026 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖

ได้เน้นถึงเรื่องศรัทธา แล้วก็ได้ขยายความ ถึงคำว่าศรัทธา ให้เป็นภาษาไทย เป็นความหมายให้ลึกซึ้งขึ้นไปจาก อาฬวกสูตร ให้ฟังมากขึ้นแล้วว่า ศรัทธานั้น จะต้องเกิด ประกอบกับความจริง ประกอบกับธรรมะ ที่เราเรียกว่าสัจจะ ศรัทธาประกอบกับธรรมะ ประกอบกับสัจจะ ประกอบกับปัญญา

จะมีความเชื่อถือเชื่อมั่น ก็เพราะว่าเราเอง เราทำความรู้เป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วเราก็เอามาปฏิบัติประพฤติ พิสูจน์ จนเกิดขึ้นทรงขึ้น จนเป็นความรู้ความเห็น ที่เป็นตัว ยถาภูตญาณทัสสนะ เป็นตัวรู้ ตัวเห็นจริง สิ่งที่มันเกิดจริง มันเป็นจริง มันมีจริงขึ้นมา แล้วเราก็จะเห็นว่า อันนี้เป็นจริงหรือไม่จริง จะได้รับความรู้ จะได้รับอารมณ์ จะได้รับผลอย่างไรๆ เราก็จะรู้ตามความเป็นจริง

ปัญญา จะต้องเกิดปัญญาอย่างลึกซึ้งอีกว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว เราจะยินดีหรือไม่ยินดี เราก็จะรู้ เพราะฉะนั้น เรามีความศรัทธา ที่เราจะศรัทธา จนกระทั่งจะข้ามพ้นฝั่ง จนกระทั่งจะข้ามอรรณพได้ ด้วยความไม่ประมาท เราจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร เราเอง เราจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญาอีก จะเห็นความบริสุทธิ์ จะเห็นความหมดความเกลี้ยงด้วยปัญญา สิ่งเหล่านี้ เริ่มต้นมีศรัทธา ความเชื่อ ด้วยความเห็น ความรู้ แล้วจึงมีศรัทธา ด้วยการพากเพียรปฏิบัติ ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความทำให้เกิดขึ้นทรงขึ้น จนเป็นจริง แล้วก็มีปัญญารู้เห็น ตลอดระยะทาง ว่าเราได้จริงมีจริง เป็นจริง มีผลเป็นอย่างไร มีรสที่เป็นรสอันเลิศล้ำ ที่เรียกว่าเป็นสัจจะ เป็นรส ได้รับรสนั้นอย่างจริง เราก็ต้องเป็นผู้รู้เองว่า เป็นรสอันเลิศ เป็นรสอันวิเศษ กว่าเราเป็น อย่างที่เราเคยเป็นอย่างอื่นอยู่ พอเรามาเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็มีรส รับรสเอง ด้วยสัจจะที่เรามีนั้นๆ

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ เราจะต้องพิสูจน์ด้วยตน ฟังความอธิบาย ฟังความหมาย ฟังก็ฟังไป แล้วก็วิจัยวิจารณ์ วิเคราะห์เลือกเฟ้น เอาที่ตัวเองเห็นตัวเองมั่นใจ แล้วก็พิสูจน์จนเป็นจนมี

ผู้ที่จะได้ปัญญา เริ่มต้นก็ฟังจากผู้ที่มีผลจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านแนะ เพราะถ้าผู้ใดเชื่อธรรมะของพระอรหันต์ เพื่อไปนิพพาน แล้วเราฟังธรรมด้วยดี เราก็จะได้ปัญญามา เมื่อเราได้ปัญญา ตัวปัญญาตัวนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ จากพระอรหันต์ ที่ท่านจะอธิบาย ท่านชี้แนะไปในทิศทางที่จะเจริญ จะเป็นไปด้วยดี ซึ่งเราก็จะเป็นผู้ที่มาลองประพฤติ มาลองปฏิบัติ มาลองพิสูจน์ จนกระทั่ง เราสามารถได้รับ จะเรียกว่าสมบัติ จะเรียกว่าทรัพย์ แต่ว่าสมบัติหรือทรัพย์ที่พระพุทธเจ้าท่านส่งเสริมนั้น ท่านส่งเสริม ในสมบัติที่เป็นคุณสมบัติ ทรัพย์ที่เป็นอริยทรัพย์มากกว่า

