016 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๖

เรากำชับกำชาอะไรกัน ก็กำชับกำชากันมาเรื่อยๆ เสมอ ซับซ้อน จนบางคนรู้สึกว่า จะเกิดการเบื่อหรือการเซ็ง ก็ขอกำชับกำชา ในเรื่องเบื่อหรือเซ็งให้มันสำคัญ

มันเป็นอุปาทานชนิดหนึ่ง ที่เป็นกิเลสซ้อนอยู่ในตัวของมันเอง ที่เราเกิดอารมณ์เบื่ออารมณ์เซ็ง เป็นมานะ เป็นการถือดี เป็นการถือตัวว่า เรารู้แล้ว เราเข้าใจแล้ว แล้วเราก็เกิดความไม่อยาก เป็นวิภวตัณหาซ้อน เป็นความไม่อยาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจสภาพธรรมดาๆ ยกตัวอย่างเช่นว่า เราเดินก็เป็นการซ้ำ เรานอนก็เป็นการซ้ำ เรากินก็เป็นการซ้ำ เราตื่นก็เป็นการซ้ำ เราทำอะไรต่างๆนานา ที่เราทำซ้ำซากอยู่ โดยไม่มีอุปาทาน ไม่มีกิเลส ไม่มีมานะอะไร เราก็ไม่ได้ทุกข์ร้อน แล้วเราก็ไม่มีอาการเบื่ออาการเซ็ง ไม่จริงๆ เช่น เราต้องนอนซ้ำซาก เราต้องตื่นซ้ำซาก เราต้องทำกิจอย่างนั้นอย่างนี้อะไรซ้ำซาก และเราก็จำนน เราเอง เราไม่มีจิตว่า เราเบื่อเพราะจำเป็น เพราะมันเป็นอย่างนั้นแหละ ในชีวิตต้องเป็นอย่างนั้น มันจะเป็น แล้วเราก็ไม่ได้เบื่อไม่ได้แหนง ไม่ได้หน่ายอะไร เพราะเราไม่ได้ตั้งจิตที่จะมีกิเลสอะไร มันก็เป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติ ที่จะต้องหมุนเวียนๆ ไม่เป็นอย่างนั้น

เพราะงั้น ความเบื่อความเซ็ง จึงไม่ใช่ความปรกติธรรมดาของมนุษย์ มันเป็นความเกิดขึ้นด้วยอารมณ์ ที่เราไปสร้างอารมณ์อะไรขึ้นมากั้น เข้ามากั้น แล้วก็เกิดการผลักการดูดขึ้นมา ถ้าเผื่อว่า มันจะมาก็มา มันจะไปก็ไป เช่นเราถึงเวลา เราจะฟังธรรม ถึงเวลา เราจะทำวัตร เราก็เป็นธรรมดา เหมือนเราจะนั่งกินข้าว หรือว่าเหมือนถึงเวลา ที่จะต้องได้เวลา ที่จะเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ เหมือนเวลาที่เราจะต้องเข้าไปทำธุระเบา ธุระหนัก อะไรก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องปรกติ หรือเราจะกินข้าว ข้าวที่เรากิน เม็ดข้าวมันก็เป็นข้าว เรากินซ้ำซาก เราไม่เคยคิดว่ามันน่าเบื่อ เม็ดข้าวมันก็เป็นข้าว ข้าวธรรมดา มันไม่น่าเบื่อ เราก็ไม่เคยเบื่อข้าว แต่เราไปตั้งอุปาทาน อยู่ในกับ กับข้าวบางชนิด กับข้าวนี้ กินซ้ำซากแล้วเบื่อ เราก็ไปมีอุปาทาน มีกิเลสกับ กับข้าว แต่ข้าวแท้ๆกลับไม่เบื่อ ทั้งๆที่มันไม่มีรสชาติ เหมือนกับอาหาร หรือกับข้าวบางชนิด ที่เราชอบด้วยซ้ำ ชอบนี่แหละก็ยังเบื่อได้ แต่ข้าว ไม่ชอบก็ไม่มี ชอบก็ไม่มี แต่ต้องกินมัน โดยความยอมรับ มันก็ไม่มีเบื่อ ไม่มีเซ็ง อย่างนี้เป็นต้น

