ธรรมปัจเวกขณ์ (๘๘)
๒๘ มกราคม ๒๕๒๕ ณ พุทธสถานปฐมอโศก

อยู่ในอาราม ที่เป็นอรัญวาสีอย่างนี้ เราต้องเข้าใจลักษณะของอรัญวาสี คือเป็นสถานที่ ที่เป็นเสนาสนะสงัด เสนาสนะสงัดนี้ มันจะช่วยให้เรามีกิเลสมากขึ้น และมันก็ช่วยให้เรา ไม่ต้องต่อสู้มาก ในเรื่องของโลกย์ ในเรื่องของรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสด้วย ว่าเรื่องของกาม มันก็จริงอยู่ แต่ว่าในเรื่องของกิเลส ในตัวถีนมิทธะ ตัวขี้เกียจ ตัวที่จะหลบหลับ ซึมเซา จิตไม่ตื่น เป็นปฏิปักษ์ต่อชาคริยานุโยคะ แต่อนุเคราะห์ ในเรื่องของกามสุขัลลิกะ อนุเคราะห์ช่วยในกามสุขัลลิกะอยู่บ้าง แต่เป็นภัยต่อ ชาคริยานุโยคะ อย่างยิ่ง เราจะต้องรู้เหลี่ยมมุม ของมันให้มาก

ถีนมิทธะ คือเราจะเป็นคนไม่ตื่น ๆ ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่เต็มสติ เป็นคนที่ขี้เกียจ เฉื่อยชา ไม่คล่องแคล่ว อืดอาด และจะกลายเป็นคนตกอบาย ในข้อขี้เกียจ ในข้อ กุสีตะ โกสัชชะ ในข้อนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็อธิบายไว้เยอะ มีโทษภัย หรือว่ามีเหตุ ๕ อย่าง ที่สามารถทำให้เรา กลายเป็นคนถีนมิทธะได้ เพราะโรคถีนมิทธะ กับอรัญวาสีนี้ เป็นโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่เกาะกินกันมามาก ถ้าเราออกป่า ออกเขาออกถ้ำ หรือออกที่สงัด อรัญวาสี เราจะต้องสำนึก ในเรื่องที่จะต้องแก้ชาคริยานุโยคะ อย่างยิ่ง ถ้าเราออกสู่คามวาสี มีสัมผัส มีบุคคล มีวัตถุกามมากมาย เราก็จะต้องพยายามสู้ หรือ พยายามที่จะขจัด ในฐานของกามสุขัลลิกะให้มาก เป็นผู้รู้ในนิวรณ์ ๒ ด้าน นิวรณ์ของกาม กับ นิวรณ์ของถีนมิทธะ ซึ่งเป็นสองสภาพ ต้องเข้าใจให้ดีนะ ถ้าเผื่อว่า เราอยู่ในอรัญวาสีอย่างนี้ ปฏิบัติไม่ถูกลักษณะ เราก็จะตกเป็นถีนมิทธะ เป็น กุสีตะ โกสัชชะ เป็นคนเสื่อม คนเลว เป็นอบายมุขด้วย

เพราะในฐานะของเถรวาทนี่ ที่อธิบายไปหาสภาพหยุด แล้วก็มีกรรมวิธีหยุด เด่น จนกระทั่ง งานน้อย แล้วก็เห็นว่า การปฏิบัติธรรม คือการหยุด และก็นั่งสะกดจิตตัวเอง เข้าไปๆๆ ซึ่งเป็นหลักการ มีมาหลายร้อย เป็นพันปี เถรวาทที่เป็นอย่างนี้ อยู่ในเมืองไทย เป็นอย่างนี้มาถึงร้อย และเป็นพันปีนั้น จึงเป็นความเชื่อที่เลยเถิด เป็นเถรวาทที่เลยเถิดขึ้นมา ยิ่งปฏิเสธว่า ไม่เอามหายาน ฐานที่เขาสามารถสอนคนอื่น ช่วยรื้อขนสัตว์ ซึ่งเป็นฐานของปัญญา ก็ยิ่งเละเทะใหญ่ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติที่มันไม่ถูก อย่างแน่ชัด ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งเพียงพอ แม้องค์มรรคทั้ง ๘ ก็เรียน ผู้ที่เรียนแต่ปริยัติ องค์มรรคทั้ง ๘ ก็เลยไม่รู้ตัวว่า ตัวได้ปฏิบัติ อย่างทุกวันนี้ รู้แต่มรรคองค์ ๘ แล้วไม่รู้ตัว ว่าตัวได้ปฏิบัติหรอก แล้วก็กลายเป็นโลกียะ ซึ่งเสพย์สุขเสพย์สม ของตัวเองไป อยู่ในคามวาสี ก็ปฏิบัติไม่สมส่วน ไม่เป็น ไม่เป็นเลย เรียกว่า ตัวเองก็ยอมรับว่า ตัวเองไม่ปฏิบัติ พระที่เรียนแต่ปริยัติ เรียนแต่เหตุผล ภาษาความหมาย แล้วก็เอาเหตุผล ภาษาความหมายเหล่านั้นมาสอนคน รื้อขนสัตว์ ด้วยภาษา ความหมาย ตนเองก็ยอมรับว่า ตนเองเป็นพระบ้าน แล้วไม่ได้ปฏิบัติ ทั้งๆที่ปฏิบัติ อยู่ในบ้าน มรรคองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้านั้น ก็ชัดเจน ส่วนตัวที่จะออกไปอรัญวาสี ไปเป็นความตื่นในอรัญวาสี อย่างเช่นฐานที่สำคัญ คือเมื่อกินข้าวอิ่มใหม่ๆ นี่ มันจะง่วง พระพุทธเจ้า ก็ไล่ให้ไปอยู่ที่เงียบเลย แล้วตื่นให้ได้ ในตอนที่กำลังกินใหม่ๆ ง่วงๆ นี่แหละ ตื่นให้ได้ ถ้าปฏิบัติตื่นไม่ได้ ในขณะที่กินใหม่ๆ ง่วงๆ นั่น คนนั้นก็พ่ายแพ้แน่ พ่ายแพ้จริงๆนะ

