ธรรมปัจเวกขณ์ (๙๓) ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๕ |
นับวัน เราก็มีหมู่กลุ่มมากขึ้น คนที่มีจริตต่างๆ มีนิสัย ทั้งสันดาน และทั้งบารมี สันดานและบารมี หมายความว่าสิ่งที่มันติดมาในตัว สิ่งที่ชั่วติดมาในตัว เราเรียกคำเรียกง่ายๆว่า สันดาน เป็นความหมายภาษาไทย, เราเอามาใช้สิ่งที่ดี ติดมาในตัวเรา เรียกว่า บารมี มันเป็นสิ่งสั่งสมมาแต่เก่าแต่เดิม ทั้งสองอย่าง มีทั้งบารมี เป็นตัวต้นเหตุ แล้วเราก็เกิดจริต เกิดอุปนิสัย เกิดพฤติกรรม เมื่อหลายคน มาอยู่รวมๆกัน เราจะมีทั้งนิสัยใจคอ มีพฤติกรรมอยู่ร่วมกัน การมีพฤติกรรมอยู่ร่วมกัน การมีพฤติกรรมที่อยู่ร่วมกันนี่แหละ เราจะต้องศึกษากัน บางคนมันก็แก้ยาก เป็นสันดาน ก็ต้องเห็นใจกันบ้าง ว่าเขาพยายามให้รู้ว่า เขากำลังสังวรสำรวม เขากำลังพยายามแก้อยู่ ถ้าเขาพยายามแก้อยู่ ก็จงรู้ว่าเขาได้กำลังพยายามอยู่ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย แล้วเขาก็ทำได้เท่านั้น อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ควรจะเห็นใจกันบ้าง แล้วรู้ขีดขอบ ว่าเขาเป็นอย่างนั้น เขาแก้อยู่ เราทำอยู่ แต่มันยังไม่ได้ เมื่อเราเข้าใจเสียอย่างนี้ เราก็ปล่อยใจ วางใจได้ แต่ถ้าเราจะเอาแต่เขตขอบคนสูง มาวัดมาดึง โดยที่เราก็ไม่ยอมสักที เราก็ทุกข์ แล้วก็เกิดการอึดอัดกันมาก มันก็จะลำบากนะ ในด้านที่มันลำบาก ในเมื่อมาอยู่ร่วมๆกันนี่ ก็ลำบาก ตรงสันดานไม่ดี หรือตรงจริตไม่ดี พฤติกรรมที่ไม่ดี ที่ติดตัวของแต่ละคนมานี่แหละ เป็นเรื่องลำบาก ไอ้เรื่องดีน่ะไม่ลำบากอะไร มีบารมี มีพฤติกรรมอันดี มีสิ่งดีที่สั่งสมมา เป็นจริต เป็นอุปนิสัย เป็นพฤติกรรมที่ดี เมื่ออยู่กับหมู่ มันดีหมด มันก็ไปได้ง่าย มันก็สบาย
ผู้ที่มีพฤติกรรมไม่ดี มีสันดานไม่ดี มีจริตไม่ดี มีความไม่ดี ติดตัวมาแต่เดิมนี่แหละ และกำลังแก้อยู่นี่แหละ ให้รู้ตัว ต้องเจียมตัว ต้องถ่อมตน ต้องรู้ว่าเราไม่ดี เมื่อเราไม่ดีแล้ว เราก็จะต้องโดนเขาว่า ต้องรู้ว่า เราจะต้องโดนเขาว่า แล้วให้หัดใจด้วย ต้องหัดวางใจ ต้องโดนเขาว่าแน่ เอ้า! เมื่อเขาว่า เรายิ่งสันดานไม่ดีมาก กระด้างมาก แข็งมาก ลำบากมาก เข้ากับเขาไม่ได้ เข้าไปก็ไปขวาง ขวางลำ ขวางรีไป ไม่ลงกัน เป็นไปลำบากอยู่อย่างนั้น เราก็ต้องรู้ตัว แล้วต้องปรับ การปรับ ก็ยิ่งจะต้องหัดเข้า ให้มันแนบเนียน หัดเป็นไป ค่อยๆดัด ค่อยๆแปลง ค่อยๆปรับปรุง ค่อยๆเรียนรู้ ว่าเราจะเอาเข้าร่วมยังไง เราจะกล่าวยังไง เราจะทำท่าทียังไง ลีลายังไง มีสุ้มเสียงยังไง เราก็ปรับสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ แม้แต่ความคิด จะคิดยังไง จะเห็นยังไง จะนึกยังไง จะทำยังไง สัมมาสังกัปปะ ก็ปรับอยู่เสมอ มันจึงจะเข้าได้ ถ้าเอาแต่นั่งนึกคิด หรือไม่ปรับเลย ไม่หัดไม่ฝึกเลย ไม่มีสัมมาอริยมรรคองค์ ๘ เลย เอาแต่ปลีกเดี่ยวนั่งอยู่ ไม่มีสัมพันธ์กับแม้แต่มิตรดี เพื่อนดี สหายดี เป็นสังฆะ เป็นกลุ่มหมู่ร่วมกัน พร้อมกันประชุมร่วมกัน พร้อมกันทำ พร้อมกันเลิก พร้อมกันรังสรรค์ พร้อมกันเรียนรู้ ยิ่งไม่ทำ มันก็ไม่ได้ และเป็นไปได้ยาก และเราก็ไม่ได้ขัดเกลา เราก็ไม่มีวันที่จะได้ขัดเกลา ถ้ามันรุนแรง มันเป็นไปไม่ได้ เราปลีกชั่วครั้งชั่วคราว เราก็มีระบบอย่างนั้นอยู่ ให้ปลีก จะออกปลีกเดี่ยว อยู่สงบ เพราะว่า ตอนนี้ต้องพักผ่อน มันไม่ไหวแล้ว อาจจะมาสัมผัสสัมพันธ์ คลุกคลี มิตรดี สหายดี เพื่อนดี ก็ขัดเกลาเราเหลือเกิน เราเปลี้ย เอ้า! ก็มีช่วง มีวาระเวลา ถ้าผู้ใดทำไปได้พอดีนะ ไม่ต้องปลีกเลย ตลอดเวลา เราก็มีสัมมาอริยมรรค องค์ ๘ น่ะ ปฏิบัติธรรมไป ทำงานไป รู้สัมมาสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ด้วยความพยายาม ด้วยสติ และรู้จุดถูก จุดดี รู้เหตุ รู้ขอบอะไรของเราอยู่ เราก็สร้างสมาธิ สร้างปัญญา ของเราไปทุกวัน มีวิมุติ มีหลุดพ้น มีญาณทัสสนวิเศษอยู่ เกิดสั่งสมอยู่ตลอดเวลา เราจะทำได้ แล้วมันก็จะเกิดการปฏิบัติ ประพฤติอยู่ในตัว แล้วไม่ขาดงานทางโลก ไม่ขาดเลย งานทางโลกก็ได้รับผลดีจากเรา เราก็ได้ปฏิบัติไป สร้างสมาธิแบบลืมตา ด้วยมรรคองค์ ๘ ดังที่เรากำลังพยายามที่จะอธิบาย พยายามที่จะชี้ เรามีตัวอย่าง เรามีของจริง เรามีที่รองรับ ไม่ได้พูดโดยเปล่า ไม่ได้พูดโดยไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีสิ่งจริง ไม่ใช่ แต่เรามีอยู่ ยังมีนัยละเอียดที่มาก ที่เราจะชี้ให้ดูให้ฟัง แล้วก็ได้อ่าน ได้รู้ ได้สังเกต
ผู้ที่อินทรีย์พละไม่ดี ผู้ที่จริตไม่ดี ผู้ที่พฤติกรรมไม่ดี มีสันดานไม่ดี ติดตัวมามาก ก็ต้องรู้ตัว รู้ตนจริงๆ ถ้าไม่รู้ตัวไม่รู้ตน เราก็มีมานะอยู่ เราก็ไม่. .. มันรู้ตัวไม่รู้ตัว ตนนะแหละ มีสักกายะอยู่ และเราก็ไม่ได้ดัดแปลง ไม่ได้ปรับปรุง ไม่ได้ร่ำเรียน ไม่ได้ศึกษา มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แต่ถ้าเราได้ปรับปรุง ได้ร่ำเรียน ได้ศึกษา การเข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ มันเป็นเรื่องดี มันเป็นเรื่องจริง มันเป็นสิ่งที่เราจะได้แก้ไข เราจะได้ศึกษา เราจะได้อบรมตน เราจะเอาแต่นั่งคิดนั่งนึก อย่างลัทธิโบราณ ลัทธิฤาษี ลัทธิเก่าๆ นั่นน่ะไม่พอ หรือแม้จะเป็นลัทธิใหม่ สมัยใหม่เลย เอาแต่นั่งคิดนึกเหตุผล เอาแต่วิจัย วิจารณ์ วิเคราะห์ แต่ก็ไม่ได้อบรมตนอยู่นั่นเอง แต่รู้เหตุผล รู้มาก แล้วก็ฉวยไปเอาเหตุผลปลายๆ มาใช้ด้วย ก็เป็นลัทธิสมัยใหม่แจ๋ ลัทธิสมัยโบราณก็เอาแต่นั่งคิด นั่งนึก หรือนั่งดับ ดับนั่นแหละเป็นใหญ่ แบบเก่าๆ มันก็ไม่ได้เรื่องสักอย่าง ศาสนาพระพุทธเจ้า จึงมีทฤษฎีที่สำคัญอีก จะนั่งพิจารณาอยู่ส่วนตน เดี่ยวๆ ปลีกๆ ก็ทำ จะพิจารณา โดยเรียนรู้เท่าทันโลกปัจจุบัน มีสัมผัสเป็นปัจจัยนี่ เป็นเอก แล้วกระทำ ทำแล้วได้แล้ว มันได้ในที ได้ทันสติ ได้เดี๋ยวนี้ ได้อย่างลงตัวเดี๋ยวนี้ เป็นเองเดี๋ยวนี้ แล้วมันก็อยู่เหนือจริงๆ จึงเป็นลัทธิโลกุตระ เป็นลัทธิที่แปลกใหม่ เป็นลัทธิที่ถาวรอยู่ ขณะนี้ก็ยังถาวรอยู่ ยังสามารถเป็นไปได้ ยังพูดกันรู้เรื่อง และเอามาพิสูจน์ได้น่ะ
