028 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖

ผู้ที่มีฐานอาศัย ที่เข้าใจในปฏิปทา ที่พระพุทธเจ้าท่านได้แนะนำว่า ถ้าผู้ใดมีสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญาเป็นเลิศ คือปฏิบัติธรรมอย่างสุขาปฏิปทา มีการปฏิบัติที่สบายเบา เรียกว่า ปฏิบัติอย่างร่าเริงเบิกบาน แต่อย่าเข้าใจเผินไปว่า เราไม่เคร่งครัด เราไม่มีความข่มความฝืน เราไม่มีการเหน็ดการเหนื่อย เราไม่ตั้งตนอยู่ในความลำบาก

ถ้าเผื่อว่าเข้าใจอย่างนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะค้านแย้งกัน เพราะฉะนั้น เราอยู่ในสุขาปฏิปทา ไม่ใช่หมายความว่า ยถาสุขัง มันหมายความว่า เราชอบสุขตามมีตามชอบ ตามได้นั่นแหละ ยถาสุขัง สุขใดๆ ที่จิตมันมีอัตตา มันก็เป็นไป

ถ้าเราตั้งตนอยู่ใน ยถาสุขัง ผู้นั้นอกุศลธรรมเจริญ ความชั่วความเสื่อม ความดีไม่เจริญ กุศลธรรมไม่เจริญ

แต่ผู้ใดตั้งตนอยู่ในความลำบาก เรียกว่า ทุกขายะ ไม่ใช่ยถาสุขัง, ทุกขายะ เราตั้งตนอยู่ในความลำบาก กุศลธรรมจะเจริญยิ่ง

คำว่า สุขาปฏิปทา จึงหมายความว่า เรามีฐานอาศัย สุขะ ถ้าแปลว่าความว่าง ความเบา ก็ความว่าง ความเบาด้วย เราปฏิบัติให้มีฐานพักให้มีฐานอาศัย จิตเราเบา จิตเราว่าง จิตเราสบาย จิตเราโปร่ง จิตของเราไม่อึดอัดขัดเคือง เราทำเป็น สัมผัสอะไรอยู่ เราก็รับรู้ตามความเป็นจริง แล้วเราก็วาง ปล่อยจิต หรือว่าเราก็รับรู้อย่างไม่อึดอัดขัดเคือง ภาษาบอก ก็บอกได้แค่นี้ เราต้องอบรม เราต้องรู้เข้าใจ แม้แต่เราพยายามที่จะพูดกับเขา จะต่อสู้กับเขา เราก็ไม่อึดอัด เราก็ ใจเราโปร่งอยู่ ไม่ยึดอย่างแรง ไม่ดึงอย่างแรง ไม่ต่อต้านอย่างแรง เราก็มีอะไรที่มันเป็นที่โปร่ง ที่โล่งของเราอยู่ แล้วเราก็รู้ ใช้ธาตุรู้ของเรา รู้ยิ่ง

นี่ก็พยายามใช้ภาษา ก็พยายามอธิบายลักษณะธรรม ผู้ที่ปฏิบัติธรรม โดยไม่อึดอัดขัดเคืองในใจ รับรู้ความจริง วิเคราะห์ความจริง วิจัยความจริง เลือกเฟ้นความจริง อะไรเหมาะกับตนเอง อะไรเหมาะกับตน ทำได้พอดี ทำอะไรที่เกินตน ก็ว่างไป อะไรที่ตนเองยังไม่ดี ปรับปรุงขึ้น ปรับปรุงขึ้น

