ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๕

การมีรูปแบบในการพิจารณาอาหาร คือก่อนที่จะกินอาหาร เราก็ต้องตั้งใจ ตั้งสติสัมปชัญญะ หรือแม้แต่รับอาหาร ถ้าเผื่อว่า ผู้ที่เป็นฆราวาสธรรมดา ก็นั่งโต๊ะเข้า ตั้งวงเข้า จะกินอาหาร ก็ต้องตั้งใจ ตั้งสติ ดูอาหารต่างๆ เราจะหยิบอะไร จะตักจะเคี้ยวอะไร จะกินอะไร มันจะมีกิเลสผสม มีกิเลส กับของอร่อย ของชอบ ของไม่ชอบ แม้แต่ทั้งรูป ทั้งรส ทั้งกลิ่น ทั้งอะไร ต่างๆ นานา ที่จะสัมผัสเข้าไป เราจะปฏิบัติธรรม ไปด้วยกัน การรับประทานอาหาร การพิจารณาอาหาร โดยตรงจริงๆ ก็คือ เราจะรับประทานอาหาร อย่างมีสติ อย่างมีการพิจารณาไปด้วย และพิจารณา ประกอบการลด ละ อาการของจิต อารมณ์ของจิต ที่เป็นกิเลส ชอบก็ดี ชังก็ดี ที่มันยึดติด ที่มันไปหลงอะไร ต่างๆนานา ตามที่เราเคยอธิบาย เคยบอก เคยแยกแยะ วิจัยวิเคราะห์อะไรๆ กันให้ฟังมามากแล้ว เราจะต้องทำจริงๆ สำหรับคนที่ เหลือเศษเหลือเลย เหลือเรื่องของ การกินอาหาร ยังมีอารมณ์ มีการชอบบ้าง ชังบ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ต่างๆนานา รวมเข้าแล้วก็คือ ให้รู้ว่า รสอร่อย รสอัสสาทะ รสที่เราพอใจ ในรสโลกๆ ด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เราก็จะต้อง พิจารณาออก จริงๆ ----

เพราะฉะนั้น การพิจารณาอาหาร จึงมิได้หมายความว่า มีท่าทางทำรูปแบบ จับชามจับถ้วย แล้วก็ทำพิธี อะไรต่ออะไร ไปเฉยๆ เท่านั้น ไม่ใช่ แต่เราก็จะต้อง พิจารณา ให้รู้จริงๆ และทำแบบพิธีด้วย แล้วก็พิจารณารู้ตัว พร้อมต่อสัมผัสต่างๆ ที่จะเกิดบทบาท สัมผัส เกิดจับ เกิดดู เกิดเห็น เกิดสัมผัสกาย สัมผัสลิ้น เคี้ยวเข้าไปในปาก กลืน รู้รส รู้สัมผัสทุกอย่าง แล้วก็อ่านต่อไป จนถึงจิตใจ อย่างจริงๆ แล้ว ปรับปรุงสู่กุศล สู่การละ จาง คลายกิเลส แน่แท้ ชอบบ้างก็ต้องลด ชังบ้างก็ต้องลด ไม่ชอบ หรือว่า ไม่ชังอะไร ก็ต้องให้ลดลงมา ให้เป็นไม่ชอบไม่ชัง อยู่กลางๆ สบายๆ อารมณ์ ก็ต้องพิจารณา เห็นเหตุผลว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่เราจะรับ ที่เราจะสังเคราะห์ ที่เราจะเป็นไป เป็นไป โดยที่เรารู้ความจริง ตามความเป็นจริงแล้ว เราก็จะจับ แม้แต่อาการนี่แหละ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ พระพุทธเจ้าท่านสอน คำสอนที่เกี่ยวกับ อาหารการกิน เครื่องใช้ มีปัจจัย ปัจจัยทั้ง ๔ ไม่ว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ ยารักษาโรค ย่อย่น เข้าไว้เท่านั้น อื่นๆ ก็นัยคล้ายกัน ที่ออกไปจากอาหาร รับเข้าไปทางปาก อาหารที่รับมา เกี่ยวข้องอยู่ ทางนอกกายของเรา เป็นบริโภคนอก บริโภคใน ซึ่งเราก็จะต้องรู้ว่า สันโดษ พอดี เฟ้อเกินพอดีนั้น คืออะไรแน่แท้ พอดีคือ แค่ไหน เราจะเป็นผู้ที่มักน้อย น้อยขนาดไหน เราอยู่ได้สมบูรณ์ มากเกินขนาดใด เราจะลด จะละลงมา ให้พอดิบ พอดีพอเพียง และก็รู้ แม้กระทั่ง ปรุงสร้าง ให้มันเป็นการปรุงแต่ง ประดับประดา โอ่อวด หรูหรา ฟู่ฟ่าอะไร เราก็จะรู้ แล้วเราลดลงมา อย่าไปสร้าง ค่านิยม ที่จะพาให้โลกเขาหลง เขาหรูหรา ฟู่ฟ่า ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย เกินการ ทิ้งขว้างผลาญพร่าเล่น เราจะต้อง หัดประหยัด ให้รู้ประโยชน์ ที่แม่นเป้า และรับประโยชน์นั้น แม้แต่ไม่สมบูรณ์ ด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่หรูหรา ฟู่ฟ่า อะไร เราก็น่าจะทำได้ ถึงคราวที่เรา จะประดับประดากันบ้าง ที่เขาจะต้องมีรูป มีร่าง มีสวยมีสะอะไร ตามหมู่กลุ่ม ตามสังคม ตามผู้ที่เขาติด เขายึดมาก เราจะอนุโลม เราจะพอไปกับเขา ส่วนใจของเรานั้นน่ะ ไปหลงแฝงอาศัย แล้วก็ แฝงติด แฝงยึด แฝงขาดทุน ลิ้มๆ เลียๆ แอบชิม แอบเสพย์ แอบลิ้มรับ แล้วก็เลยจม อยู่ในหมู่กลุ่ม อย่างนั้น แล้วเราก็ไม่ได้ ลดละลงไป ได้น้อยกว่านั้น ประหยัดไม่ได้ มากกว่านั้น มักน้อยไม่ได้มากกว่านั้น เราต้องรู้ตัว ให้ละเอียดลออ พยายามฝึกตน ออกไป ให้ชัดแจ้ง ทั้งหมดเลย ว่าเราเอง เรายังมี อาการเล็กๆ น้อยๆ แฝงซ่อนอยู่อย่างไรๆ ต้องพยายามรู้ ให้แยบคาย รู้ด้วยปัญญา อันชาญฉลาด งั้น ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมะ ด้วยใช้อาหาร เป็นเรื่องสำคัญ เราก็จะอ่านรู้อาการ รู้อารมณ์ ของจิตได้ เรื่องอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยอื่น มันก็มีนัยคล้ายกัน ที่มีอารมณ์ชอบ อารมณ์ชัง อารมณ์ราคะ อารมณ์โทสะ คล้ายกันเอง แต่เหตุปัจจัยอื่น เราก็จะต้องรู้ แล้วก็เอาไปเทียบเคียง หรือว่าได้ตัวอย่าง ที่เราปฏิบัติ จากอาหารแล้ว นี่อย่างอื่น เราก็ปฏิบัติได้ อ่านได้ เหมือนกัน คล้ายกัน สุดท้าย เราก็จะปลดปล่อย อะไรๆ ได้อีกเหมือนกันนี่เอง ---

