ธรรมปัจเวกขณ์ (๑๓๔) ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ |
ในขณะนี้ที่เราทำการศึกษา ในระดับที่แยบคายขึ้น พยายามที่จะเน้น พยายามที่จะชี้ จะเจาะเข้าไปที่ความลึกซึ้ง เพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไรนัก ก็อาจจะยาก เมื่อยาก เราก็จะต้องเข้าหามิตรดี สหายดี เข้าหาผู้รู้ ที่เป็นรุ่นพี่ รุ่นผู้รู้อื่นๆ ที่ท่านได้ทราบมาก่อน เพราะผู้รู้ ที่รู้ยิ่งไปกว่า ท่านก็จะสอนผู้ที่สูง ระดับสูง เป็นชั้นๆๆไปอีก เพราะฉะนั้น การค้นคว้าหาความรู้ หรือ พยายามที่จะศึกษา ก็จะต้องมีระดับมากขึ้น การที่รู้ระดับ รู้ฐานะแห่งบุคคล ที่ซับซ้อน ร้อยเรียงมากขึ้นๆ เป็นการอันวิจิตร เป็นการรู้โลก หรือโลกวิทู ที่ยิ่งๆๆขึ้น เพราะระดับในความสืบเนื่อง ปฏิกิริยาลูกโซ่ ในโลกนี้ มันหมุนรอบเชิงซ้อน หลากหลาย จนคณานับ ไม่สามารถที่พูดหมดได้ เพราะฉะนั้น จึงพูดเป็นช่วงตอน ช่วงตอนเท่านั้น ผู้มีปฏิภาณสูง จึงจะนำมาร้อยเรียง ด้วยความเข้าใจของตน แต่ขนาดนั้น ก็จะจับมาเรียง ให้คนอื่นรู้ โดยภาษา แม้โดยช่วงใด ก็ต้องเอามาเรียงให้คนรู้ ในช่วงหนึ่ง จะเขียนเป็นตำราทั้งเล่ม ก็ยังหมดไม่ได้ จะมาเรียงอย่างไร ก็ไม่หมดได้ มันมากเกินกว่าที่จะคณานับ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ยาก แก่การศึกษาของมนุษย์ ทุกวันนี้ คนที่มองเผินๆ ตื้นๆ จะทำลายสิ่งที่ลึกซึ้ง เพราะเมื่อเวลา มันลึกซึ้งแล้ว มันย้อนแย้งอยู่ในตัว มันเป็นสภาพที่ซับซ้อน เป็นสภาพที่มี การแย้งอยู่ในที อยู่ในตัว เป็นคัมภีราวภาโส มันเป็นสภาพซับซ้อน วนไปวนมาอยู่ในที เป็นไดอะเล็คติค (dialectic) เป็นการค้านแย้ง สับสนอยู่ ถ้าเผื่อว่า ผู้นั้นเรียงสภาพ ที่มันได้ระเบียบได้ระบบ ด้วยความรู้อันชัดแจ้งไม่ได้ ก็จะเรียงไม่เป็น และสับสนวุ่นวาย เพราะคนใดรู้สึกวน รู้สึกวุ่นวายแล้ว ต้องตั้งใจศึกษาให้ชัดๆ เราจึงจะเรียบเรียง หรือ จะทำให้มันสูงขึ้นไปได้ เป็นระดับขั้นตอน
การศึกษาทั้งภาคปฏิบัติ ที่เรามีปฏิบัติ โดยเฉพาะ ปฏิบัติเป็นไปเพื่อ ศาสนาพุทธโดยตรง คือจุด ปลายทาง มันจะเป็นพหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ หรือ โลกานุกัมปายะ เป็นการอนุเคราะห์โลก และเป็นไปเพื่อประโยชน์ แก่คนส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นไปเพื่อ ประโยชน์ส่วนตน เป็นสุดท้าย แม้เราปฏิบัติผล เพื่อประโยชน์ตนนั้น ก็เพื่อการละตัวละตน