ธรรมปัจเวกขณ์ การปฏิบัติธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ว่า มิตรดี เพื่อนดี สหายดี เป็นทั้งสิ้นทั้งหมด ของศาสนา คือเป็นทั้งสิ้นทั้งหมด ของพรหมจรรย์ มีความหมายลึกซึ้งมาก คำว่ามิตรดี สหายดี เพื่อนดี ก็มีความหมาย ซับซ้อน ลึกซึ้งอีก เพราะว่า การเป็นมิตรกัน การอยู่ร่วมกัน การมีจิตเรียกว่ามิตร การมีความร่วม เรียกว่าสหาย การก่อวงที่ให้เป็นวง เป็นมวลหมู่ ที่เราเรียกว่า เป็นสามัคคีธรรม เป็นโขลง เป็น สังฆมณฑล ล้วนแล้วแต่ มีความหมายลึกซึ้ง อยู่ในนั้น ทั้งสิ้น --- ความพรั่งพร้อมสอดคล้องลงตัวกันได้ และการมีบทบาทพฤติกรรม ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ล้วนแล้วแต่ มีจิตตัวหวังดี ร่วมกัน แม้จะมีกิเลสเข้าแทรกบ้าง ในการที่จะแนะผู้อื่น ติงผู้อื่น ทั้งๆที่ตัวเอง ยังเป็นไม่ได้ แต่ความรู้ ที่มี สามารถที่จะติงผู้อื่น ติผู้อื่นได้ โดยตนเอง ก็ยังเป็นไม่ได้ แต่รู้ รู้ความจริง สัมผัสแล้วก็รู้นัย อย่างนี้ก็ยังเป็นนัย ที่เกิดประโยชน์ เกิดคุณ แก่มิตร แก่สหายที่ดี ด้วยกัน ยิ่งมิตรสหายที่มีเจตนาดี มีสติสัมปชัญญะ พยายามช่วยเหลือ เกื้อกูล อุ้มชู ขัดเกลากันด้วย ความตั้งใจ ประมาณ แรงบ้าง เบาบ้างน่ะ บางทีก็อ่อนไป บางทีก็หนักมือไป หรือโดยที่สุด ทุกคน ก็คงจะพยายาม ที่จะขัดเกลา ช่วยเหลืออุ้มชูกัน สอนกัน แนะนำกัน ผลักเบนกัน เพื่อให้ไปสู่ ที่สูงขึ้น เจริญขึ้น ที่ถูกขึ้น ด้วยความพอดี ทุกคนก็เจตนา ที่จะประมาณให้ พอดีนั่นแหละ แต่ว่าความไม่เก่ง ความไม่ช่ำชอง ยังประมาณ ไม่ได้ง่ายๆ ซึ่งมันมีขนาดนานับ มีขนาดไม่ได้เที่ยงแท้ ไม่ได้ตายตัวเลย แต่ก็ได้กระทำกันอยู่ อย่างนี้ --- ถ้าผู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะไปเข้าใจมรรคองค์ ๘ ซึ่งเป็นการปฏิบัติรวมกัน อยู่ร่วมกัน มีวินัย มี หลักเกณฑ์ มีกฎ มีระเบียบ ที่ใช้เป็นเครื่องกั้น มาตรการรองรับ ซึ่งเป็นของมีอยู่ ประจำโลก ประจำโลก ประจำโดยเฉพาะมนุษย์ เป็นกฎหมาย เป็นกฎหลัก ของสังคม ผู้ทำได้อย่างมีความแข็งแรง ก็จะไม่ละเมิด ผู้ที่ทำไม่ได้ มันก็จะเป็นขีดคั่น ห้ามกั้น คนที่ทำไม่ได้นั้น ให้ระวัง หรือ ให้อย่าละเมิด เมื่อละเมิด มีการใช้โทษเป็นอาณา ใช้โทษเป็นอาชญา ใช้ความผิดนั้น เป็นเรื่องที่จะต้อง ทำให้เกิดทุกข์ เพิ่มขึ้น อย่างน้อย ก็ลงโทษวิธีการเจ็บปวด หรือว่า ทำให้เข็ดหลาบ หรือว่าผลักไสกันออกไป ไม่สามารถที่จะร่วมอยู่ ด้วยกันเป็น สัมปวังโก เป็นเพื่อนดี หรือ เป็นสหายที่อยู่ร่วมกัน มีประโยชน์ร่วมกันได้ ก็ต้องออกไปก่อน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม