027 ธรรมปัจเวกขณ์ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๖ |
ตอนนี้ได้พยายามแนะนำในเรื่องสัจจะ ให้เข้าใจในสัจจะ แต่ก็ยังไม่ได้ขยายเรื่องสัจจะ ที่เรียกว่า ปรมัตถสัจจะกับสมมุติสัจจะให้พิศดาร เอาไว้สักวันจะขยายให้ฟัง แต่ตอนนี้เข้าใจให้ลึกซึ้งว่า สัจจะนั้นเป็นความจริงโดยส่วนนอก ความจริงโดยวัตถุ ความจริงโดยตัวตน บุคคล เรา เขา ก็เป็นด้วย สัจจะที่เราเอง ที่จะเน้นให้เห็นจริงอยู่ตอนนี้ นี่ก็คือสัจจะที่เกิดกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม แล้วก็เล็งเห็นถึงสภาพจิต จิตของเราได้ถูกขัดเกลา จิตของเราได้ละล้างจางคลาย ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมด้วย
เริ่มต้นเข้าไปหาแก่นที่สูงสุด เริ่มต้นละทางจิตล้างทางจิต นั่นท่านเรียกว่า อภิธรรมหรือปรมัตถธรรม ให้มันเป็นสภาพจริง แล้วเราก็จะต้องรู้จริงจนเรามั่นใจ ปัญญารู้ ความเชื่อถือ เชื่อจากของจริง ที่เกิดจริงเป็นจริง เราลดเราจางเราคลาย แม้แต่ชั่วเดี๋ยวชั่วด๋าวเราก็รู้ ทำแล้วมันมั่นคงขึ้น เห็นผลเห็นประโยชน์ เป็นรสสัจจะ รสอันล้ำเลิศของสัจจะ ก็จะรู้เองว่ามันเป็นรสอันล้ำเลิศ ที่เรายินดีพอใจในรสนี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า รสอะไรเลิศที่สุด อะไรหนอที่เป็นรสที่ล้ำเลิศที่สุด ก็สัจจะเป็นรสที่ล้ำเลิศที่สุด
สัจจะที่เป็นรสที่ล้ำเลิศที่สุด ไม่ใช่มีสัจจะอะไร เป็นรสของมัน สอดคล้องกันกับสภาพของวิมุติรส วิมุติรสเป็นรสเลิศ เป็นธรรมรสที่เลิศ เพราะฉะนั้นมันสอดคล้องกันอยู่ รสสัจจะที่เลิศ ว่ารสวิมุติ รสที่ไม่มีรส รสที่ไม่บำเรอ รสที่ไม่เสพสม แต่มันว่าง มันวาง มันปล่อย มันสบาย มันเบา เมื่อถึงที่สุดแล้วเป็นอย่างนั้น แต่ยังไม่ถึงที่สุดแล้ว คุณก็จะเห็นของจริง จะเชื่อถือเชื่อมั่นได้ว่า มันจางคลาย มันง่ายขึ้น จะมีสภาพที่เราจะเห็นบทบาทลีลา ความเป็นอยู่ ความเกี่ยวพัน ความดึงดูด ความปล่อยคลาย เราจึงจะเกิดปัญญาในการปฏิบัติธรรม เห็นความละ ล้าง หน่าย คลาย จืด จาง ปล่อยคลาย ไม่ติดไม่ดูด แล้วก็จะเห็นความจริง ความเห็นจริง
ถ้าเผื่อว่าเราปฏิบัติธรรม อ่านไม่ออก มองไม่ออกถึงอาการจิต สภาพที่กำลังพูดอธิบายด้วยภาษาให้ฟังนี่ แล้วเราก็ไม่เข้าใจ ไม่เห็นจริง สัมผัสของจริงไม่ได้ ไม่ถึง ก็ยากที่เราจะเกิดศรัทธาตัวจริง แต่ถ้าเผื่อว่าเราเห็นจริงสัมผัสได้ อ่านออกแม่นแท้ เราจะเห็นสภาพสัจจะนั้น และจะเกิดศรัทธาตัวจริง
