014 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๖

ผู้มาปฏิบัติธรรม พิจารณารอบตื้น พิจารณารอบซ้อนและลึก ถ้าได้พิจารณาดีๆแล้ว ก็จะเกิดปัญญา จะเห็นสัจธรรมอีกมากชั้นมากเชิง จะเห็นว่าเราเอง เราบางคน ได้รอบตื้นง่าย หยาบๆ ทำปีนขึ้นได้เลยก็มี อันนั้นหมายความว่า อินทรีย์พละ หรือว่าความเพียรของผู้นั้นยังไม่พอ ส่วนที่ทำได้ง่ายในรอบหยาบ ก็เพราะว่าเป็นบารมีเดิม เป็นของเก่าที่ได้มีมาแล้ว เพราะฉะนั้น เวลามาทำ จึงง่าย ได้แล้วเสร็จ เสร็จแล้วเราก็เพียรน้อยไป แล้วเราก็จะต้องบุกบั่น เพราะว่าการเพิ่มชั้นเลื่อนชั้นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไหนแต่ไหน ยิ่งขั้นต่ำมันก็ยิ่งยาก ถ้าสูงขึ้นไปอีก ชั้นต่ำนั่นผู้จะเลื่อนสูงขึ้น มันก็ยากทั้งนั้น ยิ่งสูงขึ้น จะว่ายากอีกเชิงหนึ่ง ที่ว่ายากนั้นก็เพราะว่า มีกิเลสลึกซึ้งซับซ้อนที่เนียนใน มานะก็สูงขึ้น ภาระอะไรต่ออะไร ที่จะต้องระมัดระวัง ที่จะต้องมีสังวรระวัง มีระเบียบมีวินัยอะไรต่ออะไร สิ่งแวดล้อมของสมมุติสัจจะก็สูงขึ้น มันจึงยาก เพราะฉะนั้นบางคนจึงไปไม่รอด

ส่วนผู้ใด ถ้าเผื่อว่าได้เห็นความสบาย เห็นอย่างสอดคล้อง ทั้งสิ่งแวดล้อมนอก ทั้งสิ่งใน ที่เราเป็นจริงแล้ว มันก็เป็นความเบาความว่างทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะมีวินัย มีกฎ มีหลัก มีระเบียบ

ถ้ายิ่งผู้ใด ปฏิบัติถูกทางทฤษฎีมรรคองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้าแล้ว และได้ทำมาเป็นขั้นเป็นตอนอย่างแข็งแรง ผู้นั้นจะไม่รู้สึกท้อต่ออุปสรรค หรือว่าบทที่เราจะปฏิบัติประพฤติ กลับจะเห็นว่าเป็นกำไร ที่เราได้มีแบบฝึกหัด ที่เราได้ลดละ ได้ฝึกได้ทดลอง ดีกว่าว่างๆ ไม่มีแบบฝึกหัดเลย เหมือนนักมวยไม่มีคู่ซ้อม มือถึงๆ มือดีๆ นักมวยเกๆ ไม่มีคู่ซ้อมมือถึงมือดี จะรู้สึกว่า มันรู้สึกว่า มันไม่ค่อยจะสมบูรณ์ ไม่เจริญ อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าเผื่อว่ามีคู่ซ้อมมือถึงๆ มาให้ซ้อมเสมอๆ จะรู้สึกว่าถนัดถนี่ รู้สึกตัวเองแข็งแรง รู้สึกตัวเองมีความสามารถดีขึ้นๆ เรื่อยๆ ฉันใด

ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ทฤษฎีของพระพุทธเจ้านี้ ไม่ใช่หนีเลย แต่เป็นทฤษฎีที่กล้าหาญ องอาจ ผจญประจัญ แล้วก็สามารถที่จะแข็งแรง แกล้วกล้า มั่นคง ไม่ถดถอย เป็นทฤษฎีที่ตรงข้ามกันเลย กับทฤษฎีเดียรถีย์ ซึ่งเป็นการอ่อนแอ เป็นเรื่องที่หลบลี้หลบเลี่ยง ไม่ผจญไม่ประจัญ เพราะฉะนั้น ก็ต้องสังเกตให้ดีๆ