ที่มีมรรคองค์ ๘ และเข้าใจมรรคองค์ ๘ ที่ดี เท่านั้น จึงจะเข้าใจ การมีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ได้อย่างลึกซึ้ง ได้อย่างชัดเจน เมื่อผู้ใด ปฏิบัติด้วย ความเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็สังวรระวัง สัมพันธ์อยู่กับ มิตรมวลสหาย ที่เราได้เลือกกลุ่มแล้ว ว่าเป็นไม่ใช่คนพาล เป็นกลุ่มบัณฑิต มีทั้งผู้รู้ยอด มีผู้รู้กลาง มีผู้รู้น้อย บางคนรู้น้อยกว่าเรา แต่ก็มี เจตนาดี มีจิตใจดี ซึ่งจะต้องเกื้อกูลกัน ทั้งผู้สูง ช่วยผู้ต่ำ ผู้ต่ำก็ให้ผู้สูงดึง หรือแม้บางที ผู้ต่ำก็ยังสามารถ ให้ประโยชน์ แก่ผู้สูงได้ ในบางกรณี ในบางเรื่องบางราวน่ะ มันเป็นประโยชน์ แก่กันและกัน อย่างนี้จริงๆ ข้อสำคัญ ต้องเป็น ความตั้งใจ เป็นความเพียรพยายาม --- เมื่อผู้ใดมีความตั้งใจ มีความเพียรพยายามอยู่ อย่างจริง ผู้นั้นก็มาประพฤติ ปฏิบัติรวมกัน เป็น มิตรดี สหายดี เพื่อนดี ปฏิบัติไป เป็นมรรคองค์ ๘ มีการเข้าใจให้ ถูกต้องว่า การอยู่รวมกัน ร่วมกันนี้ มีการขัดเกลากัน เพราะธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ก็ตรัสไว้ ชัดเจนว่า มีสัจธรรม มีสัลเลขธรรม มีนิยานิกธรรม มีสันติธรรม มีธรรมะ อันเป็นความจริง มีธรรมะ อันเป็นการ ขัดเกลากันอยู่ มีธรรมะอันพ้นทุกข์ ได้แท้ๆ มีธรรมะถึงที่สุด ก็สงบเรียบร้อย ราบรื่น เพราะฉะนั้น ในขั้นลำลอง ที่เราอยู่ด้วยกัน รวมกัน เป็นมิตรดี สหายดี เพื่อนดีนั้น เราก็จะต้องให้เกิด การสงบเรียบร้อย ตามระดับ ไปตามสมควร จะให้ทุกคนนั้น เป็นพระอรหันต์ ทั้งหมดนั้น ให้พระอรหันต์ ให้พระพุทธเจ้า ๕ องค์ พร้อมกันมาสอน ก็ทำไม่ได้ อย่าว่าแต่ พระพุทธเจ้า องค์เดียว สอนให้คนทุกคน เป็นพระอรหันต์ ร่วมกันหมดอยู่ในหมู่ ด้วยกันทั้งสิ้น ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น อินทรีย์พละ ที่อ่อนแก่ และ มนุษย์ที่จะต้อง ไล่เลียงกันขึ้นมา เป็นระดับๆ มีทั้งพึ่งได้ หรือพึ่งที่ยังไม่รู้นัก พอรู้ จนกระทั่ง มีอินทรีย์อ่อน จนกระทั่ง มีอินทรีย์แข็งบ้าง ได้บ้าง ได้มากขึ้น ได้ดี ได้แข็งแรง ได้เป็นที่สุด มันมีประสมประเส ประสานกันอยู่ ทุกกาละสมัย ทุกยุคกาล --- ถ้าผู้ใดเข้าใจความข้อนี้แล้ว ผู้นั้นก็จะไม่เพ่งโทษ หรือไม่ยึดมั่นถือมั่น จนไม่อภัยกัน ผู้นั้นจะต้องรู้ว่า จะต้องมีการอภัย แล้วก็มีการวางใจ เมื่ออยู่รวมกันแล้ว ก็ต้องมีการวางใจ การอภัย เราจะมีนโยบาย มีวิธีการ กลเม็ดอันดีอย่างไร ที่เราจะ ช่วยผู้นี้ รู้สึกว่า เขาดื้อด้าน เขาซ้ำซาก เขาไม่แก้ไขกลับ แก้ไขได้ยาก