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติอาหารนี่ เราต้องปฏิบัติ ตั้งแต่เราเป็นปุถุชน จนเป็น อริยบุคคล จนแม้เป็น พระอรหันต์แล้ว เราก็ยังต้อง เกี่ยวข้องกับอาหาร ยิ่งเราเป็น พระอริยเจ้าชั้นสูง เรายิ่งจะได้รับการถวาย จะได้รับการยั่วย้อม มัวเมาด้วยรูป รส กลิ่น สี อะไรมากมาย ทั้งความมาก ความหรูหรา ทั้งความเอร็ดอร่อย เขาจะประเด ประดังเข้ามา ประคับประเคนให้แก่เรา เพราะเขาศรัทธา เลื่อมใส ด้วยจิตใจ อยากให้เราได้รับของดี ตามความคิดของเขา มันจะยิ่งมีมาก ที่จะเข้ามายั่วย้อม มอมเมาเรา เพราะงั้น ยิ่งเป็น พระอริยเจ้าชั้นสูง หากมีฐานไม่แน่น ไม่ได้สูงจริงแล้ว เราเป็นพระสูงด้วยอายุ เวลาบวชของเรานาน ถ้าเราไม่ได้ละ กิเลสจริงแล้ว เสร็จเลย คนอื่นเขานับถือเรา ว่าเราเป็นพระผู้ใหญ่ เพราะเราบวชนาน เราอายุมาก แต่แท้จริง กิเลสเรา ไม่ได้ลดละอะไรเลย แบบนี้ละ พระตายมานักแล้ว เป็นพระผู้ใหญ่ เพราะอายุการบวชนาน แล้วก็มาแอบแฝง แอบกิน อยู่ตรงนั้นๆ ไม่ได้ละ ไม่ได้ลด ไม่ได้พยายามทำ จนกระทั่ง ปลดปล่อยได้ แล้วตัวเราเอง ก็จะใช้วิธีการ อย่างชาญฉลาด ที่จะเป็นตัวอย่าง แก่บุคคลอื่น มีแนวโน้ม มีแนวดึง มีวิธีการ มีรูปแบบ ที่จะพยายามถ่วงดึง ให้คนอื่นเขา มาลดมาละ ได้อย่างดี เราไม่มีนโยบาย เราไม่มีเหลี่ยม ไม่มีอิทธิวิธี ที่จะเป็นประโยชน์ต่อท่าน แม้แต่การกิน แบบนี้ ก็นำพาศาสนาไปไม่ได้ แต่ถ้าหาก ผู้ที่เป็นพระอริยะจริง จะมีรูปแบบ และวิธีการ จะมีอะไรต่ออะไร ซับซ้อน เพื่อเป็นประโยชน์ ต่อผู้อื่นเสมอ แม้แต่การกินอยู่ และตัวเอง ก็สะอาดใจ บริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่เป็น จอมโจรบัณฑิต แอบๆ แฝงๆ ลิ้มๆ เลียๆ แอบชิมแอบลิ้มอยู่ โดยที่เราเอง ก็ไม่ได้ละได้ลด แล้วเราก็ติด เป็นอยู่แค่นั้น เลยเป็นคนที่ไม่สูง ไม่เจริญขึ้นได้ งั้นการปฏิบัติธรรม ด้วยการพิจารณาอาหาร หรือ "โภชเนมัตตัญญุตา" หรือจะเรียก อะไรอีก ภาษาบาลี ก็มีเยอะหลายอย่าง หลายอัน ที่จะให้พิจารณา เรื่องอาหาร อยู่ในหมวด หัวข้อสำคัญๆ ซึ่งเคยหยิบเคยจับ หลักฐานต่างๆ มายืนยันให้ฟัง เราจะต้องเห็น ความสำคัญ ของสิ่งเหล่านี้ แล้วปฏิบัติธรรม โดยการพิจารณาอาหาร ทุกเมื่อ รู้สึกตัวทั่วพร้อม ประมาณ แล้วก็ทำให้เกิด การลดละ จางคลายได้จริงๆ คุณจะเจริญได้ ด้วยการปฏิบัติธรรม เพราะมีการพิจารณาอาหาร นั้นเอง

สาธุ.---