ผู้ที่รู้อย่างนี้ จิตใจตัวที่เข้าใจเลยว่า เราไม่ต้องทำความอึดอัด ไม่ต้องทำความลำบากใจให้แก่ตนเอง เป็นความโปร่งความเบา แต่อุตสาหะวิริยะ มีบทบาทในการปฏิบัติ ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ ตั้งตนอยู่ในความลำบาก กายก็ดี อุตสาหะ ขัดเกลา กายกรรมอันนี้ มันดีก็ทำ ขยันหมั่นเพียรดี ทำ สร้างสรรดีก็ทำ ทำอย่างนี้ ได้สัมผัส ได้แตะต้อง ได้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เพราะมีสัมผัส แล้วก็รู้เท่าทัน พอไปได้ อยู่ในฐานะที่ไปได้ แล้วก็อยู่รู้เท่าทัน ไม่เกิน ไม่เกินแรง สามารถทำไปได้ดี เราก็รู้ ถ้ามากไป แหม! เราไม่ทันเลยนะ เราไม่ไหว ตกหล่นได้เหมือนกัน แต่ได้น้อย เสียมากกว่า เราก็ไม่เอา เราก็เอาฐานที่เราพอทำได้ ไม่อายคนอื่น แม้จะเป็นงานหนักงานต่ำ แม้จะเป็นงานที่ช้า ไม่เร็วนัก ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำไปตามประสา เราไม่ใช่จะอวดเก่ง ต้องคล่องแคล่ว แววไว ทำงานอย่างอะไรๆ ที่เขาเก่ง แล้วเราก็ เราไม่เก่ง ไปทำก็เสีย อายหน้าเขา อะไรต่ออะไรไม่ เราจะต้องทำให้มันพอเหมาะพอสมกับตัว แล้วก็ปฏิบัติ ประพฤติอยู่

สัมมากัมมันตะ หรือศาสนาที่มีมรรคองค์ ๘ จึงเป็นศาสนาที่มีการงาน ประกอบร่วม มีกิจมีการ มีสิ่งสัมผัสเป็นปัจจัย แล้วก็กระทำไปอยู่ ให้พอเหมาะพอดี จึงเรียกว่า สุขาปฏิปทา แล้วเร็ว เป็นขิปปาภิญญา เพราะมันเรียนรู้ที่จริง มันไม่ใช่ไปนั่งด้นนั่งเดาเข้าใจ แต่ว่ายังไม่ถึงบทปฏิบัติ จะได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่รู้ ได้แล้ว การกระทำที่ว่าได้ เราทำยังไงก็ไม่รู้ ขณะที่เราทำได้ เรายังต้องเรียนรู้ อีกตั้งหลายครั้งเลยว่า ที่เราทำได้นี่ เอ๊! มันทำยังไงนะ มันไม่แม่น พอครั้งหลังมา เอ๊! ทำไมทำไม่ได้อีก ทำแล้วมันก็ไม่ได้เหมือนอย่างคราวก่อน เราก็ต้องเรียนรู้ เพราะเป็นนามธรรม

การจะปลดจิตวางใจ การจะปล่อยรูปร่างนั้น สภาพนี้ มันไม่ใช่รู้ได้ง่ายๆเหมือนกับวัตถุหยาบๆ จับปุ่มโน้น ปมนี้ มันก็ง่าย แต่ว่าไอ้ที่มันไม่มีตัวมีตนเลย ยิ่งกว่าลมๆ แล้งๆ มันจึงต้องอาศัยการกระทำเสมอๆ อาศัยองค์ประกอบของสิ่งมี ไปขับเคลื่อนสิ่งไม่มี มันจึงเป็นความยาก เป็นความซ้ำๆ ความต้องซ้ำ ต้องซ้ำซาก ต้องทำให้มาก ทำให้อยู่เสมอ เป็นพหุลีกตา ทำแล้วทำอีก ทำให้มาก จนแม่น จนเก่ง จนคล่องแคล่ว ใช้สิ่งประกอบที่เป็นทางวัตถุ หรือเป็นทางรูปธรรม เป็นอะไรต่ออะไร ที่เป็นองค์ประกอบ เป็นส่วน แล้วมันก็ไปมีฤทธิ์มีแรง มีสภาพที่จะจัดแจงกับนามธรรม หรือ อรูปธรรม นั้นๆได้ เมื่อเรารู้ เราแม่น เราถูกสัจจะ เข้าถึง มันจึงจะเร็วได้

สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา จึงไม่ใช่ทำอะไร ตามแบบยถาสุขัง ทำอะไรตามแบบอำเภอใจ สบายๆใจ แล้วก็ร่องๆแร่งๆ เป็นการช้า ไม่เพ่งไม่เพียร ไม่อุตสาหะวิริยะ ไม่มีอธิวาสนา ที่แปลว่า อดทนอดกลั้น หรือแม้แต่ตัวอดทนอดกลั้น โดยตัวมันเอง ไม่มีทมะ ไม่มีการข่มการฝืน ไม่มีการสู้ ไม่มีการทน เหยาะแหยะ อ่อนแอ ไปไม่รอด

ขอให้พวกเราเข้าใจ สุขาปฏิปทา ลึกซึ้งซับซ้อนดีๆ ไม่เช่นนั้นเราจะเข้าใจผิดว่า การกระทำที่มีบทปฏิบัติ เป็นตบะธรรม เป็น ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา มันก็ย้อนแย้งของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้มีตโป ตบะ ให้มีการปฏิบัติ มีหลักการเคร่งครัด ทำอะไรให้สมตัว ก็เคร่งครัดของตัว สมตัว

ผู้ใดทำโดยไม่มีอะไรเคร่งครัด ไม่มีอะไรสมตัว ทำอย่างตามอำเภอใจ เป็นยถาสุขัง ผู้นั้นมีแต่อกุศลธรรมเจริญยิ่ง ซึ่งอาตมาก็เห็นอยู่ ในบุคคลบางคน ทำโดยตามอำเภอใจชอบอัตตาของตนเอง เหยาะๆแหยะๆ ทั้งช้า ทั้งเสื่อมด้วย จะบอกว่าเพียร ก็มีตัวได้เหมือนกัน แต่ตัวเสีย มันมากกว่าตัวได้

เพราะฉะนั้น พลวปัจจัย บุญกับบาป มันมีอยู่ทั้งนั้นแหละ ทำบุญก็บุญ ทำบาปก็บาป แต่บาปมันวิ่งออกหน้า เพราะฉะนั้นวิบากจะแยะ ในอนาคตยิ่งจะแยะ เพราะตัวบาปมันเป็นวิบาก ที่เติมอยู่ตลอดเวลา เคยบอกแล้วว่าล้างไม่ได้ บาปล้างไม่ได้ บุญล้างไม่ได้ แต่ออกฤทธิ์ต่างกัน อย่างที่เคยสมมุติว่า เหมือนขวดน้ำ เราใส่สีน้ำเงิน ถ้าน้ำเงินเป็นดี แดงเป็นชั่ว มันก็อยู่ในขวดนั่นแหละ แต่ถ้าใส่อะไรมาก มันออกฤทธิ์อันนั้นมาก ใส่แดงมากๆๆๆ จนเกิน จนล้ำหน้า มันก็มองไม่เห็นน้ำเงิน และน้ำเงินไม่ได้รั่ว ทิ้งหนีออกจากขวด ถ้าทำน้ำเงินมาก น้ำเงินก็ออกฤทธิ์เป็นสีน้ำเงิน แต่แดงก็อยู่ในขวดนั่นแหละ ไม่เด็ดทิ้งแดงออกไปไหน เพราะฉะนั้น เราจะทำดี เป็นกุศลเป็นส่วนดี หรือไม่ดี มันก็อยู่ในนั้น

แต่ถ้าเผื่อว่าเราทำอกุศลมาก อกุศลจะออกนำหน้า แล้วเราก็จะมีวิบาก แม้ตอนนี้ เราจะอาศัยวิบากเก่า กินบุญเก่า มีวิบากดีในเรื่องของโลกก็ตาม ในเรื่องของธรรม แต่ธรรมะมันไม่ใช่แน่ เพราะธรรมะ ผู้ที่รู้ดีแล้ว ผู้นั้นจะขยันหมั่นเพียร จะสร้างสรร จะไม่กลัวเหนื่อย สัตว์เสือกริ้นคลาน ดินน้ำลมฝน พระอริยเจ้าใหญ่ จะไม่กลัวไม่เกรง จะทำ จะแข็งแรง จะไม่ท้อถอย จะไม่รังเกียจ ไม่รังเกียจ ผู้ที่ยังรังเกียจอยู่ ไม่มีธรรมะ ยังอ่อนแอ ยังเปราะบาง ยังต้วมเตี้ยมเตาะแตะ แม้จะพยายามสั่งสมบุญ ก็มีบาปอยู่ในตัว หรือว่ามีอกุศลอยู่ในตัว อกุศลก็นำหน้า ผู้นี้ทั้งช้า ทั้งยังจะเล่นอยู่กับนรกอีกนานแสนนาน ขอให้ฟังดีๆ