ข้อสำคัญ มันอยู่ที่ อย่าทำเกินภูมิเกินฐาน ฐานะของผู้ใด ดูตนมองตน ตรวจตนให้ดีๆ อย่าเหิมห่ามจนเกินการ เสร็จแล้วจะเข็ดเขี้ยว ไปไม่รอด แล้วก็ตื้นๆ แล้วก็ถดถอยลงไปได้ ถ้าเผื่อว่าไม่เข็ดเขี้ยว ไปได้ อย่างเต็มมือ

อย่ามีมานะ อันใดสูง ต้องยอมรับว่ามันสูงเกินแรง เกินฐานะของตน ผู้ใดวัดความสูงเกินแรงของตนเองได้ชัดเจนอยู่ ผู้นั้นไม่พลาดง่าย แต่ระวังอีก ในมุมกลับ ตัวเองอยู่ในฐานะสูงเหมือนกัน แต่เสร็จแล้ว ก็หลงผิด เข้าใจผิด นึกว่าตัวเองต่ำ ก็ทำให้ช้าเหมือนกัน ทำให้ช้า ไม่ค่อยเดิน ไม่ค่อยเจริญดี มันไม่ตึงๆมือ มันไม่สมฐานะ ก็ดูเบาดูง่าย ดูเบาดูง่ายแต่ว่าช้า เพราะฉะนั้น ก็ต้องพยายามระมัดระวัง ดูให้มันพอเหมาะพอสม ในเรื่องมัชฌิมา หรือสมฐานของตนๆ ถ้าได้สมสัดสมส่วน ดีทุกขนาดแล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้เร็ว เจริญ และไม่หนักหนา สบายๆ

ในการปฏิบัติธรรม ถ้าเผื่อว่ารู้ว่า เราก็จะต้องตั้งตนอยู่ในความลำบาก คือ จะต้องขัดเกลา ต่อสู้มาก เพียรเป็นไปด้วยใจ ที่เข้าใจแล้วนี่นะ มันไม่ทุกข์ มันไม่เดือดร้อน นอกจากคนนั้นขี้เกียจ ถ้าไม่ขี้เกียจแล้ว มันก็ต้องทำงาน มันก็ต้องพากเพียรสร้างสรรไป ทั้งบทปฏิบัติ ทั้งการงาน มันอยู่ร่วมกัน การงานก็อยู่ร่วมกัน บทบาทปฏิบัติธรรมก็สอดซ้อนอยู่ ในการกระทบสัมผัส ด้วยทวารทั้ง ๖ สังวรระวัง สำรวม สิ่งที่จะมาผจญประจัญ ทำให้เราเกิดธรรมวิจัย เกิดกุศล เกิดอกุศล แล้วก็ไปมีผลต่อเนื่องถึงจิต ที่เราเรียกว่า "มโนปวิจาร ๑๘" ต่อเนื่องถึงจิต เราจะดู เวทนาในเวทนา เสมอๆ หรือเราจึงเรียกว่า "จิต" หรือ เราเรียกว่า "ธรรมารมณ์" ก็ได้ แต่ว่าในการปฏิบัติธรรมแล้ว

การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ มันเดินบทพร้อมกันทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม มันเดินร่วมกันไปหมดเลย "กาย" แปลว่าองค์ประชุม "เวทนา"ก็คือ สภาพที่ลึกไปถึง ตัวความรู้สึกสุขทุกข์ แล้วเราก็ปรับไปสู่ไม่สุขไม่ทุกข์ นี่เป็นระบบง่ายๆ เป็นความหมายง่ายๆ ซ้อนลงไปในจิต "เวทนา"ก็คือจิต เพราะฉะนั้น ซ้อนลงไปในจิต เรียกละเอียดลงไป เรียกว่า "อารมณ์" หรือ "ธรรมารมณ์" เราก็จะรู้สภาพของสภาพธรรมารมณ์ หรืออารมณ์ของจิต ที่มันซับซ้อนลึกซึ้ง แยบคายลงไปอีก ไม่ใช่แต่เพียงว่าสุขว่าทุกข์ และแม้ที่สุด ไม่ใช่แค่โสมนัส มันถึงขั้นว่า ชอบหรือชัง เป็นอิฎฐารมณ์ หรืออนิฎฐารมณ์หรือไม่ ถึงปานนั้นทีเดียว และเมื่อเวลาสูงสุดแล้ว อารมณ์จะเป็นถึงขนาด อิฎฐารมณ์หรืออนิฎฐารมณ์ เราก็จะรู้ฐานอาศัย ฐานอาศัยที่เรียกว่า อนิฎฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าพึงใจนัก แต่ว่าอารมณ์ที่ไม่น่าพึงใจนัก โดยสภาวธรรม ไม่ใช่อารมณ์ที่เสพหรือที่ติดของเรา เป็นอารมณ์ที่เรียกว่า เราก็จะตั้งอยู่ใน ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ มันตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ลำบาก สำหรับเสขบุคคล จะมีอย่างนั้นเสมอๆ

ถ้าเราเข้าใจไม่ถูกต้องแล้ว เราก็จะเห็นว่า อารมณ์ที่เราจะต้องตั้งตนอยู่ในความลำบาก เป็นอารมณ์ของอนิฎฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพึงใจ ไม่น่าชอบใจ เราจะเข้าใจผิดได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปพึงเข้าใจผิด ต้องพยายามเข้าใจให้ชัดว่า อารมณ์ที่มัน ที่จะต้องฝืนอยู่บ้างนี่แหละ จะต้องทนอยู่บ้างนี่แหละ เรากำลังขัดเกลา แล้วขณะขัดเกลา เราจะเห็นสภาพทุกอย่างเลย ว่ากระทบสัมผัส อย่างนั้นๆ อย่างนี้แล้ว เราก็กำลังได้ลดกิเลส ได้ฆ่ากิเลส ได้พยายามตั้งมั่น แข็งแรง สู้ทน ได้เดินสู่สูง ได้เดินสู่สูงๆ อยู่เรื่อยๆ เราก็จะเป็นผู้รู้ สิ่งที่เป็นนามธรรมพวกนี้เอง เพราะฉะนั้น ในขั้นจิต หรือธรรมารมณ์แล้ว ก็ยิ่งลึกซึ้ง เป็นดังกล่าว ที่พูดคร่าวๆให้ฟังนี้

ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม โดยหลักเอก หรือทางเอกของพระพุทธเจ้า พิจารณาสติปัฎฐานทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม จึงเป็นเรื่องที่ปฏิบัติมรรคองค์ ๘ แล้วเดินไป มีสภาพให้เราเรียกได้ขานได้ จะหยิบมาเป็น แต่ละชื่อแต่ละเรื่องว่า กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมารมณ์ก็ดี ก็เรียกได้ทุกอัน มีอยู่พร้อมสรรพ เพราะมันเกี่ยวพัน ทั้งข้างนอกและถึงข้างใน แก่บุคคลๆ นั้นทีเดียว

นี่เป็นการฝึก เป็นการปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้ จะต้องพิจารณากระทำให้จริง ผู้ใดเข้าใจแล้วเรียบร้อย จะปฏิบัติธรรมโดยไม่หมองหม่น โดยไม่ผิดลักษณะธรรม เบิกบาน ร่าเริง มีความเพียร และสนุกกับการปฏิบัติธรรมเสียด้วยซ้ำไป ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมีความเบิกบานร่าเริง หรือมีความเพลิดเพลินในการปฏิบัติธรรม ถูกตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงสร้างประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่ปฏิบัติธรรมของทุกๆคน และจะเจริญเร็ว พร้อมกันนั้นเราเรียกอันนี้ว่า สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา


สาธุ..

*****