ที่อธิบายวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ ก็เพื่อที่จะรู้ว่า สิ่งที่มันจะต้องหมุนเวียนกับชีวิต อย่างอาตมานี้ แน่นอน อาตมาจะต้องเทศน์ซ้ำซาก จะต้องทำกิริยาท่าทีอย่างนี้ จะต้องพิจารณาอาหารอย่างนี้ ซ้ำซากไปจนตาย อาตมาก็ไม่ได้เบื่อ เพราะว่าก็เหมือน เราจะต้องไกวแขนไกวขา จะต้องเดิน จะต้องนอน จะต้องลุก จะต้องนั่ง จะต้องเคี้ยว จะต้องกลืน จะต้องอุจจาระ จะต้องปัสสาวะ มันเป็นปรกติธรรม ที่จะต้องหมุนเวียนมาถึง ต้องเป็นไปตามกาลเวลา มันไม่ได้น่าเบื่อ มันไม่น่าเป็นที่น่ารังเกียจ น่าผลักน่าดูดอะไร ถ้าจะว่าไปแล้ว กลับมีคุณค่า ถ้าเราจะฟังธรรมซ้ำซาก กลับทำให้เรามั่นจำ แม่นจิตใจแล้ว มันก็ง่าย แก่การที่จะหยิบมาใช้เตือนสติ มาแก้ไขมาปรับปรุงตน มันเป็นความดี เป็นกำไรด้วยซ้ำ แม้จะฟังพิจารณาซ้ำซาก จะฟังธรรมบทเก่า มันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร มันน่าจะดีด้วยซ้ำ เราขึ้นมาทำวัตรเช้า ประจำ ซ้ำซากทุกวัน มันก็เป็นความดี มันไม่ได้ประหลาดอะไร มันจะเป็นระเบียบแบบแผน เป็นพิธีการ เป็นยัญพิธี ต่อไปถึงอนุชนรุ่นหลัง ไปอีกนานนับชาติ มันไม่ได้เสียหายอะไร อย่างนี้เป็นต้น มันไม่เป็นสิ่งอื่น หยัดยืนยัน สำหรับคนดี เขาทำอย่างนี้ประจำ เขามีไว้เสมอๆ มันกลับจะเป็นของดีด้วยซ้ำ

ผู้ที่เกิดอารมณ์ซ้ำซาก เบื่อหน่าย จงพิจารณาตนเองให้ดี ว่าเป็นเรื่องที่เป็นกิเลส เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด เมื่อผู้ใดเข้าใจแล้ว ก็ทำคืน อย่าให้เกิดอาการ กิเลสผลักไส ไม่ชอบใจ เบื่อ เซ็ง ก็ให้มันเป็นตามธรรมดา หมุนเวียนมา มันถึงเวลาวาระก็เป็นไป ตั้งใจรับให้ดีด้วยซ้ำ จำก็ได้แม่น ได้มีอะไร รายละเอียดอื่นๆ ที่ทำให้เราเกิดปัญญา ให้เกิดความเข้าใจ

เราอาจจะบรรลุธรรม ด้วยสิ่งอย่างนี้ก็ได้ บรรลุธรรมด้วยการพิจารณา ที่ได้ฟังได้กล่าว บรรลุธรรมด้วยการทำวัตรเช้า บรรลุธรรมด้วยการทำอะไรต่ออะไร ที่เป็นพฤติกรรม เป็นยัญพิธี เป็นพิธีการที่ดี เราอาจบรรลุธรรมได้ ด้วยซ้ำ

