ธรรมปัจเวกขณ์ เอ้า! ใคร่จะทบทวน เรื่องการพักการเพียร เรามีการปฏิบัติ ในระบบของ สติปัฏฐาน หรือ มรรค องค์ ๘ มีการพูด การคิด มีการทำการทำงาน ทำอาชีพ เป็นสัมมาปฏิบัติ เป็นเรื่องปกติ พร้อมกันนั้น เราก็จะต้อง รู้ตัวทั่วพร้อม ดังนัยที่พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ท่านสอน ให้เราเรียนรู้ จับจิต จับอาการ รู้รูป รู้นามของจิต อาการของจิต อาการของเจตสิก ไอ้นี่เป็นกิเลส อาการอย่างงี้ เรียกว่า ราคะมูล อันนี้เรียกว่า โทสะมูล อันนี้เรียกว่า โมหะมูล แม้แต่จิต ที่มันจะเป็นสภาพ ที่พอกดข่มได้ แต่มันก็ยังไม่ดี เป็นสังขิตตะ เป็นวิกขิตตะ ต่างๆ สังขิตจิต วิกขิตจิต เป็นจิตมันยังอึดอัด หดหู่ หรือว่า มันยังกระเซ็น กระเด็นซ่านๆ เซ็นๆ ฟุ้งซ่าน ยังไม่สงบ ยังไม่แน่นิ่ง ยังฟุ้ง ยังไม่เรียบร้อย อะไรก็ตาม หรือแม้แต่ ดียิ่งกว่านั้น เป็น มหคตจิต เป็น สอุตรจิต เป็น อสมาหิตะ เป็น อวิมุติ อะไรอยู่ก็ตาม เราสามารถที่จะรู้ชัด และ ทำให้มันเป็นวิมุติ เป็น สมาหิตะ เป็น อนุตรจิต หรือเป็น มหคตจิต อย่างดีอย่างยิ่ง เราก็เข้าใจ อาการ และ ได้ฝึกหัด ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เราจะต้องรู้ ความเป็นจริง เหล่านี้จริงๆ อย่าปล่อยปละ ละเลย ในการปฏิบัติ มรรคองค์ ๘ หรือ สติปัฏฐาน ๔ หรือ โพธิปักขิยธรรม นั่นเอง/ แล้วก็ต้องดูตัวเองว่า เราเองนี่อยู่ในสภาพที่เรียกว่า พอเป็นพอไป ไม่ทรมานตน จนเกินการ เพราะฉะนั้น ในระหว่าง ที่เรามีชีวิต อยู่ประจำวัน ถ้าเราประมาณการ เป็นไป ทั้งพักทั้งเพียรที่พอดี เราจะเห็นได้ว่า เราเบิกบาน แจ่มใส สดชื่น เราไม่ได้เอนเอียง ข้างฝ่ายที่เราปล่อยปละละเลย เอาแต่ใจตน เราตั้งตน อยู่ในความลำบาก เรารู้ว่า เรามีความลำบาก ในการเพ่งเพียร ในการพยายามเรียนรู้ อยู่พอสมควร แต่ไม่ได้หนักหนา เหน็ดเหนื่อย อะไรเลยเหมือนกัน เราพยายามทำงาน เรารู้ว่า เราต้อง พยายามทำงาน บางครั้ง เหนื่อยก็เหนื่อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้สุขภาพ ร่างกายของเรานั้น ทรุดโทรมอะไร สุขภาพร่างกาย ของเรา ก็แข็งแรง อยู่ในระดับ ที่พอเป็นพอไปดี จิตใจก็ปลอดโปร่ง ปฏิบัติธรรมได้ด้วย เบิกบานแจ่มใส มีการต่อสู้ เรารู้ว่าต่อสู้ ลำบาก เรารู้ว่าลำบาก สู้กับกิเลส ฟาดฟันกัน เราก็รู้ สู้กับกิเลส มีการกระทบ สัมผัส ช่วงนั้น ช่วงนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ เรารู้ และเราก็ไม่ได้อิดหนา ระอาใจอะไร