แล้วเราก็ลองให้มันตายเพราะเราทำกุศล ให้มันตายเพราะความเหน็ดเหนื่อย ที่ทำงานดูซิ อาตมาพูดอย่างนี้ อาตมาท้าได้เลยว่า คนขี้เกียจจะไม่ตายเพราะความเหน็ดเหนื่อยทำงาน คนขี้เกียจนี้ พอทำเหนื่อยสักอีกนิดหนึ่ง หนีแล้ว ไม่มีการตายเพราะความเหน็ดเหนื่อยทำงานเลย ตราหน้าได้เลย คนขี้เกียจนี่ ไม่มีหรอก

เพราะฉะนั้น ถึงพูดให้ตาย ให้มันตายโดยความเหนื่อยที่ทำงานดูซิ จ้างล้านหนึ่ง ก็ขี้หมากองเดียว ไม่มีทาง เพราะคนนี้อ่อนแอ เหยาะแหยะ ออเซาะตนเอง โอ๋ตนเอง ไม่มีทางหรอก เพราะฉะนั้น จึงช้า และจะไม่มีหวังที่จะบรรลุได้ง่ายๆ หรือไม่ได้เลย

ที่พูดนี่ พูดด้วยสัจจะที่ตัวเองเห็น แล้วอยากจะให้พยายามขยันหมั่นเพียร มันยังมีกำลังวังชาเรี่ยวแรง มันยังมีอะไรต่ออะไรต่างๆนานา ที่เราจะทำ แต่หลงมันเหลือเกิน หลงระเริง หลงเอร็ดอร่อย หลงขี้เกียจ หลงเบาๆ ง่ายๆ ว่างๆ เบาๆ ที่ไหน พระพุทธเจ้าบอก ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ ตั้งตนอยู่ในความลำบากเถิด กุศลธรรมจะเจริญยิ่ง ถ้าเข้าใจไม่พอ ไม่มีปัญญาพอ ก็ธรรมะพระพุทธเจ้า ค้านแย้งกันหมดเลย แต่ถ้าเข้าใจพอแล้ว ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ค้านแย้ง แต่จงเรียนรู้ ทำให้จิตใจมีฉันทะ โปร่ง รู้ว่านี่ งานคืองาน พฤติกรรมคือพฤติกรรม สิ่งที่เป็นอย่างนี้ แบกมันก็ย่อมหนัก ทำงานมันก็ย่อมต้องเหนื่อย ถ้าทั้งนานทั้งหนัก มันก็เหนื่อยเร็ว มันเป็นเรื่องธรรมดา

บางอย่างบางอัน ทำนานไม่หนัก เราทำได้เรื่อยๆไปทั้งวัน บางคนที่เก่งแล้ว แม้หนักก็ยังทนได้มาก ไม่เหนื่อยเร็ว ก็เป็นธรรมดาธรรมชาติของผู้ฝึกฝน การงานไม่ใช่ทุกข์ การงานไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เราเสื่อมเสีย การงานเป็นสิ่งที่ดี ทำให้คนเรายิ่งเกิดธรรมะ