เพื่อการเสียสละ ไม่ใช่เพื่อเอามาให้ตน ไม่ใช่เพื่อโลก ไม่ใช่เพื่อสนองตัณหา มาบำเรอตน นั้นคือประโยชน์ตน อันสอดคล้องกันกับประโยชน์ท่าน ไม่ค้านแย้งกัน เราบอกว่า เป็นประโยชน์ตน เรามองอย่างตื้นๆ แบบเถรวาท ก็เราก็คือ จะทำแต่ตน แล้วก็ปลีก หลีกลี้ หลบเลี่ยง โดยไม่สัมพันธ์กับผู้อื่น โดยความเห็นตื้นๆ ระดับง่ายๆ เรียกว่า เดินหมากรุกชั้นเดียว มันก็จะแค่นั้น ประโยชน์ตน แล้วมองดู ก็เหมือนค้านแย้ง กับประโยชน์ท่าน ผู้นั้นเอาแต่ตน ที่จริงไม่ใช่ ถ้าใครเข้าใจมรรค องค์ ๘ แล้ว ไม่ใช่เลย ทำประโยชน์ตนนั่นแหละ เป็นประโยชน์ท่าน เพราะเจาะโดย ความหมายภาษา ให้ฟังแล้วว่า ประโยชน์ตนนั้น คือการละความเห็นแก่ตน ละความโลภ ละความบำเรอตน ต้องอดต้องทน ต้องเสียสละ ต้องฝึกฝน ไม่ใช่เสพย์ ไม่ใช่ทำตามชอบใจตน แต่ทำให้ เป็นไปเพื่อผู้อื่น ถ้าแท้จริงแล้ว คือทำตามใจชอบผู้อื่นด้วยซ้ำ ตนนั้นไม่ใช่หลัก แต่ตนมีรู้ รู้ว่า ตามใจเขามากเกินไป เขาจะเสียหาย ถ้าขัดแย้งเขาบ้าง จะขัดเกลาเขาได้ แต่ถ้าเผื่อว่า ถ้าขัดเกลาเขาแรงเกินไป ก็จะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และแตกร้าว แม้แต่เรากับเขาเท่านั้น ก็จะแตกร้าวไปแล้ว เพราะถ้าเผื่อว่า เราจะช่วยกันอยู่ ยังไม่ตัดขาด ยังไม่ให้แตกออกไป เพราะว่า คนนี้ ยังพอช่วยกันได้ เราก็จะประสานกัน พอสมควร แต่ถ้าเห็นว่า มันไม่ควรจะต่อกันอยู่แล้ว ควรจะแตกออกไปก่อน ควรจะอยู่คนละแห่ง คนละที่ คนละอัน คนละสิ่งเสียก่อน เพราะว่า แม้อยู่ด้วยกัน ก็ไม่มีคุณค่าอะไรแก่กัน นอกจาก มีแต่จะทำร้ายทำลาย เพราะมันคนละเรื่อง จริงๆ เราก็ต้องตัด อย่างนี้ ต้องเป็นผู้รู้ หรือเป็นคนรู้ เพราะฉะนั้น ในการทำ จึงไม่ได้ทำเอาตามอำเภอใจตน แต่เราทำเพื่อประสานประโยชน์ เพื่อทำให้มันเรียบร้อย ให้มันเป็นไปด้วยดี ให้มันเจริญงอกงาม
ในความหมายลึกซึ้งแล้ว ประโยชน์ตนนั้นคือ ประโยชน์ท่าน ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าความหมาย ลึกซึ้ง สูงสุดแล้ว เป็นพหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ เพราะฉะนั้น คนที่บรรลุ เป็นเอกบุรุษแล้ว หรือเป็นมหาบุรุษแล้ว จึงไม่มีตัวตน งานการ หรือว่ากิจกรรม หรือว่าอะไรต่อมิอะไรอื่นๆ จึงมีแต่ผู้อื่นเท่านั้น มองผู้อื่นเป็นหลัก ตนเองนั้นไม่กังวล ไม่วุ่นวาย ไม่ลำบาก ไม่อะไรเลย มันจะอยู่อย่างไร ไม่ประหลาด แต่มันก็มีตัวรู้ รู้ว่าเรา ไม่ได้ทรมานตน ให้สุขภาพร่างกาย