เราจะศึกษาเขา จะพยายามปรับปรุงเขา ช่วยอย่างนี้ ก็เป็นเมตตา เกื้อกูลกัน เป็นมิตร เป็นสหาย สร้างประโยชน์ แก่กันและกัน เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ด้วยกันได้ และ เราก็จะต้องรู้จัก ฐานของบุคคล เป็นความเป็นความมี ของบุคคล ที่เราจะต้องอภัย อยู่ในตัว ที่เราจะต้อง รู้จักว่า เออ! ถือสามาก ก็ไม่ได้ แต่เราก็ไม่ปล่อยปละ ละเลย จะต้องมีการ กระหนาบกันอยู่ มีการเข่น การเข็นกัน พอสมควร เกินไป มันก็แรงร้าย ลำบาก อ่อนไป มันก็ไม่มีผลสมบูรณ์ หรือ เท่าที่ควร --- เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องประมาณ เรื่องความพอดีนี่ จะต้องให้พอดี ไม่อ่อนไป ไม่แก่ไป ซึ่งเป็นของยาก เพราะฉะนั้น ฟังที่อธิบายไปแล้วนี้ เราจะเข้าใจ สภาพของการปฏิบัติธรรม ร่วมกันในมิตรหมู่ มวลสหาย ซึ่งเป็นวง เป็นกลุ่ม เป็นมณฑล สังฆมณฑล เป็นบริษัทใหญ่ๆ จะเป็นสภาพ ที่ทั้งใกล้ ทั้งไกล ทั้งสัมผัสสัมพันธ์อยู่ชิด และห่าง เกื้อกูลกันไป ตลอดเวลา ตลอดเวลาที่มีศาสนาเลย ไม่ใช่เป็น ช่วงใด ช่วงหนึ่งเท่านั้น เพราะเราจะทำ อรหันต์ทั้งหมด ก็ไม่ได้ และเราจะมี ปนเปกันอยู่ อย่างนี้ตลอดเวลา ขอให้พวกเรา ได้เข้าใจ อันนี้ให้ดีๆ แล้วก็พยายาม ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน ด้วยความสามัคคี อย่างน้อยที่สุด ก็ให้ได้หัดวางใจ ของเรา ให้เก่งๆ ผู้ใดหัดวางใจเก่งๆ แต่ไม่ใช่ปล่อยปละ ละเลย ดูดาย มันเป็นความใจดำ แต่ก็พยายาม ช่วยกันบ้าง ในการช่วยกันเหล่านั้น ประมาณให้พอดี อย่าหนักมือ อ่อนมือไป ก็ไม่ได้ประโยชน์ หนักมือไปก็แตกร้าว ระแหง แล้วก็อยู่กัน อย่างเดือดร้อน ไม่ราบเรียบ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ประมาณให้ดี --- การปฏิบัติธรรม เป็นสังฆมณฑล มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้น ของพรหมจรรย์ ก็จะนำพากันไป ตลอดกาลนาน และผล ถ้าเผื่อว่า เข้าใจถูกต้องแล้ว มันจะมีผล อันหนาแน่นของธรรม และมีวงอันกว้าง ใหญ่โตขึ้นๆๆ จนสุด ความเป็นจริง ที่มันจะต้อง มีวันเสื่อมของมัน อยู่นั่นเอง แต่เรามีหน้าที่ ที่จะทำให้เจริญ เจริญ สำหรับ เราเอง และเพื่อนฝูง เท่านั้น ความเสื่อมต้องไม่ใช่เรา เป็นผู้ทำความเสื่อม สำคัญความข้อนี้ไว้ ให้หนัก --- เพราะฉะนั้น เมื่อเราเป็นผู้ที่ทำ แต่ความเจริญ ความเสื่อมต้องไม่ใช่เรา อย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ก็เป็นความจบ หรือ เป็นความรักษาตัว ทำตัวเอง เป็นคุณค่า เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน บริบูรณ์ แล้ว ....สาธุ. |