ทรัพย์โลกมันก็ได้ด้วย ถ้าปฏิบัติถูกต้องตรง เป็นผู้ที่มีประมาณอันน้อย อะไรๆ ก็รู้จักประมาณอันน้อยลงไป หรือว่าทำให้ละเอียด ทำให้แยบคายลงไป เราก็จะเป็นผู้ที่ได้ทรัพย์ ซึ่งมันตรงกันข้าม กับความรู้สึกคนโลกๆ ว่าเราเป็นผู้มักมาก เป็นผู้โลภมาก แล้วเราจะได้ทรัพย์มาก มันต่างกัน มันค้านแย้งกันอยู่ในปัญญา ที่ผู้ใดมีปัญญาดีๆแล้ว ถึงจะรู้ ถ้าปัญญาไม่ดีแล้ว ค้านแย้งกัน เราเป็นคนมักน้อย เราเป็นคนละเอียดแยบคาย เราจะได้ทรัพย์ เราจะได้อริยทรัพย์ เราจะได้คุณสมบัติที่มากที่สูง ที่เจริญที่เลิศ ที่ประเสริฐขึ้น วิจักขโณ เรามีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง มีวิจัยวิจารณ์ เรามีการกระทำ ที่จัดแจงปรับปรุง ให้มันดูเหมาะดูสม เป็นการกระทำที่เหมาะเจาะ ที่เรียกว่า ปฏิรูปการี เรามีจริงๆ ปฏิรูปการงาน การกระทำกิจกรรมอะไรแล้วแต่ เราต้องมีการปฏิรูป มีการพัฒนา มีการทำให้ดี ให้เจริญ มีการเอาใจใส่ เอาการเอางาน ไม่ทอดธุระ

มีธุรวา มีการไม่ทอดธุระ มีการเอาการเอางาน จริงๆ มีความเพียร มีอุฏฐานะ มีความขยันหมั่นเพียร ถ้าเรามีอย่างนี้จริงแล้ว เราย่อมได้อริยทรัพย์ ย่อมได้คุณสมบัติ หรือแม้แต่วัตถุสมบัติ วัตถุทรัพย์ก็ได้ ได้ด้วย ถ้าทำถูกดังที่กล่าวนี้ เป็นผู้ที่ไม่โลภโมโทสัน สะสมไป ขยันหมั่นเพียร วิจัยวิจารณ์ ทำให้เหมาะทำให้เจาะ พยายามไม่ทอดธุระ เอาการเอางาน ขยันหมั่นเพียรจริงๆ สมบัติทางโลกก็ได้ โดยเฉพาะ สำคัญที่สุดก็คือ สมบัติทางธรรม ที่เราจะสามารถทำได้เป็นผู้เจริญ

สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาซ้ำซ้อน ให้เห็นและให้เป็น และให้มีเป็นสัจจะ แล้วเราจะได้เกิดศรัทธาในสัจจะต่างๆเหล่านั้น มันทรงขึ้น มันตั้งมั่น แล้วมันได้สละ ได้ล้าง ได้จาคะ สิ่งที่เราควรละล้างออกนั่นเอง อะไรละได้ล้างได้ เราก็จะไม่หวงแหน เราก็จะยินดีซ้ำว่า เราปลดปลง เราปลดปล่อย เราได้สละ ได้การสละ แล้วเรายินดีการสละ แล้วเราเกิดเชื่อมั่น ในการสละนั้นๆ ว่าสละออกได้แล้ว มันเป็นความวิเศษ ละล้าง ปลดปล่อย จางคลาย หมดไปจากตนจากตัวได้ มันเป็นความวิเศษ มันเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษากันจริงๆ อบรมล้างกันจริงๆ แล้วคุณจะได้ศรัทธา ในสัจจะที่คุณเป็น คุณมีจริงๆ