แกล้งให้ตนเองตาย แกล้งให้ตนเองทรุดโทรม แกล้งให้ตนเองเสื่อมต่ำอะไร ไม่ได้แกล้งตนเอง ก็รักษาดูแลตนอยู่ว่า ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้ร้าย ไม่ให้ทุจริต และก็ไม่ให้ทรุดโทรม อะไรจนเกินการ แม้มันจะเหนื่อย มันจะเพลีย มันจะอุตสาหะวิริยะบ้าง ก็ยังพยายามขวนขวาย อุตสาหะวิริยะ จะเหนื่อยบ้างก็ตาม มันยิ่งเป็นตัวจริง มันยิ่งเป็นตัวชัดว่า เราเสียสละ แม้จะเหนื่อยอยู่ เราก็ยังทำ นั้นเป็นตัว ไม่เห็นแก่ตน หรือเป็นตัวเสียสละ เนื่องไม่มีตัวตนที่ชัดแท้ สอดคล้องลงตัวที่สุด เพราะฉะนั้น เศษเสี้ยวของอัตตาของมนุษย์นั้น แม้แต่ตัวเอง ยังเอาอะไรเสพย์ ในตัวเองอยู่ ต้องรู้ในอารมณ์ เป็นที่สุดเลยทีเดียวนั้น เป็นของสูง นั้นเป็นเรื่องที่รู้ยาก แม้พระอนาคามี ก็ยังจะต้องมีเศษรูปราคะ อะไรพวกนี้อยู่ แม้แต่รูปราคะ หยาบกว่านี่ ก็ยังมีอยู่ ซึ่งมันเสพย์ตน เสพย์ตัว เสพย์ความพอใจของตน เป็นทิฏฐิราคะ หรือ เป็นมานะทิฏฐิ เป็นเรื่องของจิต ที่ยังมีทิฏฐิ และเราก็ยึดเป็นราคะได้ด้วย หรือเป็นรูปราคะ อรูปราคะ ซึ่งซ้อนละเอียดบางเบา เป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้ อย่างสูงสุด
ด้วยเหตุผลง่ายๆตื้นๆ เราจะเข้าใจแล้วว่า การปฏิบัติของพระพุทธเจ้านั้น ไปสู่ความละตัวตน หมดตัวหมดตน โดยภาษาง่ายๆ เราก็รู้แล้วว่า เมื่อหมดตัวหมดตน ถึงขั้นอัตภาพ ขั้นอารมณ์จิตใน สูงสุดแล้ว ตนมันไม่เสพย์อะไรเลย ตนมีแต่รู้ แล้วก็ทำงาน มีพักแล้วก็มีเพียร หรือมีเพียรนั่นเอง สมควรจะพักที่สุด เราก็พัก ถ้าไม่สมควรแก่การจะพัก เราก็ต้องถามตนอยู่เสมอว่า เวลาล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่ กายกรรม วจีกรรม ที่ดีกว่านี้ ยังมีอีก สำหรับผู้บริสุทธิ์จิตแล้ว ก็ถามเรื่อง กายกรรม วจีกรรมเท่านั้น แต่ผู้ยังไม่บริสุทธิ์จิตนั้น ก็ต้องถามจิตของเรา ยังเสพย์อยู่หรือเปล่า ขณะนี้ กายกรรมวจีกรรม ดีกว่านี้ยังมีอีก และจิตที่ดีกว่านี้ของตน ก็ยังมีอีกหรือเปล่า เรายังเหลือเศษเสี้ยวธุลีอะไร ที่เรายังติดยังเสพย์ เป็นอัตภาพ ยังไม่สมบูรณ์แท้ จึงต้องถามทั้งจิตด้วย แต่ถ้าเผื่อว่า ผู้สมบูรณ์แล้ว เหลือกายกรรมกับวจีกรรม และผู้ที่ยัง อบรมตนจริง นั่นแหละ ยังไม่รู้จิต ก็ต้องดูที่กายและวจีก่อน เราทำกาย เราทำวจี ดีกว่านี้ ขึ้นไปเรื่อยๆ นั้นเราได้อบรมตน แน่นอน และกายกรรมวจีกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นแหละคือ การสำรอกตัวตน ที่เหลืออยู่
