จะสงบพอ ที่จะอ่านที่จะพิจารณา ที่จะดูความเป็นกิเลส โดยเฉพาะกิเลสติดภพ ต้องเข้าใจภวตัณหา หรือกิเลสติดภพ ให้สำคัญ และเราก็ต้องพยายาม มีวิธีทำคืน หรือมีวิธีสลัดออก มีอิทธิวิธี ในทางที่จะแก้การติดภพ หรือมีตัณหาในภพ หรือแก้ตัณหา ภวตัณหา
กามตัณหาก็ได้พิจารณา ภวตัณหาก็ได้พิจารณา ถ้าผู้ใด ตัดกามตัณหา ภวตัณหาได้อย่างสูง ก็จะเหลือสภาพของภวตัณหา อย่างลึก อย่างซึ้ง แล้วมันก็จะเรียกว่า วิภวตัณหา ซึ่งเป็นความปรารถนาไปสู่ดี ปรารถนาดี กระทำดี เจตนาดี แล้วเราก็จะต้องเรียนรู้ซ้อนอีกว่า แม้แต่ทำดีเหล่านั้นๆ มันเป็นมานะได้ มันเป็นสิ่งที่เราติดยึดได้ หลงอัตภาพ หลงสร้าง หลงเกิดอยู่ต่อ ได้
เราทำเพียงอาศัย เราไม่มีมานะ เราจะมีการสร้างสรร อย่างขยันหมั่นเพียร ขยันโดยที่เรารู้ว่า เราก็ทำสุดแรงเมื่อย สุดความสามารถ เมื่อยพัก ไม่เมื่อยก็เพียรไป จนกว่าจะตาย จนกว่าจะถึงหลุมฝังศพ นี่เป็นความหมายชั้นสูง ของพระอริยเจ้าระดับสูง ที่จะต้องเรียนรู้ และเข้าใจ เพื่อปล่อยอัตภาพสุดท้าย เรียกว่า วิภวตัณหา เพราะฉะนั้น วิภวตัณหา ถ้าพิจารณาในเชิงกุศล ก็จะเป็นบทบาทที่เป็นกุศล สร้างสรรอยู่ จะเรียกโดยปริยาย ทว่าเราจะต้องมีดำริ มีการผลักดันให้มโนกรรม เกิด มีอากังขาวจร มีอิจฉาวจร มีความปรารถนาดี แล้วก็สร้างสรร
จะบอกว่าเราปรารถนา จะบอกว่า เราก็ประสงค์จะให้เกิด จะให้เป็น จะให้มี มันก็ต้องเป็น จะเรียกว่าตัณหา หรือ ไม่เรียกว่าตัณหา ก็ผู้รู้นั้นๆ จะเป็นผู้ที่รู้ และ กำหนดเอาเอง เราทำเพราะเราเข้าใจว่า เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเพื่อตนอะไร บอกใคร ใครเขาก็ไม่เชื่อง่ายๆ แต่เราทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์เพื่อเขา เราไม่ได้เสพย์ เราไม่ได้ติด เราไม่ได้มีแอบเสวย แอบติดอยู่ เป็นเอร็ดอร่อย เป็นอัสสาทะ แม้แต่เศษเล็กเศษน้อย เราจะต้องละเอียด สุขุม ประณีตจริงๆ แล้วเราถึงจะกระทำอะไรต่ออะไร อย่างบริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้
เพราะฉะนั้น การพิจารณา ทั้งกามภพ และภวภพ ก็ขอย้ำเตือนว่า ให้เราแยบคาย ให้เราละเอียดลออ ศึกษา เพื่อละลดจากกาม ให้เป็นกามาสวะ จากภพให้เป็นภวาสวะ จนกระทั่ง เรารู้ยิ่งรู้จริง ถอนอวิชชา ถึงขั้น จบสิ้น อวิชชาสวะ ไม่มีอาสวะ แม้ในอวิชชาใดๆ ทั้งสิ้นทั้งมวล ก็จะเป็นการถึงที่สุด ของแต่ละบุคคล ตามที่หมาย
สาธุ
*****