ธรรมปัจเวกขณ์ (๑๒๗)
๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๕

อันว่าการศึกษา ซึ่งมีทั้งปริยัติและปฏิบัติ อย่างสมบูรณ์นั้น เป็นการศึกษาที่ เป็นการศึกษาที่มีบุญ เป็นการศึกษาที่อุดม การศึกษาที่ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ขาดปริยัติ และขาดปฏิบัติ ไม่ว่าปฏิบัติที่ขาดปริยัติ หรือไม่ว่าปริยัติที่ขาดปฏิบัติ อย่างแท้จริง มันเป็นการศึกษาที่ไม่อุดม เป็นการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์ เป็นการศึกษาที่ กระพร่องกระแพร่ง มันไม่มีทางที่จะเจริญงอกงาม ได้อย่างเต็มที่ ที่เราเป็น เรามีอยู่ ทุกวันนี้ บางคนก็ว่า การศึกษาของเรา มีปริยัติมากปฏิบัติน้อย บางคนก็ว่า มีปฏิบัติมาก มีปริยัติน้อย แต่ที่ว่ามีปฏิบัติมากมีปริยัติน้อย จนจะมีบางส่วน บางกลุ่มบางคน ที่ดูเท่านั้นเอง อยู่ห่างๆ แต่ส่วนเรานั้น ที่มาอยู่ใกล้ชิด จะเห็นได้ว่า บางคน ออกจะมองว่า เรามีปริยัติมาก ปฏิบัติน้อยด้วยซ้ำไป แต่ก็ขอยืนยันว่า ปริยัติเราก็ไม่ได้มากเกินไปหรอก เพราะว่าปริยัตินั้น เป็นเนื้อแท้ของศาสนา เราจึงเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเรียกว่า ธรรมะ ไม่ว่าจะเรียกว่าศาสนา ก็ล้วนแปลกันว่า คำสอนคำพูดทั้งสิ้น เพราะอันนี้ เป็นเนื้อเป็นแกน เป็นลักษณะจริง สำคัญอยู่ที่ว่า ผู้เรียนรู้ ผู้ศึกษาเท่านั้น ที่จะรับคำสอน นั้นไป ให้เป็นช่วงเป็นตอน ให้เป็นต้นกลางปลาย และตรวจกับตน อย่างเหมาะสม เราสามารถจะเรียนปริยัติ ไปจนกระทั่งต้นจนจบ โดยไม่ได้ปฏิบัติเลย ก็ยังได้ ดังที่ศาสนาพุทธ ที่มีอยู่ ผู้ที่เป็นพระเป็นสงฆ์เป็นสมณะ เรียนแต่ปริยัติถ่ายเดียว ตั้งแต่ต้นไปจนสุด ไม่มีปฏิบัติ หรือมีปฏิบัติ ก็ย่อหย่อนน้อยมาก ก็ยังทำได้ เรียนได้ และก็สามารถ ที่จะได้รับความเคารพนับถือ สามารถรักษาศาสนาไว้ได้เหมือนกัน พอเป็นไป แล้วเดี๋ยวนี้ ก็ยังมีบทบาท ที่เป็นผู้บริหาร ควบคุมดูแล ทั้งๆที่เป็นผู้ที่เจริญด้วยปริยัติ

ส่วนฝ่ายปฏิบัตินั้น ถ้าปฏิบัติขาดปริยัติแล้ว กลับไม่มีท่าจะคุ้มครอง รักษาบริหาร เผยแพร่ ทำให้ศาสนานี้ กว้างขวางขึ้นไม่ได้ มีแต่วัน เรียวลงๆ ดังที่มีความจริง เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วปฏิบัติที่ไม่มีปริยัติที่ถูกต้อง ก็เพี้ยน ออกๆๆ ดังที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะเป็นปฏิบัติ ที่ไร้ปริยัติ หรือปริยัติอย่างผุกร่อน ตัวเองก็ไม่เรียนปริยัติให้ดี ทดสอบเทียบเคียงก็ไม่ได้ แล้วก็ไปรับเอาปริยัติของผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ จึงกลายเป็นปริยัติ ที่จะปฏิรูปอย่างไร จะเพี้ยนเป็นสัทธรรมปฏิรูป ไปอย่างไร ผู้ปฏิบัติ ก็ไม่สามารถที่จะมีปัญญา รู้ได้เท่าทัน ศาสนาจึงเป็น ปฏิบัติที่รับเอาปริยัติเพี้ยน เข้ามาสวมเข้าไปอีก และก็ทำให้ ถูกนำพาไปในความหมายที่เพี้ยนนั้นไปอีก ปฏิบัตินั้น แม้ศึกษาปริยัติ ก็ไม่มากแล้ว แล้วยังแถมรับเอาปริยัติที่เพี้ยน เข้าไปอีก ปฏิบัติจึงเพี้ยนตามไปอีก ดังที่เป็นอยู่