ถ้าผู้ใดได้เกิดจิตที่เบื่อหน่ายเซ็ง ในสิ่งที่จะให้คุณค่าโดยแท้ ดังกล่าวนี้แล้ว ผู้นั้นจึงเป็นผู้ที่ต้องพิจารณาใหม่ให้ดีๆ อย่าให้เกิดสิ่งนั้นเป็นอันขาด นี่ ไม่ใช่บังคับ แต่ว่าแนะนำ วิเคราะห์วิจัย ให้ฟังดีๆ จริงๆ ก็บางคนอาจจะเกิดอย่างนั้นได้ แม้ในหลายนัยหลายเรื่อง ที่เราเองต้องทำประจำอยู่แล้ว แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายซ้ำซาก อะไรอย่างนี้ มันเป็นคุณงามความดี มันเป็นผลดี ต้องพิจารณาถึงกุศล แล้วยังกุศลให้ถึงพร้อม เพราะกุศล ถ้าไปทำไว้ ไม่อารักขา ไม่สร้างให้มันเกิดอยู่ ประจำๆ มันก็เสื่อมได้เป็นธรรมดา ไม่ว่ากุศลหรืออกุศล เสื่อมได้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น เราจะยังกุศล ทำกุศลอันนี้ ให้มันซ้ำซาก ให้มันแน่นหนา ให้มันมั่นคง ไม่ให้แปรปรวน ไม่ให้เสื่อมสลายไปได้อยู่เสมอๆ ทั้งปัญญาผู้ที่ทำก็เห็นชอบ แล้วก็พอใจทำ ทั้งผู้ทำก็ทำอยู่ อย่างมีอิริยาบถ มีอะไรที่เป็นแบบนั้น ยืนหยัดยืนยัน ถาวรอยู่ตลอดๆไป มีคุณค่า มีประโยชน์อยู่ สิ่งนั้นก็เป็นการรักษา สิ่งที่ควรจะยังกุศลให้ถึงพร้อม ให้เป็นประโยชน์คุณค่าแก่มนุษย์ ต่อทอดไปในอนุชนรุ่นหลัง อีกกี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่นปี ก็ยิ่งดี ถ้ามันเป็นคุณค่า ดังที่เรากล่าวแล้วว่า เช่น เรากินข้าว มันก็มีคุณค่า สังเคราะห์ธาตุ สังเคราะห์ชีวิต เราต้องนอน ต้องยืน ต้องเดิน ให้มันเป็นการหมุนเวียนของชีวิต อย่างนี้เป็นต้น มันก็คล้ายกัน

สังขารหลายๆอย่าง ที่เราสังขารขึ้นไว้ในสังคม สังขารเหล่านั้นมันเป็นของดี เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเสพ แต่เราทำจนกระทั่งชำนาญ จนกระทั่งเป็นคุณค่า เป็นประโยชน์ แล้วการก็อาศัยสิ่งนั้น สังขารอาศัยร่างกาย เห็นเป็นสังขารที่เราอาศัย ให้มีสุขภาพดี เราก็อาศัยมันไปได้อย่างสบาย ตลอดปลอดภัย มีคุณค่า มีประโยชน์เดียวกัน สังขารอื่นๆ แม้แต่พฤติกรรม แม้แต่ยัญพิธีที่เป็นแบบอย่าง เป็นสังขาร สังขารเหล่านั้นก็เกิดขึ้นมา เพื่อที่จะยังประโยชน์ ให้แก่มนุษยชาติ เราก็ต้องรู้ว่า เราจะยังสังขารเหล่านั้น ซึ่งเป็นกุศลไปด้วยดีตลอดนิรันดร์ ไม่ใช่ทำขึ้นมาแล้ว เราก็เบื่อ เราก็เซ็ง เราก็หน่ายแหนง อะไรอย่างนั้น เป็นต้น นี่ก็เป็นแง่หนึ่ง ที่นำขึ้นมาพูดขึ้น ให้เราพิจารณา

ถ้าผู้ใดเกิดปฏิกิริยา หรือเกิดอาการที่ไม่ดี ดังกล่าวแล้ว ก็ขอให้พิจารณาดีๆ แล้วกลับทำคืน ให้สู่ทิศทางที่เจริญๆ จะได้เป็นประโยชน์ทั้งตน และอนุชนรุ่นหลังผู้อื่นไปอีก นานนับกัปกาล

สาธุ.


สมณะโพธิรักษ์

*****