สรุปทั้งหมดแล้ว ต้องพิจารณา ให้ซับซ้อนลึกซึ้งให้ดี ว่าเราจะล้างตัวตน ในขั้นสูงขึ้นๆนั้น ไม่ใช่เรื่องตื้นเขินเลย กว่าจะสิ้นเสพย์ หรือว่าจะหมดสภาพ อารามตา แม้ทำงาน แม้พูด แม้นอน เรายังเหลือเศษอารามตา คือยังเหลือระริก ระเริง ยินดี เล็กๆน้อยๆ อารามตา นี่มันเป็นความยินดีที่เล็กน้อย ยิ่งกว่าฉันทะ ยิ่งกว่าสภาพที่ มันทำให้คน ละเอียดลออได้ ที่จะละเอียดสูงสุดได้ เพราะฉะนั้น ในตัวตนที่เหลือเศษ ที่เราเรียกว่า อารามตานี่ มันเป็นจุดอาศัยเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใด เข้าใจ ความอาศัยได้ ผู้นั้นก็จะเข้าใจ อารามตา หรือว่า มีที่อาศัย อาวาส หรือ อาราม เป็นที่อาศัย ที่อาศัยสร้างสรรเท่านั้น มันไม่ใช่ความอาศัยเพื่อเสพย์ มันเป็นเพียงที่อาศัย เพื่อสร้างสรรการงาน เพราะฉะนั้น อารามตา ทุกอาราม จึงเป็นที่อาศัย เพื่อสร้างการงาน การงานนั้น เป็นการสร้างให้โลก ไม่ใช่ที่อาศัยเพื่อยึดครอง ถ้าอาศัยอย่างยึดครองแล้ว ก็อารามตานั้น มันก็ยังมีส่วนกิเลสตัวตน สิงสถิต หรือ ผูกพัน อยู่แน่นอน
เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะยินดี ที่จะเข้าใจความยินดีนี้ จึงจะต้องมีปัญญา อย่างแยบคาย อย่างลึกซึ้ง และจะต้องชำแรกความยินดี ออกไปให้หมด เศษส่วนของกิเลส อาราม คำว่าเป็นอาราม ถ้าเข้าใจยังไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นอาศัย หรือสิง หรือเสพย์ อย่างมีกิเลสอยู่ ถ้าผู้ใดอาศัย หรือสิง หรือเสพย์ ผู้พูดก็ยังไม่หมด แต่เมื่อรู้ว่าอาศัย เพียงอาศัย จะใช้คำว่าเสพย์ ก็ไม่ใช่เสพย์บำเรอตน แต่เป็นการอาศัยเพื่อมีแรง เพื่อมีพลัง หรือ เพื่อมีถิ่นที่จะสร้างสรร เพื่อมีองค์ประกอบ ที่จะรังสรรค์ ให้แก่มนุษย์ ได้เท่านั้น
นี้เป็นความหมาย ที่เราพยายามจะศึกษา เพิ่มเติมขึ้นไป เรามีฐานอาศัย พอสมควร เราละลดโลกธรรม ที่มันเป็นโลกธรรม ระดับหยาบ มาจนกระทั่งกลาง ไล่เรื่อยขึ้นมา ได้อย่างแท้จริง และเราก็ยังจะสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป เพื่อจะเป็นคนที่มี ประสิทธิภาพสูงสุด มีสมรรถภาพสูงสุด เกิดการสร้างสรร เกิดสามัคคีธรรม และ เกิดมนุษย์เจริญสูง มนุษย์ตัวอย่างของโลก ขอให้พวกเราศึกษา และพยายาม อุตสาหะวิริยะ ในการอบรมตน ความแยบคาย ก็ขอให้ใช้อย่างแท้จริง เป็นผู้ที่เบิกบาน สุขุม อ่อนโยน และ คล่องแคล่วได้ เป็นที่สุด.
สาธุ
*****