การปฏิบัติอย่างนี้ เราเรียกว่า สุขาปฏิปทา และเร็ว ถ้าได้สมส่วน เป็นขิปปาภิญญา เป็น การปฏิบัติ ได้เร็วด้วย ได้ผลสูง มีผลทั้งงานตน งานท่าน ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน สอดคล้องไปในตัว เพราะฉะนั้น บางคนที่ยังรู้สึกว่า ตัวเราเอง จะต้องวนเวียน ให้มันสงบระงับ กว่านี้บ้าง เพราะว่า มันจับจิตก็ไม่แม่น วันหนึ่งคืนหนึ่ง ก็รู้สึกไม่ค่อยรู้ตัว ปล่อยปละ ละเลย ให้กิเลสกินตัว โกรธไปตั้งมาก โลภไปตั้งเยอะ ราคะขึ้น โทสะขึ้น ตั้งเยอะ ตั้งแยะ รู้ไม่เท่าทัน เมื่อได้ปัจเวกขณ์ ได้ทบทวน บุพเพนิวาสานุสติ ตรวจตนดูเอง ด้วยญาณ ด้วยความรู้ของตนเอง แล้วก็เห็นว่า เราเองนี่ ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง เรามีส่วนเสีย มากกว่าส่วนได้ ก็ต้องจัดสรร ให้รู้จักว่า ตัวเราเอง ต้องตรวจตรา ให้มากกว่านี้ อินทรีย์พละเรา ยังไม่แก่กล้านะ เรามีความบกพร่อง เกิดอารมณ์เสีย เกิดอาการ ที่เป็น อกุศลจิต อกุศลมูล มากกว่าเกิดกุศลมูล ให้รู้ตัวจริงๆ สำหรับแต่ละฐานะ แต่ละบุคคล นี่ขอบเขต ของศีล ๕ ขอบเขตของศีล ๘ หรือ ศีลขั้นเคร่งขึ้นมา ตามที่เราได้ยึดได้ถือกัน ได้พอเป็นไป ถ้ามันเป็นไปได้ สบาย อยู่พอดี ก็เจริญขึ้น เจริญขึ้น อยู่เรื่อยๆ แล้วก็เพิ่มศีล ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน บางที ยังเป็นรูปแค่ อารามิกะ อารามิกา เป็นรูปอาคันตุกะ อยู่ก็ตาม ยังไม่มีรูปเป็นนักบวช เป็นเชิงใกล้เข้าไปหา การเป็นภิกษุ เป็นนักพรตก็ตาม แต่ศีลที่มันจะทำให้เราขัดเกลาจิต เป็นอธิจิต เป็นสมาธิ เป็นปัญญานั้น ไม่ได้ขีดคั่น เอาไว้เลย สำหรับ การที่จะเจริญขึ้น เจริญขึ้น ในฐานานุฐานะ ส่วนปรมัตถ์ของตน ซึ่งผู้อื่น ไม่รู้เห็นด้วยก็ตาม เราก็สามารถทำได้ ข้อสำคัญ อย่าหลงเป็นมานะ ถ้าเราได้สูง ก็ต้องรู้ฐานะที่ส่วนนอก แห่งฐานะ สมมุติสัจจะ ว่าเราส่วนนอก เราเป็นอารามิกะ อารามิกา เราเป็นฆราวาส ก็ต้องจัดแจง ให้ตัวเองอยู่ในฐานะ ฆราวาส จิตใจปรมัตถ์ นั้นมันจะสอดคล้องกัน ยิ่งสูงก็ยิ่งลดได้ ยิ่งสูงก็ยิ่งอ่อนน้อม ถ่อมตนได้ แม้ฐานะข้างนอก เรานั้นน้อยเล็ก เล็กก็ต้องเล็ก ตามฐานะน้อยได้ อย่างไม่มีอะไรขัดเขิน อย่างไม่มีอะไร กระเด้ง กระด้าง หรือ เก้งก้างเกะกะเลย มันจะดูสอดคล้องยิ่ง ถ้าตัวเราเองมีมานะ นึกว่าตัวเองได้ภูมิสูง ทั้งๆที่โดยสมมุติสัจจะแล้ว ก็เป็นคนในฐานะต่ำ แต่เราก็ถือตนถือตัว ว่าเราสูง เราหลงว่า เราได้สูงตามปรมัตถ์ ปรมัตถ์เรายิ่งใหญ่ และฐานะข้างนอก ยังไม่ได้สูงอะไร ตามสมมุติ เราก็ต้องเล็ก ยิ่งเล็ก ไม่เช่นนั้น เราจะเผลอตัวง่ายๆ ว่าเราได้ดี เรามีภูมิธรรมสูงแล้ว ก็เลยแข็งกระด้าง เกะกะเกเร อันนี้ระวังพลาดท่านะ ต้องยืนยันให้ดี เห็นความจริง ให้สอดคล้อง นั่นมันเป็น นัยลึกซึ้งอยู่ ซับซ้อนอยู่ ขอให้จริงๆ ให้ชัดๆ แจ้งๆ เพราะฉะนั้น ก็ผู้ใดยังเห็นว่า การปรับไม่ลงตัว การพักไม่พอ การเพียรหนักไป จนกระทั่ง ไม่มีเวลา ที่จะตรวจจิต ตรวจใจ หรือว่ามันพลาดๆ เผลอๆ พลั้งๆ เสียหายนัก ก็ต้องจัดสัดส่วน ในการพักการเพียร ให้พอเหมาะ พอเจาะ และ เราจะได้การปฏิบัติ ที่มีทั้งพัก ทั้งเพียร มีสภาพที่แข็งแรง ปราดเปรียว แคล่วคล่อง สบาย เบิกบาน ร่าเริง เป็นสุข ไม่ยากไม่เย็น เกินการ นี่เป็น สภาพของ การปฏิบัติธรรม ในระบบ สัมมาอริยมรรค ที่เรียกว่า ต้องพอเหมาะ พอเจาะ ปานกลาง พอดี ได้สมส่วนแล้ว จะได้เห็นว่า ทั้งสบาย แต่ก็มีสภาพที่ ต้องทน เพราะว่า เสขบุคคล ต้องตั้งตน อยู่ในความลำบาก เรายังไม่โล่งว่างหมด เรายังปลดปล่อย ยังไม่เกลี้ยง เราต้องมีตั้งตน ในความลำบาก ตามฐานะ และเราเอง เราก็จะต้องเจริญได้นะ ดั่งที่กล่าวแล้ว ก็ขอกำชับกำชา จุดพักจุดเพียร ที่มีสภาวธรรม อันสมดุล อันสมส่วน หรือว่าปานกลาง หรือ พอเหมาะ พอดี มัชฌิมาปฏิปทา ขอให้เจียน หรือว่า ขอให้เรียนรู้พวกนี้ เราจะเห็นว่า เราจะเป็นคนขยัน สร้างสรร ได้เกินกว่า มนุษย์ในโลก เขาทำด้วยซ้ำ ถ้ามันลงตัว ขยันเพียรได้อย่างดี แข็งแรง เราจะเห็นได้ ทุกวันนี้ของเรา ทำได้ดีขึ้นกว่า สมัยก่อนมาก หลายๆคน จะรู้ตัวว่า เอ๊! ก็ดีนี่ขยัน ขยันกว่าแต่ก่อน ที่เราเคยเป็นด้วย บทบาทการสร้างสรร ด้วยวัตถุโลก ก็เจริญงอกงาม จิตใจเราก็ดี ปลอดโปร่ง สบายใจ และได้ปฏิบัติธรรม เจริญงอกงามอยู่ รู้มากขึ้น เห็นจิตเห็นใจ เห็นกิเลสราคะ โทสะโมหะชัดขึ้น ละเอียดลออ สุขุมประณีตขึ้น และเราก็จะรู้ เราเบาว่างง่ายขึ้น โลภะโทสะโมหะ ลดจริงๆนะ เราจะเห็นได้ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นปัจจัตตัง เวทิ ตัพโพ วิญญูหิ จริงๆ ขอให้พิสูจน์สัจธรรม หลักการอันนี้ ยิ่งใหญ่มาก มันซับซ้อนจริงๆ ขอให้ตรวจตรา ดีๆ แล้วเราจะได้เป็นหลัก เป็นแกน นำศาสนานี้ ตามทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า ไปในอนาคต อย่างจะต้อง เจริญงอกงาม กว้างขวางกว่า ที่เคยเป็นมาแล้ว เพราะเราอยู่ในแค่เอเชีย และ มันจะเจริญไป ยิ่งกว่าเอเชีย ในอนาคต (สาธุ)./
|