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติก็เพี้ยน ปริยัติก็มีแต่ ปริยัติที่ปฏิรูปไปเรื่อยๆ เพราะความจริง มันไม่ลงตัว ศาสนาถึงได้ผุกร่อน และเสื่อมโทรมลงไป ด้วยประการอย่างนั้น โดยความจริงแล้ว ปริยัติก็ต้องเรียนกันทุกวี่ทุกวัน ดังที่เราได้สอบทานได้ ในพระไตรปิฎก ท่านเรียน ท่านศึกษา ทุกวี่ทุกวัน ศึกษากันน่ะ ถกธรรมะกัน คุยธรรมะกัน คืนยังรุ่ง วันหนึ่ง สองวัน ทั้งสองวันสองคืน สามวันสามคืน ท่านคุยท่านถก ท่านเรียนกันมากหลาย ดังนั้น ไม่ได้เป็นดังนักปฏิบัติ ที่มากล่าว กราดว่า ผู้ปฏิบัติ อย่าไปเรียนปริยัติ ปริยัติมันเฟ้อ ปริยัติมันไม่ถูกต้อง อันนั้นเป็นความโง่ของผู้ปฏิบัติเอง ที่ไม่สามารถ เรียนปริยัติ แล้วก็แบ่ง ปริยัติถูกว่า เบื้องต้นท่ามกลางบั้นปลาย นี้เป็นความรู้ เป็นแผนที่ เป็นอัตราการเดิน ที่เราจะเดินไปแค่ไหน เราต้องรู้ความจริงว่า เรามีก้าวกี่ก้าว เราก้าวสั้นหรือก้าวยาว เราก้าวเล็กหรือก้าวใหญ่ มันของของเราต้องตรวจตัว แล้วเราก็ทำ ให้เหมาะสมกับตน อันนี้ ศาสนาพุทธ กำชับไว้มาก เพราะต้องดูตน ทำให้กรรมฐาน เหมาะตน จึงกำหนดด้วยศีลบ้าง เป็นหลักการ แต่คำว่าศีล ก็เป็นหลักการเท่านั้น การปฏิบัติ จึงจะกำหนดเอาศีล สมาทานศีล ตามพอเหมาะพอดีของตนเอง ผู้ที่เรียนรู้ปริยัติแล้ว ก็เอาปริยัติเหล่านั้น มาทำความเข้าใจ แล้วปฏิบัติให้ถูกตนถูกตัว จึงไม่จำเป็นจะต้อง ไปผลักไสปริยัติทิ้ง แล้วเราก็เรียนไป ปฏิบัติตามไป ทุกวี่ทุกวัน ทุกโอกาส ทุกขณะ ตามที่เราจะมีความสามารถ เพ่งเพียรไปได้ เรื่อยๆๆๆ เราก็จะเจริญ ตามระดับ ตามระยะที่เป็นไป

ผู้ใดที่เห็นว่า ตัวเองไม่ใส่ใจเรียน และไม่อยากเรียนหรอก ปริยัติ เรียนก็รู้มาก แล้วก็ปฏิบัติไม่ได้ ผู้นั้นประมาท ถ้าเผื่อว่าไม่มีโอกาส จะได้เรียนกับปริยัติที่ลึกซึ้ง ปริยัติที่สูง ไปในอนาคต แล้วเราจะไปเอาปริยัติมาจากไหน ถ้าเราเรียนไว้ก่อน ผนึกไว้ก่อน ลึกซึ้งไว้ก่อน แล้วก็ทำความเข้าใจ เก็บเรียงเอาไว้ รู้เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ให้ถูกลำดับดีแล้ว ไม่ใช่ว่ารู้แล้วล่ะ นี่มันไกลไป นี่มันยังไม่ใช่ของเราเกินการ ก็เมื่อเรา เป็นนักศึกษา เรามีโอกาสเรียนน่ะ เรามีบุญดีแล้ว เราเอง เราก็ไม่เข้าใจ เพราะความขี้เกียจ มาเป็นต้นเหตุใหญ่ เพราะความที่เราไม่ค่อยมีความเพียร ไม่มีความเอาใจใส่ เพียงพอ ทำให้เราขาดประโยชน์ ขาดผล

