006 ธรรมปัจเวกขณ์
ประจำวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖

คุณค่าของมนุษย์

ได้กำชับกำชาให้รู้ว่า มนุษย์เราเกิดมาทำไม เราเกิดมามีคุณค่าด้วยอะไร หรือคุณค่าของมนุษย์ ที่ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ใดๆในโลก คุณค่าไม่ได้อยู่ที่อื่น คุณค่าอยู่ที่สมรรถภาพการงาน ความสามารถที่เป็นความสามารถ เกื้อหนุนสรรพสัตว์ เกื้อหนุนธรรมชาติ สามารถช่วยต้นหมากรากไม้ ให้มันมีอายุยืนยาวได้ มันไม่เจริญ ช่วยให้มันเจริญได้ ช่วยให้สัตว์อยู่ในโลกได้อย่างดี สัตว์ไหนเป็นสัตว์ร้าย เป็นสัตว์ที่เห็นสมควรจะตาย ตามฐานะของมัน มันก็ตายไปตามธรรมชาติ ส่วนสัตว์ใดที่พึงจะมีอายุต่อไปยืนยาว เราก็ช่วยมัน พอเป็นพอไป เอ็นดูกัน

ยิ่งสัตว์คน ต้องพยายามเลี้ยงดูกัน พยายามอุ้มชูให้มีชีวิต บำรุงชีวิตให้ยืนยาว ดังที่เป็นความรู้ ก็รู้อยู่ มีการรักษา มียารักษา มีวิธีการที่จะต่อชีวิต แม้จะเป็นโรคตามธรรมชาติ แก่ตามธรรมชาติ ก็ยังชลอความตาย ไปให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แม้แต่สัตว์ด้วยกัน ต้นไม้ ถ้าเผื่อว่า เราปล่อยตามธรรมชาติอย่างนั้น มันจะตาย และอายุสั้นกว่านั้น แต่เราก็ช่วยต้นไม้ ให้อายุยืนกว่านั้นได้ ดังนี้เป็นต้น

สมรรถภาพของคนอย่างนี้แหละ เป็นคุณค่าของโลก เป็นผู้อุ้มชูโลก ไม่ได้หมายความว่า คนเราจะมาผลาญพร่าโลก ทำลายภูเขา ทำลายแม่น้ำ ทำลายดิน ทำลายต้นไม้ ทำลายสรรพสัตว์ ที่สุด ทำลายคนด้วยกันในโลก นั่นเป็นความเลวร้ายของมนุษย์ ไม่ใช่คุณค่าของมนุษย์ ก็ดังที่กล่าวแล้ว

เมื่อเราเอง เราทราบ เราเกิดมา ก็กิน ก็นอน ก็ขี้ ก็เยี่ยว สืบพันธุ์ แม้เราจะสืบพันธุ์ ลักษณะของศาสนา ก็ได้สอนแล้วว่า มันมีตามขั้นตอนของกิเลส ผู้มีกิเลส ยังติดยังยึด ยังห้ามกั้นอารมณ์กิเลสไม่ได้ จะสืบพันธุ์

ถ้าเผื่อว่า ผู้ที่ห้ามกั้นได้ แล้วก็มีปัญญารู้จักเศรษฐศาสตร์ รู้จักความจำเป็น ความต้องการของสังคมของมนุษย์ ถ้าคนยังน้อยไป ยังสู้สรรพสัตว์ ที่มันทำลาย สัตว์ธรรมชาติ ที่จริงสัตว์ ทำลายธรรมชาติน้อย คนที่ทำลายธรรมชาติมาก เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนขึ้นมา ไม่ทำลายธรรมชาติ หรือมันยังมีคนที่จะมาสร้างสรรยังไม่พอ เราจะเพิ่มพลเมือง ถ้าเรากำหนดกิเลสว่า ไม่มีราคะกันได้ เราก็สามารถที่จะกำหนดพลโลกได้ แต่ถ้าเราไม่ละล้างกิเลส ไม่รู้จักวิธีการลดกิเลส เรากำหนดพลโลกไม่ได้ เกิดสมดุล คนเกิด คนตาย หรือพลโลก จะทรงไป ในฐานะที่สมดุลต้องการ ตามต้องการ เราทำไม่ได้