พวกเราได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ให้ลึกซึ้งขึ้นพอสมควร เพื่อที่จะได้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ถ้อยทีถ้อยเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ว่า ผู้นั้นผู้นี้ มีอินทรีย์มีพละเท่านี้ มีจริต มีสันดาน เราไม่ต้องพูดถึงบารมีมากนัก พูดถึงสันดาน มีสันดานอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีพฤติกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ช่วยกันเท่าที่พอช่วยได้ เห็นใจกันบ้าง แล้วก็เกื้อกูลกันบ้าง มีการขัดเกลากันอยู่ในตัว อยู่ในที พอสมเหมาะสมควร ปล่อยวางบ้าง ขัดเกลาบ้าง ส่วนตัวผู้ที่มีสันดานไม่ดีเองนั้นน่ะ ยิ่งสำคัญ ต้องรู้ตัวเลยว่า เราไม่ดีจุดนั้นจุดนี้ ไม่มีมานะ ถ้ามีมานะ เราไม่ได้ถูกขัดเกลา เพื่อนนี่แหละ จะขัดเกลาเราได้ เรานั่งคิดเอาเอง แล้วก็ไม่ฝึกไม่หัด ไม่รู้จักมุมหลบ ไม่รู้จักมุมเหลี่ยม ไม่รู้จักมุมดัดแปลงปรับปรุง เราได้แต่เดาๆ นั่งเดาเอามันไม่ได้ นั่งเดาเอาไม่ได้ ศาสนาพระพุทธเจ้า ไม่มีทฤษฎีนั่งเดาเอา ท่านมีบทปฏิบัติฝึกหัดเลย ด้วยมรรคองค์ ๘ ทั้งคิด ทั้งนึก ทั้งพูด ทั้งจา ทั้งการงาน สัมผัสสัมพันธ์ มีอาชีพ พยายามมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ปรับปรุงกาย วจี มโน ให้สุจริต หรือให้เป็นกุศลที่ดีที่สุด เราได้ลดละ กิเลสเสพย์ติด ทั้งกิเลสตัวตน ซึ่งได้อธิบายพูด อธิบายแยกแยะ ละเอียดลออ พิสดาร เยอะมากมาย แล้วเราก็จะได้เข้าใจ
จุดที่ได้เน้นในวันนี้ คือรู้เรารู้เขา รู้จักขอบเขตที่จะอนุโลมกันบ้าง แล้วก็ตัวผู้ที่ ไม่ค่อยดีเอง ก็ให้รู้จักตัวตนให้มาก อย่ามีมานะ ใครเขาจะสับจะโขกเรา ใครเขาจะติเตียนเรา ใครเขาจะทำอย่างไร ก็ให้อดทนต่อถ้อยคำ ให้รู้จักว่า เขาจะขัดเกลาด้วยเจตนา หรือจะมีกิเลสผสมก็ตามใจ ถ้าเขาทำดีแล้ว เขาทำถูกแล้ว เราก็จะต้องขอบคุณเขาให้มาก แม้เขาทำไม่ถูก เขาจะมีเจตนา มันก็เป็นความดีของเขา เขาจะสับจะโขกเรา เขาจะแก้ไขเรา ขัดเกลาเรา แต่มันก็ไม่ค่อยถูก ก็ยังเป็นเจตนาอันดี ที่เราจะขอบคุณ ถ้ายิ่งถูกแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ เราจะต้องรับน่ะ เพราะฉะนั้น ผู้ใดกลับไม่ช่วยขัดเกลากัน มีแต่ตัวใครตัวมัน เฉยเมย อันนั้นน่ะพัง ศาสนาไม่เดิน การพัฒนากันก็ไม่ขึ้น พัง พังลูกเดียวน่ะ ต้องเข้าใจให้ชัด เพราะฉะนั้น การที่มีการขัดเกลากัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ตำหนิติเตียนกันนี้ จึงจะเกิดการเสริมสาน สร้างสรร ไม่ได้สร้างอะไร สร้างบุคคลให้เป็นคนดี นี่เป็นจุดสำคัญ ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว ตัวผู้เจ้าตัว จะเป็นผู้ที่มีสันดานไม่ดี สิ่งที่ไม่ดีของตัวเอง เพื่อที่จะให้เพื่อ[น]ขัดเกลา ก็จะต้องรู้ว่า ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องพยายามรู้ตัวอยู่ แล้วผู้ที่จะขัดเกลา ก็ให้รู้ประมาณ ใช้ สัปปุริสธรรม ๗ ประการให้มาก การปฏิบัติธรรมอยู่ร่วมกัน แม้จะมากขึ้นๆ เท่าไหร่ๆ เราก็จะนำพากันไปสู่ จุดที่เจริญงอกงาม เป็นสันติสุข ของมวลมนุษยชาติได้
สาธุ
*****