แนวคิด แนวความเห็น แนวความยินดี แล้วมันก็เป็นไปตามทางนี้ด้วยจริงๆ บางคนเห็นเหมือนกัน เห็นว่ามันว่างลง เบาลง แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองว้าเหว่ ตัวเองจืดชืด แล้วตัวเองก็ไม่พอใจ ไม่ยินดี โอ๊ย! สู้ไปมีรสไม่ได้ นี่แสดงว่ายังไม่เข้าใจในสัมมาทิฏฐิ ตั้งแต่เบื้องต้น ว่าโลกุตระนั้นเป็นไปเพื่อความจางคลาย และหมดสภาพ เราต้องกล้าหาญ เราต้องมีความเข้าใจอันนี้ แล้วเราจะเอาอันนี้ จนเกิดจิต เกิดปัญญาเองจริงๆเลยว่า เรายินดีพอใจ ที่จะอยู่อย่างสบาย ง่าย ว่าง จากรสพวกนี้
เราจึงไม่เป็นปมด้อย ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่อยากจะไปแข่งไปขันอะไรเขาจริงๆ แต่เราก็อยู่กับเขาได้ เขามีอะไรๆๆ เราก็สัมผัสเฉย ว่างอยู่จริงๆ แตะต้อง กระแทกกระทั้นอย่างไร ก็ไม่กระเทือนหวั่นไหวอะไรเลย จริงๆ มันถึงจะถือว่ามั่นคง หรือตั้งมั่น หรือไม่หวั่นไหว หรือจะเรียกด้วยภาษาบาลี จะเรียกว่า ไม่หวั่นไหวอย่างใดๆ นกัมปติ หรือว่าอเนญชา อะไรก็ได้ทั้งนั้น มันไม่ไหวไม่หวั่น ไม่กระเทือน ไม่สะเทือนสะท้าน มันนิ่งเงียบ อยู่อย่างเบิกบานร่าเริง พอใจ ไม่น้อยหน้าไม่น้อยตาอะไรเขา ไม่เป็นปมด้อยปมลดอะไร เป็นปมน้อย น่าน้อย น่าเสียดายอะไรเลย
สัจจะที่กำลังเน้นนี้ เป็นสัจจะทางโลกุตระ เป็นสัจจะที่ไม่ใช่ไปเสพสมแบบโลกียะ ก็ขอให้เข้าใจสัจจะอันนี้
และขอให้เข้าใจคำว่า ศรัทธา ดังที่ได้พยายามอธิบายให้พิศดารมามากมายนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้เข้าใจว่า ศรัทธา ไม่ใช่ไปตามๆ เชื่อดายๆ แต่ต้องมีสัจจะปรากฏ ทรงขึ้น ตั้งขึ้นเป็นขึ้น เห็นรูปรอยแห่งความละ ปล่อย เห็นความบริจาค เห็นความวางออก เห็นความไม่ติดไม่ยึด
สิ่งเหล่านี้ว่าด้วยภาษา กล่าวด้วยภาษา แล้วเราก็พิสูจน์ ถ้าเรามีจิตใจยินดี พอใจในเรื่องของโลกุตระอย่างนี้จริง เราเป็นคนพันธุ์เดียวกันกับพระพุทธเจ้า แล้วเราเป็นคนเผ่าเดียวกัน พันธุ์เดียวกันกับพระพุทธเจ้าที่พาเป็น พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นอย่างนี้ จนกระทั่งท่านปรินิพพาน ดับสูญไปแล้ว
ตลอดพระชนม์ชีพ ๔๕ พรรษา ท่านก็สูญกับความเบิกบานร่าเริง ด้วยอันนี้ ด้วยสัจจะอันนี้ ผู้ใดที่จะเป็นไป ตามคิด ว่าเราจะมาเป็นลูกของพระพุทธเจ้า มาเป็นเผ่าพันธุ์ของพระพุทธเจ้า จิตใจ ก็จะต้องมาเป็น แล้วจิตคุณจะรู้เองว่า มันยังฝืนอยู่นะ มันยังอยากไปทางโลกีย์ คุณก็จะรู้ หมดอยากไปทางโลกีย์แล้ว มันมาทางนี้โดยจริง สนิทมากสนิทน้อย คุณจะรู้ของคุณเอง ไม่มีไหวไม่มีแว้บ คุณจะรู้ของคุณเอง หรือมีไหวมีแว้บ คุณจะรู้ของคุณเอง นี้เรียกว่าสัจจะ
ยิ่งมีเวลานานวัน นานปี นานเดือน มากปีเข้า ก็ยิ่งเห็นชัด คุณก็จะทบทวนได้ สอบทวนได้ของตัวเอง พยายามระลึกดู อย่าหลง อย่าเข้าใจเอนเอียงเข้าข้างตัว อย่างกลบๆเกลื่อนๆ เราต้องซอกเซาะ ดูจริงๆ ให้ละเอียดแยบคายว่า มีอะไรซุกแทรก มันมีอะไรซ่อน มันมีอะไรบังเรา มันมีอะไรปกปิดตัวเองอยู่ อย่าให้มันมี เมื่อไม่มีแล้ว เราจะรู้ความจริง ที่เรียกว่า สัจจะ