เมื่อเรามาเรียนรู้ เป็นมนุษย์ เราสามารถที่จะกำหนด โดยเฉพาะในแวดวงสังคม แต่ละสังคม สังคมหมู่หนึ่ง ถ้าสามารถกำหนด แม้แต่ราคะได้ สังคมหมู่นั้นก็จะไม่เดือดร้อน ด้วยการพัฒนา ทั้งวัตถุสมบัติ ธรรมชาติ ทั้งพลโลก หรือ พลสังคมนั้น

แต่ถ้าเผื่อว่า เราไม่สามารถกำหนดได้ เราก็จะเกิดการไม่สมดุลขึ้น ไม่ว่าทั้งวัตถุ ทั้งธรรมชาติ และทั้งคน ถ้าเมื่อเรากำหนดได้แล้ว ลองดูก็ได้ว่า ในสังคมๆหนึ่ง ทำได้แล้ว สังคมนั้นจะอยู่เย็นเป็นสุข และอุดมสมบูรณ์ พลโลกก็ตาม เกิดอย่างหมุนเวียน อย่างพอเหมาะพอดี

ถ้าเผื่อว่า เราทำได้ดังนี้ ขยายสังคมนั้นขึ้นเป็นประเทศ จากประเทศเป็นกลุ่มประเทศทั่วโลก ลักษณะนี้ก็จะกลายเป็นสมดุลทั่วโลก เพราะแม้แต่การเกิดการตาย แม้แต่คนเกิดมาก็ไม่ผลาญ มีแต่สร้างสรร ธรรมชาติก็จะไม่เดือดร้อน ไม่ร่อยหรอ แล้วก็อยู่อย่างที่มีปัญญา มีศิลปะหัตถกรรม อยู่อย่างสุขเย็น เกื้อกูลกันทั่วโลก พึ่งพาอาศัยกันได้ แม้แต่ในแดนกันดาร

ประเทศมันไม่อุดมไปทั้งหมด โลกมันไม่อุดมไปทั้งหมด ประเทศก็มีถิ่นที่กันดาร ถิ่นที่อุดม ต่างกัน โลกก็มี ส่วนประเทศที่ไม่ค่อยจะอุดม แห้งแล้ง ขาดแคลนบางอย่าง แต่เขาก็อาจจะมีบางอย่าง เช่น ประเทศทะเลทราย เขาขาดแคลนพืชผักผลไม้อะไร แต่เขาอุดมน้ำมัน ก็มาแบ่งกัน เราจะมีน้ำมันมาแบ่ง มาแลกกันกับอาหาร มาแลกกันกับสิ่งจำเป็นอื่น ก็หมุนเวียนกันไป คละเคล้า สิ่งที่ขาดสิ่งหนึ่ง ก็มีอีกสิ่งหนึ่ง ทุกอย่างก็จะหมุนเวียน สะพัด เกื้อกูล การเกื้อกูลกันทั่วโลก ก็จะเป็นการสุขเย็น ไปได้ทั่วโลก นี่เป็นคำพูด

ส่วนความจริงนั้น จะไปได้ถึงแค่ใด เราก็ทำตั้งแต่สังคมเล็กๆ พิสูจน์ไปขยายไป ถ้าวิธีการ หรือความจริงอันนี้มันสำเร็จ ความจริงอันนี้ก็จะขยายไป ขยายไปสู่ปัญญาชน สู่ผู้รู้ สู่ผู้ที่จะเห็นความจริง เห็นความดีอันนี้ ทฤษฎีหรือแบบอย่าง หรือวิธีการอันนี้ ก็จะขยายๆไปกว้าง เมื่อมันเป็นได้จริง แม้แต่สังคมที่เราได้พิสูจน์ ส่วนหนึ่งๆแล้ว ส่วนจริงอันนี้ มันก็จะขยายไปทั่วโลก นี่เป็นเรื่องของ ความประเสริฐของมนุษย์ ความดีของมนุษย์

ความสุขเย็น ดังกล่าวแล้ว จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อความโลภ เพื่อความเสพย์ เห็นแก่ตัว ไม่ทำงาน ถ้าเผื่อว่า เรามีการพิสูจน์ ในสังคมๆหนึ่ง ได้ทำงานกันทั่วถึง งานทุกอย่างก็จะเบา ไม่มีใครกินแรงกัน ไม่มีใครเอาเปรียบเอารัดกัน งานจะเบา ความอุดมสมบูรณ์จะเกิดขึ้น อยู่อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเรากินแรงกัน เอาเปรียบเอารัดกัน หรือยิ่งโง่กว่านั้น ผลาญเสียด้วย

สาธุ

*****