แต่การปฏิบัติ ก็อย่างที่สรุปแล้ว ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สรุปว่า เราจะปฏิบัติให้เกิดสัจจะนั้น จะต้องมีการฝืนการข่ม จะต้องมีการสู้ทน จึงจะสละได้ ถ้าผู้ใดถอย อดทนสู้จริงๆ ไม่ใช่สู้อย่างด้านๆ ดื้อๆ เฉยๆ แล้วไม่ได้มรรคได้ผลอะไรนะ ยิ่งฟังมาก รู้มาก เข้าใจมาก แต่ไม่ได้ปฏิบัติ มีทมะ ขันติ มีจาคะอะไร ไม่มีการสละได้ ล้างได้ ละได้ มันก็ไม่ถอย อยู่อย่างนั้นเฉยๆ มันไม่มีสัจจะแท้ แล้วมันก็ไม่มีจาคะจริง เพราะเราไม่มีทมะ เราไม่มีการฝืนข่มสู้ ไม่มีการอดทนอะไร มันอ่อนแอ เหยาะแหยะ กิเลสนิดกิเลสน้อยก็แพ้มัน ผู้นั้นตายเปล่าๆ ไม่ได้สัจจะอะไร จะกี่ช้านาน ยังไงก็แล้วแต่ ก็จะเลี่ยงๆหลบๆ ก็จะร่องๆแร่งๆ อยู่ไปอย่างนั้นเอง

ขอให้พวกเราได้สอดส่องดูกัน คนที่เป็นตัวอย่างก็มีอยู่ เห็นได้ เห็นจริงๆ เป็นคนเหยาะแหยะ ไม่เอาการเอางาน ไม่เอาธุระ ไม่แข็งแรง ไม่สู้ทน ไม่ข่มไม่ฝืน ไม่กล้าหาญ ร่องๆแร่งๆ ลอยๆล่องๆ อยู่อย่างนั้นแหละ เห็นได้เลย เราไม่ได้จ้างเราไม่ได้วานหรอก เราจะเห็นนะ เป็นตัวอย่าง อย่างซึ่งเป็นตัวอย่างไปในทางไม่ดีนะ เป็นตัวอย่างเป็นประโยชน์แก่เรา อย่างนั้นแหละ อยู่ไปลอยๆล่องๆ สั่งสมสิ่งที่อ่อนแอของตนเอง ทำกิจทำกรรมทำกิริยา ทำอะไรต่ออะไรให้เห็น ซึ่งมันเหยาะแหยะเต็มที

ขนาดที่เราสู้ ทน ข่ม ฝืน กัดอกกัดใจสู้ มีทมะ มีขันติ ขันตี ปรมัง ตโป ตี ติกขา มีความเพียรพยายาม ที่จะมีการสู้ไม่ถอย มีการอดทน มีการข่มฝืน มีการพากเพียร อุตสาหะ วิริยะ มันยังได้กันขนาดนี้ๆ

และผู้ใดได้กระทำให้แก่ตนจริง มีความพากเพียรจริง อุตสาหะวิริยะจริง พยายามไม่แพ้ต่อกิเลสง่ายๆ ชนะ คุณจะเป็นผู้พบสัจจะเอง และคุณนั่นแหละจะเป็นคนศรัทธา และศรัทธานี้ ศรัทธาในสัจจะในธรรมะ ที่มีจริงเป็นจริง เห็นด้วยตน มีปัญญารู้แจ้งรู้ชัด ไม่ใช่งมงายเลย ผู้พิสูจน์เท่านั้น และผู้มีจริงเท่านั้น จึงพบความจริงเหล่านี้

สาธุ.