นี่เราไม่เข้าใจความมุ่งหมาย หรือไม่เข้าใจฐาน ไม่เข้าใจสภาพธรรม ที่ชัดแจ้งพวกนี้ เราก็ทำไม่ถูกตรงตามกรรมฐาน เมื่อไม่ถูกตรงตามกรรมฐาน เราก็ไม่เจริญ เพราะฉะนั้น ในอรัญวาสีนี่ เป็นฐานแห่งการต่อสู้ ชาคริยานุโยคะ ให้มีสติตื่นให้มาก ถ้าเราเอง เราสามารถที่จะตื่นได้ แล้วไม่ง่วง ไม่หลับไม่หรี่ได้แล้ว เราก็มีงานมีการอะไร พอสมเหมาะสมควร มีเป็นไป มันก็สร้างสรร มันก็ดี มันก็เจริญงอกงาม ทำได้ เมื่อยเราก็พัก ไม่เมื่อยเราก็เพียร เรามีเวลาพักมากกว่าเวลาเพียร ในสถานที่อรัญวาสีอย่างนี้ เราจะต้องเพียรให้สมส่วน ให้สมดุลกับสภาพแวดล้อม ที่มันพาให้เราพัก มากกว่า ในฐานที่จะต่อสู้กับกาม หรือว่า ต่อสู้กับสิ่งแวดล้อม มีงานมาก มีอะไรมาก เราก็ต้องพยายามนิ่ง อย่าปรุง อย่าหวือหวาไปกับอารมณ์ที่กระทบสัมผัสให้มาก เราจึงจะเป็นผู้สงบลง เป็นผู้ที่พักได้ในใจ เป็นปัญตัญจะ สยนาสนัง เป็นสภาพที่เห็นความสงบ ยินดีในความสงบ เราก็จะต่อสู้ได้

ถ้าเราเข้าใจแนบเนียน เข้าใจลึกซึ้งในกรรมฐาน หรือในความหมายเหล่านี้ แล้วก็ทำพิสูจน์ให้ได้ ให้มีให้เป็น เราจะได้ประโยชน์ทั้งสองส่วน ไม่ว่าเราจะอยู่ในอรัญวาสี หรือเราจะอยู่ในคามวาสี สุดท้าย ในเรื่องของอรัญวาสีนั้น เป็นเรื่องธรรมดาง่ายๆ ไม่ยากอะไร ถ้าเวลาจะพักผ่อนเราก็มา ดั่งที่ พระพุทธเจ้าท่านออกสู่ป่า พักผ่อนบ้าง หลีกเร้นบ้าง ในคราวที่เป็นไปนะ ในเมื่อเข้าคามวาสี ก็ทำงานนะ และก็สามารถที่จะเหนือจิตได้ อย่างแท้จริง ก็พิสูจน์ที่คามวาสีนั่นเอง ไม่ได้หมายความว่า พิสูจน์ในป่า พิสูจน์ในป่าก็พิสูจน์ว่า เราจะต้องมีสติตื่น เป็นผู้ตื่น เป็นพุทธะ ไม่ใช่อยู่ป่าเป็นผู้หลับผู้หรี่ ผู้หลีก ผู้เลี่ยง หลบลี้ ไม่ใช่ แต่เป็นผู้ตื่น เป็นผู้ที่เจริญ อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ผู้รู้ เบิกบาน แจ่มใส ลักษณะพวกนี้ ถ้าไม่รู้แจ้งแล้ว มันวน แล้วมันสับสน ถ้ารู้แจ้งแล้ว มันก็ละเอียดลออ และก็ทำได้ถูกต้อง ขอให้พวกเรา อย่าได้พ่ายแพ้ อย่าได้ผิดเป้าหมาย เราทำตนให้เกิดผลทั้งสองด้าน เราไม่แยกกัน ไม่ว่าพระป่า ไม่ว่าพระบ้าน ไม่ว่าอรัญวาสี หรือคามวาสี เราไม่แยกเราไม่แตก แต่เราเกิดอานิสงส์ หรือเกิดประโยชน์คุณค่า ได้ทั้งทุกสภาพแวดล้อม รู้เท่าทันสิ่งที่สัมผัส ด้วยความเป็นจริง เราจึงจะเป็นผู้ที่เจริญ ในทางปฏิบัติธรรม

ขอกำชับกำชา ในฐานที่ เมื่อมาอยู่ที่นี่แล้วนะ เป็นอรัญวาสี ดังกล่าว อย่ากลายเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ยิ่งปฏิบัติ ได้อบายมุขใหญ่ ให้แก่ตนเอง เป็นตัวขี้เกียจ หรือ ยิ่งได้ถีนมิทธะ เป็นตัวยิ่งแย่ลง ทุกอย่างๆ ทุกทีๆนั้น เป็นการขาดทุนอย่างยิ่ง ขอให้พวกเราได้สำนึก และสังวร อบรมตน ให้เป็นผู้มีชาคริยานุโยคะ ได้ ให้สมบูรณ์เทอญ

สาธุ

*****