ที่นี่สมบูรณ์แล้วด้วยศาสนา สมบูรณ์แล้วด้วยธรรมะ สมบูรณ์แล้วด้วยคำสอน และ พากันปฏิบัติ สมควรแก่ธรรม เป็นสามีจิปฏิปันโน อยู่เสมอๆ ผู้ได้ปฏิบัติให้สอดคล้อง กับความหมายของปริยัติ ของบทเรียน ของทฤษฎี ไปเรื่อยๆๆๆ เราก็ทำได้สมควรตามธรรม สมควรแก่ธรรม ที่เราได้ศึกษาปริยัติปฏิบัติ แล้วก็เกิดผลจริง เป็นปฏิเวธธรรม เรื่อยๆไป ขอให้ทำความเข้าใจให้ดี อย่างนี้ อย่ากลายเป็นคน สาดเสียเทเสีย สาดทิ้ง หรือว่าดูถูกดูแคลน นับวัน ถ้าเผื่อว่าพวกเรานี่ ยังสอน ก็จะต้องสอนกันไป อย่างนี้ตลอด เหมือนอย่างกับศาสนาแต่โบราณ เหมือนกันกับตั้งแต่สมัย พระพุทธเจ้า ก็เหมือนกัน ท่านสอนกัน ลงศาลา ท่านอุตสาหะวิริยะ สอนพูดอธิบาย อยู่ตลอด ขนาดนั้นยังจำไม่ฟั่นเฝือ ขนาดนั้นยังสับสน ทั้งท่องทั้งจำ ทั้งอธิบายขยายความ ทั้งสอน เพื่อที่จะให้เกิดความมั่นคง เกิดความยืนยง เกิดความยังทรงอยู่ เกิดความไม่เพี้ยน ไม่พลาด ไม่ปฏิรูป ไม่เปลี่ยนแปลงไป

ขอให้เข้าใจอันนี้ แล้วก็ท่องทวน ท่องจำ หรือว่าซ้ำฟัง ซ้ำกำหนด ซ้ำยืนหยัดยืนยัน แม้จะมีบทใหม่ ความหมายใหม่ ที่ขยายเพิ่มเติม แม้จะเกินตัวปฏิบัติของเรา เกินขั้นฐานะของเรา ก็เป็นการศึกษาปริยัติ เก็บไว้เรียงไว้นั่นเอง ถ้าผู้ใด เข้าใจอย่างนี้แล้ว ขาดตรวจตนเอง รู้ว่าตนเองมีความขี้เกียจ มีสิ่งที่มันจะต่อต้าน ให้เราเอง เป็นผู้ที่ถดถอย ไม่ก้าวหน้า ไม่เจริญด้วยปริยัติ แล้วก็เพื่อที่จะนำเอาไว้ปฏิบัติ ปฏิบัติให้เกิดธรรม ที่สมควรแก่ธรรม ดังที่กล่าวนี้แล้ว ก็ขอให้สังวรระวัง แล้วก็ทำ ให้เป็นผู้ที่ สมบูรณ์ด้วยปริยัติ สมบูรณ์ด้วยปฏิบัติ จนกระทั่งถึงที่สุด ปฏิบัติตามปริยัติ นั่นแหละ เป็นทางแห่งการปฏิบัติของพุทธ เขาไม่ได้บอกว่า ปฏิบัติก่อนปริยัติ แต่เขาจะบอกว่า ปริยัติก่อนปฏิบัติ มาเสมอ นี่ก็เป็นหลักฐาน ย่อยๆ อื่นๆ มีอีกเยอะแยะ ที่เป็นหลักฐาน ยืนยันว่า ก็เรียน ศึกษาคำสอน แล้วปฏิบัติตามคำสอน ให้เกิดผลที่จริง จนสมบูรณ์ได้ นั่นคือ ความบริบูรณ์บริสุทธิ์รอบถ้วน ขอให้ทุกคนสำนึกเสมอ ตระหนักเสมอ ในหลักนี้ ไม่เช่นนั้น เรากลายเป็นว่า ทุกวันนี้ ได้มีคน ได้พยายามกล่าวกราด หรือว่า มีจิตเป็นทิฏฐิที่ไม่ถูกต้อง เกิดขึ้นแล้ว ว่าเราจะไม่ขึ้นศึกษาแล้ว ปริยัติเรามีมากแล้ว อะไรต่ออะไรต่างๆพวกนี้ ถ้าเรียบเรียงถูก ดังที่กล่าวนี้แล้ว เราจะไม่เกิดอันนั้น ความพร้อมเพรียง สามัคคีธรรม นี่นะ ทั้งรูปและนาม ก็จะเป็นสิ่งที่ลงตัวกัน สมบูรณ์ เห็นความสามัคคี พร้อมเพรียง ได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ก็เป็นความสามัคคี ที่เป็น ทิฐิสามัญญตา แล้วจะเกิดศีลสามัญญตา กันอยู่อย่างสามัคคีธรรม กันไปได้ นานเท่านาน.

สาธุ

*****