งานใดเราถนัดก่อน เราจะทำได้ง่าย แล้วเราจะมีฉันทะ ก็พยายามเลือกงานนั้นก่อนก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องติดแต่งานนั้น จะทำแต่งานนั้นงานเดียว งานอื่นหัดขึ้น เราจะรู้ว่าความรังเกียจ ตอนนี้ ไม่ใช่ความขี้เกียจ ความรังเกียจของเรา มันมีรังเกียจในงานอื่น และเราไม่คล่องแคล่วในงานอื่น แล้วเราก็ทำไม่ได้ ทำแล้วก็หนัก ทำแล้วก็ยาก แม้ทำหนักทำยาก เราก็ไม่ต้องถือ เราก็ต้องหัดต้องฝึกดู เพราะบางที เราต้องช่วยกัน บางที เราต้องจำเป็นที่จะต้องฝึกปรือ

โดยเฉพาะงาน มันไม่ใช่งานหนัก แต่งานมันไปยึดถือ รูปก็ดี รสก็ดี กลิ่นก็ดี สัมผัสก็ดี ยิ่งมีศักดินาในหัวใจด้วย หาว่านี่งานต่ำงานหยาบ งานคนชั้นยากชั้นจน คนที่เขาอะไรต่ออะไร ที่เป็นกรรมกรทำ มันมีอะไรต่างๆในหัวใจ เราจะต้องพยายามวางตัววางใจ และต้องฝึกต้องหัด ไม่เช่นนั้น คุณก็ได้แต่นึกแต่คิด ได้แต่เข้าใจ พูดนี้อาตมามั่นใจว่า เข้าใจกันเกือบทุกคนแหละ เพราะว่า มันไม่ใช่เรื่องยากเรื่องเย็นอะไร แต่เราไม่เอาจริง เราไม่ทำจริง เราไม่ฝึกจริง เราก็ไม่รู้จักว่า การปล่อยวางจิตใจของเรานี่ จริงหรือเปล่า

ขอให้พวกเราได้พยายามเข้าใจพวกนี้ แล้วก็ฝึกดูหัดดู หันหน้าชน หันหน้าเผชิญดู อย่าถอย ถ้าเข้าใจว่าศาสนาพุทธนั้นสอนให้ถอย ผู้นั้นไม่ใช่เผชิญตัวจริง ผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่ใช่กล้าจริง ผู้นั้นไม่ใช่คนที่ จะกล้าปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แต่เป็นผู้หนี จึงเรียกว่าโลกันตระ เป็นผู้หลบเป็นผู้ลี้ เป็นผู้เลี่ยง ไม่ใช่นักสู้ ไม่ใช่นักปฏิบัติ แต่เป็นผู้ถอยและถอยหนี หรือเป็นผู้จมแล้วจมเล่า จะไม่เงยเลย

นี่ใช้ภาษาสื่อ สภาวธรรม ซึ่งเมื่อลึกๆ ซึ้งๆ มันก็ยากที่จะรู้ จึงใช้ภาษา หลายซับหลายซ้อน ฟังด้วยดี ตั้งใจฟังดีๆ แล้วเราจะเข้าใจสภาวะ ไม่สงสัย แม้จะภาษาอย่างนั้นแหละ แต่มันสื่อสิ่งที่ซ้อนชั้นซ้อนเชิง อันลึกซึ้ง ให้เรารู้ชั้นรู้เชิงลึกนั้นได้ โดยจริงตามปัญญา และยิ่งมีฐานมีภูมิ อันแท้จริงของเราแล้ว เรายิ่งจะรับความจริงนั้นได้ เป็นสัจจะที่แม่นแท้ ยิ่งเรามีในตนเอง ยิ่งจะเข้าใจ และศรัทธาว่า อันนี้ท่านกล่าวสิ่งจริง ที่เรามีแล้วหนอ ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วเราจะพ้นวิจิกิจฉา เมื่อท่านได้ทบทวนด้วยภาษาให้แก่เราแล้ว เราก็ทบทวนตัวเอง ด้วยภาษา สื่อถึงสภาวธรรม ที่เรามีความมั่นใจ เกิดในผู้นั้นๆ
ผู้นั้นก็จะเห็นสัจจะ จะมีศรัทธาในสัจจะ จะรู้ว่าสัจจะนี้ของเรา ได้หรือเต็มแล้วหรือยัง ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม ถึงซึ่งสัจธรรม

สาธุ.

*****