มีรู้ว่ามี เหลือน้อยรู้ว่าเหลือน้อย แม้เหลือน้อยแล้ว แล้วเราก็ปกปิดอำพรางมันเลย แล้วก็หลงตัวเอง ว่าหมด มันเป็นได้ง่ายๆนะ สำหรับคนที่หวงแหนกิเลส กิเลสมันก็มีบทบาทของมันเหมือนกัน มันก็จะดึงเราไว้ เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามแยบคาย ดูให้ดี ใจเย็นๆ ได้ดีขนาดหนึ่งก็ดีแล้ว แล้วได้ดียิ่งขึ้นก็ดีอีก ได้จนสนิท จนเต็ม จนสมบูรณ์บริบูรณ์ คุณก็จะรู้สภาวะแห่งสัจจะ และความเชื่อ หรือศรัทธาจริงนี้ จะเป็นศรัทธาที่เต็ม จนกระทั่งถึง ดังที่ได้ยกศรัทธาสูตร มาอ้างอิง มาประกอบให้ฟังแล้วว่า มันจะถึงขั้นเต็มครบ ถึงขั้นปัญญาวิมุติเจโตวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ เป็นปัจจุบันนั่นเทียว อย่างนั้นจริงๆเลย เรียกว่าเต็มครบ ศรัทธาอย่างอื่นๆ ก็มีพรักพร้อม
แล้วก็ได้แนะนำ แนะเอาศรัทธาสูตร มาแล้ว คนที่ยังติดใจ ในเรื่องการว่า เป็นพระธรรมกถึกไม่ได้ ไม่องอาจแกล้วกล้า ในการที่จะเข้าสู่บริษัท แสดงธรรมแก่บริษัท ให้เข้าสู่บริษัทเถอะ จะแสดงธรรมโดยภาษายังไม่ได้ ก็แสดงธรรมด้วยกาย เพราะอยู่กับบริษัท บริษัทอื่น บริษัทไหน เราก็ฝึกฝน
การมาเป็นพระ เราจะไปงานรับนิมนต์ เข้าไปยังบ้าน เข้าไปยังเรือน เข้าไปยังโน้น ยังเราก็แสดงกายธรรม แสดงวจีธรรม ผู้เป็นภันเต ท่านแสดงวจีธรรมรับหน้าได้ครบครัน ก็ให้ท่าน เรารับไม่เป็น เราก็ฝึกปรือไป มันจะอาจหาญแกล้วกล้า เข้าสู่บริษัท แม้ยังแสดงไม่ได้ทางปาก ทางกายกรรม ให้มั่นคง เท่ากับเราเองเรามีแล้ว หรือยังไม่มั่นคงทางกาย ทางสัมผัสทางกาย เราก็จะได้รับบทเรียน แบบฝึกหัดได้มั่นคง แน่ใจ ศรัทธาตนเอง เชื่อมั่นคงในตนเอง เกิดจริง มีจริง ไล่ระดับไปเรื่อยๆ
แม้ที่สุด เราไม่มีความสามารถ เราไม่มีบุญบารมี ที่จะแสดงธรรมทางภาษาได้ เป็นสุขวิปัสสโก เป็นพระอรหันต์ ทางด้านที่เรียกว่า ไม่มีนิรุตติภาษา ไม่มีปฏิภาณที่จะแจกแจง ใช้ภาษาอะไรกับเขาได้ แต่เราก็อย่างน้อย ก็จะมีอรรถธรรมะ ที่เป็นเชิงชั้นต่างๆ แต่เรามีอรรถ มีแก่นสาร ที่ได้อาศัย ได้พึ่งพาแล้ว
ไม่ต้องมีมานะ ที่ว่าเราเองแสดงอย่างเขาไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ไม่ต้องมีมานะ ไม่ต้อง เราได้ศีลอันบริสุทธิ์แล้ว ก็ไม่ต้องอยากสอนเขาอะไรให้เป็นกิเลส มองตน แล้วก็มีที่พักพิงของตน ได้เท่านี้ก็ว่าไป ถ้าแม้ว่าเราเองจะพอเป็นไปได้ ค่อยๆได้ฝึกได้ฝน สามารถสอนผู้อื่น บอกผู้อื่นแนะนำผู้อื่น ได้นิดได้หน่อย ก็เป็นไปเอง ตามบุญบารมีที่จะเกิดตามกรรม
ถ้าผู้ใดไม่ได้สั่งสมกรรมนั้นมา ก็ไม่มีมาก ถ้าผู้ใดได้สั่งสมกรรมนั้นมามาก มันก็มีมาก มันเป็นธรรมดาเอง เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราอย่าอิดหนาระอาใจ เข้าใจให้แม่น อย่ารู้สึกว่า มันวางใจไม่ได้ มันเดือดร้อน มันหงุดหงิด มันมีมานะน่ะ ตัวเราเองมันไม่ได้ดังเขา แล้วเราก็นึกน้อยเนื้อต่ำใจ นึกท้อแท้นึกหดหู่ ไม่อาจหาญร่าเริง ก็เพราะเราวางสภาพอย่างนี้ไม่ได้ วางสภาพว่า ไม่เป็นไรหรอก เราได้อย่างนี้ก็ดีแล้ว สิ่งที่ได้เราก็มีอยู่ สิ่งที่อาศัยเราก็มีอยู่ สิ่งที่มันยังไม่ได้ ยังไม่เจริญกว่านั้น ก็ไม่ต้องไปกังวลอะไร เจริญได้ก็เอา เจริญไม่ได้ก็เป็นไปตามนี้ สิ่งที่ดีมี ได้อาศัยแล้ว ก็น่าจะเข้าใจตนเอง ไม่น่าจะให้มีกิเลสซ้ำซ้อนขึ้นมาเป็นมานะ ทำให้ตนเองไม่แกล้วกล้า ในการปฏิบัติอย่างกล้าประจัน กล้าประจัญ กล้าเป็นไป ร่วมรวมกับหมู่ไป อะไรต่ออะไรไปนะ ไม่ต้องหลบไม่ต้องเลี่ยง ถ้าเป็นหลบๆเลี่ยงๆอยู่ มันจะช้า ถ้าไม่หลบไม่เลี่ยง เป็นไปโดยไม่ห่ามไม่เหิ่มเกินไป เกินแรงเกินฐานะ เราก็ชนะ ประจัญ ประจัญดะไปอย่างนั้น ก็ไม่ดี ก็ต้องรู้ความจริงอีกเหมือนกัน
พอเป็นพอไปได้ขนาดนี้ พอประจันประจัญได้ เราก็จะเป็นผู้ที่ได้รับสารัตถะพวกนั้น ตามความจริงที่เราได้ประพฤติปฏิบัติ ต้องอบรมตน ต้องมีแบบฝึกหัด อยู่ดีๆมันมาเอง เอ้า! คนนั้นจับยัด คนนี้จับยัด ไม่มี ไม่เป็นไปได้เลย ทุกอย่างต้องมาจากการอบรมตน มาจากเหตุ อบรมยุคนี้ กาลนี้ ขณะนี้ หรือว่าอบรมเมื่อก่อน เมื่อปางไหน ยุคไหน ชาติไหนก็ตาม ก็ต้องทำทั้งสิ้น ก็ต้องอบรมทั้งสิ้น ไม่อบรมตอนนี้ ก็ต้องไปอบรมชาติหน้า ไม่อบรมชาติหน้า ก็ต้องไปอบรมชาติโน้น แล้วจะให้มันช้าไปอีกกี่ชาติ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ เรามีโอกาสที่จะได้อบรม มีผู้พา มีผู้นำ มีเพื่อนพ้อง พอได้อาศัย พอได้ช่วยเหลือเกื้อกูล กันล้ม กันเจ็บอะไร หรือว่าพอช่วยปัดเป่า พอช่วยบังช่วยพราง ไม่ใช่พรางซ่อนบัง ช่วยคุ้มช่วยกันอะไรให้แก่เราบ้าง มันก็มีการเกื้อกูล ระหว่าง มิตรดีสหายดี เพื่อนดีด้วยกันนี้อยู่ เพราะฉะนั้น โอกาสที่ดีแล้ว วางใจ ตัวที่เป็นจุดควรวางได้ ปล่อยสิ่งที่ควรปล่อยได้ แล้วก็ฝึกหัดฝึกฝน กระทำไปอย่างสบายๆ เป็นสุขาปฏิปทา สิ่งที่มันไม่ถูกฐานะ ไม่ถูกตัวไม่ถูกตน เกินฐานะหรือน้อยไป ที่ต้องพยายามให้มันแข็งแรงขึ้นมา ด้อยไปก็ให้พยายามเต็มขึ้นมา ในสภาพที่กล่าวไปแล้ว เป็นพิศดารหลายนัย ทั้งมาก ทั้งน้อย
ขอฟังให้ดีๆ และพิจารณาแก่ตน เราจะได้สัจจะ และเราจะเกิดศรัทธา อันมีปัญญาครบครัน เป็นปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติ อันสมบูรณ์เป็นที่สุดได้
สาธุ.